มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ค้านคำร้องขอสิทธิบัตรยาจากต่างชาติ หวั่นไทยขาดแคลนยารักษา COVID-19

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์เข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่คำขอ 1101001988 เนื่องจากขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร และอาจส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทำให้คนไทยเข้าไม่ถึงการใช้ยา

รายละเอียดในหนังสือคัดค้าน ระบุว่า ตามที่บริษัท ฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมิคอล โค., แอลทีดี. ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ‘ยาเม็ดแบนและผงกรานูเลทด์ ซึ่งมี 6-ฟลูออโร-ไฮดรอกซี-2-ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์’ เลขที่คำขอ 1101001988 วันที่ 12 มีนาคม 2553 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญารับคำขอเมื่อ 12 กันยายน 2554 และประกาศโฆษณาวันที่ 1 ตุลาคม 2555 นั้น แม้จะพ้นกำหนดระยะเวลาการยื่นคัดค้านภายใน 90 วันแล้วก็ตาม แต่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์พบว่าคำขอรับสิทธิบัตรนี้ขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542

ในหนังสือคัดค้านระบุด้วยว่า คำขอรับสิทธิบัตรฉบับนี้มีความสำคัญและกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่มีชื่อสามัญทางยาว่า ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งไวรัส COVID-19 เป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพและระบบสาธารณสุขของประเทศที่มีความรุนแรงมากในขณะนี้และกำลังเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขของโลก

“COVID-19 เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก และยังเป็นปัญหารุนแรงในหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสเสี่ยงที่การระบาดจะกลับมารุนแรงอีก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมียารักษาเตรียมการไว้ และยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นหนึ่งในยาจำเป็นดังกล่าว แต่เนื่องจากยามีราคาแพงและไม่มียาชื่อสามัญในตลาดที่จะทำให้เกิดการแข่งขันและราคาถูกลง เพราะการคุ้มครองสิทธิบัตรที่ไม่สมควร ระบบสาธารณสุขของไทยอาจไม่สามารถจัดหายาให้กับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงได้ หากการติดเชื้อ COVID-19 กลับมาระบาดรุนแรงอีก”

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ให้ข้อมูลว่า นอกจากคำขอรับสิทธิบัตรนี้จะขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร แล้ว สาระสำคัญของสิทธิบัตรนี้ยังไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นแต่อย่างใด ทั้งยังไม่ได้แสดงให้เห็นสัดส่วนที่ชัดเจนของสารที่ใช้ในยาเม็ด จึงเป็นข้อถือสิทธิที่ไม่ชัดแจ้ง

ยิ่งไปกว่านั้น คำขอรับสิทธิบัตรนี้เป็นคำขอเดียวกับที่ยื่นในประเทศอินเดีย เลขที่คำขอ 6955/DELNP/2011 ซึ่งสำนักสิทธิบัตรประเทศอินเดียได้มีการยกคำขอดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2018 โดยผู้ตรวจสอบการประดิษฐ์ของประเทศอินเดียตัดสินว่า ข้อถือสิทธิในคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญทางเภสัชกรรม

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์จึงขอให้ผู้ตรวจสอบพิจารณายกคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวในประเทศไทย รวมถึงคำขอรับสิทธิบัตรในยาชนิดเดียวกันที่ยังไม่ได้ประกาศโฆษณา

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า