เอสวาตินี: กษัตริย์เหนือรัฐธรรมนูญ รวยระดับเศรษฐี มากมีภรรยา นิยมความรุนแรง

  • สมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งสุดท้ายของแอฟริกากำลังถูกท้าทาย ท่ามกลางข้อเรียกร้องการ ‘ปฏิรูป’ การเมืองและสถาบันกษัตริย์
  • กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 (Mswati III) ผู้ครองราชย์ยาวนานถึง 36 ปี บนเงื่อนไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ปี 1973
  • ประชาชนเริ่มตาสว่าง ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกือบ 30 คน

อาจเป็นเรื่องยากเมื่อต้องจินตนาการถึงประเทศที่ยังใช้ระบอบการปกครองแบบโบราณอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เหลือรอดมาถึงยุคปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสโลกที่เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยและการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น 

หนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศเอสวาตินี (Eswatini) ซึ่งกำลังเผชิญความยากลำบากในการทานกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงในฐานะรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งสุดท้ายของทวีปแอฟริกา การสถาปนาความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์จึงต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน

พระมหากษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 (Mswati III) ครองราชย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1986 จนถึงปัจจุบัน พระองค์มีอำนาจล้นพ้นทั้งในทางสังคมและการเมืองการปกครอง โดยมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนมีข้อครหาเรื่องการมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมไปถึงการมีสถานะทางศาสนาที่สูงส่งประหนึ่งสมมุติเทพก็ทำให้ข้อเรียกร้องของฝ่าย ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ดูจะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

พระมหากษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 (Mswati III)

การปะทะกันของสถาบันกษัตริย์กับกระแสโลกยุคใหม่ในเอสวาตินียิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้น เมื่อมีตัวละครหลายกลุ่มกระโดดเข้ามาแสดงบทบาททางการเมือง ตั้งแต่กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีพื้นฐานมาจากขบวนการนิสิตนักศึกษา กลุ่มแรงงาน ไปจนถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และอำนาจแทรกแซงจากต่างประเทศ

ต่อไปนี้คือเส้นทางของการต่อสู้และข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แห่งเอสวาตินี ตั้งแต่อดีตจนถึงการนองเลือดกลางเมืองหลวงในปัจจุบัน

สถาบันกษัตริย์ที่ไม่ปรับตัว กับการเมืองที่ไม่รองรับหลักสิทธิมนุษยชน

ประเทศเอสวาตินี หรือในอดีตถูกเรียกในชื่อ สวาซิแลนด์ (Swaziland) เริ่มจากการปกครองในรูปแบบชนเผ่า ก่อนที่จะพัฒนาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาในศตวรรษที่ 18 ซึ่งสืบทอดกลิ่นอายทางวัฒนธรรมการเมืองแบบรัฐสภามาจากอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคม ก่อนที่จะได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1968 และเริ่มการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาอีกครั้งโดย กษัตริย์ซอบูซาที่ 2 (Sobhuza II) ซึ่งส่งต่อระบอบการปกครองโบราณนี้มาจนถึงมือของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 แห่งราชวงศ์ดลามินี (Dlamini) ผู้รับมือกับแรงเสียดทานต่ออำนาจด้วยการใช้กำลัง

กษัตริย์ซอบูซาที่ 2 (Sobhuza II)

ภายใต้การครองราชย์ตลอด 36 ปี พระองค์ได้สถาปนาสถาบันกษัตริย์ให้มีอำนาจเหนือองค์กรการเมืองด้วยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ไปจนถึงอำนาจในการสั่งยุบสภาได้ตามพระราชอัธยาศัย และเข้ายึดกุมหัวใจสำคัญของชาติอย่างอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จนเกิดเป็นข้อครหาจำนวนมากถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่มีถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2014[1] แม้ประเทศจะอยู่ในสภาวะยากจนเป็นอย่างมากก็ตาม

เอสวาตินีระงับการใช้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 1973 ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งภายหลังการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 พระองค์ให้สัญญาว่าจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แต่เมื่อถึงปี 2001 คณะกรรมาธิการทบทวนรัฐธรรมนูญ (Constitutional Review Commission: CRC) ที่กษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง กลับอ้างรายงานผลสำรวจความเห็นว่าประชาชนประเทศนี้ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่ได้ถูกเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ และสื่อมวลชนก็ถูกห้ามนำเสนอข่าวเรื่องนี้เช่นกัน จนกระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (Constitution Drafting Committee: CDC) ในปี 2004 ก็ถูกโจมตีว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ CDC นี้ไม่รับประกันหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิการแสดงออก สิทธิในการรวมกลุ่ม รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่ประชาชนพึงมี[2] แต่กลับให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้กำลังถึงแก่ชีวิตได้ และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2005 ที่ยังคงถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน[3]

ความพยายามในการต่อต้านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรมฉบับนี้ของฝ่ายการเมืองในรัฐสภาไม่เป็นผล เนื่องจากฝ่ายตุลาการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 1973 จนนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ขณะที่การประท้วงบนถนนของกลุ่มสหภาพแรงงานสามารถระดมผู้ชุมนุมออกมาได้เพียง 100 คนเท่านั้น ท่ามกลางการจับตาดูอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีอาวุธครบมือ[4]

การประท้วงทุกรูปแบบจะจัดขึ้นได้ต้องขออนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งมักจะไม่อนุญาตให้เกิดการชุมนุมขึ้นโดยการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในปี 1973 ที่ยังไม่ถูกระงับการใช้งาน ซึ่งการฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้มักนำมาสู่การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชน ดังที่เกิดขึ้นกับกรณีการเดินขบวนประท้วงของกลุ่มนักศึกษาในปี 2005 ที่ประท้วงกระทรวงศึกษาธิการจากการตัดงบประมาณกองทุนการศึกษา จนนำมาสู่การใช้อาวุธกระบองและแก๊สน้ำตาปราบฝูงชน รวมถึงการแอบถ่ายรูปใบหน้าผู้ชุมนุมอีกหลายครั้งโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตลอดมา[5]

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ยังคงถูกผลักดันโดยประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนปะทุอย่างรุนแรงอีกครั้งในปัจจุบัน

photo: nu.nl

การลุแก่อำนาจของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 มิได้มีเพียงแค่ในด้านการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่ในแง่พฤติกรรมส่วนตัวก็เป็นที่อื้อฉาวไม่น้อย โดยในปี 2003 พระองค์ต้องพระทัยกับเด็กสาววัย 18 ปีคนหนึ่ง และใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการ ‘เรียกตัว’ เพื่อมาพบ หลังจากนั้นไม่นานมารดาของเด็กสาวคนดังกล่าวได้ฟ้องกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ต่อศาล ทว่าเรื่องก็จบลงด้วยการไกล่เกลี่ยของเด็กสาวคนดังกล่าวว่าตนมีความสุขดี และกำลังจะได้เป็น ‘เจ้าสาว’ คนต่อไปของกษัตริย์[6] อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 ได้มีการเปิดเผยว่าพระองค์มีภรรยาอยู่ถึง 15 คน ขณะที่บางแหล่งข่าวระบุว่าอาจจะมีทั้งหมดถึง 25 คนด้วยกัน[7]

 จับกุม คุมขัง เข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องการปฏิรูป

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จำแลงตนเองอยู่ในคราบประชาธิปไตย ผ่านการมีรัฐสภาและรัฐธรรมนูญถูกท้าทายอีกครั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2021 เมื่อประชาชนนับพันตบเท้ากลับลงถนนในกรุงอึมบาบาเน (Mbabane) เมืองหลวงของอำนาจเผด็จการ มีการเผาทำลายและปล้นร้านค้าที่สถาบันกษัตริย์มีหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่โต้ตอบด้วยการยิงกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ชุมนุม

ท่ามกลางความโกลาหลของสถานการณ์การปะทะ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงและทุบตีด้วยกระบองเป็นจำนวนมาก จนโรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง สัญญาณอินเทอร์เน็ตภายในประเทศดับลงชั่วขณะ ซึ่งผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการปิดบังข้อมูลข่าวสารเรื่องผู้บาดเจ็บ ขณะเดียวกันผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวต่างแสดงความหวั่นวิตกถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

“กองทัพกับตำรวจอยู่ทั่วทุกที่เลย สถานการณ์ตึงเครียดมากๆ” ธูลานี มาเซโก (Thulani Maseko) ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนประจำกรุงอึมบาบาเน พูดถึงสถานการณ์การประท้วง “ผู้คนถูกยิง ผู้คนถูกจับ ผู้คนบาดเจ็บ ถนนข้างนอกมันไม่ปลอดภัยอีกแล้ว”[8]

ธูลานี มาเซโก (Thulani Maseko) | photo: hrf.org

ทางภาครัฐไม่ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องการใช้กำลังแต่อย่างใด ทว่ากลับออกมาให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่กำลัง ‘รักษาความสงบ’ ของการชุมนุมที่มีลักษณะของการกระทำนอกกฎหมาย เป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกจัดการเท่านั้น แน่นอนว่าสารนี้ยังระบุไปถึงการชุมนุมที่ถูกผลักดันโดยพรรคการเมืองนอกกฎหมายฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคฝ่ายค้าน People’s United Democratic Movement (PUDEMO) ที่ถูกรัฐมองว่ามีลักษณะเป็น ‘กลุ่มก่อการร้าย’ มากกว่าพรรคการเมือง

ก่อนหน้านี้ในปี 2010 เคยมีสมาชิกพรรค PUDEMO ที่ถูกจับกุมเนื่องจากสวมเสื้อลายพรรค PUDEMO ในวันแรงงาน และในเวลาไม่นานหลังการถูกจับกุมก็ ‘เสียชีวิต’ โดยทางการระบุสาเหตุว่าเขาฆ่าตัวตายในห้องขัง อีกทั้งบังคับให้ครอบครัวของผู้ตายจัดงานศพอย่างรวดเร็ว กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวอย่างของการใช้กำลังโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะผู้ที่แสดงตนว่าสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่มักถูกความไม่เป็นธรรมกลั่นแกล้งไปจนถึงเอาชีวิตอย่างเป็นปริศนา[9]

ท่ามกลางสถานการณ์การบุกจับกุมและความตายอย่างเป็นปริศนาของนักกิจกรรมหลายราย การประท้วงเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2021 และยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อภาครัฐยุติการรับคำร้องจากประชาชน ทำให้ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้ด้วยตนเอง และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแบบที่สหราชอาณาจักรทำ 

นอกเหนือไปจากการประท้วงของกลุ่มนักเรียนด้วยการไม่เข้าเรียนแล้ว บุคลากรสาธารณสุขยังได้ออกมาร่วมขบวนการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเช่นเดียวกัน โดย Nhlangano Health Centre สถานพยาบาลทางตอนใต้ของประเทศ ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการใช้กระสุนของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมทั่วประเทศ และมีการเผยแพร่คลิปการชุมนุมของแพทย์และพยาบาลผ่านทวิตเตอร์

ขณะเดียวกัน สหภาพพยาบาลเพื่อประชาธิปไตยสวาซิแลนด์ (The Swaziland Democratic Nurses Union: SDNU) ได้ประกาศไปถึงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศให้เลิกทำการรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจกันกับพยาบาลทั้ง 30 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา[10]

การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป วันที่ 24 มกราคม 2022 โคลานี มาเซโก (Colani Maseko) ประธานสหภาพนักเรียนแห่งชาติสวาซิแลนด์ (The President of the Swaziland National Union of Students: SNUS) ประกาศชัดเจนว่า ขบวนการเยาวชนพร้อมที่จะเคลื่อนไหวขนาดใหญ่อีกครั้งในปีนี้ พร้อมส่งสารผ่านบทสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์ Swaziland News อย่างทรงพลังว่า 

“ประเทศนี้ไม่ได้เป็นของนักเรียนคนเดียว แต่ยังรวมถึงเยาวชนผู้ว่างงาน คนหนุ่มสาวบนท้องถนน ผู้ใช้แรงงานในโรงงานทอผ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ บางคนต้องเป็นคนสวน ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีหัวคิดทางธุรกิจ แต่เพราะรัฐบาลนี้ไม่สนใจรัฐสวัสดิการสำหรับคนหนุ่มสาว” จากนั้น มาเซโกประกาศชัดว่า “เรากำลังพูดถึงการชุมนุมใหญ่ที่ไม่ใช่มีแค่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย แต่ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันปลดแอกประเทศนี้ให้ได้”[11] 

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2022 สถานการณ์ล่าสุดในการพยายามลดแรงเสียดทานของสถาบันกษัตริย์คือ การประกาศแผนโร้ดแมปการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 ถึงแม้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทิโมธี ไมเยนี (Timothy Myeni) จะแสดงความไม่พอใจต่อการประกาศการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม

“ประเทศนี้ไม่มีรัฐสภาหรอก เพราะเมื่อไหร่ที่คุณพูดถึงความต้องการของประชาชนจริงๆ คุณจะถูกจับ” ไมเยนีกล่าว “รัฐบาลกำลังพูดถึงการเลือกตั้ง แต่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องการปฏิรูปจากประชาชน มันไม่มีรัฐสภาที่นี่หรอก การเลือกตั้งมีไว้แค่ตบตาประชาคมโลกเท่านั้น”[12] 

พลังความเชื่อและศาสนา รักษาฐานอำนาจราชบัลลังก์

นอกเหนือไปจากอำนาจในทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เอสวาตินีสามารถธำรงอยู่ได้ทั้งปกเกล้าและปกครอง คือ การวางบทบาทของสถาบันกษัตริย์เคียงคู่ไปกับหลักศาสนา จนส่งเสริมให้สถานะของกษัตริย์ผูกขาดความศักดิ์สิทธิ์ตามชุดคุณค่าที่สังคมชาวเอสวาตินีนับถือ และยิ่งทำให้การต่อต้านเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

สถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลอย่างมากในด้านความเชื่อและหลักศาสนาของชาวเอสวาตินี เห็นได้ชัดจากงานประเพณี ‘Reed Dance’ ประจำปี ที่จะเปิดพื้นที่ของพระราชวังบางส่วนให้หญิงพรหมจรรย์กว่า 100,000 คน เข้ามาเต้นระบำเปลือยหน้าอกเพื่อประกอบพิธีตามหลักศาสนา ก่อนที่พระมหากษัตริย์จะทำการ ‘คัดเลือก’ เจ้าสาวคนใหม่จากกลุ่มหญิงสาวที่เข้าร่วมงานเทศกาลดังกล่าว ซึ่งครั้งสุดท้ายที่กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ได้เลือกเจ้าสาวคนใหม่จากพิธีนี้คือปี 2013[13]

ศาสนาหลักของเอสวาตินีคือศาสนาคริสต์ ที่กษัตริย์อึมสวาตีที่ 2 นำเข้ามาในปี ค.ศ. 1825 อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์ได้ผนวกเอาแนวคิดแบบสังคมชนเผ่าที่บูชาพระผู้สร้าง วิญญาณบรรพบุรุษ และพิธีกรรมบูชายัญสัตว์เข้ากับศาสนาคริสต์ ทำให้บทบาทของสถาบันกษัตริย์โดดเด่นขึ้นมาในฐานะผู้นำทางพิธีกรรมต่างๆ ผ่านบทบาทของ ‘Ndlovukati’ ที่มักดำรงตำแหน่งโดยพระมารดาของกษัตริย์ หรือพระราชินี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมประจำชาติอย่างงาน ‘Incwala’ ที่ผูกโชคชะตาของกษัตริย์เข้ากับโชคชะตาของประเทศ

งาน Incwala จะจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมและสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม พระมหากษัตริย์จะฉลองพระองค์ด้วยชุดนักรบเต็มยศตามประเพณีโบราณ โดยมีการเก็บเกี่ยวพืชผลและการเต้นระบำเป็นหนึ่งในจุดสำคัญของพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาปากต่อปากนับร้อยปี[14] เป้าหมายของพิธีกรรมคือการขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้า และอ้อนวอนขอฝนหรือฤดูเก็บเกี่ยวที่ดีในปีถัดไป

ในสายตาของประชาชนทั่วไปในประเทศ กษัตริย์ถูกมองว่าเป็นสมมุติเทพที่เปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นผลจากการประกอบสร้างสถานะด้วยการผูกศาสนาเข้ากับสถาบันกษัตริย์อย่างแยบยลเป็นเวลาหลายร้อยปี ทำให้แม้แต่พรรคฝ่ายค้านที่เป็นความหวังของประชาชนในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น ยังเลือกที่จะคงระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เอาไว้ มากกว่าการหาทางพยายามล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไปเสีย สิ่งนี้ทำให้ ‘เพดาน’ สูงสุดของพรรค Pudemo จึงต้องการเพียงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นแบบเดียวกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษเท่านั้น[15]

นอกจากนี้ สถาบันกษัตริย์ยังได้มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับศาสนจักรคริสต์ในประเทศ เนื่องจากประชากรส่วนมากที่เป็นคริสต์มักนิยมไปโบสถ์เพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา โบสถ์หลายแห่งจึงมักเชิญสมาชิกราชวงศ์มาร่วมในงานพิธีต่างๆ รวมไปถึงการเทศนาตามหลักศาสนาอีกด้วย[16]

ดังนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สถาบันกษัตริย์เอสวาตินีได้ยึดกุมอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งปกเกล้าและปกครองไปจนหมดสิ้นแล้ว และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงเสียดทานจากกระแสเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และระบบการเมืองถูกลดพลังลงเป็นอย่างมาก ผ่านชุดความคิดด้านความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ จารีตศาสนา และการสืบทอดของประเพณีโบราณจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน

บาดแผลของประชาชน บนความร่ำรวยของสถาบันกษัตริย์

ท่ามกลางคำกล่าวอ้างของกองทัพว่า การกวาดล้างผู้เห็นต่างนั้นเป็นไปเพื่อรักษาความสงบ ผดุงกฎหมาย และปกป้องพลเมืองทุกคนในชาติ ไปจนถึงข้ออ้างด้านการคุมเข้มมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคระบาดไวรัส COVID-19 การใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมในปัจจุบันทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมไปกว่า 40 ราย ตามคำให้การของพรรค PUDEMO ส่วนสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 24 คน และมีผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 73 ราย[17] ในขณะที่ทางการระบุว่า “ยังไม่ได้รับรายงานการเสียชีวิตใดๆ” แต่จะจัดให้มีการสืบสวนต่อไป[18] 

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่จัดทำข้อมูลด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยนานาชาติอย่าง Freedom House ระบุว่า เอสวาตินีเป็นประเทศที่ ‘ไม่เสรี’ ในการประเมินปี 2021 ด้วยคะแนนเพียง 19 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งแบ่งเป็น 1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 40 ในหมวดสิทธิทางการเมือง และ 18 คะแนน จากคะแนนเต็ม 60 ในหมวดเสรีภาพพลเมือง[19] สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่หนักหน่วงของประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และความสมบูรณ์ของระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง

แม้แต่ในช่วงสถานการณ์วิกฤติของโรคระบาด COVID-19 ในปัจจุบัน มาตรการด้านการควบคุมโรคกลับถูกนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมมากกว่าการจัดการวิกฤติ นอกเหนือไปจากนั้นมาตรการด้านเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตก็ถูกควบคุมด้วยกฎหมายความมั่นคงทางเทคโนโลยีตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2021 และกฎหมายควบคุมสื่อออนไลน์ที่กำลังจะออกตามมา

กว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด หรือ 1.4 ล้านคน เป็นผู้ว่างงาน ส่วนอีกร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาความยากจนต่อเนื่องหลายสิบปี สถาบันกษัตริย์เข้าครอบครองอุตสาหกรรมเหมืองเหล็กหลายแห่ง และมีรายได้มหาศาลจนความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) ของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ในปี 2021 ถูกคำนวณว่าอยู่ที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหนึ่งในรายได้ของพระองค์มาจากงบประมาณจากภาครัฐจำนวนถึง 61 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งพระองค์ได้นำไปใช้จ่ายกับรถหรูหลายคันและเรืออีกเป็นจำนวนมาก[20] 

ไม่เพียงวิกฤติด้านคุณภาพชีวิตของชาวเอสวาตินีแล้ว คุณภาพด้านสาธารณสุขเองก็ย่ำแย่เช่นกัน โดยร้อยละ 25 ของประชากรในประเทศถูกระบุว่ามีผลตรวจ HIV เป็นบวก และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV มากที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันมาตรการในการจัดการปัญหาดังกล่าวกลับไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควรจากสถาบันกษัตริย์หรือรัฐบาล อีกทั้งยังมีข้อครหาจากกรณีที่กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ได้กล่าวในการประชุมรัฐสภาปี 2000 ว่า ประชาชนที่ถูกระบุว่ามีผลตรวจ HIV เป็นบวก ควรถูก ‘ตีตรา’ และทำให้เป็นหมันอีกด้วย[21]

จากความชอกช้ำของสังคมเอสวาตินีตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยาวนานที่สุดในโลก ทำให้ประชาชนของประเทศเริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจครั้งใหญ่โดยไม่เกรงกลัวตำรวจและกองทัพ ทุกหยดเลือดและน้ำตาของประชาชนจึงเป็นภาพสะท้อนความจำเป็นในการยุติการลุแก่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ต่อสังคม และยิ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนในชาติมีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของชีวิตตนเองต่อไป

เชิงอรรถ

[1] Agence France-Presse in Mbabane. (2014). King of impoverished Swaziland increases household budget to $61m. The Guardian, From https://www.theguardian.com/world/2014/may/14/king-mswati-iii-swaziland-increases-household-budget 

[2] SWAZILAND. (2004). Amnesty International, From https://web.archive.org/web/20041013054919/http://web.amnesty.org/library/Index/ENGAFR550042004?open&of=ENG-SWZv 

[3] Swaziland Constitution. (2018). Index Mundi, From https://www.indexmundi.com/swaziland/constitution.html 

[4] Swaziland strike fizzles out on second day. (2005). Reuters, From https://web.archive.org/web/20070529190145/http://www.iol.co.za/index.php?set_id=1&click_id=68&art_id=qw1106814062464B224 

[5] Barry Bearak. (2008). In Destitute Swaziland, Leader Lives Royally. The New York Times, From https://www.nytimes.com/2008/09/06/world/africa/06king.html 

[6] Alexis Carey. (2019). King Mswati III of Swaziland slammed for spending millions on cars as country suffers. news.com.au, From https://www.news.com.au/finance/work/leaders/king-mswati-iii-of-swaziland-slammed-for-spending-millions-on-cars-as-country-suffers/news-story/232406da2d580c9a726ae5160850abc9 

[7] United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs (OCHA). Swaziland: Doubt over legality of protests keep Swazis at bay, for now. (2005). News and Press Release. ReliefWeb, From https://reliefweb.int/report/swaziland/swaziland-doubt-over-legality-protests-keep-swazis-bay-now 

[8] John Eligon. (2021). Africa’s Last Absolute Monarchy Convulsed by Mass Protests. The New York Times, From https://www.nytimes.com/2021/07/02/us/africa-monarchy-eswatini-protests-swaziland.html 

[9] Killed in Swaziland for wearing T-shirt. (2010). AFRIKA, From https://web.archive.org/web/20110903103701/http://www.afrika.dk/killed-swaziland-wearing-t-shirt 

[10] Eswatini protests: Nurses refuse to treat police after colleagues shot. (2021). BBC, From https://www.bbc.com/news/world-africa-59011033 

[11] Zweli Martin Dlamini. (2022). NKILONGO MP: Eswatini preparing for Tinkhundla election of MPs who will be arrested for criticising royalty. Swaziland News, From https://www.swazilandnews.co.za/fundza.php?nguyiphi=1992 

[12] Zweli Martin Dlamini. (2022). Students President urges youth to prepare for a second wave of political unrest to topple King Mswati. Swaziland News, From https://www.swazilandnews.co.za/fundza.php?nguyiphi=1988 

[13] eSwatini Reed Dance, the Dance of 100,000 Virgins. Tour South Africa, From https://toursouthafrica.co.za/index.php/st_tour/eswatini-reed-dance-the-dance-of-100000-virgins/ 

[14] Incwala Festival. The Kingdom of Eswatini, From https://www.thekingdomofeswatini.com/eswatini-experiences/events/incwala-festival/ 

[15] A boiling pot. (2010). The Economist, From https://www.economist.com/middle-east-and-africa/2010/09/16/a-boiling-pot 

[16] Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor. (2016). SWAZILAND 2016 INTERNATIONAL RELIGIOUS FREEDOM REPORT. International Religious Freedom Report for 2016. United States Department of State, From https://www.state.gov/wp-content/uploads/2019/01/Swaziland-3.pdf 

[17] S.Africa, UK urge restraint after deadly unrest in Eswatini. (2021). Yahoo news, From https://news.yahoo.com/africa-uk-urge-restraint-deadly-140919371.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly9lbi53aWtpcGVkaWEub3JnLw&guce_referrer_sig=AQAAABzvymi8FVxEiED_oA-BLLlADwne0ilnuWueFgY4QH2WnATj64X4SHtryIxyWd4Z2QvpSqq7IsMjbb11RGH6CTYXMwz7_Nx4fGWr5ZySIIn3OteKCvWqLW-9HPuekc4ajzCuGp5GXyEbj4y1UGhI3IAWOkoMGaFLWgYyaSlmwRbs 

[18] Matthew Hill. (2021). Southern Africa Bloc to Send Team to Eswatini to Discuss Unrest. Bloomberg, From https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-03/southern-africa-bloc-to-send-team-to-eswatini-to-discuss-unrest-kqnxuokm 

[19] Eswatini. (2021). Freedom House, From https://freedomhouse.org/country/eswatini/freedom-world/2021 

[20] King Mswati Net Worth. (2021). Glusea, From https://www.glusea.com/king-mswati-net-worth/ 

[21] Ahmed Moor. (2011). Avarice: The madness of King Mswati. Al-jazeera, From https://www.aljazeera.com/opinions/2011/4/26/avarice-the-madness-of-king-mswati/ 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า