จน-เครียด-น้ำท่วม: จิตวิทยาภัยพิบัติและฝันร้ายที่ตามหลอกหลอน

“คุณสมาธิครับ ผลการตรวจร่างกายพบว่า คุณเป็นโรคความดันโลหิตสูงระดับอันตราย หมอแนะนำให้คุณควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียดนะครับ”

“ผมอาการหนักขนาดนั้นเลยเหรอครับคุณหมอ?”

“ค่อนข้างหนักครับ หากปล่อยไว้นานกว่านี้คุณอาจเป็นโรคไต โรคหลอดเลือด อัมพาต และหัวใจวาย”

“เอ่อ…น่ากลัวเหมือนกันนะครับ”

“หมอขอสอบถามเพิ่มเติมนะ คุณสมาธิสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนน้อย หรือเป็นโรคเครียดหรือเปล่าครับ?”

“ผมไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ครับ แต่หลายปีมานี้ผมทำงานหนัก ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน เลยเครียดน่ะครับ”

“ดูแลตัวเองตามที่หมอแนะนำนะครับ วันนี้หมอจะจ่ายยาลดความดัน แล้วเดือนหน้ามาติดตามอาการนะ”

“ขอบคุณครับคุณหมอ”

บทสนทนาข้างต้นเกิดขึ้นที่คลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรีเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมผมถึงเล่าเรื่องผลการตรวจสุขภาพของตัวเอง และเรื่องที่เล่าเกี่ยวข้องกับชื่อบทความอย่างไร 

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวต้องย้อนกลับไปก่อนปี พ.ศ. 2553 บริเวณใกล้แม่น้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี ช่วงเวลานั้นบ้านของผมมีลักษณะเป็นบ้านสวน ด้านข้างของบ้านติดกับคลองเริงราง ส่วนปลายลำคลองหลังบ้านติดกับแม่น้ำป่าสัก ครอบครัวของผมมีอาชีพขายของชำ เฟอร์นิเจอร์ และทำประมงพื้นบ้าน แต่แล้ววันหนึ่ง หน่วยงานรัฐก็มีนโยบาย ‘เลือก’ พื้นที่ดังกล่าวเป็นอ่างรับน้ำ โดยทำการเพิ่มความสูงของถนน ขุดขยายลำคลอง และก่อสร้างฝายกับประตูระบายน้ำบริเวณรอยต่อของลำคลองกับแม่น้ำ โดยไม่สอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ 

ถนนที่สูงขึ้น ทำให้น้ำฝนไหลลงสู่บ้านเรือนริมถนน ส่วนฝายและประตูระบายน้ำ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถพายเรือจากลำคลองออกสู่แม่น้ำได้ รายได้จากการทำประมงจึงหดหายไป บางคนสูญเสียอาชีพที่เคยทำไปตลอดกาล

การก่อสร้างประตูระบายน้ำระหว่างรอยต่อของคลองเริงรางและแม่น้ำป่าสัก

หายนะครั้งใหญ่เกิดขึ้นตอนกลางดึกในช่วงน้ำท่วมของปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนฝายและประตูระบายน้ำที่ปิดอยู่ไม่สามารถทานทนไหว การพังทลายของป้อมปราการชลศาสตร์ส่งผลให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลจากแม่น้ำไหลทะลักเข้าสู่ลำคลองอย่างกะทันหัน บ้านเรือนริมคลองหลายหลังจึงได้รับความเสียหาย หนึ่งในนั้นคือบ้านของผม 

หายนะยังไม่จบนะครับ เพราะลำคลองที่ถูกขยายขนาดก็อยู่ในสภาพร่อแร่ เนื่องจากตลิ่งเดิมมีความชันน้อย แต่ตลิ่งที่ถูกขุดใหม่มีความชันมาก เมื่อตลิ่งถูกทำให้เปราะบางและถูกน้ำท่วมจนดินอิ่มตัวด้วยน้ำ ตลิ่งจึงเสียสมดุลทางปฐพีกลศาสตร์ (soil mechanics) แล้วพังทลายลงมา เรียกว่า การถดถอยและพิบัติของตลิ่งแม่น้ำ (riverbank retreat and failure) หลังจากนั้น รอยแตกร้าวจากตลิ่งก็ลุกลามเข้าสู่ตัวบ้านอย่างช้าๆ ผลคือต้นไม้ริมคลองล้มและบ้านพัง เสียค่าซ่อมแซมบ้านไปหลายแสนบาท!

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านหลายคนมีอาการเครียด วิตกกังวล กระวนกระวาย หวาดระแวง บางคนเป็นโรคซึมเศร้า บางคนเป็นโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder – ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์ร้ายแรง) เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซากและตลิ่งถล่มบ่อยครั้ง การถูกตามหลอกหลอนด้วย ‘ฝันร้าย’ เป็นเวลานานติดต่อกัน ทำให้สุขภาพจิตทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘จิตวิทยา’ กับ ‘ภัยพิบัติ’ เรียกว่า จิตวิทยาภัยพิบัติ (disaster psychology) คำว่า จิตวิทยา (psychology) หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม การรับรู้ จิตรู้สำนึก และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนคำว่า ภัยพิบัติ (disaster) หมายถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หนึ่ง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจำนวนของผู้ประสบภัยทางจิตใจและระดับความทรุดโทรมของสุขภาพจิตจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง (intensity) และความถี่ (frequency) ของภัยพิบัติ

นอกจากผลกระทบทางจิตใจ ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภัยพิบัติกับฐานะทางการเงินก็พบว่า จำนวนของคนจนจะแปรผันตรงกับความรุนแรงและความถี่ของภัยพิบัติด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆ ก็คือ หากเกิดภัยพิบัติรุนแรงในพื้นที่เดิมบ่อยๆ ผู้ประสบภัยก็จะยิ่งจนลง มีหนี้สินติดตัวเพิ่มขึ้น และอาจสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ได้ยาก ไม่เพียงเท่านั้น ความยากจนยังทำให้เกิดการป้อนกลับแบบลบ (negative feedback) ส่งผลให้ผู้ประสบภัยมีสุขภาพจิตย่ำแย่ลง กลายเป็นวงจรแห่งความเลวร้ายที่เหยียบย่ำซ้ำเติมคนเหล่านั้น

การบรรเทาผลกระทบตามหลักการจัดการภัยพิบัติ (disaster management) จะพิจารณาตอนก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัยพิบัติ และหลังเกิดภัยพิบัติ โดยภัยพิบัติแต่ละประเภทจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน เช่น แผ่นดินไหว (earthquake) กับสึนามิ (tsunami) เป็นภัยพิบัติที่ไม่มีฤดูกาล แต่จะเกิดบริเวณที่มีรอยเลื่อนและรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ภูเขาไฟปะทุ (volcanic eruption) จะเกิดบริเวณที่มีปล่องภูเขาไฟหรือรอยแตกของแผ่นดินที่มีลาวาไหวออกมา ดินถล่ม (landslide) จะเกิดบริเวณพื้นที่สูงชันที่ป่าไม้ถูกทำลายและมีฝนตกหนัก หลุมยุบ (sinkhole) จะเกิดบริเวณที่มีโพรงใต้ดินหรือโครงสร้างใต้ดินที่ไม่แข็งแรง แผ่นดินทรุด (land subsidence) จะเกิดบริเวณที่มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากจนเกินพิกัด การกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) จะเกิดบริเวณที่มีการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมที่รบกวนสมดุลตะกอนบนหาด มีการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำ มีพายุที่รุนแรง และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่วนน้ำท่วม (flood) ถูกจัดเป็นภัยพิบัติที่มีฤดูกาลและสามารถคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ โดยมักจะเกิดในฤดูฝน ระหว่างมีพายุหมุนเขตร้อน และน้ำทะเลหนุน แต่บางครั้งก็เกิดน้ำท่วมฉับพลัน (flashflood) ตอนที่เขื่อนแตก นอกจากนี้ การมีระบบจัดการขยะที่ไม่ดี การสร้างที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ การมีระบบระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ การมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ การจัดการน้ำแบบไม่เป็นระบบ และการรุกล้ำที่ราบน้ำท่วม (floodplain) จะยิ่งทำให้น้ำท่วมมีความรุนแรงมากกว่าที่ควรจะเป็น 

ทว่าปัญหาที่ผมพบบ่อยๆ ก็คือ การแจ้งเตือนภัยพิบัติของภาครัฐมักจะล่าช้า เข้าใจยาก และลงไปไม่ถึงประชาชน ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องมีองค์ความรู้ทางวิชาการที่ทันสมัย แผนที่เสี่ยงภัยพิบัติที่แม่นยำ แผนการรับมือภัยพิบัติที่เข้าใจง่าย ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ สถานที่หลบภัยพิบัติที่ปลอดภัย กฎหมายควบคุมการก่อสร้างที่เหมาะสม การใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง และการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน

การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่กระทำระหว่างเกิดภัยพิบัติและหลังเกิดภัยพิบัติก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการช่วยเหลือหรือการเยียวยาจะต้องทำทั้งทางกายภาพและทางจิตใจควบคู่กันไป ยกตัวอย่างชุมชนของผมที่ถูก ‘เลือก’ ให้เป็นพื้นที่รับน้ำ เพราะภาครัฐไม่ต้องการให้เขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วม สิ่งที่ภาครัฐ ‘ต้องทำ’ คือการรับฟังเสียงของประชาชน หาวิธีลดความรุนแรงของน้ำท่วม มีมาตรการชดเชยที่เท่าเทียมให้กับผู้ที่ถูกบังคับให้เสียสละ มีแพทย์คอยดูแลสุขภาพ และมีจิตแพทย์เข้ามาปฐมพยาบาลทางจิตใจ (mental health first aid) 

แต่อย่างที่เราทราบกันว่า ภาครัฐมักจะจัดการปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแจกข้าวกล่องกับถุงยังชีพ ไม่ค่อยจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังเท่าไรนัก ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงต้องรวมตัวกันออกมา ‘ส่งเสียง’ ว่าพวกตนต้องได้รับความเป็นธรรม

จากประสบการณ์ตรงตลอด 12 ปี และข้อมูลทางวิชาการที่ผมนำมาเล่า ผู้อ่านคงพอเห็นภาพแล้วว่านโยบายการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าของภาครัฐ สามารถ ‘ทำร้ายจิตใจ’ และ ‘ทำลายชีวิต’ ของประชาชนได้มากมายขนาดไหน 

ร่ายมาซะยืดยาว ไม่รู้ว่าผู้อ่านพลอยเครียดตามผมไปด้วยหรือเปล่า เอาเป็นว่าผมจะขอพักเรื่องเครียดๆ เอาไว้แค่นี้ก่อน เพราะปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตและการบ้านการเมืองที่พวกเราเผชิญอยู่ทุกวี่วันก็ปวดเศียรเวียนเกล้ามากพอแล้ว 

จะว่าไป…ตอนที่ผมใกล้จะเขียนบทความนี้เสร็จ น้องน้ำก็มาเคาะประตูขอเข้าบ้านพอดี ใครพอจะมีวิทยุทรานซิสเตอร์ให้ผมยืมสักเครื่องไหมครับ?

อ้างอิง

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า