ในห้องสีดำ แวดล้อมด้วยแสงสีส้มสลัว เพดานห้อยแขวนบัตรพนักงานบรรจุข้อความที่พูดไม่ได้ เทียนเล่มแล้วเล่มเล่าถูกจุดติดด้วยมือของเธอ แสงสว่างเล็กจ้อยน้อยแรงเทียนอยู่บนกระจกเงาที่ติดเรียงรายไว้กับผนังทั้งสามด้าน กาลเวลาปรากฏอยู่ในรูปของน้ำตาเทียน ซึ่งเลื่อนไหล ทับถม และบิดเบือน ราวกับไม่มีจุดสิ้นสุด
การทำงานแลกเงินเพื่อดำรงชีวิตเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของมนุษย์หรือเปล่า คุณอาจมีคำตอบที่แตกต่างกันไป แน่นอนว่าถ้าเรารักงานและทำงานออกมาได้ดี มีความก้าวหน้า ซึ่งจะตามมาด้วยค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับโลกทุนนิยม มันก็แทบการันตีว่าหลายปัญหาในชีวิตจะพบเจอกับทางออก กระนั้น อีกฟากของความจริง มักมีเสียงสะท้อนถามกลับมาว่า กว่าจะถึงวันนั้น การทำงานเรียกร้องสิ่งใดไปจากเราบ้าง
‘น้ำอุ่น’ พิชชาภา หวังประเสริฐกุล ศิลปินวัย 25 ปี ตั้งคำถามถึงตัวตนของเธอในฐานะคนทำงาน ภายใต้ระบบที่บีบคั้นด้วยข้อเรียกร้องทั้งเวลา พลังงาน อารมณ์ และความรู้สึก ผ่านการแสดงสดแบบต่อเนื่อง (durational performance)
ปัจจุบันน้ำอุ่นทำงานเป็น Creative Art Director อยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง และเป็นศิลปิน Performance Art เธอเริ่มต้นเส้นทางศิลปินในปี 2020 หลังจากนั้นเพียง 2 ปี เธอมีโอกาสได้แสดงใน Bangkok Art Biennale 2022 กับผลงานที่ชื่อว่า The Standard และล่าสุด Don’t Cry At Work นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่กำลังแสดงอยู่ที่ Gallery VER ซึ่งเป็นที่มาของบทสนทนาครั้งนี้
บ่ายวันหยุด อากาศร้อนจนแทบละลาย เรานั่งกันอยู่ในร้านกาแฟเล็กๆ วันที่หลายคนกำลังเก็บกวาดความรู้สึกและสะสางเรื่องส่วนตัวที่สะสมมาตลอดสัปดาห์ ก่อนจะกลับไปทำงานในเช้าวันพรุ่ง
อยากให้ช่วยเล่าถึงภาพรวมของนิทรรศการครั้งนี้สักหน่อย
Don’t Cry At Work เป็นนิทรรศการที่เราอยากจะสำรวจในเรื่องของการทำงาน เรื่องของตัวตน ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานที่พูดเรื่องชีวิตการทำงานมาแล้ว 2 ชิ้น ชิ้นแรกชื่อว่า I love my job พูดถึงการเป็นศิลปินที่ชีวิตไม่เห็นจะสวยงามเหมือนงานศิลปะที่สร้างเลย และชิ้นที่สองคือ The Standard อันนี้พูดถึงมาตรฐานการใช้ชีวิต จนกระทั่งมาถึงงานครั้งนี้ มันจะเป็นงานที่เรามองในมุมส่วนตัวขึ้นอีกนิด ด้วยคำถามที่ว่าตัวตนกับการทำงาน มันกำลังเล่นบทบาทอะไรต่อกันอยู่ ซึ่งเราเชื่อว่าการมองในมุมส่วนตัวก็ไม่ได้เป็นการตัดขาดคนดูออกไปแล้วพูดถึงเรื่องตัวเองอย่างเดียว สุดท้ายแล้วการมองเข้าไปในเรื่องส่วนตัว เราเชื่อว่ายังมีความเชื่อมโยงกับคนอื่นอยู่ คนที่มีปัญหาหรือกำลังครุ่นคิดเกี่ยวกับตัวตนที่อยากเป็น ตัวตนที่สามารถใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ กับตัวตนที่ต้องเป็น รวมถึงการที่เป้าหมายของชีวิตถูกทำให้บิดเบี้ยว หันเหไปจากการที่เราต้องพยายามเอาตัวรอดด้วยการทำงานเลี้ยงชีพในทุกๆ วัน
ส่วนใหญ่แล้วงานของน้ำอุ่นจะมาจากการสังเกตตัวเองในช่วงนั้นๆ ว่าเรามีความกดดัน หรืออยากจะแสดงออกในเรื่องอะไร จากนั้นจึงค่อยๆ โฟกัสว่ามันมาจากอะไร จากนโยบาย จากภาพรวมของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อะไรที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ สิ่งที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกไปแค่คนเดียว มันคือการมองเข้าไปในเรื่องส่วนตัวที่เราอยากพูดก่อน แล้วค่อยเชื่อมโยงไปหาคนอื่น เพื่อที่จะแชร์สิ่งนั้นร่วมกัน
เห็นว่ามีอุปกรณ์ประกอบการแสดง เช่น บัตรพนักงานห้อยคอ กระจก เทียน ซึ่งอยู่ในห้องสีดำ การออกแบบพื้นที่การแสดงในลักษณะนี้ตั้งใจจะบอกอะไร
น้ำอุ่นรู้สึกว่ารูปทรงสี่เหลี่ยมนั้นมีความหมายบางอย่างกับชีวิต โดยเฉพาะชีวิตการทำงาน มันเป็นรูปทรงที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในธรรมชาติ แต่เป็นรูปทรงที่มนุษย์สร้างขึ้นบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ โต๊ะ หน้าต่าง แอร์ ตึก ซึ่งรูปทรงสี่เหลี่ยมนี้ เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แบ่งมนุษย์ออกจากกัน ห้องสี่เหลี่ยม ผนังสี่เหลี่ยม กระจกสี่เหลี่ยม มันคือการอยู่ร่วมกันแต่ว่าไม่ได้เข้าใจความเจ็บปวดของกันและกัน ในตึกเราอยู่ด้วยกันเป็นร้อยคน แต่เราไม่ได้รู้จักหรือมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันเลย
เรารู้สึกว่ารูปทรงสี่เหลี่ยมคืออะไรบางอย่างที่พูดถึงสังคมในปัจจุบัน การทำงานหรือทุนนิยม ซึ่งเราอาจต่อยอดไปในอนาคต แต่สำหรับครั้งนี้อุปกรณ์ในการทำงานก็คือสี่เหลี่ยม หน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอมือถือที่จ้องอยู่ทุกวัน และบัตรพนักงานที่เป็นความพยายามบรรจุข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานของคนคนหนึ่งลงไปในบัตรห้อยคอ ซึ่งทุกอย่างที่อยู่ในนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานอย่างที่บอกไป หลังจากนั้นค่อยพยายามสู้มันด้วยอุปกรณ์ทางศิลปะ เช่น ฉันจะยัดโมเสกเข้าไป จะยัดไดอารีเข้าไป จะยัดเทียนไขเข้าไป แต่สุดท้ายแล้วก็จะอยู่ในกรอบ มันคือการพยายามสู้กันหรือพยายามหาบทบาทของกันและกัน
สิ่งหนึ่งที่เราชอบในนิทรรศการนี้คือ บัตรพนักงาน พอแขวนไว้มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสิ่งที่ทั้งหลอกหลอน เป็นภาระ เป็นสิ่งที่ติดตัวเรา เป็นอะไรที่อยู่ข้างบนตัวเรา ตอนที่ทำการแสดง น้ำอุ่นจะจุดเทียนข้างกระจกที่อยู่รอบๆ เวลาเงยหน้าขึ้นไปก็จะเห็นบัตรพนักงาน เป็นเหมือนตัวตนที่เราต้องสวมใส่ไปทำงานทุกวัน ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ในบัตรพนักงานที่แสดงจะมีไดอารีอยู่ มีตัวตนของเราอยู่ แต่สุดท้ายก็ถูกล้อมทับด้วยโมเสกที่เบลอคำให้อ่านไม่ออก ซึ่งเราต้องการสื่อถึงตัวตนภายนอกที่เราต้องสวมใส่ไปทำงานทุกวันด้วยสภาพจิตใจที่พร้อมทำงาน กระตือรือร้น ขยัน ไม่เบรกดาวน์ ไม่เศร้า ไม่ได้หงุดหงิดเกินไป ที่จริงแล้วมีความซับซ้อนมากกว่านั้น คือเราต้องตั้งค่าตัวเองให้กลางที่สุด ถ้ามีปัญหาอะไรขึ้นมาเราต้องไปจัดการที่บ้าน ถ้าอยากร้องไห้ก็รีบร้องที่บ้านให้เสร็จ แต่จะร้องเยอะก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวตาจะบวมตอนไปทำงาน
ในส่วนของเทียน มันค่อนข้างมีความหมายทางลบ สำหรับงานชิ้นนี้ เทียนจะแสดงให้เห็นถึงเวลาที่ผ่านไป ในการกระทำซ้ำๆ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มันเคยมีเทียนจุดอยู่ตรงนี้ 10 เล่ม ต่างเวลากัน จากการซ้อนทับกันของน้ำตาเทียน จากการไหลของน้ำตาเทียน มันแสดงให้เห็นว่าคนคนหนึ่งต้องใช้จ่ายเวลาไปกับสิ่งนี้มากขนาดไหน และการที่น้ำตาเทียนไหลลงบนกระจก สำหรับเราก็คือตัวตนที่กำลังถูกบดบัง
ดูเหมือนว่าชื่อนิทรรศการ Don’t Cry At Work จะมีนัยของคำสั่ง ซึ่งในคำกล่าวนำนิทรรศการก็มีคำว่า ตัวตน เลือนราง บิดเบี้ยว อยากให้ช่วยขยายความส่วนนี้ในบริบทของนิทรรศการหน่อย
มันเป็นเรื่องของ identity แม้เราจะบอกว่ายังไม่รู้ว่าตัวตนด้านการทำงานกับตัวตนในแบบที่เราอยากเป็น มันส่งเสริมหรือทำลายกันยังไง แต่ลึกๆ แล้วเราเทไปในทางที่มันขัดแย้งกันอยู่ เช่น ตอนแรกเราตั้งใจทำงานเพื่อจะซัพพอร์ตตัวตนทางด้านศิลปะ ใน 365 วัน เราอาจทำงานศิลปะได้แค่ 30 วัน แต่เราต้องอยู่ให้ถึงวันนั้นให้ได้ การทำงานคือการหาเงินหาปัจจัยเพื่อให้มีชีวิตต่อไปได้
ตอนแรกลำดับความสำคัญถูกวางไว้ว่า อันดับหนึ่งคือตัวตนทางด้านศิลปะ แล้วตัวตนทางด้านการทำงานจะมีหน้าที่ซัพพอร์ต แต่พอเข้าสู่ชีวิตการทำงานไปเรื่อยๆ กลับมีการแย่งชิงความสำคัญกันอยู่ สมมติว่าวันนี้ต้องทำงานชิ้นนี้ แต่เราบอกว่าไม่ได้ เพราะจะไปเวิร์กช็อป ตัวตนด้านการทำงานก็คือฉิบหายแน่นอน หรือว่าเรากำลังอยู่ในโมเมนต์ที่สำคัญในชีวิต ฉันอยากคุยกับศิลปินคนนี้ แต่พอดีมีงานเข้ามาและงานเรียกร้องจากเราอยู่ว่า เฮ้ย สนใจตรงนี้หน่อย มันด่วนมาก สุดท้ายเราก็ต้องยอมปล่อยมือจากโมเมนต์นั้นเพื่อหันหน้ามาหางาน แล้วก็จะกลับมาคิดทีหลังว่า ไม่ใช่งานหรอกเหรอที่เป็นสิ่งสำคัญรองลงมาในชีวิต
งานเรียกร้องหลายอย่างจากเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลา ความทุ่มเท การพัฒนาตัวเอง หรือเวลาว่างที่เหลือแทนที่จะเอาไปวาดรูป ไปฝึกกระบวนการที่สำคัญต่อการสร้างงานศิลปะ แต่ช่วงหลังเริ่มเกิดความไขว้เขว เริ่มเอ๊ะ หรือว่าเราควรเอาเวลาไปฝึกอะไรที่สำคัญต่องาน เช่น ฝึกภาษา เรียนโปรแกรม ด้วยความคิดที่ว่าอาจช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น ได้เงินมากขึ้น และอาจให้ความสุขที่เทียบเท่ากับการทำสิ่งที่เราอยากทำ ซึ่งก็คืองานศิลปะ มันเริ่มมีภาพบางอย่างที่บอกว่าเธอสามารถมีความสุขได้ ถึงแม้เธอจะทำงานแค่อย่างเดียว เอาเงินไปเที่ยวสิ เอาเงินไปซื้อของที่อยากได้สิ ไม่เห็นต้องเหนื่อยทำงานศิลปะ แค่เป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดาคนหนึ่งที่ทำงานได้ดีก็อาจมีความสุขแล้วก็ได้
เพราะอะไรคุณถึงสนใจและเลือกสื่อสารด้วย Performance Art
เราชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก ชอบวาดรูป เราจะอยู่ในกลุ่มตัวแทนโรงเรียนที่ต้องไปประกวดวาดรูป แต่ปัญหาของการประกวดวาดรูปคือต้องวาดลายเส้นเดิมๆ หรือวาดจากแนวคิดที่อาจารย์ออกแบบให้ หลังจากนั้นพอโตขึ้น แน่นอนว่าเรายังชอบศิลปะอยู่ แต่รู้สึกว่าต้องหาศิลปะที่เป็นรูปแบบของตัวเอง เพราะเราต้องการใช้เพื่อแสดงออกทางอารมณ์ เวลาที่มีความเศร้ามากเกินไป มีความสุขมากเกินไป หรืออยากระบายอะไรออกมา เราจะได้เลือกแสดงออกด้วยศิลปะวิธีการนั้น
เรามองหาแนวทางของตัวเองอยู่ จนกระทั่งได้ไปเป็นผู้นำชมนิทรรศการของ Bangkok Art Biennale 2018 รอบนั้น มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramovic – ศิลปินชาวเซอร์เบีย) เขามาเปิดนิทรรศการพอดี และห้องที่เราต้องปฏิบัติหน้าที่คือห้องแสดงเพอร์ฟอร์มของมารีนา ซึ่งนั่นคือครั้งแรกที่เราได้เห็น performance art อย่างการนับถั่ว การลงไปนอน หรือการนั่งจ้องสี เราเห็นว่าคนที่เข้าไปดูก็จะมีทั้งคนที่งง คนที่ขำ และคนที่ร้องไห้ เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันเข้าไปใกล้ชิดคนดู เราไม่เคยเห็นคนร้องไห้ต่อหน้างานศิลปะจิตรกรรมหรือวิดีโอ แต่เราเห็นจาก performance art ก็เลยคิดว่า หรือจะเป็นการแสดงออกด้วยวิธีนี้ที่เรากำลังมองหา
Performance Art มีอุปสรรคหรือข้อจำกัดบ้างไหม
มี ถ้าเป็น durational performance art อาจเป็นเรื่องของร่างกาย เรื่องความอดทน อย่างบางชิ้นของเราก็เคยใช้เวลาการแสดง 5 ชั่วโมง ตอนนี้ยังไม่มีปัญหา แต่พอนานไปก็อาจมีปวดตามร่างกาย หรือการที่ต้องกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ที่จริงก่อนแสดงงานควรต้องดูแลร่างกายให้พร้อม เช่น ฝึกโยคะ ฝึกนั่งสมาธิ แต่สุดท้ายแล้วในหลายๆ ครั้ง เราก็จะไม่มีเวลา กลายเป็นว่าเราต้องแสดงเลย โดยที่ไม่ได้เตรียมอะไรมากขนาดนั้น
ในแง่การนำเสนอ performance art ก็เหมือนงานศิลปะอื่นๆ ถ้าไม่มีคนมาดูก็จะกลายเป็นการส่งไปสู่อากาศ ซึ่งพอเป็น durational เราไม่ได้บังคับให้คนมานั่งกับเราตลอด มันจะมีบางโมเมนต์ที่ไม่มีใครดูเลย ซึ่งเราต้องรักษาสมาธิตรงนั้นไว้ให้ได้ ว่าฉันต้องมีสติกับสิ่งนี้ แม้จะไม่มีใครดูเลย อีกอย่างหนึ่งคือโมเมนต์ที่มีเราเพอร์ฟอร์มอยู่ในพื้นที่แสดงกับโมเมนต์ที่ไม่มีนั้นต่างกัน ทำให้ตอนนี้เราเริ่มสนใจการทำศิลปะแบบอื่นๆ ที่เราจะไม่รู้สึกชอบมันน้อยลงในตอนที่เราไม่ได้อยู่ตรงนั้น หรือทำยังไงให้ตอนที่เราจากมาแล้ว มันยังคงทรงพลังอยู่ในพื้นที่แสดงงาน
เราจะมองว่าการใช้ชีวิตในแต่ละวันของแต่ละคน เป็น Performance Art ได้ไหม
ทั้งเป็นและไม่เป็น มันมีสองความหมาย ถ้าน้ำอุ่นแค่ตื่นเช้ามาแล้วไปทำงาน กลับบ้านมานอน เพราะแค่ต้องทำ โดยไม่ได้ตั้งใจจะสื่อความหมายอะไรเลย ทำเพื่อจุดประสงค์ตรงตัว กินข้าวเพราะหิว ทำงานเพราะหาเงิน นอนเพราะง่วง อย่างนี้เราไม่ถือว่าเป็น performance art มันไม่ได้มีความหมายที่ต้องการจะสื่อสาร แต่ถ้าถามว่า performance art เป็นการใช้ชีวิตประจำวันได้ไหม ได้ เช่น ถ้าน้ำอุ่นบอกว่าจะเพอร์ฟอร์มด้วยการกินมาม่า จะเพอร์ฟอร์มด้วยการพับผ้า ซักผ้า หรือตากผ้า อย่างนี้ได้เพราะนาทีนั้นการซักผ้าของน้ำอุ่นเป็นการซักผ้าเพื่อสื่อถึงเรื่องอื่น ไม่ได้ต้องการให้ผ้าสะอาด แต่ต้องการพูดเรื่องของผู้หญิง หรืออะไรก็ว่าไป เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มแสดงออกโดยใช้ร่างกายและการกระทำของคุณในการสื่อสารทางศิลปะ นั่นคือ performance art
โดยส่วนตัว คุณคิดว่างานกับชีวิตแยกจากกันได้ไหม หรือ Work Life Balance มีจริงไหม
แยกจากกันไม่ได้ และที่จริงก็ไม่ควรแยกจากกัน แค่ต้องมีสมดุล ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ อะไรที่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไปก็ไม่ดี ถ้าแบบว่างานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตื่นมาก็เช็กไลน์ ทำงานลากจน 5 ทุ่ม แล้วก็นอนสลบ เราจะรู้แล้วว่าแบบนี้ไม่เฮลท์ตี้ แต่ถ้าไม่สนใจงานเลย งานแม่งไม่มีความหมาย ทำไปงั้นๆ สุดท้ายแล้วมันก็จะไม่เฮลท์ตี้อีกเหมือนกัน
เราไม่ได้เรียกร้องให้แยกจากกัน แค่ตั้งคำถามถึงความสำคัญของมัน ความจำเป็นที่เราจะอยู่กับทั้งสองอย่าง โดยเลือกว่าฉันจะทำงานหนักแค่ไหน และฉันจะให้ความสำคัญกับชีวิตที่ต้องการมากแค่ไหน
สำหรับคุณ ถึงที่สุดแล้วเราสามารถทำงานประจำอย่างการเป็นพนักงานออฟฟิศ ควบคู่ไปกับการเป็นศิลปินที่ผลิตผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่
น้ำอุ่นเลยมาจบที่การทำศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับงานไง (หัวเราะแห้ง) อย่างงานครั้งก่อนที่เราลงไปอยู่ในกล่อง นั่นก็คือทำงานไปด้วย แสดงศิลปะไปด้วย ไม่ได้ลางานเลย ส่วนงานนี้ (Don’t Cry At Work) ก็คือเจียดเสาร์อาทิตย์มาเพอร์ฟอร์ม ซึ่งก็พูดเกี่ยวกับการทำงานอยู่ดี
กลับมาที่คำถามที่ว่า เราสามารถทำงานประจำแล้วผลิตผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องได้ไหม คือก็ต้องสู้ชีวิตนิดนึง ลืมเรื่องการไปพักผ่อนได้เลย ซึ่งบางทีเราอาจมองว่าการพักผ่อนก็สำคัญต่อการเป็นศิลปิน คุณต้องไปหาแรงบันดาลใจ คุณต้องศึกษางานคนอื่น แต่จะทำยังไงได้ แค่ทำงานก็เหนื่อยจะแย่แล้ว แค่ประคับประคองตัวเองให้ยังยึดมั่นในแนวทางนี้ก็ยากประมาณนึงแล้ว
ในยุคสมัยหนึ่ง การทำงานหนักถือเป็นคุณค่าอย่างหนึ่ง กระทั่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้วยสภาพเศรษฐกิจหรือสังคม ดูเหมือนจะทำให้ผู้คนมองว่าการมีงานที่มั่นคง แม้ต้องแลกมาด้วยข้อเรียกร้องจากหน้าที่การงานอันไม่หยุดหย่อน ย่อมดีกว่าการเลือกทำตามฝัน ซึ่งโอกาสรอดมีน้อย คุณมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร
ยุคสมัยหนึ่งที่การทำงานหนักถือเป็นคุณค่า เรารู้สึกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ หรือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ได้มีความฝันอะไรขนาดนั้น หรืออาจมี แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นกับความฝันมากขนาดนั้น โอเค ฉันอยากเป็นศิลปิน แต่ว่าต้องเอาตัวให้รอดก่อน ด้วยสภาพบ้านเมืองหลังสงคราม สภาพเศรษฐกิจ คือทำอะไรที่เอาตัวรอดได้ก็ถือว่าการันตีชีวิตได้ประมาณหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น การชื่นชมคนที่ทำงานหนักก็ไม่ผิด เขาทุ่มเทกับงานและเขามีความสุข มันไม่ใช่เรื่องผิด
แต่พอมาถึงยุคสมัยของคนรุ่นเรา การทำงานหนักไม่ได้ให้ผลตอบแทนเหมือนกับยุคสมัยของพ่อแม่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงิน ค่าเงิน พ่อแม่เราทำงานสัก 5 ปี ก็อาจซื้อบ้านได้แล้ว แต่รุ่นเราคือทำงาน 10 ปี ยังมองไม่ออกเลยว่าจะมีบ้านของตัวเองได้ตอนไหน มีรถของตัวเองได้ตอนไหน การทำงานหนักไม่ได้ให้ผลตอบแทนเหมือนกับสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วเราจะทำงานหนักไปเพื่ออะไร แค่เพื่อเอาชีวิตรอดไปในแต่ละวันเหรอ หยุดทำงานคือตาย ไม่ได้มีความหวังอะไร ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ซื้อของที่อยากได้ แค่ซื้อข้าวกินแล้วก็นอน เราว่าหลายคนเป็นแบบนี้อยู่
ในทางตรงกันข้าม ก็ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในยุคสมัยที่มีกระแสสังคมและสื่อต่างๆ ที่ค่อนข้างเชิดชูการมีความฝัน มีเสียงที่คอยบอกผู้คนว่ามีความฝันสิ คนที่เชื่อในความฝันเป็นคนดี คนเจ๋ง เรามีโค้ช มีแรงบันดาลใจต่างๆ มากมาย แต่การใช้ชีวิตและสภาพความเป็นอยู่กลับไม่ได้เอื้อขนาดนั้น เราโชว์ให้เห็นถึงข้อดีของการมีความฝันหรือการทำตามความฝันอยู่ทุกวันเลย เป็นคนที่โดดเด่น เป็นคนที่แตกต่าง แต่พอก้าวเข้าสู่โลกความจริงกลับไม่ได้ซัพพอร์ตเราขนาดนั้น ซึ่งพอมองแบบนี้ก็เหมือนไม่มีอะไรดีไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเลือกทำงานหนักหรือทำตามความฝัน ถ้าไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ชน มันก็ยากและเหนื่อยทั้งนั้น
ถ้ามีคนกล่าวว่า “คนเราทำงานเพื่อหารายได้มาดำรงชีวิตเพียงแค่นั้น เราไม่ได้ทำงานเพื่อที่จะเป็นตัวเอง ไม่เกี่ยวกับความชอบ ไม่เกี่ยวกับความสนุก” คุณคิดเห็นอย่างไร
แล้วแต่คน พอตอบแบบนี้อาจดูเป็นคำตอบที่ไม่ดี แต่มันแล้วแต่คนจริงๆ ว่าใครจะเลือกยึดมั่นในทางไหน โดยส่วนตัวเราไม่อยากให้การทำงานเป็นความทรมานขนาดนั้น ถามว่าไม่เกี่ยวกับความชอบได้ไหม ได้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ เช่น ไม่ชอบทำอาหาร แต่จะเป็นคนทำอาหาร ไม่ใช่ไม่เก่งนะ แต่ไม่ชอบทำ แล้วยังจะทำงานนั้นอีก มันคงทรมานตัวเองเกินไปนิดนึง ถ้าเชื่อมมาที่นิทรรศการครั้งนี้ เราคิดว่าเป็นการตั้งคำถามมากกว่า ว่าความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานกับตัวตน ควรจะอยู่ประมาณไหนที่มันจะไม่ทำร้ายกันและกัน
ในฐานะศิลปิน คุณเห็นด้วยไหมว่าศิลปะหรือการตั้งคำถามผ่านผลงานศิลปะเป็นทางรอดและหนทางบรรเทาใจ ให้กับชีวิตที่วนลูปซ้ำซากจากการงานที่อาจกำลังกลืนกินตัวตนและลดทอนความซับซ้อนของมนุษย์
เราคิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะกลืนกินหรือลดทอนตัวตนได้ คืองานที่ไม่มีความหมาย ไม่เกี่ยวกับการทำซ้ำซาก แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายทั้งกับชีวิตตัวเองและกับผู้อื่น ทีนี้ศิลปะเป็นทางรอดหรือหนทางบรรเทาใจหรือเปล่า ศิลปะสามารถเป็นทางรอดได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและเศรษฐกิจด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าศิลปะจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของแต่ละคนได้ สิ่งที่ศิลปะทำได้คือ การแชร์ความรู้สึกระหว่างกัน การมายืนยันร่วมกันว่าสิ่งที่คุณเจอนั้นคือส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ที่เราต่างรู้สึกเหมือนกัน ยืนยันว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง คุณไม่ได้แปลกแยก และอาจจะช่วยให้คุณคิดหรือตัดสินใจบางอย่างได้ แต่แน่นอนว่างานศิลปะก็จะทำงานกับความรู้สึกของแต่ละคนได้ไม่เท่ากัน
การแสดงศิลปะ เป็นงานไหม
เป็น สุดท้ายแล้วถ้าเรากลายเป็นศิลปินเต็มตัว อาจมีบางโมเมนต์ที่เรารู้สึกเหนื่อยล้า เพราะมีหลายกระบวนการในงานศิลปะ ทั้งการทำโปรดักชัน การรีเสิร์ช การขายงาน รวมถึงอื่นๆ อีกมาก ซึ่งทุกอย่างก็เป็นงานหมด คนในแวดวงศิลปะอาจมีปัญหาเฉพาะด้าน แต่เรื่องของการหมดไฟ การหาตัวตนไม่เจอ หรือปัญหาอะไรที่เกิดในการทำงานประจำก็อาจเกิดกับการทำงานศิลปะได้ เพราะการทำงานศิลปะโดยคิดว่าฉันจะขายอะไร จะทำยังไงให้อยู่รอด มันก็แตกต่างจากการทำงานศิลปะที่ก็แค่อยากทำ อย่างถ้าน้ำอุ่นทำ performance art โดยเริ่มจากความคิดว่าจะขายอะไรดี มันจะเป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่เราเองก็ควรจะขายงานได้บ้าง (หัวเราะ)
จากภาวะทั้งหมดที่ว่ามา ถ้าไม่ให้ร้องไห้ แล้วเราควรทำยังไงดี
Don’t Cry At Work ไม่ใช่คำพูดแบบเจ้านายที่สั่งลูกน้อง แต่เป็นคำพูดที่บอกกับตัวเองว่า อย่านะเว้ย อย่าร้องไห้ในที่ทำงานเลย อดทนไว้ อะไรประมาณนั้น มันเป็นคำพูดเชิงแสดงความเห็นใจในตัวเองมากกว่า เพราะฉะนั้น Don’t Cry At Work หมายถึงการที่เราไม่สามารถแสดงตัวตนหรือความรู้สึกด้านลึกในที่ทำงานได้ หรือในพื้นที่ที่คาดหวังให้เราเป็นแค่แรงงานคนหนึ่ง เราไม่สามารถแสดงออกถึงความเปราะบางหรือปัญหาที่เราได้เจอ หลายอย่างต้องถูกสงวนไว้แล้วโผล่หน้าไปที่ทำงานด้วยความเป็นตัวเองที่เหมือนจะเต็มร้อย ปล่อยวางเรื่องส่วนตัวทิ้งไป มันเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวเราเองด้วยว่าไม่ควรร้องไห้ในที่ทำงาน เรารู้สึกว่าการร้องไห้ในที่ทำงาน ทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพ แต่อย่างที่บอกว่าจะกลับมาร้องไห้ที่บ้านก็ร้องมากไม่ได้อีก เพราะถ้าร้องไห้มากไป พรุ่งนี้จะไปปรากฏตัวในที่ทำงานโดยที่คนอื่นต้องรู้ว่าเราร้องไห้มาแน่ๆ มันเป็นความบีบคั้นประมาณนึงว่าให้รีบจัดการปัญหาของตัวเองซะ
นั่นแหละ ถ้าไม่ร้องไห้แล้วเราควรทำยังไง
(หัวเราะ) ทำไงดีวะ การแสร้งทำเป็นปกติก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะสุดท้ายแล้วส่วนนั้นจะอยู่ในตัวเราอยู่ดี ถ้าเป็นเรา ทางออกคือศิลปะแหละ มันคือการระบายความเครียด ระบายอะไรบางอย่างที่เราพูดหรือแสดงออกไม่ได้ สุดท้ายเราก็ต้องหาวิธีการบางอย่างตามความสะดวกของแต่ละคนเพื่อเอามันออกไป น้ำอุ่นจะเก็บไว้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ จนวันเสาร์อาทิตย์ก็จะพ่นออกมาที่แกลเลอรี แล้วสุดท้ายทุกคนก็จะรู้อยู่ดีว่า ไอ้นี่มันมีอะไรบางอย่างในใจ (หัวเราะ)
เคยร้องไห้ที่ทำงานไหม
เคย มีร้องไห้เพราะเรื่องส่วนตัวในที่ทำงาน แล้วก็มีร้องไห้เพราะเรื่องงานในที่ทำงาน ประมาณว่าไม่ไหวแล้ว เหนื่อย หรือเจอฟีดแบ็กเรื่องงานแล้วเราโยงเข้าเรื่องส่วนตัว แปลว่าน้ำอุ่นไม่เก่ง แปลว่าน้ำอุ่นนี่แม่งโคตรโง่เลย มันเป็นตัวตนที่เบลอกันอยู่แล้ว ทำให้เราเจ็บปวดได้
อะไรคือความตั้งใจในอนาคต
อยากเป็นศิลปินอาชีพจังเลย เราอยากทำในสิ่งที่เมื่อมองกลับมาแล้วอย่างน้อยดีใจที่ได้ทำ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในตอนนี้เรายังมีอีกหลายอย่างที่อยากนำเสนอ แต่ก็มีความกดดันอยู่ในเรื่องคุณภาพของงานที่ปล่อยออกมาในแต่ละชิ้น ถ้าเกิดมีความขึ้นๆ ลงๆ บ้าง เนื่องจากประสบการณ์และความรู้ของเรา ก็ทำให้รู้สึกเครียดอยู่บ้าง แต่จะพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด