การเมืองไทย: ความขัดแย้งใหม่ในสาธารณรัฐจำแลงกับระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันประเด็นปัญหาทางการเมืองไทยได้ทวีความซับซ้อนขึ้นมากกว่ายุคสมัยก่อน และประเด็นของปัญหาก็ไปเกี่ยวข้องกับตัวแสดงทางการเมืองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาอีกมากมาย จนทฤษฎีทางรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์จำเป็นต้องคอย ‘อัพเดต’ ตัวเองอยู่ตลอดเวลา 

ปาฐกถาดิเรก ชัยนาม ประจำปี 2563-2564 มีหัวข้อสำคัญยิ่งสำหรับการเมืองไทยปัจจุบันเพื่อตอบข้อสงสัยของสังคมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยชื่อหัวข้ออันซับซ้อนอย่าง ‘สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์: สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญไทย’ โดย ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจบริบทการเมืองไทยในปัจจุบันว่าแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้อย่างไร 

ประเด็นปาฐกถาหัวข้อนี้ ศ.ดร.เกษียร ได้กล่าวว่า เขาได้เริ่มต้นคิดและพัฒนามาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ถึงแม้ชื่อหัวข้อจะทำให้อ่านเข้าใจยากในภาษาไทย แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Disguise Republic’ และ ‘Virtual Absolutism’ จะให้ความหมายที่ตรงตัวและเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสองแนวโน้มที่เขาเชื่อว่าดำรงอยู่ในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สองแนวโน้มดังกล่าวได้ทวีความขัดแย้งต่อกันและกันมากขึ้น จนส่งผลกระทบก่อให้เกิดเป็นปรากฏการณ์หลายอย่างในสนามการเมืองไทยจวบจนปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ทางการเมืองนี้เริ่มต้นหลังจากการสิ้นสุดของภัยคุกคามต่อระบบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (หรือในอีกชื่อแบบไทยๆ คือ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) อย่างการสิ้นสุดของสงครามประชาชนภายในประเทศ พ.ศ. 2528 การสิ้นสุดของสงครามเย็นในระดับภูมิภาค พ.ศ. 2531-2534 และเหตุการณ์พฤษภามหาโหด พ.ศ. 2535 ที่ทำให้ระบอบการปกครองอันมีเอกลักษณ์ของไทยดูยั่งยืนสถาพรมาได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองเช่นนี้กลับเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงภายใน เห็นได้จากตัวเลขความไร้เสถียรภาพภายใน นับตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการรัฐประหาร 2 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรี 6 คน มีรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มีการชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล 9 ระลอก และมีการปะทะสลายการชุมนุมถึง 5 ครั้ง ความไม่มั่นคงดังกล่าวจากภายในถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงการก่อตัวของการต่อต้าน คัดค้าน และหาทางเลือกอื่นอย่างเป็นระบบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สู่สาธารณรัฐจำแลง

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคยปรากฏคำจำกัดความอยู่บนคำนำของหนังสือ กรณี ร.7 ทรงสละราชสมบัติ: การตีความและการสานต่อ​ความหมายทางการเมือง ของ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (2549) สรุปใจความได้ว่า… Monarchy (การปกครองของคนคนเดียว) และ Democracy (การปกครองโดยคนส่วนใหญ่) เป็นแนวความคิดที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันมานับตั้งแต่โบราณ และดูจะไม่สามารถนำคำทั้งสองนี้มาผูกเข้าด้วยกันได้อย่างง่ายๆ หากทว่าการประสานสองคำนี้เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ก็ดูจะเป็นประดิษฐกรรมทางการเมือง และปัญญาของโลกสมัยใหม่โดยแท้ 

ขณะเดียวกัน คำกล่าวของอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและอดีตรองคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อย่าง ศ. (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล (2550) ก็ท้าทายระบอบดังกล่าว ใจความว่า “ระบบปี พ.ศ. 2540 เป็นความผิดพลาดที่ทำให้พรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดจากระบบบัญชีรายชื่อเดียวทั้งประเทศ อหังการ มนังการ คิดเทียบชั้นเป็นเจ้าแผ่นดิน ซึ่งไม่ถูกกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในระบบรัฐสภา ไม่ใช่ประธานาธิบดี” ซึ่งในความเห็นของเกษียรมองว่า นี่คือการท้าทายระบอบสาธารณรัฐจำแลง (Disguise Republic) มากกว่าจะเป็น (Republic)

เพื่อที่จะเข้าใจปัญหาดังกล่าว อาจจะเริ่มจากคำกล่าวของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในบทความวิชาการชื่อ หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ (2562) ที่ระบุว่า“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเสียแล้ว” ก็ทำให้เราสามารถมองเห็นความเป็นไปและความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นดังยอดภูเขาน้ำแข็งของการเมืองไทยได้อย่างมาก 

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แต่ฝ่ายบริหารกลับต้องได้รับความยินยอมจากพระบรมราชานุญาตและความไว้วางใจจากพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการบริหารของฝ่ายบริหารอีกต่อไปตามหลัก ‘The King Can Do No Wrong’ ซึ่งตรงกับที่พรรคก้าวไกลเรียกปัญหาทางการเมืองไทยในปัจจุบันว่า ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม สมบูรณาญาสิทธิ์’ (Absolutist Authoritarian Dictatorship) หรือที่ ศ.ดร.เกษียร เรียกว่า ‘ระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ (Virtual Absolutism) นั่นเอง 

การเกิดขึ้นของทางเลือกใหม่ที่ขัดแย้งกันเอง อย่างระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์และสาธารณรัฐจำแลงนี้ ศ.ดร.เกษียร ระบุว่า สืบเนื่องจากการเมืองไทยได้เคลื่อนออกจากเงื่อนไขของทฤษฎี ‘พระราชอำนาจนำ’ (Royal Hegemony) และทฤษฎี ‘ฉันทามติภูมิพล’ (The Bhumibol Consensus) ที่เป็นหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นระบอบการเมืองแต่เดิมของไทย โดยความขัดแย้งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้มีแนวโน้มที่แตกต่างไปจากภัยคุกคามต่อระบอบการเมืองการปกครองของไทยในอดีตอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจากความขัดแย้งครั้งนี้ ทั้งระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์และระบอบสาธารณรัฐจำแลง ต่างก็เป็นสิ่งที่ ‘ฝังแฝง’ (Inherent) อยู่ภายในตัวมันเองแต่แรก และสำคัญยิ่งขึ้นหากต้องการจะทำความเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันต่อไป

เพื่อที่จะขยายความถึงประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว ศ.ดร.เกษียร ได้ยกตัวอย่างหนังสือThe English Constitution ของ วอลเทอร์ แบเจท (Walter Bagehot, 1867) ที่บรรยายถึงสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของสหราชอาณาจักร หนังสือเล่มนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักวิชาการไทยในอดีตเพื่อนำมาใช้อธิบายระบอบการเมืองการปกครองของไทยสมัยใหม่ 

ศ.ดร.เกษียร ระบุว่า ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือการหยิบยกบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยโดยมีนักวิชาการไทยหลายคนได้อิงจากเนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าว เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ธงทอง จันทรางศุ หรือคนอื่นๆ ข้อสังเกตของ ศ.ดร.เกษียร คือ เป็นการยกมาเพียงแค่ย่อหน้าเดียวจากหน้า 111 จากการอภิปรายเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์จำนวน 4 หน้าครึ่ง ภายใต้หนังสือทั้งเล่มที่บทอื่นๆ ยังถูกละเลยไปอีกเกือบ 200 หน้า ซึ่ง วอลเทอร์ แบเจท มองสถาบันกษัตริย์ในลักษณะ ‘สมจริง’ (realistic) และเป็น ‘เครื่องมือ’ (instrumental) 

ตัวอย่างของความคิดในลักษณะดังกล่าวของแบเจท เช่น สาเหตุที่ยังคงต้องมีสถาบันกษัตริย์ในระบอบการเมืองของอังกฤษที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น เป็นเพราะประชาชนอังกฤษยังคง ‘โง่’ อยู่ และสถาบันกษัตริย์จะช่วยให้ชาวอังกฤษยอมรับสถาบันการเมืองใหม่ อย่างสภา รัฐบาล และนักการเมืองได้โดยง่าย และยังยกตัวอย่างภาพของขบวนรถม้าของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่นำขบวนอย่างโอ่อ่าด้วยรถม้าของราชวงศ์ก่อน แต่อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงของอังกฤษจะอยู่ในขบวนแถวของรถม้าคันถัดไปที่เป็นของบรรดารัฐบาลและนักการเมืองนั่นเอง ทว่าการแสดงละครทางสังคมของสถาบันกษัตริย์อังกฤษกลับได้รับคำแซ่ซ้องจากประชาชนที่ส่งผลให้ผู้ปกครองตัวจริงในรถม้าคันรองอื่นๆ ได้รับประโยชน์ไปด้วย ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ แบเจทอธิบายเอาไว้ว่า ระบอบสาธารณรัฐได้แฝงตัวเองเข้าไปอยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์ของอังกฤษได้สำเร็จ และกลายเป็นสิ่งที่ ศ.ดร.เกษียร ระบุว่าคือ ‘ระบอบสาธารณรัฐจำแลง’ นั่นเอง

สาธารณรัฐจำแลง หมายถึง การที่บรรดาส่วนประกอบของระบอบกษัตริย์กลายเป็นใจกลางการปกครองของประเทศ เพียงเพื่อปิดบังการย้ายอำนาจระดับปฏิวัติเอาไว้ไม่ให้ประชาชนเห็นได้โดยง่าย ภายใต้ฉากบังหน้าด้วยรัฐธรรมนูญนั่นเอง ศ.ดร.เกษียร จึงระบุว่า สิ่งนี้คือหัวใจหลักที่ทำให้ ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล สมาชิกวุฒิสภา, คำนูณ สิทธิสมาน หรือคนอื่นๆ ผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันรับไม่ได้ และสาธารณรัฐจำแลงยังกลายเป็นฝันร้ายของผู้นิยมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็เคยผ่านการปกครองในระบอบสาธารณรัฐจำแลงมาบ้างแล้ว เห็นได้จากงานเขียน 2 ชิ้นต่อไปนี้ 

หนึ่ง จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ (2516) และเล่มที่สองบ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม ของ เบเนดิคต์ แอนเดอร์สัน (2520) ซึ่งใช้อุปมาของสองสิ่งเหมือนกันคือ ‘โชกุน’ และ ‘เทพารักษ์’ ที่เปรียบเทียบการเมืองไทยในสมัยที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มต้นมีบทบาท กับการเมืองการปกครองญี่ปุ่นในสมัยรัฐบาลโชกุน ที่มีประมุขเชิงสัญลักษณ์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ผู้นำทางการทหารอย่างโชกุน การเมืองในลักษณะนี้ทำให้ประมุขของรัฐกลายเป็นเพียงเสมือน ‘เทพารักษ์’ ของชาติที่มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ไร้อำนาจทางการปกครองโดยแท้จริง การโจมตีระบอบการปกครองเช่นนี้นอกจากในอดีตที่หมายถึงระบอบเผด็จการทหารแล้ว ในการเมืองไทยร่วมสมัยจะหมายถึงยุคสมัยของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ด้วย 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.เกษียร กล่าวเน้นย้ำถึงความแตกต่างด้านความชอบธรรมทางอำนาจของผู้นำสาธารณรัฐจำแลงระหว่างสองยุคสมัยนี้ว่า สมัยแรกนั้นได้มาจากการยึดอำนาจ ขณะที่สมัยต่อมาได้มาจากการเลือกตั้ง และยังมีความแตกต่างกันในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสถาบันกษัตริย์อย่างมีนัยยะสำคัญ

‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ อีกด้านของเหรียญที่แปรเปลี่ยนประชาธิปไตยไทย

แน่นอนว่าหากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสาธารณรัฐจำแลงได้แล้ว ศ.ดร.เกษียร ก็ได้ระบุเอาไว้ว่ามันก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ขั้วตรงกันข้ามอย่าง ‘ระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ หรือ Virtual Absolutism ได้เช่นกัน คำอธิบายที่แน่นอนของทฤษฎีดังกล่าวระบุเอาไว้ว่า เป็นการกลับตาลปัตรกันระหว่าง ‘ส่วนที่ทรงเกียรติศักดิ์’ กับ ‘ส่วนที่ทรงประสิทธิภาพ’ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งยึดโยงเข้าด้วยกันในบางมิติด้านความมั่นคงของระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ การทักท้วงและแสดงความกังวลต่อการเกิดขึ้นของระบอบดังกล่าวอาจจะย้อนกลับไปได้ถึงช่วง ร.ศ. 130 ระหว่างเหตุการณ์ ‘กบฏเก๊กเหม็ง’ อ้างตามงานศึกษาของ ดร.ณัฐพล ใจจริง (2555) พบว่ากลุ่มกบฏเก๊กเหม็งกลัวว่าหากสยามยังคงปกครองในรูปแบบของ ‘ลิมิเต็ด โมนากี้’ นั้น ก็อาจจะทำให้กษัตริย์หวนกลับขึ้นมามีอำนาจได้อีกครั้ง การพยายามก่อกบฏครั้งนี้จึงทำให้กลุ่มกบฏ ร.ศ. 130 ในระยะแรกถูกจัดอยู่ในกลุ่มถอนรากถอนโคน พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม ไปสู่การปกครองแบบ ‘รีปับบลิ๊ก’ หรือสาธารณรัฐนั่นเอง

ความกลัวของกลุ่มกบฏเก๊กเหม็ง สอดคล้องกับบทความวิชาการของ พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ (2016) ในหัวข้อชื่อ The Resilience of Monarchised Military in Thailand ใจความสำคัญคือการทำความเข้าใจทหารไทยในฐานะกองทัพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ระบุความ ‘เป็นทหารของพระราชา’ ในแต่ละผู้นำกองทัพที่ขึ้นมามีบทบาททางการเมืองไม่เท่ากัน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา มีความเป็นทหารของพระราชาน้อยที่สุด ขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีความเป็นทหารของพระราชามากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้นำคนอื่น เป็นต้น โดยหากเอาไปอ้างอิงกับงานศึกษาของ ดร.อาสา คำภา (2562) หัวข้อ ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535 ก็จะพบว่า ฉันทามติร่วมกันระหว่างเครือข่ายชนชั้นนำไทยมีการสะดุดลงในช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แต่ก็มาสมานกันสนิทและเติบโตมากกว่าเดิมในช่วง พ.ศ. 2520 หรือโดยเฉพาะช่วงสมัยของรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา อีกทั้งบทบาท ฐานะทางการเงิน หรืออำนาจของสถาบันกษัตริย์มีความมั่นคงสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วง พ.ศ. 2530 ศ.ดร.เกษียร ระบุว่า กุญแจสำคัญที่เผยอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในช่วงระยะเวลานี้คือ เหตุการณ์ปราบกบฏยังเติร์กในปี พ.ศ. 2524 ที่ผู้นำกบฏพ่ายแพ้โดยไม่มีเสียงปืนแตกแม้จะมีกำลังทหารและอาวุธมากกว่าก็ตาม 

แผนผังจากงานศึกษาของ พอล แชมเบอร์ส และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ (2016) ในหัวข้อชื่อ The Resilience of Monarchised Military in Thailand

ฉันทามติของเครือข่ายชนชั้นนำไทยที่อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีหลัง พ.ศ. 2535 จึงมีความมั่นคงมาตลอด แต่จะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อีกครั้งตามงานศึกษาของ ยูจีน เมริโอ (Eugénie Mérieau, 2016) ที่ชื่อ Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997-2015) ที่เสนอว่า กลุ่มเครือข่ายชนชั้นนำไทยมีความวิตกกังวลและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเจริญพระชนมายุสูงและมีพระสุขภาพพลานามัยที่ร่วงโรย โดยการทำให้ ‘อำนาจพันลึก’ หรือ Deep State ของพวกเขาให้เป็นทางการมากยิ่งขึ้น ผ่านสถาบันการเมืองใหม่ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อย่างศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น จนเกิดเป็นเหตุการณ์ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ของศาลรัฐธรรมนูญจากการปฏิเสธอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างกว้างขวางประหนึ่งสงวนไว้ซึ่ง ‘อำนาจปฐมสถาปนา’ (le Pouvoir Constituant Originaire ou Absolu) ซึ่งโดยหลักวิชาการแล้ว ศ.ดร.เกษียร กล่าวว่า อำนาจปฐมสถาปนาดังกล่าวถือได้ว่าเป็น ‘อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์’ หรือมีความเป็น Absolutism ที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาต่อมาในสนามการเมืองไทย

เงื่อนไขสำคัญในการจำแนกระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์นี้ ศ.ดร.เกษียร ได้ยกตัวอย่างจากงาน Studies of the Thai State: the State of Thai Studies ของ เบเนดิคต์ แอนเดอร์สัน (1979) เอาไว้ว่า ต้องสามารถจำแนกชี้ขาดให้ได้ก่อนว่า ฐานะบทบาททางการเมืองระหว่าง ‘องค์ประธานผู้กระทำการ’ (Political Subject) หรือหมายถึงมีความเป็นผู้กระทำ กับ ‘ผู้รับการกระทำ’ (Political Object) นั้นเป็นอย่างไร การสามารถจำแนกและวิเคราะห์เช่นนี้ได้จะทำให้เห็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสถานภาพของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น หลังการปฏิรูปในสมัยเมจิ กับสถาบันกษัตริย์ของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2475 ประกอบกับการเกิดขึ้นของกระแส ‘Hyper-royalism’ ที่ถูกอธิบายในงานเขียนของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล (2559) จากหนังสือ Thailand’s Hyper-royalism: Its Past Success and Present Predicament และบทบาทความสำคัญระหว่างสายสัมพันธ์ของนายกรัฐมนตรีและสถาบันกษัตริย์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในงานศึกษาชื่อ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของอดีตอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (2544) ก็จะพบว่า ทั้งสามสิ่งจากงานศึกษาทั้งสามชิ้นที่กล่าวมานี้ กำลังส่งเสริมระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

คาดคะเนอนาคตการเมืองไทย ผ่านกาพย์ยานีของนายผี

ท่ามกลางการยื้อแย่งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันของระบอบสาธารณรัฐจำแลง และระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ ความเคลื่อนไหวก้าวต่อไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ศ.ดร.เกษียร ได้ยกกาพย์ยานี 11 ของ ‘นายผี’ หรือ อัศนี พลจันทร (2495) ในชื่อ ความเปลี่ยนแปลง ดังต่อไปนี้

ฝ่ายหนึ่งเฝ้าปลุกผี จะให้โลดกำแหงหาญ

ฝ่ายหนึ่งขนาบศาล สำหรับล่อให้คนหลง

โดย ศ.ดร.เกษียร ได้ระบุเพิ่มเติมว่า กาพย์ยานีนี้กำลังบอกให้เราเห็นถึงเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจ (Power Nexus) ที่ยึดโยงเอาไว้ด้วยกันในสังคมไทยตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงในสมัย พ.ศ. 2490 ซึ่งในสมัยนั้นอาจจะหมายถึงเกลียวความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ กองทัพ และสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเรากระโดดข้ามมาสู่ยุคปัจจุบัน เราจำเป็นต้องมองให้ลึกขึ้นไปอีกขั้น ว่าเกลียวความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพนั้น เป็นไปในลักษณ์ Monarchized Military แบบที่ พอล แชมเบอร์ส และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ ได้นำเสนอไว้ในงานที่พูดถึงข้างต้นไปแล้วหรือไม่ หรือว่าเป็นไปในลักษณะของ Military-dominated Monarchy ที่สลับความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสองสิ่งจากสมัยก่อน รวมไปถึงบริบททางการเมืองโลกที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะมีผู้เล่นอื่นนอกเหนือไปจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามามีบทบาทนำในสังคมการเมืองไทย เช่น จีน เป็นต้น 

สมการเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจที่นายผีเคยนำเสนอเอาไว้เมื่อเกือบ 70 ปีก่อนนั้น อาจจะยังนำมาใช้ได้จริงอยู่ หากเราแทนค่าในสมการเข้าไปเสียใหม่ และมองบทบาทของสถาบันทางการเมืองไทยให้ละเอียดมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา การคาดคะเนระหว่างระบอบสาธารณรัฐจำแลงหรือระบอบเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ว่าอันไหนจะขึ้นมามีบทบาทนำต่อไปในอนาคตสังคมการเมืองไทย ศ.ดร.เกษียร จึงปิดท้ายไว้ด้วยสมการข้างต้นเหล่านี้ที่ต้องการการจับตามองกันต่อไป

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า