หมอ คนไข้ ผู้พิการ และการเลือกตั้ง

สาเหตุส่วนหนึ่งของผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ คือความเจ็บป่วยและพิการ แต่ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมือง WAY สำรวจเคสในต่างประเทศที่มีวิธีการจัดการกับกรณีฉุกเฉิน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพลเมืองเท่ากัน และทุกคนควรมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

โรงพยาบาลในอเมริกากับวันเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2008 ฉันกับเพื่อนๆ ได้ดูวันที่ บารัก โอบามา ถูกรับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อนาคตมาถึงแล้ว ห้องทำงานรูปไข่เปิดโอกาสให้คนอย่างฉัน มันเป็นหนึ่งในวันสำคัญของชีวิตในฐานะชาวแอฟริกัน-อเมริกัน หากแต่ฉันกลับไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย เพราะฉันไม่ได้ไปลงคะแนนเลือกตั้ง

ในตอนนั้นฉันจำได้ถึงความรู้สึกเบื่อหน่าย เหนื่อยล้า และความหดหู่กับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ฉันกำลังเรียนอยู่ ฉันต้องพยายามเอาชีวิตรอด และรู้เพียงแค่ว่าโลกของเรากำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งความทุ่มเทของฉันต่อการเรียนหมอ ทำให้ฉันไม่มีพลังเหลือที่จะทำอะไรเลย แม้แต่การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ เพราะสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยดีทำให้ฉันไม่สามารถมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ และนั่นทำให้ฉันตระหนักได้ว่า หากสิ่งนี้เกิดขึ้นกับฉันได้ มันก็อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ฉันทำงานอยู่ได้เช่นกัน สุขภาพที่ย่ำแย่สามารถกีดกันเราออกจากการเลือกตั้งได้ และในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ฉันต้องการที่จะทำบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเพราะบุคลากรในโรงพยาบาลสามารถปกป้องสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงของผู้ป่วยได้

จากสถิติในปี 2012 มีเพียง 56.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกไปใช้สิทธิ์ของตน และสาเหตุส่วนหนึ่งของผู้ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์คือกรณีเจ็บป่วยและพิการ เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไม่ได้ไปเลือกตั้ง และครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้เหตุผลว่า เกิดจากปัญหาสุขภาพ และจากข้อมูลของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมและการเข้าห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล ฉันได้คำนวณว่า 5 วันก่อนวันเลือกตั้ง คนอเมริกัน 1.9 ล้านคน และในช่วง 5 วันนั้นมีผู้แอดมิดเข้าห้องฉุกเฉินประมาณกว่า 222,000 คน และเฉลี่ยจะแอดมิดประมาณ 5 วัน ซึ่งหมายความว่า ในวันเลือกตั้ง ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งที่ไม่ได้ส่งบัตรลงคะแนนล่วงหน้าจึงมีโอกาสที่จะเสียสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เพราะอยู่ในโรงพยาบาล และจำนวนนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อรวมกับจำนวนของผู้ที่แข็งแรงพอที่จะออกจากโรงพยาบาล แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะไปยังจุดเลือกตั้ง นี่คือเรื่องที่น่าเป็นห่วง รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีอัตราในการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีรายได้สูง นี่เป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำในสังคม และที่โรงพยาบาลของฉัน พวกเราให้การดูแลประชากรที่มีรายได้น้อยและมีสุขภาพย่ำแย่กว่าชุมชนอื่นๆ พวกเราส่วนหนึ่งจึงลงมือทำบางอย่างกับปัญหานี้

ในรัฐแมสซาชูเซตส์ หลังจากใช้เวลาเป็นเวลานานในการศึกษากฎหมาย ฉันพบว่า ด้วยความช่วยเหลือเล็กน้อย ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนเลือกตั้งไว้สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อร้องขอให้ส่งบัตรลงคะแนนเสียง ห้เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งหรือผู้รับมอบอำนาจที่กำหนดได้ เช่น สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน และก่อนวันเลือกตั้ง 5 วันนั้น พวกเราได้แจกจ่ายแบบฟอร์มและติดต่อเจ้าที่ในเขตการเลือกตั้งของผู้ป่วยที่ต้องรักษาสิทธิ์ของพวกเขา

ในหลายๆ รัฐก็มีบทบัญญัติการลงคะแนนเสียงในนาทีสุดท้ายสำหรับกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ไว้เช่นกัน เช่น เวอร์จิเนีย ที่กำหนดไว้ว่า หากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลก่อนวันเลือกตั้ง ก็สามารถลงคะแนนผ่านทางบัตรเลือกตั้งฉุกเฉินได้ และในแคลิฟอร์เนียก็มีกฎหมายคล้ายคลึงกับในแมสซาชูเซตส์ของเรา ที่สามารถมอบใบลงคะแนนเสียงผ่านอาสาสมัครของโรงพยาบาลเพื่อนำไปยังจุดเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้

ภารกิจของโครงการนี้คือการทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของประชาชน ส่งเสริมความเท่าเทียมของคนในแต่ละชนชั้น เพิ่มประสิทธิภาพของสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการบริการเรื่องสุขภาพต่อชุมชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของผู้ป่วยในโรงพยาบาลในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของตน สิทธิ์ที่ความเจ็บป่วยไม่ควรเป็นอุปสรรคในการกีดกันพวกเขา

แปลจาก In the hospital on Election Day? You can still vote. Here’s how โดย เจนนิเฟอร์ อาแดเซ โอเควเรควู (Jennifer Adaeze Okwerekwu)

 

เตียงคนไข้กับอุปสรรคในวันเลือกตั้ง

ในปี 2016 คนไข้ของ แพทย์หญิงเคลลี่ หว่อง (Kelly Wong) แสดงความไม่พอใจที่ต้องติดอยู่ที่โรงพยาบาลในวันเลือกตั้งทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้ คุณหมอหว่องจึงหาวิธีในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เธอได้กล่าวกับ NBC News ว่า “ฉันไม่รู้ว่าผู้ป่วยสามารถลงคะแนนได้ สิ่งที่ฉันรู้คือผู้ให้บริการด้านสุขภาพหลายคนก็ไม่ทราบว่ามีกระบวนการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถไปลงคะแนนในวันเลือกตั้งได้”

หลังจากทำการค้นคว้า คุณหมอหว่อง แพทย์ฉุกเฉินที่โรงพยาบาล Brown Alpert Medical School เมืองโรดไอแลนด์ (Rhode Island) ในสหรัฐอเมริกา ได้คิดโครงการร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ และเปิดตัวเว็บไซต์ patientvoting.com ที่จะช่วยผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในวันเลือกตั้งสามารถที่จะค้นหาตัวเลือกที่พวกเขาจะสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

“ในอเมริกาส่วนใหญ่มีวิธีการส่งบัตรลงคะแนนในกรณีฉุกเฉินแก่เจ้าหน้าที่เขตเลือกตั้งในท้องถิ่นของคุณ และบางรัฐสามารถให้เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวนำบัตรเลือกตั้งมาให้คุณที่โรงพยาบาลได้ หรือกระทั่งส่งเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งมาถึงที่หอพักผู้ป่วย” คุณหมอหว่องกล่าว

ความพยายามที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสิทธ์ในการเลือกตั้งนี้แพร่หลายไปจนถึงศูนย์การแพทย์ Penn Presbyterian และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ทำให้พวกเขาได้ริเริ่มโครงการร่วมกันที่เรียกว่า ‘Penn Votes’

แพทย์หญิงเรเชล สไนเดอร์ (Rachel Snyder) ลงนามในใบสมัครผู้ป่วยสำหรับบัตรลงคะแนนที่ใช้เพื่อกรณีฉุกเฉินในฟิลาเดลเฟียเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2018 ศูนย์การแพทย์ Penn Presbyterian และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยังคงได้ใช้สิทธิ์และออกเสียงของพวกเขาแม้จะรักษาตัวในโรงพยาบาล

คุณหมอหว่องต้องการทำให้เว็บไซต์ใช้งานง่าย เพราะเธอเข้าใจว่าสิ่งสุดท้ายที่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลต้องการคือสามารถหาข้อมูลว่าพวกเขาจะสามารถสมัครบัตรลงคะแนนสำหรับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร คุณหมอจึงออกแบบให้คนไข้สามารถไปที่เว็บไซต์ patientvoting.com และคลิกที่ลิงค์สำหรับรัฐที่พวกเขาต้องการลงทะเบียนเพื่อสมัครลงคะแนน ลิงค์จะนำพวกเขาไปที่หน้าเว็บข้อมูลพร้อมคำแนะนำในทีละขั้นตอนเกี่ยวกับวิธีการรับบัตรลงคะแนน วันหมดเขตส่งบัตรเลือกตั้ง และข้อมูลจากเว็บไซต์การเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งของแต่ละรัฐ

เป้าหมายของคุณหมอหว่องคือการกระจายข่าวให้ผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยใช้โซเชียลมีเดียและการบอกปากต่อปาก และเธอยังได้คัดเลือกอาสาสมัคร เช่น แพทย์หญิงไชยาโซแตม เอเคเคซี (Chiazotam Ekekezie) หัวหน้าประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์ Brown Alpert Medical มาช่วยในฝ่ายผู้ป่วยในโครงการ หน้าที่ของเอเคเคซีบอกข่าวสารแก่คนไข้และคอยแปลเป็นภาษาสเปนให้กับผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ

เอเคเคซีบอกว่า เธอทำงานแนะนำขั้นตอนในการลงทะเบียนเลือกตั้งฉุกเฉินทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสเปนแก่ผู้ป่วยที่อาจไม่สามารถไปลงคะแนนด้วยตนเองได้” เธอกล่าวต่ออีกว่า “ฉันพยายามทำให้เกิดการรับรู้ในหมู่แพทย์และเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่อาจไม่สามารถไปมีส่วนร่วมในการลงคะแนนเลือกตั้ง เนื่องจากต้องทำหน้าที่ในหน่วยบริการผู้ป่วยของเรา”

อ้างอิงข้่อมูลจากจาก: nbcnews.com

 

การเลือกตั้งของผู้พิการในปารากวัย

ในประเทศปารากวัย คนพิการส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งในอัตราต่ำมาก ซึ่งเกิดจากนโยบายที่ไม่ครอบคลุมในการสนับสนุนมาตรการการเข้าถึงสิทธิ์อย่างเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่ม นั่นทำให้ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2015 ที่ประเทศปารากวัย ได้เกิดการร่วมมือกันขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development: USAID) และมูลนิธิ Saraki ที่ร่วมผลักดันให้ทบทวนกรอบกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงการเลือกตั้ง และได้ทำข้อเสนอแนะต่อศาลเลือกตั้งแห่งชาติ ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองกฎระเบียบจำนวนหนึ่งเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการเลือกตั้ง เช่น เป็นครั้งแรกของปารากวัยที่สนับสนุนให้ผู้พิการเดินทางออกมาใช้สิทธิ์ และเพิ่มช่องทางในการลงคะแนนเสียงด้วยภาษามือและอักษรเบรลล์สำหรับผู้การ และฝึกอบรบอาสาสมัครรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยเลือกตั้งภายใต้กฎระเบียบใหม่ที่ขยายการเข้าถึงการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมในครั้งนี้

ความพยายามสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการออกเสียงเลือกตั้งได้ช่วยให้บุคคลที่มีความพิการทางร่างกายอย่างรุนแรง ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในปี 2018 มีผู้พิการประมาณ 9,300 คนได้รับประโยชน์จากกฎระเบียบใหม่และ 1,069 คนได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง

“ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยแสดงออกผ่านการมีส่วนร่วมของพลเมือง ฉันเชื่อในระบอบประชาธิปไตยและฉันเชื่อในการเข้าถึงการเลือกตั้งสำหรับทุกคน”  คำกล่าวของ มาริโอ มาร์กอส (Mario Marcos) ผู้สมัครเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรปี 2018 และนักเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนสิทธิ์ของคนพิการในปารากวัย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
zeroproject.org
abc.com.py

 

วันเลือกตั้งของคนพิการในบราซิล

คนพิการในประเทศบราซิลไม่ต่างกับอีกหลายๆ ประเทศที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมในการเลือกตั้ง เนื่องจากพวกเขาต้องเจอปัญหาทางด้านร่างกาย โครงสร้างอาคาร การสื่อสาร และอุปสรรคภายในอาคารที่ทำการเลือกตั้ง

ศาลการเลือกตั้งสูงสุด (Superior Electoral Court) ของบราซิลและศาลเลือกตั้งระดับภูมิภาคได้จับมือทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนา ‘โครงการเข้าถึงการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม’ (Electoral Justice Accessibility Programme) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งขึ้นแก่ผู้พิการ ซึ่งโครงการนี้ได้ใช้มาตรการ เช่นการจัดหอผู้ป่วยในอาคารที่สามารถเข้าถึงได้และจัดให้มีเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแป้นพิมพ์อักษรเบรลล์และหูฟังสำหรับคนตาบอด รวมถึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำรวจความคิดเห็นที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยิน เพื่อที่จะสามารถปรับปรุงโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

โดยศาลการเลือกตั้งสูงสุดจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงกระบวนการการเลือกตั้งโดยส่งแบบสำรวจไปยังศาลเลือกตั้งระดับภูมิภาค เพิ่มเติมโดยการส่งเสริมให้ผู้พิการที่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือลดการเคลื่อนที่ไปยังเขตเลือกตั้งของพวกเขา 90 วันก่อนการเลือกตั้ง

ความก้าวหน้าของโครงการนี้ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2018 ทำให้จากจำนวนผู้พิการที่มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 940,000 คนในบราซิล ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้กว่า 380,000 คน โดยเป้าหมายของโครงการคือกำจัดอุปสรรคทางกายภาพและการสื่อสารในหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 479,000 แห่งทั่วบราซิล และเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณค่าในการเข้าถึงการเลือกตั้งของคนพิการ และใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกับเพื่อนร่วมสังคมของเขา

อ้างอิงข้อมูลจาก: zeroproject.org

 

คู่มือการเลือกตั้งฉบับคนตาบอด

คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางแห่งจอร์เจีย (Georgian Central Election Commission: CEC) หน่วยงานรัฐบาลที่ดูแลการเลือกตั้ง ได้จัดทำคู่มือการลงคะแนนเสียงแบบสัมผัสเพื่อให้ผู้พิการทางการมองเห็นสามารถลงคะแนนได้อย่างอิสระ โดยมีสัญลักษณ์เป็นไกด์ลำดับผู้ลงสมัครบนบัตรเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงใช้การตัดแบบกลมด้านซ้ายของไกด์เพื่อแสดงลำดับของผู้สมัคร นอกจากนี้ยังมีคู่มือเสียงเป็นตัวช่วยเพิ่มเติมในการเลือกตั้งและลงประชามติในจอร์เจีย ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2018 มีผู้พิการไปใช้สิทธิ์ 527 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่มีเพียง 330 คน

ในปี 2016 คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางได้จัดทำบัตรลงคะแนน มาตรฐานสำหรับการเลือกตั้งทั้งหมดในประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการแก้ปัญหาเพื่อคนตาบอด ให้สามารถลงคะแนนได้อย่างอิสระ และเพื่อพัฒนาแนวทางการลงคะแนนเสียงแบบสัมผัส โดย CEC ได้ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งรวมถึงสหภาพคนตาบอดในจอร์เจีย จัดทำคู่มือการลงคะแนนแบบสัมผัสที่ทำจากกระดาษที่ทนทาน มีรูและเส้นที่สามารถระบุลำดับของผู้ลงคะแนนอยู่ภายใต้คู่มือ และมีการบันทึกเสียงอธิบายฝ่าย คู่มือนี้สามารถใช้ได้หลายครั้งและไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับอักษรเบรลล์ และมีการผลิตวิดีโอโดยร่วมมือกับสหภาพคนตาบอดเพื่อจัดการประชุมข้อมูลและจำลองการเลือกตั้งหลังจากการเลือกตั้งปี 2559 คู่มือได้รับการปรับปรุงและปรับปรุงให้ดีขึ้นอีก เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับคู่มือการลงคะแนนเสียงแบบสัมผัสได้ทางออนไลน์สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนตาบอดเว็บไซต์ทางการของ CEC และมีการปรับให้สอดคล้องกับหลักการออกแบบสากล ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2018 มีการใช้คู่มือนี้ในเขตการเลือกตั้งทั้งหมด 3,647 แห่งและมีผู้ลงคะแนนใช้ 527 คน

นโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากงบประมาณของรัฐในจอร์เจีย โดยมีค่าใช้จ่ายโดยรวมของโครงการคือ 6,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 206,550 บาท) และมีค่าใช้จ่ายในการทำคู่มือการลงคะแนนเสียงแบบสัมผัสอยู่ที่  1.45 ดอลลาร์ (ประมาณ 46 บาท) ซึ่งคู่มือนี้สามารถทำได้ไม่ยากในประเทศอื่นๆ เพราะมีต้นทุนการผลิตในราคาถูกและสามารถใช้ในการเลือกตั้งได้หลายประเภท

เออร์มา บาราบัดเซ (Irma Barabadze) หัวหน้านักสังคมสงเคราะห์จากหน่วยงานบริการสังคมของสหภาพคนตาบอดแห่งสหภาพในจอร์เจียได้กล่าวว่า “ฉันในฐานะคนตาบอดที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เข้าร่วมในการเลือกตั้งทุกครั้งที่จัดขึ้นในจอร์เจียตั้งแต่ปี 2016 โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งการใช้บัตรลงคะแนนสัมผัสพิเศษนี้ ฉันสามารถตัดสินใจเลือกตั้งด้วยตัวเองได้แล้ว”

อ้างอิงข้อมูลจาก: zeroproject.org

 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า