คือสงครามหรือกวีนิพนธ์ทางการเมือง: จากหุ้น Game Stop สู่พลังเหรียญ Crypto 

ในวงการด้านการลงทุนคงไม่มีข่าวใดฮือฮาได้เท่ากับปรากฏการณ์ถล่มซื้อหุ้น GME ของบริษัท Game Stop จนราคาพุ่งขึ้นสูงถึง 900 เปอร์เซ็นต์ จากราคา 35.5 ดอลลาร์ ไปสู่ 347.51 ดอลลาร์ เนื่องจากกองทุนจำพวก Hedge Fund ได้พยายามเข้ามาทำกำไรด้วยวิธีการเทรดแบบ Short กับหุ้น GME ซึ่งกำลังอยู่ในขาลง กลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยจึงได้รวมตัวกันบนเว็บบอร์ด Reddit และ Twitter เพื่อรวมตัวกันซื้อและถือเอาไว้ (hold) จนส่งผลให้เหล่ากองทุน Hedge Fund ขาดทุนเป็นจำนวนมาก ก่อนที่กระแสการซื้อในลักษณะนี้จะกระโดดข้ามจากตลาดหุ้นไปสู่ตลาดการลงทุนเหรียญสกุลเงินดิจิตอล โดยเริ่มที่กลุ่มเหรียญ XRP และ Doge Coin จนเริ่มเป็นปรากฏการณ์เขย่าตลาดการเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่โดยนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

Flash Mob บนกระดานหุ้น

คาร์ล มาร์กซ์ คงนึกไม่ถึงว่าวันหนึ่งเราจะได้เห็นการใช้ ‘เงินสู้เงิน’ หรือ ‘ทุนสู้ทุน’ ดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน นับตั้งแต่ความเดือดดาลของการชุมนุม Occupy Wall Street ช่วงปี 2011 มาจนถึงการพยายามขัดขวางทุนใหญ่ที่หาประโยชน์จากตลาดหุ้นและสกุลเงินดิจิตอล นวัตกรรมใหม่ของกลุ่มผู้เดือดดาลเปลี่ยนจากการจับเสียมจับจอบลุกขึ้นมาปฏิวัติสู่การ ‘นัดหมาย’ บนแพลตฟอร์มอย่าง Telegram เพื่อเข้าซื้อหุ้นหรือสกุลเงินเป้าหมายโดยไม่บอกล่วงหน้า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเสมือนการจัด Flash Mob ที่ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างมาก

ราคาหุ้น GME ที่พุ่งทะยานก่อนจะตกลงอย่างมากใน 1 เดือน

ความเดือดดาลต่อกลุ่มทุนใหญ่นี้มีที่มาจากระบบตลาดการลงทุนที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกลุ่มกองทุนที่สามารถเข้าซื้อและขายหลักทรัพย์เหล่านั้นเพื่อกำหนดทิศทางของตลาดได้ตามความต้องการ การพยายามต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของผู้ใช้แรงงานตามความหมายเดิมที่หมายถึงเฉพาะแค่กรรมกรหรือเกษตรกรอีกต่อไป แต่หมายถึงเรื่องของคนทุกคนที่รู้สึกว่าตนเองถูกเอาเปรียบโดยกลุ่มคนที่ผูกขาดความเหนือกว่าทางโอกาสในการแข่งขัน และเป็นการต่อสู้กันเองระหว่างกลุ่มผู้สะสมทุนกับผู้สะสมทุนด้วยกันบนกติกาและเครื่องมือของโลกในระบบทุนนิยมที่ลดความรุนแรงจากการเสียเลือดเนื้อไปสู่ความรุนแรงบนกราฟราคาแทน

จำนวนสมาชิกใน r/ ที่เกี่ยวกับการระดมซื้อหุ้น GME ที่มีสมาชิกถึง 8.4 ล้านแอคเคาท์

ผลการสำรวจของ Federal Reserve ในปี 2019 หัวข้อ Consumer Finances น่าสนใจว่าสหรัฐอเมริกานั้นมีประชากรเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ควบคุมสินทรัพย์ในตลาดหุ้นถึง 38 เปอร์เซ็นต์ และหากขยับออกมามองที่จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ถัดลงมา ก็จะพบว่าเป็นกลุ่มคนที่ถือครองสินทรัพย์บนตลาดหุ้นถึง 84 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนบัญชีการซื้อขายทั้งหมดในตลาด และจากการคำนวณของสำนักข่าว New York Times พบว่าดัชนี S&P 500 (ดัชนีวัดประสิทธิภาพบริษัทขนาดใหญ่ 500 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ) มีกำไร 16 เปอร์เซ็นต์ ของปี 2020 เป็นจำนวนเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ที่จำนวนถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ที่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ดังที่กล่าวข้างต้น และเหลือเพียง 600 ล้านดอลลาร์เท่านั้นที่ตกถึงมือของกลุ่มคน 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออยู่ภายในตลาดหลักทรัพย์

ลักษณะของความเหลื่อมล้ำทั้งในสหรัฐและในตลาดโลกนี้เองที่ส่งผลให้เกิดความเดือดดาลต่อกลุ่มผู้ถือครองสินทรัพย์ขนาดใหญ่ โดยการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะในฝั่งตลาดหุ้นหรือสินทรัพย์ดิจิตอลที่ตามมานั้นมีหนึ่งสิ่งที่ร่วมกัน ก็คือการเชื่อมั่นในหลักการ decentralized เพื่อให้เกิดการกระจายกำไรที่ควรได้อย่างเหมาะสม การ centralized ของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หรือ ‘เจ้ามือ’ ในสินทรัพย์หลายอย่างจึงถูกต่อต้านและกลายเป็นเป้าหมายของความโกรธที่สมควรถูกต่อต้านหลังจากตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลายถูกมองว่าเป็นของเจ้าของตลาดมานาน รวมถึงถูกฉายภาพว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเงินในสหรัฐ ปี 2008 และครั้งนี้นับว่าเป็นหนึ่งในครั้งแรกๆ ที่ผู้รู้สึกถูกกีดกันออกจากกระดานพยายามที่จะรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงของตนออกมา

มดงานพยายามล้มช้างและการเมืองว่าด้วยการส่งเสียง

ฌาคส์ ร็องซีแยร์ (Jacques Ranciére, 1940-ปัจจุบัน) นักปรัชญาชื่อดังชาวฝรั่งเศสที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้เคยกล่าวถึงลักษณะการพยายามที่จะส่งเสียงของกลุ่มคนที่ไม่ถูกนับได้ออกมาว่า เป็นลักษณะของ ‘กวีนิพนธ์ของการเมือง’ (a poetics of politics) เพราะรากฐานทางปรัชญานับตั้งแต่ยุคกรีกโบราณอย่างเพลโตเป็นต้นมา มักกีดกันประชาชนที่ยากจนส่วนมากออกไปจากการใส่ใจเรื่องกิจการบ้านเมืองหรือบริบทของการเมือง (พวก Demos) และสงวนการเมืองไว้ให้ขอบเขตเฉพาะกลุ่มคนพิเศษที่ได้รับการศึกษา มีฐานะทางสังคมและการเงิน เป็นชนชั้นพิเศษแต่เพียงเท่านั้น ร็องซีแยร์พัฒนาแนวคิดของการเมืองที่ไม่มีมาตรฐานกลางขึ้นมา กล่าวคือเมื่อฝูงชนที่ถูกทำให้มองไม่เห็น ไม่มีสิทธิมีเสียง หรือถูกมองว่าไม่มีความสำคัญ เริ่มลุกขึ้นเรียกร้องให้ผู้อื่นมองเห็นเสียงของพวกตนเองนั้น เมื่อนั้นการเมืองจึงเกิดขึ้น

ฌาคส์ ร็องซีแยร์

ร็องซีแยร์ยังกล่าวต่อไปอีกถึงทฤษฎีที่เขาใช้มองสังคม โดยระบุว่า ‘สังคม’ คือการพยายามกำหนดลำดับชั้นสูงต่ำ ปฏิเสธแนวคิดที่จะเข้ามาท้าทายระบบดังกล่าว สังคมแบบที่ร็องซีแยร์อธิบายนั้นเขาใช้คำว่า ‘วิธีคิดแบบตำรวจ’ (The Police) ที่หมายถึงการจัดระเบียบถูกผิดในสังคม ดังนั้นสังคมสำหรับร็องซีแยร์คือความไม่เสมอภาคและความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ความเป็นการเมืองตามความหมายของร็องซีแยร์นั้นคือความพยายามทำลายหรือท้าทายระบบสังคมดังกล่าวนั่นเอง

พื้นที่ที่สังคมและการเมืองเข้ามาปะทะกันนี้เองจึงกลายเป็น ‘การเมืองของสุนทรียศาสตร์’ และเป็นจุดที่ทำให้เกิดตัวแสดงทางการเมืองต่างๆ ขึ้น วิธีคิดแบบร็องซีแยร์นี้เองที่ทำให้เรามองเห็นภาพการต่อสู้ของผู้ที่ไม่เคยถูกให้ความสลักสำคัญมาก่อน ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘นักลงทุนรายย่อย’ หรือที่สำนักข่าวบางแห่งเรียกว่า ‘นักลงทุนรายวัน’ (day treader) จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายขนบธรรมเนียมการมองลักษณะที่สังคม-เศรษฐกิจกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ความเชื่อที่เป็นรากฐานของสังคมทุนนิยมมาอย่างยาวนานอย่าง ‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’ หรือแนวคิดเรื่องความถูกต้องของการสะสมทุนนั้นกำลังถูกท้าทายอย่างมากว่าท้ายที่สุดแล้วแนวคิดเหล่านี้กำลังทำให้ ‘นักสะสมทุนรายย่อย’ ถูกขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ในเมื่อยิ่งมีการซื้อขายที่มากขึ้น กลุ่มผู้ถือเงินรายใหญ่กลับยิ่งรวยขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าคนอื่นๆ ในสนามและกติกาเดียวกัน

สุดท้ายเสียงของนักลงทุนรายย่อยที่ทำให้ราคาของทั้งหุ้น GME, เหรียญสกุลเงิน XRP และเหรียญสกุลเงิน Doge Coin พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวจนทำให้การพยายามทำกำไรจากตลาดขาลงทั้งหลายของนักสะสมทุนรายใหญ่อย่างกลุ่มกองทุนรวมทั้งหลายนั้นจะถูกนับหรือไม่ ส่งผลเพียงใด และจะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อสังคมถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ส่งเสียงที่ไม่เคยมีเสียงมาก่อนตามที่ร็องซีแยร์เคยคิดเอาไว้อย่างไร คำว่า ‘ฉันก็เป็น 99%’ จะถูกคนในสังคมที่เหลือมองเห็นและตระหนักถึงคุณค่าได้เร็วแค่ไหน ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

‘We are the 99%’ บนป้ายประท้วงของการชุมนุมปี 2011 ในสหรัฐ

ตะวันสีแดงส่องทาง มุมมองมาร์กซ์ว่าด้วยทุน

ผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ยืนประจันหน้ากันเสมอบนหน้ากระดาษของประวัติศาสตร์ผ่านกำแพงที่เรียกว่าชนชั้น โดยมีหัวใจหลักของความขัดแย้งคือการถือครองปัจจัยการผลิตอย่างทุนทั้งหลาย

ประโยคนี้คงเป็นคำพูดที่สรุปวิธีคิดแบบปรัชญาสังคมการเมืองแบบมาร์กซ์ (Classical Marxism) ที่พูดถึงประวัติศาสตร์และสังคมของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อโลกเปลี่ยนไป ความซับซ้อนของวิธีที่กีดกันมนุษย์ออกจากโลกและจากตนเองก็จะยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัจจัยอย่างค่าของเงินตรา กำไร ขาดทุน ไปจนถึงการแข่งขันทำกำไรบนสินทรัพย์ที่มูลค่าแลกเปลี่ยนไม่ตรงกับมูลค่าใช้สอยอย่างการปั่นราคาหุ้นนั้น มีแต่จะยิ่งเร่งเวลานำมนุษย์ไปสู่ความหายนะ

ปัญหาที่ฝ่ายซ้ายทั่วโลกอย่างน้อยต้องมีความเชื่อที่ใกล้เคียงกันก็คือ ระบบทุนนิยมโลกทำให้เกิดการกดขี่และขูดรีดแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม การแข่งขันกันด้วยระบบตลาดเสรีนั้นจะทำให้เกิดการสะสมทุนของผู้ถือกรรมสิทธิ์ซื้อขายบางรายและเริ่มกีดกันรายย่อยอื่นๆ ออกไป ตลาดจึง ‘ฆ่า’ มนุษย์ด้วยกลไกราคาและกติกาของตัวมันเอง จนกระทั่งเมื่อเหล่ารายย่อยในตลาดถูกบีบบังคับให้ออกจากการแข่งขันไปมากยิ่งขึ้นเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับผู้ถือครองทรัพย์สินรายใหญ่ได้ เมื่อนั้นการผูกขาดตลาดก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและจะนำมาสู่การขูดรีดแรงงาน การบังคับทางเลือก และการจำกัดสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ของมนุษย์ที่จะตามมา

เหตุการณ์การพุ่งขึ้นของหุ้น GME และเหล่าเหรียญสกุลเงินดิจิตอลนี้ จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของสภาวะตลาดที่มาร์กซ์เคยอธิบายเอาไว้ดังกล่าว ว่าสุดท้ายแล้วทุนนิยมจะเริ่มล้มเหลวและนำไปสู่การผูกขาดตลาด เพราะเมื่อ ‘ตลาดเสรี’ ไม่ได้ ‘เสรี’ อย่างแท้จริง การสะสมทุนอย่างไม่เป็นธรรมก็มีแต่จะทำให้กลุ่มนักลงทุนรายย่อยสูญเสียผลประโยชน์ดังเช่นหลักฐานจากตัวเลขของผู้ถือครองทรัพย์สินในสหรัฐกับจำนวนผู้ลงทุนในสหรัฐทั้งหมด ได้แสดงเอาไว้บนบทความด้านบน การผูกขาดผลกำไรจึงเกิดขึ้นได้เมื่อมีกลุ่มคนที่สะสมทุนมาอย่างมากเพียงพอที่จะทำได้ ขณะที่ผู้ถือเงินรายอื่นต้องสูญเสียผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้นจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ส่วนบนกำหนด

การลุกขึ้นมาเรียกร้องของกลุ่มผู้ถูกเอาเปรียบคงเป็นไปตามวิธีคิดของมาร์กซ์แล้ว หากกลุ่มผู้เรียกร้องนั้นเป็นแรงงานที่ต้องการโค่นล้มนายทุนใหญ่เพื่อก่อร่างสร้างสังคมแบบคอมมิวนิสต์ ทว่าความซับซ้อนของโลกปัจจุบันที่มาร์กซ์เองคงจินตนาการถึงได้ยากนั้นกลับกลายเป็นว่า ผู้คนต่างโกรธโครงสร้างทุนนิยมที่เอารัดเอาเปรียบและเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันก็ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ในการแสวงหาผลประโยชน์จากระบบทุนนิยมนั้นร่วมกันเอาไว้ให้ได้ ดังเช่นกรณีของตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดเหรียญสกุลเงินดิจิตอลที่การต่อสู้เป็นไปไม่ใช่เพื่อโค่นล้มตลาด แต่เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่กระดานการลงทุน ซึ่งคงเป็นความเป็นธรรมคนละรูปแบบกับสิ่งที่มาร์กซ์พยายามจะนำเสนอเมื่อหลายร้อยปีก่อนเป็นแน่

เพราะบางทีหากบ้านหลังเล็กที่ตั้งข้างกับพระราชวังหลังใหญ่มีอัตราการเจริญเติบโตที่เท่ากัน บ้านหลังนั้นก็จะเป็นกระต๊อบต่อไปแม้ว่าจะพยายามเร่งการเจริญเติบโตสักเพียงใดก็ตาม ดังที่มาร์กซ์ได้กล่าวเอาไว้ใน Wage Labour and Capital ที่ตีพิมพ์ในปี 1847 ก็อาจจะสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกองทุนยักษ์ใหญ่กับนักลงทุนรายย่อยที่กำลังส่งเสียงอยู่บนกระดานการลงทุนทั่วโลกก็เป็นได้

การประท้วงด้วยราคา ชัยชนะของมดงาน หรือมดนางพญาที่ยังคงกดขี่

คงปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมใหม่อย่างการใช้แพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย อย่าง Telegram และ Reddit ในการรวมตัวเพื่อต่อสู้กับทุนใหญ่นี้ได้ผลกับเหล่ากองทุนและเจ้ามือในตลาดเป็นอย่างมาก และกลายมาเป็นที่เพ่งเล็งของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์สหรัฐ(Securities and Exchange Commission: SEC) ว่ากระบวนการรวมตัวดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการอย่างไร แต่คำถามที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บ่งบอกอะไรเราได้บ้าง?

ในทางหนึ่ง การพุ่งขึ้นของราคาทั้งหุ้นและสกุลเงินดิจิตอลชั่วข้ามคืนนั้นส่งผลให้มีผู้กระโดดเข้าไปพยายามจะเก็งกำไรจำนวนมาก และตามธรรมชาติของการลงทุนระยะสั้นที่เป็นปรากฏการณ์เช่นนี้ มักจะตามมาด้วยการถดถอยอย่างรวดเร็วของราคาหลังจากผ่านไประยะหนึ่ง ดังที่เกิดขึ้นกับกรณีเหรียญ Doge Coin จากมูลค่า 0.011 ดอลลาร์ พุ่งขึ้นไปแตะเพดานที่ 0.082 ดอลลาร์ และก่อนจะทิ้งตัวลงมาตกที่ราคา 0.024 ดอลลาร์ ภายในระยะเวลาไม่ถึงสองวัน จากนั้นจึงยังคงเข้าสู่สภาวะแกว่งไปมาที่ช่วงราคาเดิมๆ (sideway) จนปัจจุบัน

รูปการวิ่งขึ้น-ลงของราคาเหรียญ Doge coin

เหตุการณ์เช่นนี้จะกลายเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้าซื้อหลักทรัพย์ตัวนั้นช้าเกินไป ไปจนถึงการขายหลักทรัพย์ตัวนั้นไม่ทันจนทำให้เกิดการขาดทุนอย่างมหาศาล แน่นอนว่าผู้คนบางส่วนมองว่าการเข้าซื้อครั้งนี้เป็นการแสดงออกทางการเมืองมากกว่าการซื้อขายเก็งกำไรธรรมดา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่กำลังมีความเสี่ยงในการขาดทุนมหาศาลในการแสดงออกทางการเมืองดังกล่าว ไปจนถึงกลุ่มที่ต้องการเข้ามาเก็งกำไรและไม่ได้มีความต้องการจะแสดงออกทางการเมืองเช่นเดียวกับกลุ่มแรก ยิ่งหากเป็นกลุ่มนักลงทุนรายย่อยเป็นหลักด้วยแล้ว ความสามารถในการรับมือกับการขาดทุนย่อมไม่สามารถเทียบได้กับกลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มกองทุนรวม ไปจนถึงเหล่า 1-10 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดที่ถือครองทรัพย์สินเป็นจำนวนมากที่สุด

ประเด็นถัดมาที่น่าสนใจ คือการต่อสู้เพื่อขับไล่หรือทำให้กลุ่มทุนใหญ่สูญเสียที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลายนั้น จะสามารถใช้กลยุทธ์วิธีการนี้ไปได้อีกนานเพียงใด ในเมื่อนักลงทุนรายย่อยย่อมมีกำลังทรัพย์หรือความสามารถในการซื้อขายที่ยังคงเป็น ‘รายย่อย’ อยู่ จะสามารถต่อสู้กับทิศทางราคาของตลาดที่ถูกกำหนดจากการกว้านซื้อหรือเทขายโดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ได้อีกนานแค่ไหน หรือจำเป็นต้องมีวิธีการใดต่อจากนี้หรือไม่ที่กลุ่มผู้ประท้วงจะสามารถทำได้เพิ่ม

ประการสุดท้าย จริยธรรมและความเป็นธรรมในการถือครองทรัพย์สินส่วนตัวนั้นมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนอยู่บริเวณใดในตลาดเสรียุคดิจิตอล โครงสร้างทางเศรษฐกิจควรมีการกระจายความเท่าเทียมและเยียวยาความเหลื่อมล้ำระหว่างช่องว่างของคนรวย ชนชั้นกลาง และคนยากจน อย่างไร เส้นแบ่งที่ชัดเจนก็ยังคงไม่ปรากฏเป็นที่ตกลงร่วมกันนัก

ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเสียงของผู้ถูกกีดกันตามแบบร็องซีแยร์ หรือการสร้างกระต๊อบแข่งกับราชวังแบบมาร์กซ์ การถอดบทเรียนจากสถานการณ์ดังกล่าวก็ควรที่จะได้รับความสนใจมากกว่าเพียงแค่ในวงการของนักลงทุนและตลาดหลักทรัพย์

อ้างอิง

  • The New York Times
  • bbc.com
  • th.investing.com
  • Peter Singer. Marx: A Very Short Introduction. (2558). โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์
  • ศักดิ์ บวร. ปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์: สำหรับผู้เริ่มเรียนรู้. (2547). สำนักพิมพ์สมิต ชุดปรัชญา-ศาสนา
  • ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. The Political Thinking of Jacques Ranciere. (2563). สำนักพิมพ์สมมติ

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า