หยิ่ง ขี้อาย หรือผิดทุกข้อ

cramp-illus-nolanolee

 

ภาพประกอบ: Nola Nolee

1

“เขาไม่ได้หยิ่งหรอก เขาเป็นคนขี้อาย”

นั่นน่าจะเป็นคำพูดต่อท้ายเวลาใครแนะนำให้ผม-ในวัยเด็ก, รู้จักกับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เห็นๆ กันมาบ้างแล้ว เช่น เพื่อนที่เรียนโรงเรียนเดียวกันแต่ไม่สนิทกัน พอมีเหตุการณ์ให้ต้องปะทะสังสรรค์กัน หลายคนก็ตั้งป้อมเอาไว้ก่อนว่า ไอ้หมอนี่เป็นคนหยิ่ง แล้วเพื่อนอีกบางคนก็มักจะแก้ต่างให้ว่าไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ผมเป็นคนขี้อายต่างหาก

ในตอนนั้นผมรู้สึกอยู่แล้วนะครับ ว่ามีอะไรบางอย่างผิดพลาดกับคำอธิบายทั้งสองอย่างนั้น

แน่นอน-ผมรู้ตัวเสมอว่าไม่ได้หยิ่ง อาจจะโอหังเชื่อมั่นในตัวเองอยู่บ้าง คิดว่าตัวเองเก่งเสียเต็มประดาอยู่บ้าง แต่จะใช้คำว่า ‘หยิ่ง’ นั้นไม่คิดว่าใช่อย่างแน่นอน เพราะ ‘หยิ่ง’ มีนัยของการเหยียดและคิดว่าตัวเองอยู่สูงส่งกว่าคนอื่น ผมอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเรียนเก่งกว่าเพื่อนบางคนในบางวิชา แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเลยที่จะต้อง ‘หยิ่ง’ เพียงเพราะเรียนเก่ง ยิ่งใครจะมาบอกว่าหยิ่งเพราะเป็นเด็กรวย ยิ่งไม่ใช่เข้าไปใหญ่ เพราะการใช้คำว่า ‘บ้านรวย’ กับผมคงพูดได้ว่าเป็นเรื่องอาเพศ

หากพอมีอะไรให้คนพอคิดไปได้ว่า ‘หยิ่ง’ ก็อาจเป็นการเป็น ‘เด็กเทพฯ’ ของผมนี่แหละครับ คำว่า ‘เด็กเทพฯ’ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเก่งเทพรวยเทพนิสัยเทพ เนี้ยบเทพ อะไรหรอกนะครับ มันคือการเป็น ‘เด็กกรุงเทพฯ’ ที่ย้ายมาเรียนในต่างจังหวัดก็เท่านั้นเอง เพื่อนบางคนอาจมองว่านี่เป็นปมเด่น แต่ผมถือว่ามันเป็นปมด้อยเลยด้วยซ้ำ เพราะทำให้เข้ากับคนอื่นได้ยาก เนื่องจากนอกจากจะไม่เข้าใจภาษาเหนือแล้ว ยังรู้สึกเด๋อด๋าเวลาเพื่อนอยากคุยด้วยอีกต่างหาก ต้องใช้เวลาอยู่ค่อนปี กว่าจะทำความคุ้นเคยและปรับตัวได้

เพราะฉะนั้น คำว่า ‘หยิ่ง’ จึงไม่อยู่ในพจนานุกรมของผมเลยสักนิด

ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว รักษาระยะห่างจากคนอื่น และออกจะคิดว่าตัวเอง ‘แตกต่าง’ จากคนอื่นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วนะครับ อย่างเช่นผมชอบอ่านหนังสือหรือฝึกเล่นดนตรี แต่เพื่อนชอบไปขี่จักรยานวิ่งเล่นกัน นอกจากนี้ ในยามที่เพื่อนหัดฟังเฮฟวีเมทัล เล่นกีฬา แต่ผมดันหัดฟังบีโธเฟนเล่นเปียโนอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นเอาเข้าจริง จึงมีเรื่องให้ ‘โอเวอร์แล็ป’ หรือซ้อนทับกับเพื่อนไม่มากนัก เช่น ไปทำงานกลุ่มร่วมกัน หรือไปนั่งอ่านหนังสือในสวนสาธารณะด้วยกันเวลาใกล้สอบอะไรทำนองนั้น

ความ ‘แตกต่าง’ เหล่านี้อาจดูเหมือนซ้อนทับกับอาการ ‘ขี้อาย’ อยู่บ้าง จนหลายครั้งผมก็สงสัยตัวเองเหมือนกัน ว่าผมเป็นคนขี้อายหรือเปล่า แล้วหากขี้อาย ความขี้อายมันมาผสมรวมอยู่กับความมั่นใจในตัวเอง (จนถูกกล่าวหาว่าหยิ่ง) ได้อย่างไรกัน

ถ้าพิจารณาจากการทำกิจกรรมให้โรงเรียน ผมคิดว่าตัวเองไม่ได้ ‘ขี้อาย’ เท่าไหร่นัก ผมไปตอบปัญหาต่างๆ ในนามโรงเรียน ไปแสดงดนตรีในงานของโรงเรียนดนตรี ขึ้นไปโต้วาทียอวาทะอะไรต่างๆ นานา ทั้งกับเพื่อนในโรงเรียนเดียวกัน และไปประฝีปากกับเพื่อนโรงเรียนอื่น รวมถึงไปประกวดอ่านออกเสียงอะไรต่อมิอะไรมากมายด้วย ยิ่งตอนเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไปเล่นละครกับเขา และสมัครเข้าชมรมต่างๆ มากมายเป็นสิบชมรม ทั้งเพื่อค้นหาความชอบของตัวเอง และเพื่อทำความรู้จักกับผู้คนให้มาก

ผมจึงไม่คิดว่าตัวเองขี้อายเท่าไหร่นัก

แล้วหากไม่ได้หยิ่งและขี้อาย ก็แล้วผมเป็นอะไรล่ะครับ?

คำตอบผุดขึ้นหลังเรียนจบและทำงานมาแล้วหลายต่อหลายปี

ผมจำไม่ได้หรอกนะครับ ว่าไปอ่านเรื่องของคนที่เป็น Introvert ที่ไหน แต่ครั้งแรกที่รู้จักคำนี้ ผมรู้ในทันทีเลยว่าผมไม่ได้หยิ่งหรือขี้อาย สิ่งที่ผมเป็นก็คือการเป็นคน Introvert นั่นเอง

Introvert นั้นตรงข้ามกับ Extrovert (หรือถ้าจะใช้ศัพท์ให้ถูกต้องจริงๆ ต้องเรียกว่า ‘Extravert’) ซึ่งมักมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่าหมายถึงคนที่ ‘กล้าแสดงออก’

เขาบอกว่าทุกวันนี้ เราอยู่ในโลกที่ให้คุณค่ากับการ ‘กล้าแสดงออก’ มากทีเดียวครับ ใครเป็นคนกล้าแสดงออก เข้าหาคนอื่นได้มากกว่า มีคำพูดคำจาฉาดฉานไม่กลัวใคร ร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมเสมอๆ หรือบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองออกมาได้ ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดี

แต่ถ้าดูลักษณะของ Introvert เราอาจรู้สึกพบว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยน่าคบหาเท่าไหร่ เพราะมักจะเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ดูเหมือนเป็นพวกเด็กเรียน ทำตัวสูงส่ง หรือไม่ก็มีอาจจะมีปมด้อยอะไรบางอย่าง ทำให้เข้ากับคนอื่นไม่ได้ เรียกว่าถ้าไม่หยิ่งก็คงขี้อายเหมือนที่ผมเคยถูกกล่าวหาว่าเป็น พูดง่ายๆ ในสังคมที่เราอยู่ ความเป็น Introvert มักถูกมองว่าเป็นลักษณะที่ ‘ด้อย’ กว่าความเป็น Extrovert

สังคมที่ให้คุณค่ากับ Extrovert มากกว่านั้น ทำให้ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ต้องมีการทำงานกลุ่มและรายงานหน้าชั้น ไล่มาจนถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการถกเถียงในคลาสสัมมนา หรือระบบการทำงานที่ต้องการคนกล้าแสดงความคิดเห็นในการประชุมระดมสมอง หรือแม้กระทั่งการจีบสาวจีบหนุ่มหาคู่มาร่วมเรียงเคียงหมอน และแม้แต่การปราศรัยหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ล้วนแล้วแต่ ‘วางตัว’ อยู่บน ‘ฐาน’ ของการให้คุณค่าที่เอียงกะเท่เร่ไปในทาง Extrovert ทั้งหมด

ที่จริงในสมัยก่อนโน้น เมื่อมนุษย์อยู่ในสังคมเกษตร เขาบอกว่าคนเราไม่ค่อยจะเป็น Extrovert เท่าไหร่หรอกนะครับ เพราะงานขุดจอบฟันดินอะไรทำนองนั้น ไม่ต้องใช้ทักษะในการสื่อสารหรือแสดงออกซึ่ง ‘ตัวตน’ ของเรามากนัก ต่างคนต่างก็ทำงานกันไป มนุษย์ในยุคก่อนโน้นจึงมักเป็น Introvert มากกว่า

แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราให้ความสำคัญกับงานภาคบริการมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น สังคมเริ่มหันมาให้ความสำคัญและคุณค่ากับคนที่เป็น Extrovert มากขึ้นในแทบทุกมิติ ตั้งแต่ยิ้มแย้มแจ่มใสขายของ ประชุมกับลูกค้า จนถึงการปราศรัยหาเสียง ซึ่งเหมาะกับคนที่เป็น Extrovert ทั้งนั้น คนที่เป็น Introvert ที่ถูกมองว่าเข้าใจยาก เข้าถึงยาก เก็บเนื้อเก็บตัว จึงมักถูกกดทับโดยโครงสร้างที่ให้คุณค่ากับ Extrovert มากกว่า

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว Introvert กับ Extrovert มันต่างกันอย่างไร มีคำอธิบายง่ายๆ อย่างหนึ่งก็คือ คนที่เป็น Introvert จะสร้างพลังจากภายในตัวเอง ดังนั้นเวลาต้องออกสังคมหรือพบปะผู้คนมากๆ คนเหล่านี้จะรู้สึกหมดพลัง ต้องกลับไปหาเวลาอยู่คนเดียวเพื่อชาร์จพลังใหม่ ในขณะที่คนที่เป็น Extrovert จะได้รับพลังงานจากคนอื่นๆ การเข้าสังคมหรือพบปะพูดคุยเป็นสิ่งที่เติมพลังให้พวกเขา คนสองกลุ่มนี้จึงมักมีชีวิตไม่เหมือนกัน

ในบทความเรื่อง ‘Caring for Your Introvert’ ของ Jonathan Rauch ที่เขียนเอาไว้นานแล้ว เขาให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ถ้าอยากจะให้กำลังใจคนที่เป็น Introvert นั้น ทำได้สามวิธี คือ

  1. ให้ตระหนักว่านี่ไม่ใช่ ‘การเลือก’ ที่จะเป็น ทั้งยังไม่ใช่ ‘ไลฟ์สไตล์’ ด้วย แต่มันคือ orientation (ซึ่งไม่รู้จะแปลอย่างไร)
  2. เวลาเห็นคนที่เป็น Introvert หลุดลอยไปในความคิด จงอย่าไปถามพวกเขาว่า “เป็นอะไร” หรือ “สบายดีหรือเปล่า” หรือ “คิดอะไรอยู่”
  3. ถ้าจะให้ดีก็ไม่ต้องพูดอะไรเลย!

2

ในโลกที่อึงอลไปด้วย Extrovert โดยเฉพาะบนเวทีการเมืองไทยนั้น บางครั้งผมก็อยากเห็น Introvert ที่ไม่โผงผางพูดจาไม่คิดมาให้สัมภาษณ์พอกล้อมแกล้มผสมผสานไปบ้าง เพราะดูเหมือนตอนนี้เราไม่ค่อยมีทางเลือก ต้องฟังแต่คนที่เป็น Extrovert และปฏิบัติตามสิ่งที่คนเป็น Extrovert บอกเท่านั้น ซึ่งในสายตาของ Introvert ผมคิดว่าชวนเวียนหัวอยู่ไม่น้อย แต่ครั้นจะบอกพวก Extrovert ให้หยุดพูดและ ‘ฟัง’ คนอื่นเสียบ้าง เขาก็คงตะคอกกลับมาว่า-นั่นก็เป็น orientation ของเขาเช่นกัน

กรรมจึงตกอยู่กับพวก Introvert เช่นนี้เอง!

 


อ่านจบแล้วยังไม่จุใจ ตามไปฟัง โตมร ศุขปรีชา และ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ชวนคุยเรื่อง Introvert / Extrovert ใน Omnivore ตอนที่ 3

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า