คุยกับคู่รักนักเพศวิทยา ว่าด้วย Sextoy และสิทธิของความเสียว

บ่ายแก่ๆ ท่ามกลางความร้อนแรงของแดด 30 กว่าองศา เราเดินทางไปพูดคุยเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะร้อนแรงสูสีกับแดด (ตามการตีตราของสังคม) อย่างเรื่อง sextoy ณ Day/DM Cafe กับเจ้าของร้านที่เป็นคู่รักนักเพศวิทยา และทั้งคู่เต็มใจให้นิยามตัวเองว่าเป็น Lesbian และอนุญาตให้ใช้คำเรียกที่ครอบคลุมอย่างคำว่า แซฟฟิก (Sapphic) 

เราพูดคุยกับ ‘แต๋ม’ วิสุทธิ์รัตน์ รุ่งนพคุณศรี และ ‘เอช’ ประติมา รักษาชนม์ ผู้ที่เชื่อมั่นในการมีพื้นที่เชิงกายภาพสำหรับการพูดคุยเรื่องเพศ เพื่อให้คุณค่าในตัวตนของแต่ละผู้คน และพร้อมจะโอบรับความหลากหลายโดยไม่ตัดสินใครก็ตามที่เปิดประตูและย่างกรายเข้ามาในคาเฟ่แห่งนี้

ก่อนหน้านี้เราได้พบเจอกับเจ้าของร้าน Day/DM Cafe โดยบังเอิญที่งานกิจกรรมทางการเมืองงานหนึ่ง ทั้งคู่ได้ไปออกบูธให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ ‘เราสูญเสียอะไรไปบ้างจากการที่ sextoy ผิดกฎหมาย’ ยืนพูดคุยกันอยู่พักหนึ่งจึงตกลงนัดหมายเพื่อตั้งวงพูดคุยกันเรื่อง sextoy ที่ควรถูกกฎหมายเพื่อสุขภาวะทางเพศ และการเรียนรู้ที่จะสำรวจสุขภาพเพศของตัวเอง ก่อนที่ Day/DM Cafe จะต้องปิดตัวลงด้วยสภาพแวดล้อมที่เหนือการควบคุม

-1-

Sextoy จากใต้ดินสู่บนดิน

ทำไมจึงคิดว่า sextoy เป็นวาระสำคัญต่อสังคมไทย

แต๋ม: ส่วนตัวเราเป็นคนที่เคย insecure กับร่างกายตัวเองมากๆ ไม่กล้าส่องกระจกเลย เราเคยจะจัดเวิร์กช็อปชื่อว่า ‘กุญแจสู่ความเสียว’ มันเป็นเหมือนใบอนุญาตที่ทำให้เราสามารถสำรวจร่างกายตัวเองได้อย่างมีนัยสำคัญ เรารู้สึกว่ามันคล้ายกับตอนที่มีการผลิตยาคุมขึ้นมา แล้วทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างอิสระ เพราะมันมีเครื่องมือที่ทำให้เราควบคุมการเกิดหรือไม่เกิดได้ด้วยตัวเอง

สำหรับเรา sextoy คือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเสียวตอนไหนก็ได้ เราสามารถดูแลสุขภาพเพศของเราด้วยตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ไม่ต้องตั้งคำถามว่าการที่นิ้วฉันจะไปสัมผัสกับอวัยวะเพศฉันเป็นเรื่องผิดหรือเปล่า เพราะมันคืออุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เราดูแลสุขภาพทางเพศของตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมา

ถ้าถามว่าทำไมเรื่องนี้มันสำคัญกับสังคม ก็เพราะว่าในสังคมไทย เรื่องความสุขทางเพศมันถูกห้ามไปซะทุกมิติ sextoy ผิดกฎหมาย หนังโป๊ผิดกฎหมาย พวกเราโดนสอนกันมาตั้งแต่เด็กว่า ถ้ามีความต้องการทางเพศ เราทำได้ทุกอย่างยกเว้นช่วยตัวเอง ยกเว้นมีเซ็กซ์ ถ้าคุณมีอารมณ์ทางเพศ คุณลองไปนั่งสมาธิสิ คุณไปเตะบอลสิ ออกกำลังกายสิ ต้องสงบจิตสงบใจนะ อย่างเช่นถ้าอยู่ในห้องเรียนแล้วรู้สึกเงี่ยน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า อยากจัด, กระหายจัด) จัง คุณต้องสงบสติอารมณ์เท่านั้น คุณครูไม่เคยให้แนวทางหรือคำแนะนำอย่างเช่นว่า “คืนนี้ลองกลับไปช่วยตัวเองดูนะ” สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกสอนมาก่อนเลย

แล้วในเรื่องการตอบสนองอารมณ์ทางเพศของเรา ถ้าวันหนึ่งโดนแฟนทำให้ ไม่ว่าแฟนเพศไหนก็ตาม เราต้องไปศึกษาเองจากสื่อโป๊ต่างๆ เช่น โดจิน หนังโป๊ การ์ตูนโป๊ นิยายโป๊ ซึ่งทั้งหมดที่พูดมาก็ผิดกฎหมายอีก พอมันมีกฎหมายมาปิดกั้น บางมุมก็จะทำให้หลายคนคิดอยู่ลึกๆ ว่า สิ่งนี้มันผิด มันคือสิ่งที่เราไม่ควรทำ 

เอช: พอเราผลักดันเรื่องอะไรแบบนี้ ก็อาจทำให้บางคนมองว่า “เฮ้ย…แค่ช่วยตัวเอง แค่จัดการอารมณ์ตัวเอง มันก็ควรเป็นเรื่องของตัวเองสิ” แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้นในหลายๆ เลเยอร์มันถูกครอบด้วยหลายมิติ บางครั้งเวลาเราให้คำปรึกษาเรื่องเพศ เราจะพบเลยว่าต่อให้เราเริ่มที่ self มันก็จะไปจบที่สังคม หรือถ้าเราเริ่มที่สังคมมันก็จะไปจบที่ self อยู่ดี

ดังนั้น ถ้าสังคมไม่เอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เรามีความสุขทางเพศ ไม่เอื้อต่อสิทธิที่จะดูแลสุขภาพเพศด้วยตนเอง มันก็ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ยิ่งกว่านั้น เราจะเรียนรู้ตัวเองได้อย่างไรในเมื่อกฎหมายไม่เคยอนุญาตให้เราทำความรู้จักกับตัวเองด้วยซ้ำ

แต๋ม: แล้วมันยังมีปัญหาอีกว่า ถ้าคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องความต้องการทางเพศหรือเพศสภาพของตัวเองเลย โดยที่ตัวเราเองก็ไม่ได้มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการทางเพศของตัวเองได้ แล้วเราก็มีความเชื่อว่าแฟนของเราจะต้องตอบสนองความต้องการทางเพศของเราได้ในทุกมิติ มันก็จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ คู่รักหลายคู่จึงเกิดความขัดแย้งกันเรื่องเซ็กซ์ ซึ่ง sextoy จะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาความสัมพันธ์นี้ได้

เอช: ปัญหาก็คือ พอเราพูดเรื่องเซ็กซ์ปุ๊บ เราโดนปิดประตูใส่เลย ถือว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว มันส่วนตัวก็จริง แต่ว่ามันต้องอยู่ในที่มืด มันอยู่ในเขาวงกต มันอยู่ในความไม่รู้ 

พูดแล้วมันเหมือนตลกเนอะ ไม่มีใครสอนเรื่องเซ็กซ์ ไม่มีใครสอนว่าเอากันอย่างไร ใช่…บางเรื่องมันไม่ต้องสอน แต่บางครั้งบางทีเราก็ไปฟังเรื่องของคนอื่น ฟังสื่อที่เล่าเรื่องเสียว มันเป็นประสบการณ์ของคนอื่นซึ่งมันใช้กับเราไม่ได้ไง แล้วเราก็จะรู้สึกว่า เออ…โทษตัวเองดีกว่า เราผิดปกติหรือเปล่า เราไม่เป็นแบบเขา เราผิดปกติใช่ไหม แล้วมันก็จะแบกรับความผิดปกติแบบนี้ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ทับถมจนเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเอง เป็นความรู้สึกที่ไม่ดีหากวันหนึ่งเราอยากจะมีเพศสัมพันธ์หรือลองเปิดประตูความสุขทางเพศของตัวเอง

เหตุผลอะไรบ้างที่ต้องทำให้ sextoy ถูกกฎหมาย

แต๋ม: ส่วนตัวเราอยากให้ sextoy ถูกกฎหมายเพราะคนจะได้สำรวจตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเองได้ดียิ่งขึ้น แล้วคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น เพราะเรามองว่า sextoy เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยพัฒนาสุขภาวะทางเพศ หรือที่บางคนเรียกว่าสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าความต้องการทางเพศมันถูกมองข้ามมาตลอด 

เอช: ในสังคมสมัยใหม่แบบนี้ ความต้องการทางเพศของแต่ละคนมันเริ่มมีความผันแปรตามสภาพสังคมที่เป็นอยู่ อย่างเช่นถ้าเป็นคนเมือง ทำงานออฟฟิศ สู้รบปรบมือกับความเร่งของสังคม เวลาก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เราอาจไม่ค่อยรู้วิธีการในการดูแลตัวเอง ซึ่งตรงนี้เป็นอีกพอยต์หนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาวะทางเพศที่บานปลาย

ในสังคมต่างจังหวัด การเรียนรู้เรื่องเพศเขาเข้าไม่ถึงอยู่แล้ว หรือเข้าถึงได้แต่ยากมาก โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเข้าใจอย่างแท้จริงว่าทำแบบนี้ผิด ทำแบบนี้ทำให้เกิดอันตราย เช่น เราจะเคยได้ยินคนอื่นเล่าเรื่องการเอาผลไม้สอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศ ซึ่งจริงๆ ในมุมของนักเพศวิทยามันก็ทำได้ เพียงแต่มันมีวิธีทำอย่างไรให้ปลอดภัยขึ้น จุดนี้มันเป็น knowledge ที่หายไป

ทั้งหมดที่พูดมาเป็นองค์ความรู้ที่มันหายไป เพราะไม่เคยมีรีเสิร์ชมาก่อนอย่างจริงจัง และเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ให้ทุกคนรู้อย่างทั่วถึง แล้วที่ไม่มีรีเสิร์ช มันก็เกิดจากกฎหมายห้ามเอาไว้ไม่ให้เราทำ เช่น สมมติว่าถ้ามีแหล่งทุนวิจัยที่สนใจประเด็นนี้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันไม่สามารถทําได้ หรือกระทั่งว่าสื่อที่เข้ามาหา Day/DM บางเจ้าก็ไม่สามารถที่จะเล่าเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะว่ามันมีกำแพงของกฎหมายว่า ถ้าเขาเล่าเรื่องนี้ เขาจะโดนเพ่งเล็งหรือเปล่า ซึ่งมันยังมีความลักลั่นอยู่

แต๋ม: เราคิดว่าสังคมควรจะเปิดกว้างให้พูดคุยเรื่องเพศได้ ซึ่งเมื่อก่อนคนอาจจะยกเหตุผลว่า ถ้า sextoy ถูกกฎหมาย อาชญากรรมทางเพศจะลดลง แต่เรามองว่าที่คนคิดอย่างนั้นเพราะเราเรียนเรื่องเพศกันด้วยความกลัว ฉะนั้นเวลาจะปลดล็อกอะไรเกี่ยวกับเรื่องเพศมันจึงต้องลดอะไรที่เป็นเชิง negative แต่ไม่ได้มีการส่งเสริมอะไรที่เป็นด้านบวกมากขึ้น

อีกเรื่องคือโอกาสทางเศรษฐกิจ ตัวเลขเศรษฐกิจในตลาด sextoy มันสูงมากๆ มีวิจัยของสหรัฐที่บอกว่า ตลาด sextoy พุ่งสูงเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของทุกปี

เอช: แล้วมันพุ่งสูงขึ้นมากๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมันสะท้อนหลายมิติในตัวเลขนั้น เพราะโควิดทำให้คนอยู่กับตัวเองมากขึ้น โควิดทำให้คู่รักต้องอยู่ห่างไกลกันมากขึ้น การจับจ่ายในธุรกิจนี้จึงสูงขึ้น และแนวโน้มการเติบโตของนวัตกรรมก็เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบนี้

แต๋ม: สิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจเราคือ หาก sextoy ถูกกฎหมาย มันจะกลายเป็นสิ่งที่เสิร์ฟให้กับแค่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้นหรือเปล่า แล้วถ้าจะมีการเก็บภาษี ทำไมเราจะทำแบบที่กรมสรรพสามิตเอาไปสนับสนุน Thai PBS ไม่ได้ ถ้าเราจะเก็บภาษี sextoy แล้วเอาไปซัพพอร์ตสุขภาวะทางเพศ หรืออย่างน้อยก็เอาไปทำสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี แค่นั้นมันก็น่าจะคุ้มแล้ว แล้วมันก็จะไม่ได้จำกัดแค่ชนชั้นกลางกับชนชั้นสูงเท่านั้น

อะไรคือปัญหาที่ทำให้ sextoy ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย

แต๋ม: ปัญหาคงไม่ใช่อะไรที่มันผิดกฎหมาย อาจจะต้องพูดว่าอะไรที่ทำให้มันยังไม่ถูกกฎหมาย เพราะเรื่องความสุขทางเพศมันมี mindset ที่ว่าใครๆ ก็มีเซ็กซ์ได้ ใครๆ ก็ติ้ว***ได้ ใครๆ ก็ชัก***ได้ เราไม่เคยมองเห็นปัญหาของคนที่ไม่สามารถเข้าถึงความสุขทางเพศได้ แล้วซัฟเฟอร์ อาการที่ต้องใช้อุปกรณ์เข้ามาช่วยเหลือ หรือมีปัญหาจากสภาพสังคม ภาวะครอบครัว อะไรสักอย่างที่ต้องใช้สิ่งนี้ เราไม่เคยพูดถึงเลย ดังนั้นพอเรามี mindset ว่าใครๆ ก็สำเร็จความใคร่ทางเพศได้มันก็จะยังคงเป็นประเด็นที่ถูก postpone (เตะถ่วง) ออกไปเรื่อยๆ เสมอ

เหตุผลเรื่องศีลธรรมยังเป็นอุปสรรคต่อการปลดล็อก sextoy อยู่ไหม

เอช: เราว่าเรื่องของศีลธรรมมันเป็นเรื่องที่ต้องมาเถียงกันในสังคม ว่าตอนนี้สังคมมองเรื่องนี้อย่างไร ethic ทางสังคมคือการคุยกันก่อนว่าตอนนี้สังคมก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว แล้ว ethic ทางสังคมส่วนใหญ่มันไปถึงไหน แล้วทีนี้การที่เราบอกว่ามันผิดศีลธรรมก็คงต้องถามว่าศีลธรรมใคร

แต๋ม: เราว่าศีลธรรมมันน่าจะมาเกี่ยวข้องตอนโหวตร่าง (หัวเราะ)

เอช: แล้วอีกอย่างมันเป็นเรื่องของการตีความคำว่าศีลธรรมด้วย เพราะว่าปัจจุบันเวลาจะร่างกฎหมายอะไรต่างๆ เราใช้ราชบัณฑิตฯ ในการอ้างอิง แต่เขาไม่เคยชำระความหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศเลย

แต๋ม: ที่มันมาเกี่ยวข้องกับเรื่องศีลธรรม คือ sextoy มันผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 ซึ่งเขาไม่ได้บอกชัดเจนว่า sextoy เป็นสิ่งลามกอนาจาร แต่คำว่า ‘สิ่งลามกอนาจาร’ ก็ถูกตีความว่าหมายถึง sextoy ด้วย แล้วคำว่าลามกอนาจารมันแปลว่า สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของผู้มีศีลธรรมอันดี 

เอช: ตรงนี้มันเลยกลายเป็นปัญหาเวลาคุณพูดเรื่องศีลธรรมอันดี อะไรคือมาตรวัด คุณต้องการมาตรวัดทางสังคมแบบไหนในการอธิบาย หรือว่าคุณต้องการแค่ “ก็กูจะไม่ให้ถูกกฎหมายอ่ะ” 

มันก็เป็นเรื่องที่ตลกเหมือนกัน บางทีเรายังอธิบายศีล 5 ได้ไม่เท่ากันเลย แล้วเราจะอธิบายเรื่องศีลธรรมได้เท่ากันได้อย่างไร ในเมื่อศีลธรรมของแต่ละคนมันมีชุดประสบการณ์ หรือชุดอ้างอิงอะไรบางอย่างที่มันไม่เท่ากัน คนไทยเอาเรื่องศีลธรรม ความเป็นคนดี ครอบไปซะทุกเรื่อง โดยเฉพาะกับเรื่องเพศ ถามว่าคนดีย์แบบใด?

Day/DM เคยเปิดวงคุยเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมเหมือนกัน เราเอาภาพศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเพศมาให้ดู แล้วถามอันนี้เงี่ยนไหม แล้วเราก็มานั่งคุยกันว่าแท้จริงแล้วศีลธรรมมันคืออะไร เราเลยคิดว่าเพดานของความเข้าใจเรื่องเพศของไทยมันค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะกับพวกผู้มีอำนาจ มันทำให้เวลาที่เราคุยเรื่องเพศมันไม่เคยลงล็อก ไม่เคยลงใจ ไม่เคยเข้าใจกัน เพราะมันเป็นความคิดที่เกิดจากการที่สังคมสร้างเบ้าหลอมมา จนถึงตอนนี้เบ้าหลอมมันก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางสังคมที่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คนก็ก้าวหน้ามากขึ้น 

ปัจจุบันสังคมไทยพูดคุยเรื่องเพศกันอย่างเปิดกว้างมากขึ้น ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้จะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้ sextoy ถูกกฎหมายได้มากน้อยขนาดไหนในยุคนี้

แต๋ม: ช่วงนี้เห็นสื่อที่ส่วนมากเป็นสื่อเล็กๆ ทำเรื่องเพศศึกษากันมากขึ้น ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะว่าถ้าคนได้มีโอกาสได้สำรวจเรื่องเพศของตัวเองแล้วมันจะทำให้ sextoy ดูกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น

เอช: แต่ปัญหาก็คือว่าพอ sextoy มันผิดกฎหมายในประเทศนี้ ตอนนี้คนที่เข้าถึง sextoy ได้จริงๆ คือคนชนชั้นกลางถึงสูง ดังนั้นมันก็ทำให้เห็นภาพอยู่ว่าที่เขาไม่ได้สนใจปัญหานี้ เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขามีปัญหา

แต๋ม: บางทีเขาอาจจะมองเห็นว่าปัจจุบันนี้มันก็มีขายอยู่ทุกที่ ออนไลน์ก็มี ด้วยความที่มันหาได้ทุกที่ เขาเลยไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำให้มันถูกกฎหมาย เอาเข้าจริงแล้วหาก sextoy มันถูกกฎหมายมันก็มีทั้งเรื่อง positive และ negative ตามมา ในเรื่อง positive คือเราเข้าถึงง่ายขึ้น ตรวจสอบคุณภาพได้ง่ายขึ้น แต่ในทาง negative คือคนอาจจะมีข้อกังวลหรือข้อสงสัยว่า ถ้าฉันต้องเสียภาษีอันนี้ รัฐจะเอาภาษีฉันไปทำอะไร คนไทยมีความขัดแย้งต่อรัฐอยู่เยอะมากๆ 

เอช: อย่างที่แต๋มได้พูดไว้ว่า ถ้าจำนวนเงินที่สะพัดอยู่ในวงการนี้ถูกเอาไปใช้สนับสนุนกลุ่มที่ทำเรื่องเพศอย่างเข้มข้น หรือทำวิจัยต่างๆ ที่ทำให้สังคมเติบโตมากขึ้น มันอาจจะดีกว่าไหม

แต๋ม: อีกอย่างคนไทยค่อนข้างสนใจเรื่องรายละเอียดของกฎหมายมากขึ้น กฎหมายจะดีไหม ใครเป็นร่างกฎหมายชุดนี้ และจริงๆ แล้วมันเคยมีร่างกฎหมายเรื่องนี้ แต่ที่มันล่มไปเพราะมันไม่ครอบคลุม เป็นชุดกฎหมายที่ไม่ได้มาจากฐานของการเห็นใจสังคมในมุมของเรา

ร่างกฎหมาย sextoy คนที่เคยร่างเป็น sex creator ท่านหนึ่ง ด้วยความที่พื้นฐานเขาเป็น creator เขาก็จะใส่ใจในพาร์ทของ creator มากๆ แต่ขนาดใส่ใจแล้วเขายังกำหนดว่าหนังโป๊ต้องผ่านกระทรวงวัฒนธรรมก่อน ซึ่งมันเป็นร่างแบบ gen X มาก และผู้ร่วมร่างก็คือทนายที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และไม่ได้รับฟังความเห็นของ creator ที่เป็นผู้หญิงเท่าไร หลักๆ มันเป็นเรื่องการใส่ใจองค์รวม เพราะกฎหมายออกมาแล้วมันใช้ทั้งประเทศ

อย่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็มีตั้งหลายร่าง แต่ละร่างก็มีบริบทแตกต่างกัน มันมีเรื่องวาระต่างๆ ที่แต่ละคนรอยากจะชูขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอย่างละเอียด

เอช: เรารู้สึกว่าคนที่ทำเรื่อง sextoy เขาไม่กล้าออกมาพูดเยอะ เพราะบางทีมันมีความเสี่ยงที่จะถูกตีตราจากสังคมว่าคนพวกนี้หมกมุ่นทางเพศหรือเปล่า ถ้าให้ตอบจริงๆ ก็ใช่ค่ะ ดิฉันหมกมุ่นค่ะ คุณเข้าใจถูกแล้วค่ะ ไม่งั้นดิฉันจะไปเรียนทำไมให้มันมีบงมีใบ 

แต๋ม: หมกมุ่นทางเพศก็เหมือนหมกมุ่นทางคณิตศาสตร์ มันก็คือศาสตร์หนึ่ง (หัวเราะ)

กลับไปที่คำถามที่ว่า ถ้าสังคมเปิดกว้างให้พูดคุยเรื่องเพศกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น มีค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป มันจะส่งผลกับการผลักดันให้ sextoy ถูกกฎหมายหรือไม่ เราคิดว่าอาจไม่ส่งผลกับขบวนเท่าไร เพราะอย่างที่บอกว่าคนที่สามารถเข้าถึง sextoy ได้ ก็อาจไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาอะไร เขาอาจไม่ได้เข้าร่วมขบวนผลักดันแต่แรกแล้ว 

เอช: เราต้องการคนสนับสนุน แต่เราก็เข้าใจว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องมาโปรเรื่องนี้ เพราะเรามีอีกหลายมิติที่ต้องทำ แต่เราก็จะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะบอกว่าคุณช่วยสนับสนุนเรื่องนี้หน่อยได้ไหม เพราะเรื่องนี้ต้องการคนมองเห็นจริงๆ 

แต๋ม: ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราต้องการจะบอกให้สังคมรับรู้ว่า มันมีปัญหาจากการที่สิ่งนี้ผิดกฎหมายอยู่จริงๆ 

เอช: sextoy ไม่ใช่แค่เรื่องความบันเทิงหรือความสนุก แต่มันเป็นเรื่องที่สังคมไม่เคยเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ พูดง่ายๆ มันคือสิทธิ แต่รัฐกำลังละเมิดสิทธิเรา ไม่ให้เรามีความสุขทางเพศ หรือละเมิดสิทธิที่เราจะทำความรู้จักร่างกายของตัวเอง

แต๋ม: ถ้าเราไม่กล้าสำรวจตัวเราเองตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่กล้าส่องกระจกดูอวัยวะเพศตัวเอง แล้วเราจะรักตัวเองได้อย่างเต็มที่แค่ไหน แค่ขนที่ขึ้นตรงอวัยวะเพศยังไม่กล้าตัดเลย ทั้งที่มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา ไม่ใช่ของใครอื่นเลย

การปลดล็อก sextoy ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็เงียบหายไป คิดว่าควรทำอย่างไรให้เรื่องนี้เป็นวาระ และถูกผลักดันผ่านกลไกสภาอย่างจริงจัง

เอช: จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ยากนะ เวลาเราไปออกบูธงานต่างๆ ก็มี สส. หลายคนเข้ามาทักทายเรา บอกกับเราว่ากำลังจะผลักดันเรื่องนี้นะ แต่พอเปลี่ยนงาน ไปเจอกันงานอื่นๆ เขาจำหน้าเราไม่ได้ด้วยซ้ำ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราทำอะไรถึงไหนแล้ว

แต๋ม: ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าการที่เราจะเอาเรื่อง sextoy เข้าไปอยู่ใน movement มันก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะต้องยอมรับว่าเราโดนฝังหัวกันมานานว่าเรื่องความสุขทางเพศเป็นเรื่องรอง การดูแลตัวเองเป็นเรื่องรอง แล้วจะให้นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวที่ผลักดันกฎหมาย หรือนักการเมืองวกกลับมามองเรื่องสุขภาพเพศของตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้นจริงๆ 

หากพูดเรื่องทางเพศที่ถูกขับเคลื่อนเป็นวาระใหญ่อย่างสมรสเท่าเทียม มันเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ แต่เรื่อง sextoy สังคมยังมีมุมมองค่อนข้างแคบ และด้วยความที่เราต่อต้านระบบทุนนิยมกันอยู่แล้ว เรื่องที่ถูกตั้งคำถามก็อย่างเช่น ถ้าถูกกฎหมายนายทุนจะกินรวบหรือเปล่า คุณจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่หรือเปล่า ความใส่ใจสังคมและการต่อต้านทุนนิยมจึงนำมาสู่การมองข้ามเรื่องสุขภาวะทางเพศที่ทุกคนมองว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวไป ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่ได้มี mindset ว่าสุขภาวะทางเพศเป็นเรื่องของสังคม ก็จะไม่มองเห็นแง่มุมนั้นเลยว่าเราต้องทำให้สิ่งนี้ถูกกฎหมาย เพื่อสังคมจะได้ดีขึ้น

ช่วงนี้เราไปพูดคุยกับวงนักกิจกรรมค่อนข้างเยอะ เราไปพูดเรื่อง sextoy เขาก็บอกกับเราว่า เขาเพิ่งรู้ตัวว่าเขาลืมดูแลตัวเองไปเลย และเขาเพิ่งนึกขึ้นได้ตอนเห็นเราพูดและทำ workshop เรื่องนี้ขึ้นมา เราเลยเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกลืมไปเลยจริงๆ ซึ่งมันก็มีทั้งฝั่งที่่รู้แต่ไม่ให้ความสำคัญ และฝั่งที่ลืมไปเลยว่าสิ่งนี้ก็เป็นสิทธิของฉันก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นธงแรกเราต้องทำให้สังคมตระหนักรู้ว่า มันเป็นสิทธิของเรานะ ที่เราจะใช้อะไรสักอย่างนอกจากเนื้อหนังมนุษย์ในการสัมผัสอวัยวะเพศของเรา

เอช: สิ่งที่เราทำได้และทำอยู่คือ การให้ความรู้ ทำให้คนรู้จัก ทำให้เข้าใจ ทำให้เห็นว่าของพวกนี้มันมีหลายอย่างนะ และมันสามารถตอบสนองความต้องของคุณได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เคสที่เราเคยเจอ บางคนเกิดมาไม่กล้าจับอวัยวะเพศตัวเองด้วยซ้ำ พอเขาได้รู้จัก sextoy มันทำให้เขาคอนเน็กกับตัวเองได้ ความซึมเศร้าที่มีก็ลดลง แต่เราไม่สามารถทำวิจัยโดยละเอียดได้ เพราะติดเรื่องกฎหมายนี่แหละ แต่นี่คือสิ่งที่เราได้รับฟีดแบ็กกลับมาว่าเราช่วยเหลือเขาได้

ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีการผลักดันถึงขั้นไหน และมีพรรคการเมืองใดบ้างที่เห็นด้วยกับการทำให้ sextoy ถูกกฎหมาย

แต๋ม: ต้องถามว่ามีพรรคการเมืองไหนที่ไม่พูดเรื่อง sextoy ดีกว่า (หัวเราะ) คือพรรคที่อยู่ในสื่อเรียกได้ว่าพูดเรื่อง sextoy กันทุกพรรค 

เอช: ตอนเลือกตั้งบอกเลยว่าฮอตมาก หลายพรรคการเมืองอยากคุยกับเรา แต่พอหมดเลือกตั้งปุ๊บ หายหมด เราโกรธมากเลยนะ คุณบอกว่าอยากทำประเด็นนี้ แต่พอถึงเวลาคุณไม่ติดต่อมา ก็งงว่าประเด็นเราจะไปต่อได้ไหม ถ้าคุณอยากคุยกับเราจริงๆ คุณอย่าทำแค่ marketing สิ

แต๋ม: แล้วการผลักดันกฎหมายในไทยตอนนี้ กลายเป็นว่าต้องมีร่างกฎหมายถึงจะได้รับความสนใจ แน่นอนว่าภาคประชาชนมีสิทธิที่จะเสนอกฎหมาย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเราต้องมีร่างไปซะหมด ถ้าเราไม่มีร่าง คุณจะไม่รับฟังเรา การที่ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมต้องร่างกฎหมายเองทุกเรื่อง ทำทุกอย่างเอง ทั้งๆ ที่มันคือหน้าที่ของ สส. มันโคตรจะไทยเลย 

ทางฝั่งเรา เราค่อนข้างเป็นนักวิชาการ เราศึกษาแต่เราไม่มีทีมทนายที่เป็นฝั่งร่างกฎหมาย ก็คือเราไม่สามารถขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้เลย เพราะเราไม่มีร่าง เวลาเราขับเคลื่อนประเด็นเราจะถูกถามเสมอว่า “คุณมีร่างกฎหมายหรือยัง” ซึ่งถูกถามโดย สส. เราก็งงว่าเฮ้ย…มันงานคุณหรือเปล่า

เอาจริงๆ มันมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้มีร่าง อย่างสหภาพคนทำงาน ฝั่งแรงงาน เขาก็เสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและส่วนมากมักจะไม่ถูกมองเห็น ทั้งจากรัฐหรือแม้แต่กับประชาชนด้วยกันเอง เพราะไม่มีร่างกฎหมายให้ลงชื่อ

เอช: งานหลักๆ ที่เราทำคือให้ความรู้คน ปกติเราก็สอนที่ธรรมศาสตร์ ประเด็นเรื่อง sextoy ที่เป็นคอร์สนักเพศวิทยาคลินิก สอนแพทย์และผู้ที่สามารถให้คำปรึกษาเรื่องเพศได้ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์ซึ่งเราเลยเห็นว่ามันมีข้อจำกัด และมี privilege ในการเข้าถึงความรู้ เราจึงมาเปิดร้าน Day/DM เพราะอยากให้มีคนเข้าถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น 

แต๋ม: ขอเสริมนิดหนึ่งว่า มุมมองเรื่อง sextoy ของแพทย์กับคนทั่วไปก็จะแตกต่างกัน ถ้าเป็นแพทย์เขาก็จะมองว่า sextoy เป็นอุปกรณ์บำบัดทางเพศที่ช่วยลดอาการเจ็บป่วยได้ ซึ่งก็เป็นการมองในมิติทางการแพทย์ แต่ในความเป็นจริงมันมีหลายมิติมาก

ถ้า sextoy ถูกกฎหมายจะส่งผลดีอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่สังคม-เศรษฐกิจ

แต๋ม: เราค่อนข้างมั่นใจว่าในทางเศรษฐกิจเราจะเห็นเงินหมุนในประเทศมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้ว sextoy มันถูกซื้อขายกันเยอะมาก แต่เราไม่มีทางได้เห็นตัวเลขที่แท้จริง ถ้าถูกกฎหมายเราคงได้เห็นว่า GDP ที่เติบโตมาจาก sextoy มากแค่ไหน 

เอช: เรื่องเพศเป็นเรื่องใหญ่มากในประเทศนี้ในสายตาของคนต่างชาติ เราจะได้เห็นตัวเลขจริงว่าเงินที่สะพัดเกี่ยวกับเรื่องเพศอาจจะเติบโตสูงพอๆ กับการท่องเที่ยวเลยด้วยซ้ำ และมันก็จะสว่างในพื้นที่ที่มันเคยมืด เพราะเราไม่เคยตั้งคำถามว่ามันมีการจับจ่ายในธุรกิจนี้มากเท่าไร

แต๋ม: ในมิติทางสังคม เราคิดว่าสิ่งที่อาจจะเห็นชัดขึ้นคือเรื่องของอัตราการหย่าร้างที่อาจจะลดลง มันมีความเป็นไปได้อยู่ในนั้น เด็กอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มันจะช่วยลดปัญหาในความสัมพันธ์ได้มากขึ้น

เอช: เราจะใช้คำว่ามันช่วยให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนขึ้น หลายคู่แก้ได้ด้วย sextoy จริงๆ มันช่วยให้เขาพยุงความสัมพันธ์ของเขาให้ไปต่อได้

แต๋ม: มีงานวิจัยของคู่รักชายหญิงที่บอกว่า การที่คู่รักซื้อ sextoy ไปใช้ร่วมกันทำให้เกิดบทสนทนาเรื่องความต้องการทางเพศได้มากขึ้น การที่เรามี sextoy หนึ่งชิ้น ทำให้เกิดการพูดคุยกันว่าเราจะใช้สิ่งนี้ตรงไหนดี เธอชอบให้เล่นตรงไหน เพราะมันเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้การพูดคุยกันเพื่อถามหาความต้องการ พอเราสื่อสารในเรื่องความต้องการทางเพศของแต่ละคนมากขึ้น มันก็จะทำให้ความสัมพันธ์มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นและยั่งยืนขึ้น

เอช: ทีนี้เรามาดูนอกวงบ้าง คนในคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้มาก เช่น อุปกรณ์ที่ช่วยให้เรายืนฉี่ได้สำหรับผู้ที่อยากข้ามเพศ โดยเฉพาะกลุ่ม trans man หรือกลุ่มที่อยากข้ามเพศอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้อาจไม่ใช่ sextoy เพื่อตอบสนองความสุขทางเพศ แต่เป็น sextoy เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศในเชิงการเปลี่ยนแปลงร่างกาย เพราะอย่าง trans man หรือ transmasculine ใช้เวลากว่า 10-15 ปีในการข้ามเพศ มันค่อนข้างกินเวลานานและค่อนข้างบั่นทอนสุขภาวะ บางคนตัดหน้าอกแล้วแต่ยังต้องไปนั่งฉี่ในห้องน้ำหญิง มันก็ทิ่มแทงใจเขา อันนี้คือจากประสบการณ์ที่เจอ

เพราะฉะนั้นถ้าหากมีอุปกรณ์เหล่านี้ เขาก็จะได้เรียนรู้ รู้จักตัวเอง หาตัวเองเจอ เช่น ในช่วงวัยรุ่นเริ่มรู้สึกแล้วว่าเราต้องข้ามเพศ สับสนว่าเราต้องตัดหน้าอกหรือเปล่า หรือหากข้ามเพศแล้วจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร อุปกรณ์เหล่านี้ก็จะช่วยเขาได้แน่นอน หรืออีกกรณีหนึ่งสำหรับบางคนที่ผ่าหน้าอกแล้วรู้สึกว่าเป็นผู้ชายแล้ว ก็สามารถใช้อุปกรณ์นี้ในระยะเวลาที่ต้องรอการมีจู๋ หรือเขาอาจจะโดนปฏิเสธเพราะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ร่างกายไม่พร้อม มวลกล้ามเนื้อไม่พอ มีโรคแทรกซ้อน ก็จะไม่ผ่านเงื่อนไขทางการแพทย์

หรือในความสัมพันธ์อย่างคู่เรา เราเป็น Lesbian เราใช้นิ้วในการมีเพศสัมพันธ์ก็จริง แต่สำหรับบางคนอาจมีสรีระที่สอดนิ้วเข้าไปแล้วไม่ถึงจุดเสียว sextoy ก็จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขาได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ของเขา ร่างกายของเขา

เรื่อง sextoy มันส่งผลในระดับ micro ดังนั้นมันเลยไม่ตอบโจทย์ภาพใหญ่ที่รัฐอยากเห็น แต่ถ้ามันถูกกฎหมายมันจะเห็นชัดในระดับบุคคลมากขึ้น มันจะเอื้อให้เราทำวิจัยได้ง่ายขึ้น และสุขภาพเพศก็จะดีขึ้นแน่นอน

-2-

Sextoy เป็นมากกว่าความบันเทิงทางเพศ

ในฐานะนักเพศวิทยามีคนเข้ามาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการใช้ sextoy มากน้อยแค่ไหน และมีข้อกังวลอะไรบ้าง

แต๋ม: เยอะ โดยทั่วไปคนก็มักถามว่า “sextoy จะระเบิดไหมคะ” “มันจะช็อตกีไหมคะ” เพราะว่า sextoy ถูกทำให้แปลกประหลาด ซึ่งจริงๆ มันก็คืออุปกรณ์ไฟฟ้าธรรมดา sextoy กับเครื่องนวดคือใกล้เคียงกันมากนะ บางทีมอเตอร์เครื่องนวดที่ขายอยู่ในห้างมันใหญ่และเป็นอันตรายกว่า sextoy ด้วยซ้ำ

สิ่งที่ทำให้คนกลัวคือ พอ sextoy ผิดกฎหมาย มันไม่มีคู่มือภาษาไทย เราไม่รู้วิธีใช้ sextoy เราไม่รู้ว่าจะต้องชาร์จตอนไหน กี่ชั่วโมง กี่นาที ถ้าเป็นแบบเสียบสาย เราก็ไม่รู้ว่าควรจะเก็บสายอย่างไร ไม่รู้วิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย

เอช: แต่สิ่งนี้ที่คนกลัวเพราะมันไม่มีกฎหมายมาดูแลไง ถ้าเกิดมันระเบิดกีขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ เราจะโดนตีตราจากสังคมไหม กฎหมายก็เอาผิดไม่ได้ คือแต๋มทำรีเสิร์ชเรื่องนี้เยอะมาก จริงๆ มันปลอดภัยกว่าที่เราคิดมาก แต่ที่มันดูไม่ปลอดภัยเพราะเขากลัวเรื่องอื่น และภายใต้ความกลัวนั้นคือความไม่รู้

แต๋ม: กลับมาที่เรื่องเคสที่เราเจอ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์เรื่องเพศที่ไม่คลิกกันกับแฟนหรือพาร์ทเนอร์ เช่น มีเซ็กซ์กับแฟนแล้วไม่เสร็จเลย เราชอบให้เล่นคริตอริส แต่แฟนชอบสอดใส่ อันนี้เป็นเคสที่ค่อนข้างพบบ่อย 

อีกเคสหนึ่งเป็นคู่รักที่อายุมากแล้ว ฝ่ายผู้หญิงอายุมาก ประจำเดือนหมดแล้ว มันก็จะนำมาสู่การที่ช่องคลอดแห้ง ถึงจะใช้เจลช่วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็จะรู้สึกเจ็บอยู่ดี ซึ่งคู่นั้น sextoy ก็เป็นคำตอบ เพราะเราไม่จำเป็นต้องสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศก็ได้ แค่กอดกันเฉยๆ แล้วใช้อุปกรณ์ไปด้วย ก็สามาถสำเร็จความใคร่หรือมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว

เอช: อีกอาการหนึ่งที่เพศกำหนดหญิงเป็นสิ่งนี้กันเยอะมาก คืออาการที่เรียกว่าช่องคลอดหดเกร็ง หรือภาษาปากเรียกว่า ‘จิ๋มล็อก’ สอดอะไรเข้าไปก็เจ็บมาก คนทุกวันนี้มารู้ว่าตัวเองมีอาการนี้จากการที่พยายามใช้ถ้วยอนามัย ผ้าอนามัยแบบสอด หรือตรวจภายใน ซึ่งมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน 

แต๋ม: ขออธิบายเพิ่มว่า อวัยวะเพศหญิงเป็นกล้ามเนื้อที่บีบได้ คลายได้ และอาการจิ๋มล็อกมันเกิดจากกล้ามเนื้อบีบเกร็งค้าง หากฝืนยัดอะไรเข้าไปมันจะเจ็บ 

เอช: อาการนี้มันต้องเทรนให้เรารู้จักควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอดของตัวเองได้ ซึ่งจะมี sextoy หรืออุปกรณ์ขยายช่องคลอดที่ตอนนี้ถ้าแพทย์เซ็นก็สามารถนำเข้ามาใช้งานได้

แต่ถ้าคุณจะใช้สิ่งนี้ คุณต้องถูกวินิจฉัยก่อนว่าคุณป่วย แพทย์จึงจะเซ็นเพื่อสั่งซื้ออุปกรณ์นี้ได้ แต่บางทีมันมีเรื่องภาวะทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองป่วย ไม่ได้อยากถูกนิยามว่าเป็นคนป่วย จึงไปฝืนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งก็จะส่งผลเสียกับสุขภาพเพศของตัวเอง

Day/Dm เคยจัดเวิร์กช็อป Sexual Health Innovation แนะนำอุปกรณ์เพื่อสุขภาพทางเพศที่ตรงใจ อยากทราบว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีความแตกต่างหลากหลายอย่างไรบ้าง และการหาอุปกรณ์ที่ตรงใจสำคัญอย่างไร

แต๋ม: ถ้าเรามองในมุมมองที่ว่า เราไม่ได้มีเงินสำรองที่จะเอาเงินมาซื้อ sextoy ที่มีมาตรฐานเพื่อเอามาลองใช้กับตัวเองได้หลายๆ ชิ้น หรือสำหรับบางคนที่ตั้งใจเก็บเงินมาอย่างดีเพื่อซื้อ sextoy ที่คนอื่นบอกว่าดี และคาดหวังว่าฉันจะสำเร็จความใคร่จากสิ่งนี้ โดยที่เราเองก็ไม่เคยสัมผัสมันเลย ไม่รู้เลยว่าความแรงมันแรงแค่ไหน มันสั่นรูปแบบใด หรือผิวสัมผัสมันเป็นอย่างไร ถ้าเราซื้อมาแล้วผิดหวังมันอาจจะทำให้เราไม่กล้าสำรวจเรื่องเพศของตัวเองอีก เราก็เลยจัด workshop นี้ขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ลองจับ ลองสัมผัส sextoy ว่ามันมีรูปแบบใดบ้าง และเบื้องต้นเราจะเหมาะกับอุปกรณ์แบบไหน

และอีกอย่างที่เป็นผลพลอยได้ การที่คนเรารับรู้ว่ามันมีสิ่งของที่ถูกผลิตออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศที่จำเพาะสำหรับเรา มันทำให้เรามีความกล้ามากขึ้นที่จะสำรวจทางเพศ ศึกษาเรื่องทางเพศ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง ด้วยทัศนะที่มองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ

นอกเหนือจากเรื่องความบันเทิงหรือความสุขทางเพศ sextoy สำคัญอย่างไรกับเราอีกบ้าง

เอช: สั้นๆ เลย มันคือเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ความสุขทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่เราควรได้รับ การที่รัฐไม่อนุญาตให้มันถูกกฎหมาย แปลว่าสิทธินั้นมันไม่ถูกยอมรับโดยรัฐ รัฐไม่ยอมรับในสิทธิที่ทุกคนพึงมี และภายใต้สภาพนี้ คนเลยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโดนละเมิดอยู่

ถ้า sextoy ถูกกฎหมาย เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ไทยจะมีร้านขายอุปกรณ์ sextoy อย่างเปิดเผยเหมือนญี่ปุ่น

แต๋ม: มันมีเปิดแน่ๆ อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องระวังคือทุนใหญ่จะเข้ามาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องระวัง และต้องมีการกำกับควบคุมด้วยภาษี 

เอช: เรื่องการเป็นเจ้าของสิทธิในการเข้ามาทำธุรกิจ อันนี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันทุนจีนค่อนข้างเข้มข้นมากในตลาด ส่วนหนึ่งเราคิดว่ามันต้องควบคุมเพื่อให้สิ่งนี้ยังเป็นสิทธิของคนไทยในการที่จะเข้าถึง ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามาทำในธุรกิจนี้ ไม่งั้นมันก็จะเป็นเหมือนพื้นที่อื่นๆ ที่มีแต่ทุนจีนมาลงทุน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับมหภาค

ประเทศญี่ปุ่นมีรายได้มหาศาลจากอุตสาหกรรมทางเพศ ทั้งจาก sextoy หรือหนัง AV หากเราผลักดันให้ sextoy ถูกกฎหมายได้จริง คิดว่าจะสามารถทำให้เป็น soft power หรือต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้หรือไม่

แต๋ม: ต้องบอกก่อนว่า ตลาด sextoy ญี่ปุ่นมีความชายเป็นใหญ่อยู่สูงมาก ถ้าประเทศไทยจะทำจริงๆ มันก็เป็น soft power ได้ ทุกอย่างมันสามารถมีอิมแพ็คได้ คือนอกจาก sextoy จะเป็นอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการทางเพศ มันยังมีคนที่สะสม sextoy เป็นงานอาร์ตอย่างจริงจังด้วย

เอช: เราเชื่อมั่นกับศักยภาพความ creative ของคนไทยนะ หลายๆ อย่างมันก็อึ้งว่าคนไทยคิดได้อย่างไร อย่างเช่นจิ๋มกระป๋องลายรถตุ๊กตุ๊ก เราใส่อะไรแบบนี้เข้าไป แล้วก็พึ่งพานโยบายการค้าระหว่างประเทศ ทำไมจะขายไม่ได้ เราเชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยมาก ขอแค่คุณปลดล็อกกฎหมายเถอะ และเอื้อธุรกิจคนไทย เพื่อให้ soft power มันเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นคุณไม่ต้องมานั่งห่วงหรอกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จะเป็น soft power ได้ไหม มีเงินให้ไหมล่ะ ซัพพอร์ตหรือเปล่า มันอยู่ที่ตรงนี้

แต๋ม: อย่างที่บอกว่า ตลาดญี่ปุ่นมันสะท้อนความเป็นสังคมชายเป็นใหญ่มากๆ sextoy ถูกดีไซน์โดยผู้ชาย sextoy ของผู้หญิงก็ถูกดีไซน์มาให้ผู้ชายเอาไปใช้กับภรรยาหรือแฟนตัวเอง เราคิดว่าของไทยมันจะเจ๋งกว่านั้น เราไม่กังวลเรื่องนี้เลย กลัวแค่ว่าคนจะไม่รู้ว่าเรากำลังถูกละเมิดสิทธิ และถูกปิดกั้นสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ และสูญเสียโอกาสไปหลายอย่างทั้งการสำรวจตัวเอง สุขภาวะทางเพศ ไปจนถึงเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ

เอช: รัฐต้องเลิกหน้าบางให้ได้ก่อน เลิกพูดได้หรือยังว่าเมืองไทยไม่มี sex worker เลิกพูดได้หรือยังว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องอันดับหนึ่งของประเทศเรา เพราะที่จริงเราเป็นดินแดนแห่งเรื่อง sex เลย ใครๆ ก็รู้ ต่างชาติรู้กันหมดว่าประเทศไทยเด่นเรื่องอะไร แต่ขณะเดียวกันคนไทยถูกละเมิดทุกอย่าง sextoy ผิดกฎหมาย sex worker ผิดกฎหมาย ไม่มีอะไรที่เป็นสัญญะในการเปิดเผยเรื่องเพศได้ ก่อนจะผลักดันอะไรๆ ให้เป็น soft power ทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นก่อน 

-3-

เปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องเพศ

การมีพื้นที่เชิงกายภาพเพื่อพูดคุยเรื่องทางเพศ จะแตกต่างจากการที่เราพูดคุยปรึกษากับคนใกล้ชิด หรือการตั้งประเด็นถกถามกันในโซเชียลทุกวันนี้อย่างไร

เอช: เราเป็นคนที่ศรัทธาในพื้นที่กายภาพ อย่างน้อยที่สุดการที่เรามองเห็นกัน เรามองเห็นหลายอย่าง เราไม่ได้มองเห็นแค่คำพูด อย่างในทวิตเตอร์ฉ่ำมากเลย ภาษาที่ใช้หรือะไรต่างๆ แต่เราไม่เห็นภาษากายเขา เราไม่เห็นหน้าตาเขา บางทีเขาอาจจะพิมพ์บางข้อความด้วยรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่ว่าภาษากายหรือร่างกายของเขาสื่อสารอีกแบบหนึ่ง สมมติว่าเราอาจจะคิดว่าการพูดเรื่อง sextoy มันน่าจะเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียสิ แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เราได้จากการทำ physical space คือคนไม่กล้าพูดมากขนาดนั้น คนอายมากในการพูดสิ่งนี้ 

ปกติเราเป็นคนที่ใช้ทวิตเตอร์ พูดในแบบที่ทวิตเตอร์ใช้ เพราะว่าเราเป็นคนใช้ภาษาแบบนั้น บางคนอาจจะกล้าพิมพ์คำว่า ‘ห. สระอี ’ แต่ในชีวิตจริงเขาอาจจะไม่กล้าพูด จริงๆ แล้วมันอาจจะทำงานข้างในตัวเขาอยู่หรือเปล่า ในการที่เขาไม่กล้าสื่อสารในสิ่งที่เขาคิดหรือสิ่งที่เขาเชื่อ ดังนั้นการมี physical space มันคือการที่ทำให้เขากล้าที่จะเปิดตัวเองในทางกายภาพมากขึ้น ว่าเราสามารถเป็นอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องหลบซ่อน แต่ถ้าเรามาเห็นหน้าเห็นตาพูดคุยกัน เราเห็นวิธีการพูดของเขา เรารู้ความกังวลผ่านร่างกายของเขา นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่เราค่อนข้างเชื่อใน physical space

แต๋ม: อีกอย่างหนึ่งเรารู้สึกว่าในโซเชียลมีเดีย อัลกอลริธึมสร้าง echo chamber ให้ทุกคนอยู่แล้ว เราจะเห็นในสิ่งที่เราสนใจ สมมติว่ามีคนหนึ่งที่ไม่เคยเสิร์ชเรื่องเพศเลย สิ่งนั้นก็จะไม่ไปปรากฏในโซเชียลมีเดียของเขา แต่ physical space จะช่วยแก้ไขตรงนั้นได้ 

เอช: สิ่งที่เป็นใจความสำคัญของการมี physical space คือการถูกมองเห็น นี่คือการทำเพื่อให้เกิด visibility ในสังคมว่ามันมีคนที่ทำเรื่องนี้นะ เพราะความตั้งใจหลักคือเราอยากให้คนรู้ว่ามันมีคนที่ทำเรื่องเพศ คุณไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่ปรึกษา เพราะยังมีพื้นที่ที่คุณสามารถปรึกษาได้โดยที่คุณรู้สึกปลอดภัย

แต๋ม: เราเองก็ไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนเข้าใจขนาดนั้น แต่ถ้ามีคนต้องการและเรายังอยู่ตรงนี้ แค่นั้นก็พอแล้ว

ทิศทางของ Day/DM จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ ทั้งในเรื่องของการสร้างพื้นที่พูดคุยเรื่องเพศ และการผลักดันให้ sextoy ถูกกฎหมาย

เอช: ร้าน Day/DM จะอยู่ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2567 นี้ พื้นที่นี้เราจำเป็นต้องปิดตัวลงด้วยเหตุอื่นๆ ที่เราไม่สามารถควบคุมได้

สิ่งที่เราจะทำในเฟสถัดไปคือ เราจะลงไปในตลาดออนไลน์มากขึ้น จะมีการทำคอนเทนต์อะไรต่างๆ มากขึ้น ให้ความรู้คนมากขึ้น ซึ่งเราเองก็มีความพยายามที่จะสร้างสื่อการเรียนรู้ที่คุณสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ผ่านสื่อหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เราสร้างขึ้น 

แล้วเราก็จะมีการจัดกิจกรรมแบบที่ Day/DM เคยจัดในพื้นที่ต่างๆ เราจะพยายามไปในพื้นที่ที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเราอยากสร้างพื้นที่อย่างนี้ให้กระจายไปอย่างทั่วถึง ได้พูดคุยและรู้จักคนอีกหลายๆ คน 

เรามีแพลนที่จะขยับขยายไปสู่กระบวนการทางสังคมมากขึ้น กำลังเรียนรู้จากกลุ่ม activist ที่เรารู้จัก ซึ่งหลายคนก็เชื้อเชิญเราให้ไปทำอะไรที่ใหญ่ขึ้นเพื่อผลักดันประเด็นให้ไปสู่วงกว้างมากขึ้น 

อีกขาหนึ่งเราก็อยากผลักดันในเชิงนโยบาย ให้คนเห็นมากขึ้นด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังศึกษาอย่างเข้มข้นในช่วงนี้

แต๋ม: เราคิดว่าการพูดคุยและทำความเข้าใจเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องจริงจัง ทุกวันนี้เรื่องเพศยังถูกมองเป็นเรื่องตลกขำขัน เป็นมุกตลกที่เอามาล้อกันอยู่ พอมันไม่เกิดการพูดคุยอย่างจริงจัง ปัญหาที่มีอยู่จึงไม่เคยถูกแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการทางเพศ เรื่อง sextoy หรือการพูดเรื่องเพศทั่วไป เราควรจะเลิกขำขันกับสิ่งที่ควรจะจริงจังได้แล้ว

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Photographer

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า