- จากการศึกษาภาคสนามและการสัมภาษณ์คนขอนแก่นในช่วงเวลาราวสองปี ผนวกกับการวิเคราะห์วาทกรรมสื่อเกี่ยวกับขอนแก่นโมเดล บทความนี้เผยโฉมหน้าเบื้องหลังภาพพลเมืองซูเปอร์ฮีโร่ของบริษัทพัฒนาเมืองขอนแก่น (เคเคทีที) จำกัด ผู้ผลักดันโครงการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาจากการลงทุนเอกชน
- ชี้ชวนให้คิดถึงการ ‘เสกคาถาประชาชน’ ในฐานะยุทธศาสตร์สำคัญของการอ้างตนทางศีลธรรมเพื่อชิงอำนาจการนำของชนชั้นนำธุรกิจท้องถิ่น
- วิพากษ์แบรนด์ท้องถิ่นนิยมแนวผู้ประกอบการ โดยมองว่าปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่มันเกิดขึ้นและใช้ประโยชน์จากภาวะขาดแคลนประชาธิปไตยในท้องถิ่น ไม่เพียงการเลือกตั้งที่ถูกแช่แข็ง แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองท้องถิ่นเป็นรูปแบบองค์กรที่จะมาเสนอวิสัยทัศน์ถึงอนาคตเมืองที่แตกต่างกันไปต่อประชาชนอีกด้วย
- พาผู้อ่านออกจาก ‘หล่มความเป็นท้องถิ่น’ (local trap) ในกรณีขอนแก่นโมเดล โดยสืบสาวลงไปถึงตัวแสดงและวาระเบื้องหลังการประโคมความเป็นท้องถิ่นที่ถูกทึกทักว่าเป็นตัวแทนเจตจำนงประชาชน ตรงข้ามกับส่วนกลาง เพราะภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนิยมนั้นไม่เคยเลยที่จะเป็นของท้องถิ่นทื่อๆ
- เปรียบเทียบ ‘ขอนแก่นโมเดล’ สองรุ่น ระหว่างแผนก่อจลาจลที่กลุ่มคนเสื้อแดงถูกกล่าวหา กับแผนการสร้างรถไฟฟ้าที่กลุ่มนักธุรกิจผลักดัน
- เสนอว่าการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง (Transit-Oriented Development) อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมทางสังคมได้ แต่มันต้องอาศัยนโยบายเชิงยุทธศาสตร์เข้าไปกำกับตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยคำนึงถึงคนอื่นในสังคมเป็นสำคัญ
บทความนี้แปลจาก Conjuring the People: Entrepreneurial Localism and the Case of the Khon Kaen Model ของ ริชาร์ด แมคโดนัลด์ (Richard MacDonald) โดย พีระ ส่องคืนอธรรม เป็นผู้แปล
บทนำ: ขอนแก่นโมเดลกับรถไฟรางเบา
หลายเดือนในช่วงปลายปี 2561 จอแอลอีดีตามสี่แยกเมืองขอนแก่นเวียนฉายวิดีโอโปรโมทบริษัทพัฒนาเมือง วิดีโอที่ว่านำเสนอทัศนียภาพสีฉูดฉาดวาดโดยคอมพิวเตอร์ แทบดูไม่ออกว่าเป็นเมืองขอนแก่นที่ผ่านการอัพเกรดด้วยระบบขนส่งสาธารณะแห่งสหัสวรรษใหม่ ผู้สัญจรที่ติดไฟแดงบนถนนมิตรภาพอาจเหลือบขึ้นไปมองจอติดๆ ดับๆ แล้วเห็นภาพสามมิติของรถไฟฟ้าลิ่วล่องไปในทัศนียภาพสะอาดตาของเมืองในฝัน ตั้งแต่รางรถไฟที่มีต้นปาล์มขนาบตลอดแนวไปจนถึงชานชาลาคอนกรีตขาวจ้าหมดจด คนเดินดินที่ถูกดึงสายตาไปเช่นนั้นก็ได้รับโอกาสชั่วแวบที่จะเห็นภาพมุมสูงอันหวือหวา เดี๋ยวก็ฉวัดเฉวียนเวียนวนอยู่เหนือรถไฟฟ้าขนาดจิ๋ว เดี๋ยวก็โฉบลงลัดเลาะภูมิทัศน์เมืองที่ทั้งเป็นทั้งไม่ได้เป็นที่เดียวกันกับที่ที่พวกเขากำลังสัญจรอยู่
วิดีโอจากคอมพิวเตอร์กราฟิกดังกล่าวประชาสัมพันธ์แผนสร้างโครงข่ายรถไฟรางเบาความยาว 26 กิโลเมตรบนไฮเวย์สายหลักที่ผ่ากลางเมืองในปัจจุบัน เจ้าของโครงการคือบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่ม ‘Khon Kaen Think Tank’ (KKTT) กลุ่มนักธุรกิจคนขอนแก่นที่มีชื่อเสียง 20 คนร่วมกันลงขันตั้งบริษัทเมื่อปี 2558 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและหนุนส่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กลุ่มนักธุรกิจ KKTT ได้รื้อแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดขึ้นใหม่ ทศวรรษก่อนหน้าศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เสนอระบบ BRT เป็นทางแก้ปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่เมืองขอนแก่น คือให้มีเลนสำหรับรถบัสวิ่งโดยเฉพาะ ข้อเสนอนี้ถูก KKTT พับเก็บไปเงียบๆ เพื่อหันไปชูระบบรถไฟรางเบาที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า ทะเยอทะยานกว่า และสนนราคาแพงกว่า ในขณะที่ระบบ BRT ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาจราจรและมลภาวะที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยหนุนให้ผู้ใช้รถส่วนตัวหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน ระบบรถไฟรางเบามีจุดต่างตรงที่มันเป็นตัวต่อในการคิดการใหญ่กว่านั้นเพื่อแปลงสินทรัพย์กุญแจสำคัญของเมืองขอนแก่นเป็นทุนเพื่อกระตุ้นการโตของเมือง สินทรัพย์ที่ว่าสำหรับผู้โปรโมทโครงการก็คือตำแหน่งที่ตั้งเมืองตรงจุดตัดยุทธศาสตร์ของเส้นทางขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสองเส้น นั่นคือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-สิงคโปร์ กับเส้นทางเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจอาเซียนตะวันออก-ตะวันตกที่มีโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งแบบบูรณาการ จริงอยู่ว่ารถบัสอาจช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดไปได้เปลาะหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับรถไฟรางเบา หรือถ้าจะว่าให้ชัดก็คือเมื่อเทียบกับสถานีทั้ง 18 จุดที่จะผุดขึ้นมาและที่ดินรายรอบที่บัดนี้กลายเป็นทำเลทอง อย่างหลังก็เป็นวัตถุดิบที่เหนือชั้นกว่าสำหรับการจะเนรมิตความเป็นไปได้นานาของอนาคตการโตของเมือง
ดังที่ แอนนา ซิง ตั้งข้อสังเกตไว้ กิจการเก็งกำไรข้องแวะกับการฉายภาพอนาคตที่หวือหวา หรือที่เรียกว่าการเสก (conjuring)
“กำไรต้องถูกจินตนาการขึ้นก่อนถึงจะถลุงมันได้”
Tsing 2005, 57
บริษัทเหมืองแร่ต้องสร้างความหวือหวาให้สินแร่ปริมาณเล็กๆ น้อยๆ ที่สำรวจพบว่าเป็นการชิมลางขุมทรัพย์ที่รอการกอบโกยอยู่ใต้ดิน กลุ่มสตาร์ทอัพต้อง “ทำให้ความฝันของพวกตนดูหวือหวาขึ้นมาเพื่อจะได้ดึงดูดทุนที่พวกตนจำเป็นต้องใช้ดำเนินและขยายกิจการ” (อ้างแล้ว) การเสกสร้างเขตชายแดนใหม่ๆ ของเมืองก็ต้องอาศัยความฝันเช่นกัน นั่นคือความฝันถึงอุปสงค์มหาศาลที่ยังเจาะไปไม่ถึงของกลุ่มทุนที่จะมาจับจองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ของเมือง สัญญาณความหวังว่าโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งแบบใหม่จะชักพาผู้คนจากทั่วสารทิศมารวมกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็หล่อเลี้ยงความฝันนั้น กลายเป็นเหตุผลที่ใช้อ้างเพื่อต่อเติมโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ของเอกชน เพื่อก่อสร้างศูนย์ประชุม คอนโด และศูนย์ค้าปลีก สิ่งเหล่านี้บวกกับเม็ดเงินที่มีแววว่าจะตามมาก็เป็นเหตุผลให้ราคาแพงลิบลิ่วของการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟรางเบาดูเป็นเงื่อนไขที่ไม่เพียงทำได้แต่ยังจำเป็นต้องทำ
ต่อมา KKTT ผลักดันแผนการไปอีกขั้นด้วยการร่วมมือกับห้าเขตเทศบาลที่รถไฟรางเบาจะตัดผ่านเพื่อก่อตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) ในช่วงเวลาเดียวกันพวกเขาก็เข้าหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อล็อบบี้ขอโอนสิทธิความรับผิดชอบในการก่อสร้างและดำเนินการระบบขนส่งมวลชนจากส่วนกลาง สมาชิก KKTT คนหนึ่งให้ข้อมูลว่าท่าทีกังขาของรัฐมนตรีเปลี่ยนเป็นเห็นดีเห็นงามเมื่อได้รับทราบว่าระบบรางเบาของขอนแก่นจะไม่ต้องใช้งบประมาณใดๆ จากรัฐส่วนกลาง และไม่เพียงเห็นดีเห็นงาม รัฐบาลทหารยังประโคมข่าวโครงการสร้างระบบขนส่งมวลชนด้วยการลงทุนของเอกชน และการร่วมงานระหว่างเอกชนกับรัฐนี้เป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นๆ ทำตามอีกด้วย ในรายการ ‘ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกโครงการนี้เป็นตัวอย่างของการสานพลังประชารัฐ การร่วมมือกันระหว่างรัฐกับประชาสังคม การพึ่งตนเองทางการคลัง และการรวมหัวกันทำสิ่งที่สนองความต้องการของท้องถิ่น นายกฯ กล่าวแก่ผู้ชมโทรทัศน์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ว่าโมเดลการพัฒนาเมืองนี้
“เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและของภาค สอดคล้องกับความต้องการของคนขอนแก่น ที่ได้มีส่วนร่วมอย่างมีระเบียบแบบแผน เป็นตัวอย่างความเข้มแข็งด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอพึ่งพางบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว” (วิดีโอเข้าถึงได้ทางช่องยูทูบของ KKTT)
เรื่องเล่าที่เค้าโครงแทบจะลอกมาจากพิมพ์เดียวกันนั้นพรั่งพรูจากปากผู้มีส่วนพัวพันกับบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ในวันที่โครงการรถไฟรางเบาผ่านด่านสุดท้าย ได้รับคำอนุมัติจากคณะกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบก (คจร.) หน่วยงานในกระทรวงการคมนาคม สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง KKTT ให้สัมภาษณ์แก่เว็บไซต์อีสานบิซว่า
“นี่ก็เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ท้องถิ่นจะได้ทำขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เป็นของตัวเองด้วยการระดมทุนของตนเอง”
สุรเดช 2018
สุรเดชเน้นเสียงว่านี่ไม่ใช่แค่การสร้างรถไฟฟ้า แต่มิติใหม่อยู่ที่โมเดลการลงทุนและบริหารที่โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะมีทุนสร้างจากเอกชนทั้งหมด สุรเดชกล่าวว่า “รถไฟฟ้าที่เราเห็นอยู่ในกรุงเทพมหานคร รถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในต่างจังหวัด รถไฟฟ้าเหล่านั้นใช้ภาษีของคนไทย ขอนแก่นโมเดลที่พวกเราทำ รถไฟฟ้านี้ไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล” สุรเดชจัดวางฐานะขอนแก่นโมเดลให้เป็นพลังหนึ่งสู่การบรรลุเป้าหมายระยะยาวของชาติ ด้วยความที่มันจะนำนวัตกรรมมาให้ และด้วยความที่มัน ‘เปลี่ยนวิธีทำ’ เพื่อนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เท่าที่ผ่านมาขอนแก่นโมเดลได้รับเสียงชื่นชมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งรัฐบาลทั้งสื่อต่างเห็นมันเป็นแบบอย่างนวัตกรรมนำโดยเอกชน แบบอย่างความเข้มงวดทางการคลัง และแบบอย่างการกำหนดอนาคตตนเองของท้องถิ่น เนื้อหาต่อไปนี้เป็นการประเมินที่ค่อนไปทางเย็นชา ผู้เขียนมีจุดประสงค์จะแกะพลวัตการพัฒนาเมืองออกมาจากการถูกบดบังโดยวาระการให้อำนาจแก่ท้องถิ่นเบื้องหลังขอนแก่นโมเดล ด้วยหวังจะเปิดสนามการถกเถียงให้แก่วิถีทางพัฒนาอื่นๆ ที่กำลังถูกกีดกันออกไป
ท้องถิ่นนิยม ภูมิภาค และเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
รถไฟรางเบากับขอนแก่นโมเดลเป็นการย้อมความเป็นท้องถิ่นนิยมลงไปในวาระที่เรียกได้ว่า เป็นการพัฒนาเมืองแนวผู้ประกอบการซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายในตัวเมืองภาคอีสาน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กลายเป็นเมือง สัญญาณแห่งการเกิดการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนใหม่ๆ ก็หนุนกระแสการลงทุนแบบเก็งกำไรเป็นระลอกๆ ขอนแก่นก็เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในไทยและในที่อื่นๆ ของเอเชียอาคเนย์ ที่ศัพท์ยอดฮิตด้านการพัฒนาเมืองและสูตรเสกการโตผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตั้งแต่ Creative City (เมืองสร้างสรรค์) Smart City (เมืองอัจฉริยะ) เมืองน่าอยู่ และเมืองยั่งยืน ไปจนถึง TOD (Transit-Oriented Development: การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน) และ ‘Railway Innopolis’ (เมืองนวัตกรรมระบบราง) เหล่านี้บ่งบอกบุคลิกการอภิบาลเมืองแบบผู้ประกอบการเต็มตัว
เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) อธิบายบุคลิกลักษณะของการพัฒนาเมืองแนวผู้ประกอบการ (entrepreneurial urbanism) ไว้อย่างทรงอิทธิพลว่าหมายถึงการอภิบาลเมืองซึ่งมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การ “ล่อการผลิต การเงิน และการบริโภคที่ยืดหยุ่นสูงและเคลื่อนย้ายสะดวกให้ไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่” (Harvey 1989, 11) การปั่นแนวคิดปั่นกระแสด้านการพัฒนาเมืองออกมาเบียดขับคู่แข่งรายย่อยนั้นโดยมากแล้วสะท้อนถึงจริตการกะเก็งอนาคตตามธรรมชาติของการลงทุนกับเมือง ซึ่งเป็น “ภาวะที่ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ชัดๆ ว่าการลงทุนก้อนไหนจะประสบความสำเร็จและก้อนไหนจะล้มเหลว ในโลกที่สภาพเศรษฐกิจค่อนข้างผันผวนไม่มั่นคง” (Harvey 1989, 11) รูปแบบหนึ่งของท้องถิ่นนิยม อันหมายถึงเจตคติเชิงบวกต่อกิจกรรมของท้องถิ่น แฝงอยู่ในการพัฒนาเมืองแนวผู้ประกอบการนี้ตราบเท่าที่มีการกล่าวถึงการทำเพื่อ “เพิ่มความน่าดึงดูดของท้องถิ่นอย่างเต็มพิกัดเพื่อล่อการพัฒนาแบบทุนนิยมเข้ามา” ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีการแข่งขันระหว่างเมืองอย่างเข้มข้น (Harvey 1989, 5)
ในบทบรรยายของฮาร์วีย์ ธรรมเนียมรุ่นเก่าของการผลักดันภาพลักษณ์ที่ดีของเมือง (civic boosterism) ซึ่งมักขับเคลื่อนโดยกลุ่มนายทุนท้องถิ่นที่มีหอการค้าในพื้นที่เป็นตัวแทน ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในช่วงหัวเลี้ยวสู่แนวทางแบบผู้ประกอบการ การสานพลังครั้งใหม่ระหว่างรัฐและเอกชนเริ่มเข้ามาเป็นตัวแสดงหลักในการขับเคลื่อนการสร้างภาพลักษณ์เมืองและการจัดสรรพื้นที่เมืองเสียใหม่ เช่นนี้แล้วแนวคิดผู้ประกอบการเมืองตามคำของฮาร์วีย์จึง “ร้อยรัดกับการค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่น และโดยตัวมันนั้นก็เปิดทางให้แก่กลไกชุดหนึ่งของการควบคุมทางสังคม” ที่อุดมการณ์เกี่ยวกับความเป็นท้องถิ่น ถิ่นที่ และชุมชนกลายเป็นหลักสำคัญแห่งการอภิบาลเมือง สิ่งที่ต้องคิดค้นต่อไปคือมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อการ ‘ร้อยรัด’ ที่ว่านี้ระหว่างผู้ประกอบการนิยมกับท้องถิ่นนิยม ซึ่งยกความเป็นท้องถิ่นขึ้นเป็นอุดมคติในโวหารการอภิบาลเมือง
มุมมองที่ผู้เขียนได้พัฒนาขึ้นในที่นี้ได้แนวคิดจาก มาร์ค เพอร์เซล (Mark Purcell) เรื่องหล่มความเป็นท้องถิ่น (local trap) ซึ่งโดยใจความแล้วเป็นการสะกิดใจให้ตั้งคำถามอยู่เสมอถึงความดีงามของระดับท้องถิ่นและการลดอำนาจศูนย์กลาง เพอร์เซลเขียนว่า “หล่มความเป็นท้องถิ่นจัดให้สิ่งที่เป็นท้องถิ่นเทียบเท่ากับ ‘สิ่งที่ดี’ ด่วนสรุปเอาว่ามันมีคุณค่าเหนือระดับอื่นๆ ที่ไม่ใช่ท้องถิ่น” (Purcell 2006, 1924) การทำกิจกรรมและตัดสินใจร่วมกันของท้องถิ่นถูกทึกทักว่าเป็นไปอย่างมีส่วนร่วม เพิ่มอำนาจพลเมือง และเสริมสร้างประชาธิปไตย การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นถูกมองเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมทางสังคม
กระนั้นก็ตาม ดังที่เพอร์เซลตั้งข้อสังเกต คนกลุ่มหนึ่งที่มักลุกขึ้นมาเรียกร้องการลดอำนาจส่วนกลางและการ ‘พึ่งตนเอง’ ของท้องถิ่นก็คือผู้ถือหางการพัฒนาเมืองแนวผู้ประกอบการหรือแนวเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การถอนตัวของรัฐจากบทบาทการให้บริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์เอกชนรวบไปทำเอง ประเด็นของเพอร์เซลคือแทนที่เราจะมองว่าระดับท้องถิ่นเป็นแหล่งสั่งสมคุณสมบัติและค่านิยมที่ไม่ผันแปร เราควรสืบสาวลงไปว่าตัวแสดงไหนกันและวาระไหนกันที่ได้รับอำนาจจากยุทธศาสตร์การให้อำนาจแก่ท้องถิ่น เพราะ “ตัวแสดงและวาระนั่นต่างหากที่สร้างผลลัพธ์ขึ้นมา มิใช่ระดับของช่องทางการผลักดันวาระ” (Purcell 2006, 1929) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเป็นท้องถิ่นจึงต้องทะลุไปอ่านยุทธศาสตร์เบื้องหลังการสร้างความหมายให้แก่ระดับ (scale making) ซึ่งข้องแวะกับการปรับความสัมพันธ์ระหว่างระดับเสียใหม่ (เช่น ระหว่างท้องถิ่นกับชาติ) โดยยอมรับว่า “การให้อำนาจแก่ท้องถิ่นไม่ควรพ่วงการตั้งสมมุติฐานก่อนประสบการณ์ใดๆ เพราะมันชี้ไปยังการต่อสู้ที่กำลังดำเนินไประหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่แข่งขันกัน” (Purcell 2006, 1929)
สามารถให้คำนิยามท้องถิ่นนิยมอย่างง่ายที่สุดได้ว่าเป็น ‘คติเชิงบวกต่อการกระจายอำนาจทางการเมือง’ (Clarke & Cochrane 2013, 10) แต่คำนิยามอันเรียบง่ายนี้ก็แฝงความขัดแย้งและความกำกวมอยู่เป็นกระบุง ดังตัวอย่างของท้องถิ่นนิยมในบริบทการเมืองบริติชร่วมสมัย ซึ่งคลาร์คและค็อคเครนชี้ให้เห็นว่าอุดมการณ์การกระจายอำนาจมีแบบแผนทางปรัชญาต่างกันสองแบบอยู่เบื้องหลัง หนึ่งคือความเชื่อแนวเสรีนิยมดั้งเดิมที่ว่าการปกครองท้องถิ่นมีประสิทธิภาพสูงกว่า เป็นราชการน้อยกว่า และตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากกว่า อีกหนึ่งคือความเชื่อแนวชุมชนนิยมที่ยึดถือชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้กระทำการส่วนรวมที่มีความรับผิดชอบ คลาร์คและค็อคเครนเสนอว่า
เมื่อท้องถิ่นนิยมถูกใช้ในวาทกรรมทางการเมือง ความหมายของมันมักเคลือบคลุมและคลุมเครืออย่างมีเป้าหมาย มันพ่วงเอาความเข้าใจทางภูมิศาสตร์ต่อ ‘ระดับ’ และ ‘สถานที่’ เข้ากับชุดความเข้าใจทางการเมืองเกี่ยวกับ ‘การกระจายอำนาจ’ ‘การมีส่วนร่วม’ และ ‘ชุมชน’ และชุดความเข้าใจทางการบริหารจัดการเกี่ยวกับ ‘ประสิทธิภาพ’ และรูปแบบของ ‘การตอบโจทย์ของตลาด’ โดยสามารถกระโดดข้ามไปข้ามมาระหว่างชุดความเข้าใจเหล่านี้ได้ง่ายดาย แม้มันจะประกบกันได้ไม่สนิทก็ตาม
Clarke & Cochrane 2013, 11
ก็ความลื่นไหลในแนวคิดท้องถิ่นนิยมนี่แหละ ความที่มันสามารถรองรับโครงการและค่านิยมทางการเมืองที่สวนทางกันนี่แหละที่ทำให้มันดึงดูดใจ คลาร์คและค็อคเครนเสนอวิธีวิทยาแกะรอยการระดมความเป็นท้องถิ่นตามครรลองของ “หลักเหตุผลต่างๆ หลักความคิดต่างๆ แผนงานต่างๆ และเทคโนโลยีต่างๆ” ของท้องถิ่นนิยม
ในบริบทของไทยเท่าที่ผ่านมา ท้องถิ่นนิยมถูกถือเป็นแนวคิดต่อต้านเมืองอย่างถึงก้นบึ้ง เป็นวาทกรรมทางศีลธรรมที่ตั้งอยู่บนคุณความดีของชุมชนหมู่บ้านในชนบทที่เลี้ยงตนเองได้ ดังที่ฮิววิสันอ้าง มโนทัศน์แบบท้องถิ่นนิยมของหมู่บ้านชนบทในฐานะโมเดลของการพึ่งตนเองและการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชนที่หยั่งรากอยู่ในกิจกรรมของเอ็นจีโอ ได้ถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 (Hewison 2002, 148-149) ช่วงเวลาเดียวกันนี้เริ่มมีการประโคม ‘ปรัชญา’ เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ทางโทรทัศน์ผ่านพระบรมราโชวาทในโอกาสครบรอบวันเกิด ด้วยความที่ท้องถิ่นนิยมแบบชนบทเป็นทางหลีกเร้นจากความไร้เสถียรภาพของโลกาภิวัตน์และการพัฒนาแบบทุนนิยมที่มักประสบวิกฤติ มันจึงดึงดูดทั้งผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมและผู้มีแนวคิดรื้อรากถอนโคน (Hewison 2002, 148-149)
ขั้วตรงข้ามที่แยกจากกันเด็ดขาดระหว่างเมืองกับชนบทเป็นหัวใจของวาทกรรมท้องถิ่นนิยมนี้ ค่านิยมของชุมชนในชนบท อันมีสำนึกเป็นปึกแผ่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลสิ่งแวดล้อม ถูกสร้างขึ้นให้เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวการใช้ชีวิตในเมืองที่เป็นอยู่ทั่วไปที่มุ่งหาเงิน นิยมบริโภค ค้าขาย พาณิชย์ ข้อวิพากษ์แนวท้องถิ่นนิยมชี้ว่าในประเทศไทยการเติบโตของเมืองและการพัฒนาโดยรัฐที่มุ่งสนใจกิจการในเมืองเป็นหลักต้องแลกมากับการเสื่อมถอยของชุมชนชนบทและค่านิยมชุมชน ซึ่งต้องได้รับการฟื้นฟูสถานะและสุขภาวะกลับคืนมา ขณะที่ท้องถิ่นนิยมชนบทหลังปี 2540 ใช้ขั้วตรงข้ามระหว่างชนบทกับเมือง ท้องถิ่นนิยมเมืองที่แสดงตัวขึ้นในนามขอนแก่นโมเดลก็หาทางขุดเจาะเอาภูมิภาคนิยมที่หยั่งรากลึกมาใช้ประโยชน์เพื่อเรียบเรียงเสียใหม่ซึ่งความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ อันเป็นศูนย์รวมอำนาจเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และสัญลักษณ์
ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมืองใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตามโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ที่ออกแบบมาเพื่อหนุนเสริมการผนวกดินแดนของรัฐสยาม/ไทย การสร้างทางรถไฟเชื่อมกรุงเทพฯ กับหัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพุทธทศวรรษที่ 2470 อำนวยให้รัฐสยามและเจ้าหน้าที่ผู้กวดขันดูแลความสงบมาปรากฏตัวอย่างหนาตาขึ้นในอาณาบริเวณรอบนอก แต่มันก็นำพาคนกลุ่มใหม่มาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เมืองของอีสานด้วย กลุ่มที่โดดเด่นคือผู้ย้ายถิ่นเชื้อสายจีน อำนวยให้เมืองใหญ่และตัวเมืองที่เป็นศูนย์การพาณิชย์ในภูมิภาคเติบโตขึ้นอย่างเป็นหลักเป็นฐาน (Skinner 1957, 198-202)
ในพุทธทศวรรษที่ 2500 ใต้ระบอบเผด็จการพ่อขุนอุปถัมภ์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการปักหมุดพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคขึ้นใหม่ ความสนใจของสฤษดิ์เกี่ยวกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานในพื้นที่ชนบทด้อยพัฒนานำไปสู่การตัดถนนและการติดตั้งไฟฟ้า-ประปา พันธกิจการพัฒนาแบบพ่อขุนอุปถัมภ์ในฐานะรูปแบบหนึ่งของการบริหารราชการและการวางรากฐานสำหรับความมั่นคงทางการเมืองเป็นลักษณะเด่นด้านหนึ่งของระบอบสฤษดิ์ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือความโหดเหี้ยมในการกำจัดผู้เห็นต่างและผู้คัดค้าน (Thak 2007)
การมีพรมแดนร่วมกับลาวทำให้อีสานกลายเป็นเป้าสำคัญในการอัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือโดยการหนุนหลังของสหรัฐอเมริกาเพื่อปราบปรามการก่อกบฏคอมมิวนิสต์ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การใช้พื้นที่ของกองทัพสหรัฐ การตัดถนนมิตรภาพด้วยเงินช่วยเหลือของสหรัฐจากกรุงเทพฯ จรดหนองคายที่พรมแดนไทย-ลาว โดยผ่านขอนแก่นและอุดรธานีที่เป็นฐานทัพอากาศขนาดมหึมาของสหรัฐ ส่งผลให้ภูมิภาคอีสานกลายเป็นเมืองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในคริสต์ศตวรรษปัจจุบันที่อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคเสื่อมลงนานแล้ว ก็กลับเป็นการทูตของจีนผ่านรถไฟความเร็วสูงที่มีส่วนกำหนดแนวการพัฒนาเมืองในขอนแก่น ด้วยความที่มันเป็นจุดเชื่อมกึ่งกลางระหว่างลาว-จีนตอนใต้กับกรุงเทพฯ การเปิดทางให้จีนเข้าถึงตลาดคือหลักนำทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระลอกนี้ อันนำไปสู่การเน้นเชื่อมต่อข้ามชาติและค้าขายข้ามพรมแดนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แทนที่จะเน้นผดุงเขตแดนของรัฐไทย
การที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมต่อใหม่ๆ มีแววที่จะเสริมสายสัมพันธ์เมืองข้ามพรมแดนลุ่มน้ำโขงได้ส่งกลิ่นหอมเตะจมูกนักพัฒนาเมืองแนวผู้ประกอบการที่ขอนแก่น ทั้งนี้ทั้งนั้นอุปสรรคขั้นพื้นฐานประการหนึ่งยังขวางอยู่ คือรัฐราชการรวมศูนย์ที่จำกัดเพดานส่วนท้องถิ่นไว้ต่ำมาก โครงการพัฒนาฟื้นฟูเอกลักษณ์ถิ่นหรือย่านเพื่อเก็งกำไรและล่อทุนให้ไหลบ่าเข้ามาจึงทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หนุนนำให้เกิดกระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (McCargo 2002) มีการปฏิรูปอย่างน้อยก็ในเชิงหลักการที่จะให้อำนาจปกครองตนเองแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกควบคุมทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยระบบราชการส่วนภูมิภาคที่มาจากการแต่งตั้งและรับคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กำหนดให้กระจายอำนาจการเงินการคลัง โดยตั้งเป้าหมายกำหนดสัดส่วนรายได้ขั้นต่ำที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Nagai et al 2008, 1-3)
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในเวลาต่อมา โดยสัดส่วนที่กำหนดถูกปรับลดอย่างฮวบฮาบ (จากร้อยละ 35 ของรายได้สุทธิของรัฐบาลในปี 2549 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2550) พร้อมปรับให้เป้าหมายเดิมไม่มีผลผูกมัด (Nagai et al 2008, 11) ในปีงบประมาณ 2562 สัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐบาลที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18-19 ซึ่งน้อยกว่าอัตราเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่เมื่อเกือบสองทศวรรษก่อน นโยบายกระจายอำนาจทางการคลังเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ที่คลี่คลายกลายเป็นการถอยหลังเข้าคลองนี้เป็นประเด็นแทงใจบรรดาเทศบาลเมืองที่ได้รับมอบหมายหน้าที่บริการต่างๆ แทนส่วนกลาง การรวมศูนย์อำนาจแบบอำนาจนิยมเข้มข้นขึ้นอีกในปี 2557 เมื่อคณะรัฐประหารระงับการเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด แม้จะมีการตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งในปี 2562 แต่ในระดับท้องถิ่นกลับเพิ่งเริ่มกำหนดวันเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2563 ขณะเดียวกัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจชาติระยะยาวก็ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนให้เป็นตัวขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่เช่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2017: 205) พลวัตการกระจายอำนาจการคลังอย่างจำกัดซึ่งถูกสกัดโดยการรวมศูนย์แบบอำนาจนิยม ควบคู่กับแนวนโยบายที่เป็นคุณต่อการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนดังที่ว่ามานี้ คือบริบทแวดล้อมการเกิดขึ้นของ ‘ขอนแก่นโมเดล’ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคำตอบต่อการขยายอำนาจด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน
ขอนแก่นโมเดลสองรุ่น
วิดีโอโปรโมทจากคอมพิวเตอร์กราฟิกสร้างภาพของอนาคตขอนแก่นเพื่อเก็งกำไร เป็นเทคโนโลยีเปิดชายแดนใหม่ด้วยการเนรมิตภาพเหมือนฝันขึ้นมา แต่ในอีกทางหนึ่งภาพถ่ายที่ขึ้นเต็มฟีดสื่อสังคมของบริษัทพัฒนาเมืองก็สร้างภาพของการปกครองเมืองในปัจจุบัน สายสัมพันธ์ต่างๆ เหนียวแน่นขึ้นตามการผลิตและไหลเวียนของภาพเหล่านี้ ลองไปไถดูเพจเฟซบุ๊คของ Khon Kaen Think Tank ก็จะสะดุดใจที่กลุ่มนักธุรกิจแถวหน้าในชุดสูทปรากฏตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในภาพถ่ายร่วมกับนายกเทศมนตรีขอนแก่นพร้อมแขกบ้านแขกเมือง บ้างก็เป็นผู้ทรงเกียรติที่มาเยือน บ้างก็คณะผู้แทนจากญี่ปุ่น บ้างก็ผู้แทนอาวุโสของรัฐทหารจากกรุงเทพฯ ในงานสมาร์ทฟอรั่มที่จัดโดย อบจ.ขอนแก่น เมื่อสิ้นสุดปาฐกถาเปิดงานของรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง บรรดาผู้แทน KKTT ก็ลุกมายืนขนาบสองข้างของประจินราวขานรับสัญญาณเรียกที่ไร้เสียงและไม่เห็นตัว เพื่อบันทึกภาพทางการที่จะถูกนำมาแชร์ทางเพจเฟซบุ๊คต่อไป การโพสท่ากระทบไหล่กลายเป็นภาพ เป็นสัญญะแบบไอคอนที่ถ่ายทอดการยอมรับและการรับรองจากส่วนกลาง
ขอนแก่นโมเดลเป็นยุทธศาสตร์การหันเข้าหาท้องถิ่นที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีโดยรัฐทหารและรัฐบาลพลเรือนที่รับช่วงต่อ แนวคิดท้องถิ่นนิยมของผู้ประกอบการเมืองเหล่านี้มิได้ต่อว่าต่อขานระบบภาษีที่ล็อคสเป็คมาให้คนรวยหลบเลี่ยงภาษีได้ง่าย และสร้างระบบที่ไม่จัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอเพื่อสินค้าและบริการสาธารณะ (Pan 2017, 164)
ในทางตรงข้าม ผู้ประกอบการเมืองดูจะมั่นใจว่าสาธารณชนเชื่อเหมือนกับตนว่าการลงทุนโดยเอกชนมีศีลธรรมเหนือกว่าการใช้งบสาธารณะ ท้องถิ่นนิยมของผู้ประกอบการเหล่านี้มิได้ออกปากวิจารณ์ความแตกต่างทางรายได้ของภูมิภาคอย่างฟ้ากับดิน (ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเองนั้นอยู่ในระดับพอๆ กันกับระดับความเหลื่อมล้ำของทั้งประเทศ) มิได้กล่าวถึงการที่ส่วนกลางขูดรีดทรัพยากรจากรอบนอก มิได้กล่าวถึงการแช่แข็งกระบวนการประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ทว่าหันไปกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ ‘การเอาแต่พึ่งส่วนกลาง’ ของต่างจังหวัด ต้นคิดขอนแก่นโมเดลเสนอตัวเข้ามาในฐานะนวัตกรและ problem solvers เป็นผู้จัดหาทางออกจากปัญหาที่ถูกชี้และตีกรอบโดยนโยบายเศรษฐกิจของชาติ นั่นก็คือกับดักรายได้ปานกลาง พวกเขาหาได้เป็นผู้นำการก่อกบฏต่อต้านส่วนกลาง ตรงข้าม พวกเขาใจจดใจจ่อรอคอยวันที่นายกรัฐมนตรีจะมา ‘เจิม’ ในฐานะประธานพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่พวกเขาได้ขับเคลื่อนมา
ดังที่พีระตั้งข้อสังเกตไว้ ชีวิตสาธารณะในประเทศไทยเต็มไปด้วยโมเดล ไม่ว่าจะโมเดลลดความยากจน โมเดลบรรเทาปัญหาฝุ่นควัน โมเดลเพื่อการสมรสเท่าเทียม ฯลฯ ต่างก็ใช้คำยืมจากภาษาอังกฤษนี้เหมือนกันหมด (Peera 2019) พีระมองว่าการมีโมเดลอยู่ทุกหนทุกแห่งตีแผ่ ‘แนวโน้มที่จะกำหนดกฎเกณฑ์’ ในสังคมไทย แต่โมเดลก็เป็นวิสัยทัศน์การเปลี่ยนสังคมแบบที่เทคโนแครตโปรดปรานด้วย คือเป็นวิธีมองความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ปัจจัยเฉพาะหน้าทั้งหมดถูกกำจัดออกไปและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่อยู่ในสายตา ในแง่นี้โมเดลจึงเป็นฝาแฝดกับแนวคิดเรื่องเวอร์ชั่นที่ถูกนำมาใช้พูดถึงยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 กล่าวคือ ทั้งโมเดลที่กำหนดกฎเกณฑ์และเวอร์ชั่นที่เป็นความเปรียบต่างก็ถูกใช้ด้วยเจตนารมณ์สร้างความรับรู้ถึงสิทธิอำนาจแบบเทคโนแครตที่ชี้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและนำพาระเบียบมาสู่ความวุ่นวาย เมื่อใดที่ชื่อโมเดลผูกอยู่กับสถานที่ เมื่อใดที่มีการระบุอัตลักษณ์สถานที่หรือใช้สถานที่เป็นแบรนด์ เมื่อนั้นมันก็พ่วงความปรารถนาดึงดูดสายตาและอิทธิพลมาด้วย เมื่อนั้นตัวโมเดลเองก็เป็นการแสวงความได้เปรียบด้านการแข่งขัน เป็นการดึงดูดความสนใจในบรรยากาศการแข่งขันระหว่างเมือง
ดังที่พีระแจงไว้ ครั้งแรกที่คำศัพท์ ‘ขอนแก่นโมเดล’ ปรากฏตัวมันมีความหมายต่างออกไปมาก ในปี 2557 สื่อไทยรายงานว่าคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งมีแผนการก่อการร้าย เจ้าหน้าที่จับกุมตัวกลุ่มคนดังกล่าว 22 คนที่โรงแรมในจังหวัดขอนแก่นและนำตัวไปขังที่เรือนจำทหาร เดอะบางกอกโพสต์รายงานข้อกล่าวหาโดย พลโทธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 ในขณะนั้น ว่า ‘โมเดล’ นี้จะถูกนำมาใช้ในอีกหลายจังหวัดของภาคอีสานเพื่อ ‘ก่อวินาศกรรม’ การใช้คำศัพท์นี้ของคณะรัฐประหารทำให้ขอนแก่นกลาย (กลับไป) เป็นสถานที่ที่มีการปลุกปั่นความรุนแรง ความวุ่นวาย และการกบฏ การใช้คำศัพท์นี้ยังพ่วงตรรกะการดึงดูดสายตาอีกแบบมาด้วย ดังที่พีระตั้งข้อสังเกต การจับกุมผู้ต้องหาครั้งนี้เป็นมหรสพบนหน้าสื่อ เป็นการดึงกระแสข่าวพอปุบปับให้สังคมสนใจ เมื่อมีการยิงภาพอาวุธสงครามของผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายขึ้นหน้าจอและหน้ากระดาษ ก็เกิดอาการกวนใจวูบหนึ่ง กวนให้นึกถึงความโกลาหลรุนแรงและจ้องจะห้ำหั่นกันที่สงบระงับลงด้วยคณะทหาร การปรากฏตัวครั้งที่สองของขอนแก่นโมเดลดูคล้ายความพยายามที่จะเขียนทับสิ่งที่มาก่อน ที่จะเชื่อมโยงขอนแก่นเข้ากับนวัตกรรมภาคเอกชนแทนที่แผนก่อจลาจล ขณะที่สมาชิกของกลุ่มการเมืองต้องห้ามที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการขอนแก่นโมเดลถูกขังลืม การพิจารณาคดีไม่คืบหน้า ผู้ประกอบการขอนแก่นโมเดลรุ่นสองกลับได้รับการรับรองโดยรัฐบาลทหารชุดเดียวกัน
มีชั่วแวบหนึ่งที่ขอนแก่นโมเดลสองรุ่นเลื่อนเข้ามาซ้อนนัยกันอย่างอ้อมๆ เมื่อผู้ร่วมก่อตั้งและโฆษกอย่างไม่เป็นทางการของ KKTT ใช้ภาพอุปมาของพลังอัดแน่นจนแทบระเบิดในวาทะ “ลูกโป่งมันใกล้จะแตกแล้วล่ะ” สุรเดชกล่าวเป็นนัยว่า “major stakeholder” (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่) ในขอนแก่นควรได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของโครงการเพราะ “เราไม่ได้ไปเจาะให้ลูกโป่งระเบิด เราเป็นคนไปปลดปล่อยยางตรงปากลูกโป่ง ให้ลมมันออก” (สุรเดช 2018) การปล่อยให้ลมออกบ่งชี้ถึงการปลดชนวนระเบิดของข้อเรียกร้องเพื่อสังคมเป็นธรรมในท้องถิ่นออกอย่างละมุนละม่อม แทนที่จะปล่อยให้มันแปรไปเป็นพลังเคลื่อนไหวทางการเมือง
(อ่านต่อตอนที่ 2)
อ้างอิง
- Askew, Marc. Bangkok: Place, Practice and Representation. London: Routledge, 2002.
- Brooks, Richard. “The Financial Scandal No One is Talking About”. The Guardian, 29 May 2018, sec. News. https://www.theguardian.com/news/2018/may/29/the-financial-scandal-no-one-is-talking-about-big-four-accountancy-firms.
- Belzer, Dena, and Gerald Autler. “Transit Oriented Development: Moving from Rhetoric to Reality”. The Brookings Institution Center on Urban and Metropolitan Policy, 2002.
- Chatrudee Theparat. “Citizens Taking Initiative in Khon Kaen”. Bangkok Post, 2017, 1st September 2017 edition. https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1316747/citizens-taking-initiative-in-khon-kaen.
- Clarke, Nick, and Allan Cochrane. “Geographies and Politics of Localism: The Localism of the United Kingdom’s Coalition Government”. Political Geography 34 (1 May 2013): 10–23. https://doi.org/10.1016/j.polgeo.2013.03.003.
- Harvey, David. “From Managerialism to Entrepreneurialism: The Transformation in Urban Governance in Late Capitalism”. Geografiska Annaler. Series B, Human Geography 71, no. 1 (1989): 3. https://doi.org/10.2307/490503.
- Horst, Heather. “Creating Consumer-Citizens: Competition, Tradition and the Moral Order of the Mobile Telecommunications Industry in Fiji”. In The Moral Economy of Mobile Phones: Pacific Islands Perspectives, edited by Robert Foster and Heather Horst. Acton: ANU Press, 2018.
- Janssen, Peter. “All Aboard Thailand’s Decentralization Train”. Asia Times. Accessed 15 January 2020. https://www.asiatimes.com/2019/04/article/all-aboard-thailands-decentralization-train/.
- Keyes, Charles. “In Search of Land: Village Formation in the Central Chi River Valley, Northeast Thailand”. Contributions to Asian Studies 9 (1976): 45–63.
- Keyes, Charles. “Millenialism, Buddhism and Thai Society”. Journal of Asian Studies 36, no. 2 (1977): 283–302.
- Keyes, Charles. Finding their Voice: Northeastern Villagers and the Thai State. Chiang Mai: Silkworm Books, 2014.
- Hewison, Kevin. “Responding to Economic Crisis: Thailand’s Localism”. In Reforming Thai Politics, edited by Duncan McCargo. Denmark: NIAS Publishing, 2002.
- Honig, Bonnie. “The Politics of Public Things: Neoliberalism and the Routine of Privatization”. No Foundations: An Interdisciplinary Journal of Law and Justice, 2013, 18.
- “Khon Kaen Mayor Defends Light Rail Project Against Meddling from Bangkok”. Isaan Record, 29th May, 2018. https://isaanrecord.com/2018/05/29/khon-kaen-mayor-defends-light-rail-project-against-meddling-from-bangkok/
- McCargo, Duncan, ed. Reforming Thai Politics. Denmark: NIAS Publishing, 2002.
- Nelson, Michael H. “Chachoengsao: Democratizing Local Government?” In Thailand’s Rice Bowl: Perspectives on Agricultural and Social Change in the Chao Phraya Delta, edited by Francoise Molle and Srijantr Thippawal, 345–72. Bangkok: White Lotus, 2003. https://www.academia.edu/2089209/Chachoengsao_Democratizing_Local_Government.
- Pan Ananapibut. “Tax Reform for a More Equal Society”. In Unequal Thailand: Aspects of Income, Wealth and Power, edited by Pasuk Phongpaichit and Chris Baker. NUS Press: Singapore, 2017.
- Pechladda Pechpakdee. “The Khon Kaen Model: Eschewing Bangkok-Centric Development”. New Mandala (blog), 22 May 2018. https://www.newmandala.org/khon-kaen-model-eschewing-bangkok-centric-development/.
- Purcell, Mark. “Urban Democracy and the Local Trap”. Urban Studies 43, no. 11 (2006.): 1921–41.
- Sheller, Mimi. Mobility Justice: The Politics of Movement in an Age of Extremes. London: Verso, 2018.
- Skinner, G. William. Chinese Society in Thailand: An Analytical History. Ithaca: Cornell University Press, 1957.
- Peera Songkunnatham. “The Khon Kaen Model(s): When Terror and Transportation Infrastructure Meet”. New Mandala (website), 16 January 2019. https://www.newmandala.org/the-khon-kaen-models-when-terror-and-transportation-infrastructure-meet/.
- Streeck, Wolfgang. How Will Capitalism End?: Essays on a Failing System. London: Verso, 2016.
- Suzuki, Hiroaki, Roberto Cervero, and Kanako Iuchi. Transforming Cities with Transit: Transit and Land-Use Integration for Sustainable Urban Development. Urban Development Series. Washington DC: The World Bank, 2013.
- Suzuki, Hiroaki, Jin Murakami, Yu-Hung Hong, and Beth Tamayose. Financing Transit-Oriented Development with Land Values: Adapting Land-Value Capture in Developing Countries. Urban Development Series. Washington DC: World Bank Group, 2015.
- Thak Chaloemtiarana. Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Chiang Mai: Silkworm Books, 2007.
- Tsing, Anna Lowenhaupt. Friction. Princeton, N.J.: Princeton University Press, 2005.
- “‘กมลพงศ์ สงวนตระกูล’ ประธานหอการค้าฯ ลุยดีลบิ๊กธุรกิจทำ TOD ขอนแก่น”. ประชาชาติธุรกิจ. 16th August 2019. https://www.prachachat.net/local-economy/news-361323
- ฆฤณ ถนอมกิตติ. 2018. “ขอนแก่นทำอย่างไรถึงสร้างรถไฟฟ้าที่มีราคา 15 บาทตลอดสายได้” a day, 4th December 2018. https://adaymagazine.com/khonkaenmodel/?fbclid=IwAR2eaIiamQOf44Oq1-U-pWimrzteEqfjr71TzIs0Ucb78u6h0-YQUg3m7bc Accessed 20th January 2020
- “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสอง (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔)”. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560. https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=6422.
- สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย, สัมภาษณ์, อีสานบิซ. 3rd November 2018. Accessed on 15th January 2020 at Esan Biz Facebook Page. https://www.facebook.com/esanbiz/videos/732567073763322/.