กฤษนะ รัตนพัฒน์, 41 ปี
อาชีพ: นักดนตรี
อาชีพนักดนตรี แม่งก็ได้เงินน้อยอยู่แล้ว พอมาเจอสถานการณ์แบบนี้ชีวิตพัง ผับบาร์คือพังเละเทะ บางแห่งที่ปิดไม่รู้ว่าจะกลับมาเปิดได้อีกหรือเปล่า ตั้งแต่ระบาดรอบหนึ่ง รอบสอง เราเหมือนโดนบังคับให้ล้มซ้ำๆ แล้วไม่มีใครช่วย
เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ ดำ-กฤษนะ รัตนพัฒน์ ดำรงชีวิตด้วยการร้องเพลงที่ร้าน The Rock Pub ย่านราชเทวี ทุกคืนวันหยุดสุดสัปดาห์ สถานที่แห่งนี้หนาแน่นไปด้วยผู้คนที่ชื่นชอบดนตรีแนวร็อค ซึ่งหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจยามราตรี และผู้คนที่อาศัยดนตรียังชีพ
ทว่าหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลไทยใช้คือสั่งปิดร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบริการ คาราโอเกะ เกือบแทบทุกแห่งในจังหวัด เสียงเพลงหยุดบรรเลง นักร้องนิ่งเงียบ ค่ำคืนที่เคยอึกทึกกลับเงียบเหงา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของคนทุกระดับ
แม้จะเข้าใจดีว่าการบังคับปิดผับเป็นหนึ่งในวิธีการควบคุมการระบาด แต่เมื่อบังคับปิดแล้ว รัฐบาลควรพิจารณาถึงวิธีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว มาตรการของรัฐทำให้เขารู้สึกว่า นักดนตรีจึงเป็นอาชีพชายขอบที่รัฐบาลไม่เคยมองเห็น
“ตอนโควิดระบาดรอบแรก (ปี 2563) ผับโดนสั่งให้ปิด มันแย่นะ ทั้งจิตใจและรายได้ จากเดิมเล่นดนตรีได้วงละ 3,000-4,000 ต่อสมาชิก 4-5 คน รายได้ก็หายไปเลย”
“จะเรียกว่าโชคดีได้ไหม ผมมีอีกอาชีพหนึ่งคือเปิดร้านขายต้นไม้ในห้าง แต่ความซวยคือช่วงนั้นตลาดต้นไม้ก็เป็นที่แรกๆ ที่ถูกสั่งปิดเหมือนกัน ห้างถูกสั่งปิด ปรากฏว่าเราขายไม่ได้ ดังนั้นต้นไม้ที่รับมาแล้วเราก็ต้องมีต้นทุนเพื่อดูแลกันไป ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย เดือนหนึ่งหลายหมื่นบาท เลยลองแก้ปัญหาขายต้นไม้ผ่านไลฟ์ในเฟซบุ๊ค แต่บอกตรงๆ นะ แม่งไม่ได้ช่วยอะไรเลย”
“ตามเดิมอาชีพนักดนตรีแม่งได้เงินน้อยอยู่แล้ว พอมาเจอสถานการณ์นี้ชีวิตมันพัง ผู้ประกอบการก็เครียดกันมาก ผับบาร์คือพังเละเทะ บางแห่งคือไม่รู้ว่าเขาจะกลับมาเปิดได้อีกหรือเปล่า ตั้งแต่ระบาดรอบหนึ่ง รอบสอง เราเหมือนโดนบังคับให้ล้มซ้ำๆ แล้วไม่มีใครช่วย ยังไม่พูดถึงผับอินดี้ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนะ แม่งเจ๊งกันหมด รู้ไหมครับว่าผับเหล่านี้เป็นส่วนช่วยสนับสนุน วงอินดี้หรือนักดนตรีตัวเล็กๆ รันวงการเพลงให้มันเดินไปได้”
การแสดงดนตรีทางออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการปรับตัว แต่เขายืนยันว่า มันไม่ใช่ช่องทางหลักที่ทำให้ก่อรายได้
“ผมพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ทำได้ด้วยตัวเอง ผมเห็นใจน้องๆ ที่เล่นดนตรีเป็นอาชีพหลัก รายได้หลักหมื่นหายฮวบ น้องนักดนตรีบางคนรับงานคืนละ 2-3 แห่ง กลายเป็นไม่เหลือผับให้เล่น ช่วงนั้นผมกับน้องๆ ก็ชวนกันมาเปิดไลฟ์เล่นดนตรีกันบ้าง เหมือนเราเล่นคอนเสิร์ตออนไลน์ แต่ไม่ได้เงินหรอกครับ เล่นเอาผ่อนคลายตัวเอง เราแก้ปัญหาดูแลตัวเองตลอด หัวใจของนักดนตรีคือการเล่นดนตรีแล้วมีคนฟัง อย่างน้อยก็ได้เล่นดนตรีในช่วงที่เครียดมากๆ”
ถ้าบอกว่าดนตรีคือสิ่งที่ทำให้นักดนตรีมีความสุข ประโยคนี้ยังเป็นจริงเสมอสำหรับดำ
แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือระยะเวลาตลอดมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ความสุขของนักดนตรีโดยเฉพาะในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยากเหลือเกิน
“ทุกวันนี้ถามหน่อยถ้าไม่มีโควิด ชีวิตนักดนตรีดีอยู่แล้วเหรอ บางคนได้รับค่าจ้างถูกเป็นขี้ ถ้าไม่ดัง ก็ค่าตัวน้อย นี่คือมันเหลื่อมล้ำ…ทำไมล่ะครับ ทำไมนักดนตรีกลางคืน งานศิลปะบางประเภทถึงถูกมองว่าไม่ดีงาม คนเปิดผับบาร์ คนขายเหล้าถูกมองว่าผิด แต่ทำไมคนขายเหล้าเยอะๆ ถึงเป็นเจ้าสัว”
“ถ้าประเทศเรามีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์หรือมุมมองต่อศิลปะดี เขาจะมองว่า ‘งานศิลปะทั้งหลาย’ ไม่ใช่เรื่องโง่ๆ ศิลปะและดนตรีไม่ใช่เรื่องความชั่ว ความเลว สิ่งมั่วสุม ไร้สาระ หรือการเต้นกินรำกินไปวันๆ นำไปสู่การพัฒนาต่างๆ มีมิวเซียม, พื้นที่สร้าง community, อย่างน้อยในภาวะนี้ ถ้าเรามี live house มีการจ้างงาน ศิลปินไม่อดตาย”