ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์: ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมเกมไทยในเวทีโลก ผ่านสายตา depa

มูลค่าตลาดเกมในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกปี หากคิดเป็นเม็ดเงินอาจแตะไปเกือบ 35,000 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่ปัญหาสำคัญคือ ประเทศไทยสามารถสร้างเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมนี้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่

อุตสาหกรรมเกมไทยมีจุดเปลี่ยนผ่านจำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเติบโตของเม็ดเงินที่ไหลเวียนภายในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ทิ้งภาพเกมในฐานะสิ่งมอมเมาเยาวชน ก่อนจะผนวกตัวเองเข้ากับกระแสการตื่นตัวทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่จะปูทางไปสู่อนาคต ทว่าความจริงแล้วอุตสาหกรรมเกมไทยพัฒนาไปแล้วถึงขั้นไหน มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร และมีโอกาสเติบโตแค่ไหนในตลาดโลก อาจจะเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรกลับมาให้ความสนใจมากขึ้น

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

เพื่อที่จะหาคำอธิบายในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตดังกล่าว WAY จึงร่วมพูดคุยกับ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยเฉพาะพูดคุยถึงช่องทางที่ depa พยายามส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมไทย สร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนนักพัฒนาเกมไทย ไปจนถึงอุปสรรคสำคัญที่กีดขวางวงการเกมไม่ให้โตไปกว่านี้

แน่นอนว่าการผลักดันเรื่องใหญ่ระดับชาติเช่นนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนกดคีย์บอร์ด แต่ ดร.ณัฐพล ก็ยังคงเชื่อมั่นถึงความเป็นไปได้ที่คุ้มค่าสำหรับการพยายาม และอาจจะเป็นช่องทางยกระดับชีวิตหรือทำรายได้อีกมหาศาลให้กับประเทศไทยต่อไป

ตลาดอุตสาหกรรมเกมเป็นอย่างไร 

จากข้อมูลที่ได้สำรวจ มูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ในนี้ประกอบไปด้วยหลายอย่าง เช่น อุตสาหกรรมออกแบบตัวการ์ตูน หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรม Characters ตรงนี้ก็เหยียบๆ 2,000 ล้านบาท แล้วก็มีอุตสาหกรรม Animation ที่มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมเกม อยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้าน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี มาโดยตลอด

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

มูลค่าของตลาดอุตสาหกรรมเกมจะขึ้นอยู่กับยุคสมัยด้วย ช่วงแรกอาจเป็นเกมคอมพิวเตอร์ เกมคอนโซล ระยะหลังก็พัฒนาไปสู่เกมโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวเลขก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น ร้อยละ 15 บ้าง ร้อยละ 20 บ้าง ยิ่งช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดก็เติบโตถึงร้อยละ 35 เลยทีเดียว

มูลค่าตลาดสูงขึ้นทุกปี แต่ทำไมตลาดเกมไทยยังสู้ตลาดเกมต่างประเทศไม่ได้

ขออธิบายแบบนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยไม่ว่าจะเป็นด้านแอนิเมชันหรือด้านอื่นๆ เรามักจะเป็นผู้รับจ้างผลิต
(Original Equipment Manufacturer: OEM) เสมอ อุตสาหกรรมเกมที่บอกว่ามีมูลค่าเกือบๆ 35,000 ล้านบาท ก็ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือหนึ่ง-ผู้พัฒนาเกม (Game Developer) สอง-ผู้จัดงานต่างๆ (Organizer) กับ Game Licenser ที่คอยอนุญาตการจัดงาน Event ต่างๆ และสาม-ผู้จัดจำหน่ายเกม (Game Publisher) ที่มีอำนาจควบคุมตลาด

ประเทศไทยอยู่ต้นน้ำของอุตสาหกรรมเกม ซึ่งจริงๆ สามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่านี้ แต่ส่วนใหญ่เรารับจ้างทำแล้วส่งออกมากกว่า เช่น เขียนโปรแกรม เป็นต้น แล้วค่อยถูกเอาไปตีตราว่าเกมนี้เป็นผลิตภัณฑ์ของใคร ของผู้จัดจำหน่ายเจ้าไหน ก่อนจะถูกนำกลับมาเล่นในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้เลยทำให้เราสูญเสียบางอย่างไป เราเหลือส่วนแบ่งจริงๆ แค่ร้อยละ 30 จากที่ควรได้ อีกร้อยละ 70 กลายเป็นของคนอื่นหมด เช่น กลุ่ม Game Licenser หรือกลุ่มผู้จัดจำหน่าย เป็นต้น 

ผมมองว่าหากสามารถดึงให้ Game Licenser กับกลุ่มผู้จัดจำหน่ายเกมสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ อย่างน้อยๆ คือจดทะเบียนในประเทศไทย แล้วเป็นศูนย์กลางในการเฟ้นหาผู้พัฒนาเกมในประเทศไทย อาจจะดูเหมือนฝัน แต่อย่างน้อยเราก็จะได้มูลค่าที่แท้จริงของตลาดนี้ในเมืองไทย ไม่ได้กำลม แต่ได้กำก้อนหินเอามาถมที่ก็ยังดี 

ความพร้อมของทรัพยากรบุคคลด้านเกมในไทยเป็นอย่างไร

ความจริงประเทศไทยมีหลายอย่าง คณะที่เรียนเกี่ยวกับการทำแอนิเมชันก็มี แต่คนที่ทำเกมอาจจะไม่ได้มาจากสายนี้อย่างเดียวก็ได้ เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบความเป็นทีม แม้แต่ผู้ผลิตเนื้อหา (Content Creators) เองก็สำคัญ บางครั้งเกมไทยพัฒนาเสร็จแล้ว แต่พอส่งออกสู่ตลาดกลับล้มเหลว เพราะเราไม่ได้มีคนสร้าง Story หรือเนื้อหาต่อยอดอะไร

เคยมีเกมมือถือเกมหนึ่งซึ่งมีกระแสโด่งดังในต่างประเทศ เราใส่เรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับผีไทยเข้าไป คนฮือฮากันมาก เพราะว่ามันมีความแปลกใหม่ ผมเลยเห็นว่าการสร้างคนในสายอุตสาหกรรมนี้มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนพัฒนาเทคโนโลยีเกม กับอีกกลุ่มที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กลุ่มคนที่เป็นผู้พัฒนาเนื้อหา ซึ่งทั้งสองกลุ่มในมหาวิทยาลัยไทยก็มีการผลิตออกมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังขาดแคลนคนที่จะเข้ามาในสายอุตสาหกรรมนี้อยู่

พูดถึง depa กันบ้าง อะไรคือ ‘depa Game Online Academy’ และ ‘depa Game Accelerator’ 

โครงการ depa Game Online Academy เราทำขึ้นเพื่ออยากให้ผู้ที่สนใจจะเข้ามาในอุตสาหกรรมเกมได้รู้ว่า เขาต้องทำอะไรบ้าง เช่น การออกแบบเกมทำอย่างไร การออกแบบแผนธุรกิจเกมทำอย่างไร เป็น Open Online Platform ที่ทำให้คนเริ่มตระหนักถึงวิธีการสร้างเกมกันมากขึ้น เหมือนสมัยเด็กๆ ที่เราก็ต้องเรียนวิชาแนะแนวในโรงเรียน โดยเป็นการแนะแนวกันว่าความรู้พื้นฐานของอุตสาหกรรมนี้คืออะไร แล้วก็มีหลักสูตรอีกขั้นหนึ่งที่เรียกว่าระดับ Intermediate ในระดับผู้พัฒนาเกม ตรงนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาธุรกิจ การประสานงาน การหาตลาด เป็นต้น เรายังพัฒนาและคอยเติมหลักสูตรเข้าไปอยู่เรื่อยๆ

อย่างที่สอง depa Game Accelerator เน้นไปที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกม โดยต้องมีการ ‘Accelerate’ คือการให้คำปรึกษาเชิงลึก เช่น ถ้าจะจัดตั้งธุรกิจแบบนี้ ส่งออกแบบใด เรื่องภาษีทำอย่างไร ใครคือคู่ค้าของคุณ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ลึกขึ้น ปัจจุบันเราดำเนินงานร่วมกับผู้พัฒนาเกมกว่า 10 ทีม เกิดการร่วมมือกันทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 45 ล้านบาท

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

เวลาเราทำหลักสูตรเหล่านี้ เราจะทำร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (Thai Game Software Industry Association: TGA) ซึ่งเขาเป็นคนที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมเกมและรู้ช่องทางอยู่แล้ว

เรื่องทุนในการพัฒนาเกม เอกชนต้องแบกทั้งหมดเองหรือว่า depa เข้าไปช่วยด้วย

โปรแกรมที่ผ่านมาในอดีตอย่าง depa Game Online Academy และ depa Game Accelerator เราจะสนับสนุน ในอดีตถ้าเราเอาครูมาสอนคนรุ่นใหม่ที่กำลังทำอุตสาหกรรมเกม อาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะเหมือนเอาครูมายืนพูดเปิดตำราเท่านั้น แต่ถ้าเอาคนที่มีประสบการณ์ อาจจะมาจากสมาคมฯ ก็จะเหมือนรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง ทำให้เกิดการคุยภาษาเดียวกันมากกว่า การร่วมมือกันทำงานแบบนี้นอกจากจะมี Pain Point เดียวกันแล้ว ยังอาจจะนำไปสู่การจับมือทางธุรกิจกันต่อไปด้วย นี่คือกลไกวิธีทำงานในยุคปัจจุบัน

เวลาที่เราพูดถึงเงินทุน เราจะพยายามใช้เป็นโจทย์ตั้งต้นของการทำงาน แล้วจากจุดนั้นจึงค่อยพยายามพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ หรือผู้พัฒนาเกมใหม่ อันนี้เป็นขั้นแรก แต่เราไม่ได้ผลักดันแค่โครงการ depa Game Online Academy กับ depa Game Accelerator หรือโครงการอบรมธุรกิจแบบออนไลน์เท่านั้น เรากำลังทำโครงการในรูปแบบร่วมลงทุน แบบไม่ได้ค้ากำไรด้วย ซึ่งทุนตรงนี้ก็จะทำให้พวกเขามีพลังมากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมที่เราริเริ่มทำจนสำเร็จ คือ ความร่วมมือกับบริษัทเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Nintendo ที่ depa ได้นำเอา Nintendo DevKit มาเป็นเครื่องมือที่ช่วยต่อยอดให้ผู้พัฒนาเกม จนทำให้เกมไทยสามารถไปขายบน eShop ได้แล้ว 2 เกม และกำลังนำเกมอื่นๆ ขึ้นไปอีก

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ประเด็นต่อมาคือคำถามที่ว่า ในเมื่อมีการสนับสนุนแล้ว แต่ทำไมเรายังไม่ได้ขึ้นไปอยู่ในระดับโลก อันนี้ก็ต้องดูก่อนว่าผู้นำตลาดโลกตอนนี้มีใครบ้าง หนึ่ง-จีน สอง-สหรัฐฯ สาม-แคนาดา ลำดับต่อๆ มาก็เป็นเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมควบคู่กันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้คนไทยขึ้นไปยืนในระดับนั้นได้ เราต้องช่วยให้ธุรกิจเกิดขึ้นที่นี่ให้ได้ก่อน หรือทำให้เกิดการร่วมมือทางธุรกิจและเรียนรู้ประสบการณ์เพิ่มจากการร่วมมือเหล่านี้ให้ได้ก่อน แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยตั้งแต่จุดเริ่มต้นมันก็คงเกิดยาก ประเทศที่พูดถึงนั้นเขาไม่ได้พัฒนามาแค่ปีสองปี แต่เขาพัฒนามาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนเวลาเราพูดเรื่อง Soft Power ของเกาหลีใต้ เขาก็ไม่ได้แค่หลับตาแล้วเกิดขึ้นเลย อย่างแคนาดาที่เขาสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมขึ้นมาได้ แม้จะมีประเทศเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเกมเหมือนกัน ก็เพราะเขารู้จักจัดวางบทบาทตนเอง

การจัดวางบทบาทของตนเองและค่อยๆ ผลักดันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าผู้ประกอบการเกมในไทยพูดว่าวันนี้เรายังไม่มีอะไรแบบนั้น นั่นแปลว่าวันนี้คือวันสำคัญที่เราต้องปรับทั้งระบบนิเวศของธุรกิจเกมในไทย ปรับทั้งตัวกฎหมาย ปรับทั้งการส่งเสริม เพื่อให้มันกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยจริงๆ 

พูดถึงกฎหมาย กฎหมายประเทศไทยมีอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมเกมบ้างไหม

ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายไหนมาขวางการผลักดันวงการเกม แต่การจะดึงผู้ประกอบการระดับชั้นนำ (Leading-firm) ให้มาจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย มีความยุ่งยากและเสียเวลานานพอสมควร เราก็ต้องหาทางอำนวยความสะดวกให้เขาด้วย 

อันนี้หมายความว่า กฎหมายอาจจะถูกใช้แก้ปัญหาได้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gain Tax) หรือเรื่องอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นทุกเรื่องจะดำเนินไปสู่การขออนุญาตให้ดำเนินการในประเทศไทยได้โดยสะดวกอย่างไร เหมือนเรารู้ว่ากฎระเบียบข้อบังคับเหล่านี้โอเคหมดแล้ว แต่พอเอาเข้าจริงต้องต่อคิวยาวเป็นไมล์ เราจะรู้สึกดีไหมล่ะ แต่พอไปอีกประเทศเขาอาจจะบอกว่าให้ดำเนินการทางออนไลน์ได้เลย คือเราดันไปเข้าใจประเด็นผิดว่าการแก้กฎหมายคือการจัดการปัญหา แต่จริงๆ ในแง่ธุรกิจคือการให้มีการจัดซื้อจัดจ้างและขั้นตอน (Procurement and Process) ที่สะดวกต่างหาก 

ปัจจุบันนี้กฎหมายต่างๆ ถูกส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว อย่างล่าสุดเรื่องภาษีกำไรจากเงินลงทุนก็ได้รับอนุมัติแล้ว รอเข้ากฤษฎีกาแล้วประกาศออกมา หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังในการบังคับใช้ต่อไป

หากเป็นนักพัฒนาเกมรายเล็กจะได้รับความช่วยเหลือจาก depa อย่างไรบ้าง

จากการที่เราจับมือกับสมาคมฯ ทำให้ได้รู้ว่าในวงการเกมมีผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาเกมอยู่ไม่เยอะราย อาจจะแค่หลักพัน หากเป็นรายเดิมๆ ที่เขาทำอยู่แล้ว เราก็เอาโครงการ depa Game Accelerator ไปช่วยให้เขารู้จุดแข็งจุดอ่อนต่างๆ 

ถ้าเป็นกลุ่มหน้าใหม่ ในตลาดก็มีแค่ 1-2 ราย ส่วนใหญ่จะมีแค่ไอเดีย แต่ยังขาดงบสำหรับจัดตั้งธุรกิจ เราก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Seed money’ โดยที่ depa จะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นด้วย แต่จะทำงานกันในลักษณะที่มีรุ่นพี่เป็นผู้ดูแล (Mentor) ส่วนรายที่โตขึ้นมาหน่อย คือเริ่มทำเกมไปแล้ว แต่ออกสู่ตลาดไม่ได้หรือยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะมีอีกมาตรการที่ให้การสนับสนุนที่มากขึ้น

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองรูปแบบข้างต้นจะคัดเลือกกันบนฐานธุรกิจ คืออยู่ในสายตาของนักลงทุน (Investors) และนักธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์เป็นผู้พิจารณาไอเดียเหล่านี้ว่าจะไปต่อได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจจะไม่ได้มองแค่ไอเดียธุรกิจ แต่มองไปถึงทีมงานและทีมเวิร์คด้วย ไม่ใช่แค่ให้ส่งแผนธุรกิจมาแล้วได้เงินเลย แต่ต้องเกิดการแข่งขันขึ้นมา เราเคยมีงานประจำที่ทำกันอยู่เรียกว่า Game Competition ที่นอกจากมีการเรียนรู้อุตสาหกรรมเกมแล้ว รอบสุดท้ายยังมีการแข่งขันกันเพื่อเข้าสู่กระบวนการเหล่านี้ด้วย กระบวนการตรงนี้มีขึ้นเพื่อดูว่าโอกาสเติบโตทางธุรกิจ (Business-growth) เป็นอย่างไร

จากโครงการต่างๆ ที่ได้ทำมา depa พบเห็นปัญหาอะไรบ้าง

เราไม่มีปัญหาอะไรกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกม ส่วนใหญ่จะมีบางจังหวะบ้างที่เราพยายามผลักดันอุตสาหกรรมเกมขึ้นไปเป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave) เพื่อให้รัฐบาลหันมามองอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้นบ้าง แต่ในช่วง 3-4 ปีที่เราทำงานมา เราไม่เคยได้รับการสนับสนุนเลย

ตรงนี้เราก็ต้องไปทำความเข้าใจกับแนวร่วมอย่างสมาคมฯ และผู้ประกอบการ ว่าเราต้องจับมือกันให้มากขึ้น เพราะถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากกว่านี้ เราก็ต้องไปหางบสนับสนุนที่เหลือจากภาคอุตสาหกรรมอื่นมาให้ เอาง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ depa Game Accelerator หรือ depa Game Online Academy ก็ไม่ได้มาจากงบประมาณประจำปีที่รัฐบาลจัดสรรให้ แต่มาจากความพยายามของ depa ที่อยากดันให้อุตสาหกรรมเกมกลายเป็นความหวังใหม่ของภาคอุตสาหกรรมใหม่ในไทยก็ว่าได้ โดยปีนี้เราเสนอเรื่องไปยังกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับงบประมาณมาจำนวนหนึ่งเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมเกมให้ไปต่อตามแผนอีก 4 ปี

เวลาพูดคุยกับน้องๆ ในวงการเกม ส่วนใหญ่จะมีคำถามเสมอว่า ทำไมไม่มีงบประมาณหรือโครงการจากรัฐบาลมาสนับสนุน ก็ต้องตอบว่าเขาไม่ได้ให้มา เราเองก็พิมพ์แบงค์ไม่ได้ ก็พูดตรงๆ แต่เราก็จับมือกับน้องๆ นะเวลาเข้าไปเสนอเรื่องต่างๆ ในสภา ก็เจอคำถามกลับมาประมาณนี้แหละ ว่าธุรกิจนี้มันไร้ความหวังนะ มันเติบโตไม่ได้นะ มันจะไปต่อแบบธุรกิจเกมแนวหน้าเหมือนต่างประเทศได้อย่างไร คือทุกคนไม่เข้าใจว่านี่คือช่องทางและโอกาสใหม่ในการคว้าเม็ดเงิน เอาแค่ที่พูดไปตอนแรกเรื่องส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 30 เท่านั้นที่ไทยได้ แต่อีกร้อยละ 70 ไปอยู่ในมือต่างประเทศ ถ้าเราเอาส่วนแบ่งนี้กลับคืนมาได้บ้างก็เป็นประโยชน์กับประเทศแล้ว

ปัญหาคือ คนมองไม่เห็น Pain Point ที่แท้จริง มองว่ามันเป็นอุตสาหกรรมเล็กๆ ระดับหมื่นกว่าล้านบาท แต่ถ้าอนาคตมันโตเป็นหลักแสนล้านบาทล่ะ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่หรือ ผมคิดว่ามันคือการสร้างโอกาสใหม่ เพราะทุนในประเทศเราก็มีอยู่ แต่ที่ผ่านมาเราเอาไปสร้างให้คนอื่น ใช้ Productivity ในชาติไปทำให้คนอื่น คนอื่นกลายเป็นผู้ได้มูลค่าเพิ่ม (Value Added) ไปแทน ทำไมเราไม่เอาทั้งกระบวนการของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มาทำให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่อย่างจริงจัง โลกกำลังเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นดิจิทัล การผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดในไทยก็มีทั้งกลุ่มคนทำ Content กลุ่มคนทำ Data กลุ่มเทคโนโลยีอย่าง Cloud รวมไปถึงกลุ่มที่ใช้ Content ในเชิงบริการอย่างอุตสาหกรรมเกม หรือแม้แต่กลุ่ม Digital Service ด้วย

เรามักพูดติดปากว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องส่งเสริม แต่เราลืมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมที่แท้จริงเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้ทุนภายในประเทศ หรือการสร้างอาชีพใหม่ให้สามารถเติบโตได้ ซึ่งจะต้องมีการสร้างสินค้าทุน (Capital Goods) ของประเทศด้วย 

สังคมไทยทุกวันนี้ยังมีมายาคติด้านลบเกี่ยวกับเกมอยู่ จะก้าวข้ามอย่างไร

กองทัพเดินด้วยการตีป่าล้อมเมือง อย่าง depa เวลาทำงานเราก็เลือกทำงานกับภาคเอกชนที่เป็นสมาคมฯ เราพยายามยกเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นเป็น Success Case เพื่อให้เกิดการจัดการที่ดี แล้วเราจะกล้ายืดอกได้ว่า เห้ย ถ้าเราทำแบบนี้ประเทศไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นนะ แบบนี้ถึงจะมีคนเหลียวตามอง

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ครั้งล่าสุดเราก็พยายามทำแบบนี้ จนในปี 2565 นี่แหละที่มีคนเหลียวตามองแล้วให้โอกาสไปทำงาน มันต้องทำด้วย ปฏิบัติจริงด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ จะมีคนตบโต๊ะแล้วบอกว่าประเทศไทยต่อไปนี้จะเป็นอุตสาหกรรมที่มี Content แล้วสร้างเนื้อหาที่สอดแทรกวัฒนธรรมเพื่อใช้ Soft Power สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่แค่ depa บอกว่าอยากทำแล้วจะได้ทำ มันขึ้นอยู่กับว่าคนที่เคาะโต๊ะเขาจะให้เราทำมากน้อยแค่ไหน สิ่งแรกที่เราเริ่มทำได้คือทำให้มันเกิดผล ทำให้มันเกิดแรงกระแทกที่แรง เหมือนถ้าเราไปแข่งเทนนิสแล้วไม่ได้ที่หนึ่ง จะมีคนมารับเราที่สนามบินไหม ซึ่งถ้าเราทำเกมแล้วถูกเอาไปใช้ใน e-Sports หรือได้รางวัลระดับโลก แล้วพูดกันว่าผู้ประกอบการเกมไทยหรือเด็กไทยทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ วันนั้นแหละจะมีคนเหลียวตามอง นี่แหละคือวัฒนธรรมของประเทศไทย

Soft Power เกี่ยวกับความเป็นไทยที่อาจจะสอดแทรกผ่านเกม ทำอย่างไรให้ผู้คนไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด

มันต้องมาจากรากเหง้าวัฒนธรรมของไทย อย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วว่าเกมหนึ่งใช้ผีเปรตมาเป็นตัวละครในเกม ถามว่าพอคนไม่เคยเห็นผีเปรต ไม่รู้จักผีเปรตมาก่อน ก็จะสงสัยว่ามันคืออะไร เพราะเขาไม่รู้จักวัฒนธรรมเรา การใส่เข้าไปคือการค่อยๆ แทรกซึม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย เรื่องราว หรือวัฒนธรรมก็ตาม 

ไม่ได้หมายความว่า Soft Power จะต้องยัดเข้าไปทีเดียว แต่มันคือสิ่งที่คนค่อยๆ เห็นแล้วหันมาสนใจ บางประเทศเขาใช้ Soft Power ค่อยๆ ใส่เข้าไปในตลาด สหรัฐฯ อังกฤษ เกาหลี ที่เขาก็ทำเป็นระดับต้นๆ ของโลก ไทยเองก็ทำได้เหมือนกัน เพราะทุกอย่างสามารถค่อยๆ ถูกแทรกเข้าไปเป็น Soft Power ได้ น้องๆ วงการเกมหลายคนก็เอาไปใช้ ลองไปดูเกมที่ใช้ในการแข่งขันการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) ดูสิ มีการใส่ตัวตนความเป็นไทยในนั้นเหมือนกัน 

ใน 5 ปีข้างหน้า depa มองว่าจะทำอะไรเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกมต่อไป

ถ้าจะทำให้สำเร็จ เราก็ต้องหาตัวจริงของอุตสาหกรรมเกมให้ไปต่อให้ได้ การให้ทุนสนับสนุน จริงๆ ก็ไม่พอนะ ต่อไปเราต้องเริ่มมองตลาดเพิ่ม จริงๆ ผมอยากจะมองไปที่แคนาดาเพิ่มด้วยซ้ำ เพราะถ้าเราสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมเกมที่นั่นเพื่อสร้างงานให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้ มันจะเป็นเรื่องที่ดีมาก คนไทยไม่ควรจะปิดตาหรือปิดโอกาสของตนเอง การสร้างความสัมพันธ์แบบพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ควรไปจับมือกับประเทศที่เขาประสบความสำเร็จ 

ขั้นต่อมาคืออุตสาหกรรมเกมต้องปลุกระดมผู้ใช้งาน ปลุกระดมมิติของอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ตอนนี้มีคนเล่นเกมอยู่ประมาณ 30 ล้านคน ถ้ารวม e-Sports เข้าไปด้วยโดยอ้างอิงตามการสำรวจของ Garena ก็อาจจะ 40 กว่าล้านคน การเล่นในระดับภูมิภาคแบบนั้นหรือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็ตามเป็นเพียงตลาดในส่วนของ ‘ผู้เล่น’ (User) แต่ถ้าเราพยายามจะสร้างอุตสาหกรรมเกมให้เกิดขึ้น เราต้องหานักพัฒนาเกม เราต้องไปมองหาเหล่าบริษัทชั้นนำ เพื่อทำธุรกิจด้วยกันที่ประเทศไทย แบบนี้ถึงจะพอมีโอกาสให้เรากลายเป็นศูนย์กลางได้บ้าง

ในอนาคตการอำนวยความสะดวกและการสร้างโอกาสต้องมาคู่กัน ถ้านักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาแล้วต้องต่อคิวยาว ค่าตอบแทนจูงใจ (Incentive) ไม่แรงพอ ภาพอุตสาหกรรมก็ไม่ชัด ถามว่าใครจะมา จริงไหม คนที่ทำเกมคอนโซลถ้าจะให้เขามาผลิตที่ไทย เขาก็ไม่มาหรอก เพราะต้นทุนเขาสู้ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องมองให้ออกว่าการพัฒนาเกมต้องเป็นธุรกิจแบบใหม่ เป็น Sandbox ที่ได้มาเจอกับนักลงทุนด้วย แล้วให้เขาทำงานที่นี่ร่วมกันได้ 

หลายประเทศก็ทำแบบนั้นแล้ว เช่น สมัยก่อนเราเรียกว่าเขตการค้าเสรี (Free-trade area) ตอนนี้ก็เรียกว่าเขต Zero Tax ที่ไม่ต้องมาจดทะเบียนจัดตั้งที่นี่ เจ้าของเป็นคนต่างชาติได้เลย แต่ทำธุรกิจที่นี่โดยไม่ต้องเสียภาษีได้ แบบนี้จึงจะทำให้เกิดการทำงานแบบใหม่ ไม่ใช่จะคิดแบบเดิม เพราะต่างชาติเขาไปถึงไหนกันแล้ว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ที่ไหนมีคนเล่นเกมก็เกิดอุตสาหกรรมเกมที่นั่น ถ้าเรายังวิ่งตามไม่ทัน อีก 3-4 ปีในอนาคตก็จะมีคนมาถามคำถามแบบนี้เหมือนเดิม

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ถ้าเราอยากจะกระโดดออกจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง กับยุคที่อัตราเงินเฟ้อสูง และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้ เราต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ เราต้องกล้าที่จะปรับหรือเปลี่ยนในบางเรื่องเพื่อข้ามข้อจำกัด โลกมันเปลี่ยนไปแล้วจากการทำธุรกิจแบบกายภาพ ถ้าเราก้าวไม่ทัน ประเทศไทยก็จะ ‘เสียดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยี’ และสุดท้ายเราจะเหลือแค่คนผลิตสินค้าที่เป็น Capital Goods มูลค่าต่ำ 

การทำอะไรใหม่ๆ มันสร้างอาชีพนะ แถมยังสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาและลองให้โอกาสกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ บ้าง

คำถามสุดท้าย ชอบเล่นเกมอะไร

นอกจากเกมมาริโอแล้วก็ไม่ค่อยได้เล่นเท่าไหร่ ปัจจุบันอาจจะได้ไปนั่งเล่นกับน้องๆ บ้าง แต่เราอาจจะไม่ได้เล่นถึงขั้นเป็น Player

โดยส่วนตัวก็พยายามทำความเข้าใจกับช่องว่างระหว่างเด็กรุ่นใหม่และอุตสาหกรรมเกม เราเปรียบเทียบกับตัวเราเองในสมัยเด็กว่า ถ้าเราอยากยึดมั่นในอาชีพนี้ เราจะส่งเสริมพวกเขาอย่างไรให้สามารถบรรลุความฝันได้ เพราะผมเองเป็นผู้อำนวยการใหญ่ depa ไม่ได้เป็นนักพัฒนาเกม ดังนั้นทำอย่างไรให้คนในอุตสาหกรรมเกมได้พัฒนาต่อยอดและยังดำรงอยู่ได้ในประเทศไทย นั่นแหละคือโจทย์สำคัญ

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า