#ม็อบ14สิงหา66 ประชาชนเดินขบวน ส่องไฟให้ทางประชาธิปไตย เตือน ‘เพื่อไทย’ อย่าลืม 99 ศพ ปี 53

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดกิจกรรมส่องไฟให้ทางประชาธิปไตย เชิญชวนประชาชนเดินขบวนจากแยกปทุมวัน โดยตั้งต้นที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ไปสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ใจความหลักของการเดินขบวนในครั้งนี้อยู่ที่การกดดันพรรคเพื่อไทย ในกรณีการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว จับมือกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยมีผู้ชุมนุมสลับกันขึ้นปราศรัยบนรถนำขบวนของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ แสดงความเห็นว่า การจับมือร่วมตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ จากผลงานการรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มีคนต้องตายจำนวนมากเพราะความประมาทของนายอนุทิน และพอกันทีกับการมีรัฐมนตรีซึ่งไม่ได้มีความรู้ความสามารถตรงกับความรับผิดชอบที่ได้รับ

ส่วนกรณีข่าวลือที่พรรคเพื่อไทยจับมือร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่สร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก หากพรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 255ค3 และนำมาซึ่งคนตาย 99 ศพ

ในระหว่างการเดินขบวนไปที่แยกราชประสงค์ ได้มีการหยุดทำกิจกรรมที่บริเวณวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ซึ่งเป็นจุดที่มีการสังหารคนเสื้อแดงในปี 2553 เพื่อรำลึกถึงมวลชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยมีการยืนสงบนิ่งรำลึกถึงผู้ตาย และส่องไฟไปยังบริเวณด้านบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นจุดที่มีการขึ้นไปยิงผู้ชุมนุม และปิดท้ายด้วยการจุดเทียนและวางดอกไม้รำลึกถึงผู้ตายทั้ง 99 คน

จากนั้นขบวนจึงมาสิ้นสุดที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ชี้ว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีการเข่นฆ่าประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์

เบื้องหลังแนวคิดในกิจกรรมในครั้งนี้ คือการส่องไฟขับไล่ความมืดมิดในสังคมไทย ซึ่งเดิมทีประชาชนคิดว่าความมืดมิดเหล่านั้นน่าจะหายไปแล้ว หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่หลังการถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และการสลายตัวของ 8 พรรคร่วมที่ทำให้พรรคก้าวไกลหลุดออกจากสมการการจัดตั้งรัฐบาล ความมืดมิดเหล่านั้นได้กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง ดังนั้น ประชาชนจึงต้องออกมาแสดงพลัง เพื่อส่องความสว่างให้แก่ประชาธิปไตยในสังคมไทย

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw มาเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เสนอคำถามประชามติ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเป้าหมายคือการล่ารายชื่อประชาชนให้ได้ 50,000 ชื่อ ภายใน 7 วัน

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า