เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของนักธุรกิจไทยตกที่อังกฤษ และ เหตุการณ์เที่ยวบิน JT610 ตกในทะเล ประเทศอินโดนีเซีย
สองเหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน ช่วงเวลาดังกล่าวเราอยู่ที่ต่างประเทศ เตรียมทำไฟลต์กลับกรุงเทพฯ อาการต้องนอนแต่นอนไม่หลับทำให้ต้องเปิดทีวีที่มีแต่ช่องท้องถิ่นเสียส่วนมาก ฟังรู้เรื่องก็มีแค่ BBC เราเห็นผู้สื่อข่าวต่างชาติรายงานข่าวสักอย่างหน้าคิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ ฟังคร่าวๆ ก็รู้เรื่องว่าเฮลิคอปเตอร์ตก แต่นึกว่าเหตุเกิดที่เมืองไทย
ความอยากรู้อยากเห็นถึงจะมีมากแค่ไหนก็ต้องปิดทีวีนอนตามเวลา เพราะเดี๋ยวจะตื่นมาไม่มีแรง เมื่อกลับมาถึงไทยจึงได้รู้รายละเอียดของข่าวแรก และได้รู้ข่าวที่สองตามมาติดๆ ทำให้เรา ในฐานะผู้ทำการในอากาศ ที่มีความคุ้นเคยกับคน สถานที่ รวมทั้งอากาศยานที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองเรื่องนี้ เกิดคำถามขึ้นในหัวมากมาย
ทุกครั้งที่ได้ยินความตายของใครก็ตาม เรามักนึกถึง ลูนา เลิฟกู๊ด ในเรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์ แม่มดผิวขาว ผมยาวบลอนด์ จากบ้านเรเวนคลอ เพราะบุคลิกนิ่งๆ แปลกๆ เธอจึงไม่ค่อยมีเพื่อน
“พวกมันคือเธสตรอล คนที่เคยเห็นความตายเท่านั้นที่จะเห็นมัน”
เธอบอกกับแฮร์รีก่อนที่จะโยนเนื้อสดให้มันกิน เธสตรอลเป็นม้าที่มีแต่โครงกระดูกดำ เป็นสัญลักษณ์ของความอับโชค มองดูเผินๆ เหมือนจะน่ากลัว ลูน่าเห็นเธสตรอลเพราะเห็นแม่ของเธอตายจากคาถาที่กำลังทำการทดลองเกิดผิดพลาด ส่วนแฮร์รีก็เห็นเธสตรอลตั้งแต่คืนที่เห็นพ่อแม่ถูกสังหารโดย โวลเดอมอร์ และคืนที่หางหนอนร่ายคำสาปพิฆาตใส่ เซดริก ดิกกอรี
เขาว่ากันว่าการเดินทางโดยอากาศยานเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่หากเกิดเรื่องขึ้นมาก็ไม่เหลืออะไรเลย
อ้างอิงหนึ่งในทฤษฎีที่ผู้ทำการในอากาศเรียนตั้งแต่ก่อนเริ่มบิน และต้องเรียนทบทวนกันทุกปี คือ ‘ทฤษฎีการเกิดอุบัติเหตุสวิสชีสโมเดล’ (Swiss Cheese Model) โดยแผ่นสวิสชีสสไลด์บางๆ จะมีรู แต่ละแผ่นเปรียบเสมือนบุคคลต่างๆ ที่ทำงานเพื่อให้เครื่องบินลำหนึ่งขึ้นสู่ฟากฟ้าได้ เช่น เจ้าหน้าที่เช็คอิน ช่างซ่อมเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ (ATC) เรื่อยมาถึงบนเครื่องบิน วิศวกรการบิน นักบิน แอร์ฯ สจ๊วร์ต ผู้โดยสาร ส่วนแต่ละรูคือจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของแต่ละคน
เมื่อมีความเสี่ยง (hazard) เกิดขึ้น แล้วจุดอ่อนของแต่ละคนมาเรียงตรงกันครบสี่รูเมื่อไร อุบัติเหตุก็จะเกิดขึ้น
ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์จริงในอดีตปี 1990 สายการบิน British Airways เที่ยวบินที่ 5390 หน้าต่างในห้องนักบินหลุดออกขณะกำลังบินอยู่ในระดับเกือบ 20,000 ฟุต ร่างของกัปตันหลุดออกไปนอกห้องนักบิน แต่เขายังใช้เข่าสองข้างเกี่ยวขอบหน้าต่างไว้ได้ ทำให้เขาไม่ดิ่งพื้นโลกไป แต่ในขณะเดียวกัน เขาต้องเผชิญอากาศภายนอกที่ไม่ได้เอื้อให้เขาหายใจได้ปกติ นักบินผู้ช่วยต้องหยิบหน้ากากออกซิเจนของตัวเองมาสวม บังคับอากาศยานขอลงจอดฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว แต่เขาไม่สามารถสื่อสารกับ ATC ได้อย่างชัดเจนเนื่องจากมีเสียงลมแทรกสอดเข้ามามาก
ส่วนผู้โดยสารในเคบินเกิด decompression คือเกิดการสูญเสียความดันอากาศในเคบิน อากาศภายในไหลออกสู่ภายนอกอย่างรวดเร็ว ผู้โดยสารต้องหายใจโดยการใช้หน้ากากออกซิเจนที่ดรอปลงมาโดยอัตโนมัติ ลูกเรือสองคนต้องสลับมือกันมาจับขากัปตันไว้เพื่อไม่ให้เขาหลุดออกไปนอกเครื่องบิน ซึ่งอาจทำให้เขาถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์ทางด้านซ้าย ซึ่งนอกจากอาจทำให้ร่างเขาแหลกละเอียด การสูญเสียเครื่องยนต์ไปหนึ่งเครื่องก็ยิ่งทำให้การควบคุมเครื่องเพื่อร่อนลงยากลำบากเข้าไปอีก
เล่ามาขนาดนี้ คุณคงคิดว่ากัปตันคงตาย…
ไม่ เขารอด
ไม่ใช่คนทั่วโลกที่ตกใจว่าเขารอดมาได้ยังไง ตัวเขาเองก็ยังไม่อยากเชื่อว่าการลอยตัวบนความสูงหลายหมื่นเมตรหลายนาทีแบบไม่มีออกซิเจนช่วยจะทำให้เขารอดมาได้ เขาเพียงบาดเจ็บตามร่างกายแต่ไม่ถึงขั้นสาหัส
หลังจากการสืบสวนจึงพบต้นตอหลายประการ เมื่อพบว่าช่างที่ประกอบน็อตหน้าต่างเครื่องบินให้ติดกับตัวเครื่องติดน็อตขาดไปหนึ่งตัว ความผิดพลาดนี้เกิดในช่วงที่เขาทำงานในภาคค่ำ ทำให้แสงสว่างอาจไม่พอ ความผิดพลาดของนักบินที่ไม่ได้รัดสายเข็มขัดตลอดเวลา แต่ถ้าหน้าต่างหลุดตอนที่กัปตันยังไม่ปลดสายเข็มขัดเขาก็อาจบาดเจ็บน้อยลงก็เป็นได้ ปัจจัยแทรกแซงคือเสียงลมที่ทำให้นักบินสื่อสารกับภาคพื้นได้ไม่ชัด ทั้งหมดนี้จึงทำให้รูชีสแห่งความผิดพลาดมาเรียงตรงกันจนเกิดเหตุการณ์นี้ได้
หากนำสวิสชีสโมเดลไปวิเคราะห์สาเหตุการเกิดเหตุการณ์ทั้งสองก็คงหาความผิดพลาดของใครก็ตามที่อยู่ในวงจร ‘กว่าจะเอาเครื่องขึ้นบิน’ ได้ ใครผิดพลาดตรงไหน แล้วความผิดพลาดมารวมกันได้อย่างไร ก็คงจะวิเคราะห์ไม่ยากนัก เพียงแต่ต้องได้ความจริงที่เป็นจริงเสียก่อน
ในฐานะผู้ทำการในอากาศ การติดตามข่าวทั้งสองแบบคู่ขนาน ทำให้ตระหนักได้ว่าความตายใกล้ตัว ไม่ใช่ว่าการทำงานบนเครื่องบินจะเสี่ยงกว่าอาชีพอื่น ความผิดพลาดแบบสวิสชีสโมเดล ก็ไม่ได้ผ่านรูชีสยกแผงจนเกิดอุบัติเหตุทุกวี่วัน เพียงแต่มันอาจเป็นอาชีพที่ทำให้เราได้เห็น ‘เธสตรอล’ เดินเล่นไปมาในเคบินอยู่บ่อยๆ
เครื่องบินตก โลกรู้ เพราะเสมือนโศกนาฏกรรมที่สร้างความเสียหายต่อคนหมู่มาก แค่นั่งฟังข่าว ไม่ได้มีญาติพี่น้องบนเครื่องที่เกิดเหตุ ยังรู้สึกหดหู่ใจไม่น้อย
แต่ความตายบนเครื่องบิน โลกไม่รู้ แต่เราเห็น รวมทั้งการขนส่งศพโดยอากาศยาน เราเคยถามสจ๊วร์ตรุ่นพี่หลังจากเพิ่งดูหนังที่มีฉากขนศพใต้ท้องเครื่องบินว่า “พี่คะ หนูบินมาปีกว่าเอง พี่ว่าหนูเคยบินไฟลต์ที่มีการขนศพใต้ท้องเครื่องแล้วหรือยังคะ” / “ปีกว่าเหรอ นับไม่ถ้วนหรอกนะ” พี่สจ๊วร์ตกล่าว
ความหดหู่ใจที่เกิดขึ้นกับคนที่เห็นความตายมันไม่ใช่ความน่ากลัว สยดสยอง ผีหลอก แต่มันเป็นเพราะเรารู้ว่า ทั้งความตายที่เห็นในเคบิน กับคนที่นอนในโลงใต้ท้องเครื่อง ต่างมีคนรอพวกเขาอยู่ที่ปลายทาง
เราพยายามเชื่อมโยงนัยของโลกเวทมนตร์กับโลกมนุษย์ การที่พ่อมด แม่มด จะมีสิทธิ์เห็นเธสตรอลก็ต่อเมื่อพวกเขาต้องเคยเห็นความตายมาก่อน จะเป็นไปได้ไหมที่เธสตรอลคือตัวแทนความตระหนักรู้บางอย่างที่จะเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ที่ได้เห็นความตาย ถ้าจะกล่าวว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” ก็คงไม่ผิดนัก แต่ก็อาจเชยไปหน่อย
เคยมีครูสอนแอร์ฯ ท่านหนึ่งสอนเราไว้ว่า
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบนเครื่องบิน ผู้โดยสารจะวีนเหวี่ยง หรือเราจะทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานกันเอง ขอจงจำไว้ว่าทุกอย่างแก้ไขได้ บนเครื่องบินไม่มีอะไรหนักหนาทั้งนั้น เมื่อเทียบกับเครื่องตก”
ที่ครูเขาว่าก็จริง ตราบใดที่เรายอมรับแล้วว่างานของเราไม่มีอะไรที่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เราทำงานอยู่บน ความเสี่ยงที่รับได้ (acceptable risk)
และตำราการบินสากลยังเชื่อว่าอุบัติเหตุทางเครื่องบินเกิดจาก Human Factor 98% และ Act of God 2%
อ้างอิงข้อมูลจาก: hogwartsthai.com muggle-v.com occupational-h.blogspot.com hfacs.com |