เกาหลีไม่ได้มีแค่ LISA ส่องตัวเลขของ ‘ผีน้อย’ แรงงานไทยอีกนับแสนในดินแดนกิมจิ

มากกว่า 100 ล้าน คือจำนวนตัวเลขยอดวิว MV เพลง ‘LALISA’ ของ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง หลังปล่อยซิงเกิลตัวเองเมื่อ 10 กันยายน ที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในมุมของการชื่นชมในฐานะคนไทยที่สร้างชื่อเสียงไม่ใช่แค่ในเกาหลีใต้ แต่ไปไกลถึงระดับโลก

การดังระเบิดเป็นพลุแตกของลิซ่า หนึ่งในสมาชิกของ Black Pink เกิร์ลกรุ๊ปชื่อก้องแห่งวงการเคป๊อป ในแง่หนึ่งก็ไพล่ให้นึกถึงคนไทยอีกนับแสน ที่ออกจากแผ่นดินแม่ ไปขายแรงยังดินแดนกิมจิ บ้างก็เดินทางไปอย่างถูกกฎหมาย บ้างก็หลบเลี่ยงเสี่ยงต่อการจับกุม เป็นมนุษย์ที่ยังมีลมหายใจ ทว่าใครต่อใครกลับเรียกว่า ‘ผีน้อย’ กระทั่งตัวพวกเขาเอง

ย้อนไปดูข้อมูลจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน พบว่า ปี 2560 แรงงานไทยคงเหลือในเกาหลีใต้มีจำนวน 90,472 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย 67,534 คน คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ และถูกกฎหมาย 22,938 คน คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์

เมษายน 2562 คนไทยอาศัยในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็น 165,854 คน พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมาย 143,169 คน คิดเป็น 86.3 เปอร์เซ็นต์ และถูกกฎหมาย 22,685 คน คิดเป็น 13.7 เปอร์เซ็นต์

ปี 2563 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานตามข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศของไทยว่า มีแรงงานไทยทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายทั้งสิ้น 185,000 คน โดยมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ส่วนข้อมูลจากกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ พบว่าในปีเดียวกันนั้น มีคนไทยอาศัยในเกาหลีใต้แบบถูกกฎหมาย 32,861 คน

ข้อมูลเมื่อ 31 สิงหาคม 2564 จากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประมาณการว่าขณะนี้มีแรงงานไทยในเกาหลีใต้รวม 14,984 คน ซึ่งไปทำงานทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และคนงานก่อสร้าง

กระนั้น 14,984 คน เป็นเพียงตัวเลขของแรงงานในระบบอนุญาตการจ้างงาน (Employment Permit System: EPS) หรือพูดอีกแบบคือเป็นแรงงานถูกกฎหมายเท่านั้น ขณะที่ยังมีแรงงานผิดกฎหมายหรือ ‘ผีน้อย’ อีกจำนวนมาก

จากข้อมูลข้างต้นเราจะพบว่า มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายในเกาหลีใต้มากขึ้นเรื่อยๆ

หากย้อนไปดูมาตรการแก้ไขปัญหาผีน้อยจะพบว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะแม้จะเปิดให้แรงงานผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจทั้งยังไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ แต่หลังสิ้นสุดโครงการระหว่าง 1 ตุลาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562 มีแรงงานไทยผิดกฎหมายรายงานตัวขอกลับเพียง 15,275 คนเท่านั้น และตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 – ตุลาคม 2563 มีแรงงานไทยผิดกฎหมายรายงานตัวและเดินทางกลับไทยแล้วประมาณ 10,060 คน

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า การเข้าไปอยู่อย่างถูกกฎหมายนั้นยากกว่าการเข้าไปอยู่แบบผิดกฎหมาย เพราะต้องผ่านการสอบวัดระดับภาษา มีขั้นตอนกินเวลากว่า 69 วัน และหากเป็นผู้หญิงแล้วโอกาสก็ยิ่งน้อยลง เพราะความต้องการแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราอาจเห็นได้จากสัดส่วนแรงงานในระบบ EPS เป็นเพศชาย 87.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เพศหญิงมีเพียง 13.7 เปอร์เซ็นต์

จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ‘A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea’ (2561) ได้สรุปไว้ว่า แรงผลักสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าไปใช้แรงงานผิดกฎหมาย คือ สังคมไทยไร้เสถียรภาพ มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ขณะที่สังคมเกาหลีใต้ก็จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะประชากรเกาหลีส่วนใหญ่ปฏิเสธการทำงานโรงงาน งานเกษตร และงานก่อสร้าง ทั้งอัตราการเกิดใหม่ของประชากรยังลดลง จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดแรงงานต่างประเทศเข้าไป ขณะที่กลุ่มเครือข่ายสังคมคนไทยในต่างแดน มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้แรงงานไทยสามารถย้ายถิ่นเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ได้

ผีน้อยส่วนมากทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ถัดมาคือภาคการเกษตร และร้านนวด สำหรับสวัสดิภาพการทำงานนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะจากรายงานของ Thomson Reuters Foundation ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงช่วงปี 2563 พบว่ามีคนไทยในเกาหลีใต้เสียชีวิตกว่า 522 คน โดย 84 เปอร์เซ็นต์ คือผีน้อย

ขณะที่บทความวิชาการ ‘แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี: สาเหตุและแนวทางแก้ไข’ (2562) ของ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ ได้ชี้ให้เห็นว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยในเกาหลีใต้มีภาระค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเจ็บไข้ เนื่องจากแรงงานผิดกฎหมายไม่มีประกันสุขภาพ และส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขณะเดียวกัน ยังชี้ถึงแนวโน้มของแรงงานรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็มีความนิยมเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้มากขึ้น

บทความดังกล่าวยังช่วยยืนยันถึงสัดส่วนแรงงานถูกกฎหมายและแรงงานที่ผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ โดยมีสัดส่วนที่ต่างกันอย่างก้าวกระโดดหลังปี 2557 ซึ่งปีดังกล่าว พบแรงงานผิดกฎหมายเพียง 3,323 คน ขณะที่ปี 2558 มีจำนวนถึง 55,747 คน หากพิจารณาตั้งแต่ปี 2555-2560 จะพบว่า ปี 2555 จำนวนคนไทยที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายเพิ่มสูงขึ้นจาก 3,726 คน เป็น 67,534 คนในปี พ.ศ. 2560 คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 1,713 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเลขของแรงงานไทยถูกกฎหมายในช่วงดังกล่าวค่อนข้างคงที่ราว 20,000 คนต่อปี

ข้อมูลจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ระบุว่าในช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 แรงงานไทยในเกาหลีใต้ส่งเงินกลับประเทศทั้งในและนอกระบบ เฉลี่ยประมาณ 7,234 ล้านบาทต่อปี

ปี 2561 ธงทิว (นามสมมุติ) บอกกับ BBC ว่าเขาทำงานได้เงินวันละ 3,000-3,600 บาท โดยสามารถส่งเงินกลับบ้านได้เดือนละ 90,000 บาท แม้สถานะการเป็นผีน้อยจะทำให้เขาเสี่ยงต่อการถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จับ แต่รายได้ที่มากขึ้นก็ทำให้เขารู้สึกคุ้มค่าที่จะเสี่ยง

จะเห็นได้ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานไทยไปต่างประเทศ แม้จะเข้าไปเป็นผีน้อยที่ผิดกฎหมายและไม่มีสวัสดิการรองรับ รศ.ดร.กิริยา อธิบายกับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำแบบถูกกฎหมายของเกาหลีใต้นั้นคิดเป็นชั่วโมง ตกชั่วโมงละ 227 บาท เฉลี่ยเดือนหนึ่งจะมีรายได้ 50,000 บาท ทำให้สามารถส่งเงินให้ครอบครัวได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อ้างข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ในปีงบประมาณ 2563 ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 มีการส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 58,673 คน มากที่สุดคือไต้หวัน 16,465 คน รองลงมาคือเกาหลีใต้ 6,082 คน และอันดับสามคือญี่ปุ่น 5,573 คน

สำหรับการประมาณการรายได้ที่คนหางานในต่างประเทศส่งกลับโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2561 มีรายได้ 144,451 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้ 192,903 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้ 194,960 ล้านบาท กระทั่งในปีที่มีสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เฉพาะเดือนมกราคม-สิงหาคม 2564 ก็ยังมีรายได้ถึง 130,574 ล้านบาท

ในจำนวนเหล่านั้นมาจากทุกประเทศที่มีคนไทยไปขายแรงงานรวมทั้งเกาหลีใต้ แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ระบุว่ามาจาก ‘ผีน้อย’ มากเพียงใด

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า