3 กันยายน 2564 การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอีก 5 รัฐมนตรี เดินทางมาถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะมีการลงมติในวันพรุ่งนี้ โดยในช่วงเช้า เป็นการพุ่งเป้าอภิปรายในประเด็นการเยียวยาแรงงานที่ล่าช้าท่ามกลางภาวะตกงาน เศรษฐกิจตกต่ำ และวิกฤติโรคระบาด ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ในช่วงบ่าย คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีการครอบครองที่ดินเขากระโดง เนื้อที่รวม 5,083 ไร่ มีผู้ถือเอกสารสิทธิ์รวม 900 ราย รวมทั้ง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดจนประเด็นความผิดทางจริยธรรมของศักดิ์สยาม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการระบาดโควิดระลอก 3
ถัดมาคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในกรณีการออกกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ปี 2564 โดยพรรคฝ่ายค้านได้โจมตีถึงการบิดเบือนกฎหมายเพื่อนำมาปิดปากประชาชน โดยขัดกับรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาตรา 26 มาตรา 32 และ มาตรา 36
1
ยุคมืดบอดของผู้ใช้แรงงาน ขายฝันค่าแรง เยียวยาล่าช้า เบียดเบียนเงินประกันสังคม
ในช่วงเช้า ด้านพรรคฝ่ายค้านได้จัดวางผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พุ่งเป้าไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคือ สุชาติ ชมกลิ่น ระบุถึงเหตุหลอกลวงประชาชนโดยการไม่ยอมขึ้นค่าแรงตามที่หาเสียงไว้ ทั้งยังเยียวยาล่าช้าท่ามกลางภาวะตกงาน เศรษฐกิจตกต่ำ การถอนการลงทุนที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง จนไม่อาจไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีต่อไปได้
สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เหตุผลนับแต่การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น ไม่ได้ทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน นั่นคือค่าแรงขั้นต่ำต้องเพิ่มขึ้นเป็น 400-425 บาท จบปริญญาตรีได้เงินเดือน 20,000 บาท จบอาชีวะได้ 18,000 บาท ทว่าผ่านมา 1 ปีแล้วกลับไม่สามารถทำตามที่หาเสียงไว้ได้ นั่นเท่ากับการหลอกลวง
“ผมจะไปยื่นเรื่องเพื่อร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบนายสุชาติ รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเนื่องจากการโกหกหลอกลวงประชาชนทั้งประเทศ” สมคิด เชื้อคง กล่าว
ด้าน สุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงการบริหารราชการผิดพลาดของ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่าการเยียวยามีความซับซ้อนล่าช้า ทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ อีกทั้งเงินเยียวยาล่าช้าและการดูแลแรงงานที่ตกหล่น สะท้อนถึงการมองคนไม่เท่ากัน อีกทั้งเลือกสั่งปิดกิจการโดยไม่อาจเยียวยาได้อย่างทั่วถึง
ในส่วนแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้รับการดูแล นายสุชาติยังโอ้อวดความสำเร็จว่าสามารถฉีดวัคซีนให้แรงงานในแคมป์ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่จากข้อมูลที่ สุเทพ อู่อ้น ได้รับ นั่นคือ ฉีดไป 80,000 กว่าคน ซึ่งตัวเลขแรงงานมีถึง 200,000 คน
“นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมข่มขู่ผู้ที่ไปยื่นหนังสือที่ประสงค์ให้ติดตามค่าชดเชยจากโรงงานที่ถูกปิด บีบให้จนแล้วแจก กดให้โง่แล้วปกครอง ปล่อยให้ป่วยแล้วรักษา รีดเงินภาษีมาแล้วทวงบุญคุณ มีพฤติกรรมไม่รักษาผลประโยชน์แรงงาน ไร้มนุษยธรรม เอาอำนาจตำแหน่งสร้างบารมี ทำพฤติกรรมข่มขู่คุกคามนักเลงกับแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปล่อยปละให้มีการดำเนินการเรื่องของการที่จะได้รับสิทธิวัคซีนจากสถานประกอบการ ต้องมีการทำหนังสือหัวกระดาษเรียนถึงท่านรัฐมนตรี เพื่อที่จะได้รับการอนุมัติไปดูแล ถามว่าต้องมีเส้น มีสาย มีพวก อยู่ในที่ปรึกษาหรืออยู่ในกระบวนการของรัฐมนตรี เช่นนั้นสถานประกอบการขนาดเล็กจะมีโอกาสเข้าถึงหรือไม่ เขาทำหนังสือร้องเรียนมาที่ผมให้นำเรื่องนี้มาอภิปรายด้วย เพราะเขาโดนกระทำจากการบริหารจัดการจากนายสุชาติ ต้องมีคนใกล้ชิดอย่างนั้นหรือถึงจะได้รับเตียง ได้รับการฉีดวัคซีน แบบนี้รันทดจริงๆ
“ถึงวันนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นผู้ไร้ความสามารถในการบริหาร ไม่รักษาผลประโยชน์ของพี่น้องแรงงาน ไร้คุณธรรม จริยธรรม ปล่อยให้แรงงานถูกจับ ติดโรค เหมือนไม่ใช่มนุษย์ อีกทั้งยังไร้มนุษยธรรม เอาอำนาจตำแหน่งไปสร้างบารมี ข่มขู่ คุกคามแรงงาน จึงเป็นเหตุให้ผมไม่อาจไว้วางใจ นายสุชาติ ชมกลิ่น ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป” สุเทพกล่าวทิ้งท้าย
สุชาติ ชมกลิ่น ชี้แจงในสภาฯ ว่า การจ่ายเงินคืนของสำนักงานประกันสังคมนั้น รัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2562 กองทุนมีเงินตกค้างกับรัฐบาลอยู่ 100,299 ล้านบาท ปี 2563 มีการจ่ายเงินสมทบเต็มจำนวน แล้วรัฐบาลได้จ่ายหนี้เก่าอีก 19,871 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 มีการจ่ายเงินสมทบเต็มจำนวน ส่วนที่เหลือนั้นรัฐบาลได้เอาไปใช้หนี้ของเก่าอีก 13,000 กว่าล้านบาท ทำให้หนี้กองทุนประกันสังคมที่รัฐบาลค้างไว้ในอดีต เหลืออยู่ 60,000 กว่าล้าน
“การลดเงินสมทบเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่รายได้น้อยลง ผมได้รับหนังสือมาครับ ฝากกราบเรียนไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ช่วยบอกท่านผู้อภิปรายของผมที่เขาไม่เห็นด้วยในการลดเงินสมทบ แต่สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้า องค์กรลูกจ้างต่างๆ มีความเดือดร้อน หนังสือขอให้ผมลดเงินสมทบ แล้วผมก็ได้ส่งหนังสือไปยังบอร์ดประกันสังคมครับ
“กองทุนประกันสังคมที่ท่านพูดว่า รัฐบาลเอาเงินกองทุนไป ผมกราบเรียนว่า ผมได้ทำนโยบาย ม.33 เรารักกัน คณะรัฐบาลได้ผ่าน ครม. อนุมัติให้คนละ 4,000 บาท จำนวน 8.14 ล้านคน แล้วก็มาเพิ่มเติมอีกคนละ 2,000 บาท หรือโครงการล่าสุด รัฐบาลได้ช่วย 29 จังหวัด 9 ประเภทกิจการ เป็นเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ลูกจ้าง รัฐบาลดูแลนายจ้างด้วย ซึ่งเงินจำนวนนี้คือเงินจากรัฐบาล ไม่ใช่เงินจากประกันสังคม
“ในส่วนบอร์ดประกันสังคม ผมได้อนุมัติตามระเบียบการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ผมเซ็นไปแล้วให้มีการเลือกตั้งบอร์ด ในส่วนแรงงานนอกระบบอยู่ในขั้นตอนขอเสนอคณะรัฐมนตรี
“ส่วนการเยียวยาที่บอกว่าไม่ทั่วถึง ในภาคการผลิตนั้น คำสั่ง ศบค. ไม่ได้บอกให้ปิดกิจการนะครับ ผู้นำสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมทั้งหมด เขาก็ไม่ได้อยากให้ปิด แต่คำสั่งเยียวยาของผมมันเป็นเรื่องกฎหมาย หากปิดกิจการเราจึงจะชดเชยในส่วนนี้ ผมคิดว่าจากคำสั่ง ศบค. ถ้าไม่ได้ปิด เขาก็ยังผลิตได้
“ในส่วนมัคคุเทศก์ พนักงานนวดแผนโบราณ เขาเป็นอาชีพอิสระ รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้สมัคร ม.40 ได้เงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท ส่วนแรงงานต่างด้าว ที่ผมทราบมาในเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ต่างๆ ที่ผมทราบนั้นมีการผ่านบอร์ดซื้อยาตัวนี้แล้วนะครับ แต่ผมไม่ได้ติดตามเพราะมันคือเรื่องของบอร์ดไตรภาคี
“ในส่วนแคมป์คนงาน เหตุที่ต้องปิดแคมป์เพราะการระบาด ตัวเลขสูงขึ้น ถ้าวันที่เกิดการระบาดที่มีตัวเลขสูงขึ้น แล้วผู้มีความรู้ทางการแพทย์ทั้งหลายมองว่า แคมป์แรงงาน 622 แห่งใน กทม. แรงงานต่างด้าว 50,000 คนไทย 30,000 หมื่น ซึ่งการเดินทาง พวกนี้เขาจะพักอยู่ชายขอบ กทม. แล้วเคลื่อนตัวเข้ามาทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ แต่ที่กลัวคือ กลัวเขาแวะข้างทางเช่นตลาดนัด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ผมก็ทยอยฉีดวัคซีนใน กทม. สถานการณ์ตอนนั้นที่เราปิดแคมป์ ปิดเพื่อให้จบครับ ความหมายคือ ปิดแล้วตรวจ RT-PCR และฉีดวัคซีน 100 เปอร์เซ็นต์ ทำป้ายติดหน้าแคมป์ให้พี่น้องประชาชนรู้ว่าแคมป์นี้ฉีดแล้ว ที่ผู้อภิปรายบอกว่ามีคนงานเล็ดลอดไปบ้าง มันเป็นช่วงคาบลูกคาบดอกจริงๆ แต่มันก็มีการแก้ปัญหาในวันรุ่งขึ้นทันทีครับ
“ปัจจุบัน ในห้วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิงหาคม-ธันวาคม 2563 ผมจ้างงานไปแล้ว 1,521,197 อัตรา ภาครัฐ 615,360 อัตรา ภาคเอกชน 867,178 อัตรา ต่างประเทศอีก 38,659 อัตรา ในส่วนการจ้างงานนั้น ผมชี้แจงผ่านตัวเลขแรงงานในระบบนะครับ หากสังเกต มกราคม-ธันวาคม ปี 2563 คนออกจากงาน 1,060,000 คน แต่คนจำนวนนี้กลับไปสู่ระบบการจ้างงานอยู่ประมาณ 2,490,899 ในส่วนนี้ คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มี 300,000 กว่าคน ปี 2563 จะพบว่า การเข้างานมี 560,000 กว่าคน ออกจากงานประมาณ 1.6 ล้านคน คนออกจากงานมากกว่าคนเข้างาน ยอมรับครับ
“ส่วนตลาดจ้างงานปี 2564 มีคนเข้าในระบบประกันสังคมมาตรา 33 มากกว่าคนออกประมาณ 80,000 คน แต่อาชีพฟรีแลนซ์ต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เราไม่มีตัวเลข หาก พ.ร.บ.แรงงานอกระบบสำเร็จ ผมเชื่อว่า เราจะสามารถดูแลพี่น้องแรงงานได้ทั้งหมด”
ด้าน สมคิด เชื้อคง กล่าวหลังการชี้แจงของ สุชาติ ชมกลิ่น ว่า “ท่านยอมรับว่า ค่าแรงที่หาเสียงไว้ 400-425 บาท ท่านทำไม่ได้ ค่าแรงที่จะเพิ่มนั้น ถ้าจะทำก็ทำได้ เพราะมันไม่ใช่ต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ท่านบอกทำไม่ได้ นั่นแปลว่าท่านยอมรับ วันนี้ค่าแรงมันไม่พอใช้หรอก แทบไม่มีจะกิน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”
สุชาติ ชมกลิ่น ยอมรับว่า ตนไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ เพราะต้องแก้ปัญหาด้านการแพร่ระบาดและการจ้างงานจากสถานการณ์โควิดก่อน “การขึ้นค่าแรงมีอยู่ในความคิด ไม่ใช่ไม่มี แต่สถานการณ์วันนี้ ผมขอแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานและรักษาการเลิกจ้าง แก้ปัญหาการระบาดในโรงงานและฉีดวัคซีน”
2
ศรัณย์วุฒิ อภิปรายนอกสภา อ้างถูกปิดกั้น รับกระแสผสมพันธุ์เผด็จการ
ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ แถลงกรณีถูกพรรคเพื่อไทยปิดกั้นการวอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยกล่าวว่า “ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สภาฯ แห่งนี้สามารถปิดกั้นไม่ให้ ส.ส. อภิปรายก็ได้ จะโดยพรรคหรือใครก็สุดแล้วแต่ ส.ส. ต้องทำหน้าที่ได้ ต้องอภิปรายได้ ต้องไม่ถูกปิดกั้น
“เมื่อกี๊มีกระบวนการไอโอมาใส่ร้ายว่าผมจะทิ้งพรรคเพื่อไทย ผมอยากบอกว่า ผมยังไม่เคยมีนโยบายย้ายพรรคและยังยึดมั่นกับเพื่อไทยครับ ผมฝากไปถึงผู้ใหญ่ในพรรคบางคน ถ้าท่านไม่อยากให้ผมอยู่กับพรรคเพื่อไทยเพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกัน ท่านไม่จำเป็นต้องทำกับผมอย่างนี้ ไม่ต้องไล่ผม ถ้าผมเห็นว่าอุดมการณ์พรรคเพื่อไทยไม่เหลือแล้ว ผมจะไปเอง”
ศรัณย์วุฒิ แถลงถึงสาเหตุที่ตนไม่ได้อภิปรายในวันนี้ว่า “วันนี้พรรคเพื่อไทยถูกนายทุนครอบ มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้บริหารบางคนไปรับใช้นายทุน ใช้อำนาจบาตรใหญ่กดหัว ส.ส. เช่น ก่อนการอภิปราย ผมถูกเชิญไปพบสองรอบ เพื่อชี้แจงว่าผมจะมีประเด็นอภิปรายอะไร จะมีลีลาการอภิปรายอย่างไร มันเจ็บปวดนะครับ
“การอภิปรายของผมไม่ต้องมีใครมาติวมาสอบ การเรียกผมไปติวมันคือการดูถูกมาก จนมารู้ภายหลังว่า ที่แท้แล้วมันคือกุศโลบายเพราะอยากรู้ว่าผมจะอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง แล้วเอาข้อมูลนั้นไปให้ฝ่ายตรงข้าม ผมรับไม่ได้
“คราวก่อนผมบอกว่าจะอภิปรายเรื่องรถถัง จะเล่นงานเจ้าสัวเรื่องการต่อสัญญาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ฝ่ายตรงข้ามรู้หมดเลยว่าผมจะอภิปรายกระทรวงไหน รู้หมด ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าพรรคมีอุดมการณ์จริงหรือไม่”
หลังกล่าวถึงสาเหตุของการถูกปิดกั้นการอภิปราย ศรัณย์วุฒิจึงใช้โอกาสในการแถลงข่าวครั้งนี้ ไล่เลียงประเด็นที่เขาเตรียมมาเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ประเด็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจและวิกฤติโรคระบาดที่ล้มเหลว การเอื้อผลประโยชน์กับบรรดาเจ้าสัวผ่านการให้สัมปทานหลายรายการ ธุรกิจสีเทาภายใต้การควบคุมของทหาร คฤหาสน์หรู 2 หลัง กว่า 500 ล้านที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับจากเจ้าสัว (จ.)
“สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกเปิดเผยในสภาฯ มันน่าเจ็บปวดมาก แว่วว่าตอนนี้พรรคที่เป็นประชาธิปไตยจะผสมพันธุ์กับเผด็จการ หลังอภิปรายครั้งนี้นี่แหละครับ ความเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยมันหายหมดเลย” ศรัณย์วุฒิกล่าวทิ้งท้าย
หลังการแถลงข่าว ศรัณย์วุฒิได้เดินนำนักข่าวไปยังรถอุปกรณ์ที่เขาตั้งใจนำมาอภิปรายในสภาฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วยเอกสารกองโตและโลงศพ พร้อมคำอธิบายว่า “โลงนี้เอามาเก็บศพ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อชดเชยดวงวิญญาณที่เขาต้องเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร ทั้งที่เขาเหล่านั้นยังไม่ถึงเวลาเสียชีวิต เจ้ากรรมนายเวรเขาฝากผมมาทวง แล้วผมก็มาเก็บความชั่วร้ายของเผด็จการและผู้บริหารที่ไปร่วมมือกับเผด็จการ ผมหวังว่าโลงศพนี้จะเก็บศพคนพวกนั้นด้วยครับ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงสิ่งของข้างในโลงศพ ศรัณย์วุฒิ กล่าวว่า “ห้ามเปิดโลงนะ” (พนมมือไหว้) “ข้างในมีบางอย่าง บอกไม่ได้ รับปากไว้แล้ว” ก่อนการแถลงข่าวและอภิปรายนอกสภาฯ ครั้งนี้จะสิ้นสุดลง
3
ศักดิ์สยามโต้ ‘รุกที่ดินรถไฟ-ต้นตอคลัสเตอร์’ ระบุ ทำตามกฎหมาย-ถูกนำภาพมาบิดเบือน
ในช่วงบ่ายของการอภิปรายไม่ไม้วางใจวันที่ 4 ของวันที่ 3 กันยายน 2564 เป็นการอภิปราย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีสืบเนื่องจากการอภิปรายเมื่อวาน (2 กันยายน 2564) จาก กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายถึงการครอบครองที่ดินเขากระโดง เนื้อที่รวม 5,083 ไร่ มีผู้ถือเอกสารสิทธิ์รวม 900 ราย รวมทั้ง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และครอบครัวด้วย จากที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เคยอภิปรายไว้แล้วว่าเขากระโดงเป็นที่ของการรถไฟฯ ตาม พ.ร.บ.จัดวางรถไฟ พ.ศ. 2464 มาตรา 3 (2) ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดทางด้านจริยธรรม
นอกจากนั้นกมลศักดิ์ยังชี้ให้เห็นค่าเสียหายที่เป็นค่าเช่าทั้งหมดจนถึงขณะนี้ประมาณ 20 กว่าล้านบาท รมว.คมนาคม ไม่ได้ดำเนินการในชั้นบังคับคดี หรือให้การรถไฟดำเนินการฟ้องร้องหรือเรียกค่าเสียหายจำเลยทั้ง 35 คนตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งอาจจะเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่
“4 ชุมชน กทม. บริเวณริมทางรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถูกการรถไฟฯ ฟ้อง รมว.คมนาคมสั่งการให้ฟ้องเมื่อ 20 เมษายน 2564 เพื่อเร่งรัดให้มีการสร้างทางรถไฟ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ได้สัมปทาน นี่คือความไม่เท่าเทียม แต่ที่เขากระโดง ทั้ง ป.ป.ช. มีมติ อัยการสูงสุดมีมติให้ฟ้อง ท่านกลับเพิกเฉย ก่อให้เกิดความเสียหายกับชาติอย่างร้ายแรง” กมลศักดิ์กล่าว
วันนี้ (3 กันยายน 2564) มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส. พรรคไทยศรีวิไลย์ ลุกขึ้นอภิปราย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในประเด็นความผิดทางจริยธรรมของนายศักดิ์สยาม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการระบาดโควิดระลอก 3 จนทำให้การกระจายเชื้อระบาด โดยมงคลกิตติ์กล่าวว่าแม้จากการเปิดเผยไทม์ไลน์ของนายศักดิ์สยามก่อนหน้านี้จะระบุว่าใช้เวลาส่วนตัวในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและนั่งสมาธิ สวดมนต์ที่บ้านพักส่วนตัว แต่จากหลักฐานภาพถือว่าเป็นต้นตอของการระบาด
“มีพฤติกรรมเป็นต้นเหตุของการนำเชื้อมาติดข้าราชการคมนาคมกว่า 1,943 คน เสียชีวิต 19 คน แต่อาจจะเกิดจากวัคซีนที่มาล่าช้า จนลามไปทั่วประเทศกว่า 1,200,000 คน เสียชีวิตไป 12,000 คน ผมเชื่อว่าอีกสัก 6 เดือนอาจจะมีผู้ติดเชื้ออีกหลายล้านคน และตายหลายหมื่นคน นำมาซึ่งความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแสนสาหัส ยากที่จะอภัยท่านและท่านนายกรัฐมนตรี แม้ตัวท่านจะอ้างว่าติดมาจากผู้ติดตามหน้าห้องท่านก็ตาม ท่านจะไปเที่ยวหรือไม่ไปเที่ยว การไปเที่ยวไม่ได้เป็นความผิด แต่จริงหรือไม่จริงท่านต้องตอบเอง
“ผมไม่ได้บอกว่าท่านไปหรือไม่ไป เพราะท่านก็เคยปฏิเสธมาแล้ว แต่ดูจากพฤติกรรมของท่าน เป็นคนที่ประพฤติดี เพียบพร้อมด้วยพรหมวิหาร 4 นั่นคือพฤติกรรมภายนอก แต่พฤติกรรมภายในจากรูปที่เห็นอยู่ ท่านก็ถือว่าเป็นผู้มีรสนิยมเสพสุขนิยม ชอบทานอาหาร ชอบร้องเพลง ชอบว่ายน้ำ ฯลฯ ในขณะที่เป็นรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็เป็นรัฐมนตรีคนเดียวที่ติดโควิด จากพฤติกรรมนี่เสเพล ขอถอนคำพูด ขอเปลี่ยนใหม่เป็นพฤติกรรมที่ดี คือ A B C D เป็นนิจของท่าน เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมโรค ชอบเข้าไปมั่วสุมในแหล่งอบายมุข”
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการอภิปราย มีการลุกขึ้นประท้วงนายมงคลกิตติ์ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นการอภิปรายเสียดสี ซ้ำซาก และพาดพิงบุคคลภายนอก ตอนหนึ่ง กรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ได้ใช้สิทธิประท้วงการอภิปรายของ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ กรณีกล่าวหาว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ไปเที่ยวสถานบันเทิง ในเดือนเมษายน 2564
โดยกรุงศรีวิไลอธิบายเหตุที่ลุกขึ้นประท้วง เพราะมีคนสงสัยว่า มีชื่อของเขาไปอยู่ในชื่อพรรคของมงคลกิตติ์ จน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องตัดบท
“ท่านศักดิ์สยามไม่ได้ทำผิดอะไร ผมเป็นเขา ผมก็เที่ยว ผมเป็นสุภาพบุรุษ สาวๆ ห้อมล้อม เป็นสิ่งที่ดี ใครรังเกียจสาวๆ ก็ไม่ใช่แล้วครับ”
13.50 น. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุกขึ้นตอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กล่าวถึงประเด็นบ้านพักบนที่ดินการรถไฟ ระบุว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ตามกรมที่ดิน และตนเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในที่ดิน ซึ่งในฐานะประชาชนคนธรรมดา ไม่ได้อยู่ในสถานะมีที่ดิน เป็นเจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนั้นประชาชนที่เข้ามาอาศัยในที่ดินตั้งแต่ปี 2502 เข้ามาตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเกิด คือปี 2505 และในญัตติที่ระบุว่าได้ทำการบุกรุก กรณีนี้อาจจะเป็นการเข้าใจผิดของผู้อภิปราย อีกทั้งการนำกรณีญาติพี่น้องของตนมาอภิปรายก็พบว่า การได้มาซึ่งที่ดินตามระเบียบทางราชการ ก็เป็นการได้มาซึ่งโฉนดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากผู้อภิปรายมีข้อมูลหรือหลักฐานที่ผู้อภิปรายใช้คำว่าฉ้อฉล ก็ให้ไปยื่นฟ้องเพื่อเพิกถอนโฉนดที่ออกโดยทางราชการทั่วประเทศ อย่าทำเฉพาะที่เขากระโดง
ฉะนั้นการที่ตนอาศัยอยู่ในที่ดิน การถูกกล่าวหาว่าทำผิดจริยธรรมเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง ถ้าเพียงลำพังข้อกล่าวหาว่าการมีที่ดินมิชอบ ผิดจริยธรรม ทุกคนก็ผิดกันทั้งหมด
“ขอยืนยันว่าผมไม่เคยแทรกแซงการดำเนินการใดๆ ของการรถไฟ ทั้งนี้ยังได้มอบนโยบายแก่การรถไฟว่าให้ยึดระเบียบกฎหมายและธรรมาภิบาลมาโดยตลอด ซึ่งผมใช้เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาโดยตลอด” ศักดิ์สยามกล่าว
ต่อกรณีการตอบข้อกล่าวหาของมลคลกิตติ์ ศักดิ์สยามชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาว่าประพฤติตัวเสเพล ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เข้าไปในแหล่งอบายมุข จนเป็นต้นตอการระบาดนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จ โดยนายศักดิ์สยามแยกตอบเป็น 2 ประเด็น
ประเด็นที่หนึ่ง การนำภาพที่ตนกำลังนั่งรับประทานอาหาร หรือร้องเพลงอยู่มาแสดงนั้น ขอเรียนถามกลับว่า การที่คนหนึ่งคนจะมีเพื่อน มีน้องแล้วไปพักผ่อนบ้าง ในเวลาที่ไม่ใช่เวลาราชการและช่วงเวลาของการแพร่ระบาดโควิด สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเสเพลได้หรือไม่ นอกจากนั้นการที่ผู้อภิปรายนำภาพมาแสดง ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม เดือนธันวาคม 2563 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดโควิดในเดือนมีนาคม 2564
กรณีเช่นนี้จึงเป็นการเอารูปปะติดปะต่อมาเพื่อสร้างเรื่อง และผู้อภิปรายน่าจะเป็นผู้ถูกกล่าวหาในการบิดเบือนข้อมูลมากกว่า เพราะจากภาพที่เห็น แม้ว่าจะไม่อยู่ในช่วงการระบาด ตนก็ได้พยายามป้องกันและสวมแมสก์ และร้านอาหารที่ไปทาน ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด เวลานั่งรับประทาน จากภาพจะเห็นว่าเครื่องดื่มที่ดื่มก็นมเย็น ถ้าดื่มนมเย็นแล้วเสเพลก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร และในส่วนที่อ้างว่าไปเที่ยวในที่มีสถานที่ที่มีสุภาพสตรี ขอเรียนว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ชายคนหนึ่งที่มีสถานภาพโสด แล้วไปร้องเพลงในเวลาที่ไม่ใช่เวลาราชการ งานดังกล่าวสุภาพสตรีที่ถูกท่านพาดพิง เป็นรุ่นน้องในงานเลี้ยงงานแต่ง เท่านั้น
ประเด็นที่สอง ตนทำหนังสือไปถึงอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มีหนังสือราชการตอบกลับยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นผู้แพร่เชื้อแต่อย่างใด เนื่องจาก 14 วันก่อนป่วย ไม่พบประวัติว่านายศักดิ์สยามเดินทางไปสถานบันเทิงทองหล่อ หนังสือจากกรมควบคุมโรค ยังได้มีการทำไทม์ไลน์การแพร่ระบาดในเดือนเมษายน 2564 หนังสือยืนยันจากกรมควบคุมโรคได้มีการทำไทม์ไลน์ในสถานบันเทิงหลายแห่ง จะเห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ 13 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2564
นอกจากนั้นผมได้รับการตรวจวันที่ 7 เมษายน 2564 ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชารับว่าติดโควิดจากการไปเที่ยวมา ก็ได้มีการกักตัว และตรวจเชื้ออีก 9 ครั้ง จนกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ และในวันที่ 6 เมษายน 2564 ได้จัดงานทำบุญที่ทำการพรรคภูมิใจไทย มีหลายท่านไปร่วมงานก็ไม่ปรากฏว่าหลังการจัดงานมีใครติดเชื้อ การบอกว่าเป็นต้นตอการระบาดจึงเป็นข้อความอันเป็นเท็จ
4
ก้าวไกลซักฟอก ‘รัฐมนตรีชัยวุฒิ’ บิดเบือนกฎหมาย ล้วงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน
“รัฐมนตรีชัยวุฒิ บิดเบือนกฎหมายเพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง สอดแนมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน เพื่อล้วงข้อมูลว่า ‘ใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร มีรถกี่คัน มีพฤติกรรมอย่างไร’ ได้ตามอำเภอใจ”
14.33 น. ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในกรณีการออกกฎกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ปี 2564 กล่าวว่า
“ย้อนไปปี 2562 กระทรวงจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แต่ฉากหลังกลับเป็นการกำจัดคนเห็นต่าง ทั้งปิดโพสต์ ปิดแอคเคาท์ของผู้เห็นต่าง ปิดปากประชาชนด้วยคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ที่ผู้แจ้งความคือกระทรวงดิจิทัลโดยตรง
“ผลงานแรกของท่านคือสั่งจับตากลุ่มย้ายประเทศ จากนั้นมีการเซ็นแต่งตั้งอนุกรรมการฯ 3 ชุดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 มีอำนาจปรับปรุงและพิจารณากฎหมายรองใน พ.ร.บ.คอมฯ ศึกษาและดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายต่อโซเชียลมีเดีย เพื่อความมั่นคง สงบ และศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะอนุกรรมการชุดที่ 3 มีอำนาจในการปราบปราม ยังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีความเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมฯ
“เดือนกรกฎาคม ท่านรัฐมนตรีได้สั่งเอาผิดคนโพสต์ข้อมูลเท็จ 147 ราย ซึ่งทั้งหมดโดนคดีจากการโพสต์เรื่องการชุมนุมประท้วงรัฐบาลล้วนๆ หนักกว่านั้น ขู่ดาราที่ออกมาคอลเอาต์
“ไม่กี่วันจากนั้น รัฐบาลก็ออกมารับลูกด้วยการประกาศภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ที่ไม่ได้เอาผิดเฉพาะข้อความที่เป็นเท็จ แต่รวมถึงข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ไม่รู้ว่าประชาชนหรือรัฐบาลหวาดกลัว ยังดีที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลแพ่งให้เหตุผลว่า การมิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้
“มากกว่านั้น ความพยายามล่าสุดของ รัฐมนตรีชัยวุฒิ คือบิดเบือนกฎหมายเพื่อผลทางการเมืองและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการสอดแนมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน ขัดกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ มาตรา 26 มาตรา 32 และ 36”
ปกรณ์วุฒิได้ระบุว่า ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเรื่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นประกาศภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ประกาศฉบับนี้ระบุรายการข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่ผู้ประกอบการต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รัฐสามารถเรียกข้อมูลได้เมื่อจำเป็น
“ผู้ประกอบการหมายถึงแพลตฟอร์มทั้งหมดในโลกนี้ที่ให้บริการคนไทย แม้กระทั่งร้านอินเทอร์เน็ต ร้านอาหาร สถานประกอบการอื่นๆ ที่มีไวไฟฟรีให้ใช้ ถ้าร้านเหล่านี้ไม่เก็บข้อมูลละเอียดขนาดนี้ได้ ประกาศก็ระบุไว้ว่า ขั้นต่ำร้านเหล่านั้นต้องติดกล้องวงจรปิด นี่เรากำลังนิยามภาพกล้องวงจรปิดเป็นข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์กันแล้วนะครับ”
ปกรณ์วุฒิได้ไล่เลียงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากประกาศฉบับดังกล่าวไว้ดังนี้
หนึ่ง – (ในภาคผนวก ก) มีการเพิ่มประเภทผู้ให้บริการซึ่งเป็นแพลตฟอร์มต่างๆ หลักๆ คือโซเชียลมีเดีย โดยการระบุชื่อแพลตฟอร์มต่างๆ ในประเทศไทยต่างๆ โดยละเอียด
“เรามั่นใจว่ามันคือการพุ่งเป้าไปที่ Telegram และ Clubhouse อีกทั้งประกาศนี้ยังให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เก็บข้อมูลเพื่อส่งให้รัฐบาลอีกด้วย”
สอง – (ในข้อ 8 และข้อ 9 (4)) การบังคับให้แพลตฟอร์มเก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลของผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน โดยใน ‘ภาคผนวก ข’ ของประกาศ มีการระบุรายละเอียดข้อมูลที่แพลตฟอร์มต้องจัดเก็บรวมแล้ว 14 ข้อย่อย
“เช่นวันเวลาในการเข้าออกจากระบบ ระบุหมายเลขอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สถานที่ของผู้ใช้ ประเภทแอพฯ รายละเอียดธุรกรรมที่ทำผ่านแอพฯ พูดง่ายๆ ว่า มันคือข้อมูลที่บอกว่าใคร ใช้มือถือเครื่องไหน ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำอาชีพอะไร มีรถกี่คัน”
ปกรณ์วุฒิ แสดงความกังวลถึงรายละเอียดในประกาศดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลที่ถูกระบุไว้นั้นสามารถตีความได้กว้างไกลและให้อำนาจรัฐบาลเข้าถึงข้อมูลประชาชนได้เกินขอบเขต
“ซึ่งตัว พ.ร.บ.คอมฯ ที่ทั้งร่างและแก้ไขโดย สนช. ที่มาจากการยึดอำนาจทั้งสองยุค มันมีปัญหาในตัวเองเรื่องการนิยามการทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ที่กว้างขวางเกินไปและให้อำนาจรัฐเกินขอบเขต เช่นมาตรา 18+19 มีการแบ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ไว้ 8 วงเล็บ และมีการเปิดช่องยกเว้นไว้ว่า ข้อมูลในวงเล็บอื่นๆ เช่น (1) – (3) ไม่ต้องขอหมายศาล มีเพียงแค่ (4) – (8) เท่านั้นที่ต้องขอหมายศาล เจ้าหน้าที่สามารถขอได้ทันทีโดยผู้ประกอบการต้องส่งให้ภายใน 7 วัน มีโทษปรับด้วย
“ตอนร่าง เขาให้เหตุผลว่า ข้อมูล (1) – (3) ไม่ใช่ข้อมูลที่อ่อนไหว ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจึงละเว้นการขอหมายศาลเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ประกาศเมื่อ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ออกโดยอ้างอิงตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คอมฯ ซึ่งข้อมูลในมาตราที่ 26 นั้น คือข้อมูลที่ระบุไว้ใน (3) ครับ แปลว่า ข้อมูล 14 ประเภทที่ลึกกว่าข้อมูลของแพลตฟอร์มระดับโลกนั้น จะถูกเจ้าหน้าที่ล้วงไปได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาลครับ
“เรากำลังทำให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไปในความทรงจำทางอินเทอร์เน็ตของทุกคนได้ตามอำเภอใจ
มากกว่านั้น ปกรณ์วุฒิชี้ให้เห็นว่า การออกกฎกระทรวงดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาตรา 26 มาตรา 32 และ มาตรา 36 ถือว่าลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจตนเองเกินขอบเขตของกฎหมายคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“หลักการจริงๆ คือ กฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองนั้น จะต้องตราเป็นกฎหมายที่อนุมัติโดยสภา แต่นี่คือการลุแก่อำนาจ หลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสภาฯ เพราะเขารู้ว่าถ้าเสนอเข้ามาจะโดนแหกแน่ๆ รัฐบาลจึงบิดเบือนกฎหมาย ใช้อำนาจเกินกฎหมาย เพื่อคุกคามสิทธิส่วนบุคคล และไม่เคารพอำนาจถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนทุกคน”
5
รังสิมันต์อภิปรายสัมปทานใต้ระบบปรสิต ถาม รมต. “รับงานใคร”: ชัยวุฒิโต้ ไม่ใช่สัมปทาน ส่วนบริษัทที่กล่าวถึง ออกมานาน ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย
15.20 น. รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำลายบรรทัดฐานอันดีของสังคม มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ปฏิบัติตามการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
รังสิมันต์ โรม อภิปรายว่าภายใต้รัฐบาลนี้มีขบวนการฮุบสัมปทานดาวเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนายชัยวุฒิ โดยสัมพันธ์กับเครือข่ายทางธุรกิจอุปถัมภ์ โดยได้หยิบยกกรณีโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ที่เริ่มมาในปี 2533 มีสัญญา 30 ปี และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ อันเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ได้กลายเป็นที่หมายปองของเครือข่ายอำนาจธุรกิจ
รังสิมันต์แบ่งผลประโยชน์เป็น 2 ก้อนใหญ่ ๆ 1. ผลประโยชน์จากดาวเทียมระหว่างกระทรวงดีอีเอสและบริษัทไทยคมจำกัด (มหาชน) และ 2. ผลประโยชน์จากดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่อยู่ในสัญญาที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 10 กันยายน นี้
เพราะก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดได้เกิดข้อพิพาททางคดีระหว่างกระทรวงและบริษัทไทยคม 3 คดี ที่ปัจจุบันได้เข้าสู่ขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีบุคคล 3 คน (ไทยคม 1 คน ดีอีเอส 1 คน และ 1 คน เป็นประธาน)
รังสิมันต์ชี้ให้เห็นว่าในคดีดาวเทียมไทยคำที่ 7 และ 8 พบข้อน่าสงสัย เพราะในทางปฏิบัติกระทรวงดีอีเอสจะต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อส่งตัวแทนมาเป็นอนุญาโตตุลาการ ก่อนจะมีการเสนอชื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบต่อไป
ทว่าเมื่อนายชัยวุฒิเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ กลับมีหนังสือส่งถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ลงนามโดยปลัดกระทรวงดีอีเอส วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ให้เปลี่ยนตัว นางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ อนุญาโตตุลาการที่ฝ่ายกระทรวงเคยตั้งขึ้น โดยให้เป็นอนุญาโตตุลาการคนเดียวทั้ง 3 คดี อ้างว่าทั้ง 3 คดีเป็นเรื่องเดียวกัน และเพื่อให้การดำเนินทุกคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
รังสิมันต์อธิบายว่า ตามกฎหมาย อนุญาโตตุลาการจะพ้นจากตำแหน่งได้จาก 3 กรณี คือเสียชีวิต ถอนตัว และถูกคัดค้านจากคู่ความอีกฝ่ายฯ ฉะนั้นฝ่ายที่ตั้งจะคัดค้านการตั้งของตัวเองไม่ได้ ปรากฏว่า มีการกล่าวหา นางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ เท่ากับฝ่ายกระทรวงดีอีเอสกำลังทำผิดกฎหมาย
ที่น่าสนใจคือ ต่อมานางสุรางค์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงเพื่อถามความชัดเจนว่าตัวเองมีความบกพร่องตามที่กระทรวงกล่าวหาอย่างไร ทั้งที่การทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในคดีที่ตัวเองรับผิดชอบที่ผ่านมาไม่เคยบกพร่อง และในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายไทยคมไม่เคยคัดค้าน เรื่องกลับพลิกอีกเมื่อต่อมา กระทรวงได้ยืนยันความเหมาะสมของนางสุรางค์ จึงไม่ขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ
แต่ถึงกระนั้น นางสุรางค์ได้ทำหนังสือโต้แย้งฉบับที่ 2 ระบุความไม่ชอบมาพากลหลังนายชัยวุฒิรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังพบว่า อัยการสูงสุดมีการลงนามตั้งตัวเองเข้ามาทำหน้าที่ทั้งที่เคยถูกตั้งคำถามในเรื่องการทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา และที่อ้างว่า การเปลี่ยนแปลง อนุญาโตตุลาการ ก็เพื่อ 3 คดีเป็นเรื่องเดียวกัน ให้การดำเนินทุกคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นางสุรางค์ก็ได้โต้ว่า แต่ละคดีแม้จะเกิดจากสัญญาสัมปทานเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มีข้อเท็จจริงหรือข้อสัญญาเป็นแนวเดียวกันแต่อย่างใด เช่น ดาวเทียมไทยคม 7, 8 และ ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งอาจจะเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติราชการตามครรลองปกติ อาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน จึงไม่ขอข้องแวะด้วย
ในเวลาต่อมา กระทรวงได้มีการแต่งตั้ง วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการเอง จากการตรวจสอบพบว่านายวงศ์สกุลเคยเข้าไปเรียนหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประธาธิปไตย (นธป.) ของศาลรัฐธรรมนูญปี 2561 ร่วมรุ่นเดียวกันกับนักธุรกิจรายหนึ่งชื่อย่อว่า ‘นายแย้ม’ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไทยคม ถึงตรงนี้รังสิมันต์ได้ตั้งคำถามว่าการที่นายชัยวุฒิเลือกบุคคลดังกล่าวเข้ามาสังคมได้ประโยชน์อะไรในเรื่องนี้ หรือสร้างความเชื่อมั่นให้กับใครบางคนกันแน่
จากการตรวจสอบต่อไป พบว่า หลังจากอนุญาโตตุลาการคนดังกล่าวทำหน้าที่ได้เพียง 1 เดือน วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 กลับได้มีการถอนตัว อ้างว่ามีภารกิจราชการอื่นจำนวนมาก ปรากฏว่ามีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาแทน กลับเป็นเลขานุการของคนเดิม ซึ่งเคยเป็นอนุญาโตตุลาการแต่เดิมเข้ามาทำหน้าที่
จนกระทั่งถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ได้มีการตั้ง พฤฒิพร เนติโพธิ์ เป็นอนุญาโตตุลาการ พบว่าเคยตามรอยรุ่นพี่ อดีตอธิบดีอัยการคนหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่ ก็เป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเรียนหลักสูตรเดียวกับนักธุรกิจรายหนึ่งซึ่งถือหุ้นในบริษัทไทยคมอีกเช่นกัน ฉะนั้น การที่คุณพฤฒิพรเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานสู้คดีดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ให้กับฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ย่อมรู้จุดแข็งจุดอ่อนของข้อมูลและสำนวนคดี ไม่ต่างอะไรกับการเอาอดีตทนายความที่เคยถูกจ้างให้ทำคดีมาเป็นผู้พิพากษาในคดีเดียวกัน ย่อมเป็นที่กังขาถึงความเป็นกลาง ถึงความเป็นอิสระ ถึงผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ท่านรัฐมนตรีฯ แต่งตั้งคนที่มีความเป็นมาเช่นนี้มานั่งแบบนี้ไม่ได้ นี่คือเรื่องร้ายแรง แสดงถึงเจตนาที่ไม่สุจริต
ดังนั้น ต่อให้สุดท้ายผลการพิจารณาออกมาชี้ขาดว่าฝ่ายกระทรวง เป็นผู้ชนะคดี ในเวลาต่อไปก็จะถูกฝ่ายไทยคมเอาไปเป็นเหตุขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด โดยอ้างว่ากระทรวง ตั้งคนที่ตัวเองรู้ดีว่าเป็นคณะทำงานสู้คดี มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตน รังสิมันต์ คาดการณ์ว่าความเสียหายถ้าหากมีการล้มคดีจากกรณีนี้อาจจะมากถึง 18,189 ล้านบาท กระบวนการสู้คดีที่ควรจะเป็นปกติกลับมีข้อสงสัย มีการเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการถึง 3 ครา ในช่วงเวลาเพียง 6 เดือนที่นายชัยวุฒิมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีฯ รังสิมันต์กล่าวว่า “ถามจริงๆ ท่านรับงานใครมา”
30 กรกฎาคม 2564 กระทรวงฯ ได้มีการลงนามสัญญามอบสิทธิการบริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียมให้ NT ปรากฏว่าบริษัทไทยคมขอเข้ามาบริหารจัดการต่อ ทั้งนี้การบริหารจัดการดาวเทียมที่จะสิ้นสุดสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 เมื่อไม่สามารถทำตามแนวทางของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ หรือที่เรียกกันว่า PPP (Public Private Partnership) ได้กระทรวง จึงเสนอแนะว่าควรมอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นผู้บริหารจัดการแทน
ปัจจุบัน CAT ได้ควบรวมกิจการกับ TOT ตั้งเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลฯ หรือก็คือกำกับโดยชัยวุฒิ
“คุณชัยวุฒิกำลังทำให้ NT ตามการบินไทยไปติดๆ ใช้ตำแหน่งทางการเมืองอย่างฉ้อฉลเพื่อประโยชน์แก่นายทุน เพื่อผูกขาดอุตสาหกรรมดาวเทียมนี้ แล้วใช้หน่วยงานของรัฐเป็นเครื่องมือ แบบที่ทำมาตลอด” รังสิมันต์กล่าวตอนหนึ่ง
ที่ผมพูดมาทั้งหมดของวันนี้ เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา แม้เรื่องราวดาวเทียม การผูกขาดธุรกิจนี้จะมีมูลค่ามหาศาล ลำพังแค่มูลค่าดาวเทียมทั้งหมดเพียงอย่างเดียวก็มีมากถึง 40,000 ล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่า ตัวเลขนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับการกินรวบของธุรกิจที่ผูกขาดความมั่งคั่งเอาไว้ในมือของคนไม่กี่คน ของคนไม่กี่ตระกูล นี่คือปัญหาใหญ่ที่กำลังดำเนินไปท่ามกลางคราบน้ำตาและความเจ็บช้ำของคนที่ไม่มีสิทธิลืมตาอ้าปากได้
ในเวลาต่อมา ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ลุกขึ้นชี้แจงว่า เมื่อตนได้มาทำงานตำแหน่งนี้ ไม่รู้มาก่อนว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ได้ทำธุรกิจสื่อสารหรือซื้อหุ้น เพราะออกมาจากบริษัทนานแล้ว จึงไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวด้วย เมื่อมาทราบในภายหลังก็ระมัดระวังในการทำงานเพื่อไม่ให้มีข้อครหา และไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้บริษัทไทยคมทั้งสิ้น
เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง ตนทราบว่าปัญหาเร่งด่วนของกระทรวงคือ การที่ดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 จะส่งมอบมาให้เป็นทรัพย์สินของรัฐ
เรื่องสัมปทานที่มีการดำเนินงานมา 30 ปี และจะสิ้นอายุสัมปทานในวันที่ 10 กันยายน 2564 ขณะเดียวกัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำคัญช่วงปี 2553 เพราะมี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ขึ้นมาเป็นผู้กำกับดูแลธุรกิจดาวเทียม ไม่ใช่ระบบสัมปทาน
ชัยวุฒิอธิบายว่า ประเทศไทยมีดาวเทียมทั้งหมด 8 ดวง ตอนนี้ที่เหลืออยู่คือ ไทยคม 4 6 7 8 ซึ่งตามสัมปทานที่กระทรวงดิจิทัลฯ ยืนยันมาโดยตลอดคือ ดาวเทียมทั้งหมด 4 ดวงที่เหลืออยู่ต้องส่งคืนมาเป็นทรัพย์สินของรัฐบาล เพราะสิ้นสุดสัมปทานแล้ว
แต่จากข้อพิพาทในอดีต ไทยคมอ้างว่า ดาวเทียม 7 และ 8 ไม่ใช่ดาวเทียมตามสัญญาสัมปทาน และส่งมอบดาวเทียมมาเพียง 2 ดวง คือ ไทยคม 4 และ 6 เท่านั้น
การส่งมอบและดำเนินการจะเริ่มหลังวันที่ 10 กันยายน นี่คือเรื่องใหญ่ ผมเร่งดำเนินการมาโดยตลอด นโยบายหลักคือเราต้องหาคนมาดูแล ซึ่งเราได้มีการศึกษาและมีข้อสรุปว่า เราจะโอนสิทธิในการดูแลดาวเทียมให้กับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (บริษัท NT)
ผมได้ดำเนินการทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เพื่อมอบสิทธิการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศหลังสิ้นสุดสัญญาสัปทานให้กับบริษัท NT ดูแล
ธุรกิจดาวเทียมถูกผูกขาดโดยไทยคมมา 30 ปี วันนี้การจะหาผู้ประกอบการรายใหม่มาทำธุรกิจดาวเทียมไม่ใช่เรื่องง่าย กสทช. เปิดประมูลวงโคจรไม่นานมานี้เองเพื่อจะทำดาวเทียมใหม่ขึ้นไปบริการประชาชน ทราบไหมว่า มีผู้ยื่นประมูลรายเดียวคือบริษัทไทยคม
ธุรกิจนี้มันเฉพาะมาก ไม่ใช่การแข่งขันเสรีเปิดกว้าง ขนาดเปิดประมูลล่าสุด มีผู้ประมูลเพียง 1 รายเท่านั้น กสทช. จึงต้องเลื่อนการประมูลออกไปก่อน
เมื่อ ไทยคม 4 และ 6 ส่งมอบให้รัฐ แล้วรัฐให้ NT ไปบริหารจัดการดูแล เขาส่งสถานีควบคุมดาวเทียมมาให้ครับ เราสามารถคอนโทรลดาวเทียมไม่ให้ตกวงโคจรได้ แต่เขาไม่ได้ส่ง Teleport Service หรือ Gateway Sercive มาให้ เป็นทรัพย์สินของไทยคมครับ
ดังนั้น การทำธุรกิจดาวเทียมจำเป็นต้องใช้ตัวส่งสัญญาณบางส่วนของไทยคมครับ อันนี้ผมไม่ทราบในรายละเอียดครับ แต่นี่ไม่ใช่การให้สัมปทานต่อครับ แต่เป็นการที่บริษัท NT ไปเช่าของไทยคมเพื่อส่งสัญญาณให้การดำเนินธุรกิจดาวเทียมเป็นไปอย่างต่อเนื่องเท่านั้น
ดาวเทียมไทยคม 4 นั้น 87 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าศักยภาพของบริษัท NT ไม่สามารถไปทำธุรกิจในต่างประเทศเหล่านี้ได้ในเวลาอันจำกัด ที่เป็นลูกค้าไทยมีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ยืนยันว่า NT เข้าไปทำธุรกิจโดยตรงเอง ส่วนต่างประเทศ เป็นภาระของ NT ที่ต้องไปติดต่อเจรจาเอง
ส่วนไทยคม 6 เป็นดาวเทียมที่เรียกว่า broadcast มีลูกค้าเอกชนและภาครัฐรวมกันประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ในประเทศ ไทยคมได้คุยกับ NT แล้วว่า ให้ NT ไปติดต่อขายบริการกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับไทยคม ส่วนอีก 34 เปอร์เซ็นต์ก็อาจต้องใช้ไทยคมเป็นตัวแทนประสานงานเพราะเป็นคู่ค้าที่เราไม่รู้จัก
การทำธุรกิจดาวเทียมของ NT ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ไทยคม ไม่ใช่สัมปทานผูกขาดตัดตอนต่อเนื่องอย่างที่ผู้ปภิปรายได้กล่าว
การจัดสรรคลื่นความถี่ก็เป็นอีกเรื่องที่อยากบอกว่า ผมไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ไทยคมเลย เพราะการเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมที่ผ่านมามีแค่ไทยคมรายเดียว ซึ่งผมได้ยื่นหนังสือไปที่ กสทช. ให้ทบทวนการจัดประมูล เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการจัดประมูลให้กับไทยคม เพราะคาดว่าไทยคมได้แน่นอนเพราะยืนอยู่รายเดียว
ดาวเทียมที่ได้รับโอนมาเป็นของ NT ที่ดำเนินการเอง ติดต่อลูกค้าเอง ส่วนลูกค้าที่ต่างประเทศ อาจจะมีไทยคมเป็นตัวแทนจำหน่ายเพราะเราไม่สามารถติดต่อเองได้ ไม่ใช่การทำสัมปทานนะครับ แต่เป็นการทำธุรกิจร่วมกัน ช่วยกันหาลูกค้า ช่วยกันบริหารประชาชน
“มันไม่ใช่สัมปทานครับ อะไรที่ NT ทำเองได้เขาก็ทำ แต่ส่วนที่ไม่พร้อม ก็ต้องไปเช่าของไทยคม เพราะบริษัทที่ทำธุรกิจดาวเทียมในประเทศไทยมีบริษัทเดียว คือไทยคม ท่านบอกให้ไปหารายอื่นมา จะไปหาที่ไหน ท่านเสนอมาสิครับ มันไม่มี
ท่านพยายามพูดว่าสัมปทาน มันไม่ใช่ สัมปทานมันหมดไปตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนแล้ว มันจบไปแล้ว ตื่นได้แล้วครับ” ชัยวุฒิกล่าวปิดท้ายในประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการสัมปทาน
สำหรับระยะเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 2 กันยายน 2564 จะมีนัดลงมติกันในเวลา 10.00 น. วันพรุ่งนี้ (4 กันยายน 2564)