เตือนภัยต้มตุ๋นออนไลน์ คนไทยสูญเงิน 50,000 ล้าน แก๊งคอลเซนเตอร์ยกระดับแอปดูดเงิน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งให้การสนับสนุนศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (Centre for Gambling Studies) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอรายงาน ‘การสำรวจสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ปี 2566’ ณ โรงแรมเมอร์เคียว กรุงเทพฯ สยาม โดยมี นายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เป็นผู้นำเสนอรายงาน พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมการเสวนาวิชาการจากทั้งภาครัฐและวิชาการ อาทิ พลตำรวจตรีนิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) ร้อยตำรวจเอกเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รองศาสตราจารย์ ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และ นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการชัวร์ก่อนแชร์ ร่วมแสดงข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 

รายงานฉบับนี้ได้ทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15-79 ปี จำนวน 6,973 ตัวอย่าง ใน 24 จังหวัด ทุกภูมิภาคของไทย ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลการหลอกลวงออกเป็น 2 ประเภทคือ ตกเป็นผู้เสียหาย และป้องกันตัวได้ จากการถูกหลอกลวงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจมากกว่า 20 รูปแบบเลยทีเดียว

‘คอลเซนเตอร์’ ยังครองแชมป์ต้มตุ๋นสูงสุด

ผลการสำรวจในรายงานฉบับนี้ระบุว่า คนไทยร้อยละ 82.7 ใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง 20 นาที โดยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียมากกว่าการทำกิจกรรมอื่นบนอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงจากการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือถึงร้อยละ 95.1 จากการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ 

พฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ 4 ลำดับแรก คือ

  1. รับสายโทรศัพท์จากคนแปลกหน้าหรือเบอร์ที่ไม่ได้บันทึก
  2. รับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนบนโซเชียลมีเดีย
  3. ซื้อสินค้าออนไลน์หรือช่องทางซื้อขายที่ไม่เป็นทางการ
  4. ไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนซื้อสินค้า

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลโดยไม่รู้ที่มา การเปิดเผยข้อมูลบนโลกออนไลน์ และการผูกบัตรเครดิต/เดบิต/บัตรกดเงิน กับร้านค้าหรือแอปพลิเคชัน เป็นต้น โดยผู้ที่ถูกสำรวจนั้น ล้วนมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงออนไลน์แบบใดแบบหนึ่งอย่างน้อย 4 แบบด้วยกัน 

การรับสายโทรศัพท์จากคนแปลกหน้าหรือ ‘คอลเซนเตอร์’ เป็นพฤติกรรมเสี่ยงมากที่สุดเป็นอันดับแรก และพบมากที่สุดในทุกช่วงอายุหรือเจเนอเรชัน (generation) โดยกลุ่มผู้มีอายุ 61-79 ปี หรือ เบบี้บูมเมอร์ (ฺBaby Boomer) เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงมากที่สุด ร้อยละ 85.4 รองลงมาคือกลุ่มผู้มีอายุ 28-45 ปี หรือ Gen Y โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทุกช่วงอายุ อยู่ที่ร้อยละ 84.6

ป้องกันแล้วก็ยังถูกหลอก เผยนวัตกรรมล่าสุด ‘แอปดูดเงิน’

น่าสนใจว่าจากการสำรวจในครั้งนี้ ร้อยละ 89 ของกลุ่มประชากรตัวอย่าง มีการป้องกันตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือตามลำดับ คือ

  1. ตั้งรหัสล็อกหน้าจออุปกรณ์ แอปพลิเคชัน ที่แตกต่างกัน
  2. ลบหรือบล็อกบุคคลต้องสงสัย ดูอันตราย หรือแอ็กเคานต์ปลอม
  3. ใช้แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ เพื่อตรวจสอบหรือป้องกัน
  4. ทำการรีพอร์ตให้ผู้ให้บริการทราบ 

ส่วนการเช็กประวัติบุคคล ในกรณีสานสัมพันธ์ การสังเกต https:// ถือว่าเป็นวิธีป้องกันที่ได้รับความสนใจน้อย ขณะที่การแจ้งหน่วยงานรัฐเมื่อเจอเพจปลอม เว็บไซต์ปลอม และการกระทำผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ต มีสัดส่วนน้อยที่สุด โดยเจเนอเรชันที่รู้จักการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงออนไลน์คือ Gen Z และ Gen Y ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการศึกษาดี มีการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศตลอดเวลา แต่ก็ยังถูกหลอกลวงเช่นกัน เพราะยังขาดความตระหนักในการรีพอร์ต หรือแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ แม้จะมีเพียงแค่ร้อยละ 8.4 เท่านั้นที่ไม่ทราบว่าจะต้องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานใด

ขณะที่การเปลี่ยนรูปแบบและวิวัฒนาการการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ เช่น จากคอลเซนเตอร์ กลายมาเป็นการส่งลิงก์ทาง SMS เป็นต้น 

พลตำรวจตรีนิเวศน์ รอง ผบ.บช.สอท. ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงให้ทันกับความตระหนักรู้ของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมล่าสุดอย่าง ‘แอปดูดเงิน’ ที่กำลังเป็นที่นิยมของขบวนการหลอกลวง โดยการส่งลิงก์หลอกให้ติดตั้งแอปในโทรศัพท์ พร้อมระบุว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านการติดตั้งแอปพลิเคชัน เช่น ตั๋วเครื่องบินฟรี การลดหย่อนภาษี ค่าไฟฟ้าหรือประปา เป็นต้น

ปี 66 มูลค่าความเสียหายเกือบ 50,000 ล้านบาท

ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา การหลอกลวงออนไลน์มีมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 49,845 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยมูลค่าความเสียหายต่อหัว 2,661 บาท โดยรูปแบบการหลอกลวงออนไลน์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ

  1. การอ้างให้ผลประโยชน์ มูลค่าความเสียหาย 30,001 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัว 9,472 บาท
  2. หลอกลวงผ่านการซื้อขาย มูลค่าความเสียหาย 10,454 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัว 710 บาท แม้จะมีมูลค่าต่อหัวน้อย แต่มีจำนวนมาก 
  3. เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย มูลค่าความเสียหาย 4,443 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัว 2,743 บาท 

ขณะที่ ผู้ที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ในปีที่ผ่านมามีจำนวน 36.145 ล้านคน โดย 18.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ตกเป็นผู้เสียหาย อัตราเฉลี่ยของการตกเป็นผู้เสียหายจากการหลอกลวงผ่านการซื้อขายมีปริมาณมากที่สุดถึงร้อยละ 95.5 และเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกก็กลายเป็นผู้เสียหายไปแล้วเรียบร้อย เช่น การซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงปก เป็นต้น

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า