กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์: ถกเถียงประเด็นขบวนการเคลื่อนไหวนักเรียนนักศึกษา

รายการ ‘เกรด A ยูเรก้า’ Ep. 4 ตอน ‘มองการเคลื่อนไหวแบบมาร์กซิสต์ร่วมสมัย’ ดำเนินรายการโดย โอมาร์ หนุนอนันต์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนากับ ดร.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องทฤษฎีการเมืองแนววิพากษ์

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ กรพินธุ์นำเสนอกรอบการมองการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษาไทยในปัจจุบัน จากแนวทางมาร์กซิสต์ที่เกี่ยวโยงกับการเมืองไทยร่วมสมัย อาทิ ประโยชน์ของมุมมองมาร์กซิสต์ต่อสถานการณ์การเมืองไทย การวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติ ทางออกของการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของเยาวชน บทบาทของแกนนำในองค์กรเคลื่อนไหว ไปจนถึงบทเรียนจากต่างประเทศว่าด้วยการผนึกกำลังกับแนวร่วมอื่นๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นรายวันไปแล้ว WAY เก็บประเด็นสำคัญมาฝากผู้อ่าน

เชิญทุกท่านอ่านทัศนวิพากษ์นี้ของ กรพินธุ์ พัวพันธ์สวัสดิ์

ประโยชน์ของแนวคิดมาร์กซิสต์ในการทำความเข้าใจปัญหา และคำถามว่า “อะไรคือวิกฤติ?”

กรพินธุ์เริ่มต้นจากแก่นความเป็นมาร์กซิสต์หรือฝ่ายซ้าย คือ “การมองว่าระบบระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันมีปัญหา และต้องมองปัญหานั้นอย่างวิพากษ์ ซึ่งการมองอย่างวิพากษ์จากนิยามแบบกว้างที่สุดจะไม่เพียงมองว่าระบบการเมืองและเศรษฐกิจมีปัญหาอย่างไรเท่านั้น แต่ต้องมองว่ายังมีโลกอื่นที่เป็นไปได้นอกจากโลกประชาธิปไตยเสรีนิยม มีทางเลือกอื่นอยู่ มีตัวตนอื่นๆ ด้วย

“มาร์กซิสต์จะฝันถึงโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้น กดขี่ขูดรีดน้อยกว่าที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้น หากว่ากันเฉพาะมิติในการมองโลก ความเป็นมาร์กซิสต์จึงยังคงเกี่ยวข้องกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่เราอาจนิยามว่าคือยุคทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ หรือทุนนิยมยุคปลาย

“อันนี้เป็นเพียงมุมมองที่มีต่อตัวตนและโลก ยังไม่ต้องพูดถึงว่าแนวคิดฝ่ายซ้ายแบบมาร์กซิสต์สร้างมรดกความคิดทางการเมืองในมิติเรื่องอื่นด้วย เช่น เรื่องการต่อต้าน เรื่องขบวนการเคลื่อนไหว และเรื่องการปฏิวัติซึ่งมีอยู่มาก สำหรับกลุ่มทางสังคมในปัจจุบันที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แน่นอนว่ามีประโยชน์ในการนำมาปรับใช้กับการเคลื่อนไหว เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

David Harvey

ต่อคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าวิกฤติ กรพินธุ์ได้จำแนกนิยามของสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤติ’ คือ สิ่งที่ใกล้กับคำว่า ‘crisis’ ซึ่งร่วมสมัยมากที่สุดและมีลักษณะสากล ทั่วโลกอาจจะนึกถึงวิกฤติโควิดหรือวิกฤติโรคระบาด แต่หากมองจากมุมมาร์กซิสต์ เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) กล่าวไว้ว่า วิกฤติเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่มีความย้อนแย้งมูลฐาน โดยความย้อนแย้งนั้นดำเนินไปจนถึงจุดที่ดำรงอยู่ร่วมกันไม่ได้ จึงปะทุกลายเป็นวิกฤติขึ้นมา

“ตัวอย่างเช่น การเป็นผู้หญิงแล้วต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปพร้อมกัน ชีวิตของมนุษย์ทุนนิยมสมัยใหม่ที่เป็นผู้หญิงในแง่นี้ ด้านหนึ่งจะต้องเลี้ยงลูกและอีกด้านหนึ่งต้องทำงาน ชีวิตจึงมีความย้อนแย้ง เพราะต้องแบ่งเวลาไปเลี้ยงลูกและทำงานเพื่อสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน ความตึงเครียดสองอย่างนี้ย้อนแย้งกันและดำเนินไปเรื่อยๆ แต่วิกฤติจะเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ คุณไม่มีเวลา เจ้านายคุณเรียกร้องจากคุณมากเหลือเกิน นี่คือวิกฤติ

“เมื่อนำมามองในมุมวิกฤติเศรษฐกิจ หรือวิกฤติทุนนิยม ด้านหนึ่งจะพบว่าวิถีการผลิตที่ดำเนินมาจนกลายเป็นวิถีระบอบการผลิตแบบหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งก็มาพร้อมกับการสร้างมลพิษ การขูดรีดทรัพยากร และมาพร้อมกับสุขภาพของแรงงานที่เสื่อมโทรม ในแง่นี้พลังจากการสรรค์สร้างของทุนนิยมได้ดำเนินไปพร้อมกับการทำลายล้างทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของแรงงานอีกด้วย จึงทำให้มีความตึงเครียดเกิดขึ้น ความตึงเครียดนี้จะถูกต่อรอง ถูกจัดการ แต่วิกฤติจะเกิดขึ้นเมื่อมันดำเนินต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะเกิดมลภาวะทางอากาศจนถึงจุดที่เป็น PM2.5 คุณหายใจไม่ได้ นี่คือวิกฤติ

“เมื่อมองวิกฤติแบบมาร์กซิสต์ สิ่งสำคัญคือห้ามมองวิกฤติแบบแยกส่วน ในสังคมไทยอาจจะเคยเห็นป้ายเขียนว่า ‘วิกฤติเท่ากับจิตอาสา’ แล้วมีรูป คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ โผล่ขึ้นมา นี่คือคุณกำลังมองว่าวิกฤติเท่ากับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม หรือวิกฤติเท่ากับ คุณหมอทวีศิลป์ (วิษณุโยธิน) ที่มองว่าโรคระบาดจะต้องถูกกอบกู้ ต้องถูกแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในภาคส่วนนั้นๆ หากมองสิ่งเหล่านี้ผ่านภาษาแบบมาร์กซิสต์ คือ คุณกำลัง ‘depoliticize วิกฤติ’ (ลดทอนความเป็นการเมือง) และมองวิกฤติแบบแยกส่วน”

การเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา และข้อถกเถียงว่าด้วยการสุกงอมของสถานการณ์

ต่อคำถามที่ว่าการลุกฮือประท้วงของนิสิต นักศึกษา ซึ่งอาจนับเป็นอาการหนึ่งของวิกฤติที่ไม่สามารถแยกออกจากวิกฤติอื่นได้ ต้องรอให้วิกฤติเศรษฐกิจพังครืนลงทั้งระบบก่อนหรือไม่

กรพินธุ์อธิบายว่า “คำถามนี้เป็นที่ถกเถียงในหมู่ฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่ยุคของการปฏิวัติ คือ ต้องรอให้สถานการณ์สุกงอม รอให้มันฉิบหายวายป่วงกันไปมากกว่านี้ หรือในฐานะที่คุณเป็นพลังทางสังคมหรือมีคนที่ทุกข์ยากมากขึ้น คุณจะมาแทรกแซงเลยดีไหม คำถามนี้นับว่าคลาสสิกมาก

“นักคิดหลายคนพยายามจะตอบ ไม่ว่า กรัมชี (Antonio Gramsci), เลนิน (Vladimir Lenin) หรือแม้กระทั่งนักคิดร่วมสมัยอย่าง สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek), โจดี ดีน (Jodi Dean) หรือ ชองตาล มูฟ (Chantal Mouffe) กลุ่มนี้อาจจะมองว่าคุณไม่ต้องรอให้ระบบมันฉิบหายวายป่วง แต่คำถามคือเราเชื่อในพลังของชนชั้นกรรมกร พลังของมวลชน หรือ พลังของประชาชนหรือเปล่า ขบวนการเคลื่อนไหวสามารถจะเข้ามาแทรกแซงได้แล้ว ไม่ต้องรอให้วิกฤติมันปะทุขึ้น สามารถที่จะเปลี่ยนในนามของพลังมวลชนและวิธีการต่างๆ คุณสามารถกอบกู้โลกไม่ให้ต้องดำเนินไปถึงจุดที่เป็นวิกฤติได้”

ต่อคำถามที่ว่า การขยับเพดานการต่อสู้ครั้งนี้ของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน สะท้อนการพังทลายลงของการครอบงำเชิงโครงสร้างแบบที่ อันโตนิโอ กรัมชี เคยวิเคราะห์ไว้เพียงใด

Antonio Gramsci

กรพินธุ์เห็นว่า “อาจเรียกว่าเป็น ‘crisis of authority’ (วิกฤติของความชอบธรรม) หรือการที่อำนาจนำ (hegemony) ได้พังทลายลงไปแล้ว สิ่งที่กรัมชีต้องการตอบคำถามคือ “ทำไมชนชั้นล่างซึ่งอยู่ในสภาพที่ย้อนแย้งและใกล้วิกฤติเต็มที จึงไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลง” คำตอบที่กรัมชีอธิบายคือ กลไกการทำงานของอำนาจเป็นมากกว่าแค่การใช้ความรุนแรงและการใช้เครื่องมือทางกฎหมาย ฉะนั้นการครอบงำจึงแพร่กระจายไปยังปริมณฑลทางวัฒนธรรมด้วย ผ่านระบบการศึกษา สื่อสารมวลชน โฆษณาชวนเชื่อของรัฐ สิ่งเหล่านี้กล่อมเกลาและหล่อหลอมให้ชนชั้นล่างเฉื่อยชาทางการเมือง และมองไม่เห็นความย้อนแย้งในสภาพชีวิตภายใต้ระบบระเบียบที่ตัวเองดำรงอยู่ มากเสียจนไม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม

“เมื่อ crisis of authority หรือ crisis of hegemony เกิดขึ้น แต่ปริมณฑลทางวัฒนธรรมผ่านการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ของรัฐได้กลายเป็นเรื่องน่าขัน และไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป มวลชนในสังคมส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองไม่เชื่อในอุดมการณ์ของรัฐอีกต่อไป และมีชุดความเชื่อรูปแบบใหม่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะต่อต้านท้าทาย ตัวอย่างเช่น โดยทั่วไปพอฟังเพลงชาติเราต้องลุกขึ้นยืนตัวตรงและร้องเพลง จนเป็นปริมณฑลในชีวิตประจำวันเชิงวัฒนธรรม ทว่าตอนนี้กำลังมี crisis of hegemony เกิดขึ้น คือมีปฏิบัติการแบบใหม่เกิดขึ้นเมื่อฟังเพลงชาติ (หมายถึงการชูสามนิ้วขณะร้องเพลงชาติ) ซึ่งส่องสะท้อนว่ากำลังมีการคัดค้านและต่อต้านขนบธรรมเนียมที่เคยทำกันมา เราจะนิยามได้ว่านี่คืออำนาจนำกำลังสั่นคลอน

“ถึงตรงนี้ อาจจะเข้าใจกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปริมณฑลทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องช่วงชิง หรือ ‘war of position’ จนนำไปใช้กันดาษดื่นมาก จนลืมสิ่งหนึ่งไปว่า กรัมชีเป็นนักจัดตั้ง เขาเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ เขาไม่เพียงต่อสู้ในปริมณฑลทางวัฒนธรรมหรือชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ความเชื่อ การต่อสู้ของเขาจึงค่อนข้างที่จะมีลักษณะพื้นฐานมากๆ คือนอกจากจะเป็นนักจัดตั้งแล้ว ยังเล่นช่องทางรัฐสภาด้วย บางทีก็อาจจะกึ่งๆ จับอาวุธด้วย จนทำให้เขาต้องไปอยู่ในคุก

“กรัมชีในมิตินี้ผู้คนอาจจะลืมไป จึงทำให้การต่อสู้ลดทอนมิติด้านชนชั้นไปด้วย และเมื่อแนวคิดกรัมชีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมันเหมือนกับเป็นการครอบงำ (hegemoney) ลอยๆ หรือเป็นเพียงการต่อสู้ทางวัฒนธรรมเฉยๆ”

การเคลื่อนไหวได้ก้าวข้ามการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่กระจัดกระจายไร้ระเบียบไปนานแล้ว

กรพินธุ์มองว่า แม้การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาจะมีลักษณะกระจายตัวและเป็นการชุมนุมชั่วคราว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นมากกว่าการแสดงออกทางสัญลักษณ์ หรือมากกว่าแฟลชม็อบไปแล้ว กรพินธุ์อธิบายว่าในการชุมนุมได้มีการจัดเวที มีผู้อภิปรายปราศรัย และมีวัฒนธรรมทางสถาบันบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ผู้ที่เข้าร่วมกำลังมีความรู้สึกร่วมกัน มีวิถีปฏิบัติร่วมกัน ทั้งหมดได้ก้าวข้ามการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่กระจัดกระจายไร้ระเบียบไปนานแล้ว และไม่มีปัญหาเลยถ้าจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มีการจัดตั้ง มีความระเบียบเรียบร้อยมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการต่อสู้ของ Occupy Wall Street

“Occupy Wall Street เป็นการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นประมาณปี 2011 ที่สหรัฐอเมริกา เป็นปฏิกิริยาตอบโต้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 มีเหตุการณ์สำคัญคือมวลชนในนิวยอร์ครวมตัวเข้าไปยึดสวนสาธารณะ โดยมีสโลแกนคือ ‘We are 99%’ หรือ ‘เราคือ 99%’ แน่นอน 1 เปอร์เซ็นต์ คือศัตรูของเรา ซึ่งหมายถึงพวก Wall Street หรือพวกคนรวย การเคลื่อนไหวครั้งนั้นมีหลายประเด็นมาก มีการปะทะกับตำรวจ มีการสลายการชุมนุม มีการเชิญนักศึกษาไปเข้าร่วม มีวัฒนธรรมองค์กรที่อาจจะเรียกได้ว่าต่อต้านการจัดตั้ง และให้ไปเน้นการจัดองค์กรแนวราบ

“ในการปราศรัย ผู้ชุมนุมไม่นิยมใช้โทรโข่ง เวลาพูด คนที่ได้ยินจะพูดตามคนที่พูด และจะส่งต่อไปเรื่อยๆ โดยให้ถือว่าเป็นไมโครโฟนที่มีชีวิต ถึงที่สุดทุกคนก็ทราบดีว่า Occupy Wall Street มีจุดจบยังไง

“อย่างไรก็ตาม หากถามว่าการชุมนุมครั้งนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อมองย้อนกลับไปเราควรมีความกล้าหาญพอที่จะบอกว่ามันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร และถ้าจะให้สุภาพจริงๆ คือยังนำไปสู่การขึ้นมาของผู้ชายที่ชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อเกิด Occupy Wall Street ไม่กี่ปีถัดมา ทำไมทรัมป์ชนะ การเคลื่อนไหวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ลงคะแนนเสียงได้

Jodi Dean

“นักคิดอย่าง โจดี ดีน (นักทฤษฎีการเมืองหญิงชาวอเมริกัน) บอกเลยว่า Occupy Wall Street มีความเป็นเอกเทศและหลีกเลี่ยงการจัดตั้ง โจดี ดีน เคยพูดว่าเมื่อเธอไปนั่งในที่ชุมนุมแล้วรู้สึกว่าทุกคนมีพลังมาก มันเป็น revolutionary moment หรือ ชั่วขณะที่เพดานพังทลายแบบที่เกิดขึ้นที่เมืองไทย อารมณ์ของมวลชนโกรธเกรี้ยวมากๆ แต่แกนนำกลับบอกว่า วันนี้เราก็ยึดสวนมานานสักพักหนึ่งแล้ว ต่อจากนี้เราขอให้ทุกคนรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเอง ใครอยากจะกลับให้กลับ เราไม่ใช่แกนนำ เราไม่ใช่ผู้นำ เราไม่อยากจะชี้นำพวกคุณ โจดี ดีน บอกว่ามันแผ่วลงไปเลย มันเป็นชั่วขณะที่คุณไม่ ‘seize the moment’ (ยึดกุมอารมณ์ร่วมของมวลชน) คุณกลัวว่าคุณจะเป็นเผด็จการ กลัวว่าจะชี้นำมวลชน หลังจากแกนนำไม่ฟันธง มวลชนก็เลยกลับ ไม่มีตัวองค์กรหรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองมาสืบสาน

“เมื่อถามว่าพรรคไหนที่พูดในนามของกลุ่ม Occupy Wall Street ก็ไม่มีพรรคไหนเป็นตัวแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้ฝูงชนที่มารวมตัวกันแบบชั่วคราว ไม่มีสถาบัน องค์กร พรรคการเมืองไหนห่อหุ้ม จึงสลายตัวกระจัดกระจายหายไปอย่างรวดเร็ว หากย้อนกลับมามองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เรามีชั่วขณะแห่งการปฏิวัติ ชั่วขณะที่มวลชนโทสะให้เพดานพังทลาย อะไรที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็เกิดขึ้นแล้ว โมเมนต์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

“ในประเทศไทย อย่างน้อยเรามีสิ่งที่เรียกว่าขบวนการเคลื่อนไหวที่จะห่อหุ้มความโกรธแค้นตรงนี้ ห่อหุ้มชั่วขณะแห่งการปฏิวัตินี้ ขอให้ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ผลักดันข้อเรียกร้องไปเรื่อยๆ รักษาอารมณ์รู้สึกร่วมกันของมวลชนไปเรื่อยๆ อย่าให้มันแตกสลายหายไปแบบการต่อสู้อื่นๆ ที่มันเกิดขึ้นในยุคสมัยปี 2010 เป็นต้นมา”

เปลี่ยนจาก Me เป็น We สู่ความเป็นมิตรสหาย

ต่อประเด็นการวิพากษ์การเคลื่อนไหวของ Occupy Wall Street โอมาร์ หนุนอนันต์ ได้ถามถึงหนังสือเล่มใหม่ของ โจดี ดีน ที่ชื่อ Comrade. An Essay on Political Belonging ตีพิมพ์ในปี 2019 โดยเนื้อหาเป็นการวิพากษ์ความคิดเรื่องความสัมพันธ์แบบพันธมิตร

กรพินธ์อธิบายว่า “จุดยืนของ โจดี ดีน ที่น่าสนใจคือ การวิพากษ์วิจารณ์การต่อสู้ในปัจจุบันว่า แทนที่จะมองว่าเรากระทำการในฐานะ ‘we’ ในฐานะ ‘us’ จากความเป็นเรา ซึ่งกลับกลายเป็นการกระทำการโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะมีแต่ตัว ‘I’ เต็มไปหมด นักต่อสู้มีความเป็นปัจเจกสูงหรือสูงเกินไป และคงเป็นที่มาที่ โจดี ดีน มองว่าการสร้าง ‘we’ หรือพวกเรา ในฐานะ comradeship ในฐานะมิตรสหาย เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

“ตัวอย่างการวิพากษ์วิจารณ์คือ การต่อต้านอำนาจผ่านการใช้โซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการพบปะเชิงกายภาพ คือสิ่งที่เป็นปัญหา ในการโพสต์ข้อความออนไลน์ แม้จะเป็นการโพสต์ที่ท้าทายต่อต้านระบบระเบียบที่มีอยู่ แต่ก็ถือเป็นแค่เสียงของฉัน แล้วฉันก็หวังเพียงจะให้คนรอบข้างที่อยู่ในโลกโซเชียลมากดไลค์ หรือมาเห็นด้วย มาคอมเมนต์โพสต์ของฉัน ถึงที่สุดสิ่งที่ตัวเองแคร์มากที่สุดคือจำนวนไลค์พุ่งไปถึงเท่าไหร่แล้ว จำนวนวิวมากถึงเท่าไหร่แล้ว

“ซึ่ง โจดี ดีน มองว่าเป็นการบั่นทอนขบวนการเคลื่อนไหว และยังเอื้อให้กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม วิถีชีวิตแบบเสรีนิยมใหม่ด้วยซ้ำ

“สิ่งที่ โจดี ดีน ต้องการกอบกู้จึงหมายถึง senses of comradeship (สำนึกของความเป็นสหาย) ที่สลายความเป็นตัวตนของคุณออกไป ต้องไม่ใช่ว่า สิ่งที่ฉันพูดสำคัญที่สุด หรือสนใจแค่จำนวนคนที่จะมาไลค์หรือยอดวิว แต่คือตัวตนที่ถูกสลายไปเมื่อคุณไปพบกับสหายของคุณที่ร่วมต่อสู้กันมา แล้วคุณสร้างตัวตนทางการเมืองใหม่ขึ้นมาพร้อมกับเขา ภาษาฝ่ายซ้ายเรียกได้หลายอย่าง ชองตาล มูฟ เรียกว่า ‘affect’ หมายถึง ความปรารถนาที่จะกระทำการบางอย่างร่วมกัน ‘The We’ จึงจะเกิดขึ้น”

ปัญหาของการไม่มีองค์กรนำ และการแผ่วลงของ Black Lives Matter

มาสู่ข้อถกเถียงที่ว่า การเคลื่อนไหวสมควรจะสละความเป็นตัวตน และต้องเข้าร่วมการต่อสู้ในขบวนอย่างเป็นเนื้อเดียวกันมากน้อยเพียงใด การต่อสู้จึงจะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ดีกว่า

กรพินธุ์เห็นด้วยในประเด็นนี้ แต่ยังมองว่า ไม่ได้หมายความว่า “ต้องมีใบหน้าที่เหมือนกันทั้งหมด”

“แน่นอน การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีความหลากหลาย มีทั้งกลุ่มที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ กลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มนักเรียนมัธยมที่มาพร้อมเป้าหมายเฉพาะของตัวเอง แต่หน้าที่ของขบวนการถ้าต้องการให้มีพลังก็คือ ต้องเอาความรู้สึกถูกกดขี่ต่างๆ นานาที่มีความหลากหลายมาร้อยเรียงกัน เปิดรับกับความหลากหลาย เป็นแนวทางคล้ายกับที่ ชองตาล มูฟ เสนอในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ For a Left Populism (2019) ต้องสร้างขบวนการฝ่ายซ้ายขึ้นมาใหม่ และฝ่ายซ้ายในที่นี้ต้องเปิดรับต่อความหลากหลาย รับ LGBTQ+ รับกลุ่มชาติพันธุ์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ โดยมองว่าการกดขี่มีมากกว่าแค่ชนชั้น แต่หน้าที่ในการสร้างแนวร่วม สร้างพลังทางสังคม จะต้องเอาการกดขี่ที่หลากหลายตรงนั้นมาร้อยเรียง แล้วให้ทุกคนรู้สึกร่วมกันว่า เราคือประชาชนที่ถูกกีดกันจากระบบ (the oppressed) เมื่อนั้น The We หรือ affect ความรู้สึกร่วมจึงจะเกิดขึ้น”

ไม่มี Martin Luther King, Jr. ในปี 2020

Michael Hardt และ Antonio Negri

ต่อประเด็นที่สองนักคิดฝ่ายซ้ายคนสำคัญอย่าง ไมเคิล ฮาร์ดท์ (Michael Hardt) และ อันโตนิโอ เนกรี (Antonio Negri) เสนอประเด็นการสร้างมวลชนไว้ในหนังสือ Assembly (2016) โดยเสนอให้ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของแกนนำ จากการมองแกนนำในฐานะกลุ่มคนที่มีอำนาจวางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวระยะยาว ไปสู่การให้อำนาจการตัดสินใจในการวางยุทธศาสตร์มาอยู่ที่มวลชน

กรพินธุ์อธิบายว่า หนังสือเล่มนี้เสนอว่าปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการนำหรือแกนนำเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในหมู่ผู้ปฏิวัติต่อต้าน ด้านหนึ่งแนวโน้มของผู้ต่อต้านปัจจุบันมักเลี่ยงที่จะมีแกนนำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีที่มา เพราะการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายก่อนหน้านี้เมื่อมีแกนนำแล้วง่ายต่อการถูกปราบปราม แกนนำเหมือนเป็นหัว เมื่อตัดหัวร่างกายก็ตายตาม ฉะนั้นจึงง่ายต่อการถูกปราบปราม อีกด้านหนึ่งการมีแกนนำก็เป็นเหมือนจุดอ่อนและจุดที่ควรวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายซ้ายก่อนหน้านี้

“สิ่งที่ฮาร์ดท์ และ เนกรี ได้ยกตัวอย่างคือ กรณีขบวนการต่อสู้ของคนผิวสี ที่ผ่านมาเรามักจะนึกถึงยุคการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวสี เช่น มัลคอล์ม เอ็กซ์ (Malcolm X) หรือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) นี่คือแกนนำ ผู้นำ ที่มีลักษณะเป็นผู้ชาย ซึ่งขบวนการเรียกร้องแบบนั้นถูกวิพากษ์

“แน่นอนว่าขบวนการต่อสู้ของคนผิวสีได้รับความสำเร็จและการชมเชย แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่นำเสนอเสียงของสมาชิกในขบวนทั้งหมด โดยเฉพาะผู้หญิงคนดำที่แทบไม่มีเสียงเลย ฉะนั้นปัญหาของสิ่งที่เรียกว่า ‘ผู้นำ’ จึงเป็นสิ่งที่ขบวนการร่วมสมัยยุคปัจจุบันโดยเฉพาะหลังสงครามเย็นต้องการแก้ไขปรับเปลี่ยน

“เช่นเดียวกับกรณีของ Black Lives Matter ที่เป็นเหมือนยามาแก้ปัญหาก่อนหน้านี้ แต่หากดูที่ Black Lives Matter ปัจจุบันว่าใครเป็นแกนนำ ตอบไม่ได้ เพราะไม่มี มัลคอล์ม เอ็กซ์ ไม่มี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง มีแต่แกนนอน เป็นเครือข่าย มีความเป็น queer สูงด้วย เปิดรับ black ที่เป็น queer เปิดรับ black woman เยอะ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่รู้จักชื่อของเขา นี่คือการขับเคลื่อนขบวนการร่วมสมัยในปัจจุบัน แต่คำถามคือ Black Lives Matter ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

“มีบทเรียนที่ต้องกล้ายอมรับเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์ จอร์จ ฟลอยด์ ทำให้เกิดเหตุการณ์ประท้วง Black Lives Matter ขึ้นมาเป็นกระแสสูง ทุกคนคิดว่าอเมริกาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเพราะมีการจลาจล การเรียกร้องนี้แพร่ลามข้ามชาติ มีการออกแคมเปญที่เรียกร้องตัดงบตำรวจ เรียกร้องให้ต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจให้หมด ตอนนี้ผ่านมาไม่กี่เดือน ถามว่าการเรียกร้องตรงนี้ไปถึงไหนแล้ว อารมณ์คนที่โกรธพลุ่งพล่าน มวลชนที่พร้อมลงมากล้าทำในสิ่งที่ไม่กล้าทำ มันหายไปแล้วหรือยัง

“โมเมนต์มันแผ่วไปอย่างรวดเร็ว ตอนนี้ทุกคนมองไปถึงอะไร ไม่ใช่การตัดงบประมาณตำรวจ แต่ทุกคนมองไปถึงจะให้ โจ ไบเดน (Joe Biden – แคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต) ชนะการเลือกตั้ง จะชนะทรัมป์ได้อย่างไร ซึ่งมันกลับไปที่การเมืองเชิงสถาบันมากๆ

“Black Lives Matter ไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวต่อ ด้านหนึ่งก็น่าเสียดาย สหรัฐก็ยอมที่จะผ่อนปรนกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เช่น กรณี NBA เจ้าของทีมอนุญาตให้ผู้เล่นบาสเกตบอลสามารถออกแถลงการณ์ สามารถเขียนข้างหน้าหรือข้างหลังเสื้อผู้เล่นได้ สนามบาสเกตบอลกลายเป็นที่ละเลงคำประกาศทางการเมือง ทุนยอม รัฐยอมระดับหนึ่ง ศาลเอาผิดตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ฆ่า จอร์จ ฟลอยด์ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตเลือกรองประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงผิวดำ สถานการณ์ทุกอย่างตอนนี้นำไปสู่การผ่อนปรนมากขึ้น แล้วยังทำให้การเคลื่อนไหว Black Lives Matter แผ่วลงไป ไม่ได้รับการสืบสานขับเคลื่อนต่อ นี่คือบทบาทของการที่คุณไม่มีพรรค ไม่มีองค์กรที่ขับเคลื่อน คุณมีแต่มวลชนและเครือข่ายหลวมๆ ที่อาจมีพลังเมื่อชั่วขณะแห่งการปฏิวัติปะทุขึ้น แต่อาจสืบสานได้ไม่ยาวนาน

“ฮาร์ดท์ และ เนกรี มองว่าขบวนเป็นสิ่งที่สำคัญ ขบวนเป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระยะยาว เพราะขบวนเกิดขึ้นจากมวลชน ขบวนก็เหมือนกับสถาบันทางการเมืองอย่างหนึ่งที่คุณต้องมีไว้เพื่อรองรับอารมณ์ สืบสานอารมณ์ ข้อเรียกร้องของมวลชน แกนนำ พรรค คุณมีไว้เพื่อตัดสินใจระยะสั้น กระทำการเมื่อยามคับขันเท่านั้น แต่สิ่งที่มีอยู่ของ Black Lives Matter เป็นน้อยกว่าขบวนการเคลื่อนไหว อาจเป็นแค่เครือข่ายหลวมๆ แม้กระทั่งขบวนการเคลื่อนไหวอาจจะยังไม่มีด้วยซ้ำ

“ข้อเสนอของ ฮาร์ดท์ และ เนกรี อาจจะเรียกได้ว่าประนีประนอมกับฝ่ายซ้าย คือยังให้มีการคงอยู่ของแกนนำและการจัดตั้ง แต่เปลี่ยนบทบาทใหม่ในลักษณะที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่แนวระนาบ แนวอนาธิปไตย ไม่ใช่กระจัดกระจาย เพราะนั่นคือสิ่งที่ฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่เรียนรู้แล้วว่าไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน”

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า