ข้อมูลจาก The Economist เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่าตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศอย่างเป็นทางการนั้นอาจไม่ตรงกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง เนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ การเสียชีวิตระหว่างติดเชื้อโดยไม่ได้ผ่านการตรวจเชื้อ การติดเชื้อแต่ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากเตียงไม่ว่าง ไปจนถึงตัวแปรอื่นๆ ที่ทำให้ไม่ถูกนับรวมอยู่ในตัวเลขการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการของรัฐ
The Economist นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘Excess Deaths’ ที่วัดด้วยการนำตัวเลขคาดการณ์การเสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละภูมิภาค มาเทียบกับจำนวนการเสียชีวิตทั่วไปหากไม่มีสถานการณ์พิเศษอย่างภัยพิบัติหรือการแพร่ระบาดของโรค ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ทำให้เห็นว่า จากตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากไวรัสโควิด-19 ที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 5.4 ล้านคน แต่ตัวเลขที่แท้จริงมีความเป็นไปได้ถึงร้อยละ 95 ว่า อาจสูงถึง 11.7-21.8 ล้านคน
หากยกตัวอย่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 เช่น สหรัฐอเมริกามีรายงานจากทางการว่า ในทุก 100,000 คน จะมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 248 คน แต่เมื่อคำนวณด้วยหลัก Excess Deaths จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตที่แท้จริงจะอยู่ที่ 320-340 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ประเทศอินเดียมีรายงานจากทางการว่า ในทุก 100,000 คน จะมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 34.6 คน แต่จากการคำนวณ Excess Deaths พบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจมีมากถึง 78-540 คน
หากมองในระดับภูมิภาค ภูมิภาคเอเชียมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการอยู่ที่ 1,261,087 คน หรือ 27 คน ในทุก 100,000 คน แต่จากการคำนวณ Excess Deaths พบว่าอยู่ที่ 4.1-14 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตรา 87-290 คนต่อประชากร 100,000 คน และทำให้ในภาพรวมมีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขการเสียชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทิ้งห่างจากตัวเลขการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการของทั้งภูมิภาค
ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 21,738 คน และมีอัตราการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 31 คน ต่อ 100,000 คน แต่หากใช้วิธีการคำนวณตามที่ The Economist ได้นำเสนอมานั้น ประเทศไทยอาจมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงถึง 61,000 คน และมีอัตราการเสียชีวิตจริงถึง 82-93 คน ในทุก 100,000 คน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นทุกวัน การพิจารณาตัวเลขจากทางการเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมได้ทั้งหมด และการให้ความสนใจกับวิธีการมองด้วยรูปแบบอื่นอย่างการคำนวณ Excess Deaths อาจเป็นแนวทางที่ควรให้ความสนใจมากขึ้นเช่นกัน