หมอไม่ทน: “โปร่งใสแค่ไหน แค่ข้อมูลวัคซีนง่ายๆ ยังมีให้ไม่ได้กับประชาชน”

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจุดเปลี่ยนหลายระลอกของสถานการณ์โควิด-19 เอาแบบต้องเช็ครายวันโดยไม่ละสายตากันเลย สำหรับการจัดหาวัคซีนมาแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ล่าช้ามาแทบจะครึ่งปีแล้ว โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้อำนาจ ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ จัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ และต้องใส่ตัวเน้นๆ ไว้ว่า “ไม่ต้องรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง” ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 

หากวางกรณีข้างต้นลงบนแผนที่ไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลแล้ว จะเห็นร่องรอยความไม่ลงตัวนับตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนก่อให้เกิดคำถามต่อสาธารณะไม่หยุดหย่อนถึงวันนี้ อาทิ รัฐบาลใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือกประเภทวัคซีน กำหนดการจัดส่งวัคซีนที่แน่ชัดคือเมื่อไหร่ ใครมีอำนาจในการนำเข้าวัคซีน จะแจกจ่ายให้แก่ประชาชนอย่างไร ฯลฯ 

ด้วยเหตุนี้เราจึงมาสนทนากับสมาชิกกลุ่ม ‘หมอไม่ทน’ ซึ่งเคลื่อนไหวล่ารายชื่อผ่านแพลตฟอร์ม www.change.org กดดันองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลให้ปลดล็อควัคซีนทุกยี่ห้อ และยกเลิกการควบคุมอำนาจบริหารจัดการไว้ตามลำพังก่อนที่จะสายเกินไป รวมไปถึงให้เปิดเผยข้อมูลเรื่องการจัดซื้อวัคซีนอย่างโปร่งใส และเร่งเปิดให้วัคซีนทางเลือกอื่นนอกเหนือจาก Sinovac และ AstraZeneca มาให้ประชาชนได้เลือก 

บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสนทนากับแพทย์ 3 ท่านที่ร่วมผลักดันแคมเปญนี้ ได้แก่ หนูน้อย (นามสมมุติ) ทำงานอยู่โรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ เปิ้ล (นามสมมุติ) ทำงานโรงพยาบาลขนาดกลาง ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ไม่มีอาการ จนถึงอาการหนัก และ นัท (นามสมมุติ) แพทย์ฝึกหัดที่ทำงานแผนกที่ไม่ได้เกี่ยวกับโควิดโดยตรง แต่มีความกังวลร้อนใจไม่น้อยไปกว่าบุคลากรทางการแพทย์อื่น 

ทั้งหมดทั้งมวล บทสัมภาษณ์นี้ไล่เลียงแต่ละประเด็นข้อเรียกร้องที่น่าจับตาท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ที่แม้แต่กรณีล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังบอกว่า “ผมเพิ่งทราบ” 

จุดเริ่มต้นของ ‘หมอไม่ทน’ คือไม่ทนอะไร ทำไมจึงออกมาเคลื่อนไหว

เปิ้ล: ความหมายของ ‘ไม่ทน’ หมายถึง ไม่ทนต่อนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโควิด อีกทั้งนโยบายที่ออกมาก็ไม่สอดคล้องกับปัญหาหน้างานของผู้ปฏิบัติงาน แคมเปญของ ‘หมอไม่ทน’ จึงเริ่มจากการขับไล่ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ในช่วงที่เราเริ่มมีผู้ติดเชื้อเกิน 1,000 คน ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน จนมีเสียงโอดครวญจากหลายโรงพยาบาลต่างๆ ว่าเตียงคนไข้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และหลายพื้นที่ยังต้องการโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 

พอจะยกตัวอย่างได้ไหมว่า มีนโยบายใดที่ผิดพลาดบ้าง

เปิ้ล: อาจจะพูดได้ว่าทางออกของปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 คือนโยบายการจัดหาวัคซีน ซึ่งเราไม่ต้องการให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่ม แต่กลับกลายเป็นว่าปัญหาเรื่องวัคซีนเป็นมาตั้งแต่แรกเลย เพราะรัฐบาลแทงม้าเต็ง 2 ตัว ไม่มีการกระจายความเสี่ยงว่า ถ้าไม่ได้วัคซีนตามกำหนดหรือตาม road map จะแก้อย่างไร หรือกรณีการกลายพันธุ์ของโควิด จะมีการจัดการวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาอย่างไร 

ต่อมาปรากฏว่าวัคซีนล่าช้าจริง ทำให้ไม่สามารถลดตัวเลขผู้ติดเชื้อในการระบาดรอบหลังนี้ได้เลย นอกจากนั้น นโยบายการกระจายทรัพยากรก็เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติการหน้างาน ตัวอย่างหนึ่ง มีพี่ที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลชายแดน พบว่า ช่วงแรกของการระบาดมีการขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ชุด PPE หรือชุดป้องกันของบุคลากรทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย ชุด PAPR หรือชุดที่ต้องสวมศีรษะเข้าไปเวลาดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ แล้วพอมีการเปิดรับบริจาคก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริหารว่าโรงพยาบาลไม่ควรเปิดรับ 

อย่างชุด PPE มีนโยบายออกมาว่า เราจะเบิกได้ก็ต่อเมื่อมีการรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อจริง แต่เวลาผู้ป่วยมาถึง เราไม่ทราบว่าเขาเป็นหรือไม่เป็น มันทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องแบกรับความเสี่ยงในจุดนี้ 

นัท: อีกเรื่องที่ทำให้ไม่ทนต่อรัฐบาลนี้ คือ ความโปร่งใส ขอเริ่มจากตัวอย่างง่ายๆ คือวัคซีน Sinovac ที่นำเข้ามา หากจำกันได้ พอเริ่มฉีดปุ๊บก็เกิดปัญหาว่าผู้ถูกฉีดอ่อนแรง แต่รัฐก็บอกว่าปลอดภัย ทุกคนฟื้นฟูร่างกายหมดแล้ว ก็สนับสนุนให้ฉีดกันต่อไป คำถามคือ ทำไมต่างประเทศที่เขาฉีดกันถึงไม่มีการรายงานการอ่อนแรง แต่ทำไมมาเกิดแค่ที่ประเทศไทย แสดงว่า หนึ่ง วัคซีนของไทยไม่เหมือนกับต่างประเทศหรือไม่ หรือ สอง คนไทยแตกต่างกับคนต่างประเทศหรือเปล่า หรือ สาม ต่างประเทศเขาปกปิดและไม่ได้รายงานผลข้างเคียงหรือเปล่า 

เหล่านี้เป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก เพราะการที่เราจะฉีดอะไรเข้าตัวเอง เราควรมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลให้ครบถ้วน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทางการบอกแค่ว่า “เออ มันปลอดภัยนะ” นอกจากนั้นเราไม่ได้เห็นการพยายามสืบสวน สอบสวน หรือแม้กระทั่งให้หยุดฉีดวัคซีนก่อน เพื่อหาสาเหตุว่ามันเกิดอะไรขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดถึงความไม่ตรงไปตรงมา 

อีกประเด็นที่สำคัญ ถ้ามองกลับไปจะเห็นว่าวัคซีนมีหลายตัวเลือก ไม่ว่าจะเป็น Sinovac, AstraZeneca, Pfizer และ Moderna แต่ปัญหาตอนแรกคือ ทำไมจึงเลือกเป็น Sinovac ตัวเดียว เพราะอย่างที่ทราบกันว่า Sinovac ยังไม่มีข้อมูลที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ในขณะที่ตัวอื่นมีหมดแล้ว มีเพียง Sinovac เท่านั้นที่หลักฐานต่ำที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในทุกขั้นตอนการสื่อสารของรัฐบาล แต่เราไม่เคยรู้เหตุผลเลย 

ทราบว่าจีนก็มีการฉีดวัคซีนอีกตัวคือ Sinopharm กลุ่มหมอไม่ทนทราบไหมว่า ที่จีนมีผลข้างเคียงเหมือนไทยไหม

เปิ้ล: มันมีผลข้างเคียงที่เขียนออกมา แต่ผลข้างเคียงนี้ยังไม่ใช่ผลข้างเคียงที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เพราะจะมีการลดความ bias ที่มาจากการควบคุมให้คนทั้งที่ฉีดวัคซีนและไม่ฉีดวัคซีนมีข้อมูลที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด จนเห็นความแตกต่างกัน ระหว่างคนที่ฉีดกับคนไม่ฉีดวัคซีน ข้อมูลนี้จึงเป็นข้อมูลสูงสุดทางการแพทย์ที่คนจะเชื่อถือ ทุกวันนี้ Sinovac ยังไม่เคยตีพิมพ์ออกมาเลย เราจึงไม่สามารถจะเชื่อใจได้ว่า ผลข้างเคียงที่รัฐรายงานออกมาเป็นความจริงแค่ไหน

นัท: แม้แต่ผลการรายงานที่ไม่เป็นทางการฉบับนี้ ก็ไม่มีพูดถึงเรื่องภาวะอ่อนแรง 

เปิ้ล: จริงๆ ไม่ใช่แค่อ่อนแรงอย่างเดียวด้วย เพราะไทยบัญญัติคำใหม่ขึ้นมาว่า IRFN (IRFN: Immunization Related Focal Neurological Syndrome หรือ อาการผิดปกติทางระบบประสาทเฉพาะที่)

นัท: หากติดตามข่าว เราจะได้ยินคุณหมอจากหลายสถาบันออกมาแถลงว่าเกิดอะไรขึ้น คำนี้ในวงการหมอเป็นคำใหม่ที่บัญญัติใช้แค่ในประเทศไทยประเทศเดียว

ไม่มีในนิตยสารต่างประเทศ เพิ่งบัญญัติมาในประเทศไทย

รัฐบาลไทยบอกว่า อย. ไทยมีมาตรฐานเดียวกันกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ข้อนี้หมอไม่ทนคิดเห็นอย่างไร

เปิ้ล: เกณฑ์ของ WHO เมื่อจะพิจารณาวัคซีนแต่ละตัว เขาจะเขียนออกมาชัดเจน เช่น ยอมรับว่าวัคซีนแต่ละตัวต้องมี efficacy หรือประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่เท่าไหร่ ผลข้างเคียงจะต้องเป็นอย่างไร และสรุปว่าเอาหลักฐานมาจากไหน แบ่งเป็นระดับ ได้แก่ หลักฐานสูง ปานกลาง ต่ำ แต่ อย. ของไทย ไม่มีอะไรเลย ขณะเดียวกันเรายังไม่เคยเห็นเกณฑ์เหล่านี้จาก อย. ออกมาเลย เพราะฉะนั้นการที่เขายอมรับวัคซีน Sinovac หรือ AstraZeneca แล้วผ่านมาตรการรองรับทั้งหมดอย่างรวดเร็วนั้น อย. ต้องออกมาตอบคำถามนี้ว่าใช้เกณฑ์อะไร ทำไมบางตัวผ่านการรับรองเร็ว และทำไมบางตัวใช้เวลาในการพิจารณาผ่านนาน อย่างเช่น Pfizer หรือ Moderna ที่หลักฐานชัดเจน ทำไมไม่ยอมให้ผ่าน

เมืองไทยไม่มีกระบวนการที่เปิดเผยชัดเจน จึงทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาของคน คือไม่ใช่แค่กลัววัคซีนอย่างเดียว แต่รัฐบาลเป็นคน discredit วัคซีนตัวที่เอาเข้ามาเองด้วย

หนูน้อย: อันนี้ขอเสริม จริงๆ วัคซีน Sinovac ถ้าเราดูในรายงานของ WHO ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะแนะนำให้ผู้สูงอายุหรือคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปฉีดได้ แต่ข่าวในเมืองไทยเท่าที่ผมได้ยิน เขาอาจจะยอมให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ฉีดได้ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลตรงนี้เขามีงานวิจัยหรือหลักฐานทางการแพทย์มายืนยันไหม ว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สามารถฉีด Sinovac ได้จริงโดยที่ไม่มีผลข้างเคียงและมีประสิทธิภาพดี

ในทัศนะของหมอไม่ทน ทำไมวัคซีน Sinovac ซึ่งถูกนำเข้ามา โดยที่ WHO ยังไม่รับรอง แต่ทำไม อย. รับรองวัคซีนชนิดนี้แล้ว 

เปิ้ล: ถ้าตอบในฐานะประชาชน ก็อยากจะถามรัฐบาลเหมือนกันว่าทำไมถึงเลือกวัคซีนตัวนี้มาก่อน เหมือนเราซื้อของโดยที่ไม่มีข้อมูลอะไรเลย มีแค่รูปตัวอย่างสินค้า แล้วกดสั่งเลย แต่ถ้าตอบในฐานะหมอที่เคยได้ยินมาจากคนข้างใน ข้อมูลหนึ่งที่น่ารับฟังคือ เขาบอกว่าเพราะช่วงแรกของการขายวัคซีนจะมีสิ่งที่เรียกว่า travel bubble (การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศที่สามารถจัดการเรื่องโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆ กัน) 

เช่น ถ้าเราสามารถซื้อ Sinovac ได้มากพอ และทั้งสองประเทศเห็นตรงกันว่า Sinovac จะเป็นวัคซีนที่เรารองรับทั้งคู่ จึงจะสามารถสร้าง travel bubble กับจีนได้ และถ้ากระจายวัคซีนได้มากเพียงพอ ไทยกับจีนก็จะสามารถเปิดการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศได้ แต่พอมาถึงจุดที่แม้แต่จีนยังยอมรับว่าวัคซีนตัวเองอาจไม่ดีพอจนต้องฉีดเพิ่ม สิ่งนี้มันก็หายไปโดยปริยาย


จนถึงขณะนี้มีวัคซีนตัวไหนบ้างเข้ามายังไทย และจะมีตัวไหนเข้ามาอีก

เปิ้ล: คอนเฟิร์มคือ Sinovac และ AstraZeneca โดยจะแบ่งเป็นการนำเข้า และผลิตเองในประเทศ โดยบริษัท Siam Bioscience และล่าสุดมี Sinopharm ที่จะนำเข้ามากลางมิถุนายนนี้โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่วนที่ได้การรับรองจาก อย. ไปแล้ว คือ Johnson & Johnson ซึ่งยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นเจ้าภาพในการนำเข้า และอีกตัวคือ Pfizer คาดว่าเดือนหน้าพร้อมส่ง 20 ล้านโดส

นัท: คนที่บอกว่าคอนเฟิร์ม AstraZeneca มาจากฝั่งรัฐบาล

เปิ้ล: ต้องยอมรับว่าปัญหาการดีเลย์ของ AstraZeneca เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะมีการฟ้องร้องในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 

อันนี้เพื่อให้แฟร์กับรัฐบาล? 

เปิ้ล: ใช่ พูดให้แฟร์กับรัฐบาลว่ามันล่าช้าจริง แต่ไม่แฟร์กับประชาชนในแง่ที่ว่า เมื่อคุณรู้ว่าล่าช้า ทำไมจึงไม่ติดต่อวัคซีนทางเลือกอื่น

ฟังแล้วเหมือนกับหมอไม่ทนมองว่า Sinovac มีประสิทธิภาพที่ต่ำใช่ไหม 

หนูน้อย: เวลาพูดว่ามีประสิทธิภาพต่ำ อาจจะมองได้จาก หนึ่ง มันลดความรุนแรงได้หรือเปล่า สอง มันลดการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งได้หรือเปล่า ซึ่งจากหลักฐานทางการแพทย์ปัจจุบัน พูดกันตามตรงมันลดความรุนแรงได้แน่นอน ในกรณีที่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้ดื้อมาก เช่น สายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์จากจีน แต่พอไปสู่เรื่องลดการแพร่ อันนี้อาจจะมีคำถามอยู่ 

อย่างในชิลี ที่ส่วนใหญ่ใช้วัคซีน Sinovac มันแทบจะไม่ได้ป้องกันในการเกิดเคสใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับ Moderna, Pfizer, Johnson & Johnson หรือ AstraZeneca ที่ฉีดในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และอังกฤษ ซึ่งพบว่าถ้าเราฉีดวัคซีนกลุ่มนี้ในปริมาณมากเพียงพอจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อใหม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า Sinovac ดีไม่ดี ต้องดูว่ามันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าลดความรุนแรงของโรคได้ โอเคมันดี 

แต่ถ้าจะวัดการป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันการเกิดเคสใหม่ มันยังไม่มีข้อมูล ถ้าเทียบกับวัคซีนอื่นๆ เช่น Moderna, Pfizer, Johnson & Johnson หรือกระทั่ง AstraZeneca 

แพทย์ของโรงพยาบาลใหญ่ๆ ออกมาพูดว่า ให้ฉีดปูพรมไปก่อนเพื่อลดการระบาด มองเรื่องนี้อย่างไร 

หนูน้อย: การฉีดแบบปูพรมด้วย Sinovac ต้องพูดว่ามันไม่มีข้อมูลการตีพิมพ์ทางวิชาการที่ชัดเจนพอ ว่าลดการระบาดได้ ซึ่งต้องดูกันต่อไป แต่ถ้าพูดในกรณีวัคซีน AstraZeneca จะพบว่ามีข้อมูลพอสมควรที่บอกว่าสามารถลดการระบาดได้ แต่กรณีนี้ต้องมองให้กว้างขึ้น คือจากข่าวจะเห็นว่า ถ้าฉีดไป 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดได้ ตรงนี้มันถูกคำนวณมาด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์

หมายความว่า วัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงจะลดการระบาด 70-80 เปอร์เซ็นต์ กรณีของ Sinovac ไม่ได้เป็นการศึกษาที่ตีพิมพ์ของวารสารที่นานาชาติยอมรับ ซึ่งจะพบว่าประสิทธิภาพอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในแง่นี้อาจจะต้องฉีดทุกคนในประเทศไทยจึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ 

เปิ้ล: ถ้าเทียบว่า ไม่มีกับมี Sinovac ก็คิดว่าฉีดดีกว่าไม่ฉีดจริงๆ แต่ปัญหามันก็กลับมาที่ประเด็นเรื่องความโปร่งใส ว่าทำไมเราจึงมีวัคซีนแค่นี้ ทำไมคุณไม่มีตัวเลือกอื่น มันเป็น false dilemma มันไม่ใช่ว่าเรามีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือฉีดหรือไม่ฉีด แต่เราสามารถเอาตัวอื่นเข้ามาฉีดได้ด้วย เราไม่ควรให้ Sinovac กลายเป็นความหวังเดียวของประชาชน 

มีข่าวเลื่อนการส่งมอบ AstraZeneca จำนวน 1.7 ล้านโดส อยากทราบว่าจะทันฉีดเดือนมิถุนายนแค่ไหน และถ้าเหลือแค่ Sinovac จะเสี่ยงต่อคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่ลงทะเบียนไว้ไหม เรื่องนี้ประเมินอย่างไร 

หนูน้อย: ถามว่าการฉีดในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สามารถทำได้หรือเปล่า จากการศึกษายังไม่มีการรับรอง ไม่ว่าจะเป็น Sinovac หรือ Sinopharm ส่วนถามว่าถ้าฉีดไม่ทันจะทำอย่างไร ก็ต้องบอกความจริงไปว่า จริงๆ แล้วยังไม่มีการศึกษาในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ฉะนั้นก็อาจเป็นภาระของคนไข้ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีด เป็นการให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีข้อมูลตอนนี้ และอาจต้องให้ผู้ป่วยแต่ละรายหรือผู้ที่มาฉีดชั่งน้ำหนักเอาเอง แต่แน่นอนว่า ก็จะมีปัญหาตามมาคือเรื่องการจัดสรรวัคซีน เพราะรัฐบาลยังไม่บอกว่าจริงๆ วัคซีนจะมาหรือไม่มา แล้วถ้ามาจะมาเมื่อไหร่ 

นัท: รวมไปถึงสมมุติฉีด Sinovac ไป 2 เข็ม แล้วในอนาคตมีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า เช่น AstraZeneca, Pfizer หรือ Moderna เขาจะได้รับการฉีดพวกนั้นด้วยหรือเปล่า หรือถูกตัดไปจากสารบบเลย เพราะตอนนี้มีพวกสายพันธ์ุใหม่หรือการกลายพันธ์ุ ซึ่งกรณีของ Sinovac ยังไม่มีข้อมูลมารับมือได้ 

กลุ่มหมอไม่ทนเสนอให้ “ยกเลิกการควบคุมบริหารจัดการไว้ตามลำพัง” อยากให้ช่วยขยายความข้อเสนอนี้ 

เปิ้ล: ตอนแรกผู้นำเข้าวัคซีนคือรัฐบาล ซึ่งนำเข้า Sinovac กับ AstraZeneca ต่อมามีความล่าช้าในการกระจายวัคซีน กลุ่มเอกชนก็ออกมาเรียกร้อง แต่กลุ่มเอกชนที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงโรงพยาบาลเอกชนอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่ม CEO และผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในแง่เศรษฐกิจด้วย เขาก็รวมกลุ่มกันไปเจรจากับหอการค้าไทยว่าขอนำเข้า Johnson & Johnson ซึ่งอาจจะผ่านรัฐบาลก็ได้ คล้ายเป็นพันธมิตรในการช่วยกระจายวัคซีน โดยเน้นไปที่กลุ่มคนกรุงเทพฯ เป็นหลักก่อน ซึ่งทั้งหมดเขาขอแบกรับค่าใช้จ่ายเอง

แต่ว่าวันเดียวกันรัฐบาลก็ออกมาพูดว่าไม่เป็นไร เกรงใจทางเอกชน บอกว่ารัฐบาลมี road map แล้ว ว่าจะนำเข้าวัคซีนได้ทั้งหมดประมาณ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี และดูตอนนี้ 6 เดือนแล้ว ใครได้ฟังก็รู้สึกสิ้นหวัง 

อยากจะบอกว่า รัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนการนำเข้าวัคซีนทางเลือกอื่นที่เป็นรูปธรรม เช่น กรณีการขึ้นทะเบียน Johnson & Johnson ที่ตอนแรกเป็นความหวังว่าจะเป็นวัคซีนทางเลือก แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ได้รับการพูดถึงอีกเลย หรือกรณี Pfizer และ Moderna ที่มีการติดต่อจากบริษัทมาโดยตลอดว่าจะขอขึ้นทะเบียนและพร้อมส่งของ ก็ไม่ได้มีคำตอบจากรัฐบาลชัดเจนว่า กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ 

มีแต่การแสดงออกของโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้จองวัคซีน บอกว่าจะได้ประมาณเดือนตุลาคม แต่ก็ไม่แน่ใจว่ากำหนดการจะเป็นจริงหรือไม่จริง เพราะทั้งหมดทำให้เห็นว่าวัคซีนทุกตัวต้องผ่านรัฐบาลเกือบหมด ถ้าสมมุติว่าทุกอย่างต้องผ่านระบบราชการแล้วช้าอย่างที่ทำกันมา เวลาเป็นสิ่งมีค่า ภายใต้สถานการณ์แบบนี้รัฐจะต้องกระจายอำนาจตัวเอง และเปิดให้ภาคเอกชนที่เข้มแข็งมาช่วย ในลักษณะที่เป็น outsource ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาทำเป็นการค้า 

การเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนเองได้ กรณีนี้วัคซีนซึ่งควรเป็นเรื่องสิทธิ จะกลายเป็นอภิสิทธิ์หรือไม่ มองเรื่องนี้อย่างไร

เปิ้ล: อยากให้มองภาคเอกชนเป็นพันธมิตรของรัฐบาลมากกว่า เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการบริหารวัคซีน ตัวอย่างการระบาดในกลุ่มที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลยคือกลุ่มที่มีรายได้น้อย เพราะคนมีรายได้ระดับกลาง หรือระดับสูง เวลาเขาติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง เขาสามารถกักตัว 14 วัน 

แต่กลุ่มชนชั้นแรงงานทำแบบนั้นไม่ได้ มันมีความเหลื่อมล้ำตั้งแต่แรก แล้วตอนนี้นโยบายด้านวัคซีนแบบนี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นไปอีก แต่ต้องยอมรับว่าการนำเข้าของเอกชนอาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องเวลา เพราะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางหรือสูงจะเข้าถึงวัคซีนได้ไวกว่า แล้ววัคซีนที่นำเข้าเป็นวัคซีนที่มีข้อมูลยืนยันว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าแน่นอน เพราะว่าสุดท้ายถ้านำเข้าได้จริง จะเป็นเหมือน free market ที่ต้องไปแข่งกันที่ประสิทธิภาพ และคนจะเลือกซื้อสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

ในมุมหนึ่ง รัฐสามารถลดการใช้ทรัพยากรในเรื่องวัคซีนทางเลือกได้ สมมุติมีคนฉีดไป 20 ล้านคน และเขายินยอมที่จะจ่ายวัคซีนตัวนี้เอง หมายความว่ากลุ่มคนที่เหลืออีกประมาณ 40-60 ล้านคนที่รัฐบาลต้องดูแล รัฐบาลก็จะมีงบประมาณมากขึ้นในการดูแล รัฐบาลอาจจะเอาเงินที่ได้จากการลดทรัพยากร จากคนที่เขาฉีดวัคซีนไปแล้ว ไปจัดสรรให้คนอื่นต่อ โดยจัดหาวัคซีนทางเลือกอื่นมาให้กลุ่มคนที่เขาไม่สามารถจ่ายได้ และได้ในเวลาที่ไวขึ้น เราจึงมองว่าสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่ได้มองว่าเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มเติม

นัท: หรือถ้าเกิดมีกลุ่มคนที่จำเป็นจริงๆ แต่ไม่สามารถจ่ายได้ เช่น ชุมชนแออัด เขามีความจำเป็นที่ต้องได้วัคซีนที่ดีและป้องกันการแพร่เชื้อได้ รัฐก็สามารถขอซื้อต่อจากเอกชนมาเพื่อให้กลุ่มคนที่เสี่ยงสูง 

เปิ้ล: แต่ขอย้ำว่า วัคซีนไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องควักเงินจ่ายเอง เพราะเป็นสิ่งพื้นฐานที่รัฐควรจะจัดหาให้กับคนจ่ายภาษีในประเทศ

ตามแนวทางนี้ จะเปิดช่องให้โรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนด้วยหรือไม่ ซึ่งรัฐเองต้องจ่ายแน่ๆ แม้จะจ่ายน้อยมากถ้าเทียบกับต่างประเทศ ข้อนี้จะอธิบายอย่างไร

นัท: เรื่องผลเสียจากวัคซีนและผลข้างเคียงเป็นประเด็นที่ฮอตในหมู่พวกเรามาก คงได้ยินว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งออกมาบอกว่ามีการใส่สาเหตุการตายลงไปทำให้ไม่เป็นการตายจากโควิด ซึ่งตอนนี้รัฐเป็นคนจัดสรรวัคซีนทั้งหมด ก็มีข้อสงสัยว่ามีการระบุผลข้างเคียงไม่ให้เกิดจากวัคซีนจาก Sinovac หรือไม่ ก็น่าคิดว่าถ้าเอกชนมาให้บริการวัคซีนเองแล้ว จะปิดข้อมูลตรงนี้ด้วยได้ไหม มันเป็นปัญหาเรื่องการเขียนสาเหตุและระบุอาการว่าเกิดจากอะไร อันนี้เป็นประเด็นยักษ์ประเด็นหนึ่งเหมือนกัน 

เปิ้ล: คิดว่าเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือรัฐในการนำวัคซีนทางเลือกเข้ามา และรัฐยังสามารถยื่นข้อเสนอเป็นตัวกลางในการติดต่อกับบริษัทประกันได้ เพื่อประกันค่าใช้จ่ายที่รวมเข้ามาในการซื้อวัคซีน ถ้าเกิดผลข้างเคียงที่สามารถคอนเฟิร์มได้ว่าเกิดจากวัคซีน ก็ให้บริษัทประกันจ่าย แต่ความยุ่งยากคือ จะคอนเฟิร์มว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดจากวัคซีนได้อย่างไร 

ล่าสุดราชกิจจาฯ ที่เพิ่งประกาศให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีนทางเลือก Sinopharm ถ้าหากมีผู้เสียหายจากวัคซีน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ราชวิทยาลัยฯ รับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร ตามมาตรา 17 กลุ่มหมอไม่ทน คิดเห็นอย่างไร 

เปิ้ล: เรื่องนี้เป็นเรื่องกฎหมาย ไม่รู้จะวิจารณ์อย่างไรเหมือนกัน แต่การมาของ Sinopharm ก็เป็นการเปิดมิติใหม่ๆ คือ หนึ่ง เราได้วัคซีนทางเลือกเพิ่ม สอง เราได้รู้ว่าจริงๆ มีการนำเข้าแบบนี้อยู่ ซึ่งเราควรเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มียศเท่าเทียมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นด้วย เพราะถ้าทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สามารถทำได้ ที่อื่นก็ต้องทำได้เหมือนกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันว่า ถ้าวัคซีนไม่มาเดือนนี้จะลาออก คิดเห็นอย่างไร 

เปิ้ล: ที่เขาพูดอย่างนี้มาจากที่ว่า ถ้าสมมุติวัคซีนไม่มา ซึ่งเขาไม่ได้พูดเองว่าจะลาออกหรือเปล่า แต่เป็นผู้สื่อข่าวถาม เขาเลยถามกลับไปว่าถ้าสมมุติมาจริง คนที่ถามจะลาออกไหม เราก็อยากถามกลับว่าถ้าหมอเป็นคนตั้งคำถามแล้ว หมอลาออกจริง ท่านสามารถมาทำงานแทนหมอได้ไหม เพราะว่าอันนี้มันเป็นขอบเขตงานของเขาที่ต้องรับผิดชอบ you only have one job คือคุณทำงานนี้ คุณต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ปัดความรับผิดชอบให้คนอื่น การที่เขาออกคนเดียวอาจเกิดประโยชน์ให้สังคมมากกว่าด้วยซ้ำ

เริ่มมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งขอเข้ามาร่วมด้วย คือเขารอไม่ไหวแล้วเหมือนกัน ได้คุยกันไหมว่าถ้าเป็นแบบนี้ การจัดหาวัคซีนจะออกมารูปแบบไหนถ้าจะมาช่วยรัฐ

เปิ้ล: ถ้าหมายถึง อบจ.ปทุมธานี ซึ่งตามข่าวเขาต้องการประมาณ 500,000 โดส แล้วยังไม่ทราบว่าจะนำเข้าผ่านใคร แต่ถ้าผ่านเอง อาจแสดงว่าต่อไปทุกที่สามารถแสวงหาวัคซีนของตัวเองผ่านเข้ามาได้ แต่ต้องรอความชัดเจนอีกที ก็จะเป็นการยากหากจะเรียกร้องจากใคร ตอนแรกที่หมอไม่ทนออกมาเรียกร้อง ถ้าวัคซีนเข้าไทยจะผ่านองค์การเภสัชกรรมก็ได้ จะได้ควบคุมคุณภาพ ควบคุมการจัดส่ง ถ้าเกิดปัญหาก็สามารถเรียกร้องกับองค์การเภสัชกรรมได้ว่าวัคซีนไม่ได้คุณภาพตามที่รับรอง 

ทั้งหมดนี้ถ้าผ่านรัฐก็ปลอดภัย เพราะหากพบปัญหา มีคนรับผิดชอบแน่นอน แต่ที่เราเรียกร้องเพราะอยากให้มันเร็วขึ้น (หมายเหตุ – การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากมีข่าวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอซื้อวัคซีนเอง)

อย่างนี้จะตรงกับข้อเรียกร้องที่ว่า “ยกเลิกการควบคุมอำนาจการบริหารจัดการไว้ตามลำพัง” หรือเปล่า การกระจายการบริหารจัดการวัคซีนควรเป็นรูปแบบไหน

เปิ้ล: คิดว่าคณะกรรมการจัดหาวัคซีนต้องเป็นคณะกรรมการร่วมกัน คือมีการร่วมมือกันของทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล โดยมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา และมีตัวแทนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดการวัคซีนเข้ามาและเห็นข้อมูลพร้อมกัน วางแผนร่วมกัน จนเห็นตรงกันว่าจะทำอย่างไร จะผ่านองค์การเภสัชกรรมเองก็ได้ แต่องค์การเภสัชกรรมจะต้องเปิดให้ผู้ที่เป็น steakholder สามารถเข้าไปตัดสินใจร่วมกันได้ หรือจะเปิดให้เป็นคณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่ให้ภาคเอกชนเข้ามานั่งอยู่ในคณะกรรมการด้วยกันก็ได้ 

แต่มันต้องมีตัวกลาง โดยตัวกลางนี้ประกอบด้วยใคร น่าจะเป็นคำถามนี้มากกว่า ถ้าสามารถมีใครก็ตามที่นอกเหนือจากรัฐเข้ามาด้วยก็ดีเหมือนกัน ถ้าบอกไม่ได้ยังไงก็ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น องค์การเภสัชกรรมก็ต้องออกมาตอบให้ได้ว่ามันช้าจุดไหน และถ้าปลดล็อคได้ก็คือ ให้คนข้างนอกเข้ามาช่วยบริหารจัดการได้ก็จะดี 

ตกลงเราควรยึดตัวเลขประสิทธิภาพไหม

หนูน้อย: ถ้าพูดในเชิงประสิทธิภาพว่ากี่เปอร์เซ็นต์ ต้องเข้าใจว่าการศึกษาแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ช่วงการระบาดไม่เหมือนกัน เชื้อก็เป็นกลุ่มกลายพันธุ์เพื่อหลีกภูมิคุ้มกัน ทำให้วัคซีนที่ใช้ในที่นั้นๆ อาจไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และยังเป็นการศึกษาในช่วงที่โรคมันมีปริมาณมากน้อยต่างกัน ฉะนั้นตามหลักการแล้ว หากเทียบประสิทธิภาพวัคซีนจะไม่สามารถเทียบกันได้ตรงๆ ยกเว้นทำการศึกษาที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน เชื้อกลุ่มเดียวกัน 

แต่หลักคือ วัคซีนทุกตัวประสิทธิภาพตรงกันหมด คือป้องกันอาการรุนแรงได้ แต่การป้องกันการแพร่เชื้ออาจจะมีวัคซีนบางตัวที่ไม่มีข้อมูล ดังนั้นถ้าเทียบแต่ละอันว่าอันไหนดีกว่าแบบชัดๆ อาจเปรียบเทียบไม่ได้ แต่พอดูแนวโน้มได้ เหมือนเกณฑ์ที่ WHO บอกว่าควรมีประสิทธิภาพอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ประสิทธิภาพขอบเขตต่ำสุดต้องมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ผมว่าพอใช้เป็นตัวอ้างอิงได้

นัท: ผมขอเสริมสองประเด็น ประเด็นแรก แม้แต่อาจารย์หมอที่บอกอย่าเปรียบเทียบ สุดท้ายเขาก็วกไปอ้างตัวเลขอยู่ดี ทุกครั้งเลยในบทความวิชาการเดียวกัน เขาก็อ้างตัวเลข อันนี้ผม attack ตรงๆ เลย สอง กรณีของ Sinovac ตัวเลขที่อ้างมาไม่มีข้อมูลที่ผ่านการยอมรับอย่างเป็นทางการในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ หลักฐานมันต่ำกว่าหลักฐานอื่น เพราะฉะนั้นตัวเลขที่เขา report มาก็ยังไม่ใช่หลักฐานที่ยอมรับได้ในระดับพื้นฐานด้วย 

พอทราบไหมว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ฉีดวัคซีนครบแล้วหรือยัง 

เปิ้ล: ฉีดครบแล้วทั้งคู่ โดยพลเอกประยุทธ์ฉีด AstraZeneca ครบ 2 เข็ม ไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่สถาบันบำราศนราดูร พลเอกประวิตรฉีด AstraZeneca ไปแล้ว 1 เข็ม เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ส่วนคุณอนุทิน ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็ม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่สถาบันบำราศนราดูร แต่สำหรับข่าวว่าพลเอกประวิตรฉีดเข็มสองยังไม่เห็น

ทิ้งท้าย มีอะไรที่อยากถามรัฐบาลอีกบ้างไหม 

เปิ้ล: ประเด็นที่อยากถามมากที่สุดมี 3 เรื่อง อย่างแรก เรื่องความโปร่งใสที่ประชาชนตั้งคำถาม ความโปร่งใสที่ว่าคือ ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลในส่วนที่เขาอยากรู้ ไม่มีใครรู้ว่าการจัดซื้อทั้งหมดใช้งบประมาณเท่าไหร่ จะเข้าวันไหน โอเค เรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องที่ลงลึกไป แต่อย่างน้อยพวกเขาควรจะได้รู้ไทม์ไลน์เพื่อจัดการชีวิตตัวเอง ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็จะได้วางแผนว่าพวกเขาจะฟื้นกลับมาได้เมื่อไหร่ เพราะภาคเศรษฐกิจน่าจะเป็นภาคที่ล้มนานกว่าภาคสาธารณสุขด้วยซ้ำ

สอง เรื่องวัคซีนทางเลือกต้องมีอยู่ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เพราะสุดท้ายเราอยากเปิดประเทศ การใช้ Sinovac อย่างเดียวไม่พอแน่ และถ้าอยากป้องกันเรื่องสายพันธุ์ที่รุนแรง AstraZeneca ก็อาจจะยังไม่พอด้วย 

สามคือ เรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งแม้แต่ตอนนี้หมอก็ยังเซ็นเซอร์กันเอง มันจึงไม่ใช่แค่หมอกระทรวงสาธารณสุข แต่รวมไปถึงกระทรวงดีอีเอส (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ก็เข้ามาเซ็นเซอร์ด้วย 

นัท: สุดท้าย เกณฑ์ที่จะบอกว่าเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีน จะได้รับการเยียวยาหรือมีมาตรการที่ชัดเจนอย่างไร เพราะตอนนี้คิดว่าทุกคนกังวลมากและอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนลังเลที่จะฉีดวัคซีนก็ได้ 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า