ประวัติศาสตร์นววิถี: เรื่องเล่าในวิถี (ไม่) ปกติใหม่

เป็นที่รับรู้กันว่าการเกิดขึ้นของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม การสำรวจประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับในช่วงการแพร่ระบาดจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะด้วยภูมิหลังที่หลากหลายก็จะทำให้ได้เรื่องเล่าที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างในเชิงรายละเอียด

ในฐานะที่ทุกคนต่างเป็นผู้ประสบภัยโควิด-19 กันถ้วนหน้า การเดินแกะรอยประสบการณ์จากแต่ละชีวิตอาจทำให้เห็นภาพใหญ่หรือประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน ในแง่นี้ บทบันทึกเรื่องเล่าของนักศึกษา 100 คน ภายใต้การดูแลของ สายพิณ ศุพุทธมงคล จึงเป็นแหล่งขุมทรัพย์ชั้นดีที่สมควรนำมาวิเคราะห์ เพราะทุกเรื่องเล่าต่างแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับ ‘ชีวิตนววิถี’ หรือ new normal ของนักศึกษาแต่ละคนได้เป็นอย่างดี

การเรียนแบบนววิถี

เราอาจแบ่งที่พักอาศัยของนักศึกษาได้เป็น 2 ที่หลักๆ คือ บ้านและหอพัก 

เมื่อสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงขึ้น มหาวิทยาลัยประกาศให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ ทำให้นักศึกษาซึ่งเช่าหอพักอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยทยอยกันกลับไปอาศัยที่บ้านตามภูมิลำเนาของตน เหตุผลหลักประการหนึ่งคือ เมื่อไม่มีการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ที่หอพักอีกต่อไป อีกทั้งการกลับบ้านของนักศึกษาหลายคนยังเป็นการลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไปในตัวด้วย เนื่องจากมีบ้านอยู่ต่างจังหวัดจึงไม่มีอัตราการติดเชื้อสูงเท่าพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

การได้ทำความรู้จักและเพิ่มความสนิทสนมกับสมาชิกในครอบครัวเป็นประสบการณ์หนึ่งที่นักศึกษาหลายคนมีร่วมกันจากการกลับไปอยู่ที่บ้าน หลายคนมีบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างตัวเองกับผู้ปกครอง หลายคนได้มีโอกาสสังเกตทบทวนพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของคนในบ้าน (และจากการบรรยายทำให้รู้ว่านักศึกษาจำนวนมากมีทักษะการสังเกตค่อนข้างสูง จนสามารถบรรยายเรื่องราวออกมาได้อย่างละเอียดลออ)

แต่สำหรับนักศึกษาหลายคน ‘บ้าน’ อาจไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะกับการเรียนหนังสือ แต่เป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยปัจจัยรบกวนมากมาย อาทิ เสียงดังจากการก่อสร้างบริเวณบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองมักใช้ไปทำธุระ หรือไม่ก็เดินเข้าห้องขณะเรียนโดยไม่เคาะประตู ยิ่งในบางคนที่ไม่มีห้องส่วนตัวก็ทำให้ประสบปัญหาในการหามุมสงบในบ้านได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลังจากกลับไปอยู่บ้านได้สักระยะ นักศึกษาจำนวนหนึ่งจึงเลือกกลับไปอาศัยที่หอพักแทน

หากมองหาความหมายระหว่างบรรทัดของเรื่องเล่าลักษณะนี้ จะเห็นได้ไม่ยากว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขา ‘ขาดสมาธิ’ ในการเรียนออนไลน์ พวกเขาไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนได้อย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อตัดปัจจัยข้างต้นออกไปแล้ว ปัญหาการขาดสมาธิก็ไม่ได้หมดไป จากเรื่องเล่าที่นักศึกษาบรรยายไว้ การไม่มีสมาธิเป็นสิ่งที่พบได้โดยไม่จำกัดสถานที่ นักศึกษาบางคนไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่หอพัก เพราะการเรียนผ่านหน้าจอยังคงมีสิ่งดึงดูดความสนใจตลอดเวลา ขณะเรียนพวกเขาอาจถูกโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้เข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วย ไม่ก็อาจมีข้อความส่งเข้ามารบกวนขณะกำลังเรียน ยังไม่นับว่านักศึกษาจำนวนมากพบว่า เมื่อเนื้อหาวิชาและผู้สอนไม่มีความน่าสนใจ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมอื่นได้ง่าย 

‘อาจารย์’ ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกที่นักศึกษามีต่อการเรียนออนไลน์ เช่น นักศึกษาจำนวนมากมีปัญหากับวิชาที่อาจารย์สั่งงานโดยไม่คำนึงถึงปริมาณและเวลาที่นักศึกษาจะต้องใช้กับวิชาอื่น หรืออาจารย์บางวิชาจะมีการเช็กชื่อผู้เข้าเรียนภายในเวลา 3-5 นาที อย่างเคร่งครัด ทำให้นักศึกษาซึ่งมีเหตุขัดข้องไม่สามารถเข้าเรียนภายในกรอบเวลาดังกล่าวเป็นอันต้องถูกบันทึกว่าขาดเรียน ตลอดจนถึงการที่อาจารย์มักมีการเปลี่ยนวันเวลาเรียน ทำให้นักศึกษาออกแบบตารางชีวิตได้ยาก

ปัญหาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่นักศึกษาหลายคนสะท้อนร่วมกัน หากพิจารณาไปในรายบุคคลจะพบว่า แต่ละคนก็มีปัญหาส่วนตัวแตกต่างหลากหลายกันไป ด้วยเหตุนี้ การใช้เวลาท่องโลกอินเทอร์เน็ต หรือที่มักเรียกกันว่า ‘โลกออนไลน์’ จึงเป็นพื้นที่ซึ่งนักศึกษารู้สึกสบายใจและผ่อนคลายมากกว่าการเรียน นักศึกษาจำนวนมากใช้พื้นที่นี้ในการปลดระวางความเครียดและความเบื่อหน่ายจากการเรียน ส่วนหนึ่งให้เหตุผลรองรับความรู้สึกเช่นนี้ว่า เป็นเพราะโลกออนไลน์ไม่มีการสอบหรือทำงานเก็บคะแนนเหมือนการเรียน ทั้งยังสามารถเลือกชมสิ่งที่สอดคล้องกับความสนใจส่วนตัวได้ กล่าวได้ว่า โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ซึ่งนักศึกษาสบายใจที่จะ ‘เล่น’ กับมันได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขที่บีบรัดตัวเอง ตลอดจนไม่ต้องคำนึงถึงภาพและเสียงของอาจารย์ที่กำลังสอนอยู่ในอีกหน้าต่างหนึ่งมากนัก เพราะไม่ว่าอย่างไรอาจารย์ก็ไม่มีทางรู้ได้ว่านักศึกษากำลังตั้งใจ เหม่อลอย หรือว่อกแว่กไปยังเรื่องอื่นๆ แต่อย่างใด และยิ่งนักศึกษาหลายคนใช้ห้องนอนเป็นห้องเรียนด้วยแล้ว ก็ประสบปัญหาความง่วงจู่โจมอีกด้วย 

นั่นทำให้นักศึกษาตระหนักว่า การเรียนออนไลน์จำเป็นต้องอาศัยการมีวินัยต่อตนเองสูงมาก การต้องคอยเคี่ยวเข็ญตนเองให้สนใจเรียนนี้นำมาซึ่งความเครียดและความกดดันในการเรียน หรือบางกรณีก็พ่วงมาด้วยความรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่สามารถปรึกษาเนื้อหากับใครได้ ต่างจากการเรียนในห้องเรียนที่สามารถสอบถามอาจารย์และเพื่อนได้สะดวกกว่า 

ทั้งนี้ นักศึกษาจำนวนหนึ่งกลับพบว่า ตัวเองสามารถเข้าได้ดีกับการเรียนออนไลน์มากกว่าการเรียนแบบเจอตัว นักศึกษาคนหนึ่งเล่าว่าเธอชอบการเรียนออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ เพราะตอนเรียนออฟไลน์เธอออกไปเที่ยวกับเพื่อนบ่อย ทำให้ทำงานส่งไม่ค่อยทัน ตอนเรียนก็ไม่ค่อยสนใจฟังอาจารย์ เพราะชอบคุยกับเพื่อนตลอดทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง แต่พออยู่บ้านก็มีเวลามากขึ้น ทำให้จัดการเวลาทำงานวิชาต่างๆ ได้ดี และมีสมาธิมากขึ้น ทั้งยังมีเวลาทบทวนบทเรียน (สามารถย้อนไปดูวิดิโอที่อาจารย์บันทึกไว้กี่ครั้งก็ได้) และมีวินัยกับตนเอง ซึ่งต่างจากนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่ชอบการเรียนออนไลน์นัก

การไม่สามารถสื่อสารกันได้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รบกวนใจนักศึกษา เพราะหลายวิชามีการมอบหมายงานให้ทำเป็นกลุ่ม แต่การนัดคุยหารือแนวทางการทำงานเป็นเรื่องยากลำบากมาก เพราะนักศึกษาแต่ละคนมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ซ้ำร้าย หลายวิชาเป็นการทำงานกลุ่มร่วมกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้การทำงานให้สำเร็จลุล่วงผ่านไปอย่างยากลำบาก นักศึกษาบางคนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการประชุมงานออนไลน์ เพราะเป็นการสื่อสารที่เห็นแค่ข้อความและเสียง ไม่สามารถเดาได้ว่าคู่สนทนามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อตนบ้าง

เศรษฐกิจแบบนววิถี 

งานศึกษาหัวข้อ ‘มิติทับซ้อนของความเป็นพลเมืองทางชีววิทยาและเศรษฐกิจจากนโยบายและมาตรการของรัฐราชการไทยเพื่อแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)’ ของ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ แสดงให้เห็นว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐทั่วโลกต้องเจอในสถานการณ์โรคระบาด คือสภาวะอิหลักอิเหลื่อที่รัฐต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับการแก้ปัญหาสุขภาพของพลเมือง ซึ่งในหลายรัฐก็เลือกที่จะพยายามแก้ปัญหาโรคระบาดและประคับประคองเศรษฐกิจแบบลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กัน 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาวิธีการรับมือวิกฤติของรัฐราชการไทย คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า ความพยายามแก้ปัญหาโรคระบาดและประคับประคองเศรษฐกิจที่รัฐไทยเลือกเป็นการลองผิดมากกว่าลองถูก มาตรการที่รัฐมุ่งหวังจะช่วยเหลือประชาชนก็มักจะมีช่องโหว่และข้อผิดพลาดที่ไม่ควรจะมีอยู่เสมอ ดังเช่นที่นักศึกษาจำนวนมากบรรยายไว้ว่า ตนและผู้ปกครองเข้าไม่ถึงสิทธิโครงการ ‘คนละครึ่ง’ เพราะไม่สามารถแข่งขันแย่งชิงสิทธิมาได้ หรือบางครอบครัวก็ถูกประเมินว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

การบรรยายของนักศึกษาแสดงให้เห็นว่า แต่ละบ้านต่างมีความพยายามปรับตัวเหมือนกันหมด เพราะข้อเท็จจริงหนึ่งคือคนแทบทุกชนชั้นย่อมได้รับผลกระทบจากโควิด จะต่างกันแค่ระดับความรุนแรงของผลกระทบเพียงเท่านั้น และหากพิจารณาจากความสามารถในการปรับตัวที่แต่ละบ้านมีระดับแตกต่างกันไป ก็นำไปสู่ภาพความเหลื่อมล้ำที่ฉายชัดมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ปกครองของนักศึกษาบางคน แม้จะได้รับผลกระทบ ถูกลดเงินเดือนจากงานประจำ แต่ก็ยังพอมีความรู้และโอกาสในการหารายได้เสริมทดแทนจำนวนเงินที่หายไปได้ ดังที่นักศึกษารายหนึ่งบรรยายไว้

“รายได้หลักของครอบครัวมาจากพ่อกับแม่ ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน พ่อมีรายได้มากกว่าแม่ค่อนข้างมาก … รายได้ของพ่อเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน เช่น ค่าน้ำไฟ ค่าเทอมของข้าพเจ้าและน้องชาย การเล่นหุ้นที่มากขึ้น ช่วยทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปได้พอสมควร ทั้งการทำงานอยู่บ้านก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรมาก”

ทั้งนี้ แม้วิกฤติโควิดจะเผยให้เห็นถึงสถานะที่แท้จริงของอาชีพ กล่าวคือ คนที่อาชีพไม่มั่นคงอยู่แล้วก็ไม่มั่นคงยิ่งไปกว่าเดิม คนที่อาชีพดูเหมือนจะมั่นคงก็ถูกเผยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วไม่มั่นคงอย่างที่คิด นั่นทำให้ความน่าสนใจตกไปอยู่ที่นักศึกษาซึ่งบรรยายว่า โควิดมิได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ปกครองมากนัก โดยกลุ่มคนส่วนน้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบด้านรายได้มากนี้ มักจะประกอบอาชีพโดยการทำงานราชการ ไม่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูง หรือในบางกรณีก็เป็นการประกอบอาชีพภายใต้บริษัทที่ค่อนข้างมั่นคง

อนึ่ง คำบรรยายถึงสถานะทางเศรษฐกิจในครอบครัวของนักศึกษายังแสดงชัดว่า นักศึกษาหลายคนมีความเป็นห่วงผู้ปกครองสูง พวกเขาไม่ได้มองผู้ปกครองเป็นเครื่องผลิตรายได้ หากมองผู้ปกครองเป็นมนุษย์ที่มีภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง 

ความ (ไม่) เชื่อมั่นระบบสาธารณสุขแบบนววิถี

การไม่มองผู้ปกครองเป็นเครื่องจักรหาเงิน แต่เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ขัดแย้งโดยตรงกับการบรรยายทัศนคติที่ทั้งตัวนักศึกษาและผู้ปกครองมีต่อการบริหารวิกฤติของรัฐบาล ที่หลายคนมองว่า การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ทำให้พวกเขารู้สึกว่ารัฐมีวิธีคิดซึ่งลดทอนมนุษย์ให้เป็นเพียงวัตถุ และมองประชาชนเป็นตัวเลข

เป็นไปได้ว่า ความรู้สึกเหล่านี้สัมพันธ์กับทัศนคติผู้ปกครองและนักศึกษา (ในฐานะประชาชน) ต่อการฉีดวัคซีน นักศึกษาส่วนใหญ่บรรยายว่า ตนและผู้ปกครองไม่มีความเชื่อถือต่อวัคซีน (Sinovac) ที่รัฐจัดหามาให้ หรือแม้แต่ผู้ปกครองของนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ยอมเชื่อใจรัฐบาลและเข้ารับการฉีดวัคซีนที่รัฐจัดหามาในตอนแรก ก็มักรู้สึกคล้ายถูกหลอกในตอนหลัง กระทั่งในบางรายก็กลายเป็นผู้ปฏิเสธการฉีดวัคซีนไปเลย

“ฉันพบว่าวัคซีนที่ไทยนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชนตอนนี้น่ากลัวมาก ยิ่งถ้าเป็นวัคซีนซีโนแวคฉันกับครอบครัวไม่มีทางฉีดแน่นอน … กลัวว่าจะมาเสียชีวิตเพราะวัคซีนแทนที่จะเป็นเชื้อโควิด และรัฐก็ควรแสดงความรับผิดชอบกับอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนที่รัฐเองเป็นคนนำเข้ามา ไม่ว่าจะเรื่องของเงินชดเชยหากผู้รับวัคซีนแล้วเสียชีวิต ทางบ้านยังไม่ได้ลงทะเบียนหมอพร้อมแต่อย่างใด ถ้ายังเป็นวัคซีนซีโนแวค ก็ไม่ประสงค์จะฉีดหรือจะลงทะเบียน” นักศึกษาคนหนึ่งบรรยาย

ภาระหน้าที่ทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้ารับวัคซีนของรัฐหรือไม่

“แม่อายุเท่ากันกับพ่อ ไม่มีโรคอะไรเหมือนกัน บอกว่ายังรู้สึกไม่ปลอดภัยและยังไม่คุ้มที่จะเสี่ยงกับการฉีดวัคซีนในตอนนี้ที่ยังไม่สามารถรับรองว่าปลอดภัย 100% และเคยคุยกับพยาบาลที่บอกว่าเพื่อนไปฉีดและเสียชีวิตในวันถัดไป ส่วนคุณป้าตอนนี้อายุ 57 ก็ยังสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว อาจจะมีเรื่องน้ำหนักเกิน แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไร มีความเห็นตรงกับแม่ว่ายังไม่คุ้มที่จะเสี่ยงในตอนนี้ ยังสามารถระวังตัวเองได้ดีอยู่ และมีภาระที่ต้องรับผิดชอบอีกมากมายเกินกว่าที่จะมาเสี่ยงกับวัคซีน”

ในการบรรยายถึงผู้ปกครองของนักศึกษาคนหนึ่ง ยังยืนยันความคิดที่ว่า ประชาชนเห็นว่ารัฐมองตนเป็นเพียงตัวเลข หรืออะไรบางอย่างที่ไม่ใช่มนุษย์

“ฉันถามแม่ว่าต้องการฉีดวัคซีนไหม แม่บอกว่าต้องขอคิดดูก่อน เพราะผลการทดลองจากวัคซีนที่เข้ามาในไทยเป็นที่น่ากังวลอยู่ แม่บอกยังมีเวลาคิดอีกนาน เพราะต่อให้อยากฉีด ก็ใช่ว่าจะฉีดได้ทุกคน กว่าจะมาถึงชนชั้นอย่างเรา คงต้องรอวัคซีนอีกหลายรอบ แต่บางทีเราอาจจะได้ฉีดเร็วก็ได้ เพื่อเป็นหนูทดลองแก่คนชนชั้นสูงว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าจะเสี่ยงหรือไม่”

ทัศนคติในทำนองที่มองตนเองเป็นกลุ่มคนที่รอการปันส่วนจากรัฐ ยังสะท้อนชัดผ่านโครงการที่รัฐกล่าวอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชน อย่าง ‘คนละครึ่ง’ หรือ ‘ไทยชนะ’ ที่นักศึกษาจำนวนไม่น้อยมีประสบการณ์ร่วมกันคือ ตนและผู้ปกครองไม่สามารถแย่งชิงสิทธิในมาตรการเหล่านี้มาได้ สาเหตุก็มีแตกต่างกันไป เช่น ผู้ปกครองบางคนไม่รู้วิธีลงทะเบียนรับสิทธิ หรือลงทะเบียนรับสิทธิแล้วแต่กลับได้รับการตอบกลับมาว่าไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบความพึงพอใจระหว่าง 2 มาตรการดังกล่าว นักศึกษาหลายคนประกาศชัดเจนว่า โครงการไทยชนะมีประโยชน์กว่ามาก เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายมากกว่าโครงการคนละครึ่ง

เมื่อมองถึงการจับจ่ายใช้สอย สิ่งหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญในช่วงโควิดแพร่ระบาด คือการใช้จ่ายออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า ‘การช็อปปิงออนไลน์’

ช็อปปิงแบบนววิถี

การช็อปปิงออนไลน์นับเป็นนววิถีอย่างแท้จริง การบรรยายของนักศึกษาทุกคนแสดงให้เห็นว่า ทุกบ้าน ทุกชนชั้น ต่างมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เหมือนกันหมด โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Shopee และ Lazada หรือในกรณีของอาหารการกิน ก็มักมีการใช้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหารต่างๆ กันไป

แน่นอนว่า มาตรการล็อกดาวน์บีบบังคับให้ทุกคนต้องมีการช็อปออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความน่าสนใจคือ หลายครอบครัวมีการปรับตัวใช้บริการแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่ก่อนมีคำสั่งล็อกดาวน์นานแล้ว เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงในการออกจากบ้าน โดยการพิจารณาว่าจะสั่งซื้อสินค้าชิ้นใด และสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มใด มักมีปัจจัยหลักๆ อยู่ที่การได้ข้อเสนอราคาถูก มีส่วนลด และมีบริการจัดส่งที่สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งในหลายกรณี ยังสามารถตีความได้ว่า พวกเขาใช้การช็อปปิงเป็นการบำบัดความเครียดในรูปแบบหนึ่งด้วย

การช็อปปิงออนไลน์ของผู้ปกครองและนักศึกษาหลายคนก็เป็นไปอย่างรอบคอบ ดังที่นักศึกษาจำนวนมากบรรยายว่า เทคนิคในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า ตลอดจนความน่าเชื่อถือของร้านค้า คือการค้นคว้ารีวิวจากอินเทอร์เน็ตก่อนทำการกดสั่งซื้อ

ข่าวลือแบบนววิถี

การค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อประกอบการตัดสินใจไม่ได้จำกัดอยู่แค่การช็อปออนไลน์เพียงเท่านั้น ‘ข้อมูลข่าวสาร’ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักศึกษาและผู้ปกครองหลายคนมักทำการตรวจสอบความถูกต้องจากอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ

ในแง่นี้ การค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเองจากอินเทอร์เน็ตอาจเป็นนววิถีที่คนยุคปัจจุบันกระทำกัน อย่างไรก็ดี การค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเองนี้ก็พ่วงมากับความเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดไป ในขณะเดียวกัน ก็พร้อมเสมอที่จะถูกโต้แย้งว่าข้อมูลที่ตนเชื่อหรือได้รับนั้น เป็นข้อมูลที่ผิด หรือไม่ก็เป็นเพียง ‘ข่าวลือ’

จากการบรรยายของนักศึกษา ข่าวลือเป็นข้อมูลที่มีผลต่อความรับรู้ของผู้คนเป็นอย่างมาก บางทีอาจมากเสียกว่าข่าวที่รายงานโดยรัฐเสียอีก เพราะข่าวลือเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของแต่ละคนอย่างมาก ข่าวลือหลายอย่างมักมาจากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิด เช่น ป้าร้านขายของชำ หรือญาติส่งต่อข้อความมาให้

ข่าวลือที่พบเห็นได้ในการบรรยายของนักศึกษาบ่อยที่สุด มักมีลักษณะทำนองว่า ในบริเวณที่พักอาศัยของตนมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 

แต่ปฏิกิริยาที่นักศึกษามีต่อข่าวลือก็ไม่ต่างไปจากการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์เท่าไรนัก ดังที่นักศึกษาหลายคนมักตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ได้รับมาเสมอ

“ในช่วงเช้าวันหนึ่ง ที่ร้านอาหารของครอบครัวในเขตกบินทร์บุรี ป้าที่รู้จักมาหาที่ร้านแล้วเล่าเรื่องที่เธอได้ยินมาจากคนอื่นให้แม่ฟังว่า อำเภอกบินทร์บุรีมีคนติดโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย จากผู้ติดเชื้อเดิม 8 ราย เป็น 9 ราย ที่สำคัญผู้ติดเชื้อคนนี้อยู่ใกล้ละแวกที่เราอยู่ พวกเราตกใจ ลูกค้าที่นั่งรับประทานอาหารอยู่ก็พลอยตกใจไปด้วย แต่เมื่อแม่ถามป้าว่ารู้ข่าวมาจากไหน ป้าตอบได้เพียงว่ามีคนมาเล่าให้ฟัง ฉันกับแม่คิดว่าคงเป็นข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง ความที่ป้าเป็นคนที่ชอบตื่นตูม ฉันกับแม่จึงคิดแบบนั้น พอไปหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตพบว่ากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าเป็นข่าวลือ ถ้าหากพบผู้ติดเชื้อจะรีบแจ้ง” นักศึกษาคนหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์

“มีคนส่งข้อความมาหาพ่อทางไลน์ เป็นบทความจากเว็บไซต์หนึ่ง กล่าวว่าการกินน้ำอุ่นผสมมะนาวเยอะๆ จะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ เนื่องจากความเป็นกรดของมะนาวจะไปฆ่าเชื้อที่อยู่ในร่างกายของเรา และสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส บทความนี้ได้รับการยืนยันจากหมอว่าเป็นความจริง พ่อจึงส่งต่อบทความไปในกลุ่มครอบครัวและกลุ่มเพื่อนหลายร้อยคนทันที หลังจากนั้น ทุกเช้าพ่อจะชงน้ำอุ่นผสมมะนาวให้ตัวเองและบังคับให้คนทั้งบ้านตั้งแต่ตา ยาย แม่ และฉันกิน ใครเถียงก็ไม่ฟัง แถมยังเถียงกลับอีกด้วยว่าสรรพคุณของมันช่วยรักษาโควิดได้จริงๆ ฉันจึงกินน้ำมะนาวฝีมือพ่อจนถึงทุกวันนี้ ภายหลังฉันเจอข่าวจากสื่อออนไลน์ที่เชื่อถือได้โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่บอกว่าบทความนั้นเป็นข่าวปลอมที่ไม่มีที่มา และอธิบายว่าการกินน้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นนั้นดีต่อสุขภาพจริง แต่ไม่สามารถป้องกันโรคโควิดได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่พบว่าน้ำมะนาวร้อนสามารถฆ่าไวรัสได้” นักศึกษาอีกคนหนึ่งเล่า

ชีวิตแบบนววิถี

เราอาจสรุปคร่าวๆ ได้ว่า โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนจริง ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็มีลักษณะน่าเป็นห่วง เพราะชีวิตแบบนววิถีในหลายๆ ด้านก็เป็นสิ่งที่ยากจะรับมือ เช่น เมื่อนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ พวกเขาก็จะขาดมิตรภาพที่จะได้จากการเห็นหน้าค่าตา เมื่อเทียบกับสภาวะปกติโอกาสที่พวกเขาจะได้ทำความรู้จักใครสักคนอย่างบังเอิญแทบจะไม่มี พวกเขาจะไม่มีโอกาสเดินเจอเพื่อนโดยบังเอิญ กระทั่งอาจไม่เจอความรักแบบเด็กมหาลัย

ในด้านเศรษฐกิจ หลายคนก็น่าเป็นห่วง เพราะต้องอาศัยการขายแรงงานเชิงกายภาพอย่างมากเพื่อหารายได้ การไม่สามารถออกไปทำงานออนไซต์ได้ย่อมกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เพราะขณะที่รายได้ลดลง รายจ่ายกลับมีอัตราคงที่หรืออาจเพิ่มขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ โควิดได้เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ของประเพณีไทยอย่าง ประเพณีสงกรานต์ โดยเปลี่ยนสงกรานต์ให้กลายเป็นแค่วันหยุด (ธรรมดาๆ) วันหนึ่ง จากเดิมเป็นประเพณีที่ผู้ปกครองและนักศึกษาจะได้หยุดพักเติมพลังและได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้า การบรรยายของนักศึกษาต่อประเพณีสงกรานต์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะหลัก คือ ถ้าไม่ออกไปเล่นน้ำกับเพื่อน ก็จะวางแผนไปเที่ยว (ทะเล) กับครอบครัว หรือไม่ก็พักผ่อนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ออกไปไหน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า สงกรานต์นอกจากจะเป็นวันรวมญาติแล้ว ยังเป็นวันพักผ่อนของคนไทยอย่างแท้จริง

ความเบื่อหน่ายดูจะเป็นสิ่งที่นักศึกษารู้สึกร่วมกันมากที่สุด ยิ่งในกิจกรรมที่พวกเขา ‘เคยสนุก’ ที่จะทำ กลับถูกเงื่อนไขโรคระบาดเข้าแทรกแซงจนไม่สามารถกระทำได้ การจัดการกับความเบื่อเป็นอีกหนึ่งนววิถีที่นักศึกษาเล่า บางคนก็แลกเปลี่ยนว่าการต้องจดจ่อกับจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ติดต่อกันนานๆ นอกจากจะทำให้ปวดหลัง ปวดตา ปวดคอแล้ว ยังทำให้เกิดความเครียดอย่างมาก จนทำให้พวกเขาต้องสร้างงานอดิเรกใหม่ๆ เพื่อหลีกหนีโลกดิจิทัล เช่น ปลูกต้นไม้ 

“ฉันมองว่าการปลูกต้นไม้เป็นประโยชน์มาก สำหรับฉันที่เป็นคนชอบเข้าสังคม เมื่อต้องเรียนที่บ้านทำให้ไม่เจอเพื่อนหรือคนแปลกหน้าที่ไหน ชีวิตก็เหมือนขาดสีสันไป ช่วงแรกๆ เลยเล่นโซเชียลทั้งวัน แล้วก็ได้พบว่าการเล่นโซเชียลมากๆ ส่งผลไม่ดีต่อร่างกายและทำให้จิตใจห่อเหี่ยว เพราะรูปแบบแพลตฟอร์มซ้ำไปซ้ำมา ไม่เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ทำให้ไม่กระตือรือร้น การเปลี่ยนมาปลูกต้นไม้แทนทำให้ได้ค้นพบอะไรหลายๆ อย่าง เพราะต้นไม้แต่ละชนิดต้องการปัจจัยในการเติบโตไม่เหมือนกัน ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงมาก็ตายไปหลายต้น แต่ก็ทำให้ได้เข้าใจมากขึ้น การจัดสวนก็ต้องใช้ความคิดในการจัดให้สวยงาม และยังมีข้อดีอีก ทั้งฟอกอากาศ เพิ่มสีเขียวให้บ้านน่าอยู่มากขึ้น เสียอย่างเดียวคือปลูกต้นไม้ก็ต้องใช้เงินซื้อดิน ปุ๋ย ของตกแต่ง ถ้าไม่มีสติก็อาจเสียหายหลายแสนได้”

สนับสนุนโดย

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า