วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2564) ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ซึ่งเป็นการวินิจฉัยมาตรา 49 ตามคำร้องของนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ของ 8 แกนนำผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มอ่านคำวินิจฉัย ฝ่ายผู้ถูกร้องแจ้งต่อศาลว่า ในเมื่อศาลไม่มีการไต่สวน จึงขออนุญาตไม่อยู่ฟังคำวินิฉัยและเดินออกจากห้องพิจารณา เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการในการพิจารณา
ด้านศาลรัฐธรรมนูญแจงว่า เหตุผลของฝ่ายผู้ถูกร้องเป็นข้ออ้าง โดย “เรื่องนี้ ศาลใช้ระบบไต่สวนซึ่งศาลแสวงหาข้อเท็จจริงได้ และศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากหลายๆ ฝ่าย จนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนที่สามารถจะวินิจฉัยได้ ศาลจึงสั่งงดการไต่สวน เป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนจะไม่ฟังก็เป็นสิทธิ์ของผู้รับมอบฉันทะ”
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่บอกว่าคำร้องมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนนั้น เป็นข้อโต้แย้งที่ฟังไม่ขึ้น เพราะคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องที่ผู้ร้องอ้างว่าการปราศรัยของผู้ถูกร้องมีเนื้อหาบิดเบือด จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำมีเจตนาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความชัดเจนและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา และสามารถต่อสู้คดีได้
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า “การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง …และสั่งการให้ผู้ถูกร้อง …รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง”
ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงเหตุผลประกอบคำวินิฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง “มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่การปฏิรูป … เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครอง” เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันกษัตริย์โดยชัดแจ้ง และเป็นการเซาะกร่อนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการใช้สิทธิเสรีภาพที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยในที่สุด
ศาลรัฐธรรมนูญยังกล่าวในส่วนของประเพณีการปกครองของไทยว่า “ประวัติศาสตรการปกครองของไทยนั้น อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ … ในยุคก่อนที่ผ่านมา ประกอบกับพระมหากษัตริย์ทรงถือการปกครองตามหลักธรรมแห่งพุทธศาสนา และยึดถือทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นที่เคารพและศรัทธา เป็นศูนย์รวมและความเป็นหนึ่งเดียวกันของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดเวลาหลายร้อยปี”