(1 กันยายน 2564) 8 ปี อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในประเด็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่วันที่ 2 พรรคการเมืองฝ่ายค้านยังทยอยเปิดข้อมูลเชิงลึกและพุ่งเป้าการอภิปรายไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในประเด็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด
9.00 น. จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็น ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจที่ซบเซามาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีภายใต้การบริหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เมื่อสถานการณ์โควิดระบาดเข้ามาซ้ำเติมภาวะปากท้องของประชาชนอย่างกว้างขวางเป็นประวัติการณ์ คนจนในไทยเพิ่มขึ้น 1.5 ล้าน รวมเป็น 7 ล้านคน และนอกจากมีผู้เสียชีวิตรายวันจากโรคระบาดแล้ว ยังมีผู้สูญเสียชีวิตจากพิษเศรษฐกิจ
จุลพันธ์ ใช้หลักฐานจากงานวิจัยและการประเมินแนวโน้มทางเศรษฐกิจจากหลายสำนักเพื่อชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยตกต่ำล้าหลังรั้งท้ายเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเป็นปัจจัยมาจาก การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันนักลงทุนไทยเองก็เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
เช่นเดียวกัน นโยบายการสนับสนุนทางการเงินการคลังของรัฐบาลก็ไม่มีประสิทธิผล ส่งผลให้ ความมั่นใจจากนักลงทุนต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงคนไทยมายาวนาน ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ซึ่งแม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวในหลายประเทศ แต่การส่งออกของไทยยังถือว่าฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศทั่วโลก โดยพบว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ที่มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน จนสถาบันวิจัยหลายแห่งทั่วโลกประเมินว่าไทยมีศักยภาพฟื้นตัวรั้งไทย เมื่อเทียบกับเงื่อนไขที่เผชิญอยู่
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่กู้หนี้สินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กู้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ล้านล้านบาท และสิ้นปีนี้จะไปแตะที่ 9 ล้านล้านบาท พลเอกประยุทธ์รู้จักแต่ก่อหนี้ แต่ไม่มีปัญญาหาเงินมาชำระหนี้”
จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย
เริ่มเล่าจากความล้มเหลวจากการทำให้เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวพัง ซึ่งสัมพันธ์กับการบริหารจัดการโควิด-19 ล้มเหลว ตั้งแต่มาตรการเยียวยา ฟื้นฟู หรือวัคซีน ไม่มีมาตรการท่องเที่ยวแบบ new normal จนนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นของต่างประเทศ
“[การบริหารประเทศของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา] เหมือนแมงกะพรุน ที่ตัวใสๆ ดูน่าไว้ใจ แต่กลับไม่มีสมอง และไม่มีหัวใจ”
กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย
ยามวิกฤติภาคอุตสาหกรรมจะเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลมองไม่เห็นตรงนี้ ทำให้นักลงทุนย้ายถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤติของรัฐบาล ผู้ประกอบการธุรกิจต้องแบกรับภาระหนี้สินโดยไม่มีความช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่มีการชะลอหรือพักหนี้ หรือแม้จะมีความช่วยเหลือแต่ก็เป็นความช่วยเหลือที่ยุ่งยากซับซ้อน
ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย
กล่าวถึงความไร้วิสัยทัศน์ในการมองหาทางออกจากวิกฤติของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงความขาดสติปัญญา ขาดความเป็นผู้นำ และขาดวิสัยทัศน์ ภาครัฐไม่ได้ทำอะไรเลย มีแต่เอกชนที่ต้องปรับตัวกันเองอย่างหนัก
“อย่าเอาโซเชียลมาสู้กับผม เอาข้อเท็จจริงมาสู้กับผม”
11.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการท่องเที่ยว และการต่างประเทศ
“ในเวทีต่างประเทศ ผมก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าใคร”
“ผมก็เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผมก็เคยอยู่กับทุกรัฐบาล โดยสนับสนุนทุกรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย พอผมเข้ามาเองก็รู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นจะมาอ้างตรงโน้นตรงนี้กัน วันนี้มัน พ.ศ. ไหน ย้อนกลับไปกลับมาอยู่นั่นแหละ ผมถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ที่ทำให้ผมมายืนอยู่ตรงนี้”
ประยุทธ์ยังพูดถึงกรณีวัคซีนว่า “ทุกอย่างเราเอาเข้ามาหมด ทุกอย่างต้องดำเนินเป็นขั้นเป็นตอนไม่ใช่ผลีผลาม เฮโลกันไปตามนั้นตามนี้ มีให้ฉีดก็ด้อยค่า ให้ฉีดใหม่ก็หวาดระแวง ซึ่งฟังมาทั้งหมดมาทุกอัน โซเชียลก็มีอะไรก็มี เพราะฉะนั้นอย่าเอาโซเชียลมาสู้กับผม เอาข้อเท็จจริงมาสู้กับผม”
เบี้ยเลี้ยง IO (ภาคต่อ)
12.15 น. พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า เมื่อวานที่ ส.ส. ได้มีการอภิปรายถึงปฏิบัติการข่าวสารนั้น “การดำเนินการของนายกฯ หรือกระทรวงกลาโหม ไม่เคยมีนโยบายสั่งการให้หน่วยงานใดในกองทัพ หรือ กอ.รมน. ไปปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะบิดเบือนหรือให้ร้ายบุคคลใดทั้งสิ้น” แต่ด้วยความที่ทุกวันนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือด หรือ fake news ที่ส่งกระทบต่อความสงบเรียบร้อย หน่วยความมั่นคงจำเป็นต้องมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง และสร้างความเข้าใจให้เป็นการทั่วไป
ทั้งนี้ หลังตรวจสอบเอกสารที่ถูกเปิดเผยเมื่อวานแล้ว พบว่ามีเอกสารที่ไม่เป็นเอกสารจริงและมีจุดพิรุธ เช่น ในแต่ละเอกสารมีลายเซ็นของ มทภ.2 ไม่เหมือนกัน และมีลายเซ็นไม่ตรงกับลายเซ็นจริง การระบุตำแหน่งยศก็ไม่ถูกต้อง
ต่อมา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล แย้งว่า ประเด็นที่ต้องตอบคือ มีการอมเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ IO จริงหรือไม่ ด้านพลเอกชัยชาญตอบเพียงว่า “เรื่องนี้ได้มีการตรวจสอบแล้ว ถ้ามีการกระทำผิดจริง ก็ต้องมีการลงโทษ”
บริหารล้มเหลวทั้งโรคโควิด-19 และลัมปี สกิน
ภาควัต ศรีสุรพล ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าไร้สติปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรม และไร้ความสามารถที่จะเป็นผู้นำประเทศ ทำให้เกิดความล้มเหลวผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการบริหารประเทศ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า เป็นบุคคลไร้ภูมิปัญญาและความสามารถในการบริหารงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกิดความล้มเหลวทั้งระบบ และเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก
สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะห้วหน้ารัฐบาล และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากละเลยปัญหาและชีวิตของเกษตรกร เช่น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในวัว ซึ่งเป็นโรคใหม่ในไทย เกษตรกรก็ต้องหาวิธีการจัดการกันเอาเอง จนถึงปัจจุบันมีวัวของเกษตรกรตายไปแล้วกว่าครึ่งแสน และติดเชื้ออีกนับล้าน เมื่อรวมความเสียหายจากการแพร่ระบาดที่เกษตรกรต้องแบกรับเพียงลำพังแล้วนับเป็นเงินกว่าหมื่นล้าน
ประยุทธ์ตอบเรื่องเงินกู้
ต่อมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อภิปรายตอบโต้เรื่องงบประมาณเงินกู้ “เรื่องงบประมาณเงินกู้ พูดไปหลายครั้งแล้ว ผมก็ไม่เข้าใจว่าท่านไม่เข้าใจได้อย่างไร ว่าเราใช้ประโยชน์อะไรไปแล้วบ้าง … ท่านบอกว่าท่านอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็อวยพรให้ท่านสมหวังนะครับ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็แล้วกัน ให้ท่านเป็นรัฐบาลแล้วก็หาเงินมาอย่างที่ท่านว่า จะใช้เงินยังไงก็ได้ แต่ท่านก็ระวังนะครับ อาจจะไม่ได้อยู่ในประเทศเหมือนบางคนที่ผ่านมา”
ช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายของฝ่ายค้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล 2 คน ลุกขึ้นอภิปราย โดยเน้นการโจมตีไปยังความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการบริหารจัดการโควิด-19
ก้าวไกลแท็คทีม วาโย+วิโรจน์
14.40 น. วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นการสั่งซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อสถานการณ์ ณ เวลาที่รู้และควรรู้ โดยแบ่งการอภิปรายออกเป็น 2 ประเด็นสำคัญคือ ประเด็นที่หนึ่ง รัฐบาลนำวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ มาฉีดให้ประชาชน ทั้งที่วัคซีนซิโนแวค ไม่มีการตีพิมพ์ในวารสารระดับสากลที่ได้รับความน่าเชื่อ ขณะเดียวกันงานวิจัยในไทยก็ไม่รับรองผลที่น่าพอใจ เช่นเดียวกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ อย่างนายแพทย์ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ควรนำเข้าซิโนแวคเข้ามาเพิ่มเติม
ดังปรากฏในรายงานวารสารวิชาการนานาชาติ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ระบุว่า ได้ทดสอบวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลตา พบว่าแอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพ 60-71 เปอร์เซ็นต์ ไฟเซอร์ 88 เปอร์เซ็นต์ ส่วนซิโนแวค ระบุว่าไม่ทราบ หรือไม่ปรากฏข้อมูลว่ารับมือสายพันธุ์เดลตาได้
ประเด็นที่สอง จากการลำดับไทม์ไลน์ของการบริหารจัดการโควิดของวาโยพบว่า รัฐบาลทราบปัญหาการรับมือกับสายพันธุ์เดลตา แต่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีดึงดันที่จะใช้วัคซีนซิโนแวค ซึ่งไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรับมือสายพันธุ์ดังกล่าว
นอกจากนั้นแล้ว การซื้อวัคซีนซิโนแวคในภายหลัง ยังเกิดขึ้นในระยะเวลาที่รัฐบาลทราบแล้วว่าสายพันธุ์เดลตากำลังระบาดภายในประเทศตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งเข้าข่ายรู้ทั้งรู้ยังซื้อ
โดยจากการติดตามพบว่า ศบค. อนุมัติซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ได้มีผลการศึกษาจากศิริราช ว่าการฉีดซีนวัคซีนซิโนแวคตามด้วยแอสตราเซเนกา มีภูมิคุ้มกันมากกว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม หรือแอสตราเซเนกา 2 เข็ม 3 เท่า ใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์
กรณีนี้อาจจะตั้งข้อสงสัยว่า มติของ ศบค. ที่มีการสั่งซื้อเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นั้น ศบค. ใช้ข้อมูลอะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยภาพรวมการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด 91.9 เปอร์เซ็นต์ จากการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในไทย แต่กลับสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564
ฉะนั้นการที่นายอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่าตนไม่มีหน้าที่และอำนาจ เนื่องจากถูกนายกรัฐมนตรี ออกประกาศโอนอำนาจการบริหารจัดการไปนั้น จนนำมาสู่การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม ถือเป็นเหตุผลที่รับฟังไม่ได้ เช่นเดียวกันกับการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อโรคที่กำลังแพร่ระบาด ย่อมมีความรับผิด โดยกระทำผิด พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ในการอภิปรายของพรรคก้าวไกลถัดมา คือการอภิปรายของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โดยเน้นไปที่กระบวนการจัดหาวัคซีนที่พบในหลายกรณี ซึ่งวิโรจน์กล่าวหาว่าเป็น “แผนวัคซีนลวงโลก”
จนเป็นเหตุที่นำมาสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมไปถึงความพยายามนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้แก่ผู้กำหนดนโยบายที่ผิดพลาด
ทั้งนี้การอภิปรายเป็นการไล่เลียงข้อพิรุธหลายประการ นับตั้งแต่รัฐบาลทำสัญญาจองวัคซีนล่วงหน้าระหว่างทางการไทยกับบริษัทแอสตราเซเนกาในปี 2563 รวมถึงความผิดพลาดอีกหลายครั้งในการให้คำสัญญาแก่ประชาชนในการจัดหาวัคซีน ส่งผลให้ “ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิตที่แน่นอนได้”
ต่อมาผู้อำนวยการวัคซีนแห่งชาติ ออกมาแถลงขอโทษประชาชนว่า ไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ทันภายในปี 2564
โดยวิโรจน์ระบุว่า จุดเริ่มต้นของปัญหานี้มาจากการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจผิดพลาดที่ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ COVAX ร่วมกับนานาชาติในการจัดหาวัคซีน รวมไปถึงประเด็นสำคัญคือการ ‘แทงม้าตัวเดียว’ ด้วยการเลือกทำสัญญาระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตราเซเนกา บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยมี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19
อนึ่งในตอนท้ายของการสรุปอภิปรายของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้เปิดเผยว่า ลูกสาววัย 7 ขวบของเขาเป็นหนึ่งในเยาวชนอีกหลายสิบชีวิตที่ถูกหน่วยงาน กอ.รมน. เฝ้าติดตาม
“การดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนตายประมาณ 10 ศพ วันหนึ่งตาย 200 กว่าศพ เทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ว่าประเทศนี้เครื่องบินตกทุกวัน หากสภาผู้แทนราษฎร ปล่อยให้สองคนนี้ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนไม่สิ้น ในฐานะผู้แทนราษฎรเราจะมองหน้าประชาชนที่สูญเสียพ่อแม่และคนที่เขารักได้อย่างไร
“การแทงม้าตัวเดียว ไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน นำเอาเงินแผ่นดิน 600 ล้านบาทไปอุดหนุนบริษัทเอกชน โดยที่ประชาชนไม่ได้รับความมั่นคงด้านวัคซีนอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อ
“จากพฤติกรรมที่ผ่านมาของพลเอกประยุทธ์ และนายอนุทิน โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ ผมอยากจะบอกผ่านไปยังท่านประธานว่า ลูกคุณคุณก็รัก ผมมีลูกสาวคนหนึ่งอายุ 7 ขวบ เรียนอยู่ ป.1 เมื่อวานนี้ผมเห็นชื่อของเขาอยู่ในพาวเวอร์พอยต์ ถึงขั้นตามเด็ก ป.1 แล้วเหรอ ถ้าอยากจะตาม ไปตามพ่อผมนู่น พ่อผมรอท่านประยุทธ์อยู่นานแล้ว”
ฝ่ายค้านย้ำแผล ความล้มเหลวการจัดการโควิด-19 และการบริหารตำรวจ
จตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากการบริหารล้มเหลว มาตรการที่ใช้ไม่เหมาะสม ไม่มีแผนรองรับความเสียหายใดๆ รวมถึงมีการตกแต่งตัวเลขผู้ติดเชื้อให้น้อยลง กระทั่งการอภิปรายเหตุผลของการไม่เข้าร่วม COVAX ของประยุทธ์ในคืนที่ผ่านมา ที่บอกว่าไทยมีฐานะปานกลาง ก็ไม่เป็นความจริง เพราะแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ก็ยังเข้าร่วม COVAX หรือที่บอกว่าเข้าร่วมแล้วได้จะวัคซีนน้อย ไม่จริง COVAX มีการจัดสรรวัคซีนให้แทบทุกยี่ห้อ
ส่วนเรื่องการนำเข้าวัคซีน เมื่อดูราคาต่อโดสแล้ว วัคซีนซิโนแวค มีราคาอยู่ที่ 580 บาทต่อโดส (ตามมติ 27 เมษายน) วัคซีนไฟเซอร์ 421 บาทต่อโดส (ตามมติ 17 สิงหาคม) วัคซีนแอสตราเซเนกา อยู่ที่ 162 บาทต่อโดส (ตามมติ 2 มีนาคม) จตุพรจึงตั้งคำถามว่า ด้วยราคาที่สูงของวัคซีนซิโนแวคนี้เองใช่หรือไม่ ที่เย้ายวนให้ประยุทธ์เลือกซื้อซิโนแวค
พลตำรวจโทวิศณุ ม่วงแพรสี ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ว่าบริหารงานล้มเหลว และปล่อยให้มีการทุจริตการเลือกตั้ง แต่งตั้งพวกพ้องเข้ารับตำแหน่งต่างๆ เพื่อสืบทอดอำนาจของตน ออกคำสั่งโดยมิชอบจนเป็นเหตุให้ตำรวจทั้งชั้นผู้ใหญ่ ชั้นผู้น้อย ต้องฆ่าตัวตาย รวมถึงปล่อยปละละเลยให้กองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) ไล่ยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา ในทางที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังละเมิดหลักสากล
ทั้งนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2564 โดยนอกจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ยังมีรัฐมนตรีอื่นที่ยังรอการซักฟอกจากฝ่ายค้าน ได้แก่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากนั้นวันที่ 4 กันยายน เวลา 10.00 น. จะเป็นการลงมติไม่ไว้วางใจ