ไขข้อข้องใจวัคซีน COVID-19 ประเทศไทยแทงม้าตัวเดียวหรือเปล่า

วัคซีน COVID-19 ดูเหมือนจะเป็น ‘ตะขอ’ สำหรับแขวนความหวังให้แก่ชีวิตทั้งในมิติเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้คนทั่วโลก หลายประเทศเริ่มทยอยฉีดวัคซีนจากบริษัทต่างๆ ให้กับประชาชนในประเทศของตน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี หรือแม้แต่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ก็เริ่มแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว

ประเทศไทยมีโครงการจัดซื้อวัคซีนเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนเช่นกัน ทว่าการดำเนินการของรัฐบาลยังเป็นที่ถกเถียง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลือกซื้อวัคซีนจากบริษัทต่างๆ การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล คุณภาพของวัคซีนที่ประชาชนจะได้รับ และความโปร่งใสของรัฐบาลในการดำเนินโครงการนี้

เมื่อพิจารณา ‘วัคซีน’ บนสถานการณ์เช่นนี้แล้ว ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า นอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแล้ว การจัดซื้อวัคซีนยังสร้างความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ สุขภาพ เทคโนโลยี และธรรมาภิบาลของรัฐบาล

ทำความรู้จักวัคซีนแต่ละชนิด

นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงวัคซีนที่อนุญาตให้ใช้ในมนุษย์ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินที่ผ่านการทดลองมีทั้งหมด 3 ชนิด ดังนี้

1. mRNA วัคซีน

วัคซีนชนิดนี้อาศัยกลไกการสั่งให้เซลล์มนุษย์หรือเซลล์สัตว์ผลิตโปรตีนปลายแหลม (spike protein) เพื่อสร้างแอนติเจนไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้ที่เป็นภูมิต้านทานต่อ COVID-19 วัคซีน mRNA จะถูกห่อหุ้มด้วย Lipid Nanoparticle เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายไปสู่เซลล์ mRNA จะถูกถอดออกในของเหลว แล้ว mRNA จะทำการสร้างโปรตีนตามรูปแบบที่กำหนด messager RNA ส่งออกสู่นอกเซลล์เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานต่อไป

ข้อดี ของวัคซีนชนิดนี้ทำได้ง่ายและเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วเพราะทำในโรงงาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง

ข้อเสีย อยู่ที่ว่า RNA นั้นเปราะบางมากและสลายตัวได้ง่าย จึงต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำมากๆ และวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกที่ใช้ในมนุษย์ อาการข้างเคียงหลังฉีดพบได้บ่อยกว่าวัคซีนที่ทำโดยชนิดเก่า เช่นมีไข้ ปวดเมื่อย และผลระยะยาวคงต้องรอการศึกษาต่อไปเช่นติดตามเป็นปีหรือหลายปี

วัคซีนที่ใช้ mRNA ในการผลิตก็คือ Pfizer และ Merdona และในประเทศไทยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาและพัฒนาวัคซีนชนิดนี้โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองในสัตว์

2. ไวรัส Vector

วัคซีนชนิดนี้ใช้ไวรัสเป็นพาหะโดยบรรจุยีนของไวรัสเข้าไปในไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ โดยไวรัสจะส่งสารพันธุกรรมของโควิดเข้าไปในเซลล์มนุษย์แล้วถอดรูปพันธุกรรมเปลี่ยนให้เป็น mRNA ออกมาในไซโตพลาสซึมแล้ว mRNA จะสร้างโปรตีนส่งออกมาทำหน้าที่เป็นแอนติเจนกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้

ข้อดี วัคซีนนี้สามารถผลิตได้จำนวนมาก รวดเร็วและมีความคงทนมากกว่าชนิด mRNA ราคาถูกกว่าและสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศา

ข้อเสีย วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนชนิดใหม่เช่นเดียวกัน และยังไม่ทราบผลระยะยาวว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

วัคซีนที่ใช้ไวรัส Vector ในการผลิตก็คือ AstraZeneca, Sputnik V, Johnson and Johnson เป็นต้น

3. ไวรัสเชื้อตาย

วัคซีนชนิดนี้จะใช้หลักการที่เคยใช้ผลิตวัคซีนในสมัยก่อนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ หรือพิษสุนัขบ้า เป็นต้น โดยวัคซีนชนิดนี้ใช้เชื้อตายที่มีชื่อว่า ‘โคโรนาแวค’ (CoronaVac) ทำหน้าที่เหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้ โดยแอนติบอดี้จะยึดติดกับโปรตีนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย

ข้อดี วัคซีนชนิดนี้ได้รับการยอมรับ สามารถไว้ใจได้ในเรื่องของความปลอดภัย เพราะกระบวนการสร้างวัคซีนชนิดนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

ข้อเสีย วัคซีนชนิดนี้ผลิตจำนวนมากได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้ต้องเพาะเลี้ยงในห้องชีวนิรภัยระดับสูงเพราะเป็นไวรัสก่อโรค ต้นทุนการผลิตจึงสูงจึงทำให้การผลิตมีขีดจำกัด

วัคซีนที่ผลิตโดยกระบวนการไวรัสเชื้อตายได้แก่ Sinovac ที่เป็นวัคซีนแรกที่คนไทยจะได้รับการฉีดในช่วงกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

Dose ที่ Done แล้ว

การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 มีมติรับทราบการจัดหาวัคซีน 3 ช่องทาง

1. ให้การจัดหาวัคซีนเป็นการตกลงแบบทวิภาคี Bilateral Agreement (Advanced Market Commitment) กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร้อยละ 20 (จำนวน 26 ล้านโดส) คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิถุนายน 2564 (อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ได้วัคซีนมาก่อนจำนวนหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564) ซึ่งที่ประชุมมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีกจำนวน 35 ล้านโดส รวมเป็นจำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหา จำนวน 61 ล้านโดส

2. การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขได้เจรจากับบริษัท ซิโนวัค ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน เพื่อจัดหาวัคซีนเร่งด่วนให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2,000,000 โดส

ทั้งนี้ วัคซีนต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยา (National Medical Products Administration: NMPA) ของประเทศจีนก่อน โดยจะฉีดคนละ 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน วงเงินงบประมาณรวม 1,228,208,000 บาท

3. การจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ร้อยละ 20 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง

สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีน 2,000,000 โดส (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564) ดังนี้

วัคซีน 200,000 โดสแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี เป็นต้น จำนวน 20,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ จำนวน 180,000 คน

วัคซีน 800,000 โดสแรก ในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ในกลุ่มข้อ 1 จำนวน 200,000 โดส และวัคซีน จำนวน 600,000 โดส ในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) จำนวน 600,000 คน

ขณะที่วัคซีน 1,000,000 โดส ในเดือนเมษายน 2564 โดยจะฉีดวัคซีนเข็มที่สองในกลุ่มตามข้อ 2 จำนวน 600,000 คน และสำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 400,000 โดส

ทำไมต้องเป็น Sinovac และ AstraZeneca?

ไม่กี่วันมานี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวไกลได้ออกมาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ค ตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลจึงไม่กระจายความเสี่ยงในการเลือกซื้อวัคซีน รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนจาก 2 บริษัทโดยซื้อวัคซีนจาก Sinovac จำนวน 2,000,000 โดส และซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca ในรอบแรก 26 ล้านโดส และพิจารณาซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส

เมื่อหักลบประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ (ซึ่งประชากรใน 2 กลุ่มนี้คือกลุ่มประชากรที่ยังไม่แนะนำให้ฉีด เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่) ก็จะเหลือจำนวนประชากรที่จะได้รับวัคซีนประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งปริมาณโดสที่สั่งซื้อตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 มกราคม จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้ประมาณ 33 ล้านคน

เท่ากับว่าประชาชนในประเทศไทยจะได้รับวัคซีนจาก 2 บริษัทนี้ ถ้าหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นที่พิจารณาซื้อวัคซีนจาก 3 บริษัท ได้แก่ Moderna, Pfizer, และ AstraZeneca จำนวน 290 ล้านโดสและครอบคลุมประชากรทั้งหมดคิดเป็น 114.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเกาหลีใต้ซื้อวัคซีนจาก 5 บริษัท ได้แก่ Moderna, Pfizer, AstraZeneca, Johnson & Johnson และ Covax จำนวนทั้งหมดประมาณ 69 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุม 88 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมด

คำถามก็คือรัฐบาลไทยวางใจการผลิตวัคซีนจากสองบริษัทนี้เกินไปหรือไม่? และทำไมจึงต้องเป็นวัคซีนจาก Sinovac และ AstraZeneca

ในวันที่ 19 มกราคม 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกันแถลงชี้แจงในหลายประเด็น

นายแพทย์นคร กล่าวว่า กระบวนการจัดซื้อวัคซีนจะต้องพิจารณาหลายส่วนก่อนทำข้อตกลง ซึ่งข้อตกลงกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้าคือการสั่งซื้อวัคซีนพร้อมทั้ง ‘ถ่ายทอดเทคโนโลยี’ ให้กับประเทศไทย อีกทั้งการพัฒนาวัคซีน COVID-19 เป็นเรื่องใหม่และเร่งด่วน ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มากพอ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาซื้อวัคซีนที่เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ได้สั่งซื้อตามชื่อของบริษัทหรือตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว

วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้กระบวนการไวรัส Vector และเป็นวัคซีนตัวแรกที่รัฐบาลอังกฤษอนุมัติให้ใช้กับมนุษย์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 70.4 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส มีราคาต่อโดสอยู่ระหว่าง 2.5-5 ดอลลาร์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าวัคซีนของ Pfizer ที่มีราคาต่อโดสอยู่ที่ 20 ดอลลาร์

วัคซีน AstraZeneca จึงเหมาะกับประเทศที่มีกำลังซื้อน้อยหรือประเทศกำลังพัฒนาเพราะราคาถูกและมีประสิทธิภาพเทียบเท่าวัคซีนราคาแพง

ถึงแม้ว่าวัคซีน Sinovac จะยังมีข้อกังขาในเรื่องของประสิทธิภาพที่มีประสิทธิผลเพียง 50.38 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น แต่ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ได้อธิบายถึงการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนว่า การประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในการศึกษาต่างกลุ่มต่างพื้นที่ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้ไม่เท่ากัน เพราะหลักการประเมินต่างกัน เช่น บางพื้นที่ประเมินการป้องกันการติดเชื้อ บางพื้นที่ประเมินการเกิดโรค อีกทั้งการประเมินผลวัคซีนชนิดเดียวกันในกลุ่มประชากรที่ต่างกันหรือพื้นที่ต่างกัน ก็ทำให้ผลต่างกันด้วย

นายแพทย์ยงยังได้ยกตัวอย่างถึงวัคซีน HIV ที่มีประสิทธิภาพการป้องกันโรคในแอฟริกาใต้ 0 เปอร์เซ็นต์ และในไทย 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพราะที่แอฟริกาใต้มีความเสี่ยงสูงกว่าประเทศไทย เฉกเช่นเดียวกับการศึกษาวัคซีนโควิด-19 ถ้าประเมินในกลุ่มเสี่ยงสูง ผลที่ได้จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าประชากรทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่ำ

ดังนั้นประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวจึงต้องดูที่องค์ประกอบอีกหลายอย่างไม่ใช่เพียงตัวเลข

ทำไมต้องเป็นสยามไบโอไซเอนซ์
“ประเทศไทยแทงม้าตัวเดียวหรือเปล่า?”

เพราะเหตุใดรัฐบาลจึงเลือก บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนแต่เพียงรายเดียว และยังให้งบสนับสนุนในการพัฒนาเป็นจำนวน 600 ล้านบาท ถือว่าเป็นการผูกขาดการผลิตวัคซีนที่บริษัทเดียวหรือไม่?

AstraZeneca ต้องการหาประเทศที่เป็นศูนย์กลางในแต่ละภูมิภาคเพื่อทำการผลิตวัคซีน ประกอบกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) กับ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด มีงานวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่องหลายปี รวมถึงความพร้อมในการผลิตของประเทศไทย มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน นั่นทำให้บริษัท AstraZeneca ตัดสินใจตอบตกลง และทำสัญญากับประเทศไทย

WorkpointTODAY รายงานว่า บริษัท AstraZeneca ยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่มีเงื่อนไขคือทางบริษัทที่อังกฤษจะขอเลือกห้องแล็บที่ไทยเอง โดยจะพิจารณาว่าห้องแล็บไหนที่มีอุปกรณ์ และมีบุคลากรที่มีความสามารถมากพอ จะผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานของ AstraZeneca ซึ่งสุดท้ายบริษัทที่อังกฤษเลือก คือ บริษัท Siam Bioscience (สยามไบโอไซเอนซ์) โดยสยามไบโอไซเอนซ์มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน และเคยมีประสบการณ์ในการตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมาแล้ว ซึ่งตรงกับแนวทางในการสร้างวัคซีนของ AstraZeneca ที่ใช้การดัดแปลงพันธุกรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้นทาง AstraZeneca จึงตัดสินใจร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ โดยคาดว่าจะผลิตวัคซีนออกมาแล้วเสร็จล็อตแรก ในเดือนพฤษภาคม 2564

นายแพทย์นคร กล่าวว่า เนื่องจากการผลิตวัคซีนเป็นเรื่องเร่งด่วนจะต้องมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถมีความพร้อมที่สุดในการผลิต บริษัท AstraZeneca ได้พิจารณาทบทวนคุณสมบัติของหลายบริษัทในประเทศไทย แต่มีเพียงบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีศักยภาพพร้อมที่สุดในการผลิตวัคซีนแบบไวรัส Vector ซึ่งบริษัทและองค์กรอื่นๆ ยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้

รัฐจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?

รัฐบาลได้ลงนามทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca ในวงเงิน 6,049,723,117 ล้านบาทและในงบจำนวนนี้สั่งซื้อวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดสจำนวน 2 พันล้านบาท ซึ่งตกราคาโดสละ 5 ดอลลาร์

ซึ่งข้อมูลจาก UNICEF dashboard เปิดเผยข้อมูลการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca ของแต่ละประเทศ ได้แก่ บราซิล โดยสั่งซื้อจำนวน 200 ล้านโดสในราคาโดสละ 3.16 ดอลลาร์ อินเดีย จำนวน 11 ล้านโดสในราคาโดสละ 3.36 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วไทยจ่ายค่าวัคซีนต่อโดสในราคาที่แพงกว่า

ในวันที่ 20 มกราคม 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารสุขกล่าวว่า ได้ขอซื้อวัคซีน AstraZeneca เพิ่มอีกจำนวน 150,000 โดส โดย 50,000 โดสแรกจะเข้ามาในต้นเดือนกุมภาพันธ์ อนุทินยังกล่าวอีกว่าวัคซีนจำนวน 150,000 นี้เป็นคนละส่วนกับ 26 และ 35 ล้านโดสที่รัฐบาลอนุมัติซื้อ ซึ่งเจรจาซื้อมาในราคา 5 ดอลลาร์เท่ากัน ซึ่งเดิมตามไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนของคนไทยแล้วนั้นวัคซีนแรกที่คนไทยจะได้ฉีดปลายเดือนกุมภาพันธ์คือ Sinovac จากจีน ทว่าวัคซีน Sinovac ยังดำเนินการขึ้นทะเบียนจากประเทศต้นทางไม่เรียบร้อย

และในขณะนี้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการถ่ายทอดเทคโนยีและเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และคาดว่าจะสามารถแจกจ่ายให้กับประชาชนได้เร็วที่สุดปลายเดือนเมษายนปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามการผลิตจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและยื่นให้ อย. ทดสอบคุณภาพก่อนนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน

นอกจากประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ความยั่งยืนในการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อรัฐบาลทำสัญญาลงนามการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca แล้ว รัฐบาลก็ควรสร้างกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตวัคซีน และให้ทุนสนับสนุนแก่องค์กรหรือบริษัทเอกชนอื่นๆ ในประเทศไทยให้มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนโควิด-19 เช่นกัน

ซึ่งตอนนี้ รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแก่องค์กรเหล่านี้แต่อย่างใด

อ้างอิง

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

Author

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า