TRIPS Waiver: อย่าปล่อยให้ชาวโลกต้องตายเพราะโควิด-19 ด้วยน้ำมือบริษัทยา

“วิกฤติสาธารณสุขระดับโลกนี้จำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษ โดยรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะสนับสนุนให้ยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อยุติการแพร่ระบาด 

“เราจะร่วมเจรจาในเรื่องนี้อย่างจริงจังในองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างไรก็ดี การเจรจาดังกล่าวจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพราะ WTO เป็นสถาบันที่ต้องมีฉันทามติร่วมกัน และประเด็นที่เกี่ยวข้องก็มีความซับซ้อน รัฐบาลสหรัฐจะยกระดับความพยายามด้วยการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและหุ้นส่วนอื่นๆ เพื่อขยายการผลิตและกระจายวัคซีน โดยชาวอเมริกันนั้นมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอแล้ว”

นี่คือการประกาศจุดยืนของสหรัฐ โดยผู้แทนการค้าสหรัฐ แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ต่อข้อเสนอที่เริ่มต้นจากอินเดียและแอฟริกาใต้และได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก WTO อีกกว่า 150 ประเทศ ที่ขอให้ยกเว้นการบังคับใช้ความตกลงทริปส์ (TRIPS – การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา) บางมาตราชั่วคราว ทั้งในเรื่องสิทธิบัตร การคุ้มครองข้อมูลลับ ลิขสิทธิ์ และการออกแบบทางอุตสาหกรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุม การป้องกัน และการรักษาโควิด-19 เพื่อให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยที่ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และไม่ถือว่าเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงการระบาดของโควิด-19

แน่นอนว่า อุตสาหกรรมยาและไบโอเทค อุตสาหกรรมที่ได้ชื่อว่าจ่ายเงินเพื่อการล็อบบี้มากที่สุดในโลก ดาหน้ากันออกมาค้านท่าทีของสหรัฐแบบสุดตัว “ช่างโชคร้ายที่สหรัฐอเมริกาได้เลือกกระทำการที่อันตราย” ราคาหุ้นบริษัทยา-วัคซีน ร่วงวูบทุกตัวจากที่เคยเริงร่ามาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาด้วยยอดขายและกำไร

จริงอยู่ ในบางระดับ นี่คือจุดหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาของโลก ถึงขั้นที่ นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) หน่วยงานด้านสาธารณสุขของโลกที่ต้องผจญกับการเข้าถึงการรักษา การเข้าถึงยาและปัญหาสารพัด โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกำแพงกีดกั้น กล่าวยกย่องความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า “เป็นตัวอย่างอันทรงพลังจากสหรัฐเพื่อจัดการปัญหาท้าทายวงการสาธารณสุขทั่วโลก”

ตั้งแต่ปลายปี 2020 อินเดียและแอฟริกาใต้ได้ผลักดันข้อเสนอยกเว้นการบังคับใช้ความตกลงทริปส์ (TRIPS Waiver) นี้อย่างเข้มข้น และองค์การอนามัยโลกได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังมาโดยตลอด เพราะในสายตาคนที่คร่ำหวอดเกมการเมืองด้านการค้าและสาธารณสุขอย่างนายแพทย์ทีโดรสแล้ว “การจะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงวัคซีนที่เหลื่อมล้ำนั้น เราจะต้องยกอุปสรรคที่ขัดขวางออกให้หมด ซึ่งรวมถึงความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกด้วย”

สิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา อาวุธของเหล่า Big Pharma

สำหรับคนที่ติดตามระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่กระทบต่อการเข้าถึงยา ย่อมทราบดีว่าสหรัฐไม่เคยมีท่าทีเช่นนี้มาเลยในประวัติศาสตร์ แม้โลกจะเกิดการระบาดและวิกฤติสาธารณสุขมานับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งการระบาดของเอชไอวี/เอดส์ช่วงทศวรรษที่ 2000 ระบบทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับสหรัฐที่มีอุตสาหกรรมยาต้นแบบหนุนหลังรัฐบาลและทุกองคาพยพแล้วนั้น ถือเป็นเรื่องที่ ‘แตะไม่ได้’

แม้แต่การเจรจาในความตกลงทริปส์ หรือความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา ต้นทางของการถกเรื่องข้อยกเว้นอยู่ในขณะนี้มีขึ้นเมื่อปี 2001 จากการเจรจาคำประกาศโดฮาว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุข (Doha Declaration) เพื่อให้กลไกยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า TRIPS Flexibility ซึ่งมีกลไกการประกาศบังคับใช้สิทธิ หรือ CL (Compulsory Licensing) เป็นหนึ่งในหลายกลไกให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญปัญหาการระบาดของเอชไอวี/เอดส์ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ขนาดที่ว่า โดนกดดันด้วยการแพร่ระบาดของโรค และจำนวนผู้คนที่ตายเป็นใบไม้ร่วงเห็นๆ สหรัฐก็ยังพยายามที่จะวางเงื่อนไขข้อจำกัดให้ทำ CL ได้เฉพาะแค่บางโรค คือ เอชไอวี มาลาเรีย และวัณโรค แต่ในที่สุดสมาชิก WTO ขณะนั้นโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่นำโดยอินเดีย ก็เปลี่ยนจากคำว่า ‘คือ’ เป็นคำว่า ‘อาทิ’ หมายถึงแค่ยกตัวอย่าง ไม่ใช่จำกัดอยู่ที่ 3 โรคนี้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาสหรัฐได้ใช้ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไปไล่บี้ทำความตกลงระดับทวิภาคี (FTA) กับประเทศต่างๆ จนมีผลให้ประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องจำกัดการทำ CL ได้แค่ 3 โรคเท่านั้น

ฉะนั้น เมื่อมองจากมุมนี้ การประกาศจุดยืนของสหรัฐที่สนับสนุนข้อยกเว้นด้านทรัพย์สินทางปัญญากับวัคซีนโควิด-19 ถือว่า มีพัฒนาการจริง แต่…หนทางนี้ยังอีกยาวไกล ต้องดูถ้อยคำ (text) ที่ใช้ในข้อยกเว้น (waiver) ว่าเพียงพอต่อการนำไปใช้ได้จริงไหม เพราะหาก ‘ความไม่ครบ’ จะกลายเป็นแค่คำพูดสวยหรู แต่ทำไม่ได้จริง ซึ่งจะอธิบายในช่วงต่อไป

เริ่มต้นเรามาทำความเข้าใจกับ TRIPS Waiver ก่อน จากบทความ จริยธรรมไม่ครบโดส วัคซีนโควิด-19 ในความอับจนของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564) ให้ภาพความเคลื่อนไหวนี้ที่เริ่มตั้งแต่กลางปี 2563 โดยอินเดียและแอฟริกาใต้ ร่วมกับภาคประชาสังคม เคลื่อนไหวให้เกิดการยกเว้นข้อจำกัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการป้องกัน ควบคุม และรักษาโควิด-19 (IP Waiver for Prevention, Containment and Treatment for COVID-19) ความหมายก็คือ ขอให้มีการยกเว้นทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ การคุ้มครองข้อมูลความลับ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกัน การควบคุม และการรักษาโควิด-19 โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงการระบาดของโควิด-19

ถามว่าทำไมต้องครอบคลุมกว้างขวางขนาดนั้น สิทธิบัตรอย่างเดียวก็น่าจะพอแล้ว คำตอบคือ ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เพราะการผลิตยา วัคซีน รวมถึงอุปกรณ์ทดสอบการติดเชื้อ เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษา ต้องใช้ข้อมูลมากมายหลายประเภทและมีทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวข้องอยู่มากกว่าแค่สิทธิบัตร อาทิ การทำ Data Mining การใช้ข้อมูลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ แน่นอนว่า ปัญหาลิขสิทธิ์คือเงื่อนไขกีดกันการเข้าถึงข้อมูลวิชาการเหล่านี้ แม้แต่นักวิชาการเจ้าของงานที่ได้ลงตีพิมพ์จะส่งไฟล์งานให้เพื่อนนักวิชาการด้วยกันยังถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลายมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกวารสารทางวิชาการเหล่านี้จะหมดอายุสมาชิกและอาจไม่มีรายได้เพียงพอที่จะต่อสมาชิกมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ตัดทางเข้าถึงข้อมูลของนักวิชาการจำนวนมาก

เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวข้อง แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาว่าเกี่ยวข้องแน่ๆ เมื่อเกิดการระบาดระลอกแรกในอิตาลี ขณะที่คนตายเป็นใบไม้ร่วง เครื่องช่วยหายใจถูกใช้จนเกินศักยภาพ เสียหาย ต้องซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด ช่างหนุ่มชาวอิตาลีท้องถิ่น 2 คน จึงใช้เครื่องพิมพ์ 3D พิมพ์อะไหล่ออกมาซ่อมเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาลต่างๆ แต่ถูกบริษัทเจ้าของเครื่องช่วยหายใจขู่ฟ้องร้องฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จนต้องถอดใจไม่ซ่อมและรอส่งเข้าศูนย์ แน่นอนว่ามีคนไข้ที่รอไม่ได้ เสียชีวิตไปก่อน

ชิ้นส่วนของเครื่องช่วยหายใจที่ผลิตโดยเครื่องพิมพ์ 3D

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ เพราะเครื่องมือสมัยใหม่ ไม่อนุญาตให้คุณซ่อมเอง ไม่ว่าเกิดปัญหาอะไรก็ตามต้องส่งศูนย์ซ่อมที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทั้งที่นั่นอาจจะเป็นวิกฤติที่คุณสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องรอ แต่ความเข้มงวดของระบบทรัพย์สินทางปัญญา ห้ามให้คุณทำเช่นนั้น

หรือแม้แต่แค่หมวดสิทธิบัตรเอง ข้อจำกัดและการตีความทางกฎหมายมีแนวโน้มที่จะซับซ้อนและยุ่งยากเมื่อลงมือใช้ ตัวอย่างเช่น กรณียาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งเป็นประเด็นในประเทศไทย ยาตัวนี้ ไม่มีสิทธิบัตรโมเลกุลในประเทศไทย แต่มีคำขอสิทธิบัตรในรูปแบบเม็ดยาที่เล็กลงเพื่อทำให้กินง่ายขึ้น ซึ่งในทางวิชาการและกฎหมาย คำขอสิทธิบัตรนี้ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น เป็นแค่คำขอแบบ evergreening ที่เปลี่ยนแปลงนิดๆ หน่อยๆ เพื่อหวังสิทธิผูกขาด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่เร่งปฏิเสธคำขอ ทั้งที่รู้ว่า ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น อีกทั้งองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้ ในราคาเพียงแค่ 1 ใน 3 ของราคาต้นแบบ คือจากราคาเม็ดละ 150 บาทจะเหลือเพียง 30-50 บาทเท่านั้น ในกรณีนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศบังคับใช้สิทธิตามเงื่อนไขวิกฤติสาธารณสุข ก็ยังจะมีความสุ่มเสี่ยงถูกตีความว่า ยังเป็นแค่ ‘คำขอสิทธิบัตร’ สามารถประกาศ CL ได้หรือไม่ ในเมื่อในกฎหมายระบุว่า ประกาศบังคับใช้สิทธิกับ ‘สิทธิบัตร’ แน่นอนว่า ชีวิตของผู้ป่วยคงรอการตีความทางกฎหมายไม่ไหว

ดังนั้น ความครบถ้วนของการยกเว้นการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาในการแก้ปัญหาโควิด-19 จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกลไกยืดหยุ่นที่มีอยู่ในทริปส์ อย่างมาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ CL ก็ไม่สามารถประกาศให้ครบถ้วนได้จริงๆ

เมื่อเห็นภาพที่ชัดเจนเช่นนี้ ลองกลับมาพิจารณาถึงคำประกาศจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐ อาจนับได้ว่ามีพัฒนาการที่น่าสนใจ เพราะพูดถึงทุกทรัพย์สินทางปัญญา แต่…เฉพาะกับ ‘วัคซีน’ เท่านั้น ไม่ครอบคลุมยา เครื่องมือแพทย์ ชุดตรวจ ที่เกี่ยวกับการป้องกัน การควบคุม และการรักษาโควิด-19 อื่นๆ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า จุดยืนของสหรัฐอาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มการผลิตวัคซีนมากนัก เพราะวัคซีนมีเทคโนโลยีเฉพาะเจาะจงทั้งโรงงานและเทคโนโลยี แม้ไม่มีสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ ต้องอาศัยขีดความสามารถที่เพียงพอ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำประกาศจุดยืนสหรัฐถูกเผยแพร่ออกไป บริษัทวัคซีนกลางๆ ในหลายประเทศ อาทิ อินเดีย แคนาดา เกาหลีใต้ บังคลาเทศ ปากีสถาน ต่างออกมาแสดงความสนใจ พวกเขาพร้อมที่จะเดินหน้าผลิต หากการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นจริง

Socialise the risk, privatise the profit

ที่นี้ลองมาไล่เลียงดู ข้อโต้แย้งที่ว่า ไม่ควรยกเว้นการบังคับใช้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาแม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติสาธารณสุขที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติก็ตาม

หลังจากสหรัฐมีท่าทีเช่นนี้ เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่เสียงดังที่สุดในสหภาพยุโรป ออกมาคัดค้าน ‘ไม่เห็นด้วย’ ทันที แม้ว่าท่าทีของชาติอื่นๆ ในสหภาพยุโรปจะแสดงจุดยืนพร้อมหารือ “การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นต้นทางของนวัตกรรมและยังต้องรักษาให้คงอยู่ต่อไป ข้อจำกัดของการผลิตวัคซีน คือศักยภาพในการผลิตและคุณภาพขั้นสูง ไม่ใช่เรื่องของสิทธิบัตรที่ไปจำกัด” สอดคล้องกับซีอีโอ Pfizer ที่ประกาศก้องโลกว่า ถ้าทำแบบนี้ ต่อไปจะไม่มีใครลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา

สรุป ข้อโต้แย้งจึงอยู่ที่ 2 ประเด็นหลัก คือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทำให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรม และ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสามารถรับรองคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยได้ นอกจากนี้ยังเสริมว่า ไม่ควรยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพราะในความตกลงทริปส์ของ WTO มีกลไกยืดหยุ่นอยู่แล้ว เช่น CL ซึ่งแต่ละประเทศก็สามารถทำได้ 

ที่บอกว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาก่อให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรม ถามว่าใครกันแน่ที่เป็นคนลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาจนทำให้เกิดนวัตกรรม? 

ตัวเลขงบลงทุนทั่วโลกที่ว่าด้วยการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อรักษาโรคหายากต่างๆ มีประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ เป็นสัดส่วนการลงทุนของบริษัทยายักษ์ใหญ่หรือบรรดา Big Pharma แค่ 14 เปอร์เซ็นต์ หรือ 650 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น

ว่ากันตรงๆ กรณีการพัฒนาวัคซีน mRNA นั้น Moderna และ Johnson & Johnson ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Operation Warp Speed จากรัฐบาลสหรัฐ แน่นอนว่ามาจากภาษีประชาชนมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ส่วน BioNtech คู่แข่งธุรกิจของ Pfizer ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี ภาษีของประชาชนอีกเช่นกัน เฉียดๆ 500 ล้านยูโร เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่จับมือกับ AstraZeneca ก็ได้รับการอุดหนุนจากภาษีของชาวสหราชอาณาจักร

ท่ามกลางการทำกำไรที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมวัคซีน ผู้ผลิตเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบผลข้างเคียงทางลบที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตัวเองเลย นั่นเพราะโลกต้องการวัคซีนในการกลับคืนสู่ภาวะปกติ จนต้องยอมข้ามขั้นตอนความปลอดภัยและการผ่านด่านขึ้นทะเบียนรับรองที่เคยมี ซึ่งทุกชาติต้องยอมให้ใช้ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน และรัฐต้องยอมให้ประชาชนแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่เหตุใดบริษัทวัคซีนจะไม่ขายวัคซีนโควิด-19 ให้กับเอกชน เพราะในสัญญาซื้อขาย รัฐต้องรับความเสี่ยงนี้ไว้ทั้งหมด ส่วนบริษัทรับแต่กำไรล้วนๆ จนมีการขนานนามวิธีการหากำไรจากภาษีของประชาชนครั้งนี้ว่า ‘Socialise the risk, privatise the profit’ กระจายความเสี่ยงไปให้สังคม กำไรขอเอาเข้าตัว และเรียกเหล่าทุนที่ร่ำรวยจากโควิดนี้ว่า ‘Covillionaires’

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสามารถรับรองคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย?

ก่อนจะถกข้อโต้แย้งนี้ ต้องปูพื้นฐานความเข้าใจก่อนว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวมถึงสิทธิบัตร เป็นคนละเรื่องกันกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของยา หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลก็แยกขาดจากกัน แบ่งบทบาทหน้าที่กันทำ

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีหน่วยงานอย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กำกับดูแล มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของนักวิจัยและบริษัทยา และคุ้มครองการผูกขาดยาและเวชภัณฑ์ที่มาจดสิทธิบัตร การขอจดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ เป็นเรื่องบังคับในประเทศนั้นๆ ไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับว่าต้องมาจดทุกรายการ แต่ให้มาขึ้นทะเบียนเฉพาะสิทธิบัตรที่ต้องการได้รับความคุ้มครองในประเทศ

ส่วนเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของยาและเวชภัณฑ์ เป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของยาและเวชภัณฑ์ ก่อนออกใบอนุญาต (ทะเบียนยา) ให้จำหน่ายหรือใช้ได้ในประเทศนั้นๆ การขอขึ้นทะเบียนยาเป็นขั้นตอนที่บริษัทที่จะขายยาและเวชภัณฑ์ในประเทศนั้นๆ ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เพราะมีวัตถุประสงค์หลักที่จะคุ้มครองผู้บริโภค

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แอดมินเพจ ‘ทำไมยาแพง’ กล่าวว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และอื่นๆ ไม่ได้รับรองว่า ยาและเวชภัณฑ์นั้นมีคุณภาพและความปลอดภัย เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ หรือแม้แต่บทบาทหน้าที่ที่จะดูแลเรื่องนี้ แต่เป็นหน่วยงานอย่าง อย. ต่างหาก ถ้ายานั้นไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. อย่างถูกต้อง ถือว่าเป็นยาที่ไม่มีคุณภาพ

การกล่าวอ้างว่า การยกเว้นการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่สามารถรับประกันคุณภาพและมาตรฐานของยาและเวชภัณฑ์ได้นั้น แอดมินเพจ ‘ทำไมยาแพง’ ถือว่า เป็นการดูแคลนศักยภาพของบริษัทยาและวัคซีนชื่อสามัญในประเทศอื่นๆ และเท่ากับเป็นการดูถูกจรรยาบรรณและความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของยาและเวชภัณฑ์ อย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของแต่ละประเทศ

“ไม่ว่าจะเป็นยาต้นแบบหรือยาชื่อสามัญ ไม่ว่าจะเป็นยาที่มีสิทธิบัตรหรือไม่มีสิทธิบัตร ไม่ว่าจะเป็นยายี่ห้อใดๆ ไม่ว่าจะเป็นยานอกหรือยาผลิตในประเทศ ยาทุกตัวต้องผ่านการตรวจสอบและพิจารณาโดย อย. ก่อนทั้งนั้น เพื่อรับรองคุณภาพและความปลอดภัย ย้ำอีกครั้งว่า ยาที่มีสิทธิบัตรหรือยาของบริษัทยาชื่อดัง ไม่ได้การันตีเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย คุณภาพและความปลอดภัยเป็นคนละเรื่องกับทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตร

“ดังนั้น ในภาวะวิกฤติโควิด-19 เช่นนี้ สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญและควรทำ คือ การยกอุปสรรคเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกไป และสนับสนุนหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของยาและเวชภัณฑ์ ให้มีศักยภาพและทำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทยาทุกบริษัทต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพที่จะผลิตยาและเวชภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน โดยไม่เห็นเพียงแต่กำไรด้วยการลดหย่อนมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย นี่ต่างหากคือสิ่งที่พึงทำ”

เมื่อข้อคัดง้างฟังดูจะไม่ขึ้นเช่นนี้ เราจึงเห็นภาพที่ Big Pharma ต้องใช้เงินจ้างกองทัพล็อบบี้ยิสต์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้านยาและเวชภัณฑ์ แค่รายงานตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่บริษัทล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐต้องแจ้งต่อคองเกรส พบว่า มีล็อบบี้ยิสต์ถูกจ้างเพื่อโน้มน้าวให้ค้าน TRIPS Waiver นี้แล้วมากกว่า 100 คน ประกบทั้งรัฐบาลไบเดน รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไม่เพียงเท่านั้น ยังให้ไปชวนสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงในฮอลลีวูดให้ออกมาร่วมคัดค้านด้วย ทั้งสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์ สมาคมสิ่งพิมพ์ สมาคมอุตสาหกรรมดนตรี จนกลุ่มเหล่านี้ต่างประสานเสียงว่า การยกเว้นระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างกว้างขวางครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมบันเทิงของพวกเขา ซึ่งข้อกังวลนี้ไม่เป็นจริงเลย เพราะข้อเสนอเรื่องการยกเว้นจะเป็นแค่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เท่านั้น แต่สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงไม่ฟัง และยังจ้างล็อบบี้ยิสต์เพิ่มอีกไม่น้อย

เช่นนี้ เราไม่ควรดีใจ ไม่ควรมีความหวังอะไรกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้เลยหรือไม่

ไม่หรอก แรงกดดันนี้แรงทีเดียว เพราะมันกำลังเป็นเรื่องที่ทั้งโลกจับตา จากที่เคยกระจุกอยู่แค่การเคลื่อนไหวเล็กๆ มุมหนึ่งในการประชุมองค์การการค้าโลก หรือใน องค์การอนามัยโลก

อย่างน้อย เราจะเห็นการเคลื่อนตัวของทุนอุตสาหกรรมวัคซีน ที่แสดงความพยายามถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น ออกมาตรการให้สิทธิโดยสมัครใจให้กับบริษัทต่างๆ ในประเทศนอกสหรัฐและยุโรปมากขึ้น รวมทั้งการตั้งบริษัทผลิตวัคซีนของ Pfizer ในสิงคโปร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของข้ออ้างว่า อย่างน้อยพวกเรา (บริษัทยา) ก็ทำอะไรเพื่อสังคมบ้างแล้วนะ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ไม่ใช่แค่ผูกขาดหากำไรแต่ฝ่ายเดียว

ขอสังคมจงขับเคลื่อนด้วยการด่า…สู้ต่อไป

อ้างอิง
  • IPJIP
  • The Intercept
  • เพจ ‘ทำไมยาแพง’
  • ThaiPublica
  • infoquest
  • LA Times
  • New York Times
  • Bio.org
  • The Ink
  • InfoJustice
  • insidesources.com

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า