ฟังความหลายข้างกรณียื่นบัญชีทรัพย์สิน ผ่านเอง ค้านเอง ก่อนใส่เกียร์ถอยด้วย ม.44

เป็นข่าวให้สับสนงงงวยอยู่สักพักแล้ว หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 รวมถึงประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 102 ไม่ใช่เพราะที่มาที่ไปของกฎหมายที่เขียนเอง ยุ่งเองเท่านั้น แต่ผลของมันยังทำให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่ว เพราะจากปกติการยื่นบัญชีทรัพย์สินมักเป็นเรื่องของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กลายเป็นว่ากฎหมายฉบับใหม่ครอบคลุมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอีกมากมาย

บางเสียงอาจบอกว่า ก็ดีแล้ว เพราะจะได้แสดงความโปร่งใส ไม่ผิดจะกลัวอะไร แต่บางเสียงเช่นกันที่บอกว่า นี่เท่ากับการแก้ผ้ากลางสี่แยก สุ่มเสี่ยงที่จะยื่นบัญชีตกหล่น และนำไปสู่การกลั่นแกล้งโดยง่าย

ความชุลมุนอันเนื่องมาจากกฎหมายนี้ยังทำให้หลายคนชิงลาออกจากตำแหน่งเป็นทิวแถว และเมื่อพิจารณาว่าหากสถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป ก็นึกถึงฉากที่ว่าประเทศจะเดดแอร์ เพราะองค์กรรัฐของประเทศต้องขาดผู้บริหารระดับสูง อันเนื่องมาจากผู้นำในตำแหน่งนั้นว่างลง

นี่คือการเกริ่นเข้าเรื่องพอหอมปากหอมคอ ส่วนรายละเอียดระหว่างทางเกิดอะไรขึ้นบ้าง ใครคิดเห็นอย่างไร เรารวบรวมความคิด ประมวลสถานการณ์ความป่วยไข้อันเนื่องมาจากพิษยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้ตรงหน้านี้แล้ว

มาตรา 102 ของแสลง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับคนไปทั่ว โดยเฉพาะมาตรา 102 ที่ระบุให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยคู่สมรสให้หมายถึงผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่อยู่กินฉันสามีภรรยาด้วย ส่วนบุตรนั้นทั้งในและนอกสมรส

1. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
3. ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
4. ข้าราชการตุลาการตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป
5. ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป
6. ข้าราชการอัยการตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป
7. ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
8. ตำแหน่งอื่นที่กฎหมายอื่นกำหนดให้ยื่น
9. ผู้บริหารท้องถิ่น รองและผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น

ย้ำอีกในมาตรา 104 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 และมาตรา 103 แล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้แจ้งหน่วยงานต้นสังกัดทราบด้วย

ทันทีที่กฎหมายถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ระลอกคลื่นของกฎหมายฉบับนี้ก็ถาโถมไปยังคณะบุคคลหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงตามมาตรา 102 (7) นั้นแรกทีเดียวยังไม่ชัดเจนนักว่าหมายถึงตำแหน่งใดบ้าง กระทั่งประกาศ ป.ป.ช. ที่ออกตามมานั่นแหละถึงกับทำให้หลายคนแทบหงายหลัง

พ.ร.ป. นี้ไม่มีใครค้าน

ย้อนกลับไปที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ซึ่งแน่นอน ตามสไตล์การออกกฎหมายของ สนช. ชุดนี้คือไร้เสียงค้านอีกเช่นเคย คะแนนสนับสนุน 198 คน งดออกเสียง 7 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

จากนั้นก็อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า พ.ร.ป. ถูกประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้สนองพระราชโองการ

1 พฤศจิกายน 2561 ปัญหาเริ่มวุ่นเมื่อมีประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 102 ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการอธิบายมาตรา 102 (7) ที่ระบุว่า ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้นหมายถึงตำแหน่งใดบ้าง

  1. ข้าราชการพลเรือน
  2. ข้าราชการทหาร
  3. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  4. ผู้ว่าราชการจังหวัด
  5. ปลัดกรุงเทพมหานคร
  6. กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
  7. หัวหน้าหน่วยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
  8. กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ
  9. ตำแหน่งอื่นตามกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
  10. ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

เหล่านี้คือกลุ่มของตำแหน่งใหญ่ๆ ในความหมายของ ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ เท่านั้น ภายใต้หัวข้อใหญ่มีหัวข้อเล็กที่ระบุยิบย่อยจำเพาะไปยังองค์กร และระบุตำแหน่งอย่างชัดเจนอีกมากมายสุดจะสาธยาย ในที่นี้แนะนำให้คลิกอ่านอ้างอิงท้ายบทความในส่วนประกาศ ป.ป.ช. จะพบว่าคณะบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่ามีใครบ้าง แต่ที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษคือ ผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ซึ่งหมายถึง นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งอธิการบดี หลังประกาศนี้ออกมาเท่านั้นแหละ เรียกว่าวงแตกกันทั้งบาง

อย่างนี้ต้องลาออก

ไม่ต้องรอให้ฝุ่นตลบไปมากกว่านี้ หลังประกาศของ ป.ป.ช. ออกมาก็นำไปสู่การลาออกของบุคคล และคณะบุคคลอีกหลายชุด ซึ่งเท่าที่รวบรวมรายชื่อมานี้ เป็นคนที่ ‘ยื่นลาออกแล้ว’ ยังไม่นับรวมกลุ่มที่มีข่าวว่า ‘อาจจะลาออก’ หรือ ‘กำลังพิจารณาลาออก’ แต่อย่างใด

  • 5 พฤศจิกายน 2561 – กรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลาออก 4 คน ประกอบด้วย 1. นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก 2. นางชุมศรี พจนปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง 3. นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และ 4. นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยรายงานข่าวระบุว่า ทั้ง 4 คน ยื่นลาออกตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2561
  • 6 พฤศจิกายน 2561 – กรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นลาออก 5 คน
  • 17 พฤศจิกายน 2561 – นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประกาศลาออกจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
  • 27 พฤศจิกายน 2561 – รศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ ลาออกจากผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พร้อมกับบอร์ด สมศ. ยกชุด
  • 28 พฤศจิกายน 2561 – นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
  • 29 พฤศจิกายน 2561 – กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดของหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ ลาออก 11 คน
  • 3 ธันวาคม 2561 – กรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลาออกอีก 2 คน หนึ่งในนั้นคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งอ้างว่าลาออกเพราะตนเองทำงานได้ไม่เต็มที่
  • 4 ธันวาคม 2561 – คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลาออก 8 คน โดยแบ่งเป็นบอร์ดนโยบาย 5 คน และบอร์ดบริหาร 3 คน
  • 9 ธันวาคม 2561 – สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ลาออก 3 คน หนึ่งในนั้นคือ น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง

อนึ่ง 29 พฤศจิกายน 2561 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาขยายระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สิน จากเดิมที่ให้มีผลบังคับใช้ 30 วันหลังจากประกาศ เปลี่ยนเป็น “ประกาศนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป”

หลังข้อความนี้ยังมีการระบุตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด และกรรมการผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ

ชั่งน้ำหนักผลเสีย-ผลดี กรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัย

9 พฤศจิกายน 2561 รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ให้สัมภาษณ์ในไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ตนเองรู้สึกแปลกใจที่มีเสียงสะท้อนถึงความยุ่งยาก หรืออ้างว่าตำแหน่งนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งนำไปสู่การขู่ว่าจะลาออก อีกทั้งเมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.การจัดตั้งมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยรัฐ ล้วนกำหนดว่าบุคคลเหล่านี้มีอำนาจ เพราะสามารถควบคุมการทำงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้

ถึงแม้ไม่ได้มีผลประโยชน์โดยตรงมากนัก แต่ผลประโยชน์โดยอ้อมมหาศาล เช่น กรณีอธิการบดีจะกู้เงิน 1,000 ล้านบาท มาพัฒนามหาวิทยาลัยก็ต้องผ่านมติสภามหาวิทยาลัยเสียก่อน นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้รับเหมา แล้วเอาบริษัทตนเองมารับงานมหาวิทยาลัยมูลค่าหลายพันล้านบาท ก็เป็นปัญหาเชิงผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นกัน และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แม้จะมีคณาจารย์คัดค้านหรือร้องเรียน แทนที่จะมีการตรวจสอบกลับกลายเป็นผู้ร้องเรียนถูกไล่ออกหรือไม่ต่อสัญญาจ้าง เหล่านี้จึงเป็นตัวอย่างที่กลายเป็นปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล หากสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ตรวจสอบผู้บริหาร แต่คำถามคือใครตรวจสอบสภามหาวิทยาลัย

13 พฤศจิกายน 2561 รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนบทความเรื่อง “กรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการยื่นบัญชี” ลงในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ โดยมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี พร้อมมีเหตุผลประกอบอย่างย่นย่อ ดังนี้

  1. กลัวการยื่นไม่ครบ เพราะทรัพย์สินที่ต้องยื่นนั้นมียิบย่อยตั้งแต่เงินฝากในบัญชี หุ้นที่ซื้อไว้แล้วลืมเพราะไม่มีปันผล ต่างหู แหวน กำไล อัญมณี ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 2 แสนบาท ซึ่งต้องมีรายละเอียด มีรูปถ่ายประเมินมูลค่าของแต่ละรายการ ความยิบย่อยจากตัวอย่างเช่นนี้จึงมีโอกาสที่ทำให้ยื่นไม่ครบได้ง่ายๆ
  2. มหาวิทยาลัยจะเสียโอกาสได้คนที่เหมาะสมมาเป็นกรรมการสภา นั่นเพราะนักธุรกิจที่เป็นศิษย์เก่า และนายกสมาคมศิษย์เก่าที่เป็นกรรมการสภาโดยตำแหน่ง อาจจะไม่อยากเปิดเผยบัญชีให้ใครรู้ เพราะนั่นหมายถึงการหงายไพ่ในที่สาธารณะ คนทั่วไปรวมทั้งคู่แข่งทางการค้าเป็นอันรู้หมดว่ากำลังวางแผนทำอะไร
  3. นำไปสู่การกลั่นแกล้ง เพราะคนที่มาเป็นนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยย่อมขัดใจ ขัดผลประโยชน์คนในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นการเปิดเผยทรัพย์สินจะเอื้อให้เกิดการกลั่นแกล้งขึ้น เพียงแค่นำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดร้องเรียน ป.ป.ช. หรือแม้กระทั่งนำเสนอใน social media โดยข้อมูลนั้นอาจเป็นจริงปนเท็จก็ได้
  4. กลัวหลุด เสียชื่อเสียง กลัวการแก้แค้น อึดอัดใจ เสียความเป็นส่วนตัว ความยุ่งยากในการหาหลักฐานประกอบทุกรายการ ฯลฯ นอกจากนี้กรรมการสภาที่มาจากผู้แทนผู้บริหารระดับคณบดี ผู้แทนอาจารย์ จะหาได้ยากขึ้น เพราะดำรงตำแหน่งเพียง 1-2 ปี กลับต้องยื่นบัญชีเหมือนกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
  5. รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาที่ประกาศออกมา ไม่ได้รวมวิทยาลัยชุมชนอีก 20แห่งที่ให้อนุปริญญา และไม่มีโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ
  6. ในประกาศมีรายชื่อของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์นายกสภา และมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นกรรมการสภาจำนวนมาก การยื่นบัญชีตกหล่นไปอาจนำไปสู่การปาราชิกได้

ผ่านเอง ค้านเอง ถ้าไม่งงจะงงมาก

15 พฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานโดยอ้างคำพูดของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวว่า กรณีของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่คิดว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับลับลมคมใน หรือไม่ต้องการเปิดเผย แต่ทุกคนมีปัญหาเดียวคือ ความรำคาญ จุกจิก ยุ่งยาก เหมือนกับที่หลายครั้งตนได้เชิญคนเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือคณะรัฐมนตรีในอดีต เมื่อทราบว่าจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยหลายคนจึงปฏิเสธไป ไม่ใช่ว่ากลัวความผิดจากการทุจริต แต่จุกจิก รำคาญ และกลัวผิดพลาด ทั้งยังมีคนจับตาดูอยู่ จึงไม่อยากเข้ามายุ่ง

ขณะที่ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นสมาชิก สนช. ทั้งคู่ ต่างออกมาคัดค้านโดยให้เหตุผลว่าประกาศดังกล่าวจะสร้างปัญหาตามมา อีกทั้งเพิ่มภาระอันไม่สมเหตุสมผลกับตำแหน่งหน้าที่ เพราะส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจะสร้างความกังวลมากกว่า

ความน่าสนใจก็คือมาตรา 102 (7) ของ พ.ร.ป. ฉบับนี้ผ่านหูผ่านตา สนช. ทั้งคณะโดยปราศจากเสียงค้าน วันดีคืนร้ายเมื่อมีประกาศ ป.ป.ช. ออกมาขยายความมาตราดังกล่าวกลับทำให้เป็นเดือดเป็นร้อนเสียเอง เรื่องนี้ทำให้เกิดอาการกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ขำไม่ลง แต่งงมากจริงๆ

ใส่เกียร์ถอย

6 ธันวาคม 2561 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในไทยโพสต์ออนไลน์ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. เตรียมยกเลิกให้บางตำแหน่งไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพื่อป้องกันการแห่ลาออก โดยเรื่องนี้ตนได้คุยกับ ป.ป.ช. จะมีการแบ่งกลุ่มออกเป็น

  1. ตำแหน่งที่ไม่ต้องยื่นอะไรทั้งสิ้น และไม่ควรยื่น เพราะไม่ได้สุ่มเสี่ยงใดๆ
  2. กลุ่มที่ควรจะต้องให้ยื่น แต่ไม่ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ
  3. กลุ่มที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

นายวิษณุ กล่าวว่า ประกาศที่ออกมาก่อนหน้าไม่ได้แบ่งไว้เช่นนี้ ส่วนการจะเลือกว่าตำแหน่งใดอยู่กลุ่มใดก็ไม่ควรใช้สองมาตรฐาน แต่ควรใช้การพิจารณาอย่างมีเหตุผล และสำหรับคำถามที่ว่าทำไม ป.ป.ช. ไม่คิดเช่นนี้ตั้งแต่แรก นายวิษณุ ชี้แจงว่า ป.ป.ช. มีเวลาไม่มาก อีกทั้งเวลานั้นทุกอย่างจะต้องเป็นความลับ ไม่สามารถปรึกษาใครได้ นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า การแก้ไขประกาศจะยังไม่เสร็จในเร็วๆ นี้ เพราะเมื่อมีการขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปจนถึง 31 มกราคม 2562 ก็ถือว่ายังมีเวลาปรับแก้อยู่ ไม่ควรตื่นเต้นรีบลาออก และย้ำอีกว่า คสช. จะไม่มีวันออกคำสั่งแก้ประกาศ ป.ป.ช. เพราะจะเป็นการแทรกแซง แต่จะให้ ป.ป.ช. เป็นฝ่ายยกเลิกเอง

7 ธันวาคม 2561 สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน และนักวิชาการอิสระ เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กของตนเองว่า ถ้าเกณฑ์ของ ป.ป.ช. ข้อใดจุกจิกเกินไป ซึ่งตนเห็นว่าบางข้อจุกจิกจริง และมีแนวโน้มว่าต้นทุนการบังคับใช้กฎหมาย (regulatory costs) สูงเกินกว่าประโยชน์ในแง่การป้องปรามการทุจริต ก็ควรแก้เกณฑ์ให้ทุกคนปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ไม่แก้เกณฑ์อะไรเลย แต่มาคอยประกาศยกเว้นพรรคพวกตัวเองว่าไม่ต้องยื่น แบบที่รัฐบาลทำอยู่ และคนที่ไม่อยากยื่นก็ยกเหตุผลต่างๆ นานามาอธิบายว่าทำไมตัวเองไม่อยากยื่น แต่ไม่เห็นใครเรียกร้องให้ ป.ป.ช. แก้เกณฑ์เพื่อความยุติธรรม

สฤณี ย้ำอีกว่า พฤติกรรมแบบนี้แสดงนิสัยเสียเรื่อง ‘กฎกู’ ชัดเจน และตอกย้ำถึงสิ่งที่เคยพูดหลายครั้งแล้วว่า คนไทยจำนวนมากรู้จักแต่สิทธิของตัวเองกับหน้าที่ของคนอื่น ไม่รู้จักสิทธิของคนอื่นกับหน้าที่ของตัวเอง และคนไทยประเภทนี้ก็รวมถึงเนติบริกรและครูบาอาจารย์ชื่อดังจำนวนมากด้วย

ม.44 มาแล้วจ้า

11 ธันวาคม 2561 แม้จะกะเกณฑ์แล้วว่าหวยจะต้องออกด้วย ม.44 แต่ตามประสาพวกไม่ประสบความสำเร็จทางโชคลางก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าวิธีนี้เป็นทางออก กระทั่งตกบ่ายของวันนี้ 11 ธันวาคม 2561 จู่ๆ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาก็เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2561 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีรายละเอียดสำคัญคือ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำหรับข้าราชการทหาร และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด”

ซึ่งข้อความนี้เกือบเหมือนเดิมทุกประการ ยกเว้นบางท่อนที่หายไปก็คือ ‘กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ’ ซึ่งหมายถึง กรรมการและผู้บริหารกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก สถาบันพระปกเกล้า สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน ตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และสุดท้ายคือ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

นอกจากนี้ข้อ 3 ในคำสั่ง ม.44 ยังระบุด้วยว่า “ให้ยกเลิกข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561” ซึ่งข้อความนี้หมายถึง ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองขึ้นไป

พร้อมยังกำชับในข้อถัดมาว่า “เพื่อประโยชน์ของการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสียใหม่ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกาศใช้ต่อไป”

อ้างอิง

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า