มีคนว่ากันว่า เราจะเห็นค่าของสิ่งที่ขาด เมื่อถึงวันที่เราเสียมันไป
ความสามารถในการมองเห็น ได้ยิน ตรึกตรอง เคลื่อนไหวร่างกายก็เช่นเดียวกัน เรามักรู้ว่า ‘มี’ เมื่อ ‘ไม่มี’ มันเสียแล้ว เมื่อถึงพลัดสู่ความ ‘ไม่มี’ เส้นทางการฟื้นคืนสภาพก็หดแคบลง และหนทางสู่ ‘ความไม่สามารถ’ หรือ ‘พิการ’ ก็ถ่างกว้างขึ้น และใช่ นี่ไม่ใช่เส้นทางที่ง่าย
ความหมายอย่างเป็นทางการของ ‘คนพิการ’ นั้นถูกระบุว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านใดด้านหนึ่งเพื่อปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป[1]
หากความพิการนี้เกิดขึ้นกับคุณหรือสมาชิกในครอบครัว มันคือความเจ็บปวด สิ้นหวัง เหน็ดเหนื่อย การชนกับข้อจำกัดและความยากลำบากนานัปการ เมื่อสิ่งนี้เกิดปรากฏในสังคม คนพิการจึงถูกมองว่าเป็นภาระ เป็นคนอื่นที่เราไม่อยากมองเห็นบนท้องถนน
แต่สำหรับเรื่องเล่าของบุคคลสองคนที่เรากำลังจะเล่าให้คุณฟัง ความพิการคือภาวะที่เขาและเธอต้องเผชิญ จากชีวิตที่เคยเดินเหินได้ปกติ อุบัติเหตุพาพวกเขาสู่ความพิการ ต้องพึ่งพิง รอรับความช่วยเหลือ และคนรอบตัวเริ่มตัดสินใจแทน จากจุดนั้น โชคชะตาพาพวกเขาไปพบองค์กรคนพิการ จึงค่อยๆ พบหนทางกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เห็นความเป็นไปได้ที่จะออกไปข้างนอก มีคนจ้างงาน พอจะกำหนดชีวิตของตนเองได้ และวันนี้พวกเขากำลังทำงานเพื่อให้คนพิการมีงานทำอย่างเป็นมืออาชีพ ใช้ชีวิตอย่างมิใช่ผู้ขอ แต่เป็นผู้ผลิตและส่งต่อบางสิ่งบางอย่างที่มีค่ากับโลก
การเดินทางเข้าสู่วัฒนธรรมคนพิการและภาวะสูญหายไปจากชีวิต
อาภาณี มิตรทอง หรือ นก ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะเธอเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ 3 อุบัติเหตุทำให้เส้นประสาทไขสันหลังอักเสบ พิการตั้งแต่หน้าอกลงมา ในตอนแรกเธอไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นอะไร รู้เพียงว่า ถ้ารักษาก็น่าจะดีขึ้น
“ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าความพิการคืออะไร ไม่รู้จักคนพิการเลยสักคน เติบโตมาในชีวิตที่ไม่มีคนพิการเลย ไม่สามารถจินตนาการได้ว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อพิการ ฉะนั้นเมื่อเราพิการก็จะเริ่มเก็บเนื้อเก็บตัว รู้สึกแย่ รู้สึกสูญเสีย คิดว่าเป้าหมายชีวิตหรือความฝันอะไรก็ตามไม่มีทางแล้ว ชีวิตต้องนอนรอพึ่งพิงคนอื่น”
พอมองย้อนกลับไปเธอพบว่าคนพิการทุกคนต่างต้องเดินทางเข้าสู่กับดักของวัฒนธรรมความพิการที่ต้องพึ่งพาและรอรับความช่วยเหลือ เพราะนอกจากกายภาพจะไม่อำนวย ครอบครัวและคนรอบข้างก็กระทำกับเธอเปลี่ยนไปอย่างเป็นอัตโนมัติ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนพิการรู้สึกแย่กับตนเอง โรงพยาบาลไม่มีกระบวนการฟื้นฟูและเตรียมตัวเตรียมใจเมื่อต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน เธอจึงกลับไปอยู่เฉยๆ ที่บ้าน 4-5 ปี จนปี พ.ศ. 2555 โครงการ IL (Independent Living) จากประเทศญี่ปุ่น นำแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการเข้ามานำร่องในประเทศไทยและทำงานในจังหวัดที่เธออาศัยอยู่
“ตอนนั้นไม่คิดว่ามันจะมีอะไร เพราะมีคนมาเยี่ยมแบบนี้บ่อย เยี่ยมแล้วก็หายไป แต่ IL เขากลับมาและบอกว่าอยากชวนเรามาเข้าร่วมโครงการแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เพราะแม้เราจะไม่ได้พิการรุนแรง แต่ความพิการทำให้เราหมดเป้าหมาย ไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับชีวิต พอได้ร่วมอบรมก็ทำให้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของคนพิการ กลับมาวางแผนเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อนเลย เราเริ่มรู้แล้วว่าจะขึ้นรถลงรถอย่างไร จะใช้ชีวิตอย่างไรถ้าอยู่ข้างนอก หลังเรียนจบ ผ่านการฝึกทักษะการใช้ชีวิตอิสระของคนพิการพี่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้หรือเปล่า พอจากฝึกทักษะ 1 ปี IL ก็ชวน เราไปทำงานอาสาสมัคร เราไม่ได้ค่าตอบแทนอะไร แต่ก็ทำ ตอนนั้นแฮปปี้มากเพราะว่าได้ออกจากบ้านทุกวันเลย ได้เจอเพื่อน ได้พบคนพิการด้วยกัน”
วันหนึ่งคนทำงานที่สำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ DPI-AP (Disabled Peoples’ International Asia-Pacific Region) ก็ชวนนกไปทำงานในตำแหน่งบัญชี แม้จะไม่มีพื้นฐานงานนี้มาก่อน แต่เธอก็ลอง เพื่อก้าวไปไกลขึ้นกว่าบ้านและงานอาสาสมัครที่ทำ
ชีวิตที่ถูกรองรับไว้เมื่อร่วงหล่น
วันเสาร์ ไชยกุล หรือ โอ๊ะ ครั้งเป็นวัยรุ่นเขาเป็นเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตตามใจตัวเอง ด้วยความที่พ่อเป็นข้าราชการ ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมจึงไม่มีข้อจำกัดนัก ใช้ชีวิตเกเร เรียนๆ เล่นๆ ไปเรื่อยๆ จนอายุ 24 ก็ยังเรียนไม่จบและประสบอุบัติเหตุรถยนต์ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ต้องเข้ารับการรักษาครั้งใหญ่ สุดท้ายขาทั้งสองข้างก็พิการ แรงกระแทกของชีวิตทำให้โอ๊ะหยุดและกลับมาตรึกตรองเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง เขาพบว่าที่ผ่านมาเขาพาตัวเองมาถึงจุดนี้ จึงไม่โทษใครและยอมรับภาวะความพิการของตนได้
ด้วยจักรวาลที่จัดสรร เมื่อจบกระบวนการรักษาในโรงพยาบาล เขาถูกส่งต่อไปฟื้นฟูที่สวางคนิเวศ ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของสภากาชาดไทย ได้ฟื้นฟูดูแลร่างกายและเตรียมตัวเตรียมใจ ทั้งฝึกกายภาพบำบัด พบนักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ ฝึกทักษะบางอย่างระหว่างที่ว่าง เมื่อจบกระบวนรักษาและฟื้นฟู ครอบครัวของเขาซึ่งรู้จักกับโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ (พัทยา) โดยบังเอิญ ก็ชวนเขาไปเรียนในหลักสูตรคอมพิวเตอร์ e-commerce เนื่องจากครอบครัวเห็นความเป็นไปได้ที่โอ๊ะจะกลับมาทำงานได้อีกครั้ง และแน่นอน เขาตอบตกลง เมื่อไปที่โรงเรียน เขาพบเพื่อนคนพิการมากมาย และเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้รับคำแนะนำให้สมัครงานที่ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ APCD: Asia-Pacific Development Center on Disability เส้นทางของโอ๊ะเรียกได้ว่าโชคดี เพราะเขาไม่ตกอยู่ในภาวะที่ชีวิตสูญหายจากการพิการเลย
“ผมนิยามว่าชีวิตเหมือนเกิดใหม่ ถูกออกแบบไว้อย่างพอเหมาะพอดี ผมโชคดีมากที่พอพิการไม่มีช่วงที่ชีวิตตกหลุมหายไปเลย พอไปทำงานในองค์กรด้านคนพิการจึงพบว่าคนพิการส่วนมากไม่เป็นเหมือนผม ชีวิตเขาหล่นหายไป เขาไม่รู้ต้องทำยังไงกับชีวิตต่อ บางคนมาทำงานด้านสังคมก็เป็นอาสาสมัคร ไม่มีเงินเดือน คุณภาพชีวิตไม่ดี มันทำให้ผมอยากทำงานเพื่อแก้ไขเรื่องนี้”
เข้าสู่ชีวิตการงานที่เป็น ‘อาชีพ’
นกและโอ๊ะเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกันที่สำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ DPI-AP (Disabled Peoples’ International Asia-Pacific Region) ที่นี่สอนพวกเขาให้ทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ และเข้าใจว่าจุดมุ่งหมายของการจ้างงานคนพิการ ไม่ใช่เพื่อความสงสาร แต่เป็นการร่วมกันทำงานเพื่อสร้างผลิตผลบางอย่างให้กับโลก
นกเล่าให้ฟังว่าตอนแรกเธอเข้าใจว่าถูกจ้างงาน เพราะความสงสาร แต่เมื่อทดลองงานไป 3 เดือนก็ถูกทวงถามว่านอกจากงานตามคำสั่งแล้ว ทำไมไม่เห็นผลผลิตอื่นที่มาจากการเรียนรู้และใฝ่รู้เลย คำถามนี้ทำให้เธอคิดว่า หากเธอทำงานแบบเดิมต่อไป วันหนึ่งคงไม่มีงานทำ ต้องกลับไปเป็นคนรอและขอให้คนในครอบครัวดูแลอีก จึงรวมพลังของตนเอง หาความรู้เกี่ยวกับคนพิการให้ได้มากที่สุด ห้องสมุด อ่านหนังสือ พยายามทำความเข้าใจสิทธิคนพิการในประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแลกเปลี่ยนกับเจ้านายที่ขับรถไปรับส่งทุกเช้าเย็น
“จุดนี้ทำให้ความคิดเราเปลี่ยนไป เราอยากพัฒนาตัวเอง เมื่อก่อนเราเคยทำงานออฟฟิศ ทำงานตามหน้างานก็จบ แต่เจ้านายคนนี้เขาสอนให้เราทำงานเป็นระบบ ชวนให้เรามองภาพ วางแผน ตั้งคำถาม ตอนแรกเราก็ตอบตามที่อ่านมา แต่ก็พบว่าสิ่งนั้นไม่ใช่การตอบจากความเข้าใจ เราเคยชินกับการเรียนการสอนในห้องเรียนมานาน”
หลังจากนั้นเธอก็ได้ทำงานกับอีกหลายองค์กรซึ่งส่วนใหญ่ทำงานเชิงนโยบายในประเด็นคนพิการ จึงได้รู้จักองค์กรคนพิการหลายที่เห็นภาพใหญ่งานคนพิการ แต่ในอีกด้านกลับห่างเหิน เป็นอื่น และตัดสินกับคนพิการในพื้นที่ ทำให้รู้สึกแข็งกระด้างและหมดไฟในการทำงาน
เดินทางต่อด้วยการปรับฐานคิดเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ
ทั้งนกและโอ๊ะเปลี่ยนที่ทำงานหลายครั้งหลายคราว พบปะครั้งคราวในฐานะเพื่อนในวงการเดียวกัน แต่ได้มาร่วมงานกันอีกครั้งเมื่อนกชวนโอ๊ะมาเป็นอาสาสมัครโครงการที่เธอดำเนินงาน ทั้งคู่ได้ผ่านการอบรมกับอาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว ที่ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเยียวยาและฟื้นฟูอำนาจภายในของผู้ถูกกดขี่ ได้แก่ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้เสียเปรียบทางสังคมกลุ่มต่างๆ เพิ่มอำนาจให้ยืนหยัดขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง ปลดปล่อยตนเองออกจากการกดขี่ ลดอำนาจเหนือของผู้กดขี่ในวัฒนธรรมและโครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไปสู่การใช้อำนาจร่วม[2]
กระบวนการดังกล่าวทำให้ทั้งคู่เข้าใจสถานการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดในชีวิตของตนเอง เข้าใจสิ่งที่คนพิการกลุ่มด้อยโอกาสเผชิญ ประเด็นความเป็นธรรมทางเพศ เยียวยาภาวะหมดไฟจากการทำงาน พวกเขาชักชวนกันเริ่มต้นใหม่ ทำงานร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม (โดยการสนับสนุนของ สสส.) ในแผนงานคนพิการ โดยหน้าที่พัฒนาและสร้างคนทำงาน พัฒนาเครื่องมือและกลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คนพิการต้องมีงานทำ
การจ้างงานคนพิการรูปแบบใหม่ของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเป็นงานพัฒนาสังคมที่ดำเนินงานอิงกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่กำหนดให้สถานประกอบการมีหน้าที่ต้องจ้างคนพิการในอัตราส่วนพนักงาน 100 คนต่อคนพิการ 1 คน จึงมีภาคธุรกิจเอกชนทั้งระบบที่ต้องจ้างงานคนพิการทั้งสิ้นประมาณ 55,000 อัตรา แต่ปี 2557-2559 กลับเกิดการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการเพียงปีละประมาณ 35,000 อัตรา จำนวนที่หายไปกว่า 20,000 อัตรา บริษัทได้นำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้มีเงินเข้าไปสะสมในกองทุนปีละกว่า 2,000 ล้านบาท (ปัจจุบันกองทุนมีเงินอยู่แล้วกว่า 10,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปี) ประเทศไทยยังมีคนพิการในวัยทำงานทั่วประเทศกว่า 350,000 คน ที่ต้องการโอกาสทางอาชีพและมีงานทำ พวกเขาไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามาทำงานในเมืองซึ่งเป็นแหล่งงาน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางกายภาพ การเดินทางและทักษะความรู้ เพื่อช่วยให้คนพิการที่อยู่พื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงโอกาสมากขึ้น มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมจึงทำงานร่วมกับบริษัทเอกชน จ้างงานคนพิการเพื่อทำงานในชุมชนและส่งเสริมอาชีพคนพิการและผู้ดูแล ส่งผลให้มีเม็ดเงินไปถึงมือคนพิการโดยตรงผ่านการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทภูมิลำเนาของคนพิการ[3]
การจับคู่ให้เกิดการจ้างงานคนพิการรูปแบบใหม่ดำเนินงานบนฐานของ มาตรา 35 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้หน่วยงานที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานประจำและไม่ประสงค์ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถเลือกจ้างงานคนพิการและผู้ดูแลคนพิการได้ ซึ่งมูลนิธิฯ ก็พบว่ากลุ่มคนพิการและองค์กรคนพิการได้รวมตัวกันทำงานบริการสังคมบางอย่างอยู่แล้ว ได้แก่ งานประสานสิทธิ์บรรเทาทุกข์ งานหมอนวดตาบอด และ งานบริการผู้ดูแลคนพิการทดแทนชั่วคราว (respite care) ส่วนหนึ่งมาทำงานเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือหากได้ค่าตอบแทนก็ไม่แน่นอน การได้รับเงินเดือนจากบริษัทต่างๆ ตามมาตรา 35 จะสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ทำงานเดิมของตนได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
นกและโอ๊ะเข้าไปเสริมพลังกับกลุ่มเหล่านี้และพบว่า กลุ่มงานประสานสิทธิ์บรรเทาทุกข์ซึ่งเป็นงานที่อาสาสมัครในองค์กรคนพิการทำงานมานาน พวกเขาไม่สามารถเขียนรายงานเพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานที่ละเอียดรอบด้านและขาดความเข้าใจการทำงานเสริมพลัง จึงทำได้แค่เข้าไปให้ข้อมูลและได้ข้อมูลคืนมาเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ได้รับฟังและร่วมแก้ปัญหารายกรณี ทำให้ผลลัพธ์การดำเนินงานไม่ชัดเจน บริษัทซึ่งเป็นผู้จ้างเริ่มตั้งคำถาม ด้านกลุ่มหมอนวดตาบอด เป็นงานเดิมที่คนตาบอดทำอยู่แล้วเป็นงานอิสระ หากได้รับการจ้างงานในมาตรา 35 ทำให้มีรายได้ประจำที่มั่นคงขึ้น และงานบริการผู้ดูแลคนพิการทดแทนชั่วคราว (respite care) เป็นกลุ่มแม่เด็กพิการแต่กำเนิดที่รวมตัวกันเพื่อสลับกันดูแลลูกของตนที่ความต้องการพิเศษ กลุ่มคุณแม่ทำงานเช่นนี้อยู่แล้ว เมื่อได้รับการสนับสนุนการจ้างงานในมาตรา 35 ทำให้มีรายได้ประจำ แบ่งเบาความเครียดและภาระที่แบกอยู่บนบ่า
เรื่องเล่าจากงานประสานสิทธิ์: เด็กคนหนึ่งพิการด้วยโรคผิวหนัง ทำให้คุณแม่ต้องอยู่บ้านดูแลน้องตลอดเวลา เมื่อผู้ประสานสิทธิเข้าไปเยี่ยมก็เห็นปัญหาเฉพาะหน้าคือห้องน้ำออกแบบไม่เหมาะสม ทำให้คุณแม่ต้องแบกน้องเข้าห้องน้ำทุกวัน ส่งผลกับสุขภาพของคุณแม่ในระยะยาว ผู้ประสานสิทธิ์จึงแจ้งทาง อบต. ในตำบล ขอความช่วยเหลือจนปรับพื้นที่ห้องน้ำได้ ต่อมาจึงพบปัญหาทางการเงินของครอบครัวที่ภาระการหาเลี้ยงตกอยู่ที่คุณพ่อ จึงเสนอให้น้องและคุณแม่ใช้การจ้างงานคนพิการรูปแบบใหม่ ผ่านมาตรา 35 หางานจ้างเหมาที่เหมาะกับบริบทของตนเอง สุดท้ายพวกเขาตกลงใจเลี้ยงวัวและเกษตรอินทรีย์ที่บ้าน งานและรายได้จากการขายผักและวัวทำให้น้องรู้สึกว่าตนเองกลับมามีชีวิตชีวาและมีคุณค่า ไม่ได้เป็นภาระให้คุณแม่เช่นแต่ก่อน |
“พอเราเป็นคนพิการ วันหนึ่งเราจะถูกมาเยี่ยม ถ้าคนมาแจ้งสิทธิคนพิการเป็น อสม. ที่เป็นคนเดินเหินได้ปกติ เราก็เฉยๆ รอรับเงินคนพิการอย่างเดียว แต่ถ้าวันนั้นคนมาแจ้งสิทธิเป็นคนพิการ สิ่งที่เห็นมันเปลี่ยนความคิดเราเลย ภาพนี้ฝังเข้าไปในใจเราว่ามันเป็นไปได้ ถ้าวันหนึ่งเราอยากทำแบบนี้บ้าง งานประสานสิทธิเป็นงานเสริมพลังและดึงคนพิการที่อยู่กับบ้านออกมาใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง หรืองานนวดของคนตาบอดก็ทำให้สังคมรับรู้ว่าคนพิการทำอะไรเพื่อคนอื่นได้มากมาย เป็นงานบริการที่ใช้ทักษะและคนในสังคมก็ต้องการ” โอ๊ะกล่าว
‘ความสามารถ’ ที่จะฝันต่อ
ภาวะความพิการทำให้การตื่นขึ้นในทุกๆ วันของคนพิการพบกับใจที่ติดลบ ร่างกายของพวกเขาเสื่อมถอย จะขับจะถ่ายหรือเคลื่อนย้ายตนเองแต่ละครั้งดูเป็นภาระให้กับคนรอบข้าง การกลับมาพบว่าพวกเขาทำได้มากกว่านั้นและสามารถกลับไปทำงานได้อีกครั้งจึงคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดชีวิตอิสระ นอกจากพวกเขาจะได้มูลค่าทางการเงินที่ยังประโยชน์ในการจับจ่ายใช้สอย ยังพบคุณค่าภายในที่พาชีวิตกับไปสู่ความฝันและความหวังบางประการ
นกและโอ๊ะก็เช่นเดียวกัน หลังจากทำงานมาหลายขวบปี พวกเขาฝันให้คนพิการได้งานทำ ลดภาวะสูญหายไปจากชีวิต อีกทั้งยังฝันไกลจะสร้างคนพิการรุ่นใหม่ที่ทำงานพัฒนาสังคมด้านคนพิการ ขยับความฝันในการทำงานให้ไปไกลจากการทำงานรายโครงการ ไปสู่คนทำงานที่เข้าใจแนวคิดการทำงานพัฒนาสังคมและร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตคนพิการให้เข้าใกล้ชีวิตที่ดี
“เราฝันที่จะชวนคนพิการไปไกลกว่านั้น แม้เราจะไม่ได้เป็นคนเก่งที่สุด แต่คิดว่าถ้าเราอยากขยับงานคนพิการ เราทำงานกันแค่นี้ไม่ได้ เราต้องเพิ่มมิติของงานวิชาการ จับมือกันเพื่อเคลื่อนไหวและสร้างการเปลี่ยนแปลง” นกกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับบริษัทที่อยากสนับสนุนให้คนพิการที่ทำงานบริการสังคมมีงานทำ และคนที่พิการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ อ่านข้อมูลและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.sif.or.th, FB คนพิการต้องมีงานทำ – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม (facebook.com/konpikanthai) |
เชิงอรรถ
[1] ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
[2] จารุปภา วะสี และคณะ, ผลการประเมินผลภายใน แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ระยะ 4 ปี, 2559
[3] https://www.sif.or.th/aboutus/