ได้เห็นมติของ ป.ป.ช. กรณีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ครอบครองนาฬิกาหรู 25 เรือน โดยไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 3 ระบุมีข้อมูลไม่เพียงพอว่า พลเอกประวิตรจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงแต่อย่างใด นั่นหมายความว่า ‘รอด’ ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูว่ากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีประเด็นไหนที่น่าสนใจอีกบ้าง ก่อนพบว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งฉบับ พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2561 ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องนี้โดยตรง มีบางมาตราน่าหยิบยกมากางให้ดู และชวนทำความเข้าใจไปทีละประเด็น ซึ่งเหตุที่ต้องยก พ.ร.ป. ทั้งฉบับเก่าและใหม่มาเทียบเคียง ก็เนื่องมาจากกรณีนาฬิกาหรูนั้น อยู่ในภาวะคาบเกี่ยวทั้งกฎหมายฉบับเก่าและใหม่นั่นเอง
เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ คือใคร
พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ ‘เจ้าหน้าที่ของรัฐ’ หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้ความหมายรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบอำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ
พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ให้ความหมายของ ‘เจ้าพนักงานของรัฐ’ หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คำถามที่ว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่ในข่ายการพิจารณานี้หรือไม่ อาจได้คำตอบตั้งแต่วรรคข้างต้นแล้ว หากยังสงสัยก็ต้องพูดให้ชัดว่า ตำแหน่งรัฐมนตรี อยู่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอย่างชัดเจน
มาตราไหน เขียนอย่างไร
พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม
ขณะที่ พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม
ยืมแล้วคืน พ้นผิดหรือไม่
คดีหนึ่งที่น่าเทียบเคียงได้ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อยในกรณีนาฬิกาหรูของพลเอก ประวิตร ได้ยกมาเป็นตัวอย่าง คือกรณีของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ครอบครองรถโฟล์ค ราคา 2.9 ล้านบาท กรณีนั้นนายสุพจน์อ้างว่า ภรรยายืมเพื่อนนักธุรกิจมาจึงไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน แต่เมื่อ ป.ป.ช. สอบสวนเชิงลึกกลับพบว่า การยืมรถยนต์มูลค่าเกือบ 3 ล้านบาทนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังพบพฤติการณ์ว่า การต่อทะเบียนหรือลักษณะอื่น ๆ ไม่น่าจะเป็นการยืม ที่สุดแล้ว ป.ป.ช. ใช้เวลาไม่ถึงปีก็มีมติชี้มูลความผิดนายสุพจน์ กรณีจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสินให้จำคุกนายสุพจน์เป็นเวลา 10 เดือน พร้อมทั้งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลา 5 ปี
แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาฯ ก็พิพากษายืนตามคำพิพากษาเดิม ทั้งยังมีการระบุข้อความในข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลอีกว่า การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีอำนาจต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ก็เพื่อ…
“ป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์มิชอบ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้ง 2 รายการ (คือเงินสดและรถยนต์) ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ควรต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่กระทำผิดเสียเองจึงนับว่าพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง”
ขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กล่าวถึงเรื่องนี้บนเฟซบุ๊กตัวเองว่า
“คนอย่างผมมีสิทธิที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะ ป.ป.ช. ส่งผมติดคุกมาแล้ว ไม่ว่าเงินน้อย เงินมาก หากว่าลืมรายงาน กฎหมายสันนิษฐานว่า ‘มีเจตนา จงใจปกปิดทรัพย์สิน’ อย่างตัวผม ลืมรายงานหุ้นเป็นเงินแค่ 150,000 บาท สมัยก่อนให้เงินนักร้องยังมากกว่านี้ แต่จะพูดแก้ตัวอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น เพราะท่านบอกว่าเป็นกฎหมาย ‘ปิดปาก’ ต้องคอตกติดคุก
“วันนี้ ป.ป.ช. สอบเรื่องนาฬิกาหรูแล้ว สรุปว่า นาฬิกาเป็นของเพื่อนจริงๆ (แม้ว่าเพื่อนตายไปแล้ว) นาฬิกาไม่ใช่ของบิ๊กป้อมจริงๆ (เพราะเก็บอยู่ที่บ้านเพื่อน) นาฬิกาให้เพื่อนคนอื่นยืมด้วยจริงๆ (ไม่ใช่แค่เพื่อนชื่อป้อม) นาฬิกาเป็นของเคลื่อนย้ายง่ายจริงๆ (ชักงง อะไรที่มันเคลื่อนย้ายยากวะ?) นาฬิกาไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนจริงๆ (แม่งเรือนละเป็นสิบๆ ล้าน)
“อ่านแล้วอย่าไปซีเรียส ป.ป.ช. สอบมาตั้งนานได้แค่นี้จริงๆ มันเป็นกฎหมายพิเศษ คนธรรมดาอย่างพวกเรา ไม่เข้าใจจริงๆ นี่ถ้ารู้ว่า ‘ยืม’ แล้วรอดแบบนี้ ผมไม่สารภาพให้ติดคุกจริงๆ แหม… คิดแล้วมันช่างน่าเจ็บใจเสียจริงๆ”