ก่อนเสียงปืน
เดยัน ลอฟเรน ปราการหลังวัย 28 ปี นั่งอยู่ตรงนั้นแล้วมองย้อนกลับไป ไม่ใช่แค่วันที่เขาลงสนามในสีเสื้อลิเวอร์พูล, เซาแธมป์ตัน, ลียง, อินเตอร์ ซาเปรซิซ, ดินาโม ซาเกร็บ หรือการเล่นฟุตบอลในสนามหลังบ้านเท่านั้น แต่เขาพาย้อนกลับไปสู่ ‘สงคราม’ ณ ดินแดนที่เขาเรียกมันว่า ‘บ้านเกิด’
5 กรกฎาคม 1989 เขาเกิดที่ Kraljeva Sutjeska ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ นอกเมืองเซนีตซา (Zenica) ในบอสเนีย
“ผมเคยถามแม่ว่าที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง เธอบอกว่ามันสวยงามมาก เต็มไปด้วยความสุข เธอทำงาน พบรักกับพ่อ แล้วก็มีผม
“ตอนนั้นเรามีร้านค้าเล็กๆ เป็นของตัวเอง เป็นครอบครัวที่อาจเรียกได้ว่ามีตังค์ เราไม่มีปัญหาอะไรเลย ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เรามีเพื่อนบ้านเป็นคนมุสลิม เซิร์บ ทุกคนพูดคุยกันดี มีความสุขกับการใช้ชีวิต ซื่อสัตย์ต่อกัน จนกระทั่งเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น”
เขาเว้นวรรค ขณะที่เรื่องเล่าของสงครามและเสียงปืนดังเปรี้ยง!
1 มีนาคม 1992 เด็กชายเดยัน ลอฟเรน วัยสามขวบแม้จะเริ่มรู้ประสาแล้ว แต่ยังห่างไกลที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ชาวโครแอต ชาวเซิร์บ และชาวบอสเนียซึ่งเป็นมุสลิมปะทุลุกลามจนทำให้เกือบทั้งประเทศกลายเป็นทะเลเพลิง
“ผมอยากจะอธิบายให้ได้ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น แต่เรื่องเล่ามันมีมากเกินไป และไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงได้ถูกต้องที่สุด ถึงอย่างนั้นผมก็จำได้ว่ามันเป็นค่ำคืนแห่งสงครามระหว่างคนสามกลุ่มที่มีความเชื่อแตกต่างกัน
“ผมจำเสียงไซเรนนั้นได้ มันน่ากลัวเหลือเกิน ผมคิดว่าอาจมีการทิ้งระเบิด หรืออาจจะมีบางอย่างเกิดขึ้น
“แม่พาผมลงไปชั้นใต้ดิน ผมไม่รู้ว่าเรานั่งอยู่ในนั้นนานเท่าไหร่ กระทั่งเสียงไซเรนนั้นหายไปแล้ว แม่ของผม ลุง และภรรยาของเขา เราตัดสินใจขับรถมุ่งหน้าสู่เยอรมนี โดยทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ร้านค้า หรืออาหารที่เราเก็บไว้
“เราหยิบกระเป๋ามาใบเดียว ขับรถ 17 ชั่วโมงไปเยอรมนีด้วยความยากลำบาก เพราะระหว่างทางจะมีด่านตรวจและมีคนคอยถามว่าเราจะไปไหน พวกเขาพยายามให้เรากลับไป แต่ตอนนั้นใครจะรู้ได้ว่าถ้ากลับไปมันจะเกิดอะไรขึ้น”
สิ่งที่เขาไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นก็คือว่า สงครามขยายวงกว้างไปถึงกรุงซาราเยโว เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างชาวเซิร์บ โครแอต และบอสเนีย ผู้คนจำนวนมากหนีตายออกจากที่นั่น รวมทั้งครอบครัวของเขาด้วย
เรฟูจีในเยอรมนี
ปี 1992 ณ กรุงมิวนิค ที่นั่นปู่ของเขาเตรียมบ้านหลังหนึ่งเอาไว้ให้ มันถูกปลูกขึ้นง่ายๆ ด้วยไม้ ขนาดของมันเล็กลงไปถนัดตาเมื่อถูกผู้มาใหม่หอบเอาชีวิตหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยพร้อมกันถึง 11 คน แต่มันก็ดีกว่านอนฟังเสียงปืนที่บ้านเกิดเป็นแน่ เดยันสัมผัสถึงอ้อมกอดแห่งรัก ความอบอุ่น ซึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนคน 11 ชีวิตที่กินอยู่หลับนอนอยู่ด้วยกันในนั้นถึงสามปีเต็ม แต่บางฉากที่เขาจดจำได้มันก็แสนเศร้า
“แม่ผมบอกว่า ราวสี่ทุ่มของทุกคืนเราจะเปิดวิทยุเพื่อฟังข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วทุกคนก็นั่งฟังด้วยกัน เราต้องฟังจากวิทยุเพราะตอนนั้นเราไม่มีทีวี
“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับแม่ ผมจำได้ว่าเธอเอาแต่ร้องไห้ แล้วผมก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น บางครั้งผมโกรธมากที่แม่เอาแต่ร้องไห้ ผมบอกให้เธอหยุดได้แล้ว ตอนนี้เราอยู่ที่นี่แล้ว ทุกอย่างปลอดภัย แต่ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าเบื้องหลังคราบน้ำตาคืออะไร
“ผมและครอบครัวโชคดีมากที่คุณปู่มาทำงานและอาศัยอยู่ที่เยอรมนี เขาก็เลยยื่นเอกสารต่อทางการและบอกให้พวกเรามาอยู่ด้วยกันที่นี่ ถ้าไม่เช่นนั้นผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมกับพ่อแม่อาจจะตายไปแล้วก็ได้
“ตอนเรียนหนังสือผมมีเพื่อนรักคนหนึ่ง พ่อเขาเป็นทหาร ผมจำได้ว่าเขาร้องไห้แทบทุกวัน ผมถามเขาว่าทำไมต้องร้องไห้ เขาบอกว่าพ่อของเขาตาย ผมมานึกถึงตัวเองว่าเรื่องแบบนี้อาจเกิดกับพ่อของผมก็ได้”
เสียงระเบิด กระสุนปืน กลิ่นคาวเลือดคะคลุ้งไปทั้งเมือง เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นที่เมืองเซเบรนิกาซึ่งเดิมอยู่ในเขตบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา นายพลรัตโก มลาดิช ออกคำสั่งฆ่าชาวมุสลิมที่เป็นผู้ชายไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ราว 8,000 ชีวิตดับไปเซ่นไฟสงคราม ซึ่งว่ากันว่าเป็นการสังหารหมู่ที่โหดร้ายที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ซาราเยโวถูกปิดล้อมและตัดขาดจากระบบสาธารณูปโภค กองทัพเซิร์บโจมตีโดยไม่เว้นแม้กระทั่งคนในเมืองที่กระเสือกกระสนดิ้นรนใช้ชีวิตประจำวัน พวกเขาต้องวิ่งหลบกระสุนจากสไนเปอร์เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารสักมื้อ ขณะที่เมืองเซนิตซาบ้านเกิดของเดยันถูกโจมตีไม่ต่างกัน มันทั้งน่าเศร้าและสยดสยองเพราะบางชีวิตที่หายไปคือสมาชิกหนึ่งของครอบครัวตน
“มีการฆ่าแกงกันอย่างเหี้ยมโหด พี่ชายของลุงผมถูกคนใช้มีดเชือดคอตายต่อหน้าผู้คน ผมไม่เคยคุยเรื่องนี้กับลุง เพราะมันยากที่จะพูดถึง เขาสูญเสียพี่ชาย ซึ่งเปรียบเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวเราเหมือนกัน”
เมื่อเยอรมนีกลายเป็นบ้าน
เมื่อบ้านเกิดไม่ปลอดภัย คน 1.8 ล้านชีวิตจึงต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่ในที่ต่างๆ เดยัน ลอฟเรน บอกว่าเขาโชคดีมากที่ได้มาอยู่เยอรมนี และไม่รู้ว่าจะมีสักกี่ประเทศที่ยอมรับผู้ลี้ภัยจากบอสเนียอย่างพวกเขา
“ผมไม่เคยรู้สึกว่ามีปัญหา แน่นอนว่าผมเห็นอยู่ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แต่ไม่ได้รู้สึกอะไรกับมัน ก็คงเหมือนกับเด็กทั่วๆ ไปที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอง การงาน อาหาร
“เวลาหิวก็แค่บอกแม่ แล้วเขาก็จะมีอะไรสักอย่างให้กิน เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าพวกเขาต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เรามีอยู่มีกิน พวกเขาต้องต่อสู้แค่ไหนเพื่อที่จะมีงาน มีเงิน และมีชีวิตอยู่
“ผมได้รับความรักจากพ่อและแม่ เป็นเด็กที่มีความสุขคนหนึ่ง
“ผมเริ่มเล่นฟุตบอลราวอายุ 5-6 ขวบ เล่นกันในสนามหลังบ้านกับพ่อ มีความสุขกับมัน พออายุราว 6-7 ขวบพ่อก็พาผมไปดูเกมของบาร์เยิร์น มิวนิค แล้วก็ได้ไปดูพวกเขาที่สนามซ้อม ได้เจอไอดอลและซูเปอร์สตาร์ในเวลานั้น ผมได้ถ่ายรูปกับบิเซนเต ลิซาราซู (แบ็คซ้ายของบาร์เยิร์น มิวนิค) และโลธาร์ มัสเธอุส (กองกลางของบาร์เยิร์น มิวนิค)
“ผมรู้สึกว่าที่นี่คือบ้าน ผมรักประเทศเยอรมนีมากๆ”
ดินแดนแห่งโอกาส ผืนดินที่มอบชีวิตใหม่ให้ แม้จะรักที่นั่นเพียงใดแต่ก็ต้องมีสักวันที่พวกเขาต้องกลับ
“ทุกๆ หกเดือนแม่กับพ่อจะไปขออนุญาตเพื่ออยู่ที่นี่ต่อ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธ เจ้าหน้าที่บอกว่าเมื่อสงครามจบลงเราต้องกลับไปที่นั่น เพราะฉะนั้นทุกๆ หกเดือนพ่อกับแม่ก็เลยต้องเตรียมเก็บแพ็คของเพื่อเดินทางกลับ มันยากที่จะพูด เมื่อเราไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้อีกต่อไปแล้ว
ปี 1996 สงครามจบลงหลังจากที่ต่อสู้กันมา 3-4 ปี เมื่อกองทัพสหประชาชาติจัดการกับกองทัพเซิร์บได้สำเร็จ แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังไม่นิ่งพอสำหรับการใช้ชีวิต เดยัน ลอฟเรน และครอบครัวจึงยังสามารถอยู่ที่เยอรมนีต่อได้อีกสี่ปี แต่แล้วนาฬิกาก็พาพวกเขาเดินทางมาถึงวันที่ไม่อยากให้มีในปฏิทิน
“พวกเขาบอกว่าเรามีเวลาอีกสองเดือน เก็บกระเป๋า แล้วก็…กลับไป”
จากเยอรมนี สู่โครเอเชีย ตัวตลก และฟุตบอล
ปี 1999 เขาไม่ได้บอกว่าทำไมถึงไม่กลับหมู่บ้าน Kraljeva Sutjeska ในเมืองเซนีตซา ประเทศบอสเนียแอนด์เฮอร์เซโกวีนา ปลายทางไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนที่จากมา แต่กลายเป็นเมืองซึ่งห่างออกไปทางตอนเหนือ 238 ไมล์ ที่นั่นคือ คาร์โลวัส (Karlovac) ประเทศโครเอเชีย
“มันยากมากสำหรับผม เพราะเพื่อนผมทุกคนอยู่ที่เยอรมนี ชีวิตผมเริ่มต้นที่นั่น ผมมีความสุขมาก ผมได้เล่นฟุตบอลอยู่ในทีมเล็กๆ ส่วนพ่อผมก็เป็นโค้ชที่นั่น ทุกอย่างสวยงามหมด แต่หลังจากนั้นผมก็ต้องมาที่โครเอเชีย”
เขาเป่าปาก ลึกๆ อาจรู้สึกว่ามันไม่เข้าท่าเอาเสียเลย
“หลังจากหลายปีในเยอรมนี คุณรู้จักทุกอย่างของเยอรมัน วิถีชีวิต ภาษา ผมอาจจะพูดได้ว่าเยอรมนีเหมือนบ้าน แต่สำหรับโครเอเชียนั้นไม่ใช่เลย
“ผมไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร พูดอย่างไร ผู้คนเอาแต่ถามว่าทำไมสำเนียงผมถึงแตกต่างจากพวกเขา”
การมาอยู่ที่โครเอเชียขณะอายุ 10 ขวบ ที่นี่เต็มไปด้วยความยุ่งยาก นอกจากสงครามแล้ว นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกเช่นนั้นเมื่อเขาต้องต่อสู้กับสิ่งที่รบกวนจิตใจตลอดเวลา ผู้คนหัวเราะเยาะที่เด็กชายเดยัน ลอฟเรน แตกต่างจากคนอื่น และบางครั้งสิ่งที่อยู่ภายในก็ถูกปลดปล่อยด้วยกำปั้น
“ผมต้องสู้ ผมต้องสู้จนกว่าจะจบ นั่นแหละผมเลย
“มีเรื่องเดียวที่พวกเขาไม่หัวเราะเยาะผมก็คือฟุตบอล ผมคิดว่าพวกเขาเริ่มให้ความเคารพผมก็เพราะเรื่องนี้
“ผมเฝ้ารอที่จะถึงคาบเรียนกีฬา รอโรงเรียนเลิก รอให้ทุกคนไปที่สนามหลังบ้านแล้วเล่นฟุตบอลด้วยกัน ผมเป็นตัวหลักเลยสำหรับเรื่องนี้ มันทำให้ผมได้แสดงออกว่าผมมีดีอะไรบ้าง”
ไม่ใช่ชีวิตส่วนตัวเท่านั้นที่เขาคิดว่าต้องเผชิญปัญหา ครอบครัวของเขาก็ต้องต่อสู้กับความยากลำบาก แม่ต้องทำงานในร้านค้าปลีกวอลมาร์ทโดยรับเงินเดือนเพียง 280 ปอนด์ ส่วนพ่อต้องทำงานเป็นช่างทาสี สถานะทางการเงินเข้าขั้นขัดสน บางเดือนไม่มีเงินแม้แต่จะจ่ายค่าไฟ รองเท้าไอซ์สเก็ตที่เขารักจึงเป็นทางออก
“ผมถามแม่ว่ารองเท้าไอซ์สเก็ตอยู่ไหน แม่พูดทั้งน้ำตาว่าพ่อขายมันไปแล้ว เราไม่มีเงินพอที่จะจ่ายใช้ในสัปดาห์นี้ ผมสาบานได้ว่านั่นคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต ผมไม่อยากได้ยินเรื่องแบบนี้อีกเลย”
นอกจากฟุตบอลเขาชอบไอซ์สเก็ตมาก รองเท้าจึงมีความหมายกับเขา แต่สถานการณ์ทางการเงินของบ้านทำให้พ่อแม่ต้องตัดสินใจขายรองเท้าแลกเงิน 40 ปอนด์ เพียงเพื่อต่ออายุไปให้พ้นสัปดาห์โดยไม่ต้องหยิบยืมใคร นิสัยแบบนี้นี่เองที่เขาบอกว่ามันช่วยผลักให้เขามีชีวิตในทิศทางที่ถูกต้อง และมันฝังความคิดให้เขาอยากเป็นคนที่ทำงานช่วยเหลือตัวเองให้ได้
พ่อกับแม่พยายามผลักเขาให้ได้เรียนหนังสือ และย้ำนักย้ำหนาว่าโรงเรียนสำคัญเพียงใด แน่นอนว่าเขาเข้าใจ แต่เป้าหมายที่ใหญ่มากสำหรับเขาคือการได้เป็นนักฟุตบอล และเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเองมีดีเพียงใดด้วยการก้าวขึ้นไปติดทีม NK Ilovac และ NK Karlovac ซึ่งเป็นสโมสรระดับเยาวชนในโครเอเชีย และนี่เป็นเหมือนสะพานที่ทอดโอกาสให้เขาได้เริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ในฐานะนักฟุตบอล
โดยลำพังในซาเกร็บ
ปี 2004 ซาเกร็บ โครเอเชีย
“ผมมาที่ดินาโม ซาเกร็บ ตอนอายุ 14 ปี ใช้ชีวิตที่นี่โดยลำพังในเมืองที่ไม่คุ้นเคย ห่างจากพ่อแม่ 25-30 ไมล์ มันไกลมากสำหรับเด็กที่อายุ 14 ปี ถ้ามองจากวันนี้ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าตัวเองจะสามารถอยู่ห่างกับลูกๆ ของผมแบบนั้นได้ไหม มันเป็นความกล้าหาญมากสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ เขากล้ามากที่ปล่อยให้ผมได้เดินตามความฝัน”
นับถึงวันนี้ผ่านมา 25 ปีแล้วสำหรับสงครามกลางเมืองบอสเนีย เปลวไฟและคาวเลือดที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง 3 ปี 8 เดือน มีการประมาณตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 100,000 คน 1.8 ล้านคนกลายเป็นผู้อพยพ และ 350,000 คนได้รับการช่วยเหลือจากประเทศเยอรมนี
“ดูเหมือนสงครามเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน มันยังเป็นเรื่องอ่อนไหว หลายคนเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ
“แม่บอกกับผมก่อนที่จะถ่ายทำสารคดีนี้ว่า ‘อย่าบอกพวกเขานะ’ ผมก็เลยพูดว่า ‘ผมจะบอก’ แล้วเธอก็ร้องไห้อีกครั้ง เรื่องนี้มันละเอียดอ่อนมาก เธอยังจำทุกเหตุการณ์ได้เลย
“เมื่อผมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยวันนี้ ผมจำได้ จำผู้คนที่ไม่ต้องการพวกผมให้เข้าไปในประเทศของเขา ผมเข้าใจได้ว่าแต่ละคนต้องการปกป้องตนเอง แต่พวกเขาไม่มีที่อยู่ และมันก็ไม่ใช่ความผิดของเขาเลย พวกเขาต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่และเพื่อปกป้องลูกๆ ของเขา พวกเขาเพียงต้องการที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ผมเคยผ่านเรื่องแบบนี้มาหมดแล้ว ผมรู้ว่าแต่ละครอบครัวต้องพบเจออะไร คุณต้องให้โอกาสเขา มอบโอกาสให้พวกเขา
“ผมฝันว่าวันหนึ่งผมจะเขียนหนังสือ เล่าเรื่องจากชีวิตของผม พวกเขาอาจจะสนใจที่จะอ่านก็ได้นะ แต่มันก็คงไม่ง่ายหรอกที่จะเข้าใจความเจ็บปวดที่ผมเคยผ่านมา แต่หากวันใดที่ชีวิตคุณได้เจอความยากลำบาก มันจะมีแสง ณ ที่แห่งหนึ่งของปลายอุโมงค์”
ปัจจุบันเด็กชายจาก Kraljeva Sutjeska ผ่านการค้าแข้งกับสโมสรฟุตบอลชั้นนำกว่า 366 นัด และติดทีมชาติโครเอเชีย 34 นัด มองจากสนามหญ้าของแอนฟิลด์ เขาไม่เคยลืมสงครามในบ้านเกิดของตนเอง เสียงเชียร์ของแฟนบอลต่างจากห่ากระสุนของค่ำคืนนั้นลิบลับ เขาจำได้ดีว่ามันสำคัญเพียงใดที่เยอรมนีให้โอกาสเรฟูจีจากบอสเนียเช่นเขารวมทั้งอีกสามแสนห้าหมื่นชีวิตได้ต่ออายุลมหายใจ และเขายิ่งไม่มีทางลืมว่าฟุตบอลมอบแทบทุกอย่างให้โดยเฉพาะความเป็นมนุษย์
เดยัน ลอฟเรน – ภูผาผู้เติบโตจากห่ากระสุนและสงคราม