เชื้อชาตินั้นสำคัญไฉน: ไฟสงครามอันมาจากความต่างของสีเลือด

 

ปัญหาด้านเชื้อชาติไม่ได้จบลงที่บาดแผลทางจิตใจอันมาจากความเกลียดชังเท่านั้น เพราะประวัติศาสตร์บอกเราว่า หลายครั้งมันจบลงด้วยความตาย แต่นั่นก็ยังไม่หนักหนาเท่ากับเชื้อชาติเป็นชนวนเหตุแห่งการสู้รบ ที่ทวีความรุนแรงจนเกิดความสูญเสียมหาศาล เอาเฉพาะเหตุการณ์สำคัญของโลกที่ลุกลามกลายเป็นสงคราม จำนวนนับของผู้ล้มตายก็มีมากจนยากจะยอมรับแล้ว

สงครามโลกครั้งที่ 2 สายเลือดบริสุทธิ์อยากครองโลก

ชาวยิวนับล้านคนที่อยู่ในเยอรมนีและยุโรปต้องสังเวยชีวิตอันเนื่องมาจากความเกลียดชัง ทั้งก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อฮิตเลอร์และนาซีเรืองอำนาจ ความเชื่อเรื่องชนชาติเยอรมันซึ่งเป็น ‘เชื้อสายอารยัน’ ผู้มีสายเลือดบริสุทธิ์และอยู่เหนือผู้ใดก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น คนเชื้อชาติอื่น โดยเฉพาะยิว เริ่มถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆ นานา

ชาวยิวกลายเป็นแพะ ไล่ตั้งแต่การแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำ แม้กระทั่งไฟไหม้ก็เพราะยิว พรรคนาซีออกกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิของชาวยิว พวกเขาไม่สามารถทำกินบนผืนดินเยอรมนีได้ กิจการของชาวยิวถูกปิด ถูกกวาดต้อนให้ไปอยู่ในค่ายกักกัน ทำงานหนัก กระทั่งตายเพราะความหิวโหย บ้างฆ่าตัวตายเพราะสิ้นหวัง โรคระบาด ถูกยิงทิ้ง แต่ที่สยดสยองที่สุดคือการถูกรมแก๊สพิษ

สงครามจบลงอย่างที่พอรู้กัน เยอรมนีและฝ่ายอักษะเป็นผู้พ่ายแพ้ แกนนำพรรคนาซีถูกจับกุม ก่อนถูกพิพากษาประหารชีวิตและจำคุกเป็นจำนวนมาก แต่บาดแผลระหว่างเชื้อชาตินั้นยังคงอยู่ ร้าวลึก และยากต่อการลืมเลือน

สงครามยูโกสลาเวีย ความล่มสลายหลังการล่มสลาย

หลังการล่มลลายของสหภาพโซเวียต ประเทศบริวารในยุโรปตะวันออกเกิดความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ กระทั่งเกิดสงครามกลางเมือง โดยเฉพาะในแผ่นดินเดิมของยูโกสลาเวีย

ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์โดยมี นายพลตีโต เป็นผู้นำ ดินแดนของบอสเนีย เซอร์เบีย โครเอเชีย และสโลวีเนีย รวมเป็นหนึ่งในชื่อ ‘ยูโกสลาเวีย’ โดยมีสามเชื้อชาติหลักคือ เซิร์บ บอสเนีย และโครแอต พวกเขาอยู่ด้วยกันได้แม้จะแตกต่างทั้งเชื้อชาติและศาสนา กระทั่ง นายพลยอซิป ตีโต ถึงแก่กรรม ความระหองระแหงระหว่างกันก็เริ่มประทุ โดยมีตัวแปรสำคัญคือ ประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเซวิช ผู้นำคนใหม่ ซึ่งเป็นชาวเซิร์บหัวรุนแรง

มิโลเซวิชดำเนินนโยบายโดยเอื้อให้ชาวเซิร์บเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในกองทัพ อีกทั้งใช้อิทธิพลขัดขวางการลงมติยกเลิกระบบพรรคการเมืองเดียว สร้างความขุ่นเคืองให้สาธารณะรัฐอื่น กระทั่งปี 1991 โครเอเชียและสโลวีเนียก็ประกาศตัวออกเป็นเอกราช จากนั้นหนึ่งปี บอสเนียแอนด์เฮอร์เซโกวีนาก็ประกาศแยกตัวตามมา กลายเป็นว่ายูโกสลาเวียก็ล่มสลายอย่างสมบูรณ์แบบ

ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากบอสเนียแอนด์เฮอร์เซโกวีนาแยกตัวออกมาแล้ว ชาวมุสลิมในบอสเนียก็อยากแยกตัวเป็นเอกราชอีก ทว่าครั้งนี้ชาวเซิร์บในประเทศใหม่ใบเดียวกันไม่ยอม เหตุการณ์เริ่มลุกลามบานปลายอีรุงตุงนังและสุดจะซับซ้อน เมื่อแต่ละประเทศซึ่งเพิ่งแยกตัวเป็นเอกราชต่างตกอยู่ในภาวะโกลาหลโดยมีจุดศูนย์กลางของเปลวไฟอยู่ในบอสเนีย

สโลโบดัน มิโลเซวิช ประธานาธิบดีของเซอร์เบีย ให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ชาวเซิร์บในบอสเนียแอนด์เฮอร์เซโกวีนา นับตั้งแต่ปี 1992 กระทั่งสี่ปีหลังจากนั้นคือการสู้รบกันระหว่างผู้คนที่เคยอยู่ด้วยกันในประเทศยูโกสลาเวีย

ผู้คนแตกกระสานซ่านเซ็นลบลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ ของยุโรปที่เข้าไปให้การช่วยเหลือ ส่วนพวกที่หนีไม่ได้ก็ตายในสงครามกลางเมืองซึ่งมีการสังหารหมู่ระหว่างเผ่าพันธุ์มากกว่า 1 แสนคน และกว่า 1 ล้านคนต้องอพยพออกจากแผ่นดินเกิด

กระทั่งสหประชาชาติต้องเข้าแทรกแซง และกองทัพอากาศขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ใช้ไม้แข็งปราบปรามกองทัพเซิร์บ สงครามจึงสงบลง เกิดการเจรจาสันติภาพระหว่างผู้นำของบอสเนีย โครเอเชีย และเซอร์เบีย ยุติสงครามบนแผ่นดินยุโรปที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วน สโลโบดัน มิโลเซวิซ ถูกจับกุมในข้อหาอาชญากรสงคราม และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2006 ที่เรือนจำของศาลอาญาโลก เมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

ลองนึกภาพความสยดสยองของการนองเลือดซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 100 วัน แต่มีผู้เสียชีวิตถึง 800,000 คนดูสิ คำนวณอย่างง่ายคือจะมีคนตายทุกๆ 8,000 คนต่อวัน 333 คนต่อชั่วโมง และ 5 คนต่อนาที มันต้องเกลียดชังถึงเพียงใดจึงสามารถปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้

ประเทศรวันดา ซึ่งประชากร 85 เปอร์เซ็นต์เป็นคนเชื้อสาย ‘ฮูตู’ ทว่าผู้ปกครองประเทศมายาวนานคือชาว ‘ทุตซี’ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย

ฮูตูเป็นชนพื้นเมืองของรวันดา ส่วนทุตซีเป็นผู้อพยพมาจากเอธิโอเปีย ฮูตูทำเกษตรกรรม แต่ทุตซีเก่งด้านค้าขายและทำปศุสัตว์ นานวันเข้าทุตซีก็ร่ำรวย มีการก่อตั้งระบอบกษัตริย์และขุนนาง ส่วนฮูตูซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเป็นได้เพียงพสกนิกรธรรมดา ความรู้สึกถูกกดขี่จึงเกิดขึ้นเรื่อยมา

กระทั่งปี 1959 ชาวฮูตูก็ล้มล้างการปกครองชาวทุตซี ทำให้ชาวทุตซีจำนวนมากแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่ในประเทศข้างเคียง ระหว่างการปกครองรวันดาตลอด 32 ปี แกนนำฮูตูหัวรุนแรงก็มีการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังตลอดเวลาว่าต้องต่อต้าน ต้องกวาดล้างทุตซีให้สิ้นซาก เพราะชาวทุตซีเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหงชาวฮูตู ว่ากันว่าเด็กฮูตูที่เกิดหลังปี 1962 เพียงลืมตาดูโลกก็พร้อมที่จะเกลียดทุตซีแทบจะทันที

ระหว่างนั้นผู้อพยพชาวทุตซีก็รวบรวมผู้คนก่อตั้งเป็นแนวร่วมผู้รักชาติรวันดา หรือ Rwandan Patriotic Front (RPF) มีการปะทะกันเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1990-1993

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1994 เมื่อเครื่องบินของ ประธานาธิบดีจูเวนาล ฮับยาริมานา และไซเปรียน นตาร์ยามิรา แห่งบรุนดี ซึ่งเป็นชาวฮูตูทั้งคู่ถูกยิงตก แล้วความบาดหมางชิงชังก็ระเบิดออกมาเมื่อข้อกล่าวหาพุ่งไปที่กลุ่ม RPF ซึ่งหมายถึงชาวทุตซีว่าเป็นผู้กระทำการครั้งนี้ หลังจากนั้นทุกอย่างก็โกลาหล

ระหว่างวันที่ 7 เมษายน – 15 กรกฎาคม 1994 ระยะเวลาเพียง 100 วัน ชาวฮูตูถือมีดออกมาจากบ้าน หยิบอาวุธออกมา และเดินหน้าฆ่าทุกคนที่เป็นชาวทุตซี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน สามีภรรยา มีการประกาศเป้าหมายผ่านสถานีวิทยุ แกนนำฮูตูมีลิสต์รายชื่อบุคคลที่เป็นเป้าสังหารส่งต่อไปยังแต่ละชุมชน ความตายยังง่ายดายมากขึ้นเมื่อมีการตั้งด่านตรวจบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งระบุเชื้อชาติเอาไว้ในนั้น

ความน่าสนใจและน่าเศร้าในเวลาเดียวกันคือ สหประชาชาติ และประเทศมหาอำนาจแทบไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เลย

เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายเมื่อกองกำลัง RPF ซึ่งหนุนหลังโดยกองทัพยูกันดาบุกเข้ายึดกรุงคิกาลีซึ่งเป็นเมืองหลวงได้สำเร็จ ทำให้ชาวฮูตูที่เป็นพลเรือนและคนที่มีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีหวาดกลัวการล้างแค้นจึงหนีออกไปทางประเทศซาอีร์ ซึ่งก็คือประเทศดีอาร์คองโกในปัจจุบัน ถึงอย่างนั้นกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็มีรายงานว่ากองกำลัง RPF สังหารชาวฮูตูไปถึง 2,000 คน ระหว่างที่มีการเข้ายึดเมือง

เหมือนความเศร้าจะจบลงเพียงเท่านี้ ทว่าหลังจากนั้นสงครามได้บานปลายเรื่อยมาตลอดสองทศวรรษ มีผู้เสียชีวิตกว่า 5 ล้านคน โดยเฉพาะสงครามจากการบุกของกองทัพ RPF ไปโจมตีดีอาร์คองโกด้วยเหตุผลว่าอนุญาตให้มีกองกำลังฮูตูปฏิบัติการในพื้นที่

ปัจจุบันรวันดามีกฎหมายห้ามพูดถึงเชื้อชาติ เพราะเกรงว่าจะนำมาสู่เหตุการณ์นองเลือดอีกครั้ง

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า