100 เรื่องเล่า บันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยในห้วงโรคระบาด

ปลายเดือนธันวาคม ปี 2563 เชื้อโควิดระลอก 2 กระจายตัวไปทั่วประเทศไทยจากคลัสเตอร์สมุทรสาครและสถานบันเทิง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดงเข้ม) รวมถึงกรุงเทพมหานคร ในเดือนมกราคมปีถัดมา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 อนุญาตให้ออก ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดเพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายออกไปในวงกว้าง 

ข้อความสำคัญในประกาศ อาทิ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า พกพาแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สอบถามประวัติเสี่ยง ประวัติการเดินทางในรอบ 14 วันที่ผ่านมา ปรับรูปแบบการทำงานเป็นทำงานจากที่บ้าน (work from home) ทำธุรกรรมออนไลน์ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร งดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม งดหรือชะลอการเดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งมีมาตรการปิดโรงเรียน สถานศึกษา สถานบันเทิง และสถานีขนส่งสาธารณะ 

ทั้งนี้ แม้รัฐจะมีนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราชนะ’ แต่มาตรการควบคุมโรคเหล่านี้ก็ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคนไม่มากก็น้อย

ในห้วงยามที่สถานศึกษาต้องปิดตัวลงเพื่อป้องกันการระบาดของโรค นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้เขียนบันทึกเล่าชีวิตประจำวันของตน ว่าได้รับผลกระทบจากเชื้อโรคและนโยบายควบคุมโรคของรัฐบาลอย่างไรบ้าง ตั้งแต่การเรียนออนไลน์ รายได้ ความสัมพันธ์ในครอบครัว การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน การทำธุรกรรมออนไลน์ ข่าวลือ ข่าวลวงในโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ 

“ฉันอยู่บ้านมาจะหนึ่งเดือนแล้ว เบื่อมาก แต่สถานการณ์ตอนนี้ทนเบื่อคงดีกว่าเสี่ยงโรค”

บทบันทึกของเหล่านักศึกษากว่า 100 เสียง ที่รวบรวมโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล เขียนขึ้นจากประสบการณ์ประจำวันของแต่ละคนที่กักตัวแยกจากมนุษย์คนอื่น เมื่อเรียงร้อยเข้าด้วยกันแล้วกลับเป็นเรื่องเล่าที่ฉายภาพให้เห็นชีวิตทางสังคมที่กำลังเผชิญหน้าโรคระบาดไปพร้อมๆ กัน ‘เรื่องเล่า 100 เสียง’ จึงเปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ขนาดย่อมของสังคมไทยที่บรรจุชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของคนตัวเล็กๆ ในยามเกิดโรคระบาด 

ประวัติศาสตร์สังคมคืออะไร

บทความของ รศ.ดร.วิศรุต พึ่งสุนทร อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ‘แนวพินิจประวัติศาสตร์สังคม: กรณีสำนักอานาลส์’ (2560) อธิบายว่า การศึกษา ‘ประวัติศาสตร์สังคม’ ได้แผ้วทางถางพื้นที่ให้คนธรรมดาสามัญได้มีที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์บ้าง นอกจากงานศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ผ่านมามักเน้นความสำคัญไปที่มหาบุรุษ วีรกรรมของชนชั้นนำ หรือสถาบันหลักต่างๆ ในสังคมมากเกินไป

วิศรุตอธิบายว่า ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสรุ่นใหม่ๆ ไม่พอใจการศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักดังกล่าว ซึ่งมักให้ความสำคัญกับการค้นคว้าหลักฐานในหอจดหมายเหตุ จนทำให้งานประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นจากข้อมูลในเอกสารราชการเหล่านี้ มักเน้นความสนใจไปที่สถาบันทางการเมืองใหญ่ๆ เช่น รัฐ สงคราม การทูต หรือเศรษฐกิจมหภาค แต่กลับมองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และที่สำคัญคือมองข้ามชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยไปอย่างน่าเสียดาย

เฉกเช่นที่ แฟร์น็อง โบรแดล (Fernand Braudel) กล่าวเอาไว้ว่า ประวัติศาสตร์ที่สนใจแต่มหาบุรุษนั้นเป็นเพียง “ความเคลื่อนไหวเล็กน้อยบนผิวน้ำ เป็นเหมือนพรายฟองซึ่งกระแสอันทรงพลังของประวัติศาสตร์พัดพาให้เคลื่อนไป” 

พวกเขาจึงนำเสนอประวัติศาสตร์สังคมในฐานะการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในชีวิตความเป็นอยู่และความรู้สึกนึกคิด (mentalité) ของคนทั่วไปในสังคม โดยใช้แหล่งข้อมูลจากคำบอกเล่า พฤติกรรม บันทึก ฯลฯ ซึ่งบรรจุเรื่องราวกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การทำงาน การกิน การพักผ่อน ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวอย่างเพื่อนและครอบครัว เป็นต้น เพราะชีวิตประจำวันที่ดูเหมือนยิบย่อย หลากหลาย และเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของปัจเจกเหล่านี้ สามารถเชื่อมโยงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวมได้เป็นอย่างดี

‘ประวัติศาสตร์สังคม’ ตามแนวทางของสำนักอานาลส์ (Annales) แห่งฝรั่งเศส น่าจะช่วยร้อยเรียงเสียงบอกเล่ากว่า 100 เสียงของเหล่านักศึกษาเข้าด้วยกัน ชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อ หงุดหงิด กังวล หวาดกลัว มิใช่เพียงประสบการณ์ส่วนตัวของปัจเจกเพียงเท่านั้น หากยังเผยให้เห็นสังคมไทยโดยรวมที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากน้ำมือของโรคระบาดและมาตรการควบคุมโรคของรัฐ

เรียน (ออนไลน์) เมื่อคราวห่าลง

ประกาศของ ศบค. ที่ให้หลายจังหวัดทั่วประเทศเป็นพื้นที่ควบคุมโรคในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 มาพร้อมการสั่งปิดสถานศึกษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคด้วย ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาจำนวนมากต้องเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน

บทบันทึกของนักศึกษาแทบทุกรายเล่าว่า การเรียนออนไลน์กระทบชีวิตอย่างมาก 

การเรียนออนไลน์ต้องใช้สมาธิขั้นสูงเพื่อควบคุมตนเองจากสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เสียงรบกวน ความง่วง ความขี้เกียจ ความน่าเบื่อของการได้ยินเสียงอาจารย์อย่างเดียว ตลอดจนต้องห้ามใจไม่ให้แบ่งสมาธิไปหาความสนุกอื่นๆ เช่น เล่นเกม ดูหนัง ซีรีส์ ฟังเพลง เป็นต้น

“การสื่อสารตอนเรียนก็เป็นปัญหา บางทีเสียงที่ไม่ชัดหรือกระตุกก็ทำให้สมาธิหลุดได้ บางวิชาที่ให้ทำงานกลุ่มกับเพื่อนต่างคณะที่ไม่เคยพูดคุยกัน การสื่อสารโดยพิมพ์ข้อความเป็นเรื่องที่ยากกว่างานที่อาจารย์มอบหมายเสียอีก” บันทึกของนักศึกษาหญิงรายหนึ่งเล่าถึงความยากลำบากในการทำงานกลุ่มกับเพื่อนต่างคณะที่ไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อน เธอเห็นว่าการเรียนแบบผสม ซึ่งสลับไปเรียนออนไซต์ที่มหาวิทยาลัยโดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคจึงอาจดีกว่าเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว

แม้การเรียนออนไลน์ในช่วงแรกอาจดูสบายกว่าการต้องไปมหาวิทยาลัย เช่น ไม่ต้องแต่งหน้า แต่งตัว ใส่ชุดนอนเรียนก็ได้ เพราะปิดกล้องได้ เปิดเสียงอาจารย์ไว้แล้วนอนเล่นมือถือก็ได้ แต่กลับเพิ่มภาระหนักและกินเวลาการใช้ชีวิตของนักศึกษาเกือบตลอดวัน 

“บางครั้งอาจารย์พูดไวไปก็ไม่กล้าบอก เพราะกลัวรบกวนคนอื่นในคลาส แต่ไม่นานก็หาทางออกได้ ฉันเรียนย้อนหลัง 3 วิชา แม้ว่าอาจทำให้เสียเวลาไปบ้าง แต่ดีกว่าเรียนไม่รู้เรื่องเลย ไม่เข้าใจตรงจุดไหนก็ย้อนกลับไปฟังใหม่ หรือถ้าอาจารย์พูดเร็วเกินไปก็ปรับความเร็วของวิดีโอ ถ้ายังไม่เข้าใจอีกก็ขอให้เพื่อนอธิบายให้ฟัง รวมๆ แล้วฉันใช้เวลาเรียนประมาณวันละ 4-10 ชั่วโมง” 

นอกจากนี้ วิชาที่เคยต้องสอบวัดผลต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการมอบหมายการบ้านหรือรายงานแทน นักศึกษาจึงต้องใช้งานสมองหนักขึ้นอีกหลายเท่าจนเมื่อ “เวลาผ่านไปไม่ถึงเดือน แต่รู้สึกเหนื่อยเหมือนเรียนมาแล้วทั้งปี”

ครั้นเมื่อมาตรการควบคุมโรคต้องการให้ผู้คน ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ บางครั้งในชั่วโมงของการเรียนจึงมีสมาชิกในครอบครัวเป็นอุปสรรคขัดขวางนักศึกษา “สถานที่ที่ไม่เหมาะกับการเรียนที่สุดคือบ้าน คงเพราะคนในครอบครัวมองว่าไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเรียนของฉันมาก เรียกไปทำงานบ้านบ้าง ให้ไปซื้อของให้บ้าง แต่ก็คาดหวังให้ผลการเรียนออกมาดี” คล้ายกับที่เพื่อนของเธอต้องเจอ “พวกเขาอาจคิดว่าลูกที่เรียนออนไลน์สามารถช่วยงานบ้าน หรือเรียกไปทำโน้นนี้ได้ เช่น ฉันมักจะโดนแม่เรียกคุยด้วยอยู่บ่อยๆ ทำให้ไม่มีสมาธิ จับใจความสิ่งที่เรียนอยู่ไม่ได้ ทำให้ต้องดูคลิปย้อนหลังตลอด”

หลายคนจึงตัดสินใจอาศัยอยู่ที่หอพักใกล้มหาวิทยาลัยเพื่อเรียนออนไลน์แทน แต่นั่นก็นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ อีก เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่แรง หรือเวลาเรียนที่ไม่ตรงกับเพื่อนร่วมห้อง เมื่อเธอต้องตอบคำถามอาจารย์เสียงดัง แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่เพื่อนต้องการพักผ่อนหรือใช้สมาธิอ่านหนังสือ

ท้ายที่สุด การเรียนกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กแคบ ได้พรากเอาประสบการณ์ที่เด็กวัยรุ่นเพิ่งขึ้นมหาวิทยาลัยต้องการและเฝ้ารอ นั่นคือ การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ในขณะที่หลายคนเลือกอยู่หอ อีกหลายคนก็กลับบ้านในต่างจังหวัด ท่ามกลางสภาวการณ์ที่การเดินทางข้ามจังหวัดเป็นไปไม่ได้เลย 

“ฉันรู้สึกเสียดาย รู้สึกว่าการเป็นนักศึกษาปี 1 พลาดอะไรไปหลายอย่าง แทนที่จะได้ทำกิจกรรม ได้พบปะเพื่อน กลับต้องอยู่แต่บ้านและคุยกับเพื่อนทางออนไลน์ ทำให้ไม่ได้รู้จักเพื่อนอีกหลายคนที่ยังไม่เคยเจอหน้าหรือคุยกัน”

เศรษฐกิจภายใต้มาตรการล็อกดาวน์และโครงการช่วยเหลือจากรัฐ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการดำรงชีพของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ปกครองของเหล่านักศึกษา ซึ่งอยู่ในวัยทำงานและเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว ตัวอย่างเช่น พี่สาวของนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่ต้องตกงาน “เจ้าของบริษัทตัดสินใจปลดพนักงานใหม่ โดยให้เหตุผลว่าพนักงานเหล่านี้เข้ากับคนในบริษัทไม่ได้ และต้องการคนที่กระฉับกระเฉง แต่ความจริงที่เจ้าของไม่ได้พูดคือ บริษัทกำลังประสบปัญหาทางการเงิน หลังจากที่ออกจากงาน พี่ก็ขาดรายได้ จึงต้องกลับบ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ทำงานประจำ เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท ได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ประกอบกิจการส่วนตัว เนื่องจากแม้ต้องทำงานจากที่บ้านก็ยังได้รับเงินเดือนตามปกติ ต่างจากพ่อค้าแม่ขายที่ต้องถูกสั่งปิดตลาดและร้านรวงเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ผู้คนเองก็หวาดกลัวจนออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ดังเช่นที่นักศึกษาที่มีพื้นเพจากเพชรบูรณ์สะท้อนว่า “ตลาดนัดวันเสาร์ที่คนไปจับจ่าย เดินเบียดแทบมองไม่เห็นทางเดิน ตอนนี้ผู้คนหายไปเกือบหมด ได้ยินพ่อค้าแม่ค้าบ่นว่า ‘ช่วงนี้ขายไม่ได้ดีเลย ถ้าเป็นแบบนี้จะเอาอะไรกินกันล่ะเนี่ย’” 

กิจการที่ต้องถูกปิด รวมถึงร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านอาหารของครอบครัวนักศึกษา แม่ของนักศึกษาสาวคนหนึ่งเปิดคาเฟ่เล็กๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ต้องปิดหน้าร้าน แล้วเปลี่ยนมาให้บริการสั่งกลับบ้านเท่านั้น รายได้หดหายไปมาก เพราะลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่อาจไม่ได้นิยมกินกาแฟนัก แต่มานั่งชิล อ่านหนังสือ หรือถ่ายรูปที่ร้าน หายไป เธอยังตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อของเจ้าใหญ่ถึงเปิดให้บริการได้ ทั้งๆ ที่ผู้ค้ารายย่อยต้องปิดตัว พร้อมตั้งคำถามว่า มาตรการควบคุมโรคที่ให้พนักงานต้องเตือนลูกค้าทุกครั้งที่เข้าร้านว่า “วัดอุณหภูมิ กดเจลล้างมือด้วยนะคะ” ได้ผลจริงหรือ หากจริงทำไมร้านของแม่เธอจึงทำเช่นนั้นด้วยไม่ได้

ทั้งนี้ รายจ่ายของนักศึกษาและครอบครัวในแต่ละเดือนไม่ได้ลดลงตามรายได้ ตั้งแต่ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินอยู่ในชีวิตของเหล่าสมาชิก แต่รัฐบาลก็ได้มีการออกนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว อาทิ โครงการ ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราชนะ’ 

“ครอบครัวขาดรายได้ แต่ก็ยังมีเงินจากสวัสดิการของรัฐ นั่นก็คือเราชนะ บ้านผมโชคดีที่ได้ทุกคน แต่มันก็มีข้อเสียเพราะเงินที่รัฐให้ ใช้จ่ายได้แค่ในส่วนของการบริโภค ไม่สามารถมาแบ่งเบาค่าใช้จ่ายรายเดือน เพราะมันไม่ใช่เงินสด สิ่งที่แย่ก็คือรายรับลดน้อยลง แต่รายจ่ายกลับเท่าเดิม ผมรู้สถานการณ์ของที่บ้านดี จึงช่วยกันประคับประคองเงินที่มี ไม่ฟุ่มเฟือย ผมอยากได้เงินค่าเทอมคืนมาใช้จ่ายในช่วงนี้มาก แต่ทางมหาลัยก็ไม่ดําเนินการอย่างรวดเร็วพอ ผมได้แค่รอ”

สาวลพบุรีพูดถึงกิจการครอบครัวของตัวเองว่า “ร้านเราก็เข้าร่วม (โครงการช่วยเหลือของรัฐ – ผู้เขียน) เลยสามารถดึงลูกค้าได้มากขึ้นอีก ทำให้รายได้ไม่หายไปมากนัก แม่สบายใจขึ้น แต่ยังกังวลเพราะไม่รู้ว่าจะขายดีแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ โรคระบาดยังไม่หาย นานเข้าเศรษฐกิจก็ยิ่งแย่ คาเฟ่เปิดใหม่เริ่มเยอะ การแข่งขันก็ยิ่งสูง คนซื้อกลายเป็นคนขายกันหมด ทำแค่ให้มีรายได้ใช้จ่ายในครอบครัวเท่านั้นพอ”

เพื่อนของเธอสะท้อนในมุมมองผู้บริโภคไว้ว่า “แม่ตื่นแต่เช้ามารอสมัครโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล และยังปลุกน้องสาวให้มาสมัครด้วย จะได้ไม่เสียสิทธิของตนเอง เงินช่วยเหลือส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อซื้อของใช้ในบ้าน ร้านที่เข้าร่วมโครงการมักอยู่ในเมือง เมื่อแม่ไปทำงานก็จะแวะที่ตลาดเพื่อซื้อของ ช่วงปิดเทอมข้าพเจ้ากลับบ้าน เห็นของใช้จำนวนหนึ่งวางเรียงรายบนชั้นวางของ จึงถามแม่ว่าทำไมซื้อมาเยอะ แม่ตอบว่าต้องซื้อตุนไว้ในช่วงที่มีโครงการ เพราะจ่ายถูกลง ต้องรีบใช้ก่อนหมดโครงการ” 

ในขณะที่บางคนก็เข้าไม่ถึงหรือเข้าไม่ทันโครงการช่วยเหลือเหล่านี้ “ตอนที่รัฐบาลออกมาตรการคนละครึ่ง พ่อไม่ได้สมัคร พอนานเข้าเขาเริ่มเห็นความสำคัญของมาตรการนี้ แต่ก็สมัครไม่ทันเสียแล้ว พ่อบ่นกับฉันว่าเสียดายมากที่ไม่ได้สมัคร ส่วนโครงการอื่นๆ เช่น ไทยชนะ เราชนะ พ่อไม่ผ่านเกณฑ์เพราะว่าได้เงินในส่วนของประกันสังคมไปแล้ว”

ช็อปออนไลน์แค่ปลายนิ้ว

หลังเกิดโรคระบาดทำให้ต้องออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น การซื้อของอุปโภคบริโภคของนักศึกษาและครอบครัวเปลี่ยนไป โดยหันมา ‘ช็อป’ ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น เพราะสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทั้งยังกดยกเลิกสินค้าและขอคืนเงินได้ในกรณีที่ไม่พึงพอใจหรือเปลี่ยนใจ พวกเขาไม่ต้องถ่อไปถึงห้างซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็สามารถเข้าถึงสรรพสินค้าได้เพียงจิ้มหน้าจอมือถือ บางสินค้าอาจราคาถูกกว่าในห้างเสียอีก เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างพากันประเคนโปรโมชัน ส่วนลด และจัดส่งฟรี เพื่อเรียกลูกค้าที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

หญิงสาวผู้ชอบสั่งซื้อเครื่องสำอาง เสื้อผ้า และรองเท้า อธิบายว่า “จากมุมมองผู้ใช้ บอกได้เลยว่าธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Shopee เติบโตเร็วมาก สังเกตได้จากเมื่อก่อนถ้าอยากได้สินค้าสักอย่าง เช่น เครื่องสำอางที่ต้องนำเข้าจากเกาหลี ก็มีให้เลือกใน Shopee แค่ไม่กี่ร้าน อาจเพราะเมื่อเกิดการระบาดของโควิด แม่ค้าที่เคยขายช่องทางอื่นๆ ขายหน้าร้านไม่ได้ จึงเริ่มขยายมาขายใน Shopee ตอนนี้พออยากได้อะไรก็ง่ายกว่าเดิมเยอะเพราะตัวเลือกเยอะขึ้นมาก” ในขณะที่เพื่อนอีกคนแนะนำว่า “แพลตฟอร์มที่ซื้อจะขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า เช่น เสื้อผ้าซื้อทาง Instagram ของใช้หรือของจิปาถะจะใช้ Shopee เป็นต้น”

การช็อปปิงออนไลน์สร้างความเพลิดเพลินใจแก่นักศึกษา ซึ่งเครียดจากการเรียนออนไลน์และต้องติดแหง็กอยู่ในบ้าน ความสนุกอาจเกิดจากการเปรียบเทียบราคาสินค้าของแต่ละร้าน การลุ้นว่าสินค้าที่สั่งจะ ‘ตรงปก’ หรือ ‘จกตา’ บางคนอาจแค่เพียงอ่านรีวิวจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ หรือดูดาราและอินฟลูเอนเซอร์ลงคลิปรีวิวสินค้าก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องกดซื้อเอง ณ ขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าออนไลน์มีความเสี่ยงที่จะเจอมิจฉาชีพ “ข้าพเจ้าเคยสั่งเสื้อยืดราคา 250 บาท หลังจากโอนเงินและส่งชื่อ ที่อยู่ ให้ผู้ขายแล้ว ของไม่ถูกส่งตามกำหนด ข้าพเจ้าพยายามติดต่อผู้ขาย แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ” 

นักเรียนออนไลน์ ผู้มักสลับจอไปช็อปปิงจนคร่ำหวอดรายหนึ่งเล่าว่า “การโกงมักเกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม Instagram เพราะแอ็กเคานต์ที่เป็นร้านค้าไม่มีการยืนยันตัวตน ใครอยากขายสินค้าอะไรก็ได้ ไม่มีการตรวจสอบหรือให้ความมั่นใจแก่ผู้ซื้อ ใน Shopee หรือ Lazada แม้มีการโกงบ้างแต่ก็น้อยมากหรือไม่มีเลย เพราะผู้ค้าได้รับการยืนยันจากแอปพลิเคชัน และเงินจะถูกโอนเข้าแอปพลิเคชันก่อนที่จะส่งต่อไปยังผู้ขาย”

“Twitter มีคนรวบรวมรายชื่อคนโกงไว้ ทำให้ตรวจสอบง่ายขึ้นเยอะ ฉันเลือกซื้อของจากร้านมีชื่อเสียงจึงไม่มีปัญหาเรื่องโกง” นักช็อปอีกรายแนะแนวทาง

สินค้าอาจเกิดปัญหาจากการขนส่ง ซึ่งไม่ระมัดระวังมากพอจนของข้างในแตกเสียหาย หรือจัดส่งล่าช้า จนทำให้ผู้ซื้อคิดว่าถูกโกงเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อการระบาดระลอก 3 ปะทุขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 เชื้อโรคพันธุ์ใหม่แพร่กระจายได้รวดเร็วและรุนแรงมากจนกระทั่งว่าพนักงานขนส่งในแต่ละเจ้าต่างก็ติดเชื้อไปตามๆ กัน ส่งผลให้หลายแห่งหยุดให้บริการ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็เริ่มกลัวว่าจะได้รับเชื้อจากสินค้าที่เดลิเวอรีมาถึงบ้าน ประกอบกับรายได้ที่ลดลง จึงทำให้นักศึกษาหลายรายไม่อยากช็อปปิงออนไลน์มากนัก เธอและแม่จึง “ลบแอปพลิเคชัน Shopee ออกจากโทรศัพท์”

เพราะสงกรานต์ปีนี้มีโควิด

โดยปกติแล้วเทศกาลเป็นช่วงที่ชีวิตทางสังคมของคนไทยเข้มข้นและมีสีสันมากที่สุด แรงงานในกรุงเทพฯ ได้เดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้านเกิดในต่างจังหวัด พาครอบครัวไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ มีการจัดงานเล่นน้ำหรือคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ในแต่ละจังหวัด เป็นต้น แต่กิจกรรมเหล่านี้ต้องหยุดชะงักเพราะการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะสงกรานต์ในปี 2564 ที่สายพันธุ์อังกฤษแพร่ระบาด กระทั่งนักศึกษาคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “แม้แต่การทำบุญที่วัดตอนเช้าอย่างที่เคยทำในทุกปีก็ดูจะไม่ปลอดภัยอีกแล้ว”

ในปีนั้น คนไทยยุคโควิดไม่ควรเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น และยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงการเล่นน้ำ แต่ละจังหวัดออกมาตรการให้คนที่เดินทางมาจากต่างถิ่นต้องแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบก่อน เพื่อซักประวัติเสี่ยงในรอบ 14 วันที่ผ่าน ตรวจเชื้อแล้วยังต้องกักตัวสังเกตอาการอีก 14 วัน ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในหน้าเทศกาลนอกจากเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดแล้ว ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรที่เรียกว่า ‘เวลา’ โดยไม่จำเป็น

“ตั้งแต่มีโควิดในปี 2563 ทำให้ไม่ได้ไปต่างประเทศ ทุกปีครอบครัวฉันจะไปต่างประเทศในช่วงสงกรานต์ เพราะมีวันหยุดหลายวัน ทำให้ไปเที่ยวในแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ไป ปี 2562 เราวางแผนจะไปเที่ยวเยอรมัน แต่เกิดโควิดก่อน ทำให้ทริปนั้นล่ม และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ไป” นักศึกษาผู้รักการท่องเที่ยวต่างแดนคนนี้จึงต้องทำการ ‘เที่ยวทิพย์’ ผ่านโลกออนไลน์ด้วยการดูคลิปใน YouTube และ TikTok แทน

บ้านจึงถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สังสรรค์ภายใต้ความหวาดระแวงเชื้อโรคของเหล่าสมาชิกในครอบครัว หลายบ้านมีการจัดงานรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสและจัดสังสรรค์กันเป็นการภายใน โดยเป็นการทำอาหารรับประทานกันเองอย่างง่ายๆ เช่น สุกี้ ชาบู หมูจุ่ม เป็นต้น เสียงดนตรีถูกบรรเลงผ่านลำโพงบลูทูทที่สั่งซื้อแบบออนไลน์แทนที่จะเป็นลำโพงใหญ่ในคอนเสิร์ต

นักศึกษารายหนึ่งเห็นว่า การฉลองเทศกาลเช่นนี้น่าจะเป็นวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ของชุมชนที่เขาสังกัดไปแล้ว “คนบ้านข้างๆ มีเพื่อนมาสังสรรค์ กินหมูกระทะ เช่นเดียวกับบ้านฉัน เดาว่าหมูกระทะต้องขายดีมากๆ เพราะในซอยเดียวกันก็สั่งมากินแล้ว 3 บ้าน รอนานมากกว่าจะมาส่งเพราะร้านทำไม่ทัน” และการมีสมาชิกมารวมตัวกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งก็ทำให้คนสูงวัย ซึ่งปกติจะเหงาเพราะลูกหลานไม่อยู่บ้าน “ดูเหงาน้อยลงเพราะลูกหลานอยู่บ้านด้วยทั้งวัน”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกบ้านจะเห็นดีเห็นงามกับการหาความสุขจากการสังสรรค์ในห้วงยามนี้ นักศึกษาผู้กังวลกับการแพร่ระบาดของเชื้อบันทึกความรู้สึกในใจไว้ว่า “คนในซอยเหมือนจะนอนใจ ตั้งวงก๊งเหล้ากันแล้ว ฉันก็กักตัวอยู่บ้านเหมือนเคย ดีกว่าไปเพิ่มโอกาสติดเชื้อให้ตัวเอง เป็นการคิดบวกที่ปลอบใจตัวเอง”

เรื่องเล่า ข่าวลือ ข่าวปลอม

เมื่อเชื้อโรคแยกมนุษย์ให้ห่างกันในทางกายภาพ หนทางในการรับข้อมูลข่าวสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันจึงเคลื่อนย้ายไปสู่โลกดิจิทัล อาทิ Facebook, Line และ Twitter ข่าวสารที่คนต้องการในห้วงการระบาดของโรคนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากข้อมูลการระบาดของโรค วัคซีน และวิธีการรักษา ทว่าบ่อยครั้งที่ข่าวที่แชร์กันจากบัญชีหนึ่งสู่อีกบัญชีหนึ่งในยามที่ทุกคนตื่นตระหนกและหวาดกลัว กลับกลายเป็นข่าวปลอม

“ข่าวหนึ่งใน Twitter บอกว่า เชื้อโควิดสามารถแพร่กระจายในอากาศและติดต่อกันผ่านละอองฝอยขนาดเล็ก ละอองน้ำลาย ไอ จาม ที่ลอยอยู่ในอากาศและมีชีวิตได้นานหลายชั่วโมง มีรีทวีตข่าวนี้หลายพันคน ฉันสงสัยว่าเชื้อโรคมีชีวิตได้นานขนาดนั้นเลยหรือ จึงหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและพบว่าเป็นข่าวปลอม WHO (องค์การอนามัยโลก – ผู้เขียน) ยืนยันว่า เชื้อโรคไม่แพร่ทางอากาศ ส่วนใหญ่ที่ติดจะมาจากผู้ที่เป็นโควิดโดยตรง” หนึ่งในผู้ตื่นตระหนกเพราะข่าวปลอมระบายออกมา

ความหวังเดียวที่จะป้องกันตัวเองให้พ้นจากโรคและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้คือ วัคซีน แต่เพราะนโยบายวัคซีนของไทยยังล่าช้า ยี่ห้อที่นำเข้ามาก็ไม่มีประสิทธิภาพ ความไม่น่าเชื่อถือของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาให้เป็นเหตุให้ข่าวลือระบาดออกมาไม่ขาดสายในรูปแบบ ‘เพื่อนเล่า’ หรือข้อความจากแหล่งที่มานิรนามทาง Line ตัวอย่างเช่น นักศึกษาชายคนหนึ่งได้อ่านบทความที่เพื่อนแชร์มาจาก Facebook ว่า “วัคซีนส่งผลทำให้ดีเอ็นเอของมนุษย์เปลี่ยนไป” และแม่ของนักศึกษาอีกคนได้เล่าให้เธอฟังถึงผลข้างเคียงของผู้ได้รับการฉีดวัคซีนว่า เสียชีวิตเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน แต่เมื่อถามว่าแม่ทราบจากไหน ก็ได้คำตอบว่า “มาจากข้อความลูกโซ่ใน Line ไม่บอกแหล่งที่มา มีเพียงเนื้อความที่ไม่อาจพิสูจน์ได้เท่านั้น”

กลางเดือนพฤษภาคม 2564 ท่ามกลางการเปิดให้บุคคลทั่วไปลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนจากรัฐได้ฟรี ผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ก็ปรากฏรายงานข่าวเรื่องผู้ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนหลักอย่าง AstraZeneca และ Sinovac เป็นระยะๆ เช่น ฉีดแล้วเป็นอัมพฤกษ์ 7 ราย ฉีดแล้วลิ่มเลือดแข็งตัวจนเป็นอันตรายต่อหัวใจ เป็นต้น เมื่อข่าวลวงมาบรรจบกับข่าวจริง ทำให้นักศึกษาและครอบครัวไม่เชื่อมั่นและกังวลหากจะต้องรับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ 

“ฉันคิดว่าวัคซีนไม่ได้จำเป็นมากขนาดนั้น ถ้าเรายังระมัดระวัง ล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือมาจับหน้าจับตา โอกาสติดก็น้อยมาก โควิดไม่ได้เป็นง่ายๆ ไม่เหมือนไข้หวัด ถ้าเราไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำก็ไม่น่าห่วงอะไร”

นักศึกษาอีกคนที่มีแม่เป็นบุคลากรทางแพทย์ก็เห็นเช่นเดียวกันว่า “ข้าพเจ้าถามแม่และน้องว่าอยากได้วัคซีนหรือไม่ ทั้งคู่ตอบว่าไม่ แม้จะทำงานที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยจากหลากหลายพื้นที่ แต่แม่ให้เหตุผลว่า สามารถป้องกันตนเองได้โดยใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ ฝ่ายน้องสาวที่ต้องไปโรงเรียนทุกวัน เรียนในห้องร่วมกับเพื่อนอีกประมาณ 40 คน กินข้าวในโรงอาหารซึ่งแออัดมากๆ จนโต๊ะไม่พอนั่ง และต้องเข้าแถวในตอนเช้ากับคนทั้งโรงเรียน แม้ทุกกิจกรรมจะมีความเสี่ยงมาก แต่เธอให้เหตุผลว่า วัคซีนไม่มีผลการทดลองที่น่าเชื่อถือ และมีความเสี่ยงให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ทั้งจากข่าวที่ สธ. ออกมาแถลงการณ์เกี่ยวกับอาการหลังฉีด ซึ่งพบทั้งอาการรุนแรงและไม่รุนแรง อีกทั้งผู้นำประเทศเองก็ไม่มั่นใจที่จะฉีดวัคซีน”

น่าสนใจว่าการไม่ฉีดวัคซีนของผู้นำในรัฐบาล หรือฉีดแล้วแต่ยังติดเชื้อ เป็นเรื่องเล่าที่นักศึกษาจำนวนมากเลือกเขียนลงในบันทึก “ข่าวรัฐมนตรีคมนาคมชื่อศักดิ์สยาม ที่ฉีดวัคซีนจากบริษัท Sinovac ครบ 2 โดส ออกไปเที่ยวสถานบันเทิงแถวทองหล่อและติดโควิด ยิ่งทำให้พ่อแม่และป้าไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐนำเข้ามา” ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในวัคซีนและรัฐบาลของพวกเขาลดน้อยลงมากเพียงใด 

บันทึกชิ้นหนึ่งน่าจะสรุปรวบยอดความไม่มั่นใจของเด็กเหล่านี้ได้ดีก็คือ “ถ้าฉันต้องฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาลกำหนด ฉันก็คงฉีดด้วยความไม่สมัครใจ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลถึงนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า และราคาสูงกว่าวัคซีนตัวอื่น ในฐานะผู้ได้รับวัคซีน ฉันรู้สึกไม่สบายใจและมีคำถามว่า วัคซีนตัวนี้คู่ควรกับตนเองเเละคนอื่นๆ แล้วจริงหรือ”

เรียงร้อยเรื่องเล่า 100 เสียง

บันทึกแต่ละชิ้นเผยให้เห็นอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดของสามัญชนในห้วงที่สังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดและมาตรการควบคุมโรคจากรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปจากเดิมไม่มากก็น้อย 

พวกเขาต้องเรียนออนไลน์ซึ่งต้องใช้สมาธิอย่างหนักในแต่ละวัน ออกไปเจอเพื่อนไม่ได้ ต้องทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งบางครั้งก็ได้สินค้าไม่ตรงปก ถูกโกง ของส่งช้า ฯลฯ แต่เมื่อรายได้ของครอบครัวลดลง รายจ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นสำหรับการเรียน ยังคงต้องจ่ายในทุกเดือน พวกเขาก็ต้องช็อปปิงอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมาตรการเยียวยาของรัฐ เช่น ‘เราชนะ’ ไม่อาจเข้าถึงและเข้าทันได้สำหรับประชาชนทุกคน 

ชีวิตของนักศึกษาเหล่านี้เสมือนถูกจับขังให้อยู่แต่เพียงในบ้านจากมาตรการ ‘Lock Down’ ไม่ต่างจากประชาชนไทยคนอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ภายใต้วัตถุประสงค์ของการควบคุมโรค แม้บทบันทึกจะเล่าถึงประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย แต่ก็ส่งเสียงออกมาชัดเจนว่า พวกเขายินยอมพร้อมใจ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ เพียงแต่ว่าชาติที่เรียกร้องให้เขาปฏิบัติตามนั้น มุ่งออกคำสั่งอย่างเดียว ไม่เคยพิจารณาถึงชีวิตทางสังคมของคนเหล่านี้เลย

ที่มา
  • วิศรุต พึ่งสุนทร. แนวพินิจประวัติศาสตร์สังคม: กรณีสำนักอานาลส์.
  • บันทึกเรื่องเล่า 100 เสียงของนักศึกษา รวบรวมโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล
สนับสนุนโดย

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า