สถานฝากเลี้ยงเด็กในสนามบินญี่ปุ่น ลดอัตราการลาออกไปเป็น ‘แม่’ ของพนักงาน

เด็กๆ ใน Day Care ของสนามบินฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น กำลังร้องเพลงบริเวณล็อบบี้ท่าอากาศยาน

สนามบินญี่ปุ่นเตรียมเปิด Day Care หรือสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับบุคลากร ‘เพิ่มเติม’ จากเดิมที่มีอยู่แล้วคือที่สนามบินนานาชาตินาริตะ สนามบินนานาชาติคันไซ สนามบินคาโงะชิมะ และสนามบินนานาชาติ Central Japan ทั้งนี้เพื่อต้องการลดอัตราการลาออกของพนักงานเพื่อกลับไปทำหน้าที่คุณแม่ ต้องการมอบสวัสดิการที่ควรได้ให้แก่พนักงาน และอีกเหตุผลที่สำคัญคือ เพราะญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปี 2020

แน่นอนว่านโยบายของท่าอากาศยานญี่ปุ่นเกิดขึ้นจากการเห็นข้อเท็จจริงด้านข้อจำกัดในการใช้ชีวิตและสร้างสมดุลระหว่างงานทั้งนอกและในบ้านของพนักงานของท่าอากาศยานที่ทำงานไม่เป็นเวลา หลายๆ ครั้งแอร์โฮสเตสจำเป็นต้องบินระยะทางไกล นั่นทำให้พนักงานหญิงหลายรายจำต้องลาออกจากการทำงานเพื่อกลับไปให้เวลากับเด็กๆ

ปี 2004 สนามบินนานาชาตินาริตะ เป็นสนามบินแรกที่เปิด Day Care เต็มเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นในปี 2016 อีกสามสนามบินที่เหลือจึงเปิดสถานรับเลี้ยงเช่นนี้ตาม

แต่นี่เป็นเพียงสวัสดิการที่เกิดขึ้นกับ ‘คุณแม่’ เพียงไม่กี่กลุ่ม เพราะหากดูปรากฏการณ์เนิร์สเซอร์รี 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสถานที่ผิดกฎหมายมากกว่าการได้รับใบประกาศที่ถูกต้อง และเมื่อรวมกับตัวเลขความต้องการของผู้หญิงที่บอกว่า ‘พวกเธอต้องการออกไปทำงานนอกบ้าน และไม่ต้องการลาออกจากงานประจำเพื่อต้องกลับมาเป็นแม่เพียงอย่างเดียว’ ที่เพิ่งถูกรายงานปลายปีนี้ ก็อาจขับภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคม และนโยบายที่ปรับตามของญี่ปุ่น และของคุณแม่ทั่วโลกให้เด่นชัดขึ้น

ผู้หญิงญี่ปุ่นทำงานนอกบ้านเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ต้อง (ง้อ) ใช้เงินสามี

สำรวจจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการ ญี่ปุ่น (Health, Labor and Welfare Ministry) เปิดเผยว่า ผู้หญิงแสดงความจำนงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวว่าสามีจะมีรายได้ที่มากหรือมั่นคงแค่ไหน คำตอบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเพียงว่า เพราะพวกเธออยากทำงาน และนั่นเป็นเหตุให้รายได้รวมภายในบ้านมากขึ้น

“ผู้หญิงจำนวนมากอยากออกไปทำงาน ไม่ใช่แค่ต้องการซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายภายในบ้าน แต่เพราะความต้องการของพวกเธอเอง ซึ่งเป็นความต้องการที่มากไปกว่าความต้องการประคับประคองความสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลลูกๆ ของพวกเขาด้วย” คือคำอธิบายในผลสำรวจดังกล่าว

อัตราจ้างงานรวมของผู้หญิงที่พ่วงตำแหน่งภรรยาอยู่ที่ราว 10 ล้านเยนต่อปี หรือประมาณ 88,000 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิม 46.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2002 เป็น 56.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 และตัวเลขที่ผู้หญิงที่เป็นภรรยาทำเงินได้นั้น ก็มากขึ้น 5-10 ล้านเยนต่อปี

มาดูที่สถิติด้านความเห็นกันบ้าง มีผู้หญิงญี่ปุ่นเพียง 26.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่อยากลาออกจากงานหลังคลอดลูก และจะกลับมาทำงานใหม่หลังเด็กๆ โตแล้ว นับเป็นตัวเลขที่ร่วงลงมาจากปี 2000 ที่ขณะนั้นอยู่ที่ราว 37.6 เปอร์เซ็นต์

นับเป็นตัวเลขที่อาจสร้างรอยยิ้มให้แก่ ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ต้องการแรงงานคุณภาพจากผู้หญิงและผู้อาวุโสมากขึ้น


อ้างอิงข้อมูลจาก:
japantimes.co.jp

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า