สื่อเลือกข้างได้ไหมในความขัดแย้งทางการเมือง

นับตั้งแต่ปี 1991 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำหลักการของเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้นำเสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย มุ่งหวังให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ และย้ำเตือนรัฐบาลของทุกประเทศในการเคารพและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19 ที่ระบุว่า 

“ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก รวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”

โดยทุกปี Reporters sans frontières (RSF) หรือ Reporters Without Borders (RWB) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1985 และมีสถานะเป็นที่ปรึกษาในสหประชาชาติ) ได้จัดทำดัชนีอันดับประเทศที่สื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารโดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘World Press Freedom Index’ เพื่อตรวจสอบ เปรียบเทียบ และรายงานสถานะ ตลอดจนปัญหาทางเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อในแต่ละประเทศ

RSF ได้จัดอันดับปัญหาเสรีภาพของสื่อไทยอยู่ในอันดับที่ 137 จาก 180 ประเทศ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงควบคุมทุกอย่างไว้ที่ตนเอง มีอำนาจในการออกกฎหมายควบคุมสื่อหรือเข้าถึงข้อมูล มีการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 15 ปี เป็นเครื่องมือควบคุมสื่อหรือบล็อกเกอร์ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นั่นทำให้สื่อมวลชนไทยเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยาก เห็นได้จากการที่สื่อกระแสหลักเลือกที่จะไม่รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (COVID-19) ในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมข่าวสารที่รัฐอ้างว่าสร้างความหวาดกลัวและแตกแยกในสังคม หรือแม้กระทั่งการที่รัฐสามารถเข้าไปแทรกแซงแก้ไขข่าวสารนั้นได้ เห็นได้ชัดว่า สิทธิและเสรีภาพสื่อจึงเกี่ยวข้องกับการเมืองภายใต้การปกครองภายในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และนั่นไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี 

การรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัจจุบันที่ประเทศเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเมือง 

วาทกรรมที่ว่า ‘สื่อต้องเป็นกลาง’ นั้นจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ เป็นแนวทางที่ถูกต้องจริงหรือ สื่อไม่ควรเลือกข้างใช่หรือไม่ และเสรีภาพสื่อคืออะไร ที่ผ่านมาสื่อมวลชนบางสำนักเลือกที่จะเลี่ยงการนำเสนอข่าวการชุมนุม เพียงเพราะข้อเรียกร้องของประชาชนกลุ่มหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และการทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา หรือกระทั่งการบิดเบือนข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน ไปจนถึงการเพิกเฉยต่ออำนาจรัฐที่เข้ามาคุกคามแทรกแซงการทำงานของสื่ออย่างโจ่งแจ้ง 

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดวงถกเถียงพูดคุยของกลุ่มที่ชื่อว่า ‘พลังคลับ’ ร่วมกับ สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ในหัวข้อ ‘สื่อเลือกข้างได้หรือไม่’ 

ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse เมื่อคืนวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดจนหาคำตอบร่วมกันว่า แท้จริงแล้วสื่อไทยทำหน้าที่ตามบทบาทของตัวเองหรือไม่ วาทกรรมว่าด้วยความเป็นกลางของสื่อ แท้จริงแล้วคืออะไร สื่อควรเป็นกลางจริงหรือไม่ในยุคสมัยที่ความเท่าเทียมถูกทำให้เอนเอียง

ประเด็นเดียวกัน แต่สื่อเสนอต่างกัน

ข้อมูลจากแหล่งข่าวเดียวกัน แต่สื่อแต่ละสำนักกลับเลือกเสนอในมุมมองที่ต่างไป

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา นักข่าวสำนักข่าวประไท ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า หน้าที่หลักของสื่อมวลชนคือการรายงานข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อผลักดันสังคมไปข้างหน้า ซึ่งเขามองว่าการทำข่าวนั้นนักข่าวหรือสื่อแต่ละคนต่างถือข้อมูลและข้อเท็จจริงคนละชุด บนอุดมการณ์ที่แตกต่าง ทำให้การเสนอข่าวในสถานการณ์เดียวกันถูกถ่ายทอดออกมาต่างมุมมองและท่วงทำนอง ทว่าสิ่งสำคัญคือการรายงานข่าวนั้นต้องยืนอยู่บนข้อเท็จจริง

ทางด้าน ลูกแก้ว-โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ มองว่าการที่สื่อแต่ละสำนักเลือกนำเสนอข่าวต่างกัน นั่นเป็นเพราะแต่ละสื่อมีเฉดสีเป็นของตัวเอง ซึ่งเธอมองว่าปัจจุบันสื่อไม่ได้มีแค่สื่อกระแสหลัก อย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ แต่ยังมีสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายแพลตฟอร์ม อาทิ เพจเฟซบุ๊คที่เน้นการกระจ่ายข่าวเรื่อง LGBT เป็นต้น ดังนั้นทุกสื่อจึงมีเฉดและคาแรคเตอร์บางอย่างเป็นของตัวเอง

เพราะฉะนั้นเธอจึงมองว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกสื่อต้องรายงานเหมือนกันไปเสียหมด สื่อมีความหลากหลายได้ ทว่าความหลากหลายนั้นต้องตรวจสอบได้

สำหรับลูกแก้ว เธอมองว่าสถานะของสื่อในปัจจุบันสามารถขยับไปอีกขั้นที่ไม่ใช่การรายงานเพียงแค่ข้อมูลชุดเดียว แต่ไม่ว่าสื่อจะรายงานไปทิศทางไหน หรือมีความหลากหลายของจุดยืนแค่ไหน สิ่งที่ต้องมีควบคู่กับการรายงานคือ เสรีภาพ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ 

เมื่อสื่อถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง

เมื่อสื่อสามารถเลือกนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย คำถามที่ตามมาคือ ความเป็นกลางของสื่อมีอยู่จริงหรือไม่

วศินี พบูประภาพ นักข่าวจากสำนัก WorkpointTODAY ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าวไว้ว่า เธอไม่เชื่อว่าสื่อจะต้องเป็นกลาง แต่สำคัญคือสื่อต้องโปร่งใส

ก่อนยกแนวคิดของนักวิชาการสื่อท่านหนึ่งที่อธิบายถึงการละทิ้งอุดการณ์ทางการเมืองของสื่อด้วยการยึดมั่นในความเป็นปรนัย (objectivity) ซึ่งอาจส่งผลให้การรายงานนั้นไม่สามารถมองเห็นความจริงบางอย่างหรือมุมมองบางมุมมองได้ 

“เราคิดว่านักข่าวไทยตอนนี้ติดกับดักมากเลย ด้วยความที่สถาบันรัฐเป็นสถาบันที่ใหญ่มาก ทำให้บางคนรู้สึกว่าสถาบันรัฐเป็นกลางแล้ว ซึ่งบางข้อมูลที่รัฐเผยให้เรารับทราบ อาจเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ในทางตรงข้าม เรามองว่ายุคนี้เป็นยุคที่รัฐกลายเป็นหนึ่งใน player ที่เราต้องตรวจสอบมากขึ้น”

นอกจากนั้นเธอมองว่า คำว่าความเป็นกลางของสื่อ อาจหมายถึงการรับใช้ชุดข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ไม่สามารถนำมาใช้ในการรายงานประเด็นบางประเด็นได้ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน (human rights) 

“สื่อไม่ได้มีหน้าที่เป็นโฆษกให้กระบวนการเคลื่อนไหวใด หรือเป็นโฆษกให้พรรคการเมืองไหน แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง human rights เราว่ามันไม่จำเป็นต้องเลือกข้างแล้ว ค่านิยมที่ว่าสื่อควรเป็นกลางเป็นค่านิยมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ซึ่งสื่อเองก็ควรถูกตรวจสอบได้เหมือนกัน”

เธอยังให้ความเห็นอีกว่า ปัจจัยที่สร้างความแตกต่างของงานวารสารศาสตร์ (journalism) และงานเขียนประเภทอื่นๆ คือ การตรวจสอบความจริง (fact checking) เพราะหัวใจของการรายงานแบบนี้ คือการให้ความเที่ยงตรงที่สามารถสืบหาที่มาที่ไปและต้นตอของข้อมูลได้ 

ดังนั้นเธอจึงชวนตั้งคำถามถึงสถาบันที่นิยามว่าตัวเองเป็นสถาบันสื่อ (journalistic institution) ว่าให้ความสำคัญต่อเรื่องการตรวจสอบความจริงมากน้อยแค่ไหน

“หากสื่อไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ เขาอาจจะเป็นสื่อที่เลือกข้างอยู่ หรือไม่ได้เป็นสื่อตั้งแต่แรก เขาเป็นเพียง propaganda machine”

เช่นเดียวกับ เยี่ยมยุทธ ที่มองว่า ปัญหาของการนำเสนอข่าวของสื่อไทยคือการบังคับใช้ข้อกฎหมายบางประการที่เป็นอุปสรรคในการรายงานข่าว เช่น มาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ตีกรอบการนำเสนอความเห็นต่างในบางเรื่อง ดังนั้นการมีอยู่ของกฎหมายนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่า เสรีภาพการแสดงออกของสื่อกำลังถูกกดทับ

เลือกข้างได้หรือไม่ ภายใต้ประชาธิปไตยกับเผด็จการ

ผู้เข้าร่วมวงเสวนารายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการเลือกข้างของสื่อไว้ว่า ตามบริบทปัจจุบันของประเทศไทย คำว่าสื่อเลือกข้าง อาจหมายถึงการตั้งคำถามกับสื่อแต่ละสำนักว่า สถาบันสื่อนั้นรับใช้เผด็จการหรือยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย 

เยี่ยมยุทธเล่าประสบการณ์ที่เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชนประเทศจีน เขาบอกว่า แม้สื่อมวลชนจีนมีความต้องการจะทำข่าวการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันอย่างตรงไปตรงมามากเพียงใด ท้ายที่สุดมักจะถูกเซ็นเซอร์โดยอำนาจจากรัฐบาล

ตัวอย่างดังกล่าวทำให้เขามองเห็นถึงสภาพสังคมในจีน ที่ตกอยู่ในภาวะการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

“สภาพสังคมที่เกิดขึ้นในจีน ส่งผลกับคนในประเทศในแง่ของการ shape ไอเดียความคิดของประชาชน คำถามคือสังคมไทยจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ผมคิดว่าคนที่ร่วมก่อตั้งกลุ่ม DemAll คงไม่อยากมีภาพฝันถึงสังคมแบบนั้น” เยี่ยมยุทธทิ้งท้าย 

บทบาทสื่อไทยควรเป็นอย่างไรต่อไป 

หากพูดถึงบทบาทของสื่อไทยว่าควรเป็นไปอย่างไร และควรพัฒนาอะไรต่อไปในอนาคต 

วศินีกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สิ่งที่สื่อต้องทำคือกล้าที่จะยืนยันในหน้าที่ ซึ่งตอนนี้อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าสื่อกำลังทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ เพราะสื่อไทยอยู่ในภาวะที่นักข่าวไม่กล้าทำข่าว หรือไม่กล้าตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ

เธอเสนอว่า สื่อไทยจะพัฒนาต่อไปได้ต้องอาศัยความร่วมมือจาก 2 ฝ่าย ดังนี้ 

หนึ่ง นักข่าวต้องเข้มแข็งพอที่จะปกป้องคุณค่าบางอย่างด้วยกัน

สอง รูปแบบทางธุรกิจ กล่าวคือ นักข่าวไม่ใช่เจ้าของสื่อ ดังนั้นถ้าผู้บริหารสื่อยึดโยงกับโครงสร้างอำนาจ โดยเฉพาะสื่อหลักที่ถูกครอบด้วยกฎหมาย กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จะทำให้เสรีภาพของสื่อเปราะบางมาก ดังนั้นเธอจึงมองว่าการจะปลดล็อคให้สื่อไทยมีเสรีภาพได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

นอกจากนี้ในความคิดเห็นของเยี่ยมยุทธ เขาได้เสนอ 3 แนวทางด้วยเช่นกัน ประการแรก สื่อควรจะต้องตรวจสอบอำนาจรัฐให้มากขึ้น ประการที่สอง สื่อต้องช่วยส่งเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น และประการสุดท้าย สื่อต้องสร้างพื้นที่สนทนาของความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การแบ่งขั้วทางความคิด 

ทิ้งท้ายด้วย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ จาก Voice TV หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ได้เสนอความคิดเห็นว่า

“สื่อต้องเป็นคนที่คอยทำหน้าที่พยุงบรรทัดฐานสังคมไม่ให้ตกต่ำลงไปกว่านี้ สื่ออาจมีหน้าที่หลายแบบ แต่ในเวลานี้บรรทัดฐานต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถของรัฐ บทบาทของกองทัพ ความคิดเห็นของคนต่อสถาบันต่างๆ กำลังถูกกัดกร่อนด้วยวาทกรรมจำนวนมาก สื่อจึงต้องมีบทบาทในการพยุงมาตรฐานเหล่านี้ไว้”

เขามองว่า คนทำสื่อสามารถที่จะเลือกข้างได้ ว่าจะสนับสนุนประชาธิปไตย หรือสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชน แต่สื่อต้องไม่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ และต้องนำเสนอข้อมูลทุกด้าน รวมถึงการตรวจสอบรัฐบาลอีกด้วย

ก่อนกล่าวเสริมถึงความสำคัญของการเป็นสื่อที่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนเพื่อต่อต้อนอำนาจรัฐที่มิชอบ

“เมื่อสื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องและทำเพื่อประชาชน ประชาชนจะเห็นเอง ผมคิดว่าโลกใบเดียวของคนทำสื่อก็คือประชาชน การที่สื่อโดนอำนาจรัฐคุกคาม แต่ท้ายที่สุดถ้าประชาชนอยู่ข้างเราแล้ว สื่อย่อมอยู่รอดได้”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า