เรื่อง: คงกฤช ไตรยวงค์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คำสั่งของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรื่องการตัดงบประมาณสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านมนุษยศาสตร์ที่ไม่ทำเงินและเป็นตัวก่อปัญหา คือจบมาไม่มีงานทำนั้น เหตุผลสำคัญคือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เสียงสะท้อนที่ตามมาก็คือนักเขียนบางคนนำเสนอความจำเป็นของวิชาสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะในสังคมตะวันตกที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างซิลิคอนแวลลีย์จ้างคนที่จบ ‘สายศิลป์’ เข้าทำงาน เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการก็จัดเสวนาวิพากษ์นโยบายของท่านผู้นำ รวมทั้งข่าวการยุบรวมภาควิชาต่างๆ ในคณะอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้เป็นสาขาวิชา ก็ปรากฏข้อถกเถียงในสื่อต่างๆ
อันที่จริงแล้วการพยายามยุบ ‘ภาควิชา’ เป็น ‘สาขาวิชา’ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ก็เคยทำมาแล้ว แต่ก็กลับมาแบ่งเป็นภาควิชาอีก อาจารย์มหาวิทยาลัยบางแห่งก็สะท้อนสภาวะถอยหลังเข้าคลองของการจัดการในระบบสาขาวิชา ประเด็นเรื่องการบริหารจัดการเป็นสิ่งที่ควรนำมาอภิปรายถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน ไม่ใช่เพียงแต่ขานรับนโยบายของรัฐหรือผู้บริหารที่ไม่เข้าใจมนุษยศาสตร์ดีพอ
ข้อเสียประการสำคัญในการยุบภาควิชาเป็นสาขาวิชาก็คือ กระบวนการยุบสาขาวิชานั้นง่ายกว่าภาควิชา และในอนาคต หากสาขาใดไม่ทำเงินก็อาจจะถูกยุบได้โดยง่าย จนลีบเรียวลงไปเหลือแต่การสอนวิชาศึกษาทั่วไปให้มหาวิทยาลัยเท่านั้น จากศาสตร์ที่เป็นเพียงไม้ประดับ สุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นเพียงกาฝากที่รอวันถูกรื้อทิ้ง
มีคนพูดกันมากแล้วว่าข้อกล่าวหาที่ว่ามนุษยศาสตร์เป็นสาขาที่จบไปแล้วตกงานนั้นไม่เป็นความจริง แม้กระทั่งคนที่จบปรัชญา ซึ่งเป็นสาขาที่ดูมูลค่าน้อยที่สุด ก็มีอัตราการได้งานสูงมาก แต่ความสำคัญของมนุษยศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องการจบไปแล้วมีงานทำ ดังที่นักวิจารณ์สังคมวัฒนธรรมอย่าง ลีออน วีเซลเทียร์ (Leon Wieseltier) เขียนไว้ใน The Atlantic ว่า
เป้าหมายของมนุษยศาสตร์ไม่ใช่แค่มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่การได้งาน เป้าหมายของมนุษยศาสตร์คือการอบรมบ่มเพาะปัจเจกบุคคล บ่มเพาะพลเมือง
คำกล่าวข้างต้นแสดงถึงนัยสำคัญของการศึกษา และตอกย้ำถึงความแตกต่างระหว่างมนุษยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี หนังสือ Truth and Method หรือ วิธีการและความจริง ของ ฮันส์ เก-ออร์ก กาดาเมอร์ (Hans-George Gadamer) นักปรัชญาเยอรมัน ยิ่งทำให้เห็นถึงปัญหาซึ่งเกิดจากการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นความจริงที่แม่นตรง ชั่ง วัดได้ มาใช้กับศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์และผลงานของมนุษย์อย่างมนุษยศาสตร์นั้นก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่หมกมุ่นเรื่องวิธีการที่จะศึกษาโลกธรรมชาติ มองธรรมชาติเป็นกลไก โดยศึกษาประสบการณ์ที่เราสังเกตได้ซ้ำๆ แล้วนำไปสู่ข้อสรุปรวมทั่วไป กลายเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ควบคุมจัดการโลกธรรมชาติ สุดท้ายมนุษย์ก็จะกลายเป็นเพียง ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ทั้งที่ประสบการณ์ของมนุษย์มีความหมายกว้างกว่านั้น นั่นคือประสบการณ์ในการสัมพันธ์กับโลกและคนอื่น อย่างเช่น ศิลปะ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม เป็นต้น
ข้อวิจารณ์ของวีเซลเทียร์ดูจะตอบรับความคิดของกาดาเมอร์พอดี กาดาเมอร์หันกลับไปหาแนวคิดเรื่อง Bildung ของเยอรมัน ซึ่งกินความหมายทั้งการศึกษา การก่อรูปตัวตน และวัฒนธรรม นักปรัชญาเยอรมันอย่าง ฟรีดริช เฮเกล (Friedrich Hegel) เห็นว่า คนที่ได้รับการบ่มเพาะสามารถเรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่น เพื่อย้อนกลับมามองตัวเอง ตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ภาษาหรือวัฒนธรรมโบราณ ทำให้เราถอยห่างจากจุดยืนของเราเอง และตระหนักถึงข้อจำกัด หรือความไม่รู้ของเรา คนที่ได้รับการบ่มเพาะจึงตระหนักรู้ตนเองผ่านวัฒนธรรมอื่น และมีความสามารถในการมองจากจุดยืนของคนอื่น รวมทั้งมองตนเองจากจุดยืนของคนอื่น
ในแง่นี้ ‘ความเป็นอื่น’ (the otherness) จึงเป็นสิ่งสำคัญในมนุษยศาสตร์ การที่เราจะเข้าใจว่าเราเป็นใคร อะไรคือความเป็นไทยหรือสังคมวัฒนธรรมไทย เราสามารถเข้าใจผ่านการโยงความสัมพันธ์กับคนอื่นหรือวัฒนธรรมอื่น
ตัวอย่างของชาติที่เรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่นที่โดดเด่นได้แก่ญี่ปุ่น แต่เดิมญี่ปุ่นมองตัวเองว่าไม่ใช่จีน แต่ขณะเดียวกันก็เรียนรู้จากจีนโดยเปิดรับ ปรับ แปลงไปใช้ อย่างเช่นภาพจิตรกรรมบ๊วยในวัฒนธรรมจีนนั้นหมายถึงความอดทนต่อฤดูกาล เหมือนชีวิตที่ต้องอดทนต่ออุปสรรค เมื่อญี่ปุ่นรับเข้ามาก็กลายเป็นแบบญี่ปุ่น คือวัฒนธรรมการชื่นชมซากุระบานที่เน้นนัยของความงดงามอ่อนหวาน
ในช่วงการปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่ ญี่ปุ่นหันไปหาแบบอย่างจากอีกฟากโลก นั่นคือตะวันตก ขณะที่ความเป็นญี่ปุ่นคือ ไม่ใช่ตะวันตก แต่เปิดรับวิทยาการต่างๆ เข้ามาปรับแปลง
เรื่องที่น่าแปลกใจคือวิชาสุนทรียศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาน้องใหม่สุดของปรัชญา เริ่มต้นช่วงศตวรรษที่ 18 จากงานของ อเล็กซานเดอร์ บอมเกอร์เทน (Alexander Baumgarten) และงานที่ชื่อ Critique of Judgment ของ อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) แต่เชื่อหรือไม่ว่าตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาสุนทรียศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตั้งขึ้นในปี 1893 ที่ Imperial University of Tokyo ก่อนมหาวิทยาลัย Sorbonne ของฝรั่งเศสถึง 17 ปี
นี่คือการเปิดรับ ปรับ แปลง จนกระทั่งปัจจุบันมีสายที่เรียกว่า ‘สุนทรียศาสตร์แอนิเมะ’ หรือ Anime Aesthetics เรื่อง ‘เล่นๆ’ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อความเพลิดเพลินจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมหาศาล
แอนิเมะที่สร้างชื่อให้ญี่ปุ่นไปทั่วโลกคือ สตูดิโอจิบลิ น้อยคนที่จะไม่เคยได้ยินชื่อ ฮายาโอะ มิยาซากิ กับ Totoro หรือ Spirited Away แอนิเมะของสตูดิโอนี้แสดงถึงการผสานระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ปรัชญา แนวคิดการอยู่ร่วมกัน การต่อต้านสงคราม กระทั่งการต่อต้านฟาสซิสต์
ถ้าจะยกตัวอย่างสักเรื่อง Whisper of the Heart (1995) ซึ่งกำกับโดย โยชิฟุมิ คอนโดะ มายาซากิเขียนบทและอำนวยการสร้าง ตัวละครเด็กสาวมัธยมปลายอย่าง ชิสึคุ ดูจะแสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้ที่จะมุ่งมองไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากเนื้อร้องที่เธอแปลงจากเพลง ‘Country Road’ ของ จอห์น เดนเวอร์ โดยแสดงนัยว่า หนทางไปสู่บ้านเกิดอาจจะมี แต่เธอก็เลือกที่จะเดินไปข้างหน้ามากกว่าที่จะย้อนกลับไปหาอดีต นั่นคือการเปิดพรมแดนเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่จากวัฒนธรรมอื่น
ที่จริงแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีรากฐานจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นเอง นั่นคือ การละเล่น หรือเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Asobi วิถีแห่งศิลปะอยู่ในชีวิตของคนญี่ปุ่น บุคลิกภาพของคนญี่ปุ่นมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือภาพชีวิตที่เป็นทางการ คือการทำมาหาเลี้ยงชีพ อีกด้านหนึ่งคือทำในสิ่งที่ใจรักที่จะช่วยขัดเกลาและบ่มเพาะตนเอง โดยไม่ได้มุ่งเน้นประโยชน์ เรียกว่า ada-goto ถึงกับมีนักคิดญี่ปุ่นกล่าวว่าชีวิตก่อนวัย 45 คือการสร้างความมั่งคั่ง หลังจากนั้นคือการใช้ชีวิตอย่างสุนทรียะ ไม่ว่าจะเขียนบทกวี วาดภาพ หรือจัดดอกไม้
ในยุค Post-truth เช่นในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า ‘ความจริง’ จะไม่ใช่สิ่งสำคัญกว่าวาทศิลป์โน้มน้าวใจคนให้หลงคล้อยตาม ไมเคิล ดี. ฮิกกินส์ (Michael D. Higgins) ประธานาธิบดีคนที่ 9 ของไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นทั้งวิชาการด้านสังคมวิทยาและกวีเห็นว่า ในยุค Post-truth เยาวชนยิ่งต้องเรียนปรัชญา ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของมนุษยศาสตร์ เพื่อพัฒนาทักษะการวิพากษ์ความคิด ความเห็น ความเชื่อที่แตกต่างจากเรา โดยที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง
น่าแปลกที่ท่านผู้นำของประเทศ ‘สารขัณฑ์’ กลับลดความสำคัญของศาสตร์ที่ไม่ทำเงิน ทั้งที่หากผู้บริหารประเทศต้องการลดงบประมาณของส่วนที่ไม่ทำเงิน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจริงๆ แล้วล่ะก็ งบด้านการทหารน่าจะเป็นส่วนที่สิ้นเปลืองและไม่งอกเงยที่สุด
แน่ล่ะ คงไม่ใช่บังเอิญที่ศาสตร์ที่เน้นความคิดเชิงวิพากษ์จะทำให้เผด็จการขุ่นเคืองรำคาญใจ และการน้อมรับนโยบายที่สั่งการลงมาโดยดุษณี ปราศจากการตั้งคำถามถือเป็นการสยบยอมต่ออำนาจ ความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ต้องอาศัยทักษะการคิด การตั้งคำถาม การเรียนรู้จากสังคมวัฒนธรรมอื่น ที่มิใช่เพียงการออกคำสั่งให้แต่งกายชุดไทยและท่องตำราเรียนสมัยโบราณอย่าง จินดามณี โหนกระแสละครย้อนยุค ซึ่งแสดงถึงความอับจนของมนุษยศาสตร์ไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
สุดท้ายแล้ว เราอาจจะต้องรับฟังผู้นำของประเทศอื่นที่ได้รับการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์มาเป็นอย่างดี นั่นคือข้อคิดที่ว่า มนุษยศาสตร์ช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นที่แตกต่างจากเรา นั่นคือการถกเถียงอภิปราย โดยไม่นำไปสู่ความรุนแรง