Cyberpunk 2077: วิทยาการหวาดผวาและประวัติศาสตร์ของความกลัว

ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คงไม่มีประเด็นไหนร้อนแรงในข่าวสารวงการเกมได้เท่ากับการเริ่มวางจำหน่ายเกม Cyberpunk 2077 ที่พัฒนามาจากบอร์ดเกมในชื่อคล้ายกันอย่าง Cyberpunk อันเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นตะวันตกช่วงปี ค.ศ. 1990

Cyberpunk 2077 พาผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่เข้าสู่จักรวาลที่วาดภาพอนาคตของมนุษยชาติในปี ค.ศ. 2077 ที่เทคโนโลยีได้พาวิทยาการอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตหลายอย่างให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างเหนือจินตนาการ

จักรวาลของ Cyberpunk 2077

ผู้เล่นจะเข้าไปอยู่ในเนื้อเรื่องและภารกิจในเมือง Night City เมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงระหว่างแก๊งต่างๆ แก่งแย่งกันเอาชีวิตรอดในชุมชนแออัด ขณะที่สูงขึ้นไปเบื้องบนตึกระฟ้าคือที่อยู่ของบรรดาคนรวย บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติใจหินผู้บงการรัฐบาลกลางผ่านทุนและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Arasaka บริษัททางทหารอย่าง Militech ไปจนถึงบริษัทน้องใหม่ที่เพิ่งกระโดดเข้าวงการอิทธิพลสีเทาในเมืองนี้อย่างบริษัท Kang-Tao จากจีน

เกมมีลักษณะผสมผสานระหว่างมุมมองแบบ ‘เดินหน้าฆ่ามัน’ หรือที่เรียกกันว่า FPS (First Person Shooter) และการเก็บ level ทักษะต่างๆ เหมือนเกมแนว RPG (Role-Playing Game) ที่จะโยนผู้เล่นและตัวละครหลักให้ออกสำรวจ พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าตัวละครอื่นๆ ได้อย่างอิสระตามแบบฉบับของเกม Open World

ผู้พัฒนาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า Cyberpunk 2077 จะให้ประสบการณ์การเล่นที่เหนือกว่าเกมอื่นๆ ที่เคยวางขายในท้องตลาดมาก่อน ด้วยเนื้อเรื่องที่ซับซ้อน พัฒนาการของเมือง Night City จะเปลี่ยนแปลงไปตามการตัดสินใจของผู้เล่น ผู้เล่นสามารถทำได้แทบจะทุกอย่างตั้งแต่การขโมยของ ยิงสู้กับแก๊งต่างๆ ไปจนถึงการเล่นกับแมวที่มีในเกม

จุดขายหนึ่งของเกมยังพูดถึงความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี อย่างการที่มนุษย์สามารถเสียบ plug-in เพื่อเชื่อมต่อตนเองเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ได้ประหนึ่งภาพยนตร์เรื่อง The Matrix รถบินและอาวุธสุดล้ำประหนึ่งภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ไปจนถึงฉาก sex แบบเชื่อมต่อคลื่นสมองของสองคนเข้าหากันเหมือนใน Demolition Man ที่เข้าฉายในปี ค.ศ. 1993

สร้างเกมจากโลกของความกลัว

เส้นทางการพัฒนาเกม Cyberpunk 2077 เป็นที่จับตารอของผู้คนทั่วโลก นับตั้งแต่วันที่ผู้พัฒนาเกมนำเสนอตัวอย่างแรกจนถึงวันที่เกมวางขาย กินเวลาในการพัฒนานานกว่า 7 ปี นับเป็นระยะเวลาที่ยาวนานสำหรับการพัฒนาเกมในวงการเกมปัจจุบัน (หลังจากจบยุค ‘เกมจะออกเมื่อเราบอกว่ามันเสร็จ’ แบบทางค่ายเกม Blizzard Entertainment ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ต้นๆ) ความคาดหวังของผู้คนในวงการเกมทั่วโลกจึงมีมากอย่างเป็นประวัติการณ์ประหนึ่งผู้คนในวงการหนังรอคอยการมาถึงของไตรภาคใหม่ Star Wars ที่สุดท้ายหลังการวางจำหน่ายไปแล้ว จะผิดหวังหรือถูกใจนั้นก็คงขึ้นอยู่กับความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เล่นแต่ละคน ว่าตัวเกมมันคุ้มค่าแก่การรอคอยอันนานแสนนานหรือไม่ (แน่นอน พูดรวมไปถึงความคาดหวังในไตรภาคใหม่ของ Star Wars ด้วยเช่นกัน)

แม้ภาพอนาคตในเกม Cyberpunk 2077 ที่วาดไว้ถึงความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีจะดูเย้ายวนจนหลายคนอยากให้เกิดขึ้นในโลกจริง แต่ผู้พัฒนาเกมได้กล่าวถึง ‘พล็อตเรื่อง’ ในโลกของเกมไว้ว่า “Dystopian future, that’s about five minutes from our own current existence”

Cyberpunk 2077 คือส่วนประกอบของอนาคตอันโหดร้ายและย่ำแย่ มลพิษในอากาศ น้ำเสีย รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะเป็นเพียงหุ่นเชิดให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ทุนหนา อัตราการก่ออาชญากรรมพุ่งสูงกว่าหอไอเฟล บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสามใน Night City ควบคุมทุกอย่างในเมืองผ่านเงินและเทคโนโลยีแบบผูกขาด ในขณะที่ชนชั้นล่างถูกชนชั้นสูงปฏิบัติราวกับเป็นสิ่งของ การเอาชีวิตรอดไปจนถึงการเลื่อนระดับทางฐานะของผู้คนในโลก Cyberpunk 2077 มีแค่ถ้าคุณไม่รวยอยู่แล้ว ก็หาทางแย่งเงินมาจากคนรวยเท่านั้น ซึ่งฟังดูเป็นอนาคตที่มองโลกอันล้ำหน้าไปด้วยเทคโนโลยีในแง่ร้ายเสียเหลือเกิน

ประวัติศาสตร์ความกลัวเทคโนโลยีและอคติของ A.I.

การมองเทคโนโลยีด้วยความหวาดกลัวเช่นที่ Cyberpunk 2077 นำเสนอ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด หากแต่มีมานานและย้อนกลับไปได้ถึงยุคเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อกลุ่มคนงานที่เรียกตนเองว่า Luddites บุกเข้าไปทุบตีเหล่าเครื่องจักรทอผ้าจนกลายเป็นเศษเหล็กในช่วง ค.ศ. 1812 เนื่องจากพวกเขามองว่า เครื่องจักรเหล่านี้กำลังเข้ามาแย่งงานที่พวกเขาทำได้ ทำให้ช่วงนั้นรัฐบาลอังกฤษต้องหัวหมุนไปกับการจัดการปราบเหล่ากลุ่มกบฏผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าทำมือเป็นอย่างยิ่งเกือบ 1 ปีเต็ม เพื่อเปิดทางให้ยุคแห่งเทคโนโลยีการผลิต ที่จะนำพาอังกฤษพุ่งทะยานด้านอุตสาหกรรมเหนือกว่าประเทศอื่นทั่วโลกได้เป็นเจ้าแรก

กลุ่มกบฏ Luddites ผู้ฟาดค้อนได้เก่งพอ ๆ กับการทอผ้า ยิ่งหากสิ่งนั้นคือเครื่องจักรตัวฉกาจ

จากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและเหล่าชาวทอผ้ามือฉมัง มาสู่ช่วงเวลาของนักปรัชญาผู้เลื่องลือเรื่องความเข้าถึงยากอย่างไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger: 1889-1976) เขาได้พูดถึงเทคโนโลยีในเชิงการกล่าวเตือนเอาไว้ในข้อเขียนชื่อ The Question Concerning Technology (1954) ว่า

เรากำลังถูกทำให้ความสามารถในการมีประสบการณ์ในการรับรู้ถึงทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวลดน้อยลง เนื่องจากมนุษย์กำลังมองเห็นธรรมชาติและตัวมนุษย์เองเป็นเพียงวัตถุดิบสำหรับปฏิบัติการต่างๆ ในทางเทคโนโลยี

หรือหากจะพูดอย่างไม่อ้อมค้อม ไฮเด็กเกอร์กำลังจะบอกว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงกุญแจมือที่มัดความสามารถในการมองโลกของเราเอาไว้เท่านั้นเอง

ถัดจากยุคของไฮเด็กเกอร์ มาสู่ยุคร่วมสมัยที่เราๆ ท่านๆ กำลังนั่งจดจ่ออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ กระแสการต่อต้านและหวาดกลัวเทคโนโลยี ยังคงงอกเงยมาจากรากเก่าในประวัติศาสตร์ประหนึ่งไม้เลื้อยที่ค่อยๆ เติบโต กระแสแรกในยุคปัจจุบันเริ่มปรากฏผ่านข่าวความผิดพลาดของการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าขโมยของในห้างสรรพสินค้าชื่อดังภายในมลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนมกราคม 2020 เนื่องจากห้างสรรพสินค้าได้ใช้ A.I. (Artificial Intelligence) ในการตรวจจับใบหน้าของคน

การจับกุมที่ผิดพลาดนี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้า A.I. ตัวนี้ คุ้นชินกับการจดจำใบหน้าของ ‘มนุษย์ผิวขาว’ มากกว่ามนุษย์ผิวสีอื่น ทำให้ชายเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันเข้าไปนอนในคุกร่วมหลายชั่วโมงกว่าจะถูกปล่อยตัวเนื่องจากหลักฐานของ A.I. ไม่ตรงกับผู้ต้องสงสัยที่กล้องวงจรปิดจับภาพได้ ความผิดพลาดครั้งนี้ทำให้กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมถึง ‘อคติ’ หรือ bias ของการเขียนรหัส algorithm และปัญหาด้านความหลากหลายที่มี ให้แก่ A.I. ในการนำมาใช้งาน ว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยในปัจจุบันสามารถเอนเอียงไปในทิศทางเหยียดชนชาติ สีผิว หรือชนกลุ่มน้อยได้อย่างไรบ้าง

Williams ผู้ตกเป็นเหยื่อของการจับกุมผิดพลาดด้วยระบบจดจำใบหน้าของ A.I.

จากความกลัวสู่ความจริง

ในกรณีเลวร้ายที่สุด อาการหวาดกลัวการพัฒนาทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดคดีก่อการร้ายด้วยการวางระเบิดในมหาวิทยาลัยจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย คดีดังกล่าวถูกกล่าวขานกันในชื่อ ‘Unabomber’ ที่โด่งดังในปี ค.ศ. 1978 โดยตามฐานข้อมูลกลางของ FBI ได้ระบุว่า แรงจูงใจในการสังหารผู้บริสุทธิ์ของ Unabomber หรือชื่อจริง ธีโอดอร์ คัคซินสกี (Theodore Kaczynski) อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเบิร์คลีย์ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย คือการต่อต้านรัฐบาลและแนวคิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี

เขาได้เขียนคำประกาศนี้ลงบนนิตยสาร The New York Times เป็นบทความกว่า 35,000 คำ พร้อมคำขู่ว่าจะมีการระเบิดเครื่องบินหากคำประกาศของเขาไม่ได้รับการตีพิมพ์ โชคยังคงเข้าข้างชีวิตผู้บริสุทธิ์อยู่บ้างเมื่อบทความชิ้นนี้กลายเป็นหลักฐานในการมัดตัวคัคซินสกี จนนำไปสู่การจับกุมตัวเขาในกระท่อมกลางป่าที่ห่างไกลผู้คน ความสูญเสียที่อาจจะเกิดจากแนวคิดต่อต้านเทคโนโลยีสุดโต่งของเขาจึงถูกหยุดยั้งเอาไว้ได้ทันท่วงที

น่าสังเกตว่าในทัศนะของคัคซินสกี เทคโนโลยีนั้นสร้างความเสื่อมแก่มนุษยชาติด้วยการหันเหเราออกจากธรรมชาติ เขาได้พยายามอธิบายว่ามนุษย์ได้สูญเสียเวลาอันมีค่าไปกับความไร้สาระที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมอบให้ ซึ่งเขาเรียกมันว่า ‘กิจกรรมทดแทน’ อย่างการพยายามบรรลุเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ การเสพสื่อบันเทิง การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปจนถึงการติดตามเชียร์นักกีฬาทีมโปรด

นั่นหมายความว่ามนุษย์ในทัศนะของคัคซินสกีนั้นมี ‘กิจกรรมที่แท้จริง’ ที่ควรค่าแก่การเสียเวลาไปทำ ดังที่เห็นได้จากการที่เขาพยายามไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าดงพงไพรอันห่างไกลความเจริญ ล่าสัตว์ ปลูกพืช ประหนึ่งพาเรากลับไปเยือนยุคสมัยที่ลิงเพิ่งเริ่มเดินสองขา และคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า หากนายคัคซินสกีได้ออกมาเห็นโลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีผลาญเวลาอย่างการนั่งดูคลิปแมวในยูทูบร่วมชั่วโมง หรือการหัวเราะไปกับการเต้นของเหล่านักเต้นสมัครเล่นในแอพพลิเคชั่น Tiktok ในวันที่เหนื่อยล้านั้น เขาจะรู้สึกอย่างไร

การจับกุมมือระเบิด Unabomber หรือนาย Kaczynski โดย  FBI เมื่อเมษายน 1996

ในปัจจุบัน ยังมีกลุ่มทางสังคมอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า ‘The Amish’ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มผู้ต่อต้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ พวกเขาตั้งรกรากอยู่ทั่วแผ่นดินสหรัฐ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน ดำรงชีวิตห่างไกลสังคมเมือง เคร่งศาสนาและคำสอน ทำฟาร์มทำไร่และประทังชีวิตด้วยวัตถุดิบที่ชุมชนร่วมกันทำ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ออกมาพูดโจมตีเทคโนโลยีโดยตรงเช่นกลุ่มอื่นๆ ที่กล่าวไปข้างต้น แต่พวกเขาก็ไม่อนุญาตให้มีการใช้โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ไปจนถึงระบบไฟฟ้าหรือรถยนต์ในชุมชนของพวกเขา โดยให้เหตุผลว่าการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่จำกัดขอบเขตนั้นจะเป็นการทำลายวัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นชุมชนของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้มีท่าทีที่เป็นอันตรายต่อสังคมโดยรอบเหมือนขบวนการก่อนหน้า และดินแดนของพวกเขาตามที่ต่างๆ อย่างในมลรัฐโอไฮโอ, เพนซิลเวเนีย และอินเดียนา ก็ดูจะเป็นสถานที่พึ่งพาตนเองอันน่าหลงใหลประหนึ่งโลกในนิทาน

วิถีชีวิตแบบบ้านไร่ไม่เอาเทคโนโลยีของ The Amish ที่เน้นความเป็นชุมชนส่วนรวม

ประเทศไทยเองก็ยังมีสภาวะของความหวาดกลัวเทคโนโลยีเดินควบคู่ไปกับการพัฒนาทางดิจิตอลอยู่ไม่น้อย โดยสังเกตได้จากการกล่าวเปิดงาน ‘Digital Thailand Big Bang 2018: โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน: Thailand Big Data’ ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวถึงการรับมือภัยคุกคามทางเทคโนโลยีของไทยนั้นต้องเร่งในการพัฒนาควบคู่และให้ความสำคัญพอๆ กับสิทธิมนุษยชน

งานเขียนเรื่อง แนวโน้มด้านความมั่นคงปลอดภัยของโลกไซเบอร์ ของ พลตำรวจตรีสุรพงษ์ ชัยจันทร์ (2561) ก็เป็นหลักฐานความกลัวเทคโนโลยีของฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย เพราะช่วงการผลิตงานเขียนชิ้นนี้ เขาเป็นรักษาการแทน รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 และเป็นนักศึกษา วปอ. หลักสูตร วปอ. รุ่น 60 ได้กล่าวว่า “ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อรองรับสถานการณ์อาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”

ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาครัฐไทยมีการจับตามองการพัฒนาของเทคโนโลยียุคดิจิตอล โอบรับและพยายามแต่งเนื้อแต่งตัวให้ ‘ดูทันสมัย’ แต่ในขณะเดียวกันก็มองเทคโนโลยีที่ตนเองไม่อาจควบคุม เช่น แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ต่างๆ ด้วยสายตาหวาดระแวง ซึ่งมุมมองต่อเทคโนโลยีดังกล่าวก็อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของภาครัฐไทยต่อประเด็นดังกล่าวต่อๆ ไป

ภาพงาน Digital Thailand Big Bang 2018 : โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน : Thailand Big Data

สุดท้ายนี้ Cyberpunk 2077 จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เกมที่เล่นเพื่อฆ่าเวลา โด่งดังเพียงเพราะใช้เวลาในการพัฒนานานแสนนาน หรือเพราะ feature ต่างๆ ที่เกมอื่นไม่มี แต่คุณค่าสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้หากคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน คือการที่เกมกำลังนำเสนอมุมมองอันสุดโต่งของการใช้เทคโนโลยีไปส่งเสริมด้านที่ย่ำแย่ที่สุดของมนุษย์ออกมา อันได้แก่ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และเป็นหลักฐานอีกหนึ่งชิ้นของการจำลองภาพความหวาดกลัวของมนุษย์ ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ ‘สิ่งที่เราไม่รู้และไม่อาจจะควบคุมได้’ (fear of unknown) ที่เคยมีมาในอดีตยังคงส่งผลถึงปัจจุบัน และอาจจะซ่อนตัวอยู่ลึกๆ ต่อไปในใจของเราทุกคนจนกระทั่งเลยปี ค.ศ. 2077 ก็เป็นได้

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า