นับตั้งแต่เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายเป็นการแพร่ระบาดระดับโลก (pandamic) จนถึงปัจจุบันที่เชื้อกลายพันธุ์ไปแล้วหลายสาย พฤติกรรมแบบใหม่จำนวนมากกลายเป็นวิถีปฏิบัติสามัญ ตามที่เรียกกันว่า New Normal หรือ ‘นววิถี’
การแพร่ระบาดขนาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่มาก ทั้งสำหรับสังคมไทยและสังคมโลก หากว่ากันเฉพาะสังคมไทย เราจะพบมาตรการฉุกเฉินใหม่ๆ ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานรัฐต่างๆ อยู่ตลอดช่วงการแพร่ระบาด มาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งใหม่ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อรับมือปัญหาโรคระบาดใหม่
การต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ก่อให้เกิดบทเรียนหลากหลายซับซ้อน มีความจำเป็นต้องนำข้อมูลจากสถานการณ์จริงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการวิจัยและสังเคราะห์ในอนาคต เนื่องจากปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นสถานการณ์วิกฤติ ก็เพราะข้อจำกัดทางข้อมูล ขาดแคลนประสบการณ์ นำมาสู่การขาดความเข้าใจอย่างรอบด้านในการออกแบบมาตรการสำหรับรับมือ แก้ไข ช่วยเหลือ หรือเยียวยา คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่มีพื้นฐานหลากหลาย ความจำเป็นและต้องการความช่วยเหลือจึงหลากหลายตามไปด้วย
เนื่องจากโควิด-19 เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่วงการแพทย์เพิ่งรู้จัก สิ่งที่น่าสนใจลำดับต้นๆ ในสถานการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้คือ การรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติที่ทุกคนกำลังเผชิญ เพราะมันคือต้นทางของพฤติกรรมตอบสนองต่อสถานการณ์ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวประกอบไปด้วยประเด็นพื้นฐาน อาทิ ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัส ลักษณะพฤติกรรมการแพร่ระบาด ความเสี่ยงและความรุนแรง วิธีป้องกันการติดเชื้อ วิธีเข้าถึงการรักษาและบริการทางการแพทย์ การรับรู้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยรัฐ มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านสาธารณสุข และการเยียวยาช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่าขณะที่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์และขยายวงระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง กระบวนการสื่อสาร ความพยายามเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความเชื่อถือไว้วางใจในแหล่งข้อมูล ก็วิวัฒน์คู่ขนานตามไปกับสถานการณ์การแพร่ระบาด การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารของคนในสังคมตามเวลาจริง (realtime) จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันคือหนึ่งในเครื่องมือและกระบวนการที่จะทำให้เราสามารถรับมือกับวิกฤติโรคระบาดที่กำลังเผชิญ ตลอดจนถึงวิกฤติที่อาจจะอุบัติขึ้นอีกในอนาคตได้ดีขึ้น
เงื่อนไขอันมิอาจปฏิเสธ จำเป็นต้องนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยก็คือ เราอยู่ในบรรยากาศทางสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองยาวนานเกินทศวรรษ ความขัดแย้งดังกล่าวก่อให้เกิดพลเมืองในประเทศที่มีความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองแตกต่างคนละขั้ว ในขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลาร่วม 7 ปี (ในระหว่างกระบวนการทำวิจัย) แนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาลในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ก็ก่อให้เกิดคำถาม ข้อสงสัย กระทั่งในกลุ่มผู้สนับสนุนเองยังต้องออกแรงแก้ต่างเอาใจช่วย ทั้งในแง่มุมความรู้ความสามารถ ความมีประสิทธิภาพ ความเท่าทันโลก ความโปร่งใสตรงไปตรงมา ไม่เอื้อประโยชน์หรือให้อภิสิทธิ์กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และที่สำคัญคือ ยึดถือจารีตระบบราชการ รวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการวิกฤติอย่างชัดเจนและเข้มข้น ฯลฯ
ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว เมื่อผนวกรวมกับภูมิทัศน์ระบบนิเวศทางการสื่อสารที่อยู่ในช่วงของการผลัดเปลี่ยนยุคสมัย และสำแดงให้เห็นการพลิกเปลี่ยนโลกของข้อมูลข่าวสารมาได้ระยะใหญ่ ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ พฤติกรรมการเข้าถึง การให้น้ำหนักความเชื่อถือ รวมถึงการตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารของคนไทยในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง
หากโควิด-19 คือสถานการณ์ปะทะซึ่งหน้าระหว่างความเป็นกับความตาย ระหว่างผู้ติดเชื้อกับผู้รอด ระหว่างความอดอยากหิวโหยกับการมีกินอิ่มท้อง พฤติกรรมของผู้คนต่อสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมเปิดเปลือยและตรงไปตรงมาที่สุด เท่าที่เงื่อนไขสังคมและกฎหมายจะอนุญาตให้ตรงไปตรงมา
กลุ่มตัวอย่าง: วัยทำงาน มีการศึกษา รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง
‘โครงการวิจัย โควิด-19 กับสังคมไทย: บันทึกวิกฤติและประสบการณ์การรับมือไวรัสโคโรนา’ โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) สำรวจสอบถามการรับรู้ข่าวสารข้อมูลโควิด-19 ไปยังกลุ่มวัยทำงานจำนวน 555 คน ประกอบด้วย เพศชาย จำนวน 364 คน (ร้อยละ 65.7 เปอร์เซ็นต์) เพศหญิง 165 คน (ร้อยละ 29.8) และเป็นเพศทางเลือกอีก 17 คน (ร้อยละ 3.1)
ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว แบ่งช่วงอายุของผู้ตอบแบบสอบถามได้ดังนี้
จำนวน 207 คน มีอายุ 41-50 ปี (ร้อยละ 37.3)
จำนวน 102 คน มีอายุ 51-60 ปี (ร้อยละ 18.4 )
ขณะที่กลุ่มอายุ 31-40 ปี และ 21-30 ปี มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 98 คน และ 95 คน (ร้อยละ 17.7 และ 17.1 ตามลำดับ)
พื้นฐานด้านการศึกษา ผู้ที่มีการศึกษาในระดับเทียบเท่าและสูงกว่าปริญญาตรีมีจำนวนมากที่สุดคือ 283 คน และ 238 คน (ร้อยละ 51.0 และ 42.9 ตามลำดับ) ขณะที่เป็นผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี เพียง 34 คน (ร้อยละ 6.0 โดยประมาณ)
ในแง่รายได้ กลุ่มวัยทำงานที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 30,000 บาท คิดเป็นจำนวน 255 คน (ร้อยละ 46.4) สัดส่วนผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 15,001-30,000 บาท จำนวน 163 คน (ร้อยละ 29.7) สำหรับผู้มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 จำนวน 31 คน (ร้อยละ 5.6)
อยู่กับความกลัว: รู้ว่าเสี่ยงแต่เลี่ยงไม่ได้
นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคระบาด ความหวาดกลัวว่าตนเองจะติดเชื้อเป็นประเด็นลำดับต้นๆ ผลจากการสำรวจแบบสอบถาม พบว่ากลุ่มดังกล่าวคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงถึง 450 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 80.8 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
ความหวาดกลัวดังกล่าวมีสาเหตุจากข้อเท็จจริงว่า บางอาชีพไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนหรือการอยู่ในบริบทเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยแบบสอบถามหัวข้อ ‘ความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19’ แสดงให้เห็นว่าอาชีพอย่าง แรงงานต่างชาติ แม่ค้าพ่อค้าในตลาด และ บุคลากรทางการแพทย์ ถูกมองว่ามีโอกาสเป็นพาหะของเชื้อได้ถึงร้อยละ 22.6 ร้อยละ 18.3 และ ร้อยละ 11 จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ตามลำดับ
อีกตัวแปรหนึ่งที่หนุนเสริมบรรยากาศแห่งความกลัวคือ ท่าทีและแนวทางการบริหารจัดการวิกฤติ ซึ่งในฐานะสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ผู้ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ อธึกกิต แสวงสุข เจ้าของนามปากกา ‘ใบตองแห้ง’ ตั้งข้อสังเกตถึงท่วงทำนองการจัดการของรัฐในช่วงต้น โดยชี้ให้เห็นว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศตื่นตูม
“การสื่อสารช่วงแรกเหมือนยังสับสน มีลักษณะหย่อนยานช่วงแรก แต่พอเป็นเรื่องก็ตื่นตูม คำสั่งของผู้ว่าฯ กทม. ที่คนวิจารณ์มากก็คือทำไมคุณไม่เตรียม การออกมาตรการรองรับให้คนอยู่ในกรุงเทพฯ การกักตัวการอะไรต่างๆ ก็คือสุดท้ายมันกระจายพรวดออกไปทุกจังหวัด กรมควบคุมโรคต้องไปตามสอบสวนโรคเอาเองกับ อสม. กับฝ่ายปกครอง ไปไล่ตามว่าใครขึ้นรถบัสคันไหน ใครขึ้นรถเมล์คันไหน ใครไปรถตู้อะไร ใครไปติดเชื้อตรงไหนไปแวะตรงไหน สอบไทม์ไลน์กันเต็มไปหมด
“มันมีริ้วรอยหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า หมอเสนอให้ผ่อนคลายมากกว่าที่เห็นด้วยซ้ำ ทางสาธารณสุขอาจจะเสนอให้ผ่อนคลายมากกว่าที่เป็นด้วยซ้ำ แต่ทางรัฐเองโดย สมช. โดยนายกรัฐมนตรีกลับใช้มาตรการที่เข้มงวดกว่า แล้วก็ถ้าพูดถึงสื่อประชาสัมพันธ์ มันก็เป็นสื่อที่มุ่งสร้างความกลัว โดยเฉพาะรอบแรกมุ่งสร้างความกลัวให้คนกลัวมากๆ แล้วจะได้ไม่ต้องออกมาจากบ้าน”
ความรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะวิถีชีวิตประจำวันล้วนถูกสถานการณ์บังคับให้จำเป็นต้องเข้าไปในจุดเสี่ยง เห็นได้จากผู้ตอบแบบสอบถาม 310 คนที่มองว่าตนเองมีความเสี่ยงเพราะจำเป็นต้องเข้าไปในสถานที่พลุกพล่าน เช่น ตลาด ร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น จำนวนดังกล่าวนี้คิดเป็นร้อยละ 46.1 จากทั้งหมด ตามมาด้วยเหตุผลของการต้องทำงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง ร้อยละ 14.7 สภาพแวดล้อมการทำงานที่เว้นระยะห่างไม่ได้ ร้อยละ 12.8 และการใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นประจำ ร้อยละ 11.1 (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
จากเหตุผล 4 อันดับแรกที่ทำให้คนจำนวนมากคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสามารถสรุปได้ว่า วิถีชีวิตของคนหมู่มากในสังคม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนเป็นจำนวนมากได้ หากไม่ใช่การออกไปหาซื้ออาหาร การเดินทาง ก็ต้องเป็นเพราะบริบทการทำงานเพื่อหารายได้ดำรงชีวิต
ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาด รัฐได้ออกมาตรการจำนวนมากเพื่อพยายามลดตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ ทว่ามาตรการเหล่านั้นกลับไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจสภาพสังคมและเงื่อนไขการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งหลายอาชีพได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ อธิป กลิ่นวิชิต บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งคุ้นเคยกับงานโปรดักชั่นการถ่ายทำข่าว สารคดี และภาพยนตร์ รวมถึงรู้เห็นและเข้าใจสภาพเงื่อนไขการทำงานของนักดนตรีกลางคืน
“มันแสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องของการทำงานในกองถ่าย อย่างมาตรการช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ระบุว่ากองถ่ายไม่เกิน 5 คน ตัวเลขนี้สเกลโปรดักชั่นสตูดิโอข่าวเองยังทำไม่ได้เลย แม้ว่าปัจจุบัน สตูดิโอหลายช่องเริ่มใช้ robot camera ช่วยในการคอนโทรล แต่คนที่อยู่ในนั้นยังไงก็เกิน 5 คน
“กรณีน้องประกายฟ้าฆ่าตัวตายเป็นเคสเลวร้ายที่สุด บางคนเล่นดนตรีมาทั้งชีวิต ต้องออกมาทำอาหารกล่องขาย นักร้องกลางคืนกลายเป็นแม่ค้าออนไลน์ คนได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการขับเคลื่อนของคนในภาคส่วนดนตรี ซึ่งเดิมทีมันไม่เคยรวมตัวกันได้เลย ก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อไปให้ทางรัฐบาลพิจารณาในการเปิดสถานบันเทิงได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ว่า เขาไม่ไหวแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรการรัฐที่มีเป้าหมายหลักต้องการลดจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ โดยใช้มาตรการล็อคดาวน์ สภาพอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่อยู่กับความหวาดกลัว แขวนชีวิตบนเส้นด้าย ไม่รู้ว่าจะมีสถานะกลายเป็นผู้ติดเชื้อในวันใด ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน จนกระทั่งนำมาสู่ข้อสงสัยในหมู่ประชาชนว่า อะไรคือสาเหตุของการแพร่ระบาดกันแน่
แบบสอบถามหัวข้อ ‘สาเหตุการแพร่ระบาด’ ในสังคมไทย พบว่ามีจำนวนถึง 341 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.8 จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ตอบคำถามว่าเป็นเพราะการปกปิดข้อมูลของผู้ติดเชื้อ สูงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง แต่ก็มีการมองไปถึงความเป็นไปได้ว่าข้อมูลที่ได้ไม่ครบถ้วนจนทำให้การแพร่เชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ เป็นเพราะการปกปิดข้อมูลจากภาครัฐ โดยผู้ที่มองว่าภาครัฐไม่ให้ข้อมูลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างครบถ้วนมีถึง 213 คน หรือร้อยละ 10.5 จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด และยังมีผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความน่าเชื่อถือถึง 172 คน หรือร้อยละ 8.5 (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ข้อมูลจากการทำการสำรวจดังกล่าว สะท้อนบรรยากาศทางสังคมในห้วงเวลาดังกล่าวไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า ความหวาดกลัวการติดเชื้อเกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขการดำรงชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยง บวกรวมเข้ากับท่าทีและมาตรการของรัฐที่ต้องการลดตัวเลขผู้ติดเชื้อ โดยบีบบังคับให้ผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมทำตามคำสั่ง กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจเงื่อนไขสภาพพื้นฐานชีวิตของประชาชน เมื่อมีคำสั่งที่สวนทางกับความจำเป็นในการดำรงชีวิต จึงก่อให้เกิดความไม่ไว้ใจจากผู้คนจำนวนมาก จนนำมาสู่ทัศนะที่สะท้อนผ่านคนจำนวนหนึ่งว่า การปกปิดข้อมูลที่แท้จริง การขาดความน่าเชื่อถือของภาครัฐ เป็นหนึ่งในต้นเหตุของการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง และเป็นแรงผลักสังคมไทยเข้าสู่สังคมแห่งความหวาดกลัว
“มันกลายเป็นว่าสิ่งที่ทำให้คนเดือดร้อนมากก็คือมาตรการของรัฐบาล กลายเป็นมาตรการที่เรียกว่าระเบิดภูเขาเผากระท่อมเพื่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ คือเอาทุกอย่างสูญเสียเท่าไหร่ไม่ว่า บางคนเขาก็เปรียบว่าเหมือนการทำสงครามแบบทหาร เขาจะยึดเมืองเผาให้ได้เป้าหมาย คือเสียเท่าไหร่ก็ต้องเสียเพื่อให้ยึดเมืองยุทธศาสตร์ให้ได้ แต่การทำโควิดให้เป็นศูนย์มันไม่จำเป็นต้องเป็นขนาดนั้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลายเป็นว่า การใช้อำนาจมันเกินกว่าเหตุไปเยอะ ทำให้คนเดือดร้อนเกินกว่าเหตุ แล้วทำให้เศรษฐกิจย่อยยับไปตั้งแต่รอบแรก” ในฐานะสื่อมวลชน อธึกกิต แสวงสุข ตั้งข้อสังเกต
ยากลำบากแม้การ์ดไม่เคยตก: ความคลุมเครือของข้อมูลข่าวสาร
ทุกคนล้วนเผชิญความยากลำบาก นี่คือการยอมรับข้อเท็จจริงร่วมกันเป็นเบื้องต้นในสถานการณ์วิกฤติ คำถามถัดมาก็คือในบรรดาผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันนั้น คนกลุ่มใดน่าจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้หนักหน่วงที่สุด
คำถามหัวข้อ ‘กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด’ พบว่า อันดับ 1 คือ บุคลากรทางการแพทย์ (ผู้ตอบจำนวน 318 คน หรือร้อยละ 21.5) อันดับ 2 กลุ่มลูกจ้างรายวันประเภทต่างๆ (ผู้ตอบจำนวน 287 คน หรือร้อยละ 19.4) อันดับที่ 3 กลุ่มเจ้าของธุรกิจรายย่อย (ผู้ตอบจำนวน 244 คน หรือร้อยละ 16.5) ทั้งสามกลุ่มนี้ต่างเป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของภาครัฐแทบทั้งสิ้น เช่น การจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ การประกาศเคอร์ฟิว หรือการประกาศห้ามดำเนินงานบางกิจการ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ภายใต้บรรยากาศสังคมแห่งความกลัว กระทั่งดูประหนึ่งว่าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับมาตรการที่รัฐออกคำสั่ง เนื่องจากไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการดำรงชีวิต แต่หนึ่งในมาตรการลำดับต้นๆ ที่ภาครัฐพยายามผลักดันมาตั้งแต่ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มลุกลาม คือการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยครั้ง และการเว้นระยะห่างทางสังคม กลับได้รับความร่วมมือโดยประชาชนเป็นอย่างดี หลักฐานปฏิกิริยาความร่วมมือดังกล่าวสะท้อนผ่านผู้ตอบแบบสอบถามที่เข้าใจตรงกันว่า วิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด คือการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่และเจลที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง คิดเป็นร้อยละ 29.8 ร้อยละ 28.6 และ ร้อยละ 24 จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ตามลำดับ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
คำถามถึงทุกข์สุขที่สำคัญคำถามหนึ่งของโครงการวิจัย โควิด-19 กับสังคมไทยฯ คือ อะไรเป็นผลกระทบสำคัญจากโควิด-19 ซึ่งนำมาสู่ความยากลำบากในการดำรงชีวิต คำตอบที่ตรงกัน 3 ลำดับแรก มีผู้คนจำนวน 320 คน (ร้อยละ 18.5) ตอบว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง ขณะที่อีก 267 คน (ร้อยละ 15.4) ตอบว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการพักผ่อนหย่อนใจ และ 168 คน (ร้อยละ 9.7) ตอบว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้ทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้ประจำ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
คำถามต่อเนื่องจากแบบสำรวจดังกล่าวก็คือ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด เหตุใดประชาชนจำนวนมากจึงตอบคำถามถึงผลกระทบจากโควิด-19 ว่าทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง กล่าวให้ชัดคือในขณะที่ไวรัสแพร่ระบาด สังคมอยู่ในความหวาดกลัว ทุกชีวิตล้วนเผชิญความยากลำบาก เหตุใดจึงมีคนจำนวนมากต้องการความสะดวกในการเดินทาง
สมมุติฐานเบื้องหลังคำตอบนี้คือ การเดินทางดังกล่าวอาจหมายถึงการออกจากบ้านไปทำงานเพื่อหารายได้ เพราะไม่ใช่ทุกคน ทุกสาขาอาชีพ หรือทุกช่วงชั้นตำแหน่งสถานะหน้าที่การงาน จะสามารถทำงานจากบ้าน หรือ work from home ได้
เมื่อทำตามมาตรการของรัฐแล้ว ยกการ์ดสูงตามคำสั่งก็แล้ว แต่ก็ยังได้รับผลกระทบเผชิญความยากลำบาก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องลำดับถัดมาคือ การพึ่งพาบริการจากรัฐ แต่คำตอบที่ได้จากแบบสำรวจชุดเดียวกันระบุว่า ประชาชนจำนวน 156 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 จากกลุ่มตัวอย่าง ตอบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ทำให้ติดต่อกับภาครัฐได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างสิ้นเชิง
การเข้าไม่ถึงบริการจากหน่วยงานของภาครัฐ ส่งผลให้ประชาชนต้องใช้วิธีติดตามข่าวสารของภาครัฐผ่านสื่อต่างๆ ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หอกระจายข่าว ไล่ไปกระทั่งถึงช่องทางสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย
ปฏิกิริยาลูกโซ่จากการติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง ผ่านช่องทางการสื่อสารและแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย สะท้อนผ่านคำตอบแบบสอบถามหัวข้อ ‘จำแนกความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19’ ระบุประเด็นชัดถ้อยชัดคำว่า ความไม่ชัดเจนลำดับที่ 1 คือ การผลิต การนำเข้า การจัดสรรวัคซีน 433 คน หรือร้อยละ 25.2 ความไม่ชัดเจนลำดับที่ 2 คือ ข้อมูลการเยียวยาโดยรัฐบาล 260 คน หรือร้อยละ 15.2 ความไม่ชัดเจนลำดับที่ 3 คือ ระเบียบคำสั่ง มาตรการทางกฎหมาย และคำแนะนำข้อปฏิบัติทางสาธารณสุข 254 คน หรือร้อยละ 14.8 (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
เฟคนิวส์: หรือแค่ชี้นิ้วกล่าวหาเมื่ออำนาจถูกท้าทาย?
ข้อถกเถียงเรื่องความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นความตายโดยตรง อันได้แก่ การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ และระเบียบคำสั่งทางกฎหมาย เมื่อถึงปลายทางผู้รับสาร คำถามชั้นต้นที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้นว่า แล้วอะไรคือต้นตอที่มาของความไม่ชัดเจน ตัวแทนรัฐตอบคำถามไม่ชัด หรือสื่อมวลชนนำเสนอข่าวชวนให้สับสน เนื้อหาไม่เป็นไปตามสิ่งที่ประชาชนอยากรู้
ก่อนที่จะไปถึงข้อสรุปนั้น สิ่งที่ควรทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเบื้องต้นคือ เงื่อนไขการทำงานของสื่อมวลชนในสถานการณ์โรคระบาดก็นับเป็นหนึ่งใน New Normal ที่วงการสื่อมวลชนทั้งโลกต้องปรับตัวในรูปแบบคล้ายคลึงกัน นั่นคือสื่อจำเป็นต้องเลี่ยงการสื่อสารเผชิญหน้าทางตรงกับแหล่งข่าว โดยหันไปใช้เครื่องมือทางการสื่อสารออนไลน์ในการทำงาน
ข้อเท็จจริงนี้ก็ทำให้เกิดสภาพเงื่อนไขที่คนทำงานสื่อเผชิญอุปสรรคในการนำเสนอข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงในความหมายที่สื่อต้องการนำเสนอ เพราะเชื่อว่าประชาชนต้องการรู้ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่รัฐต้องการบอกเท่านั้น
ณฐา พงษ์ศาศวัต บรรณาธิการข่าวคุณภาพชีวิต PPTV สะท้อนประเด็นเงื่อนไขการทำงานในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ไว้ชัดเจนว่า มันได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานสื่ออย่างสิ้นเชิง
“โรคระบาดทำให้เราทำงานยากมากขึ้น แต่ที่ยากที่สุดคือเราลงพื้นที่ไม่ได้ มันเสี่ยงมากที่จะติดเชื้อกลับมา กระทรวงสาธารณสุขเองเมื่อพบว่ามีผู้สื่อข่าวติดเชื้อ เขาก็จะประกาศทันทีว่าไม่ต้องมาแล้ว ใช้ ZOOM อย่างเดียว ฟังจาก Facebook Live อย่างเดียว ซึ่งเราต้องส่งคำถามไปก่อน ไม่มีการโต้ตอบสองทาง
“การส่งคำถามไปก่อนมันก็ทำให้เห็นว่า เขาจะอ่านคำถามหรือไม่อ่านก็ได้ หรือบอกว่าไม่มีคำถามอะไร ทั้งที่จริงๆ แล้วถามไปหลายข้อ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหา ไม่ได้ข้อมูลตามที่เราต้องการ ยิ่งวิกฤติเท่าไหร่ภาครัฐยิ่งลดการสื่อสาร เพราะเชื่อว่าประชาชนจะได้ลดความตื่นกลัว เวลาที่เขาถูกโจมตีมากๆ เขาก็เลยใช้วิธีลดการสื่อสาร
“สิ่งที่รัฐบาลต้องการไม่ใช่การจัดการกับข่าวปลอม (fake news) แต่ต้องการปิดกั้นการแสดงออกของสื่อมากกว่า” บรรณาธิการข่าวคุณภาพชีวิต PPTV สะท้อนข้อสรุป
วิธีเลือกที่จะพูดเฉพาะเรื่องที่ต้องการพูดหรือลดการสื่อสาร เป็นขั้นตอนวิธีการพื้นฐานที่รัฐราชการใช้รับมือสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งประสบปัญหาในการทำงานหนักกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติบีบคั้นก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐตอบคำถามเดียวกัน แต่คำตอบไม่ตรงกัน
ข้อกล่าวหารายการข่าวคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงนี้ มักจะยิ่งทวีน้ำหนักรุนแรงเมื่อเกิดขึ้นกับสื่อใหม่ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ซึ่งให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว และมีขีดความสามารถในการแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง กระทั่งอาจมีขนบวิธีการทำงานที่แตกต่างไปจากสื่อดั้งเดิม ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากความพยายามหาข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการจากรัฐ
“ผมเคยบอกกับที่ประชุม ศบค. ไปว่า ทำไมประเทศนี้เราจึงมีปัญหาเรื่องสับสนกับข้อมูลข่าวสาร ประชาชนก็โทษสื่อว่า ทำไมเรารายงานไม่ตรง เราก็บอกว่า เอามาจากข้อมูลของรัฐที่เขาบอกมา เช้ามีคนบอกอย่างหนึ่ง บ่ายมีคนพูดอีกอย่างหนึ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอคนพูดไม่ตรงกันเช้าและบ่าย สื่อก็ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงตามนั้น แต่มันกลายเป็นความสับสนของสังคม
“ผมจึงเสนอว่า ทำไมประเทศนี้ไม่มีเว็บไซต์กลางเว็บไซต์หนึ่งที่ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โควิดเราอยู่ตรงไหน วัคซีนซื้อมาเท่าไหร่ จ่ายใครบ้าง ใครต้องได้ ใครไม่ได้ จังหวัดไหนได้ จังหวัดไหนไม่ได้ ประชาชนไม่ต้องมีคำถาม ไม่ต้องมีปัญหาบนโซเชียลมีเดีย ใครอยากรู้ข้อมูลเข้าเว็บไซต์ จบ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นปัญหาสำคัญในช่วงโควิดที่สื่อสะท้อนถึงหน่วยงานรัฐว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ปัจจุบันมันต้องแข็งแรงมากขึ้น เพราะถ้าเข้าถึงไม่ได้ ประชาชนก็เกิดความสับสน”
ตัวอย่างพื้นฐานอันเรียบง่ายตรงไปตรงมาก็คือ คำถามจากแบบสำรวจที่สอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า เชื่อมั่นในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยวัคซีนมากน้อยเพียงใด ผลจากการสำรวจพบว่ามีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 225 คน หรือร้อยละ 40.7 ตอบว่าเชื่อว่ายับยั้งได้มาก อีก 192 คน หรือร้อยละ 34.7 เชื่อว่ามีผลยับยั้งปานกลาง 39 คน หรือร้อยละ 7.1 เชื่อว่าวัคซีนยับยั้งได้น้อย ขณะที่อีก 58 คน หรือร้อยละ 10.5 ตอบว่าไม่แน่ใจ
นอกเหนือไปจากความเห็นไม่ลงรอยกันอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการยับยั้งของวัคซีนแล้ว ผลการสำรวจ ‘ความเชื่อมั่นในการจัดการการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย’ ก็ยังมีผู้ตอบจำนวน 554 คน แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกันอย่างมีนัยสำคัญ
กล่าวคือ มี 40 คน หรือร้อยละ 7.2 ที่ตอบว่าเชื่อมั่นในการจัดการมาก ขณะที่อีก 300 คน หรือร้อยละ 54.2 ตอบว่าเชื่อมั่นน้อย มีความเป็นไปได้ว่าทัศนะที่แตกต่างกันดังกล่าว อาจมีที่มาจากการรับข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น กระทั่งข้อมูลหักล้างกันเองจากหลายแห่ง โดยเฉพาะจากนักวิชาการ นายแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมากที่เริ่มใช้สื่อออนไลน์ในการกระจายข่าวสารของตนเองมากยิ่งขึ้น
หากเรายอมรับข้อเท็จจริงว่าเครื่องมือสื่อสารปัจจุบันเปิดทางให้ทุกคนมีช่องทางการสื่อสารของตัวเอง ข้อมูลข่าวสารจึงเดินทางมาจากหลายแหล่ง สภาพดังกล่าวเรียกร้องทักษะความรู้ในการคัดกรองความถูกต้อง กระทั่งหลายประเด็นอาจต้องเป็นผู้มีความรู้เฉพาะด้านจึงวินิจฉัยได้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง เนื่องจากต้นทางของการให้ข้อมูลอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรืออาจเป็นการสร้างแต่งข้อมูลลวง หรือแม้นกระทั่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่มีจุดยืน ความเชื่อ และผลประโยชน์ จึงเลือกพูดเฉพาะข้อมูลส่วนที่สอดคล้องกับจุดยืน ความเชื่อ หรือผลประโยชน์ที่จะตกแก่ตน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเงื่อนไขชั้นต้นให้เกิดเฟคนิวส์ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่รัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นดังแบบสำรวจความคิดเห็นข้างต้น วิธีการที่รัฐราชการรวมศูนย์อำนาจมักใช้เสมอก็คือ การไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับสื่อมวลชน ประเด็นนี้ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหาร สื่อออนไลน์ The MATTER สะท้อนสภาพการทำงานกับหน่วยงานรัฐในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดว่า
“หน่วยงานรัฐของไทยเคยให้ข้อมูลโควิดได้ดีในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งถึงครึ่งปีนี้ อย่างกรมควบคุมโรค เคยให้ข้อมูลได้ดีมากว่าวัคซีนกระจายไปที่จังหวัดไหน ให้คนได้กี่โดส ข้อมูลละเอียดมาก แต่อยู่ๆ ก็ปิดการเข้าถึงข้อมูลจากสาธารณชน ซึ่งงงว่าปิดทำไม อีกข้อมูลคือวัคซีนแต่ละยี่ห้อกระจายไปที่ไหนบ้าง ถึงขนาดที่ว่าวัคซีนกระจายไปโรงพยาบาลไหนบ้าง อยู่ดีๆ เดือน 7 ก็ปิดข้อมูล ช่วงกลางปีที่คนสนใจโควิดมากที่สุดเรื่องวัคซีน แต่ปรากฏว่าข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนไม่มาถึงพับลิค”
เมื่อเผชิญกับปัญหาการปกปิดข้อมูลดังกล่าว สิ่งที่สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งทำก็คือ พยายามที่จะเจาะข้อมูลเพื่อหาข้อเท็จจริงด้วยการเข้าหาแหล่งข้อมูลชั้นถัดไปจากแหล่งข่าวตัวแทนรัฐ หรือแหล่งข้อมูลอื่นที่ไม่ใช่ตัวแทนทางการจากรัฐ เพื่อตรวจสอบติดตามสถานการณ์ความคืบหน้า หาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถวิเคราะห์ให้ความเห็นได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นกับการสะสมต้นทุนความสัมพันธ์และขีดความสามารถของสื่อแต่ละสำนัก
“มันก็เลยเกิดข้อมูลที่หน่วยงานรัฐอาจไม่พอใจ เฟคนิวส์เป็นคำที่ภาครัฐใช้เวลาจะวิจารณ์สื่อ แต่ถ้าเป็นคนวงการสื่อ ประชาชนด้วยกัน มันทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลมากขึ้น
“หน้าที่หนึ่งของสื่อคือ สื่อต้องตรวจสอบว่า ทำไมไม่เปิดข้อมูลล่ะ ทำไมให้ข้อมูลมั่ว ทำไมเวลามีปัญหากลับมาโทษสื่อเองทั้งที่ปัญหาอยู่ที่ตัวคุณ เคยเปิดข้อมูลได้ดี ทำได้ดีมาก แล้วไปปิดทำไม” บรรณาธิการบริหาร The MATTER ย้ำให้เห็นสภาพความพยายามปิดกั้นข้อมูลข่าวสารโดยรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามข้อสงสัยในความสุจริต โปร่งใส กระทั่งไม่มั่นใจแนวทางการบริหารจัดการวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ว่า ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งจริงหรือไม่
ภูมิทัศน์สื่อ: ระบบนิเวศใหม่กับพฤติกรรมรับส่งข่าวสารที่เปลี่ยนไป
ถ้าโควิด-19 เป็นไวรัสอุบัติใหม่ สิ่งที่เรียกว่าเฟคนิวส์ก็ต้องนับเป็นอุบัติการณ์ใหม่ ในโลกข้อมูลข่าวสารยุคใหม่
เหตุที่จำเป็นต้องมีคำว่าโลกของข้อมูลข่าวสาร ‘ยุคใหม่’ เนื่องจากระบบนิเวศที่เอื้อให้เฟคนิวส์หรือข่าวปลอมแผ่ขยายตัวไปสู่การรับรู้อย่างรวดเร็วก็คือ ยุคข้อมูลข่าวสารออนไลน์ โดยมีโซเชียลมีเดียสกุลต่างๆ เป็นแพลตฟอร์มขับเคลื่อนรับส่งข้อมูล นั่นหมายถึงมีผู้ส่งสาร มีผู้รับสาร และผู้รับสารนั้นก็มีเครื่องมือพร้อมที่จะส่งข่าวสารนั้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่อย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมีทั้งกลุ่มเนื้อหาที่สามารถวินิจฉัยได้อย่างฉับพลันว่าเป็นข่าวปลอม ความรู้เทียม หรือวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) อาทิ ดื่มโซดาผสมมะนาวช่วยรักษาโรคมะเร็ง ข่าวที่มีเจตนาไม่เปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน หรือกระทั่งข่าวที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของรัฐ หรือชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของแนวทางบริหารของรัฐ จึงถูกชี้นิ้วปักป้ายว่าข่าวปลอม
ทั้งนี้ ยังไม่ต้องนับรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคโซเชียลมีเดีย อาทิ การจงใจตัดต่อภาพ แต่งข้อมูลปลอม เพื่อยั่วล้อ เสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ โดยผู้รับสารซึ่งอยู่ในกลุ่มความสนใจเดียวกัน ต่างก็รับรู้และเข้าใจดีว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอารมณ์ขันเสียดเย้ย แต่ทั้งหมดนี้ก็อาจมีฐานะเป็นเฟคนิวส์ในมุมมองของคนที่ไม่เข้าใจอารมณ์ขัน หรือเข้าใจแต่ไม่มีอารมณ์ร่วมกับมุกตลกดังกล่าว ซึ่งกรณีแบบนี้สามารถถกเถียงได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมหรือไม่ประการใด
นี่คือภูมิทัศน์สื่อใหม่ที่ฉีกกระชากยุคของการสื่อสารทางเดียว (one-way communication) ให้กลายเป็นสิ่งตกสมัยไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้คนปัจจุบัน หลักฐานปรากฏอยู่ในผลสำรวจ ‘ช่องทางการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19’ ซึ่งระบุว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นคนวัยทำงาน มีการศึกษา และมีรายได้ เลือกรับส่งข่าวสารผ่านช่องทางใด โดยผู้ตอบแบบสอบถามสามารถตอบได้มากกว่า 1 ช่องทาง คำตอบที่ได้คือ กลุ่มตัวอย่างเลือกบริโภคข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ค (Facebook) มากที่สุดถึง 467 คน ตามมาด้วยแพลตฟอร์มไลน์ (Line) อีก 410 คน แล้วจึงเป็นช่องทางโทรทัศน์จำนวน 399 คน
สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตคือ สัดส่วนอายุของกลุ่มตัวอย่าง เป็นตัวแปรสำคัญต่อความนิยมในการเลือกใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนถึงเยื่อใยสัมพันธ์กับสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ ซึ่งอย่างน้อยยังทำหน้าที่ความเป็นทางการ มีหลักฐานภาพและเสียง ในขณะที่สื่อยุคเก่าอย่างหนังสือพิมพ์แทบไม่เหลือบทบาทหน้าที่สำหรับคนกลุ่มนี้
สุภิญญา กลางณรงค์ นอกจากจะเป็นอดีต กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) แล้ว ยังมีอายุใกล้เคียงกับอายุกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในโครงการวิจัยนี้ สะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับสื่อเดิมและการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสกุลต่างๆ ว่า
“ข้อดีของทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊คคือ เราได้เห็นข้อมูลที่หลากหลาย ข้อเสียคือจะเวียนหัวข้อมูลเยอะ ไม่รู้จะเชื่อใคร ลุกลามจากข้อมูลธรรมดาเป็นด่าทอเสียดสี ขณะที่ไลน์กลุ่ม คนที่ไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยจะลีฟ (leave) กลุ่มไปเงียบๆ ไม่ทน ไม่อยากทะเลาะ จะเหลือแต่คนคอเดียวกัน ไม่เตือนกัน พยักพเยิดเชื่อในสิ่งที่ผิด อาจเพราะว่า เกรงใจเพราะรู้จักกันหมด แต่เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไม่สนิท ไม่ได้รู้จักกันมากก็ไม่ต้องแคร์กัน แต่ไลน์กลุ่มครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ญาติมิตร ส่วนใหญ่คนส่งเป็นผู้สูงอายุ พอลูกหลานเห็นก็ทำลืมๆ ไม่ได้แก้ไข ไม่เตือนเพราะกลัวจะโกรธ ทำให้ส่งต่อไม่จบสิ้นเป็น pros and cons ในยุคโซเชียลมีเดีย
“สื่อหลักออกในทีวี ช่อง 3 ช่อง 7 ไทยรัฐ ลงในหนังสือพิมพ์ก็ตาม แต่ในยุคนี้คนก็ไม่ได้ใส่ใจทีวีมากเหมือนในอดีตที่พอพูดออกทีวีจะรับรู้ เชื่อพร้อมกัน ขะมักเขม้นดูมือถือของตัวเอง คนที่จะมาตอกย้ำคือเพื่อนกลุ่มที่คุยกัน ทำให้พลังของสื่อบุคคลในยุคโซเชียลมีเดียมีผลมากกว่าสื่อมวลชนในบางกรณี”
สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การเลือกช่องทางการสื่อสารไม่ได้เป็นสมการเส้นตรงชั้นเดียวว่าจะต้องเชื่อถือข้อมูลจากช่องทางนั้นเสมอไป ผลสำรวจหัวข้อ ‘จำแนกความน่าเชื่อถือของช่องทางในการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19’ ในกลุ่มตัวอย่างวัยทำงานระบุว่า โทรทัศน์ยังเป็นช่องทางที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่ามีความน่าเชื่อถือสูงที่สุด ร้อยละ 40.3 ส่วนเฟซบุ๊คมีสัดส่วนรองลงมาเป็นอันดับสอง คือร้อยละ 21.90 ทั้งนี้ คำบอกเล่าจากคนรู้จัก ไลน์ (Line) และทวิตเตอร์ (Twitter) มีระดับความน่าเชื่อถือน้อยกว่าช่องทางอื่น
เวลาที่เราพูดถึงภูมิทัศน์สื่อใหม่ คนจำนวนหนึ่งมักมองเห็นเฉพาะความรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่ส่งผลให้คนรับข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว และพร้อมกดปุ่มส่งต่ออย่างรวดเร็ว แต่พฤติกรรมสำคัญของผู้คนในระบบนิเวศการสื่อสารยุคใหม่ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต หรือกระทั่งจงใจไม่อยากสังเกตไม่อยากยอมรับก็คือ มันค่อยๆ เกิดวัฒนธรรมการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ไม่เชื่อในสิ่งที่เห็นทันที และด้วยเครื่องมือสืบค้นในปัจจุบัน การตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงอีกต่อไป
วัฒนธรรมดังกล่าวอาจเริ่มต้นในกลุ่มคนที่มีการศึกษา มีวุฒิภาวะ แต่ในสายตาของคนทำสื่ออย่าง พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการบริหาร The MATTER คล้ายกับเขากำลังจะบอกว่า นี่คือพฤติกรรมปกติของคนยุคปัจจุบัน
“ตอนนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ มีโซเชียลมีเดีย โดยเนเจอร์อะไรที่เกี่ยวกับโรคระบาดจะเป็นการแชร์กันระหว่างครอบครัว กรุ๊ปไลน์ กรุ๊ปแชท บทบาทของสื่อกระแสหลักมีไม่เยอะ มันเป็นการแชร์เพื่อแสดงความห่วงใย เตือนภัย สิทธิประโยชน์ในการป้องกันโรค ปกติคนรับข่าวสารจะรับจากทุกทางที่เข้ามา ไม่ได้รับจากสื่ออย่างเดียว แต่เวลาคนจะเช็คเพื่อเมคชัวร์ว่าข่าวสารนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน จะกลับมาที่สื่อที่เป็นองค์กรสื่อ สื่อสถาบัน สื่อต้องมีหน้าที่เสนอข้อมูลใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด สมมุติคนได้รับข่าวสารจากครอบครัว เราเอ๊ะ จริงไหมนะ ก็จะกลับมาเช็คสื่อที่เขารู้จัก สื่อองค์กร สื่อสถาบัน”
หากรูปแบบพฤติกรรมดังกล่าวคือวัฒนธรรมใหม่ที่กำลังวิวัฒน์อยู่ในระบบนิเวศการสื่อสารยุคใหม่ นั่นคือการสื่อสารสองทาง ความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่เชื่ออย่างไร้เหตุผล เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารดังกล่าวสวนทางระดับประสานงากับการจัดวางท่าที และกำหนดท่วงทำนองวิธีการสื่อสารจากรัฐ
“รัฐไทยมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกอยู่แล้ว ต้องเชื่อฟังโดยที่ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผล ไม่ต้องอธิบาย มันใช้วิธีการนี้ในการควบคุม ซึ่งคนที่มีสำนึกแบบประชาธิปไตยหรือคนชนชั้นกลางที่รู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเอง ย่อมไม่พอใจกับมาตรการแบบนี้ ฝั่งหมอของรัฐส่วนหนึ่งที่มีอำนาจชี้นำก็ยังติดทักษะหมอแบบเดิม ก็คือลักษณะแบบรัฐ คนไข้ต้องเชื่อฟังหมอ ถึงแม้ว่ายุคหลังๆ หมออาจจะมีหลักการว่าต้องอธิบายคนไข้เหมือนกัน” อธึกกิต แสวงสุข วิเคราะห์ท่าทีและท่วงทำนองการปฏิบัติระหว่างรัฐกับประชาชน
ประเด็นเดียวกันนี้ อธิป กลิ่นวิชิต บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ขมวดประเด็นให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า ท่ามกลางมหาวิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่ เหตุใดพลเมืองในสังคมไทยจึงถูกกระทำซ้ำด้วยปัญหาสารพัดรูปแบบจากการสื่อสารโดยรัฐ
“เข้าใจว่าทางภาครัฐ ศบค. พยายามให้ทุกอย่างเป็นเอกภาพ พูดไปในทิศทางเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกัน แต่ปัญหาคือวิธีการสื่อสาร วิธีการจัดการกับข่าว เขาไม่รู้ว่าต้องสื่อสารกับคนในยุคนี้อย่างไรแบบไหน ใช้วิธีที่มันเก่า เพราะมันเป็นการสื่อสารทางเดียวโดยคิดว่าคนรับสารเข้าไม่ถึงข้อมูลรอบด้านอื่นๆ ถ้า 20-30 ปีที่แล้วสื่อสารแบบนี้อาจได้ผล แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้ว
“เราต้องเปิดข้อมูล กำหนดทิศทางว่าคนที่รับสารจัดการอย่างไร ให้ทางเลือก แต่ ศบค. จะขอความร่วมมือ บอกให้ทำแต่ไม่ให้ทางเลือก แต่คนรับสารในปัจจุบันอยู่ในยุคที่มีทางเลือกมาก มีข้อมูลจากหลายแหล่ง ทำให้ช่วงท้ายๆ ของ ศบค. ไม่มีใครที่เชื่อถือข้อมูล ที่ออกจาก ศบค. อีกเลย ผมว่าไม่ได้ผิดที่จะมี ศบค. ตั้งศูนย์ขึ้นมาพยายามชี้แจงข้อมูลต่างๆ แต่เขาเลือกวิธีการสื่อสารที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมยุคปัจจุบันเลย”
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แต่เบื้องต้นว่า เงื่อนไขอันมิอาจปฏิเสธจำเป็นต้องนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยก็คือ เราอยู่ในบรรยากาศทางสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองยาวนานเกินทศวรรษ ผลลัพธ์ของความขัดแย้ง ณ ปัจจุบัน เราได้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร
การอยู่ภายใต้ปกครองโดยรัฐบาลที่สืบรากอำนาจมาจากการกระทำผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น นอกจากจะเป็นความไม่ปกติโดยตัวมันเองแล้ว ขีดความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤติ (crisis management) ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ ยิ่งเพิ่มระดับความไม่ปกติให้เห็นประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น ‘โครงการวิจัย โควิด-19 กับสังคมไทย: บันทึกวิกฤติและประสบการณ์การรับมือไวรัสโคโรนา’ โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) หัวข้อ ‘การรับรู้ข่าวสารข้อมูลโควิด-19 ในกลุ่มวัยทำงาน’ บอกเล่าปากคำของประชาชนที่ตอบแบบสอบถามอย่างตรงไปตรงมา มันสะท้อนสภาวการณ์ที่ผู้คนในสังคมถูกกระทำซ้ำโดยรัฐ
ในสถานการณ์คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นกับความตาย พวกเขาตอบคำถามที่เชื่อมโยงให้เห็นทุกข์ สุข ความกลัว ความหวังอย่างตรงไปตรงมา คำตอบของพวกเขาอาจสรุปเป็นถ้อยคำรวบรัดชัดเจนได้ว่า พวกเขาไม่เชื่อว่ารัฐดำเนินนโยบายอย่างตรงไปตรงมา โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในห้วงเวลาทุกข์ยากถึงขีดสุด
เมื่อพฤติกรรมการตัดสินใจของรัฐทำให้ประชาชนไม่เชื่อเช่นนี้เสียแล้ว การไม่เชื่อถือถ้อยคำ ไม่ให้น้ำหนักการสื่อสารอันล้มเหลว จึงเป็นความพังทลายต่อเนื่อง มันไม่เพียงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ารัฐไม่เข้าใจภูมิทัศน์การสื่อสารในโลกยุคปัจจุบัน แต่มันคือหลักฐานบ่งชี้ว่ารูปแบบการใช้อำนาจเช่นนี้ ไม่ได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดสอดคล้องกับเงื่อนไขของโลกยุคปัจจุบันแม้แต่น้อย
หมายเหตุ
- สัมภาษณ์ อธึกกิต แสวงสุข วันที่ 15 สิงหาคม 2564
- สัมภาษณ์ อธิป กลิ่นวิชิต วันที่ 17 สิงหาคม 2564
- สัมภาษณ์ ณฐา พงษ์ศาศวัต วันที่ 6 กรกฎาคม 2564
- สัมภาษณ์ ระวี ตะวันธรงค์ วันที่ 11 สิงหาคม 2564
- สัมภาษณ์ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ – ไม่ระบุวันที่
- สัมภาษณ์ สุภิญญา กลางณรงค์ – ไม่ระบุวันที่