ความรักนับเป็นเรื่องดี หากบางทีความรักอาจกลับกลายเป็นเงื่อนไขสร้างความเกลียดชัง นำมาสู่การทำร้ายทำลายกันได้อย่างง่ายดาย
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การปลุกกระแสรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นับเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการไล่ล่า มุ่งเอาชีวิตผู้คนที่คิดต่าง กระทั่งผลักไสให้เป็นศัตรูคู่อาฆาต
หากย้อนมองในรอบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์นองเลือดเดือนตุลา จะพบกับความน่าสลดระคนสยดสยองที่คนไทยต้องห้ำหั่นกันเองเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน เพียงเพราะความรัก ความชัง และวาทกรรมโกรธเกลียด
การเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงความคิดความเห็นอย่างอิสระโดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดพื้นที่แห่งการพูดคุยถกเถียงเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ทว่า
การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ทั้งด้วยการใช้กฎหมายและการใช้กำลัง กลับยิ่งปิดโอกาสของการพูดคุยอย่างมีอารยะ
ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป
ตลอดช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปจนถึง 6 ตุลาคม 2519 สัญญาณการใช้ความรุนแรงทางการเมืองปรากฏอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายอนุรักษนิยมเริ่มใช้ยุทธการ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ มีการจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ผ่านการปลุกระดมของสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม วาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของพระกิตติวุฑโฒ ถูกนำมาใช้ขยายผล ยุยงปลุกปั่น เกิดการลอบสังหารผู้นำกรรมกรและแรงงาน รวมถึง ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถูกยิงเสียชีวิต จนในที่สุดความรุนแรงเริ่มบานปลาย นำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาและผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519
เสียสัตย์เพื่อชาติ
ปี 2532 ไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทว่าไม่นานก็จบลงด้วยการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) อ้างเหตุผลว่า มีการทุจริตแบบบุฟเฟต์คาบิเน็ต เป็นเผด็จการรัฐสภา และมีการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมามีการสืบทอดอำนาจ โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และรองหัวหน้า รสช. เคยให้คำมั่นมาตลอดว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองต่อ แต่หลังเลือกตั้งปี 2535 กลับออกมาแถลงว่าจำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
ข้ออ้างเรื่องความรักชาติ รักสถาบัน นำมาสู่จุดจบของพลเอกสุจินดาที่ต้องออกจากตำแหน่งไปในที่สุด ท่ามกลางความสูญเสียของประชาชน
กู้ชาติ
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยรัฐบาลแรกที่ได้รับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 ก่อนจะได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นให้เป็นรัฐบาลสมัยที่ 2 ในปี 2548
ทว่าไม่นานหลังจากนั้น กระแสความรักชาติก็ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง เกิดเป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาลทักษิณภายใต้การนำของ สนธิ ลิ้มทองกุล มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน ขายชาติ ขายแผ่นดิน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากกรณีทำบุญวัดพระแก้ว จนนำมาสู่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ ‘ม็อบกู้ชาติ’ ภายใต้คำขวัญ ‘เราจะสู้เพื่อในหลวง’ เรียกร้องให้กองทัพที่กลับเข้ากรมกองไปหลัง 2535 ออกมาทำรัฐประหาร
จนในที่สุดคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ 19 กันยายน 2549 และจัดตั้งรัฐบาลขิงแก่ ชุด พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยตกอยู่ในภาวะสุญญากาศอีกครั้งระหว่างรอการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งครั้งใหม่
ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ยืดเยื้อต่อเนื่อง แม้พรรคไทยรักไทยซึ่งถูกรัฐประหารและยุบพรรคไป แต่สามารถกลับมาชนะการเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชนได้อีกครั้งในปี 2550 ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่องยาวนาน นำไปสู่การยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ กระทั่ง สมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชาชน ต้องหลุดจากตำแหน่งจากการเป็นพิธีกรรายการทีวี ‘ชิมไปบ่นไป’ และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน แต่ไม่สามารถเข้าทำเนียบได้เพราะกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านฉวยจังหวะรวบรวมเสียงในสภาเพื่อส่งให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ
ผลพวงจากการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ทำให้มวลชนคนเสื้อแดงเกิดความไม่พอใจและออกมาชุมนุมทวงคืนประชาธิปไตย ในนามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่ก่อนหน้านี้เคยเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ปี 2549 และต่อมาใช้ชื่อว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
การต่อสู้ระหว่างฝ่ายเสื้อแดงกับฝ่ายเสื้อเหลืองและกองทัพด้วยแนวคิดและอุดมการณ์ที่ต่างกัน นำมาสู่การปะทะหลายครั้งหลายหน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บตลอดการชุมนุม ช่วงหนึ่งของความขัดแย้งนี้ คนในวงการบันเทิงจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการเติมเชื้อไฟหล่อเลี้ยงวาทกรรมแห่งความเกลียดชังด้วยเช่นกัน
ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานประกาศผลรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 จัดโดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 16 พฤษภาคม 2553 เมื่อ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ขึ้นกล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า “ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ…”
ผังล้มเจ้า
การชุมนุมของมวลชนคนเสื้อแดงเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่เป็นผล รัฐบาลยังคงเดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่างต่อไป พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีการกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมว่าไม่จงรักภักดี ล้มล้างสถาบัน ผ่าน ‘ผังล้มเจ้า’ ที่ฝ่ายกองทัพหยิบยกมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการตั้งข้อกล่าวหา สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม จนนำไปสู่เหตุการณ์กระชับพื้นที่ ล้อมปราบคนเสื้อแดงด้วยอาวุธสงครามใจกลางกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
Big Cleaning Day
กิจกรรม ‘Big Cleaning Day’ เป็นปฏิกิริยาการแสดงออกทางการเมืองของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ออกมาทำความสะอาดพื้นที่การชุมนุมภายหลังการล้อมปราบคนเสื้อแดงเสร็จสิ้นลง เป็นการแสดงออกของฝ่ายขวาผ่านวาทกรรมตีตราว่าคนเสื้อแดง ‘เผาบ้านเผาเมือง’ สร้างความเสียหายให้กับแผ่นดินจนต้องชำระล้างบ้านเมืองให้สะอาด โดยเฉพาะคราบเลือดและกองกระสุน พร้อมๆ กับเป็นการทำลายหลักฐานไปในตัว ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับการตอบรับจากคนกรุง รวมไปถึงดารา นักร้อง นักแสดงอย่างล้นหลาม
หนักแผ่นดิน
การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2554 พรรคเพื่อไทย นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย เช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบบสุดซอยที่ครอบคลุมไปถึงนักการเมือง เป็นเหตุให้ขบวนการฝ่ายขวาที่สูญเสียอำนาจออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้ม ‘ระบอบทักษิณ’ และกดดันให้ยิ่งลักษณ์ลาออก ไปจนถึงเรียกร้องให้กองทัพออกมาปกป้องสถาบัน และให้การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
การชุมนุมระลอกใหม่ของมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยม นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ได้รับแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งชนชั้นนำ ชนชั้นกลางในเมือง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี ‘นกหวีด’ เป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสียงประท้วง
การเคลื่อนไหวของ กปปส. ได้หยิบยกเพลงปลุกใจ ‘หนักแผ่นดิน’ ที่เคยถูกใช้ในช่วงหลังสงครามเย็นมาใช้ในการเดินขบวน นับเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมของขบวนการฝ่ายขวาในสมัย 6 ตุลา เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม และผลที่ตามมาคือ เกิดการปะทะ การสูญเสีย และมีผู้บาดเจ็บล้มตายตลอดการชุมนุม
ท้ายที่สุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยข้ออ้างเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง และครองอำนาจยาวนานถึง 9 ปีเต็ม
ปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง
ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ไม่มีทีท่าว่าจะทำตามสัญญา ส่งผลให้บรรยากาศบ้านเมืองคุกรุ่น แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 พร้อมประกาศ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นปรากฏการณ์ที่นักวิชาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ใช่การดันเพดานให้สูงขึ้น แต่ได้ทะลุเพดานไปแล้ว ซึ่งต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวของผู้ชุมนุม “เจตนาซ่อนเร้นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป”
ผลพวงจากการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ถูกนำมาถกเถียงกันในที่แจ้ง สร้างความตระหนักให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประยุทธ์ก็มีการตอบโต้และปราบปรามอย่างหนัก โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่าง พร้อมกับการตีตราว่า ‘ล้มเจ้า’ โดยสถิติผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกเหนือจากการใช้ ม.112 เพื่อปิดปากประชาชนแล้ว ท่าทีความรุนแรงจากฝ่ายขวาก็ปรากฏชัดเจน เช่น การปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ มีการใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมี แก๊สน้ำ และกระสุนยาง รวมถึงเหตุการณ์ ‘ม็อบชนม็อบ’ หน้ารัฐสภา เมื่อ 17 พฤศิกายน 2563 ซึ่งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ขณะที่มวลชนอีกกลุ่มกลับถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง
เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน
คำว่า ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน’ เคยปรากฏมาแล้วครั้งหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาล คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และอีกครั้งในคดีการชุมนุมทะลุเพดาน ประกาศ 10 ข้อเรียกร้อง ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และครั้งล่าสุดในคดี ‘ล้มล้างการปกครอง’ กรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองจากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มุ่งชี้ว่า ผู้เห็นต่างมีพฤติกรรมเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน อาจนับเป็นสัญญาณความรุนแรงรอบใหม่ เมื่อพื้นที่แห่งการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตถูกปิดกั้น
ภารกิจดับตะวัน
จากความรุนแรงด้วยกฎหมาย สู่ความรุนแรงด้วยกำปั้น เมื่อ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถูกชกที่ใบหน้าโดยกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
นับตั้งแต่การชุมนุมทะลุเพดานในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ที่มีการตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์และวิพากษ์วิจารณ์ความจำเป็นของขบวนเสด็จ ทุกครั้งมักจบลงด้วยความรุนแรงทั้งจากฟากฝั่งของกฎหมายและความรุนแรงจากฝ่ายอนุรักษนิยม ดังเช่นกรณี ทานตะวัน นักกิจกรรมทางการเมืองที่บีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ทำให้ ศปปส. โกรธแค้นและบุกทำร้ายร่างกาย ขณะเดียวกันเหล่านักรบเลือดสีน้ำเงินในโซเชียลมีเดียก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดการขั้นเด็ดขาดกับทานตะวันและกลุ่มทะลุวัง ซึ่งกลุ่มคนที่สมาทานความคิดแบบขวาต่างพากันแสดงความเห็นลักษณะที่สะท้อนความเกลียดชัง มีการเขียนข้อความในเชิงสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างกันอย่างท่วมท้น ไม่ว่าจะเป็น ‘ภารกิจดับตะวัน’ ‘เก็บตะวัน’ ‘กระสุนเจาะกะโหลก พิทักษ์ราชบัลลังก์’