COVID-19 ตัวแปรสำคัญในเกมการเลือกตั้งสหรัฐ 2020 และภารกิจก่อนเกษียณของ เบอร์นี แซนเดอร์ส

สัญญาณการพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งเล็ก เพื่อหาผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ว่า โจ ไบเดน (Joe Biden) กำลังมีคะแนนนำมากกว่า เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ถึง 300 กว่าคะแนน บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเล็กภายในรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเมษายนนี้อาจมีการปรับตารางเวลาใหม่ ไปเป็นช่วงต้นมิถุนายนแทน (ในขณะเดียวกันนั้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวันเวลาได้) ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องขึ้นภายในกลุ่มสมาชิกพรรคเดโมแครต ที่พากันออกมาโน้มน้าวให้แซนเดอร์สถอนตัวออกจากการแข่งขันนี้เสีย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาของพรรค แล้วปล่อยให้โจ ไบเดน และพรรค สามารถนำเวลาในส่วนนี้ไปมุ่งวางแผนในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีช่วงพฤศจิกายน 2020 แทน

การต่อสู้ในเดโมแครต

เบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งมีท่าทีลังเลในช่วงก่อนหน้า ว่าจะถอนตัวหรือเดินหน้าสู้ต่อ ก็ยังไม่ได้ออกมายืนยันเป็นที่แน่ชัดว่า นอกจากการประกาศขอเวลากลับไปพิจารณาและประเมินความเป็นไปได้ของแคมเปญเลือกตั้งของตนเองร่วมกับภรรยาก่อน ในขณะเดียวกันทางฝั่งคนใกล้ชิดของแซนเดอร์สนั้น ก็มีความพยายามออกมาบอกเป็นนัยๆ ผ่านสื่อว่า แซนเดอร์สยังไม่มีทีท่าว่าจะถอนตัวง่ายๆ แน่นอน

เมื่อบวกกับทัศนคติของแซนเดอร์สเมื่อสัปดาห์ก่อน ต่อประเด็นการถอนตัวของ พีท บุตติเจจ (Pete Buttigieg) และ เอมี โคลบุชาร์ (Amy Klobuchar) ออกจากศึกเลือกตั้งเล็ก แล้วออกตัวสนับสนุนไบเดนอย่างกะทันหัน ซึ่งแซนเดอร์สมองว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอำนาจเก่าและผู้ใหญ่ภายในพรรค (The Establishment) ที่ใช้อำนาจมืดพยายามกำจัดคู่แข่งทางการเมืองแล้วเปิดทางให้ไบเดน

ความเป็นไปได้ในการถอนตัวของ แซนเดอร์สในฐานะที่กำลังหาเสียงด้วยความพยายามจะแตกหักออกจากแนวทางของผู้ใหญ่ภายในพรรคจึงมีค่อนข้างต่ำ

กระนั้นก็ตาม หากวัดจากสถานการณ์ และเงื่อนไขในปัจจุบันที่แทบไม่มีใครยืนอยู่ข้างแซนเดอร์สแล้ว เพราะในกลุ่มผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีภายในพรรคเดโมแครต ที่ถอนตัวออกจากการแข่งขันไปก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่หันไปอยู่ฝั่งเดียวกับไบเดนกันหมด ไม่ว่าจะ แอนดรูว์ หยาง (Andrew Yang), คอรี บุคเคอร์ (Cory Booker), คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris), ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) และ ตุลซี กับบาร์ด (Tulsi Gabbard) จึงเป็นที่แคลงใจกันว่า หนทางในการต่อสู้ที่ริบหรี่ของแซนเดอร์สในครั้งนี้จะถูกยื้อไปจนถึงเมื่อใด แล้วมีเหตุผลอันใดที่ทำให้แซนเดอร์สยังยืนยันที่จะดื้อดึงเดินหน้าทำแคมเปญของตนเองต่อ ในเวลาที่คนในพรรคเริ่มมีความรู้สึกต่อต้านแนวทางของเขา

บทความนี้มีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการ ต่อความเป็นไปได้ในแคมเปญของแซนเดอร์ส ช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ ในกรณีที่แซนเดอร์ส ตัดสินใจจะสู้ต่อ

การระบาดของ COVID-19 และการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ

ความเป็นไปได้ประการแรก แซนเดอร์สเล็งเห็นว่า สหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนั้นกำลังตกอยู่ในห้วงภวังค์ของโรคระบาดอย่างจริงจัง โดยที่ไม่ได้มีโปรโตคอลในการรับมือกับวิกฤติครั้งนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนนัก ทั้งๆ ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาเคยช่วยกันทำคู่มือการบริหารรัฐบาลภายใต้วิกฤติโรคระบาด (Playbook for Early Response to High-Consequence Emerging Infectious Disease Threats and Biological Incidents) สำหรับผู้บริหารรัฐบาลเอาไว้แล้วเมื่อช่วงปี 2016-2017 ภายหลังมีการระบาดของไวรัส Ebola (โดยหากอิงตามเอกสารชุดนั้นจะพบว่ารัฐบาลควรจะเริ่มมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขตั้งแต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว) แต่รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ก็ปฏิเสธและไม่ได้หยิบคู่มือชุดนั้นออกมาใช้ประกอบการวางแผนรับมือวิกฤติ COVID-19 แต่อย่างใด

อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังเป็นตัวแปรที่สะท้อนให้เห็นความบกพร่องและรอยรั่วของระบบประกันสุขภาพและการสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ก่อนที่รัฐสภาจะประกาศอนุมัติมาตรการเยียวยาขั้นพื้นฐานในการตรวจไวรัส COVID-19 ได้ฟรีสำหรับประชาชนอเมริกันนั้น สถานการณ์ไวรัสก็แพร่ระบาดไปทั่วสหรัฐอเมริกาแล้ว ไม่ว่าจะผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่เป็นพาหะ (สังเกตได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดมาเป็น 100,000 รายในช่วง 1 สัปดาห์ให้หลังการประกาศมาตรการดังกล่าว) ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการเข้าถึงระบบสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกานั้นมีราคาค่อนข้างสูง มีประชาชนหลายคนที่ไม่ได้มีงานประจำทำ แถมจำนวนผู้ที่ไม่ได้มีประกันสุขภาพก็มียอดสูงถึงเกือบ 30,000,000 คน

ถึงแม้ว่าทางรัฐสภาจะมีการรับรองว่าการตรวจหาไวรัส COVID-19 ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีมาตรการหรือนโยบายใดๆ ที่ชัดเจนเพียงพอจะสามารถรับประกันได้ว่าสถานการณ์หลังจากตรวจพบไวรัสแล้ว ผู้ป่วยจะไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 20,000-30,000 ดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 600,000-1,000,000 บาท) ไว้ด้วยตัวเอง เพราะประชาชนบางกลุ่มก็อาจจะไม่มีทั้งประกันสุขภาพจากนายจ้าง และสิทธิการเข้าถึงโครงการ Medicaid หรือ Medicare แต่อย่างใด ค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่ตามมาจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในระบบโรงพยาบาลที่สหรัฐอเมริกาจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว และตึงเครียดสำหรับประชาชนชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก

แซนเดอร์สจึงอาจมองว่าสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่ยืดเยื้อในสหรัฐอเมริกา เป็นโอกาสทองสำหรับการเดินแคมเปญของเขา เพราะนอกจากจะทำให้เห็นความไม่ทั่วถึงครอบคลุมของการสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ไวรัสครั้งนี้ยังช่วยตอกย้ำความสำคัญและความเป็นไปได้ที่กระแสสนับสนุนของคนอเมริกันจะเหวี่ยงกลับมาหาแซนเดอร์สในภายหลังได้

อนึ่ง แซนเดอร์สเป็นผู้สมัครฯ ที่หาเสียงด้วยการชูนโยบายด้านการปฏิรูปโครงสร้างของวงการสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แนวคิดที่จะปฏิวัติพรรคเดโมแครตให้กลายเป็นพรรคสังคมนิยมของเขา ทำให้นโยบายชูโรงทางด้านสาธารณสุข (Medicare for All – National Health Insurance Program) ของแซนเดอร์ส ซึ่งมีข้อเสนอให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ฟรี โดยภาครัฐเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่าย พร้อมคำรับรองว่าจะไม่มีใครต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายทางด้านยาเกินปีละ 200 ดอลลาร์ อาจกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คะแนนเสียงของแซนเดอร์ส พุ่งทะยานแซงหน้าไบเดนขึ้นมาอีกครั้ง ในสภาวะที่คนอเมริกันกำลังอดสูยากจนอยู่ท่ามกลางภาวะการตกงานและหนี้สินในค่ารักษาพยาบาลจนแทบล้มละลายเช่นนี้ (อย่างน้อยก็ในความคาดการณ์ของแซนเดอร์ส)

แซนเดอร์สกับอนาคตใหม่ของสหรัฐอเมริกา

อีกประการหนึ่งก็คือ แซนเดอร์สรับรู้และเข้าใจในศักยภาพของตนเองดี ไม่ว่าตนเองจะพยายามมากแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะไล่ทันไบเดนในศึกเลือกตั้งเล็กครั้งนี้ได้ และจะต้องพบกับความพ่ายแพ้จนต้องระเห็จออกจากการแข่งขันไปไม่ช้าก็เร็วแบบเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2016 ที่เขาต้องพ่ายให้แก่ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) เพราะความนิยมในตัวเขาไม่สามารถทัดทานกับคลินตันได้ และยังมีความจริงข้อสำคัญที่ว่าทั้งคลินตันและไบเดน ต่างก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ใกล้ชิดระดับวงในของโอบามา เคยผ่านงานในระดับบริหารรัฐบาลมาก่อนทั้งสิ้น คนหนึ่งก็เป็นอดีตรองประธานาธิบดีภายในรัฐบาลโอบามา ส่วนอีกคนก็เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในเวลาเดียวกัน (ในขณะที่แซนเดอร์สไม่เคยมีประสบการณ์ในระดับบริหารมาก่อนเลย) ภาษีและต้นทุนของแซนเดอร์สต่อเก้าอี้ประธานาธิบดีในสายตาของประชาชนและฐานเสียงของพรรค จึงมีน้อยกว่าผู้สมัครฯ อย่างคลินตัน และไบเดน อย่างมาก

ทว่า สิ่งหนึ่งที่แซนเดอร์สยังพอจะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือหรือแต้มต่อในการต่อรองกับไบเดนได้นั้น ก็คือฐานเสียงของแซนเดอร์สที่เหลืออยู่นั้นเอง ในขณะที่ไบเดนนั้นมีฐานเสียงทางการเมืองอยู่ในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีพื้นเพมาจากทางลาตินอเมริกา (ฮิสแปนิค) และกลุ่มคนที่มีพื้นเพมาจากทางทวีปแอฟริกา (คล้ายเมื่อครั้งที่โอบามาทำแคมเปญหาเสียง) ในทางตรงกันข้าม กลุ่มฐานเสียงที่แซนเดอร์สพอจะรักษาไว้ได้ในขณะนี้ มีเพียงแค่กลุ่มเยาวชนที่มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 18-44 ปี กลุ่มคนมีการศึกษา และกลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายและเสรีนิยมแนวสังคมนิยม ซึ่งแซนเดอร์สได้อานิสงส์มาจากการที่ เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) ตัดสินใจถอนตัวออกไปจากการแข่งขันเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (ทำให้ค่ายเสรีนิยมแนวสังคมนิยมบางส่วนที่เคยสนับสนุนวอร์เรน หันมาสนับสนุนแซนเดอร์สแทน)

แม้ว่าจะมีจำนวนและอำนาจในการออกเสียงไม่เท่ากับกลุ่มฐานเสียงของไบเดน แต่หากดูจากท่าทีของไบเดน และทีมงานของเขาในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เวลาถูกนักข่าวจี้ถามถึงศึกเลือกตั้งเล็กในครั้งนี้ ก็จะสังเกตเห็นได้ชัดว่า ไบเดนมีความต้องการและความพยายามที่จะเขี่ยแซนเดอร์สออกจากการแข่งขันครั้งนี้ให้เร็วที่สุด ทั้งการออกมาบอกเป็นนัยๆ ว่า “การแข่งขันระหว่างเรา (เขาและแซนเดอร์ส) นั้นไม่มีความจำเป็นอะไรอีกต่อไปแล้ว ผมคิดว่าพวกเราควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่น (เช่น ร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤติไวรัส) กันดีกว่า ตอนนี้ผมยังไม่ได้คิดเกี่ยวกับเรื่องการแข่งขันเท่าใดนัก” คำพูดเหล่านี้ช่วยเป็นกระจกสะท้อนได้อย่างดีว่าในสายตาของไบเดนนั้น แซนเดอร์สกำลังมีภาพลักษณ์เป็นเสี้ยนหนาม (pain in the ass) ของไบเดนมากแค่ไหนในกรณีที่ แซนเดอร์สยังดื้อดึงยืนยันจะสู้ในศึกเลือกตั้งเล็กครั้งนี้ต่อไป ไม่ว่าจะ 1 เดือน หรือ 2 เดือนก็ตาม

แซนเดอร์สคงตระหนักในข้อนี้ดี เพราะถึงแม้ว่าไบเดนจะมีคะแนนนำมากแค่ไหน แต่ถ้าหากแซนเดอร์สยังไม่ยอมถอนตัวออกจากการแข่งขัน แล้วประกาศสนับสนุนไบเดนอย่างเป็นทางการ ฐานเสียงของแซนเดอร์สก็จะยังคงยึดติดอยู่กับแซนเดอร์สเป็นหลัก และคงไม่เกิดผลดีในระยะยาวต่อเส้นทางการเมืองของไบเดนในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้แน่นอน เพราะยังไงเสีย ฐานเสียงของทั้งไบเดนและแซนเดอร์ส ก็คือผู้ที่มีใจใฝ่ในพรรคเดโมแครต หากแซนเดอร์สตั้งใจที่จะดึงเกมเอาไว้ สุดท้ายฝ่ายที่จะได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดก็คือพรรคเดโมแครตเอง ไม่ใช่แค่ตัวไบเดน จากการพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งใหญ่กับทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายน 2020 (ทางเดียวที่พรรคเดโมแครตจะเอาชนะทรัมป์ในศึกนี้ได้คือ พรรคต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนจากทั้งขั้วของไบเดน และขั้วของแซนเดอร์สให้ได้) แซนเดอร์สจึงเป็นผู้ถือกุญแจอีกดอกหนึ่งในการแข่งขันครั้งนี้

จากความพยายามในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไบเดนเริ่มแสดงออกถึงท่าทีที่เปิดมากขึ้นต่อนโยบายของผู้สมัครฯ คนอื่นๆ ภายในพรรค เพราะหวังในฐานเสียงของกลุ่มเยาวชนและคนมีการศึกษา ไม่ว่าจะการเข้าถึงระบบการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 125,000 ดอลลาร์ (College-for-All Act และ Affordable Higher Education For All) และแผนการปฏิรูปกฎหมายล้มละลายของวอร์เรนนั้นก็เป็นสัญญาณที่ดีว่า ไบเดนเปิดช่องว่างให้ และในขณะเดียวกันก็ยินดีที่จะรับข้อเสนอของการต่อรองจากผู้สมัครฯ คนอื่นๆ ให้ยอมถอนตัวออกจากการแข่งขันไป แล้วประกาศตัวสนับสนุนไบเดน โดยแลกเปลี่ยนกับการที่ไบเดนจะรับเอานโยบายของผู้สมัครฯ คนนั้นๆ ไปสานต่อหากได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในสมัยถัดไป

นโยบายกับฐานเสียงของแซนเดอร์ส เอกภาพและพลังของพรรคเดโมแครต

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากบทความ Progressive ideas remain popular. Progressive presidential candidates are losing. Why? ของ แอสเตด เฮิร์นดอน (Astead Herndon) ใน The New York Times ก็อาจจะช่วยให้มองเห็นโอกาสอย่างเดียวกับที่แซนเดอร์สมองเห็นได้ชัดขึ้น เขาคงทราบมาก่อนแล้วว่าประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากนั้นชื่นชอบ และใฝ่ฝันอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบประกันสุขภาพและการสาธารณสุขใหม่ให้มีรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาถูกลงกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะการเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาล การรักษา หรือแม้แต่ การจ่ายยา (ที่มักถูกขูดรีดกันในราคาค่อนข้างแพง แม้จะเป็นผู้มีประกันสุขภาพก็ตาม) แต่ติดอุปสรรคอยู่เพียงข้อเดียว คือ มีโอกาสเป็นไปได้เกิดขึ้นในระดับที่ต่ำ ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันขาดความเชื่อมั่น และไม่เชื่อว่าแซนเดอร์สจะสามารถสานฝันเหล่านั้นได้ (เพราะแซนเดอร์สพยายามแยกตัวเองออกจากกลุ่มอำนาจภายในพรรค ทำให้ดูเป็นผู้สมัครฯ ที่มีแววจะทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ภายในพรรคยาก)

แซนเดอร์สอาจคิดและทบทวนแล้วว่า หากตนเองใช้โอกาสนี้มาเป็นข้อต่อรองบ้าง เพื่อให้ไบเดนรับเอาข้อเสนอทางด้านนโยบายนี้ไปสานต่อ ในฐานะที่ไบเดนมีความใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจเก่าและผู้ใหญ่ภายในพรรคเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมีโอกาสในการนำนโยบายไปปฏิบัติและดำเนินการได้จริงมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้แซนเดอร์สตัดสินใจเดินหน้าทำแคมเปญหาเสียงต่อไป เพื่อพยายามบีบคั้นให้ไบเดนเลือกว่าจะยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนเอง จนยอมหักไม่ยอมเอนเอียงไปหานโยบายแนวสังคมนิยมของแซนเดอร์ส (ไบเดนออกตัวชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนนโยบาย Medicare for All ของแซนเดอร์ส) แต่ต้องรับผลที่ตามมาอย่างการแพ้เลือกตั้งในช่วงปลายปี หรือจะยอมรับเอานโยบายของแซนเดอร์สไปสานต่อ เพื่อแลกกับการได้มาซึ่งฐานเสียงของแซนเดอร์ส แล้วเพิ่มโอกาสในการชนะศึกเลือกตั้งในปลายปี

ซึ่งโดยสรุปแล้ว หากสถานการณ์เดินไปจนถึงขั้นดังกล่าวจริงๆ ไบเดนก็คงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง เพราะยิ่งช้ามาก หรือปล่อยให้ศึกเลือกตั้งเล็กนี้ยืดเยื้อไปนานเท่าใด ไบเดนก็ยิ่งมีเวลาเตรียมตัวในศึกกับทรัมป์น้อยลงเท่านั้น ไบเดนเองก็ดูท่าทางจะอยากหลุดออกจากหล่มโคลนนี้อยู่เต็มทนแล้ว ดังจะเห็นได้จากความพยายามเร่งรัดในการขยายขอบเขตฐานเสียงของตนเอง จากวัยทำงานตอนปลายและวัยชรามายังฐานเสียงที่อายุต่ำลง จากการออกมาประกาศรับรองนโยบายของวอร์เรนเมื่อต้นเดือน

แต่จากท่าทีของแซนเดอร์ส ก็พอจะเป็นที่เข้าใจได้ว่า คงยังไม่ยอมสิ้นฤทธิ์ออกจากการแข่งขันไปง่ายๆ หากตนเองยังไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะสำหรับแซนเดอร์ส การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขาก่อนปลดเกษียณออกจากสนามการเมือง

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า