เสียงระเบิดใน ‘ดงมะไฟ’ 25 ปี 4 ชีวิต การเดิมพันด้วยภูเขา ป่าไม้ และอนาคต

ห่างจากที่ตั้งเมืองหลวงออกไปยังดินแดนฝั่งอาคเนย์ราว 594 กิโลเมตร คือสถานที่ตั้งของชุมชนดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู สถานที่อันมีทัศนียภาพเป็นแนวทิวเขา ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ชุมชนเขาเหล่าใหญ่ ผาจันใด’ มีภูเขาหินปูนน้อยใหญ่อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำห้วยหลายแห่งด้วยกัน ทั้งภูผาฮวก ผาจันได ภูผายา ผาน้ำลอด ฯลฯ ด้วยพื้นที่ตรงนี้คือแหล่งน้ำซับซึมอันอุดมสมบูรณ์ และที่สาธารณประโยชน์ในการใช้แหล่งน้ำเพื่อทำนา เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง

เค้าลางแห่งการต้องสู้มาเยือนชาวดงมะไฟ เมื่อภูเขาหินน้อยใหญ่ถูกหมายตาโดยกลุ่มทุน 

เป็นเวลายาวนานกว่า 25 ปีตั้งแต่การมาของอุตสาหกรรมเหมืองหินปูนขนาดใหญ่ ทว่า 25 ปีในความทรงจำของชาวดงมะไฟ เหมือนเพิ่งผ่านไปไม่นาน เสียงปืน เสียงร้องไห้ และเสียงตะโกนด้วยความเกรี้ยวกราดยังคงดังก้องหู แม้กาลเวลาจะชะล้างความทรงจำของพวกเขาไปไม่น้อย แต่หากได้เปิดฉากเล่าเรื่องราวครั้งใด แววตาคือหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันว่า พวกเขาไม่เคยลืม

เกิดอะไรขึ้นที่ดงมะไฟ

“สมัยก่อนอากาศดี สาวๆ ก็พากันเลาะเล่นถ้ำ ดำนาเสร็จปุ๊บเราก็ไปขึ้นเขาไปหาหน่อไม้มาต้ม มาตำบักหุ่งกิน อยากได้อีรอก เห็ด ก็ขึ้นไปหาเอา พวกผู้ชายก็ทำนา บางทีก็ขึ้นภูไปหาของกินด้วยกัน ช่วงที่แม่มีลูก เขาก็เริ่มมีการจัดกลุ่มอนุรักษ์น้อยขึ้นมา รวมกัน 5-6 หมู่บ้าน มาเรียนรู้ สำรวจสมุนไพรในภูนี่แหละ จันได จันแดง มะยงผา กระชาย มีทุกอย่าง เรื่องหากินเราถนัดนัก แต่เราไม่ทันในความโลภของคน” แม่ลำดวน วงคำจัน สุภาพสตรีหนึ่งในแกนนำคัดค้านเหมืองหินเล่า

พุทธศักราช 2536 บริษัทเอกชนได้เข้ายื่นขอสัมปทานภูผายา เพื่อทำเหมืองหิน ลางร้ายไม่ใช่เรื่องลวงอีกต่อไป เมื่อชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านด้วยเพราะบนเขาลูกนั้นคือที่ตั้งของสำนักสงฆ์ และมีการสำรวจพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงได้ประกาศเป็นแหล่งโบราณคดีในเวลาต่อมา 

พุทธศักราช 2538 ภูผาฮวก จึงเป็นหมุดหมายต่อมาของกลุ่มทุนในการขอประทานบัตร การเคลื่อนไหวคัดค้านทวีความรุนแรง นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมเมื่อชาวบ้าน 2 คนถูกยิงเสียชีวิต โดยที่มือปืนยังคงลอยหายไปในกลีบเมฆ ราวกับกระสุนนั้นเป็นเพียงการลั่นไกในฝัน และคนตายไม่มีอยู่จริง 

4 ปีต่อมาท่ามกลางเสียงคัดค้านและการเดินหน้าของกลุ่มอุตสาหกรรม แกนนำต่อสู้คนสำคัญถูกยิงเสียชีวิตอีกสองราย คือนายสม หอมพรหมมา และ กำนันทองม้วน คำแจ่ม 

โศกนาฏกรรมถูกทำให้ซ้ำรอยเดิมศพแล้วศพเล่า ถึงตรงนี้แล้ว 4 ชีวิตหายไปพร้อมกับความยุติธรรมที่ชาวบ้านร้องหาและยังไม่ปรากฏ 

ยืนตระหง่านอย่างท้าทาย

‘ความเจริญ’ กลายเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อต่อการเข้ามาของอุตสาหกรรม โรงงาน และเหมืองหิน ขณะที่ชาวบ้านได้แต่ตั้งข้อสงสัย ว่าแล้วเหตุใดความเจริญที่เขากล่าวอ้าง ถึงต้องแลกมากับการหายไปของภูเขาและธรรมชาติ 

“ถ้าถามว่าไม่อยากเห็นความเจริญในชุมชนหรือ อยากเห็นครับ แต่ความเจริญไม่ใช่การทำลายทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว นี่คือเป้าหมายที่เราจะสู้เพื่อทรัพยากรที่ยังเหลืออยู่ เพระถ้าเราเสียทรัพยากรไปทั้งหมด วันข้างหน้าเราตอบคำถามลูกหลานไม่ได้เลย” 

เสียงยืนยันของ เอกชัย ศรีพุทธา ต่อการยืนหยัดสู้นับตั้งแต่การมาของกลุ่มทุน ซึ่งหากย้อนไปยังปี 2544 เขาคือหนึ่งในแกนนำที่ยืนตระหง่านท่ามกลางมวลชนกว่า 400 คน พร้อมไมโครโฟน 1 ตัว เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเหมือง ซึ่งขณะนั้นเกิดการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เกิดการบาดเจ็บไปหลายคน ไม่นานจากนั้น คดีฟ้องร้องโดยมีกลุ่มทุนเป็นโจทก์ในข้อหาลอบวางเพลิงที่พักคนงานเหมือง และโรงเก็บอุปกรณ์ของเหมืองหินก็เกิดขึ้น โดยมีชาวบ้าน 12 คนเป็นจำเลย 

“ชาวบ้านขณะนั้นเปิดเวทีอยู่ทางเข้าเหมือง ใช้เครื่องขยายเสียงพูดอธิบายความเป็นไปเป็นมาให้ชาวบ้านฟัง มติประชุมก็ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปแตะต้องวัสดุอุปกรณ์ของเขาในเขตเหมือง ไทบ้านก็ไม่เข้าไปใกล้ แต่จู่ๆ ก็มีไฟโหมขึ้น พอพวกเราเดินเข้าไป ชาวบ้านก็ตะโกนร้องกันว่า ‘ไฟไหม้ ไฟไหม้!’ ตอนนั้นเรากำลังจับไมค์อยู่ จึงบอกให้พี่น้องทุกคนถอยออกมา อย่าเข้าไปใกล้ เขาอาจจะหาเรื่องว่าเราวางเพลิงได้” เอกชัยเล่า 

“ไม่นานก็มีหมายศาลมาเรียกตัว พวกเราก็พากันไป จากนั้นก็สู้ในศาลกันเป็นปี จนสุดท้าย พวกเราสองคนก็เลยขอทางศาลให้ผมกับเพื่อนอีกคนติดคุกแค่สองคนได้ไหม คนแก่อีก 10 คนให้เขาออกไปซะ เพราะเป็นผู้เฒ่าหมดเลย ศาลก็อนุญาต ตัวเราเองเป็นจำเลยที่ 6 ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนสั่ง ส่วนอีกคนก็โดนกล่าวหาว่าเป็นผู้วางเพลิง”  

คดีความในครั้งนั้นส่งผลให้เอกชัยและเพื่อนอีกหนึ่งคนถูกส่งไปใช้ชีวิตหลังกำแพงสูงนานนับ 6 เดือน จากนักสู้กลายเป็นนักโทษ จากชาวบ้านสู่การถูกจองจำ ที่ต่อให้จิตใจจะแข็งแกร่งเพียงใด แต่เอกชัยก็บอกเราว่า เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น ชีวิตในเรือนจำนั้นจึงไม่ง่ายเลย 

“ในวันแรกๆ ที่เข้าไปนอนในเรือนจำ จากหนึ่งวัน เป็นหนึ่งอาทิตย์ เป็นหนึ่งเดือน เป็นสองเดือน เราไม่รู้จะทำตัวยังไงในเรือนจำ จะกินข้าวแบบไหน ก็คิดแค่ว่า เอ้า! ทุกคนที่อยู่ในนี้ก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ พออยู่ไปพักหนึ่ง เราคิดถึงครอบครัว ลูกก็ยังเล็ก  แต่พอเราคิดถึงอีก 10 คนที่เราเอาเขาออกจากคุกได้ เขาเหล่านั้นคงไม่ทิ้งชาวบ้าน เขาคงพากันเดินหน้าสู้ต่อ

แต่ถ้าถามว่าติดคุกมาเคยย่อท้อไหม บ่เคยย่อท้อ เคยเสียใจไหม บ่เคยเสียใจ ดีเสียอีกจะได้มีคำเว่าสู่ลูกหลาน” เอกชัยกล่าวทิ้งท้าย 

สิทธิในเสียงที่ถูกทำให้เงียบหาย 

ปัจจุบัน บริษัทเหมืองแร่ตั้งอยู่ที่ภูผาฮวก บนเนื้อที่กว่า 175 ไร่ และโรงโม่หิน 50 ไร่ บริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง หลังอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภูได้ให้อนุญาตประทานบัตรเหมืองหินแก่บริษัทเอกชนเป็นระยะ 10 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 – กันยายน 2553 และได้มีการต่ออายุประทานบัตรอีกครั้งตั้งแต่ปี 2553 – 2563 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

เหตุใดกัน เสียงของพวกเขาจึงไม่มีใครได้ยิน?

ขณะนี้การต่อสู้เดินทางมาถึงปลายปี 2562 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญเพราะสัญญาประทานบัตรของโรงโม่กำลังจะหมดอายุในเดือนกันยายน 2563 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการหาทางออกจากความขัดแย้งที่คาราคาซังทั้งหน่วยงานรัฐ ชาวบ้าน และกลุ่มทุน โดย คุณสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม ได้แสดงความเห็นผ่านเวทีเสวนา ’20 ปีปัญหาประทานบัตรโรงโม่ผาฮวก-ผาจันได ทางออกก่อนนำไปสู่การต่อประทานบัตรอีก 10 ปี’ ไว้ว่า

“เรื่องราวความขัดแย้งจะว่าเป็นเรื่องเล็กในพื้นที่ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะเรื่องนี้ยาวนานมายี่สิบกว่าปี และมันต้องมีทางออก โดยเฉพาะตอนนี้ที่เป็นช่วงที่จะมีการขอต่ออายุประทานบัตร และต่ออายุการใช้พื้นที่ป่า โดยประมาณอีก 10 ปี เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ทางออกนั้นคือการเคารพกติการ่วมกัน ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า หลักการรัฐธรรมนูญพูดไว้อย่างไร ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนที่สุดของรัฐธรรมนูญทุกฉบับคือ การพัฒนาอะไรก็ตามต้องเคารพต่อสิทธิของชาวบ้าน สิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่สามารถตัดสินใจอะไรง่ายๆ ได้

“ขณะเดียวกัน กรมป่าไม้มีระเบียบอย่างชัดเจนว่า การอนุญาตใช้พื้นที่ป่า ต้องไม่มีราษฎรคัดค้าน นี่จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะมีราษฎรคัดค้านมาโดยตลอด และมีการอนุมัติดำเนินการอยู่ตลอด”

โดยสุนีได้กล่าาวถึงเหตุการณ์สำคัญ คือการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นขออนุญาตการใช้พื้นที่ป่าและใบประทานบัตร โดยอ้างว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการทำเหมืองในขณะที่ชุมชนไม่รับรู้ จนเกิดการฟ้องร้องกระทั่งชนะคดีของชาวบ้าน ทว่าชัยชนะในครั้งนั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งการดำเนินการของเหมืองได้ โดยสุนีได้ถามไปถึงการทำงานของ อบต. กรณีที่มีมติเห็นชอบโดยไม่ได้รับฟังความเห็นของชาวบ้าน ทั้งที่อำนาจของ อบต. นั้นต้องมาพร้อมกับการรับฟังชาวบ้านให้ครบถ้วนจึงจะสามารถออกมติใดๆ ได้ 

“จากวันที่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันก็ 25 ปี ไม่มีวันไหนที่ชาวบ้านไม่ลุกขึ้นสู้ ประเด็นสำคัญคือ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน อบต. เขามีมติให้ผู้ประกอบการณ์สามารถต่ออายุประทานบัตรได้ พอชาวบ้านทราบข่าวก็สงสัยว่าทำไมถึงไม่บอกไม่กล่าวกันเลย จึงไปขอดูเอกสาร ปรากฏว่าทางประธานสภาเขาก็ออกมายอมรับว่าได้รับเอกสารจากทางผู้ประกอบการ ก็ไม่ได้นำเรื่องบรรจุเข้าวาระ เขาเอามาอ่านให้ที่ประชุมฟังแล้วขอมติเลย ชาวบ้านก็บอกว่ามันไม่ถูกต้อง เราจึงคัดค้านสมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวเสริม

เราไม่อาจทวงคืนภูเขาหลังเสียงระเบิด

“การทำเหมืองนั้นมันคือการระเบิดแล้วระเบิดเลย หมายความว่าภูเขาและทรัพยากรธรรมชาติกำลังหายไปเรื่อยๆ ไม่อาจเยียวยากลับคืนมาได้นะครับ เราไม่สามารถเอาหินกลับไปเกาะๆ ถมๆ ได้อีก”  

สุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้ย้ำถึงความสำคัญในการระงับการระเบิดหินในขณะที่คดีความยังอยู่ในชั้นศาลปกครอง และได้เท้าความถึงการขอต่อใบอนุญาตครั้งแรกในปี 2543 ได้มีการฟ้องร้องจนถึงปี 2555 โดยศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนป่าเก่ากลอยและป่านากลางในพื้นที่ 175 ไร่ และโรงโม่อีก 50 ไร่ และมีคำสั่งให้เพิกถอนการต่อใบอนุญาตใบประทานบัตรเหมืองหินอุตสาหกรรม เหตุเพราะผู้ประกอบการใช้เอกสารปลอมในการขอใบอนุญาต โดยสุรชัยได้ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า

“กระบวนการครั้งที่หนึ่งยังทำไม่ถูกต้อง คุณยังจะมาต่อครั้งที่สองได้อย่างไร” 

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน (Community-led Impact Assessment Institute) ได้หยิบประเด็นของรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการอนุญาต – หรือไม่อนุญาตในการทำโครงการใดๆ โดยเฉพาะเรื่องของการทำเหมืองแร่ เหมืองหิน โรงโม่หิน ทั้งนี้ในกรณีของตำบลดงมะไฟนั้น บริษัทเคยทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้นในปี 2543 โดยเธอได้กล่าวถามชาวบ้านกลางเวทีเสวนาว่า 

“มีใครได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรายงานฉบับนี้ไหม

“มีใครมาเปิดประชุมแบบนี้ แล้วเล่าโครงการให้ฟังว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร และออกแบบมาตรการลดผลกระทบด้วยกัน มีไหม” เธอถาม

คำตอบที่ได้ผ่านปากชาวบ้านคือ “บ่มี บ่ฮู้”

สิ้นคำตอบของชาวบ้าน สมพรกล่าวต่อว่า “ในปี 2554 ทางผู้ประกอบการได้มีการปรับปรุงรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ซึ่งเราก็ไม่รู้อีกว่าปรับปรุงเนื้อหากันอย่างไร ฉะนั้น รายงานที่เขาถือปัจจุบันนี้คือรายงานฉบับปรับปรุงปี 2554 สิ่งที่เขาต้องทำเมื่อเหมืองเริ่มดำเนินการคือ ต้องจัดทำรายงานติดตามผลกระทบ โดยการออกแบบมาตรการว่า ถ้ามีการระเบิดเวลานี้ จะออกมาตรการอย่างไรเพื่อลดผลกระทบ รถจะวิ่งอย่างไร จะจัดการกับเศษหินและฝุ่นอย่างไร และต้องมีการจัดทำรายงานติดตามว่าตนเองได้ดำเนินงานตามมาตรการที่วางไว้

สมพร: เราเคยเห็นสถานีวัดฝุ่นไปตั้งหน้าบ้านใครบ้างไหมคะ? 

ชาวบ้าน: บ่มี

สมพร: เราได้ทราบค่าตัวเลขฝุ่นไหมว่าตกลงแล้ว ฝุ่นที่เกิดขึ้นเกินค่ามาตรฐานหรือไม่? 

ชาวบ้าน: บ่ฮู้

สมพร: ที่ถ้ำตรงนี้มีสถานีวัดฝุ่นวัดเสียงไหม 

ชาวบ้าน: บ่ๆ 

อีกครั้ง – หลังคำตอบของชาวบ้าน สมพรจึงเริ่มชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อการที่ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมและไม่ได้รับข้อมูลใดๆ จากผู้ประกอบการ ผ่านการทำงานเก็บข้อมูลร่วมกับชุมชนดังนี้ 

“หนึ่ง – การทำเหมืองแร่ที่ทำให้แหล่งอาหารของชาวบ้านหายไป เพราะภูฮวกเคยเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน ที่ไปหาหน่อไม้ เห็ด และอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านที่ไม่มีรายได้เลยนั้น แค่เดินเข้าป่าเขาก็ไม่อดตาย พอมีการทำเหมือง แหล่งอาหารนี้ก็ได้หายไป 

“สอง – การระเบิดทำให้มีเศษหินกระเด็นออกมา โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินอยู่ติดกับเขตสัมปทาน

“สาม – การคมนาคม การชำรุดของถนนเนื่องจากมีสิบล้อสัญจรไปมา และอีกส่วนคือชาวบ้านต้องเปลี่ยนเส้นทางและขับอ้อมไปทางที่ไกลกว่าเพื่อไปจุดทำกิน และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

 “สี่ – ผลกระทบต่อสุขภาพ และการเผชิญกับเสียงระเบิดหิน จากวิถีชีวิตเดิมที่เขาอยู่กับธรรมชาติที่เงียบสงบไปจนถึงฝุ่นที่เกิดจากการระเบิดหิน

“ห้า – ระบบนิเวศ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการระเบิดภูเขาหนึ่งลูกแต่ชาวบ้านมองถึงระบบนิเวศที่เป็นองค์รวม ภูเขาที่เชื่อมโยงกับผืนป่า แหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นการหายไปของภูเขาหนึ่งลูก หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางน้ำ และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ”

คุ้มทุนแต่ไม่คุ้มค่า

เดชา คำเบ้าเมือง เจ้าหน้าที่โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ได้กางข้อมูลผ่านเวทีเสวนาย้อนไปในช่วงปี 2538 ซึ่งมีการประกาศแหล่งหินเพื่อการทำเหมืองทั่วทั้งประเทศกว่า 318 แปลง เนื้อที่ประมาณ 140,000 ไร่ และภาคอีสานคือพื้นที่อันดับสองที่ถูกประกาศไปกว่า 43,000 ไร่ ความน่าสนใจคือภาคอีสานมีปริมาณแร่ไม่ถึง 800 ล้านตัน ทว่ากินพื้นที่ถึง 43,000 ไร่ เทียบกับภาคกลางที่มีจำนวนแร่กว่า 3,200 ล้านตัน คำถามสำคัญคือ คุ้มค่าหรือไม่ในการจะระเบิดภูเขาเพื่อให้ได้แร่มา 

“จากการเก็บข้อมูลของชาวบ้านร่วมกับนักวิชาการต่างๆ พบว่า หน่อไม้ในเขตป่าที่เราได้กินอยู่ทุกวัน สามารถเก็บได้ปีละประมาณ 70,000 กิโลกรัม นอกจากนั้นบริเวณภูผาฮวกยังเป็นแหล่งอาหารไม่ว่าจะเห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง สมุนไพร ต่างๆ นานา คำนวณเป็นเงินออกมาได้ปีหนึ่งประมาณ 113 ล้านบาท นี่คือความคุ้มค่าของชุมชนนี้

“แต่ที่ผ่านมา ข้อมูลของเหมืองบอกว่า เขาจะได้เงินจากการทำเหมืองตลอดอายุโครงการประมาณ 4,800 ล้านบาท แล้วให้ค่าภาคหลวงเพียง 194 ล้านบาท คำถามคือที่ผ่านมาชาวบ้านสามารถสร้างมูลค่าจากทรัพยากรในพื้นที่ได้ปีละ 113 ล้านบาท เทียบกับการทำเหมือง 25 ปี 194 ล้านบาท คุ้มไหมครับ นี่หรือคือการพัฒนาที่แท้จริง” เดชากล่าว 

สถานการณ์เดินทางมายังช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อทางผู้ประกอบการกำลังเร่งดำเนินการต่อใบอนุญาตขอเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองหินบนภูผาฮวกอีก 10 ปี ซึ่งถ้าบริษัทสามารถต่อใบอนุญาตได้สำเร็จ ภูเขา และป่าไม้จะถูกระเบิด ระบบนิเวศถูกทำลาย และแหล่งอาหารของชุมชนก็จะสูญหาย ส่วนนายทุนก็จะขนเอาแร่ไปขายต่อไปอีกจนถึงปี 2573 

เวทีการพูดคุยครั้งนี้จึงเป็นจุดนัดพบสำคัญภายใต้ความหวังของชาวบ้านว่า การต่อสู้ที่แลกมาด้วยเวลาอันยาวนานกว่า 25 ปี ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่แตกฝั่งแบ่งฝ่าย อิสรภาพที่ถูกจองจำผ่านคดีความมากมาย ไปจนถึงการสังเวยชีวิตของเเกนนำ จะมาถึงจุดสิ้นสุด 

ทำไมคนถึงไม่เท่ากัน

จากการต่อสู้ด้วยกำแพงมวลชนที่กางกั้นอย่างมั่นคงเพื่อปกป้องภูเขา ความเหนื่อยล้าสะสมจากการต่อสู้ซึ่งหน้า ต่อคดีความ ต่อการตามหาความยุติธรรมที่ชาวบ้านเชื่อมั่นว่ามีอยู่ เส้นทาง 25 ปีสร้างความแข็งแกร่งให้ชาวบ้านไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเติบโตและเรียนรู้นั่นคือการต่อสู้ด้วยข้อมูลและเอกสาร 

“หลายๆ ครั้งที่เราพากันไปไม่ว่าจะข้างทำเนียบรัฐบาล ไปนอนอยู่ข้างกระทรวงเกษตรฯ หรือจากการไปที่ศาลากลางขอนแก่นเป็นเดือนๆ เราได้ประสบการณ์และการเรียนรู้ ประกอบกับความรู้จากเหล่าอาจารย์และลูกๆ นักศึกษา ทำให้ได้แง่คิดว่า เราจะสู้แบบหักด้ามมีดด้วยสันแข้งเหรอ ไม่ไหวแล้ว เราต้องต่อสู้ด้วยข้อมูล ตามเหตุการณ์ให้เท่าทันเขา ไปเรียนรู้หรือไปประชุมในเวทีที่มันจะช่วยเพิ่มเติมความคิดให้เรา จากเมื่อก่อน ไทบ้านอย่างเราๆ ทำได้แต่จับปูใส่กระด้ง” เอกชัยเล่า 

“พวกแม่เคยดั้นด้นไปยื่นหนังสือที่กรุงเทพฯ เป็นวันๆ พอไปถึงเขาบอกว่า ‘พวกเจ้าสิมาเฮ็ดหยังไกลปานนี้ เขาได้แล้วโรงโม่ ผู้นำพวกเจ้าไปเอาเงินเขาแล้ว’ พวกแม่ถึงกับร้องไห้ออกมาจากห้องเขา พอออกมาก็มีคนหนึ่งมาพูดกับเราว่า ‘อย่าท้อแท้ พวกเจ้าสิมีคนช่วยอยู่ อย่าเพิ่งหมดหวัง ไปฟ้องศาลปกครองเด้อ’ พวกแม่จำได้ไม่ลืม คำของเขาทำให้เราได้ต่อสู้กันถึงทุกวันนี้” แม่ลำดวนเล่าเสริม

เราเหลือเวลาอีกเกือบปีในการที่เขาจะขอต่อสัญญาสัมปทาน ถ้าเราระงับไว้ไม่ได้ ตรงนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกเลย เมื่อก่อนข้าวก็งาม น้ำก็ไหล ตอนนี้ไม่ใช่แล้วนะ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น เราอยากให้มีเวทีมาคุยกันแบบนี้ มาถกปัญหา มาเดินไปด้วยกัน ไม่อยากให้มาเอาเป็นเอาตายกันแล้ว มาทำงานด้วยกัน” พ่อใหญ่เอกชัยกล่าว

“และถ้าการต่อสู้ครั้งนี้เราแพ้ แม่ก็ภูมิใจเหมือนเดิมเพราะเราทำถึงที่สุดแล้ว สุดๆ แล้วจริงๆ เราภูมิใจในตัวเอง เพราะเราสู้อยู่ตลอด ตลอดจริงๆ” แม่ลำดวนเล่าถึงเหตุการณ์อันเป็นแรงผลักดันในการปกป้องภูเขาของเธอและเพื่อน”

“25 ปีที่ผ่านมา มันนานมากเลยนะ” คำพูดเชิงคำถามจากฉันถึงเขาซึ่งอยู่ตรงหน้า

“นานสิ สู้ตั้งแต่หนุ่มยันแก่” เอกชัยว่าเช่นนี้

“เป้าหมายของชาวบ้านอยู่ตรงไหนกับการต่อสู้ครั้งนี้” คราวนี้ฉันถาม

“และถ้าการต่อสู้ครั้งนี้เราแพ้ แม่ก็ภูมิใจเหมือนเดิมเพราะเราทำถึงที่สุดแล้ว สุดๆ แล้วจริงๆ เราภูมิใจในตัวเอง เพราะเราสู้อยู่ตลอด ตลอดจริงๆ” แม่ลำดวนซึ่งนั่งอยู่ข้างกันตอบ

“ส่วนที่หายแล้วก็ให้มันหายไป จบกันแค่นี้ซะ พ่อแค่อยากบอกสังคมว่า พ่ออายที่จะไปตอบลูกหลานในวันข้างหน้าถ้าทรัพยากรมันหายไปหมด ตอนนี้มันยังเหลืออยู่ ก็ให้เหลือไว้ซะ เพราะถ้าเราเสียทรัพยากรไปทั้งหมด วันข้างหน้าเราจะตอบลูกหลานไม่ได้เลย แต่ถ้ามันยังเหลือไว้ อะไรที่เสียไปแล้วก็เสียไป เรายังพอตอบได้ ว่าพวกเรานี่แหละที่สู้เพื่อมัน” เอกชัย ศรีพุทธา กล่าวทิ้งท้ายด้วยแววตาที่ยังคงมุ่งมั่น เป็นอันว่าหลังจากนี้ แม้ชนะหรือแพ้ แม้ขบวนการชาวบ้านจะเหลือมากหรือน้อย เราสิ้นสงสัยในหัวใจของพวกเขา

  • จากเวทีเสวนา 20 ปีปัญหาประทานบัตรโรงโม่ผาฮวก-ผาจันไดทางออกก่อนนำไปสู่การต่อประทานบัตรอีก 10 ปี ประกอบด้วยชาวบ้าน นักวิชาการ นักโบราณคดีกรมศิลปากร ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานภาครัฐประกอบด้วยนายอำเภอสุวรรณคูหา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ และสื่อมวลชนหลายสำนัก  
  • ทั้งนี้ทางผู้จัดเวทีได้เชิญไปยังทางผู้ประกอบการเหมืองหินปูน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า