หมอแล็บในยุค COVID-19: สภาวะคอขวดที่ยังไม่ได้รับการจัดการ

เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักขึ้น จำนวนการตรวจหาเชื้อก่อนที่จะมีระบบตรวจเชื้อด้วยตนเอง (ATK) ที่ถูกส่งไปยังห้องแล็บก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว กล่าวได้ว่าบุคลากรห้องแล็บเหล่านี้มีคุณูปการอย่างมากสำหรับชีวิตคนไทย ณ ช่วงเวลาขณะนั้น ทว่าพวกเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร ทำงานกันอย่างไร และประสบปัญหาอะไรบ้าง กลับเหมือนยังเป็นปริศนาที่ไม่ได้ถูกใครพลิกขึ้นมาใส่ใจ

บุคลากรในห้องแล็บหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘นักเทคนิคการแพทย์’ (Medical Technologist) หากพิจารณาตามความหมายที่ปรากฏในพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ได้ให้ความหมายว่า “วิชาชีพที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการกระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้ตัวอย่างทางการแพทย์ และใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย การรายงานผลการตรวจเพื่อการวินิจฉัย การรักษา การพยากรณ์โรค การป้องกันโรค หรือเพื่อการประเมินภาวะสุขภาพ”

ในแง่หนึ่ง อาชีพนักเทคนิคการแพทย์ดูเหมือนจะต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างมาก แต่ในมุมมองของความเป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วไป พวกเขาก็มีสภาวะทางอารมณ์แบบมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ไม่ได้ใช้แต่หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการดำเนินชีวิตประหนึ่งหุ่นยนต์ และคงไม่ได้มีความอดทนทำงานเกินมนุษย์เหมือนหุ่นยนต์เช่นเดียวกัน หากระบบการทำงานถูกออกแบบมาไม่ดีก็สามารถทำให้พวกเขาเกิดความเครียด ความกลัว ความเหนื่อยล้า ไม่ต่างจากคนทั่วไป โดยเฉพาะช่วงสภาวะวิกฤติอย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว พวกเขาอาจจะต้องระทมทุกข์มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับนักเทคนิคการแพทย์ของไทยนั้นถูกสะท้อนผ่านคำให้สัมภาษณ์เชิงลึกจำนวนมากในงานศึกษาที่ชื่อ ‘เสียงจากห้องแล็บ: ประสบการณ์การทำงานและความรู้สึกของคนทำแล็บเมื่ออยู่ร่วมกับเชื้อโควิด-19’ ของ ปาณิภา สุขสม (2564) ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) ซึ่งฉายภาพให้สังคมไทยตระหนักรู้ถึงความไม่พร้อมของรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในช่วงสภาวะวิกฤติ และแนวทางการทำงานที่จะทำให้ไม่เกิดสภาวะอารมณ์และความกดดันแบบที่เหล่านักเทคนิคการแพทย์ต้องเผชิญ เพื่อไม่ให้สถานการณ์วนซ้ำอีกครั้งหากเกิดภัยร้ายแรงในอนาคตไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

ชุมชนคนทำแล็บและระบบการทำงานในวิกฤติโรคระบาด

ในสถานการณ์โรคระบาด ทำให้คนทำแล็บต้องมีหน้าที่ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี Real-Time PCR (RT-PCR) โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญและความแม่นยำสูง ขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ต้องทำในห้องแล็บเท่านั้น 

การตรวจ RT-PCR ต้องทำเฉพาะในห้องปฏิบัติการไบโอโมเลกุลลาร์ (Biomolecular Laboratory) เพราะมีอุปกรณ์สำหรับตรวจหาเชื้อเชิงลึกในระดับ DNA ของผู้ป่วย โดยใช้ตัวอย่างจากเยื่อบุในคอ (Throat Swab) หรือเยื่อบุหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Swab) จากนั้นจึงใช้ชุดน้ำยาสกัดยีโนมของไวรัสที่เป็น RNA มาสังเคราะห์เป็น cDNA (complementary DNA ) ด้วยเอนไซม์ Reverse Transcriptase เพื่อเพิ่มจำนวน DNA ที่ต้องการตรวจสอบ หลังจากนั้นจะทำการเพิ่มอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเพิ่มจำนวน DNA ที่ต้องการตรวจหาด้วยเครื่องมืออัตโนมัติที่เรียกว่า RT-PCR โดยผลตรวจวัด DNA ของไวรัสที่เพิ่มขึ้นผ่านระบบ Detection Unit จะวัดจากความเข้มของแสงฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent) แสดงออกมาเป็นกราฟหรือตัวเลขความเข้มของแสงในแต่ละรอบของปฏิกิริยา จนสามารถอ่านผลเป็นปริมาณของไวรัส หรืออ่านผลเป็น ‘พบ’ หรือ ‘ไม่พบ’ ไวรัสได้

ขั้นตอนการทำงานต่อมาคือ การนำตัวอย่างผลตรวจทั่วประเทศส่งไปยังห้องแล็บที่เปิดบริการ โดยขนส่งในกล่องโฟมบรรจุน้ำแข็งแห้ง เมื่อได้รับแล้วห้องแล็บจะตรวจวิเคราะห์ด้วยชุดน้ำยา 2 แบบ คือ ชุดน้ำยาที่ผลิตโดยบริษัท (Commercial Kits) และชุดน้ำยาที่ผลิตโดยหน่วยงาน (In-house Method) หลังจากนั้นห้องแล็บจะส่งผลรายงานการตรวจกลับไปในรูปแบบ e-mail ภายในระยะเวลา 3 วัน รายงานผลดังกล่าวจะประกอบไปด้วยข้อมูลชุดน้ำยาสกัด RNA ชื่อชุดน้ำยา RT-PCR และผลการตรวจว่าเป็นบวกหรือลบ พร้อมระบุค่า CT แยกตามยีนส์ของเป้าหมาย 

สำหรับพื้นที่ในห้องแล็บโควิด-19 จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่สำหรับการสกัดสารพันธุกรรม พื้นที่สำหรับเตรียมน้ำยา และพื้นที่สำหรับการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม (PCR) และการประเมินผล พื้นที่เหล่านี้ยังต้องการการสนับสนุนด้านอุปกรณ์อีกมาก เช่น ตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส เพื่อเก็บตัวอย่าง ตู้เย็นสำหรับเก็บน้ำยา เครื่องหมุนเหวี่ยงสำหรับสกัดสารต่างๆ และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เดือนกรกฎาคม 2564 ระบุว่าห้องแล็บที่ผ่านการรับร้องทั้งหมดมีเพียง 349 แห่ง ในจำนวนนี้มีถึง 134 แห่งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นของรัฐ 54 แห่ง และเป็นของเอกชน 80 แห่ง ขณะที่อีก 215 แห่งที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

เดือนเมษายน 2563 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องตรวจตัวอย่างให้ได้ถึง 20,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยจากวันที่เริ่มตรวจจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2564 มีการตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 3.4 ล้านตัวอย่าง แต่ปัญหาแรกที่ประสบคือภาครัฐมีน้ำยาในการตรวจตัวอย่างไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถตรวจทุกคนที่ต้องการรับการตรวจได้ แต่ต้องแบ่งกลุ่มการตรวจตามระดับความจำเป็นเร่งด่วน (ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา: CDC) จนกระทั่งเริ่มเกิดสภาวะคอขวดของการทำงานตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

งานหนักแต่ระบบไม่รองรับ เมื่อนักเทคนิคการแพทย์ต้องเผชิญแรงกดดัน

“คนไข้พอรับคิวก็จะมาบริเวณห้องที่เก็บตัวอย่าง (Swab) ที่แหย่จมูก มีบริษัทมาบริจาค ตอนนั้นมีปัญหาทั้ง N95 ไม่พอ PPE ไม่พอ แนวคิดคือจะทำยังไงก็ได้ให้ใช้ของพวกนี้ให้น้อยที่สุด”

ปัญหาความไม่พร้อมในการสนับสนุนของภาครัฐสามารถเห็นได้จากตัวอย่างบทสัมภาษณ์นักเทคนิคการแพทย์คนหนึ่ง (ไม่ขอเอ่ยนาม) โดยเธอระบุว่าในช่วงแรกหน้ากาก N95 และชุด PPE มีไม่เพียงพอ โรงพยาบาลจึงต้องหาทางลดการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ให้มากที่สุด นำมาซึ่งแนวคิดห้องควบคุมความปลอดภัยความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure) และทำให้แพทย์ผู้เก็บตัวอย่างไม่จำเป็นต้องสวมชุด PPE โดยในโรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่มีห้องควบคุมเคลื่อนที่ประมาณ 13-14 คัน เพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรด้านอื่นๆ 


การขาดแคลนอุปกรณ์ที่เหมาะสม ทำให้โรงพยาบาลต้องลองผิดลองถูก และทดลองหาสิ่งอื่นมาทดแทนไปก่อน สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะหลายแล็บไม่ได้รับการดูแลให้เป็น ‘แล็บที่พร้อมใช้งาน’ มาตั้งแต่ต้น จุดนี้สะท้อนได้ผ่านคำให้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาคร (ไม่ขอเอ่ยนาม) ระบุว่าช่วงก่อนโควิด-19 จะเกิดขึ้น บางห้องแล็บไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานได้ขนาดนั้น

“ห้องแล็บของเราก่อนหน้าที่จะเกิดโควิดมีศักยภาพไม่เยอะค่ะ ระบบ Semi-automated ก็เกิดขึ้นมาตอนโควิดปี 2563” ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุ พร้อมกล่าวต่อไปด้วยว่า “เขาบังคับว่าทุกโรงพยาบาลจะต้องมีตรวจ ต้องมีห้องแล็บ”

ในลักษณะนี้จึงหมายความว่า ห้องแล็บบางแห่งที่มีศักยภาพอยู่แล้วเนื่องจากก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 เคยถูกใช้สำหรับตรวจหาเชื้อวัณโรค (TB) มาก่อน ทำให้มีความพร้อมในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มากกว่า ขณะที่อีกหลายแห่งเกิดสภาวะการขาดแรงสนับสนุนด้านอุปกรณ์ กำลังคน ไปจนถึงองค์ความรู้ต่างๆ และด้วยสถานการณ์การระบาดที่ย่ำแย่มากขึ้นจึงทำให้มีภาระงานมากเกินกว่าศักยภาพที่ห้องแล็บอื่นๆ จะรับมือได้ 

ปัญหาด้านการขาดกำลังคน ก็ทำให้นักเทคนิคการแพทย์จำเป็นต้องถูกเรียกออกมาช่วยงานนอกห้องแล็บ โดยลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายจะเป็นการตรวจเชิงรุกอย่างการเก็บตัวอย่าง เพราะหากอ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของนักเทคนิคการแพทย์รายหนึ่ง (ไม่ขอเอ่ยนาม) ระบุว่า ผู้ที่มีความสามารถในการเก็บตัวอย่างมีน้อยราย ลำพังเพียงนักระบาดวิทยาหรือแพทย์ก็มีกำลังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ โดยในช่วงแรกอาสาสมัครเก็บตัวอย่างหลายคนไม่กล้าที่จะออกมาทำงานนี้เนื่องจากกังวลเรื่องกฎระเบียบ แต่เมื่อกลุ่ม ‘MT Heroes’ เริ่มออกจากห้องแล็บมาทำงานภาคสนาม ก็ทำให้กลุ่มอื่นๆ กล้าทำงานอาสาสมัครมากขึ้น และถือว่าเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนของสถานการณ์การระบาดในไทยครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม การออกไปทำงานภาคสนามในฐานะอาสาสมัครก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง อย่างแรกคือความรู้สึกหวาดกลัวต่อการติดเชื้อ เพราะหากทำงานในห้องแล็บก็ยังพอมีอุปกรณ์ประจำห้องแล็บที่ช่วยป้องกันตัวได้มากกว่าการออกไปยังพื้นที่การระบาด ขณะเดียวกันการลงพื้นที่ในระยะแรกก็ทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนรู้สึกถูกทิ้งขว้าง อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้

“มันจะมีเป็นรถพ่วง แต่เป็นรถ Positive Pressure เราก็ต้องเข้าไปในห้องนั้น ซึ่งในความรู้สึกเราเหมือนกับว่าเราถูกปล่อย ไม่มีใครมาแนะนำเลยว่าห้องนี้ใช้อย่างไร ต้องดูแรงดันอย่างไรว่าปลอดภัยสำหรับเราไหม เราไม่รู้อะไรเลยนะ ห้องแล็บตอนนั้นเราไปคนเดียว เป็นข้อดีที่ว่าหัวหน้าไปลุยเอง แต่เราเสี่ยงที่จะติดมากเลยนะ เพราะว่าเราอยู่ในห้องที่มีแค่ความเย็นเฉยๆ แล้วคนไข้ที่มาวันนั้นตรวจพบเชื้อเป็นพัน” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังระบุต่อไปว่า “โชคดีว่าเหมือนมีสิ่งที่ช่วยพวกเราชาวแล็บ เหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวดาช่วยเราให้รอด เราคิดอย่างนั้นนะ”

ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้บรรยากาศการทำงานแต่ละวันของนักเทคนิคการแพทย์เต็มไปด้วยความเครียด ความกังวล และความเหนื่อยล้า สถานการณ์การระบาดยิ่งหนักมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้น แต่กำลังคนกลับมีเท่าเดิม การทำงานที่ต้องสวมใส่ชุด PPE เป็นระยะเวลา 8-9 ชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งต้องทำงานแข่งกับเวลา ยิ่งซ้ำเติมภาวะทางอารมณ์เหล่านี้มากกว่าเดิม

“รู้สึกเหนื่อยที่มันไม่จบไม่สิ้นสักที ไม่รู้ว่ามันต้องไปถึงเมื่อไร เพราะว่านี่ก็ปีหนึ่งเต็มๆ แล้วกับสภาวะอย่างนี้ ชีวิตวันนี้กับปีที่แล้วต่างกันมากเลย ปีที่แล้วเรายังไม่รู้จักโรคนี้มากนัก ความกดดันทุกอย่างของสังคมจะลงที่แล็บหมดเลย เพราะว่าส่วนใหญ่คนเชื่อผลแล็บ ทุกอย่างลงที่แล็บหมดเลย” 

สภาพการณ์ทั้งหมดข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ในสภาวะวิกฤติ ระบบสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะกับนักเทคนิคการแพทย์ที่เป็นหัวใจสำคัญในการตรวจหาเชื้อไวรัสกลับไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ประกอบกับยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อคุณภาพการทำงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะทุเลาลงได้หากภาครัฐมีระบบเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานเหล่านี้ในการรับมือกับเหตุไม่คาดฝันตั้งแต่แรก 

photo: คลังภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ภาครัฐที่พึ่งพาไม่ได้ บุคลากรห้องแล็บจึงต้องพึ่งพาตนเอง

การขาดแคลนอุปกรณ์ที่ภาครัฐไม่สามารถจัดหาให้โรงพยาบาลหรือห้องแล็บได้ ทำให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยบริจาคอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่หน้ากากอนามัย N95 ชุดป้องกันเชื้อ PPE ไปจนถึงห้องตรวจเชื้อเคลื่อนที่อย่าง Negative Pressure 

ตัวอย่างสำคัญที่งานศึกษาชี้ให้เห็นคือ สภาพของห้องแล็บประจำโรงพยาบาลสมุทรสาคร อันเป็นศูนย์กลางของการระบาดระลอกที่ 2 แต่ภาครัฐกลับไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือสถานการณ์วิกฤติได้ ขณะที่ภาคเอกชนได้ช่วยบริจาคเครื่องมือ Semi-automated และ Fully-automated ที่ใช้อำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการทำงาน ทั้งยังป้องกันปัญหา Human Error ได้อีกด้วย 

ไม่เพียงแค่การสนับสนุนที่ไม่เพียงพอของรัฐเท่านั้น ในระยะต่อมาภาครัฐเองกลับพยายามออกกฎระเบียบโดยไม่มีความเข้าใจสถานการณ์ที่ดีพอ จนกลายเป็นการสร้างปัญหาในการทำงานให้แก่บุคลากรในห้องแล็บอีกด้วย โดยงานศึกษาชี้ให้เห็นว่า ภายหลังจากเริ่มให้ประชาชนสามารถตรวจเชื้อด้วยตนเองผ่านเครื่องมือ Rapid Antigen Test หรือ Antigen Test Kit (ATK) แล้ว หากพบว่าผลเป็นบวกจะต้องตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งแบบ RT-PCR ที่ห้องแล็บ ซึ่งตามความเป็นจริงกลับทำให้นักเทคนิคการแพทย์ทำงานได้ยากลำบากขึ้น เพราะหน่วยงานรัฐออกมากำกับว่า การตรวจซ้ำจำเป็นต้องทำในห้องแล็บที่ลงทะเบียนกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วเท่านั้น หมายความว่าห้องแล็บหลายแห่งจะต้องกลับไปเข้ากระบวนการประเมินจากภาครัฐก่อนจึงจะทำการตรวจให้แก่ประชาชนที่มีผลเป็นบวกได้ การทำงานของชุมชนคนทำแล็บทั่วประเทศจึงเกิดความระส่ำระสายไปทั่วท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ

ซ้ำร้าย การทำงานของกลุ่มคนทำแล็บยังทำให้เกิดการตีตราและกีดกันจากเพื่อนร่วมงานอีกด้วย เห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของนักเทคนิคการแพทย์ (ไม่ขอเอ่ยนาม) ที่ไปลงพื้นที่ตลาดกุ้ง ระบุว่า ถูกเพื่อนร่วมงานขยับหนีด้วยความกลัว ไปจนถึงถูกผู้อำนวยการโรงพยาบาลโทรมาหาเพื่อขอให้หยุดงาน ความหวาดกลัวจากคนรอบตัวเช่นนี้ ทำให้คนทำแล็บจำนวนมากเลือกที่จะโดดเดี่ยวตัวเอง ด้วยการกินนอนอยู่ในโรงพยาบาล เพราะไม่อยากให้คนรอบตัวรู้สึกเสี่ยงที่จะติดเชื้อไปด้วย 

แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะทำให้นักเทคนิคการแพทย์หันมาดูแลเอาใจใส่กันเองมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปัญหาหลายอย่างเกิดจากการขยับตัวที่ล่าช้าของภาครัฐ ความรู้สึกถูกโดดเดี่ยวและการแบกรับภาระงานที่มากเกินกำลังยิ่งทำให้ขวัญกำลังใจของบุคลากรถูกบั่นทอนมากขึ้น ภาครัฐและสังคมไทยจึงควรหันมาให้ความสนใจต่อการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าที่เป็นอยู่ 

การตระหนักถึงความสำคัญของห้องแล็บ การเพิ่มจำนวนสถานพยาบาลหรือยกระดับสถานพยาบาลที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยพร้อมใช้งานมากขึ้น เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องปรับปรุงโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยดังที่เป็นมา หากเกิดวิกฤติครั้งหน้าประเทศไทยจะได้ไม่ต้องจ่ายความเสียหายในราคาที่หนักอย่างที่โควิด-19 ได้แสดงให้เห็น 

อ้างอิง

ปาณิภา สุขสม. เสียงจากห้องแล็บ: ประสบการณ์การทำงานและความรู้สึกของคนทำแล็บเมื่ออยู่ร่วมกับเชื้อโควิด-19. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

สนับสนุนโดย

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

ณัฐณิชา วาณิชย์วิรุฬห์
นักเรียนประวัติศาสตร์ผู้ผันตัวมาทำกราฟิก คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์และการ์ตูนญี่ปุ่น อยากถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้เข้าใจง่ายด้วยการร้อยเรียงสีสันแห่งอาร์ตเวิร์ค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า