Direk’s Talk: ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยในตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย

ภาพประกอบ: Antizeptic

19 มิถุนายน ในงานเสวนา Direk’s Talk หัวข้อ ‘ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ’ จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุม ร.103 มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งปาฐกถาของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในหัวข้อ ‘การเมืองไทยกับสังคม 4.0’ และหัวข้อที่ถูกจัดขึ้นภายใต้ภาควิชาทั้งสามของคณะรัฐศาสตร์ ประกอบไปด้วย สาขาการเมืองการปกครอง บริหารรัฐกิจ และการระหว่างประเทศ

ในส่วนของสาขาวิชาการเมืองการปกครอง ผู้เข้าร่วมเสวนาคนสุดท้าย ในหัวข้อ ‘ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์: ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย’ ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวเสริมจากประเด็นปาฐกถาของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในเรื่องของ ‘Deep State’ ไว้อย่างน่าสนใจ และนำเสนอภูมิทัศน์ทางการเมืองในอนาคตไว้อย่างน่าขบคิดใคร่ครวญในทฤษฎีที่เกษียรตั้งชื่อให้ว่า ‘ตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซีย’ (Matryoshka Doll) โดยเกษียรเริ่มจากอธิบายว่า

เผอิญฟังอาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทิ้งประเด็นที่น่าคิดไว้ หนึ่งคือรัฐพันลึก หรือรัฐเร้นลึก หรือ Deep State สองคือประโยคสั้นๆ ที่พูดปิดท้ายปาฐกถาที่ว่า การที่มีนักการเมืองนอกระบบเลือกตั้งมากขึ้น นั่นหมายถึง State Elite หรือนักการเมืองที่เป็นข้าราชการ แต่ออกมาเล่นการเมืองในภาวะที่ไม่มีการเลือกตั้ง น่าสนใจว่า State Elite เหล่านี้ การเมืองเข้าไปยุ่งกับเขา เพราะเขามาเล่นการเมือง แล้วมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งอะไร

ความขัดแย้งที่เกษียรมองจากการเข้ามาของ State Elite เหล่านี้ อาศัยทั้งจากงานวิจัยที่ได้ลงเผยแพร่ไว้ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน รวมถึงปาฐกถาของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ต่อยอดออกมาเป็นประเด็นหลักๆ เกษียรได้แจกแจงไว้โดยละเอียด ดังนี้

 

ทฤษฎีตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย

เกษียรกล่าวว่า การค้นพบทางวิชาการเมื่อปี 2559 ของ (อูจีนี เมริเออ) Eugenie Merieau ในบทความเรื่อง ‘Thailand’s Deep State, Power and the Constitutional’ ซึ่งนำเสนอแนวคิดว่า รัฐสมัยใหม่บางรัฐอย่างตุรกี อเมริกา หรือประเทศไทย ที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งนั้น แท้แล้วยังมีองค์กรรัฐราชการประจำต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ข่าวกรอง ตุลาการบางหน่วย ถ้าคิดในกรณีไทยก็คงรวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางแห่ง หรือแม้แต่ผู้บริหารบางมหาวิทยาลัยที่เป็น ‘รัฐเร้นลึก’ ซ้อนทับอยู่ในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ หรือรัฐในรัฐ

“รัฐพันลึกที่ว่านี้มีตรรกะและผลประโยชน์ของตัวเอง สามารถดำเนินการอิสระจากรัฐบาลเลือกตั้งและอาจแข็งขืนหรือกระทั่งโค่นอำนาจรัฐบาลเลือกตั้งได้ ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน แต่ไม่ทันข้ามปี สถานการณ์ความเป็นจริงของการเมืองไทยก็เปลี่ยนไปแล้ว”

 

บางสิ่งที่เคยเห็นจะไม่ได้เห็น บางสิ่งที่ไม่เคยเห็นจะได้เห็น

ในสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปนับตั้งแต่เปิดศักราช 2560 ที่ผ่านมา เกษียรกล่าวว่า “เมื่อคิดถึงข่าวสารบ้านเมืองอันแปลกพิลึกพิศดารชวนพิศวงระยะหลังมา มีหลายข่าวแปลกๆ เยอะในช่วงไม่กี่เดือนผ่านมา อะไรที่เคยอยู่ก็หายไป อะไรที่ไม่น่าจะแก้ได้ก็แก้ได้ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวทักไว้ระยะหลังว่า อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น และอะไรที่เคยเห็นก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว”

เกษียรมองว่า ทฤษฎีรัฐพันลึก หรือ Deep State นั้นอาจไม่เพียงพอในการอธิบายภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยที่เปลี่ยนไปไกลแล้วในปี 2560 นี้

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังประสบพบกัน เหมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย กล่าวคือมันดูเสมือนหนึ่ง a state with the state with the state with the state with the state เป็นชั้นๆ หลายต่อหลายชั้นซ้อนทับกัน คำถามคือสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

การเมืองของการรอมชอม

ในประเด็นต่อมา เกษียรอธิบายในประเด็นของกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ หรือภาวะสมัยใหม่แบบไทยๆ ไว้ว่า เป็นกระบวนการสืบเนื่องมาจากปรัชญายุครู้แจ้งในยุโรป อเมริกา ในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 แล้วแผ่ขยายไปทั่วโลก กระทั่งมาถึงสยามผ่านระบอบอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งนำไปสู่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งเกษียรใช้คำว่า เป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ประกอบไปด้วย

1. การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกระแสเหตุผลนิยม ประสบการณ์นิยม วิธีการวิทยาศาสตร์ คติโลกวินัยที่เข้ามาแทนที่ความเชื่อทางศาสนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อทางเทวสิทธิ์ของผู้ปกครอง หรือพระเจ้าแผ่นดิน

2. การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติในด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะระบบตลาด เศรษฐกิจทุนนิยม

และ 3. การปฏิวัติของชนชั้นกระฎุมพีในทางการเมือง โดยเฉพาะระบอบรัฐธรรมนูญ เสรีนิยม ประชาธิปไตย

ในประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก กระบวนการปฏิวัติสามด้านเพื่อไปสู่ภาวะสมัยใหม่ดังกล่าว มีลักษณะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน รุนแรง นองเลือด และทิ้งบาดแผลทางความคิดจิตใจไว้ในสังคมมาก แต่ในกรณีของสยามหรือไทยค่อนข้างต่างออกไป กล่าวคือ มีลักษณะกึ่งๆ กลางๆ มีการประนีประนอมรอมชอมกันมาก หรือจะมองในทางกลับกันก็ได้ว่า กระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่หรือเปลี่ยนไปสู่ภาวะสมัยใหม่ของไทยนั้นไม่เสร็จสิ้น ค้างเติ่ง เปลี่ยนผ่านเท่าไหร่ก็ไม่ถึงจุดหมาย ไม่สำเร็จสมบูรณ์เสียที

อัตตนานิคม

นอกจากการปฏิวัติแบบครึ่งๆ กลางๆ ที่ไปไม่ถึงจุดหมายอย่างสมบูรณ์เสียที เกษียรยังมองว่าการที่ความเชื่อของชนชั้นนำไทย กระทั่งสังคมโดยส่วนมากมักภูมิใจกับสภาวะที่ไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แท้ที่จริงแล้วกลับตกอยู่ในสภาวะอาณานิคมทางอ้อม หรืออาณานิคมอำพราง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอโดยนักวิชาการทั้งในไทยและนอกประเทศไทย เช่น ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ เบน แอนเดอร์สัน, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ไมเคิล ไรท์, ไมเคิล เฮิร์ทเฟล, ธงชัย วินิจจะกูล, ไชยันต์ รัชชกูล รวมไปถึง กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

“คนเหล่านี้เสนอไว้คล้ายๆ กันว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์แล้ว ถึงแม้สยามไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกเต็มตัว แต่ก็มีสภาพอาณานิคมทางอ้อมหรืออาณานิคมอำพรางที่ผนวกเข้ากับระบบทุนนิยมของอาณานิคมตะวันตกทั่วโลก ในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การทูต และการเมือง ภายใต้อำนาจอำนวยการของเจ้านาย ขุนนางท้องถิ่น ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“สยามจึงมีลักษณะเป็นอัตตานานิคมของคนไทยด้วยกันเอง ฉะนั้นจึงไม่มีขบวนการชาตินิยมของประชาชนเพื่อกู้ชาติจากต่างชาติ มีแต่กบฏลี้ลับ ครึ่งๆ กลางๆ ของคณะราษฎร 2475 ซึ่งสมาชิกล้วนแต่เป็นชนชั้นนำ ตัวแทนระบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และฉะนั้นสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงยังไม่ได้เป็นรัฐชาติสมบูรณ์เต็มตัวเสียที เป็นแค่รัฐราชการรวมศูนย์ที่มีปัญหาความชอบธรรมเรื้อรังอยู่ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมบ้าง เสนาชาตินิยมบ้าง สลับกันไป”

 

จินตกรรมชาติที่ปราศจากความเสมอภาค

ด้วยความที่สยามหรือไทยไม่ได้มีความเป็นรัฐที่มีชาติอย่างแท้จริง เกษียรกล่าวโดยหยิบยืมคำพูดของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เคยกล่าวไว้ในงานเสวนาครั้งหนึ่งว่า “สยามกลายเป็นรัฐที่ไม่มีชาติที่แท้จริงในความหมายชุมชนในจินตกรรมของพลเมืองที่เสมอภาคและเป็นภราดรภาพ และที่กุมอำนาจอธิปไตยร่วมกันไว้ได้ หากแต่ตกอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นชุมชนในจินตกรรมของคนไทยและคนไม่ไทยที่ไม่เท่าเทียม เพราะฉะนั้นจึงเกิดกรณีเหยื่อของรัฐที่ไม่มีชาติให้พบเห็นอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นทนายสมชาย นีละไพจิตร, บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ, ชัยภูมิ ป่าแส”

ปัญหาของความไม่มีชาติที่แท้จริง และตกอยู่ในอาณานิคมของตัวเอง หรืออัตตนานิคม ได้นำไปสู่การพยายามยื้อแย่งบทบาทของความเป็นผู้นำรัฐผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์สยามในปี 2475 ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียก ‘a state within the state within the state within the state within the state’ ตามทฤษฎีตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซีย

 

ฉันทามติของชนชั้นนำไทย

ภายหลังหลังการเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกษียรมองว่า สังคมไทยผ่านการเดินทางแสวงหา สลับพลิกผัน สับเปลี่ยนไปมาระหว่างแรงผลักดัน ต่อสู้ ขัดแย้ง ของโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่หรือเปลี่ยนไปสู่ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางต่างๆ เช่น โครงการเสรีประชาธิปไตย โครงการสังคมนิยมประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์ โครงการชาตินิยมแบบอำนาจนิยมทหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โครงการเสรีนิยมรอยัลลิสต์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ปราโมช โครงการเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และโครงการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของขบวนการคอมมิวนิสต์ เป็นต้น เหล่านี้คือทางเลือกโครงการต่างๆ ที่มุ่งสู่ความทันสมัยในความเชื่อต่างๆ

“กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ในหลวงรัชกาลที่ 9 สังคมไทยจึงบรรลุฉันทามติของการประนีประนอม รอมชอม ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่หรือเปลี่ยนไปสู่ภาวะสมัยใหม่กับฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยมที่ลงตัวในระดับหนึ่ง ระหว่างช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ซึ่งพอจะสรุปสาระสังเขปในด้านต่างๆ ของฉันทามติดังกล่าวได้ดังนี้ ในแง่เศรษฐกิจ เอาเศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล เมืองโต ชนบทลีบ อุตสาหกรรมบริการโต เกษตรกรรมลีบ เศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล โดยถูกทานไว้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“ในแง่การเมือง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีอุดมการณ์ราชาชาตินิยม มีชาตินิยมบวกราชานิยม หรืออุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ”

 

ฆราวาสนิยม

ไม่เพียงแต่ในทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เกษียรยังนำเสนอมุมมองที่เสนอภาพบางภาพให้กับสังคมได้ดุจกระจกสะท้อนภาพของความเชื่อบางประการ โดยกล่าวในแง่ของศาสนานั้น พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก นี่เป็นทางเลือกที่ไม่ใช่ Secularism หรือฆราวาสอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่รัฐที่เป็นพุทธเต็มตัว โดยการให้องค์พระประมุขทรงเป็นทั้งพุทธมามกะและเป็นอัครศาสนูปถัมภก

“อาจกล่าวได้ว่า ฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศหรือ The Bhumibol Consensus เป็นแบบวิถีการเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยอย่างไทยๆ ผ่านการประนีประนอมต่อรองที่ไม่หักรานจนเหี้ยน ไม่ใหม่หมด คนข้างล่างได้บ้าง แม้จะได้ไม่มากเท่าคนข้างบน คนชั้นกลางได้มากกว่า และเติบใหญ่ขยายตัวออกไป ส่วนคนข้างบนได้มากที่สุด มันช่วยให้หลีกเลี่ยงการแตกหักกวาดล้างรุนแรงของกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่มาได้ และมีฐานรองรับสนับสนุนจากชนชั้นต่างๆ ตามสมควร ทั้งคนชั้นบน คนชั้นกลาง และคนชั้นล่าง”

 

เส้นเขตเสมือนจริง

การจัดสรรแบ่งปันอำนาจที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการตกแต่งภูมิทัศน์ทางการเมืองผ่านการตีเส้นอำนาจและการแบ่งเขตอำนาจเชิงปฏิบัติหรือเสมือนจริงที่ใช้กำกับ โดยที่เส้นและเขตที่ว่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับเส้นแบ่งเขตอำนาจตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเสียเลยทีเดียว ซึ่งเกษียรอธิบายว่า เส้นแบ่งที่ว่านี้เป็นที่ยอมรับกันว่า อำนาจของฝ่ายหนึ่งหยุดตรงนี้ อำนาจของอีกฝ่ายเริ่มตรงนั้น ไม่ก้าวก่ายกัน ยอมรับ เคารพกัน โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นประหนึ่งอนุญาโตตุลาการสุดท้ายในยามเกิดความขัดแย้ง

“นอกจากนี้ ภายใต้ฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศดังกล่าว โครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ ภาวะสมัยใหม่ทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางเสรีประชาธิปไตย สังคมนิยม ชุมชนนิยม ทหารนิยม สมบูรณาญาสิทธิ์ ฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ ต่างถูกแช่แข็ง กดปราม ให้หยุดยั้ง ชะงักไว้ชั่วคราวด้วยบารมีแห่งพระราชอำนาจนำ จวบจนการปรากฏขึ้นของโครงการทางเลือกเพื่อเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่หรือเปลี่ยนสู่ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางประชานิยม วัตถุนิยม บวกประชาธิปไตยอำนาจนิยมโดยผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทย ปี 2544 เป็นต้นมา ตั้งแต่ตุลาคม 2516-2544 ช่วงนี้คือช่วงของ The Bhumibol Consensus”

 

“เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี”

“นอกจากนี้ เรายังสังเกตได้ว่าหลังรัฐประหารปี 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างการเมืองเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน การทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเอง และประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น” – เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ประเด็นสุดท้าย เกษียรได้อธิบายโดยย้อนกลับไปยังคำพูดของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เอ่ยทักไว้ใน ‘เรื่องอะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น อะไรที่เคยเห็นก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว’

สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นและปรากฏอย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา อาจจะพอทำความเข้าใจได้ผ่านบางส่วนของปาฐกถาของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่กล่าวไว้ในงานเดียวกัน ก่อนเกษียรจะอธิบายอย่างชัดเจนขึ้น โดยกล่าวว่า การลากเส้นแบ่งเขตอำนาจใหม่ และการเมือง วัฒนธรรม ของการหวนหาอดีต ปัจจุบัน ที่นำไปสู่ภาพอะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น และอะไรที่เคยเห็นก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้วนั้น เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่หรือเปลี่ยนสู่สภาวะสมัยใหม่ ซึ่งได้ฟื้นตัว โผล่ออกมา แย่งชิงพื้นที่ ปะทะกัน เพื่อผลักดันแนวทางการทำให้เป็นสมัยใหม่ของตัวเองในสถานการณ์อันเปราะบางที่ไม่มีอำนาจนำทางการเมืองอันเป็นที่ยอมรับในแง่ความชอบธรรม

ไม่มีกรอบกฎเกณฑ์กติกาปกติของการดำเนินและแก้ไขยุติความขัดแย้ง มีแต่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น และอำนาจบังคับด้วยกำลังที่ไม่อาจแก้ไขข้อขัดแย้งให้จบได้ โดยฝ่ายต่างๆ ที่เป็นเจ้าของโครงการเปลี่ยนให้เป็นสมัยใหม่แนวทางต่างๆ ก็พยายามหวนหาช่วงอดีตหรือบ้านเก่าที่สอดรับกับอุดมคติของกลุ่มตนมากที่สุด บ้างก็หวนไปหาสมัยรัชกาลที่ 5 บ้างก็หวนไปหาสมัยรัชกาลที่ 7 บ้างก็หวนไปหายุคปฏิวัติและมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเป็นกลุ่มอาการวัฒนธรรมของการหวนหาอดีตโดยทั่วไป

“ประเด็นก็คือ เราเจอคนแบบนี้เยอะมาก มันเหมือนอยู่ดีๆ คนลุกขึ้นมา nostalgia กันใหญ่ หวนหาอดีตกันเยอะ”

 

ภูมิทัศน์การเมืองที่ถูกขีดเส้นใหม่

คำถามที่เกษียรมองถึงการก่อตัว เกิดขึ้นของอาการที่เรียกว่า การหวนหาอดีตที่ถูกปรับแต่งไปตามความคิด ความเชื่อ ของตนนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ ‘อดีต’ ในตัวของมันเอง แต่ประเด็นคือ กลุ่มทางการเมืองที่มีบทบาทขึ้นมาในปัจจุบัน ซึ่งสถาปนาโครงการใหม่ๆ ในนามของตนเอง เลือกที่จะหยิบเอาอดีตที่คิดว่าสอดคล้องกับโครงการของตนที่สุด

“ขณะเดียวกัน กลุ่มอำนาจและสถาบันต่างๆ ซึ่งเสมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย a state within the state within the state within the state within the state ต่างก็อาศัยช่วงที่เส้นอำนาจเดิมคลอนแคลน คลี่คลาย ฐานรองรับแนวทางการปฏิบัติตามประเพณีเดิมขยับขยาย เปลี่ยนแปลง พากันหาทางพยายามปรับเส้นอำนาจและเขตอำนาจกันใหม่ โดยผลักดันเส้นอำนาจใหม่ของตนออกไปให้กว้างไกลที่สุด ให้เขตอำนาจของตนแผ่ขยายออกไปให้มากที่สุด กินพื้นที่อำนาจเก่าออกไปให้ใหญ่ที่สุด ด้วยความหวังว่าเส้นอำนาจไกลที่สุดของตน ซึ่งอยากให้อยู่ตรงนี้นั้น ฝ่ายอื่นจะยอมรับโดยดุษณี ได้ข้อยุติกันตรงนี้ ทุกฝ่ายคิดแบบนี้ หวังแบบนี้ และทำแบบนี้ อย่างเช่นที่ คสช. และสถาบันอำนาจในเครือข่าย เร่งผลักดันกฎหมายใหม่ๆ สารพัดออกมา แผ่ขยายอำนาจของฝ่ายความมั่นคงในหน่วยราชการไปสุดเอื้อม ก่อนที่จะจัดเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่”

คำถามที่เกษียรทิ้งท้าย เป็นคำถามที่สังคมจำเป็นต้องทบทวนอย่างแท้จริง นั่นคือคำถามภายใต้ประเด็นที่ว่า ท่ามกลางยุคสมัยปัจจุบันที่เส้นเขตอำนาจต่างๆ ของกลุ่มแต่ละกลุ่มลากและขีดไว้นั้น จะเหมือนหรือแตกต่างเพียงไรกับเส้นเขตอำนาจที่เคยขีดไว้ในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่เส้นเขตอำนาจเหล่านี้จะพาดเกยและเบียดเสียดกันเอง กระทั่งปะทะชนกัน

แล้วจะหาข้อยุติอย่างไร? จะยืดเยื้อไปนานเท่าไหร่? จึงจะบรรลุฉันทามติใหม่ที่ค่อนข้างลงตัวและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มพลังใหม่ต่างๆ

สุดท้าย ประชาชนอยู่ตรงไหนในเส้นเขตอำนาจของภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่นี้

คำตอบมีอยู่สักแห่ง

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า