คนตัวเล็กถูกเอาเปรียบตลอด ออกกฎหมายมาก็รองรับแต่นายทงนายทุน ใครจะประท้วงก็ตอบห้วนๆ พูดจาไม่ดี ให้ประชาชนอยู่ด้วยตัวเอง
แทนไท, 27 ปี ช่างสัก
จากการทำแบบ นัดลูกค้า ลงมือสัก แล้วรับรายได้ เหลือแค่การนั่งทำแบบที่ค้างอยู่แทน ซึ่ง แทนไท ช่างสักที่มีสตูดิโอประจำอยู่ The Circle ราชพฤกษ์ คงรู้สึกว่างเปล่าอยู่เหมือนกัน เขาคาดการณ์ว่าครั้งนี้คงปิดร้านอย่างนานที่สุดแค่เดือนเดียวเท่านั้น ถึงจะมีทักษะทำอย่างอื่นเป็นรายได้เสริม ก็ไม่สามารถตอบสนองจิตวิญญาณของช่างสักอันเป็นอาชีพที่เต็มไปด้วย passion ได้ เหมือนเมื่อครั้งที่ COVID-19 ระบาดรอบแรกที่ต้องทำอาหารขายถึง 2 เดือน
“รายได้ก็หายไปเลย 2 เดือน ต่อให้มีทางอื่นเข้ามามันก็ไม่เท่ากับสิ่งที่ทำประจำ เหมือนทำเพื่อฆ่าเวลาเล่นๆ ไม่ให้อยู่นิ่งเฉยๆ อาชีพสักมันเป็นอาชีพที่มี passion คือสิ่งที่เราชอบทำ เราอยู่ได้เพราะสัก ให้เราทำอย่างอื่นมันก็ไม่เท่าสักครับ”
แต่ในสถานการณ์ร้ายๆ ก็ยังพอมีเรื่องดีอยู่บ้าง แทนไทคิดว่าโควิดมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือมันทำให้เขาคิดถึงอนาคตมากขึ้น รู้จักอดออมและมองการณ์ไกล เพราะมีความเป็นไปได้ที่วิกฤติครั้งนี้อาจจะไม่จบง่ายๆ
“ถ้ามันเกิดซ้ำๆ หลายๆ รอบ รอบสองไม่จบ สมมุติมีรอบ 3 4 5 เกิดติดกัน มันก็จะวุ่นวายมากๆ ไม่ได้อยู่แค่การอดออมที่จะช่วยได้แล้ว มันจะเป็นเรื่องอื่นละ ก็ต้องปรับตัวไป ไปทำอาร์ตอย่างอื่น ซึ่งต้องหาตัวเองอีกที นี่คือข้อเสีย”
ช่างสักเป็นกลุ่มอาชีพแรกๆ ที่ถูกสั่งปิด ทั้งที่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากกิจการประเภทอื่นเลย
“ช่างสักใส่ถุงมือกับหน้ากากเป็นประจำอยู่แล้ว ยังไงก็ไม่โดนตัวลูกค้าแน่ๆ สมมุติถ้าลูกค้าเป็นโควิดแล้วเข้ามาแต่เขาปิดปากและล้างมือตลอดเราก็จะติดได้ยากมาก เราทำความสะอาดพวกสเตชั่น สิ่งที่เขานั่ง สิ่งที่เขาใช้ตลอดอยู่แล้ว โอกาสติดยากมาก ยกเว้นเขาเอามือมาป้ายนู่นป้ายนี่จริงๆ แต่ไม่ได้สนับสนุนให้เปิดนะเพราะเข้าใจว่ามันเสี่ยง ก็ปิดไปก่อน”
ดูราวกับว่าผู้ออกนโยบายไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ซึ่งอาจไม่ถือว่าแปลกสำหรับประเทศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับศิลปะเท่าการค้าขาย หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ตลาดของช่างสักในไทยจำกัดอยู่ในวงที่ค่อนข้างแคบ เช่น นักท่องเที่ยวฝรั่งถนนข้าวสาร เมื่อถามถึงความเห็นของเพื่อนร่วมอาชีพ แทนไทอธิบายแทบจะทันทีเลยว่า
“เหมือนกันเลยครับ ทุกคนพูดว่าทำอย่างอื่นก็ไม่เท่าสิ่งที่ทำอยู่ เพราะงานสักมันเป็น artist คุณให้ artist ไปทำอย่างอื่นมันก็ไม่ใช่ตัวเขา ได้แต่หางานอดิเรกทำเรื่อยๆ ฆ่าเวลา แต่คงไม่มีใครทำอะไรอย่างอื่นไปตลอด ในสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโควิดก็ควรส่งเสริม ฝรั่งเข้ามามันก็เป็นรายได้จากต่างประเทศ ตอนนี้โปรโมทยากก็เข้าใจ แต่ก็ควรจะส่งเสริมด้านอาร์ตเพราะว่ามันเป็นการคิด การทำความคิดสร้างสรรค์ ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เป็นตัวของตัวเอง หารายได้จากต่างประเทศเข้ามาช่วยประเทศได้ สร้างชื่อเสียงด้วย”
เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อนโยบายของรัฐบาล แทนไทกลับรู้สึกว่าพูดได้ไม่เต็มปาก ทั้งที่เขาเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิวิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ เขามองเห็นทั้งความหละหลวม กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และเชื่อว่าไม่ได้รู้สึกแค่คนเดียว
“อะไรที่มันไม่ควรเกิดมันดันเกิด มันคุมได้มันมีมาตรการรองรับได้แต่ทำไม่ได้ สั่งให้ปิดโดยที่ไม่มีมาตรการเยียวยา แต่พวกนายทุนใหญ่ๆ ไม่โดนสั่งปิด เหมือนมีอะไรอยู่เบื้องหลังแต่เราก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะเราไม่ใช่คนในนั้น คือทุกคนรู้แหละ แต่ก็ไม่พูดดีกว่า
“คนตัวเล็กถูกเอาเปรียบตลอด ออกกฎหมายมาก็รองรับแต่นายทงนายทุน ใครจะประท้วงก็ตอบห้วนๆ พูดจาไม่ดี ให้ประชาชนอยู่ด้วยตัวเอง ทุกคนน่าจะรู้สึก”
เมื่อเห็นว่าคงหวังพึ่งอะไรกับคนออกนโยบายไม่ได้ แทนไทจึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับปัจเจก เพราะเขาเชื่อว่าเราทุกคนเป็นฟันเฟืองที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
“เราต้องไม่ทำให้มันเกิดโรคจากเรา เราต้องรับผิดชอบ เราต้องช่วยเหลือกัน วิกฤติมันเข้ามาเราก็ผ่านไปได้ เราเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่ง แค่ทำให้มันไม่เกิดการแพร่ระบาด ช่วยได้ก็ช่วยกัน”
เขาหยุดคิดไปสักพักหนึ่ง ถ้าให้เดาก็คงเป็นสิ่งที่สำคัญกับปัญหาพอสมควรแต่ไม่อยากพูดถึงเท่าไรนัก จึงเลือกที่จะให้กำลังใจกันและกันดีกว่า
“เราก็ได้แต่ทำให้ดีที่สุด ช่วยเหลือคนรอบข้าง ดูแลคนที่เรารัก ไม่ประมาท รอมันผ่านไปด้วยกัน แล้วเราก็จะกลับมาทำอะไรที่เราชอบได้เหมือนเดิม”