“บอกแค่ว่าระมัดระวังตัว ใครไม่อยากติดเชื้อให้อยู่บ้าน บ้าหรือเปล่า รัฐน่ะยังตรวจคัดกรองได้ไม่เต็มที่ เราไม่รู้ว่าเราติดหรือยัง มัวแต่กังวลคนนั้นคนนี้ สับสนนะ เราวางแผนไม่ถูกเลย”
นพภา จำปาเทศ, 34 ปี เจ้าของร้าน ‘อีสานชาบู‘
7,000-10,000 บาท คือรายได้ต่อวันของร้าน ‘อีสานชาบู’ ตั้งอยู่ใน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ตอนนั้นโลกยังไม่รู้จัก COVID-19 ก่อนที่จะปิดร้านเนื่องจากการระบาดระลอกที่ 1 เมื่อต้นปี 2563 เนื่องจากพื้นที่ตั้งร้านอยู่ในตลาดที่ถูกสั่งปิด แต่ค่าเช่าร้านไม่ปิดตาม
“ผมคำนวณแล้ว พบว่าไม่คุ้มหรอกที่ต้องมาจ่ายค่าเช่าเต็มจำนวนทั้งที่ต้องปิดร้าน 2-3 เดือน เราไม่รู้กำหนดแน่นอนเลยหยุดไปก่อน กระทั่งมีประกาศให้กลับมาขายของได้ ผมก็เลยมาเช่าที่ใหม่ในละแวกใกล้กัน ต้องมาลงทุนใหม่หมดเลย” นพภา จำปาเทศ เจ้าของร้าน ‘อีสานชาบู’ เล่า
ก่อนจะมาลงทุนเปิดร้านอาหารแห่งนี้ นพภาทำงานประจำมาก่อน การเปิดร้านจิ้มจุ่มจึงเป็นกิจการเสริมของครอบครัว การลงทุนรอบใหม่นี้ต้องบวกเพิ่มต้นทุนค่าพนักงานอีก 4 ชีวิตและค่าป้องกันความเสี่ยงเข้าไปด้วย ทั้งที่ช่วงเทศกาลควรเป็นโอกาสที่ร้านจะทำกำไร แต่ต้องหยุดไปเกือบ 10 วัน
“ตอนหยุดร้าน ผมก็ต้องดูแลพนักงานด้วย ขาดเหลือก็ต้องแบ่งปันให้ใช้พันสองพัน แต่ว่าไม่ได้ให้ตลอด บางทีก็ต้องชวนกันมากินข้าว บางทีก็ซื้อข้าวของให้ คือจุนเจือทั้งตัวเองและจุนเจือน้องๆ ที่อยู่ในร้านด้วย เพราะถ้าไปหางานทำคงยังไม่มีใครรับ”
นอกจากชีวิตที่ต้องจุนเจือเผื่อแผ่ ในช่วงของการระบาด ยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ ไปจนถึงป้ายสแกน นอกจากจะต้องจัดหาเองทั้งหมดแล้ว ยังเพิ่มขั้นตอนในการดูแลร้านมากขึ้นไปอีก ทั้งการดูแลความสะอาดและการปรับเวลาเปิดปิดใหม่ตามมาตรการจำกัดเวลาเปิด-ปิดของสถานประกอบการ ซึ่งก็ยังเดาไม่ออกว่าสภาพจะเป็นอย่างไร
“งดขายแอลกอฮอล์ตามที่เขาประกาศ จัดโต๊ะใหม่ เว้นระยะห่าง ส่วนคนที่เข้าร้านมีสแกน แอลกอฮอล์ สมุดบันทึก ซื้อเองทั้งหมด ใช้จ่ายกับตรงนี้ก็พอสมควรนะ เพราะว่าอุปกรณ์ก็มีราคาอยู่ อย่างน้อยแอลกอฮอล์ก็ลิตรละร้อยกว่าบาท ปกติน่าจะตกวันละเกือบลิตรหรือวันละลิตรก็ได้ นี่ยังไม่รวมเจลหรืออะไรอย่างอื่นอีกเพราะเวลาเช็ดโต๊ะเช็ดอะไรก็ต้องใช้แอลกอฮอล์เช็ด ต้องแบกรับภาระตรงนี้“
ถึงจะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เป็นเงาตามตัวมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เจ้าของร้านอาหารอย่างเขากังวลมากกว่า คือมาตรการของรัฐ ซึ่งเขามองว่าไม่มีความแน่นอนและข้อมูลยังไม่เพียงพอ ทั้งที่อำเภอบ้านฉางเป็นพื้นที่ควบคุมที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 10 คนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกที น้ำเสียงของเขากระตือรือร้นยิ่งกว่าตอนที่พูดถึงผลกระทบของตัวเองเสียอีก
“รัฐไม่มีนโยบาย ไม่มีเงื่อนไขให้พวกเรา บอกแค่ว่าระมัดระวังตัว ใครไม่อยากติดเชื้อให้อยู่บ้าน บ้าหรือเปล่า รัฐน่ะยังตรวจคัดกรองได้ไม่เต็มที่ แล้วในส่วนของคนระยอง ไทม์ไลน์ของคนในบ้านฉางหรือในเมืองไม่ชัดเจน เราก็ไม่รู้ว่าใครเขาไปไหนมาไหนบ้าง ถ้าเกิดเขามาร้านเราจริง เราก็จะได้เตรียมจัดการถูก เช่น ติดต่อหน่วยงานรัฐมาฉีดพ่นยา แล้วเราก็จะได้ไปตรวจ แต่นี่เราไม่รู้ว่าเราติดหรือยัง มัวแต่กังวลคนนั้นคนนี้ สับสนนะ เราวางเป้าหมายวางแผนไม่ถูกเลย”
นอกจากการรับมือกับ COVID-19 แล้ว เขายังสะท้อนวัฒนธรรมการทำงานของระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
“เราจะไปติดต่อน้ำติดต่อไฟ ติดต่ออะไรทุกอย่างที่อยู่ในเขตพื้นที่ของเรา บางทีต้องรอนานซึ่งไม่จำเป็นเลย ผมไปขอน้ำล่าสุด เขาขอเวลาถึง 2 เดือน คนมาติดมิเตอร์น้ำบอกว่าอะไรรู้ไหม เขาก็บอกว่าบางทีเขาก็รอทองบางทีเขาก็รอ…” เขาเว้นวรรคให้กับสิ่งที่อยู่ใต้โต๊ะ
“ผมเข้าใจละ เรื่องผลประโยชน์ กว่าจะมาทำแต่ละอย่างได้จากหน่วยงานรัฐ ถ้าเงินไม่เข้าเขาก็ชะลอเวลาเพื่อที่จะบีบ ใครรอได้ก็รอไป แต่ใครรีบก็ต้องมีเงินเข้ามา กลายเป็นวัฒนธรรมที่แย่มากเลยตอนนี้”
สำหรับภาพกว้างในระบบเศรษฐกิจ เขาก็มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
“เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้นหรอก เพราะว่ารัฐไม่ได้ดูแลรากหญ้า เราอยู่ได้เพราะว่าเรามีงานประจำ ถ้าเราไม่มีงาน ก็ตายแล้วเหมือนกัน เราก็คงยิงตัวตายเหมือนพ่อค้ากุ้งที่อยู่สระแก้ว เออ ถึงขั้นนั้นจริงๆ มันไม่ควรเป็นแบบนี้ด้วยซ้ำ มันเกิดขึ้นได้ยังไง คำถามยังคาใจอยู่เลย…ถูกไหม ว่ามันมาได้ยังไง ทั้งๆ ที่มันหยุดไปแล้ว
“เหมือนเราถูกข่มเหง” เขาหัวเราะเย้ยหยัน “เราก็เครียดอยู่ เราก็พอมีเงินเดือนประคองตัวเอง เพราะว่าเรียกร้องอะไรไปหรือเสนอแนะอะไรไป มันก็เข้าข่ายความต้องการพื้นฐาน คนที่ยังด้อยกว่ายังมีเยอะ ไม่ได้บอกว่าตัวเองมีดีนะ บอกแค่ว่ามีงานทำเฉยๆ ก็พยุงจากเงินเดือนได้อยู่ ถ้าไม่มีเงินเดือน ก็คงจะเครียดมากจริงๆ”
ขณะนี้สถานการณ์ล่าสุดของจังหวัดระยองมีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 456 ราย (5 มกราคม 2564) ยังไม่มีการล็อคดาวน์ แต่เพิ่มด่านตรวจอย่างเข้มงวด 6 จุดตามแนวตะเข็บรอยต่อระหว่างจังหวัด นพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ สสจ.ระยอง เตือนประชาชนว่าอย่าประมาท ดูแลตัวเองให้ดี
ส่วนทางด้านผู้ว่าฯ ชาญชนะ เอี่ยมแสง ก็ขอให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากการต้องหยุดกักตัวแจ้งทางจังหวัดเพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือ ส่วนความคืบหน้าโดยเฉพาะเรื่องบ่อนและไทม์ไลน์ต่างๆ ยังไม่มีการพูดถึงเพิ่มเติมแต่อย่างใด
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ล่าช้า ไม่ชัดเจน เพราะคนมีเอี่ยวบางรายพยายามปิดบังข้อมูล ผู้ว่าราชการย้ำว่า เจ้าหน้าที่กำลังพยายามสืบสวนอย่างเต็มที่
ขอประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก – นะจ๊ะ