ปริเมธ วงศ์สัตยนนท์: อุตสาหกรรมเกมไทย รอคอยฮีโร่ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง

34,000 ล้านบาท คือมูลค่าของอุตสาหกรรมเกมไทยในช่วงปี 2563 อ้างอิงจากผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa (Digital Economy Promotion Agency) ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตขึ้นของอุตสาหกรรมเกมอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี 

โดยภาพรวมดูเหมือนว่า เค้กก้อนนี้เป็นความหวังให้กับนักพัฒนาเกมไทย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจากมูลค่าทั้งหมดนั้นเป็นส่วนของนักพัฒนาเกมไทยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 300 ล้านบาทเท่านั้น

“เราเป็นแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ในประเทศนี้ มันคือความยากมากๆ ที่จะสร้างตลาดเกมไทย ซึ่งส่วนแบ่งของตลาดเกมส่วนใหญ่ยังเป็นเกมนอกอยู่ แต่ยังไม่มีพื้นที่ให้เกมไทยเท่าไหร่”

คือความเห็นของ เจมส์-ปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ ซีอีโอแห่ง Urnique Studio หนึ่งในนักพัฒนาเกมซึ่งเคยสร้างผลงานเกมอินดี้ชื่อดังอย่าง Timelie ที่สามารถเอาชนะเวทีการประกวดในระดับโลก The Imagine Cup 2016 ของไมโครซอฟท์ สาขาการพัฒนาเกม 

WAY ชวนเขาพูดคุยถึงช่องทางการพัฒนาเกมไทยที่ดูจะไม่สดใสนักเมื่อเทียบกับมูลค่าในอุตสาหกรรมเกมที่โตขึ้นเรื่อยๆ แต่ส่วนแบ่งที่เกมไทยได้รับกลับไม่โตขึ้นตาม ซึ่งก่อนจะเข้าสู่คำถามนั้น ลองมาทำความรู้จักตัวตนและความสนใจของเจมส์ก่อนจะมาเป็นนักพัฒนาเกม เพื่อจะมองไปยังอนาคตข้างหน้าว่า อุตสาหกรรมเกมไทยยังเหลือพื้นที่ว่างอีกมากแค่ไหนให้นักพัฒนาเกมได้เดินตามฝัน 

ช่วงนี้มีผลงานอะไรให้คนในแวดวงเกมได้ติดตามบ้าง

ตอนนี้ทางบริษัทกำลังพัฒนาเกมอยู่ประมาณ 3 ตัว ผมเป็นซีอีโอของบริษัทก็จะกำกับดูแลการผลิตและดูเรื่องการบริหารด้วย นอกนั้นก็มีงานอดิเรก เช่น ทำเพจส่วนตัวชื่อ James Parimeth Wongsatayanon เป็นการเขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกม ทั้งในไทยและต่างประเทศ แล้วมาเล่าแชร์มุมมอง แชร์ความรู้ ประสบการณ์ เป็นกึ่งๆ อินฟลูเอนเซอร์ด้านการทำเกม อีกบทบาทหนึ่งผมก็เป็นโฆษกสมาคมเกมไทยด้วย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาเกมไทยครับ

ช่วงชีวิตวัยเด็กมีผลต่อการเลือกตัดสินใจมาเป็นนักพัฒนาเกมไหม

เอาจริงๆ ก็น่าจะไม่มีผลมากนะครับ อาจเหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบอะไรหลายๆ อย่าง พอเจอเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ชอบ โตขึ้นอยากเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่อาจจะโชคดีนิดหนึ่งที่ชอบอะไรแล้วไม่ได้มีใครห้าม ก็เลยได้แตะๆ ลองๆ หลายอย่างจนทำให้เจอตัวเอง คือไม่ได้มีใครมาซัพพอร์ตอะไรขนาดนั้น เราก็แค่ได้อิสระ อยากลองอะไรก็ได้ลอง อย่างตอนเด็กๆ ชอบวาดรูป แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร พอวาดรูปดีก็เอาไปขิงไปขาย บางทีก็จับเราไปเรียนพิเศษ พออาจารย์เห็นว่าเรามีศักยภาพ ก็จัดงานนิทรรศการให้เราไปวาดรูป แต่พอช่วงหนึ่งติดเกมมาก ทิ้งงานวาดรูปไปเลย กลายเป็นเด็กติดเกมจ๋า เล่นแต่เกมอย่างเดียว แต่ตรงนั้นก็แทบไม่ได้ส่งผลต่ออาชีพทุกวันนี้เท่าไหร่ 

พอถึงช่วง ม.5-6 เริ่มมีภาพชัดแล้วว่า เราอยากทำเกม อยากจะหาเลี้ยงชีพในสายนี้ เพราะมันเข้ากับเราที่สุดแล้ว ก็เล็งสอบเข้าวิศวะคอมพิวเตอร์เพื่อจะได้ออกมาทำเกม

พอบอกคนที่บ้านว่าอยากทำเกมเป็นอาชีพ มีแรงกดดันเยอะไหม

ก็มีครับ แน่นอนว่าไม่มีใครเห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร ตอนบอกที่บ้านก็ช่วง ม.5-6 ว่าจบแล้วจะไปทำเกม เขาก็พูดคำเดิมว่า ไปเป็นหมอไหม ไปเรียนเคมีไหม ตามสไตล์บ้านไทย แต่ผมก็ให้คำสัญญากับที่บ้านไปชัดเจนว่าระหว่างเรียนวิศวะคอมฯ ผมจะทำเกมออกมาให้ได้ แล้วถ้าผมสามารถทำเงินได้ 200,000 บาท พอจบแล้วผมจะออกมายึดอาชีพทำเกมนะ

ผมก็ยื่นคำขาดแบบนั้นไป ซึ่งเขาก็คงไม่ได้รับปากจริงจังหรือซีเรียสอะไรหรอก เพราะเหมือนเป็นคำพูดของเด็กมัธยมที่พูดเอาหล่อไปงั้นแหละ 

พอเข้าเรียนมหา’ลัยจริงๆ แล้ว ชีวิตแทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการทำเกมเลยครับ เป็นชีวิตที่จับพลัดจับผลูมาก ตอนอยู่มหา’ลัยผมกลายเป็นเด็กกิจกรรม ชีวิตทำแต่กิจกรรม ซึ่งกิจกรรมที่ผมทำก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเกมเลย วันๆ นั่งทำแต่ photoshop นั่งทำแต่พีอาร์ เด็กกิจกรรมทำงานอีเวนต์อย่างเดียวเลย แต่กลายเป็นว่าตอนทำงานประกวดทำเกมตอนปี 4 แล้วเกมเราได้แชมป์โลก ได้เงินรางวัลมาก็แบ่งกันคนละ 300,000 กว่าบาท เป็นไปตามที่สัญญากับพ่อแม่พอดี ก็โอเค จบมาทำเกมนะ อะไรอย่างนี้ เป็นความบังเอิญนิดๆ ครับ

ทำไมถึงเลือกทำเกมอินดี้ เสน่ห์ของเกมแนวนี้คืออะไร

เพราะเป็นชอยส์ที่เราสามารถเลือกได้ครับ ถ้ามีชอยส์ระหว่างอินดี้กับทริปเปิลเอเนี่ย (ทริปเปิลเอ หมายถึง เกมที่ใช้ต้นทุนในการสร้างมากกว่าเกมทั่วไป ทั้งในด้านโปรดักชั่นและการโฆษณา มีทีมงานผู้พัฒนาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่สนับสนุน) ทริปเปิลเอมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วครับที่เราจะได้ทำ เพราะต้องใช้เงินทุนมหาศาลหลักร้อยล้านพันล้าน เราเป็นเด็กจบใหม่ด้วย ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกชอยส์นั้น 

แล้วเราอยากทำเกมของตัวเอง เกมอินดี้ก็เลยเป็นชอยส์หนึ่ง แต่มันก็มีเสน่ห์อย่างหนึ่งเหมือนกัน คือมันไม่ได้มีภาพว่าต้องทำเพื่อแมส หรือเพื่อตลาดอะไรขนาดนั้น มันเลยมีความครีเอทีฟสูง แล้วผมก็ชอบเกมอินดี้ที่ว่ามันเปิดโอกาสให้คนสามารถได้แสดงผลงานของตัวเองออกมา แสดงสิ่งที่อยู่ในแนวคิดของตัวเองออกมา ว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับเกมนี้ได้ มันเลยทำให้เกิดเกมดีๆ เจ๋งๆ โดยที่ไม่ต้องมานั่งมองข้อมูลว่าสถิติเป็นอย่างนี้นะ ตลาดนี้เป็นเทรนด์นะ ต้องแมสนะ เกมต้องใส่ระบบนี้เข้าไปแบบที่เกมแมสๆ เขาทำกัน ไม่งั้นมันไม่เวิร์คนะ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปตามกระแสว่าเทรนด์ตลาดจะเป็นยังไง 

เกมอินดี้ยังเปิดโอกาสให้นักพัฒนาเกมหลายๆ คนได้แสดงอะไรใหม่ๆ เลยเกิดเกมใหม่ๆ เจ๋งๆ ที่ไม่ได้ถูกระบบตลาดตีกรอบเอาไว้ อย่างเกม Stardew Valley, Among Us อะไรอย่างนี้ 

พูดตรงๆ ว่า เกมทริปเปิลเอทุกวันนี้มันเหมือนกันหมดเลย พอเราเล่นเกมเยอะมากๆ เล่นไปประมาณหลายสิบเกมจะรู้สึกว่ามันเหมือนๆ กันไปหมด แล้วจะเริ่มเบื่อ กลายเป็นว่าเกมอินดี้มันตอบโจทย์เรามากกว่า ในแง่ของคนเล่นเองก็ทำให้รู้สึกน่าตื่นเต้นกว่า เป็นความน่าตื่นเต้นที่เราหามาตลอด

รู้สึกท้อบ้างไหมกับยอดขาย เพราะปกติเกมแนวอินดี้จะขายค่อนข้างยาก

ท้อไหม มันก็ท้อครับ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันท้อ แต่ผมก็มองว่าความอินดี้เกมกับอินดี้หนังมันมีความต่างกันครับ ตรงที่อินดี้เกมมันโอกาสเปิดให้ง่ายกว่า มีโอกาสขายได้และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า แต่ก็ต้องพูดตรงๆ ว่าท้อครับ แต่มันก็เป็นจุดที่เราเลือกเอง แล้วเราก็พยายามใส่การตลาดหรือโมเดลธุรกิจเข้าไปในเกมอินดี้เราด้วย ไม่ได้แบบว่าอินดี้เพียวๆ หรือเกมอาร์ตจ๋า เพราะเรารู้ว่าอาร์ตจ๋ามันกินไม่ได้ 

เราพยายามปรับปรุงเกมให้มันขายได้มากขึ้น ยอดออกมาไม่แย่ครับ แต่ไม่ดีขนาดนั้น แอบผิดหวังเหมือนกัน เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องการตลาดและอะไรหลายๆ อย่างเราทุ่มหมดตัวแล้ว เรารู้สึกว่าเราอยู่ในจุดที่พีค เป็นท็อปของประเทศ อาจจะเคลมได้ว่าท็อป 3 แน่ๆ แต่ท็อป 3 ได้แค่นี้เหรอ เราก็ผิดหวัง ไม่ได้ผิดหวังต่อตัวเราเองนะ แต่ผิดหวังอุตสาหกรรมนี้ว่าขนาดท็อป 3 ยังทำได้แค่นี้ แล้วคนอื่นที่ไม่ได้ท็อปแบบเรา เขาจะทำได้เท่าไหร่ มันก็รู้สึกเศร้านิดหนึ่งกับอุตสาหกรรมนี้ มันเป็นความยากมากๆ ที่จะไปต่อ สุดท้ายก็ต้องหาทางพลิกตัวเองให้ได้ ต้องอยู่ต่อไป ยังไม่ได้ปิดบริษัทอะไร ขยายตัวได้ ก็ต้องหาทางดิ้นกันไปครับ 

เกมอินดี้เกมไหนที่ชอบ

เกม HADES ครับ ผมว่าเขาเป็นเกมอินดี้ที่ไม่ได้มองโมเดลธุรกิจครับ เขาขายเหมือนเกมทริปเปิลเอเลย เขาทำเกมอินดี้ที่มีคอนเทนต์ที่ดี เขาทำเกมแนว Roguelike (เกมที่ดำเนินด้วยการ ‘สุ่ม’ เป็นหลัก โดยจะมีการสุ่มทั้งฉาก ศัตรู สกิล และแผนที่ในเกมทุกครั้งที่เริ่มเล่นใหม่) แต่เขาต่างจากเกมอื่นในตลาดตรงที่เขาไปหาจุดว่า Roguelike ในตลาดขาดอะไรอยู่ เขารู้ว่าแนว Roguelike ขาดในส่วนของเนื้อเรื่อง แล้วก็เขาสามารถเอาจุดเด่นของเขาไปขายในเกมนี้ได้ ทำให้เกมของเขากลายเป็นเกมที่มีเนื้อเรื่องรุ่มรวยมาก ทั้งๆ ปกติเกมแนวนี้จะเป็นเกมที่เราแทบไม่ได้สนใจเนื้อเรื่องเลย เล่นไปเรื่อยๆ จบ แต่เกมนี้เขาทำให้มีการดำเนินเนื้อเรื่อง เขาทำตรงนั้นได้เยอะและทำได้ดีมากๆ เป็นความรู้สึกใหม่เลย ถ้าเล่นได้เล่นเกมนี้จะรู้สึกได้เลยว่าไม่ได้ด้อยกว่าทริปเปิลเอ เพราะปกติทริปเปิลเอไม่ได้ทำเกมแนวนี้อยู่แล้ว กลายเป็นว่าเกมที่มีมุมกล้องแบบนี้ แต่มีเนื้อเรื่องระดับทริปเปิลเอ ทำให้เข้าถึงคนได้กว้างมากและขายดีมากๆ ในปีที่แล้ว แล้วก็ได้รางวัลเยอะ เกมนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คนได้รู้ว่าเกมอินดี้ทำอะไรได้บ้าง ทำให้มันแมสก็แมสได้ 

HADES

มีนักพัฒนาเกมคนไหนที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ

ฮิเดโอะ โคจิมะ ครับ เป็นผู้กำกับเกม Metal Gear Solid กับ Death Stranding ส่วนตัวค่อนข้างชอบเพราะว่าเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยถูกตลาดหลอม คือเขาจะใส่ความเป็นตัวเองในเกมทุกเกมครับ เกมของเขาจะยูนีคมาก สำหรับผม เกมของเขาเหมือนเกมอินดี้เวอร์ชั่นทริปเปิลเอ คือเกมอินดี้ที่มีทุนแบบทริปเปิลเอ อย่างชัดสุดเลยคือ Death Stranding คือเขาจะทำอะไรก็ทำ เป็นแนวเกมที่แบบไม่มีใครเก็ตหรอก เดินไปส่งของในโลก ปีนเขาอะไรอย่างงี้ ถ้าไปขอเงินนักลงทุน เขาคงไม่ให้เงิน ถ้าผมเอาเกมแบบ Death Stranding มาทำขายนะ ผมจะให้เล่นเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่เดินไปส่งของ แล้วต้องหลบผี ต้องกลั้นหายใจ ต้องปีนเขา แล้วก็ข้ามแม่น้ำอะไรอย่างนี้ ขอเงินทุนสัก 2,000 ล้านบาทมาทำ คงไม่มีใครขายผมแน่นอน แต่โคจิมะเขาทำได้ ผมเลยรู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นมาก 

Death Stranding

โคจิมะเป็นคนหนึ่งและแทบจะเป็นคนเดียวหรือไม่กี่คนในวงการทริปเปิลเอที่เขายังทำเกมแบบสมัยก่อนได้ คือยังสามารถทำอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่เอาเกมก่อนหน้ามาเปลี่ยนเนื้อเรื่องแล้วก็ปล่อยขาย เขายังหาอะไรใหม่ๆ หยิบเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเกมให้ใหม่ขึ้นได้ เกมของโคจิมะน่าตื่นเต้นเสมอ คือผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกเกมของโคจิมะ แต่ผมชอบที่จะเห็นคนแบบนี้อยู่ในวงการ ผมดีใจที่ยังมีคนแบบนี้อยู่ได้ คนที่สามารถอยู่ในอุตสาหกรรม เป็นผู้นำและสามารถใช้ความครีเอทีฟของตัวเองมาทำเกมอะไรก็ได้ที่ตัวเองอยากทำ แล้วก็ยังมีคนคล้อยตามขนาดนั้นอยู่ 

ต้องสั่งสมทักษะอะไรบ้างก่อนจะทำอาชีพนี้ได้

อันดับแรกคือ ตั้งแต่ผมเด็กๆ ช่วงประถมหรือ ม.ต้น ผมอ่านข่าวเกมเยอะมาก อ่านทุกวัน อ่านพอๆ กับที่เล่นเฟซบุ๊ค คืออ่านว่ามีเกมใหม่อะไร ผู้กำกับเกมคนนี้เป็นใคร ใครเป็นเกมดีไซเนอร์ อุตสาหกรรมนี้เป็นยังไง ผมอ่านมาตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบอ่านมาก อ่านในเว็บไทย เว็บฝรั่ง อ่านข่าวจากเว็บ IGN ตั้งแต่เด็ก อ่านทุกวัน เข้าเว็บทั้งวัน เมื่อไหร่เปิดคอมฯ ก็เข้าไปนั่งอ่านเล่น คือทำให้มีคลังเกมเยอะมาก และเป็นข้อดีของการมาทำเกม เพราะทำให้ผมคุยรู้เรื่อง ถึงแม้ผมจะเข้ามาในวงการนี้ไม่ถึง 10 ปี แต่ผมมีความรู้ของวงการนี้ตั้งแต่สมัยประถม ผมเลยคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง ต่อให้ผมไม่เคยเล่นเกมนั้น แต่ผมก็รู้จักแทบทุกเกม

อันที่สอง  photoshop ผมก็คิดว่าเป็นจุดสำคัญ เอาเป็นว่าผมเป็นคนที่มีหัวทางศิลป์อ่อนๆ อยู่บ้าง ไม่อยากบอกว่าตัวเองมีเยอะ เพราะเลิกวาดรูปตั้งแต่ประถมแล้ว ก็เป็นคนที่ชอบศิลป์ แต่ชอบในรูปแบบของการทำ photoshop ก็เลยทำให้เรามองเกมแบบศิลป์ๆ ได้ มองเกมในเชิงศิลปะได้ เข้าใจองค์ประกอบภาพ เข้าใจคอมโพส เราอาจจะไม่ใช่คนคุมอาร์ตโดยตรง แต่เราก็มีมาตรฐานของเราที่สามารถบอกได้ว่า อาร์ตแบบนี้มันดีพอที่จะไปขายได้รึเปล่า แล้วก็เรื่องของโปสเตอร์ ผมก็เป็นคนคุมเอง ถึงแม้ว่าเราจะจ้างทีมอื่นช่วยทำ แต่เราก็เป็นคนฟีดแบ็ค เพราะเรามีภาพในหัวว่าอยากได้อะไร สีของภาพหรือโทนอะไรอย่างงี้ เราค่อนข้างมั่นใจระดับหนึ่ง 

อันที่สามคือ การพีอาร์ เพราะว่าผมไปทำกิจกรรมกับทุกคณะเลยครับ จะอยู่ฝ่ายเดียวตลอดคือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน เวลาทำกิจกรรมทำไมทุกคนจับผมไปอยู่ฝ่ายพีอาร์ตลอด กลายเป็นตัวพีอาร์ประจำคณะ ทำตั้งแต่ปี 1 ยันปี 4 ทำจนแก่เลย มีรุ่นน้องเต็มไปหมด กลายเป็นไอดอลรุ่นน้องทำพีอาร์ไปเลย ซึ่งตอนแรกก็มองว่าไร้สาระครับ ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเกมเลย แต่เพราะว่าไปทำแต่พีอาร์นี่แหละ เราเลยอินเรื่อง marketing เราสามารถเอา marketing สอดแทรกเข้าไปในเกมได้ เรามีมายด์เซ็ตของการ marketing มากขึ้น เราใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คค่อนข้างเป็น เพราะเราทำพีอาร์มาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนมหา’ลัย นอกจากผมจะถูกบีบให้ทำพีอาร์แล้ว ผมยังถูกบีบไปเป็นเอ็มซีด้วย ทำให้เราได้สกิลพวกนั้น กลายเป็นว่าสกิลที่เราได้มาแบบไม่เต็มใจ เป็นจุดที่เราได้เอาไปใช้ในการประกวดเกม คือเราจะพูดยังไงให้กรรมการสนใจเกมเรา เรามีเวลาพูดแค่ 10 นาที เกมเรามีหลายด้านให้พูด จะพูดด้านไหนแล้วดีสุด แต่เราก็สามารถขิงกรรมการจนได้รางวัลมา จนได้แชมป์ประเทศ แล้วไปแข่งต่อที่อเมริกาได้แชมป์โลก 

ผมว่าต้องอาศัยทักษะทุกอย่างที่เราทำมาตั้งแต่เด็ก อ่านข่าวเกี่ยวกับเกม ทำ photoshop ทำพรีเซนต์ ทำพีอาร์ ทุกอย่างมันหล่อหลอมให้กลายเป็นเรา แล้วทักษะที่ได้มาก็นำมาใช้ทุกวันนี้ครับ เป็นอินฟลูเอนเซอร์มานั่งวิเคราะห์เกม ที่จริงอายุงานแค่ 2-3 ปี เกม Timelie ขายไปแค่ปีกว่า จะเอาความรู้ที่ไหนมาแชร์ให้คนอื่น ทำงานได้แค่ไม่กี่ปีแล้วมานั่งให้ความรู้คนอื่น มันก็ดูกระแดะ แต่เอาเข้าจริงๆ เรามีความรู้ที่อ่านมาตลอดสิบกว่าปี ตั้งแต่เรียนประถม มันหลอมเราให้เราสามารถพูดเรื่องนี้ได้  

คอมมูนิตี้ของนักพัฒนาเกมในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง

ก็อบอุ่นดีครับ เล็กดี ทุกคนรักกันดี คือไม่ค่อยเยอะครับ ทุกคนรู้จักกันหมด คือแค่คุยกันก็รู้เรื่องทุกบริษัทในประเทศไทยแล้วครับ เป็นวงการที่ค่อนข้างเล็ก ค่อนข้างแคบ รู้จักกันไปทั่ว เราจะมีกรุ๊ปเฟซบุ๊คชื่อ Thai Game Developers Corner (TGDC) เป็นกลุ่มที่เราคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน ใครถามอะไรเราก็ยินดีแชร์ แชร์เหมือนเป็นผู้ถือหุ้นเลยครับ ให้หมดเลย อยากรู้อะไรบอกหมดเลย จะได้ไม่ต้องเจ๊งเหมือนผม ทุกคนยินดีแชร์มากครับ แล้วก็มีกลุ่มในแอพฯ discord เปิดมาประมาณ 2 ปีแล้ว ชื่อว่า Game Developers Virtual Meetup คุยกันแทบทุกคืนครับ จะมีทั้งเด็กมหา’ลัยที่กำลังเรียนอยู่ ผู้ใหญ่ในวงการก็เข้ามาคุยกันเรื่อยๆ มาแชร์แลกเปลี่ยนความรู้ มานั่งบ่นนั่งด่า ดราม่าอะไรกันอย่างนี้ เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ครับ

ตลาดเกมไทยในปัจจุบันเติบโตแค่ไหน

ตลาดเกมไทยเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ปีที่แล้วประมาณ 34,000 ล้าน หมายถึงอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยนะครับ ไม่ใช่เกมไทย ถือว่าโตมากครับ เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้วยังแค่ 20,000 กว่าล้าน มันโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีครับ แต่ละปีโตขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ 12 เปอร์เซ็นต์ ปีล่าสุดกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ มันไม่เคยหยุดโตครับ โตแบบทะยานฟ้าขึ้นเรื่อยๆ เป็นอุตสาหกรรมที่เบรกไม่ได้ คือหลายๆ คนพยายามจะท้วงว่าเด็กเล่นแล้วมอมเมา แต่คุณไม่มีทางเบรกสิ่งนี้ได้ เพราะสิ่งนี้มันกำลังจะมา กลายเป็นรูปแบบของมีเดียใหม่ คือคนสมัยใหม่ไม่ได้แค่ดูหนังดูละครกันแล้ว เขายังมีเกมเป็นอีกมีเดียหนึ่ง น่าสนใจตรงที่มันโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด มีโควิดก็ไม่กระทบ คนอื่นเจอโควิดแล้วเดี้ยงหมด แต่เกมกลายเป็นว่าโตยิ่งขึ้นไปอีก ไม่มีอะไรมาเบรกเกมได้ 

น่าสนใจตรงที่ตลาดอุตสาหกรรมเกมมันกว้างมาก คนสนใจเกมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เกมไม่ใช่แค่ของเล่นเด็กผู้ชายอีกต่อไปแล้ว มันกลายเป็นของเล่นของทุกเพศทุกวัย คนแบบเด็กๆ ก็เล่น ผู้ใหญ่ก็เล่น ผู้หญิงก็เล่นกันหมด เดี๋ยวนี้อัตราส่วนแทบจะครึ่งๆ ระหว่าง ผู้ชายกับผู้หญิง 

แต่ว่าในอุตสาหกรรมนี้ก็มีความน่าสงสาร เพราะว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นตลาดเกมมือถือ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นเกมพีซี และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกมคอนโซล ถ้าพูดถึงเกมไทยจริงๆ ทำรายได้เท่าไหร่ใน 34,000 ล้าน เกมไทยทำได้แค่ประมาณ 300 ล้านบาท หรือแค่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นเกมนอกนะครับ ตรงนี้คือความยากของเกมไทย แล้ว 300 ล้านบาท มาจากเกมเดียวก็ 100 ล้านแล้ว ที่เหลือค่อยไปแบ่งกัน

ตลาดตรงนี้ค่อนข้างอยู่ยาก เพราะมันเล็กมาก คนทำเกมได้ส่วนแบ่งแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ในประเทศนี้ มันคือความยากมากๆ ที่จะสร้างตลาดเกมไทย ซึ่งส่วนแบ่งของตลาดเกมส่วนใหญ่ยังเป็นเกมนอกอยู่ แต่ยังไม่มีพื้นที่ให้เกมไทยเท่าไหร่ อันนี้ผมมองว่าเป็นจุดชาเลนจ์หนึ่งที่จะต้องเผชิญ แล้วก็เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจเพราะว่ามันยังไม่มีคู่แข่ง แต่ยังพร้อมเติบโต ถ้าใครเข้ามาแล้วสามารถจุดไฟติด อาจจะกลายเป็นผู้บุกเบิกเลยก็ได้ หรืออาจจะครองตลาดเกมไทย คือถ้าพูดถึงเกมไทยคนจะนึกถึงเกมคุณไปเลยก็ได้ 

เอาจริงๆ Timelie ถือเป็นเกมเล็กมากครับ แต่เพราะว่าไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ เราเข้ามาแบบเกมเล็กๆ แบบอินดี้ ติสต์จ๋าเข้ามาตรงนี้ กลายเป็นว่าเราเป็นท็อป 3 ของประเทศโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเยอะ ทุกคนนึกถึงเราได้โดยที่เราเป็นแค่คนทำเกมเล็กๆ อย่างนี้ 

ผมมองว่าด้วยความที่มันเล็ก เลยเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสร้างชื่อเสียง สร้างโอกาสได้จากตรงนี้ เพราะการแข่งขันในตลาดยังค่อนข้างต่ำ 

คุณภาพเกมไทยในปัจจุบันถือว่าสู้เกมนอกได้ไหม

คุณภาพเกมไทยในปัจจุบัน พูดแบบไม่อายนะครับ ผมว่าเรายังสู้ตลาดต่างประเทศไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะทุนสร้างเราคนละเรื่อง จำนวนทีมงานเราก็คนละเรื่องเลย เราเล็กกว่าเขาเยอะ เอาเป็นว่าเราไม่ต้องไปเทียบคู่แข่งที่ไหนไกล เราไม่ต้องไปเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา เราเทียบเพื่อนบ้านครับ อย่างมาเลเซีย คุณภาพเราก็สู้เขาไม่ได้ พูดตรงๆ เพราะหนึ่งคือเรื่องทุน สองคือเรื่องของนโยบายรัฐบาล มาเลเซียเขาผลักดันเรื่องเกมสุดมาก ในขณะที่เกมอินดี้ของไทยขายได้แค่ปีละ 1-2 เกม ก็หรูแล้ว 

ที่มาเลเซียปีหนึ่งเขาปล่อยได้ประมาณ 30 เกม แล้วทุกเกมคุณภาพดีกว่าเราเยอะ ผมมั่นใจว่าเกมเขาดีกว่า Timelie ของผมอีก เพราะรัฐบาลเขาสนับสนุน เขาลงทุนเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมให้ได้ ต้องผลิตเกมออกมาเยอะๆ แต่บ้านเราไม่มีนโยบายอะไรอย่างนี้เลย ทุกคนใช้เงินตัวเอง ทำเอง เจ๊งเอง เจ็บเอง ต้องพยายามหาเงินกว่าจะสร้างเกมได้สักเกมก็หลายสิบล้านแล้ว ไปหาเงินมาจากที่ไหนไม่รู้ ใช้เงินเป็นสิบล้านแล้วขายได้แค่ไม่กี่ล้านบาท เจ๊งหมดทุกเกมด้วย มันเลยไม่ค่อยมีใครกล้ากระโดดเข้ามา 

ต่างกับเพื่อนบ้านเราหลายๆ ประเทศ อย่างอินโดนีเซีย รัฐบาลเขายอมเจ็บให้ เขาเอาทุนเปล่าให้เลย เผื่อว่าสักวันอุตสาหกรรมนี้จะติดตลาด คือนโยบายคือการผลักดัน คนละเรื่องกับเราแบบฟ้ากับเหว ของเราคือเดี๋ยวจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้นะ เดี๋ยวจัดบูธให้นะ คือได้แค่ค่าตั๋วเครื่องบินกับค่าจัดบูธ แล้วเดี๋ยวนี้มีโควิดก็ไม่ได้สนับสนุนอะไรเลย เราแทบไม่ได้มีทุนอะไร ได้แค่จัดบูธเฉยๆ รัฐบาลช่วยเราได้แค่นี้

รัฐบาลประเทศอื่นนี่แบบเอาไปเลย เอาเงินไปทำเกม ทำอุตสาหกรรมนี้ให้ดี คือเขาทุ่ม เขาจัดงานอีเวนต์ใหญ่ เชิญคนทำเกมต่างชาติเข้ามา เขามีบริษัท Ubisoft ประจำสิงคโปร์ เขามีบริษัท Playstation ประจำมาเลเซีย บริษัททริปเปิลเอยักษ์ใหญ่ของโลกมีสาขาอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านเราหมดเลย แต่ที่ไทยไม่มีเลยครับ ไม่มีสักเจ้าที่มาเปิดเมืองไทย เพราะเปิดไม่ได้ มีปัญหาเรื่องกฎหมาย นโยบายเราจะไม่ได้ผลักตรงนี้เลย คนไทยเราเลยต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะว่าประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเกมไทยเราเทียบเท่ากับเกาหลี เราเป็นคนเริ่มแรกๆ เลยนะ เอกชนเราทำเอง แต่มันไม่มีรัฐมาดันต่อ ต่างจากที่เกาหลี เกาหลีเห็นเอกชนทำ รัฐก็รีบผลักเลย จนเกมแร็คนาร็อคดังค้างฟ้า กลายเป็นอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ทั่วโลก ทุกวันนี้เกาหลีนำไปไกลแล้ว ญี่ปุ่นเอาจริงๆ ก็แทบเทียบไม่ได้ด้วยซ้ำ 

แต่บ้านเราพอเอกชนโผล่มาทีหนึ่ง รัฐก็แตะๆ แล้วก็ทิ้งไป เอกชนก็เจ๊งไป มันไม่มีความต่อเนื่องครับ ความรู้ที่อยู่ในนั้นก็หายหมด คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมทำเกมคอมพิวเตอร์ ณ ยุคนั้นก็แทบจะไม่ทำเกมกันแล้วในยุคนี้ ความรู้มันถูกทิ้ง ใครทำแล้วเจ๊งก็ทิ้งไป ไม่มีใครมาสานต่อองค์ความรู้ ต่างจากประเทศอื่นอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เขามีความรู้ทริปเปิลเออยู่ในบริษัทเขา แต่เราไม่มีนะครับ เราทุกคนไม่รู้ว่าเกมทริปเปิลเอทำยังไง ถ้าอยู่ดีๆ มีคนเอาเงินให้คนไทย แบบผมให้เงินคุณพันล้านบาททำเกมทริปเปิลเอให้ผมหน่อย ยากมากครับที่คนไทยจะสามารถทำได้ เพราะไม่มีใครเคยทำ ไม่รู้ทำยังไง เราทำแต่เกมอินดี้ เพราะระบบของเรามีแค่นี้ กรอบเราได้แค่นี้ เราไม่เคยทำของใหญ่ 

ต่างกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ตรงที่เขาต้องการให้ประชาชนมี know how เขาก็เลยต้องไปเชิญบริษัทเกมจากฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น ให้มาตั้งสาขาในประเทศ ต่อให้บริษัทพวกนี้เจ๊ง แต่ความรู้มันจะยังคงอยู่ คนพวกนี้จะยังคงทำงานอยู่ต่อ หรือใครไปสมัครงานทริปเปิลเอบริษัทนี้ พอไม่ชอบก็ลาออกมาเปิดบริษัทเองได้ แล้วบริษัทใหม่ที่เปิดเองก็เป็นบริษัทที่มีความรู้จากบริษัททริปเปิลเอ แต่บ้านเราไม่มีโอกาสอย่างนั้นเลย

เรื่องคุณภาพ พูดตรงๆ ว่าเราสู้ไม่ได้ในหลายด้าน เรื่องทุนก็สู้ไม่ได้แล้ว ในเรื่องความรู้ know how เราก็ไม่มี แต่คนไทยเรามีคุณภาพทัดเทียมต่างชาติอย่างหนึ่งคือ เรื่องของอาร์ต เรามีจุดแข็งแค่เรื่องอาร์ตครับ

คิดว่าเกม NFT (Non-Fungible Token) มีผลต่อตลาดเกมไทยไหม

ถ้ากับเกมไทยอาจมีผลนิดหนึ่งครับ ย้ำว่าในไทยนะครับ คือ NFT เนี่ย พูดในฐานะผู้พัฒนานะครับ ช่วงนี้โดนจ้างถี่มากครับ แบบว่าทุกคนในไทยเมื่อก่อนจะไม่ค่อยมีใครมาจ้างทำเกมเท่าไหร่ หาลูกค้ายากมาก ทุกวันนี้พอมี NFT ขึ้นมาปุ๊บ ทุกคนแทบรับสายกันไม่ทัน แล้วติดต่อกันมาให้เงินในระดับที่เมื่อก่อนไม่เคยได้เงินสเกลนี้ คือเราก็บ่นกันว่าทำเกมสักเกมได้หลักล้านก็หรูแล้ว ได้ 10 ล้านก็ยังดี พอเกม NFT เข้ามา แบบผมให้ทุนเริ่มต้นเปล่าๆ เลย 10 ล้าน 100 ล้าน แน่นอนมันกระทบครับ ทำให้นักพัฒนาเกมมีทุนมากขึ้นถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ช่วงนี้คงเป็นช่วงที่คนทำเกมน่าจะรวยที่สุดแล้ว แค่ได้เงินจ้างเปล่าๆ นี่คือยังไม่ได้แบ่งรายได้ด้วยนะ ทุกวันนี้นักพัฒนาเกมยิ้มครับ มีความสุข

ปัจจุบันทัศนคติของคนไทยเองยังมีปัญหาเรื่องการไม่ยอมรับเกมไทยอยู่ไหม

ยังมีอยู่ครับ คือคนไทยเราจะมีอคติอยู่ แล้วจะไม่ค่อยมองที่ตัวเกม อย่างคนไทยเวลาจะทำเกมต้องมีทุน แล้วพอได้ทุนจากภาครัฐก็ต้องทำเกมแบบไทยมาก ต้องมีลายกนก ใส่ความเป็นไทย แต่ไม่ได้ใส่ความเป็นเกม พอคนเล่นเห็นแล้วก็จะรู้สึกว่าเกมไทยมีแต่ยัดเยียดความเป็นไทย ก็ไม่ชอบ จนกลายเป็นภาพอคติแบบนั้นไปแล้ว ต่อให้มีเกมใหม่ๆ ขึ้นมา คนก็ยังแอนตี้โดยที่ยังไม่ทันเห็นตัวเกมหรือยังไม่เคยลองเล่นเลย 

 ผมก็แปลกใจเหมือนกันที่คนไทยเราแอนตี้ความเป็นไทยสูงมาก อย่างเกมญี่ปุ่น ถ้ามีซามูไร ก็ไม่เห็นมีใครว่าเขายัดเยียดความเป็นญี่ปุ่นเลย คนญี่ปุ่นไม่เห็นโวยวายว่ามีซามูไร มีนินจา หรือยัดเยียดความเป็นญี่ปุ่น เขายังอุตส่าห์ตื่นเต้นว่า เฮ้ย มีเกมซามูไรใหม่ มีเกมนินจาใหม่ เขาอุตส่าห์ชอบ ผมว่าถ้าผมใส่มวยไทยในเกม คนไทยจะด่าแน่นอนว่ายัดเยียดความเป็นไทย คือเรากลัวความเป็นไทยเกินไป กลัวว่ามันจะไปบดบังสิ่งอื่นในเกม เพราะต้องยอมรับว่ามันไม่เคยมีอะไรพิสูจน์ได้ว่าทำแล้วเวิร์ค คือถ้ามีเกมที่มีความเป็นไทยออกมาแล้วดังเปรี้ยงหรือแมสขึ้นมา คนไทยอาจจะเริ่มเปลี่ยนแนวคิด แต่ตอนนี้มันยังไม่มี แล้วคนไทยก็ยังมีอคตินี้อยู่ 

ต้องขอพูดถึงอีกจุดหนึ่งด้วยว่า ทุนเราต่ำ คนไทยเราซื้อเกมมาโดยไม่ได้มองว่าเกมนี้มีทุนสร้างเท่าไหร่ ซึ่งก็คงไม่มีใครรู้อยู่แล้ว ผู้เล่นเขาไม่ต้องรู้หรอกว่าเกมนี้ทุนสร้างเท่าไหร่ ใครเป็นคนทำ พอผู้เล่นเขาเอามาตรฐานเดียวกันไปเทียบกับเกมทั้งโลก เกมไทยก็สู้ไม่ได้อยู่แล้ว ทุนเราห่างจากเขาเป็น 10-20 เท่า ไม่มีทางสู้ได้ เกมต่างประเทศใช้คนสร้างเป็นพันคน เกมไทยทำกันอยู่ประมาณ 20 คน คนละสเกลเลย ไม่มีทางสู้ได้ แล้วคนเล่นก็ชอบหยิบเกมพวกนี้ไปเปรียบเทียบ ว่าทำไมมีเท่านี้ ทำไมเกม Genshin Impact ทำอย่างนี้ได้ ทำไม GTA ทำอย่างนี้ได้ แต่ถามว่าทุนเราเท่า GTA ไหม 

หมายความว่าอุตสาหกรรมเกมไทยยังขาดนักลงทุน?

ใช่ครับ ขาดนักลงทุนที่เข้าใจ คือมันมีนักลงทุนมาเรื่อยๆ ครับ แต่ว่านักลงทุนที่เข้าใจอุตสาหกรรมเกมยังมีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะมีทัศนคติที่มองเกมเป็นภาพลบอยู่ นี่คือตัวร้ายหลักของวงการเกมไทยครับ คนยังมองเกมว่าคือตัวร้าย เล่นแล้วไปฆ่าคน เล่น RoV แล้วไปปาดคอใครสักคน เล่น GTA แล้วต้องไปปล้นแท็กซี่สักคน ต้องมีแน่ๆ อันนี้ก็ยังเป็นภาพที่เกิดขึ้นอยู่ 

แล้วผู้ใหญ่หลายคนก็เข้าใจว่า เกมเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จะต้องเอาออกไปจากโลกใบนี้ เราจะไม่ให้มีการสนับสนุนเกิดขึ้น ถ้าเราสนับสนุน เด็กมันจะไปปาดคอกันทั้งประเทศ นั่นคือสิ่งที่เขากลัวกันจริงๆ แล้วมันทำให้ไม่มีการสนับสนุน เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ที่กำหนดนโยบายในประเทศนี้ 

การสนับสนุนจึงยังมาไม่ถึง มันเกิดแต่ยังไม่สุด มันเคลื่อนที่ไม่ค่อยได้ ที่จริงมันต้องเกิดขึ้นจากภาครัฐมากกว่า นักลงทุนเป็นแค่เอกชนครับ ไม่ควรให้เอกชนมาแบกประเทศอยู่แล้ว มันควรจะมาจากนโยบายภาครัฐที่จะทำให้เกิดตรงนี้ได้ ส่วนเอกชนเป็นเรื่องของการทำกำไรเป็นหลัก เขาไม่ได้มองว่าทำแล้วจะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้น หรือจะช่วยให้ประเทศนี้เติบโตยังไง เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเอกชนครับ เอกชนเขาต้องทำแล้วได้กำไร ซึ่งเกมก็ไม่ใช่ตัวที่กำไรง่าย เกมมีการแข่งขันสูง แล้วก็มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกมกำไรยากมาก เอกชนบ้านเราไม่ได้รวยขนาดนั้นที่จะมาไฟต์ในตลาดนี้ ยกเว้นว่าจะมี passion ในวิดีโอเกมมาก ยอมเสียเงินเป็นร้อยล้านเพื่อมาทำเกม แต่มันไม่มีอยู่แล้วครับ คนที่ทำตรงนี้ได้คือรัฐบาลเท่านั้นที่จะมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดทัศนคติใหม่ๆ นักลงทุนต่างชาติอย่าง Ubisoft ก็มาไทยไม่ได้ เพราะติดข้อกฎหมาย ปัญหาอยู่ที่ภาครัฐครับ ผมว่าถ้าเคลียร์ตรงนี้ได้ ตัวอื่นก็เคลียร์ตาม

คิดว่าในแวดวงนักพัฒนาเกมบ้านเรายังขาดทักษะด้านไหน

เอาตามตรงก็รู้สึกว่าขาดหมดเลยครับ ด้านโปรแกรมเมอร์ก็ขาดแคลนระดับหนึ่ง เราไม่ค่อยแข็งเท่าไหร่ในจุดนี้ แล้วก็หาคนเก่งจริงๆ ยาก เพราะว่าคณะเกมที่อยู่ในไทยไม่ได้เน้นโปรแกรมมิ่งลึกมาก เพราะวิชาโปรแกรมมิ่งค่อนข้างยาก แล้วไม่ค่อยเห็นภาพ ทุกคนที่อยากเรียนเกมพอไปนั่งเรียนวิชาเกมก็แบบ…อะไรวะเนี่ย แล้วถ้าไปเรียนคณะวิศวะคอมฯ อย่างผมเนี่ยก็แทบไม่มีเรื่องเกมเลย เราเรียนโปรแกรมอย่างเดียว ส่วนเรื่องเกมต้องไปหาความรู้เอาเอง มันเลยค่อนข้าง rare case มากที่จะได้คนทำเกมที่จบสายคอมฯ แบบแน่นๆ มันไม่ค่อยมีครับในไทย อย่างจุฬาฯ เองก็ผลิตได้ 2 ปี สัก 2-3 คน ไม่ได้มีทุกรุ่นด้วย มัน rare มากคนประมาณนี้ในไทย แล้วถ้าเขาไปอยู่บริษัทหนึ่งก็อยู่ตลอด ไม่ได้ย้ายบริษัทไปเรื่อยทุกปี เราจึงค่อนข้างขาดแคลนโปรแกรมเมอร์

ส่วนเรื่องของการออกแบบเกม เอาจริงๆ เมื่อก่อนก็ค่อนข้างขาด ตอนนี้มีเด็กจบใหม่มาค่อนข้างเยอะ เราก็เริ่มเห็นภาพว่ามีคนที่ได้เรียนในเชิงออกแบบเกมกันมากขึ้น ก็เริ่มเห็นภาพแล้วว่าเด็กทำอะไรบ้าง แต่ยังขาดเรื่องประสบการณ์ เราขาดประสบการณ์ในการทำเกมใหญ่ๆ ระดับทริปเปิลเอ

หน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ควรทำอะไรบ้างไหม

depa เขาก็มีหลายโครงการที่พยายามทำอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่โดนตัดงบเสียก่อนก็คงจะมีเยอะกว่านี้ครับ แต่ก็ยังไม่พออยู่ดี มันเป็นแค่ก้าวแรกมากกว่า อาจเป็นก้าวแรกที่น่าตื่นเต้น แต่ต้องมีเรื่อยๆ และต้องมีหลายด้าน 

จริงๆ ผมอยากให้มีการผลักดันเรื่องการศึกษาด้วย แล้วก็เรื่องของผู้บริโภคด้วยว่าจะทำยังไงให้เกิดการสนับสนุน ตอนนี้เหมือนเราทำเกมออกมาแต่ไม่มีคนซื้อ ทำยังไงให้มีคนซื้อ จะมีการสนับสนุนในรูปแบบไหนได้บ้าง จะทำยังไงให้คนมาบริโภคเกมไทยมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มันก็ไม่มี มีแค่ช่วยเปิดเวทีให้นิดหน่อย ให้แค่โอกาสในการพบปะคอนเน็คชั่นต่างๆ แต่ไม่ได้เกิดเม็ดเงินอะไร อีกมุมหนึ่งคือ ยังขาดพลังของภาคเอกชนในหลายๆ ด้านที่ต้องการสนับสนุน ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาช่วยได้มากกว่านี้ 

ภาพอนาคตของวงการเกมไทยแบบไหนที่คุณอยากเห็น และต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นไปได้

ก็เริ่มเห็นแล้วครับในระดับหนึ่ง ในแต่ละปีมีเกมอินดี้มากขึ้น ปีหนึ่งมีเกมอินดี้ในไทยปล่อย 10 เกม แล้วก็ไม่ได้เน้นจุดขายเรื่องความเป็นไทย จุดขายคือความเป็นเกม ว่าเกมนี้ดียังไง น่าสนใจยังไง คือผมอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นเยอะๆ อยากเห็นจุดขายหลายๆ อย่าง อันนี้ก็คือสิ่งที่อยากเห็นมากๆ 

อย่าง depa ที่เป็นภาครัฐก็ให้ทุนสนับสนุนบ้างระดับหนึ่ง ทำให้เริ่มเห็นเกมที่ดีๆ น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีครับ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากได้งบสนับสนุนที่ใหญ่กว่านี้ เยอะกว่านี้ เพราะ depa เขาไม่ได้ให้เงิน เขาแค่ให้เวทีและพื้นที่ในการมาแสดงตัวตนมากกว่า แต่ถ้ามีเงินสนับสนุนด้วย ผมคิดว่าเราจะได้เห็นเกมที่มีคุณภาพโผล่ขึ้นมาชัดเจน แล้วเราจะสามารถพูดได้ว่าตลาดเกมไทยเป็นตลาดหนึ่งในโลกนี้ นอกจากเกาหลี ญี่ปุ่น ก็สามารถนึกถึงประเทศไทยได้ 

สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในโปแลนด์ครับ โปแลนด์เป็นประเทศเล็กๆ แต่มีเกมดังอย่าง Green Hell, The Witcher และ Dying Light 2 ที่เพิ่งออก ผมก็อยากให้มันเกิดกับประเทศไทย ให้เราไปอยู่จุดนั้นได้ ถ้าเราจะเป็นแบบโปแลนด์ได้ เราต้องสร้าง The Witcher ให้ได้ก่อน

ที่จริงกรณี The Witcher เขาทำเองนะ เขาไม่ได้งบสนับสนุน เขาคือร้านขายเกมเถื่อน แล้วก็อยากทำเกมของตัวเอง บ้านเขามีนิยาย The Witcher เขาก็เลยซื้อลิขสิทธิ์นั้นมาแล้วก็ทำเกมแล้วดังเปรี้ยง กลายเป็นตัวเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเขา เขากลายเป็นบริษัทใหญ่ เหมือนเป็นฮีโร่คนใหม่ พอเกิดฮีโร่ 1 คนปุ๊บ รัฐบาลก็สนใจ พุ่งเข้าไปอัดฉีดให้ฮีโร่คนนี้ไปไกลขึ้น
ผมว่าประเทศไทยกำลังรอฮีโร่ ซึ่งเกม Timelie อาจยังไม่ใช่ฮีโร่ ต้องมีเกมที่เป็นฮีโร่ออกมา คือเกมอินดี้ แล้วถ้ามีเกมฮีโร่ออกมา รัฐก็ต้องอัดฉีดให้เขาไปไกลยิ่งขึ้น

ฐิติพร อ่อนบ้านแดง
เด็กนิเทศที่มีอีกร่างเป็นแมวสีเทา ติดเป๊ปซี่กับนิยายวาย เวลาว่างส่วนใหญ่ที่มีถูกใช้กับการหาซื้อหนังสือใหม่ๆ มาอ่านแต่ก็ไม่ได้อ่านสักที

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า