สถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่เริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน นำไปสู่การปิดเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก ประเทศไทยย่อมหนีไม่พ้นแรงสะเทือนนี้ ประหนึ่งการขยับปีกเพียงครั้งของผีเสื้อ แต่สั่นสะเทือนไปถึงดวงดาว
แต่ถึงกระนั้น ‘ความนิ่งเฉย’ กลับเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาด ไม่มากก็น้อย-รัฐบาลไทยถูกมองว่า ไม่กระตือรือร้นที่จะปกป้องประชาชนอย่างที่ควรจะทำ
ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศ สถานการณ์นี้จึง ‘สั่นสะเทือน’ อย่างยิ่ง แต่คนระดับผู้นำประเทศมีหรือจะนิ่งเฉย หรือไม่รู้ว่าดวงดาวกำลังสั่นสะเทือน
อย่างน้อยก็ร่วม 10 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครุ่นคิดถึงเรื่อง ‘ภัยคุกคามรูปแบบใหม่’ และ ‘การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติ’
อดีตนักศึกษา วปอ. 2550 ผู้ครุ่นคิดเรื่อง crisis management สมัยยังไม่เป็นนายกฯ
ในนิตยสาร รัฏฐาภิรักษ์ นิตยสารของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ฉบับเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2553 ตีพิมพ์บทความเรื่อง การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติ (crisis management) เขียนโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนักศึกษา วปอ. 2550
อย่างน้อยก็ 13 ปีมาแล้ว ที่อดีตนักศึกษา วปอ. ผู้นี้เขียนบทความนำเสนอภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ว่าที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของภัยคุกคาม จากการเผชิญหน้าของกำลังทหาร 2 ขั้วในยุคสงครามเย็น มาสู่ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้เกิดจากกำลังทหารเช่นที่ผ่านมา ในบทความชิ้นนี้ของว่าที่นายกรัฐมนตรี ระบุถึงภัยคุกคามที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น โรคระบาด ไว้ด้วย
“ที่ได้กล่าวข้างต้น ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่/ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล (Human Security) ความสงบเรียบร้อยของสังคม (Social Order) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Stability)”
ก่อนจะปิดย่อหน้านี้ว่า “และส่งผลกระทบโดยรวมต่อความมั่นคงของรัฐชาติ” ในวงเล็บ National Security1
พล.อ.ประยุทธ์ ได้ระบุถึงภาวะที่รัฐไม่สามารถบริหารประเทศหรือรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะวิกฤติของประเทศ อันส่งผลกระทบต่อชีวิต ความปลอดภัย และทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของรัฐชาติ
“…ซึ่งอาจนำไปสู่การถดถอยหรือการล่มสลายของรัฐชาติได้” และยังเสนอว่า “ในสภาวการณ์นี้ รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ องค์กรเอกชน NGOs องค์กรระหว่างประเทศหรือส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นในการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น”
ในบทความดังกล่าวยังได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติว่า ควรประกอบด้วยกรอบการแก้ปัญหาที่สำคัญ 5 ด้าน (Five Lines of Effort) ได้แก่
1. ด้านความมั่นคงและการรักษาความปลอดภัย (Security)
2. การปกครองและการมีส่วนร่วม (Governance and Participation)
3. ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและสังคม (Human Security and Social well – Being)
4. การพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Economic Stabilization and Infrastructure)
5. ระบบยุติธรรม (Justice and Reconciliation)
“รัฐจะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยในพื้นที่ให้ได้ ในขณะที่จะต้องสนับสนุนการจัดการปกครองโดยเน้นให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม การสร้างระบบยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับ ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือในเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน บริการทางสุขภาพที่จำเป็น และในระยะยาวจะต้องเร่งพัฒนาในเรื่องเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนสืบไป”
ช่วงปี 2557 หนังสือ กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (NON-TRADITIONAL THREATS) ได้วางจำหน่าย เป็นหนังสือที่เรียบเรียงจากงานวิจัยในหัวข้อเดียวกันของ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20 ปีการศึกษา 2550-2551 ขณะมีตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบก
ข้อเสนอในงานวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นบทบาทของ กอ.รมน. ในการจัดการกับภัยคุกคามใหม่ของว่าที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระบุว่า กอ.รมน. คือองค์กรในความคาดหวังของสังคมที่จะเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ปัญหาความมั่นคงภายในก่อนเกิดเหตุการณ์ (Pre-crisis) ในสถานการณ์ที่แสนยุ่งเหยิงทางการเมือง ทั้งในเรื่องความไม่เชื่อมั่นในระบบและสถาบันทางการเมือง ความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่เร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่ยังหา ‘เจ้าภาพ’ ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนไม่ลงตัวเสียที
ขณะที่ ปัญหาภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ ก็จัดเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนักวิจัยในขณะนั้นนำเสนอ แต่นักวิจัยที่อยู่ในกองทัพผู้นี้ก็ตระหนักดีถึงข้อจำกัดของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงที่จะเข้าไปจัดการภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่าง โรคระบาด
“ปัญหานี้ไม่อยู่ในอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง สาเหตุเพราะมาตรา 3 ที่บัญญัติว่า การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร… เป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เพราะฉะนั้น กรณีสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า หรือกรณี โรคซาร์ ไข้หวัดนก โรคเอดส์ ก็มิใช่พันธกิจของ กอ.รมน. โดยตรง”
ปีที่หนังสือเล่มนี้วางจำหน่ายเป็นปีเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเป็นนายกรัฐมนตรี
มีทหารไว้ทำไม
แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลายประเทศพยายามดำเนินการอพยพพลเมืองของประเทศตนออกจากเมืองอู่ฮั่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำเพื่อไปรับคนญี่ปุ่นชุดแรกออกมาจากเมืองอู่ฮั่น เช่นเดียวกับสหรัฐ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ขณะที่เยอรมนีและอินเดีย ได้จัดเตรียมเที่ยวบินไว้รับพลเมืองของตนกลับประเทศ
สถานการณ์ที่เกิดกับรัฐบาลไทยนั้นกลับเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกวิจารณ์ถึงความล่าช้าในการประสานกับรัฐบาลจีนในการอพยพพลเมืองไทยที่ติดอยู่ในเมืองอู่ฮั่นกลับประเทศ เขาเคยระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า ขณะนี้จีนยังไม่อนุญาตให้เครื่องบินไทยเข้าช่วยเหลืออพยพคนไทยกลับประเทศ
ก่อนที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ว่า สามารถรับคนไทยจากเมืองอู่ฮั่นมายังประเทศไทยได้ภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ แต่ต้องรอคำยืนยันอย่างเป็นทางการจากทางการประเทศจีนอีกครั้ง
มีคนไทยที่เมืองอู่ฮั่น 64 คน เป็นนักเรียนไทย 54 คน กับแรงงานไทยอีกประมาณ 10 คน ทั้งหมดยังติดอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ยกเว้นคณะกรรมการตรวจการจ้างสร้างเรือดำน้ำจำนวน 20 นาย ที่ปฏิบัติราชการอยู่ ณ เมืองอู่ฮั่น ได้ทยอยเดินทางกลับไทยครบหมดแล้ว ด้วยเครื่องบินพลเรือน
ขณะที่การตั้งรับด่านนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเคร่งครัด สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินที่ชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่นเดินทางเข้ามามากถึง 11,558 ที่นั่ง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 62 – 22 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด นอกจากนี้ยังมีสนามบินอื่นๆ ในไทยที่ติดอันดับ ได้แก่ สนามบินดอนเมือง (9,000 ราย) และสนามบินภูเก็ต (6,116 ราย)
อดีต นศ.วปอ.ท่านนี้ กล่าวย้ำถึงการเตรียมเครื่องบินพาณิชย์เพื่อรับคนไทยในเมืองอู่ฮั่นกลับประเทศไทย ว่าขณะนี้มีความพร้อมแล้ว แต่ต้องรอทางการจีนอนุญาตก่อน พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่า ทุกคนมีความสุขดี มีอาหารการกินที่ครบถ้วน
“เครื่องบินไม่ใช่รถแท็กซี่ การเดินทางต้องมีความชัดเจน จึงต้องรอทางการจีนจัดคิวไฟล์ทบินให้” นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าว
นอกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้กรมแพทย์ทหารเข้ามาช่วยดูแลสถานการณ์ร่วมด้วย ปฏิบัติเหมือนกับข้อเสนอที่เคยเขียนไว้ในบทความเมื่อ 10 ปีก่อนเป๊ะ ที่ระบุว่า “ในสภาวการณ์นี้ รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ องค์กรเอกชน NGOs องค์กรระหว่างประเทศหรือส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นในการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น”
แต่เมื่อ 10 ปีก่อน สังคมยังไม่ตั้งคำถามเสียงดังว่า “มีทหารไว้ทำไม” ต่างจากสังคมไทยในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรีจึงถามสื่อมวลชนเหมือนอย่างที่มักทำมาประจำว่า “มีทหารไว้ทำไม” ก่อนจะตอบเองว่า
“ถ้าไม่มีทหาร ก็ไม่มีแพทย์ทหาร”
ข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาจากนานาประเทศ บ่งชี้มาที่ประเทศไทยว่า เป็นพื้นที่เสี่ยง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน ใช้แผนที่การเดินทางในการอ้างอิง และสถิติการเดินทางออกนอกประเทศ 15 วัน ก่อนวันตรุษจีน และสถิติ 2 เดือนหลังของช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว พบว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด สอดคล้องกับข้อมูลจากสถิติจำนวนเที่ยวบินที่บินออกจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
ตลอดช่วงเวลาของการระบาดไวรัสโคโรนา นายกรัฐมนตรีแสดงความมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และย้ำมาตลอดว่ารัฐบาลมีมาตรการที่สอดคล้องกับประเทศต้นทางของการระบาดและหลักสากลโลก
เหล่านี้คือท่าทีของผู้นำประเทศที่เคยครุ่นคิดและลงมือทำวิจัยในหัวข้อ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติ
เชิงอรรถ
[1] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติ (crisis management), นิตยสาร รัฏฐาภิรักษ์ ฉบับเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2553 |