ถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธถึงความผลิบานของขบวนการประชาธิปไตย ท่วงท่าลีลาในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีได้หลายรูปแบบ นอกจากการสื่อสารทางตรงเช่นการปราศรัย ชูป้าย การใช้เสียงบีบแตร ไถสเก็ตบอร์ดหรือกิจกรรมทางทัศนศิลป์ต่างๆ
แต่ความเคลื่อนไหวในอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้นสอดแทรกอยู่ได้ในแทบจะทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการดื่ม การปฐมพยาบาล หรือกระทั่งการยืนนิ่งๆ
ชวนทำความรู้จักกับ ประชาชนเบียร์ ผู้เรียกร้องเสรีภาพในการดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่จำเป็นต้องโยนเงินลงขวดของทุนผูกขาด, DNA เหล่าบุคลากรด้านสาธารณสุขและอาสาสมัครดูแลผู้บาดเจ็บทุกคนในฐานะประชาชน และกลุ่ม พลเมืองโต้กลับ กับหลากกิจกรรมที่ส่งเสียงโดยไม่ต้องพูด ว่าประชาชนคนธรรมดาหาใช่เพียงผู้ถูกกระทำ ที่เป็นได้เพียง ‘กรรม’ ของประโยค
DNA บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัคร
กำเนิดจากความตั้งใจแรกเริ่มเล็กๆ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ไม่กี่สิบคนตัดสินใจแบกเป้พร้อมอุปกรณ์ไปทำการปฐมพยาบาลหลังจากการใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมีสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 และเริ่มปฏิบัติการจริงภาคสนาม ณ แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา
ในครั้งแรกเริ่มยังใช้ชื่อว่า ‘ภาคีบุคลากรทางการแพทย์’ อยู่ แต่ต่อมาสมาชิกทั้งหมดได้ขยายจำนวนไปถึงประมาณ 800 กว่าคนทั้งในสายวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครจากหลายที่มา จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้ครอบคลุมมากขึ้นเป็น ‘บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แนวคิดหลักของกลุ่ม DNA คือการใช้จรรยาบรรณวิชาชีพในการดำเนินงาน หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่า ไม่ว่าจะมีการขยายเพดานการชุมนุมไปถึงระดับใด ไม่ว่าผู้ได้รับผลกระทบจะเป็นใคร ทั้งฝ่ายผู้ร่วมชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ หรือผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากได้รับบาดเจ็บก็พร้อมช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไข ตามหลักการ ‘ประชาชนทุกคนปลอดภัย คือความภูมิใจของเรา’
ความท้าทายหลักของ DNA เกิดขึ้นในช่วงระยะแรกที่ทั้งฝั่งมวลชนและฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่รับรู้ถึงตัวตนของกลุ่ม DNA ดังที่เกิดเหตุการณ์อาสาสมัครถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่ทุกวันนี้กลุ่มเป็นที่รู้จักโดยมวลชนและเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น ความท้าทายหลักจึงกลายเป็นการทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการดูแลปฐมพยาบาลนั้น DNA พร้อมช่วยเหลือทุกคน ดังที่บางคนยังไม่เข้าใจว่าทำไมทีม DNA บางครั้งก็ช่วยปฐมพยาบาลเจ้าหน้าที่บ้าง บางครั้งก็ผู้ชุมนุมบ้าง เป็นต้น
ถึงแม้จะมีสมาชิกที่มากขึ้นกว่าจุดเริ่มต้น แต่ยังคงต้องการกำลังคนอีกจำนวนมากในการเดินเท้าเข้าไปยังพื้นที่ที่รถพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงได้ ปัจจุบันสามารถรับข่าวสารหรือเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกับกลุ่ม DNA ได้ที่ Facebook Fanpage ‘DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร’ และ Twitter ‘@VolunteerMedTH’
พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen
‘ยืน หยุด ขัง’ คือการเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนไหว เป็นหนึ่งในกิจกรรมของกลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ’ ที่จัดขึ้นเพื่อตอบโต้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมในสังคมไทย
พลเมืองโต้กลับ เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนหลากหลายวัยและอาชีพที่มองว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ดังนั้นการออกมาต่อต้านความไม่ชอบธรรมจึงเป็นหน้าที่ของพลเมือง ดังคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ที่ว่า “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อต้านก็เป็นหน้าที่”
เมื่อบรรยากาศแห่งความกลัวแผ่ปกคลุมทั่วสังคมไทยหลังคณะรัฐประหารขึ้นครองอำนาจ กลุ่มนักกิจกรรมในขณะนั้นซึ่งยังไม่ได้ใช้ชื่อว่า พลเมืองโต้กลับ จึงได้จัดงาน ‘เคาท์ดาวน์เรารุ่ง 2558’ (Coup Down People Rise 2015) ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท้าทายบรรยากาศยุคทมิฬมารด้วยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งกิจกรรมกินลาบ สอยดาว ทำเพลงล้อเลียน การแสดงศิลปะ Street Performance ฯลฯ
ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมแบบสันติวิธี เน้นความสนุกสนาน แต่ก็สั่นสะเทือนไปถึงผู้มีอำนาจ ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมต้องถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กีดขวางทางจราจร ใช้เสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ก็ไม่มีมูลเหตุอันใดให้เจ้าหน้าที่สามารถตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีร้ายแรงได้ นอกเหนือจากกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานก็มีกิจกรรมที่เอาจริงเอาจังตามแบบฉบับของพลเมืองโต้กลับเช่นกัน ซึ่งยังคงเน้นสันติวิธีและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรื่อยมา
พลเมืองโต้กลับ ไม่ได้มีแผนที่จะเป็นองค์กรเพื่อทำภารกิจระยะยาว แต่เป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจเมื่อเกิดเหตุการณ์อยุติธรรมในสังคม สมาชิกในกลุ่มจึงสามารถกระจายตัวกันไปเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มอื่นๆ โดยวางจุดยืนว่าเป็นน้ำมันหล่อลื่นหยดหนึ่ง หรือฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ เพื่อช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หากวันหนึ่งฟันเฟืองชิ้นเล็กนี้หายไปก็จะมีฟันเฟืองชิ้นใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่เพื่อเคลื่อนไหวต่อไป
ประชาชนเบียร์
14 มกราคม 2563 พรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวเปิด ‘ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า’ หรือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต เพื่อผลักดันไปสู่การปลดล็อคทุนผูกขาด ปลดปล่อยสุราคนไทย ทลายทุนผูกขาดแอลกอฮอล์ขนานใหญ่ ‘กลุ่มประชาชนเบียร์’ คือกลุ่มหนึ่งที่ร่วมแสดงความคิดเห็น และสนับสนุนร่างกฎหมายนี้
20 ตุลาคม 2563 ‘ประชาชนเบียร์’ ร่วมกันฟ้องเพิกถอนคำสั่งนายกฯ ห้ามขายเหล้าออนไลน์ เนื่องจากกระทบต่อช่องทางการทำธุรกิจ และการกระทำเช่นนี้ของรัฐ เป็นการเพิ่มการผูกขาดธุรกิจเหล้าเบียร์ เนื่องจากเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายเล็กในการเข้าถึงการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ข้างต้นคือส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวจากกลุ่ม ‘ประชาชนเบียร์’ กลุ่มผู้บริโภคและผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่รวมตัวกันราว 2 ปี โดยผู้ตั้งกลุ่มคือ ธนากร ท้วมเสงี่ยม
จากการคลุกคลีและอยู่ในวงการเบียร์มาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ธนากรเห็นถึงความไม่เป็นธรรมของกฎหมายที่ไม่เปิดกว้าง และจำกัดเสรีภาพของผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย อย่าง คราฟท์เบียร์ หรือเครื่องดื่มเบียร์ทำเองที่มีลักษณะเป็นงานฝีมือ (craft)
จุดประสงค์หลักของกลุ่มจึงมีดังนี้
หนึ่ง ผลักดันให้การทำเบียร์ที่บ้านถูกกฎหมาย
สอง ผลักดันให้แก้กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ ทั้งการผลิต การขาย และการโฆษณา
ซึ่งหากมีการแก้ไขกฎหมายการหมักเบียร์เองในบ้าน (Homebrew) ให้ประชาชนทั่วไปสามารถปฏิบัติได้แล้ว พวกเขาเห็นว่าในส่วนนี้จะเป็นการส่งเสริมภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมของไทยได้ด้วย เพราะจะมีการเพาะปลูกวัตถุดิบที่มากขึ้น มีการขยายโรงงานการแปรรูปต่างๆ ที่มากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการลดการผูดขาดทางธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เอื้อแค่นายทุนขนาดใหญ่ ให้เปิดช่องทางและโอกาสแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กได้เข้าถึงธุรกิจนี้เช่นกัน
การลดการผูกขาดและคานอำนาจคือหัวใจหลักของประชาธิปไตย การจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาจึงไม่ใช่เพื่อเฮฮา สังสรรค์ หรือเพื่อเมามายตามความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พวกเขาเข้าร่วมกระบวนการทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศ
แม้บทบาทของกลุ่มจะไม่ใช่กลุ่มจัดตั้งม็อบ แต่พวกเขาก็ได้มีการแบ่งทีม เพื่อเป็นแนวหน้าในการคุ้มกัน และคอยดูแลผู้ร่วมชุมนุมจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ คฝ. อาทิ การช่วยดับแก๊สน้ำตา และยังเข้าร่วมกับกลุ่มแนวหน้าอื่นๆ เช่น กลุ่ม WEVO ที่กลุ่มประชาชนเบียร์คอยบริการเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แค่เบียร์ให้แก่ผู้ร่วมชุมนุม รวมถึงการเข้าร่วมกับ กลุ่มทะลุฟ้า ที่พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรม โดยการนำเบียร์ผลิตเองจากผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ มานำเสนอ เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักกับคราฟท์เบียร์มากขึ้น
การใช้เบียร์เป็นตัวกลางประสานทุกคนให้มาเจอกัน พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของกลุ่มจึงมาพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตย