เรื่อง : วิจักขณ์ พานิช
ภาพ : take it like a chemist
‘เซจิ’ หนุ่มญี่ปุ่นวัย 39 ยืนชะเง้อรออยู่ที่ท่าเรือเฟอร์รี ข้างๆ มี ‘คือจัง’ ลูกชายจอมซนวัย 3 ขวบชูป้ายชื่อจากกระดาษลังโบกไปมา เรายิ้มทักทายกันอย่างเป็นมิตร พอหันไปอีกที เด็กน้อยหน้าเปลี่ยนสีด้วยความกลัว ทำท่าจะร้องไห้ กลายเป็นว่าแว่นตากันแดดที่ผมสวมทำให้เจ้าหนูจินตนาการไปไกลว่า แขกผู้เยือนผมยาวคนนี้เป็นสมาชิกแก๊งมาเฟียหน้าโหด อะไรประมาณนั้น
มาเยือนโอกินาวาครั้งนี้ ผมเลือกเดินทางมายัง ‘อิเซนะ’ เกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ไกลจากเกาะหลักโอกินาวาจนไม่อยู่ในแผนที่ ด้วยอยากหนีความวุ่นวายช่วงวันหยุดสงกรานต์มาหาความเงียบและให้เวลากับการพักใจตัวเองบ้าง นับวันความเงียบจะกลายเป็นสิ่งที่หายากในชีวิตขึ้นทุกที เมืองไทยเป็นประเทศที่เสียงดังมากและเสียงดังในทุกๆ ที่ แถมยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อว่าการมีเสียงดังกว่าคนอื่นเป็นเรื่องคูลอีกด้วย
ตั้งแต่ลงเครื่องที่สนามบินเมืองนาฮา ข้อแตกต่างที่เห็นชัดมากๆ คือ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นให้คุณค่ากับความเงียบเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ ความเงียบคือบรรยากาศของความเท่าเทียมและการเคารพ เมื่อเสียงทุกคนเท่ากัน ได้รับการเคารพเสมอกัน ก็ไม่ต้องพยายามส่งเสียงดังหรือทำตัวเองให้เป็นที่สนใจในพื้นที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น
ที่สำคัญกว่านั้น ความเงียบนั้นยังช่วยให้เราได้ยินเสียงตัวเองชัด
เซจิเคยเป็นหนูติดจั่นอยู่ในกรุงโตเกียว เขาก็เหมือนหนุ่มสาวญี่ปุ่นวัยสร้างตัวส่วนใหญ่ที่พร้อมอุทิศพลังชีวิตทั้งหมดให้กับงานและองค์กรที่ตัวเองสังกัด คนญี่ปุ่นทำงานหนักกันเป็นวัฒนธรรม ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับเป้าหมายเดียวอย่างไม่ตั้งคำถาม แต่แล้วโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่ฟุกุชิมะในเดือนเมษายน ปี 2011 ก็ส่งแรงสั่นสะเทือนมายังหัวใจของเขาเข้าอย่างจัง และนั่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เขากลับมาฟังเสียงของตัวเอง
ไม่นานหลังจากนั้น เซจิตัดสินใจลาออกจากงานมาใช้ชีวิตในชนบทนอกกรุงโตเกียว พบรักกับนัทซึโกะภรรยาที่เมืองชิบะ หลังจากมีลูกคนแรก พวกเขาก็มองหาที่อยู่ใหม่ ตกลงใจว่าจะอยู่แบบไกลผู้ไกลคนและใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด สุดท้ายเลยได้ย้ายมาเป็นชาวเกาะอย่างที่เป็นอยู่
ลมทะเลพัดต้องใบหน้า ละอองเค็มกระทบจมูก เสียงคลื่นซัดเข้าหาฝั่งเป็นจังหวะไม่สม่ำเสมอ เส้นขอบมหาสมุทรตัดกับเส้นขอบฟ้า ผืนน้ำกว้าง ผืนฟ้ากว้าง และผืนทรายกว้าง เป็นสนามเด็กเล่นหน้าบ้านชายทะเลของคือจัง ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่งบนเกาะแห่งนี้ เป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการเติบโตของเด็กน้อยผู้โชคดีคนนี้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
เซจิเล่าให้ผมฟังว่า จนถึงวันนี้ การรั่วไหลของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิม่ายังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีทีท่าว่าใครจะหยุดมันได้ ลึกลงไปในพื้นโลก มีระเบิดเวลาลูกใหญ่กำลังนับเวลาถอยหลัง หลายปีมานี้เขารู้สึกสิ้นหวังต่อการเมืองญี่ปุ่น ท่ามกลางกระแสคัดค้านของคนหนุ่มสาว รัฐบาลยังคงเดินหน้าสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป เพื่อตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและของโลก ซึ่งหมายถึงการดำรงอยู่ของบรรษัทข้ามชาติ ที่คำนึงถึงแต่ ‘กำไรสูงสุด’ มากกว่าประโยชน์สุขของธรรมชาติและมนุษยชาติ
ณ จุดนี้ของชีวิต เขาจึงเชื่อว่า การปฏิเสธและเอาตัวเองออกมา ‘ไม่ขอมีส่วนร่วม’ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยสังคมญี่ปุ่นได้ การแสวงหาทางเลือก ความหมาย และคุณค่าทางจิตวิญญาณ ให้แก่ชีวิตตัวเองและครอบครัวอย่างถึงรากในฐานะปัจเจกชน คือหนทางการต่อสู้ทางสังคมและการเมืองที่เขาเลือก
สมัยยังหนุ่ม เซจิจัดจ้านมาก ลองมาทุกอย่างยกเว้นเฮโรอีน กลางวันทำงานเป็นคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ ขับรถบรรทุก กลางคืนเป็นดีเจแนว trance ลึกๆ เขาเป็นคนจิตใจอ่อนโยนมาก ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี รักธรรมชาติ ต้มเหล้า หมักเบียร์ดื่มเอง เกสต์เฮ้าส์ที่เพิ่งเปิดนี้เขาทุ่มเทตั้งใจทำ อยากให้คนมีโอกาสมาสัมผัสชีวิตช้าๆ บนเกาะอิเซนะ ตามชื่อเกสต์เฮาส์ที่เขาตั้งว่า ‘Yonna Yonna’ แปลว่า ‘ช้า ช้า’
อิเซนะเป็นเกาะขนาดประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร ต้องนั่งเรือเดินทะเลออกไปจากเกาะหลักโอกินาวาเกือบหนึ่งชั่วโมง ที่นี่แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไป แม้จะมีโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง และระบบจัดการครบถ้วนตามแบบญี่ปุ่น แต่ยังคงรักษาความเดิมๆ ของชุมชนชาวเกาะที่ส่วนใหญ่ทำประมงและเกษตร อิเซนะเป็นเกาะย่อยไม่กี่เกาะในโอกินาวาที่สามารถทำนาได้
ความเงียบคือสิ่งดึงดูดของที่นี่ จินตนาการถึงการไปเยือนเกาะที่สะดวกสบายระดับหนึ่ง แต่ไม่มีนักท่องเที่ยว แทบไม่มีภัตตาคาร แทบไม่มีกระทั่งร้านสะดวกซื้อ! ทุกคนที่อยู่บนเกาะดูจะรักในความไม่มีอะไรของอิเซนะ
คำขวัญของเกาะอิเซนะ คือ ‘no habu’ (ไม่มีงูพิษ)
“No habu, no… nothing”
…เซจิยิงมุข
ครั้งหนึ่งเกาะเคยถูกน้ำทะเลท่วมพัดเอา habu (งูพิษ) หายไปหมดเกาะ เลยกลายเป็นจุดเด่นของเกาะที่ไม่มีงูพิษ
ไม่ใช่ไม่มีแค่งูพิษ แต่ไม่มีอะไรเลยต่างหาก!!!
“But when there’s nothing, there’s everything.” เซจิยิ้ม
เกาะส่วนตัว หาดส่วนตัว ภูเขาส่วนตัว ทะเลส่วนตัว ถนนไร้รถราสำหรับปั่นจักรยาน แคมปิ้ง ตกปลา ทำสวน ชมพระอาทิตย์ มองฟ้า ดูดาว อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ มีเวลาเหลือเฟือกับครอบครัว พ่อแม่ ลูกชาย หมา แมว เพื่อนบ้าน และแขกผู้มาเยือน ณ เกสต์เฮาส์บ้านเก่าริมทะเล ที่ไม่มีอะไรช่วยสร้างความบันเทิง นอกจากเป็นที่พักใจให้คนได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่อย่างช้าๆ กับตัวเอง
จากสถานะผู้มาเยือนคนแรกกลายเป็นความรู้สึกผูกพันฉันมิตรที่รู้จักกันมานาน เซจิถามผมว่าทำงานอะไรที่เมืองไทย ผมเล่าให้เขาฟังถึงวัฒนธรรม สังคม การเมือง รัฐประหาร และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนจำนวนมากที่กำลังถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ
จากคนที่เคยฝันจะใช้ชีวิตทางเลือกไม่ต่างจากวิถีชีวิตที่เซจิเลือกเดินอยู่ในตอนนี้ ผมกลับมีชีวิตอยู่ในเมืองหลวงท่ามกลางบรรยากาศอันหดหู่ภายใต้การปกครองด้วยปืนและรถถัง ลึกๆ รู้สึกสิ้นหวังกับการเมือง ลึกๆ อยากปฏิเสธ อยากเอาตัวออกมา อยากใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบของตัวเอง ไม่ขอมีส่วนร่วมกับประเทศนี้
ทุกเช้าผมจะเดินออกมาจากเกสต์เฮาส์ไปยังทางเดินริมทะเล ลมทะเลกระทบใบหน้า ละอองเค็มกระทบจมูก สายตาผมมองไปยังเส้นขอบที่ผืนฟ้าตัดกับผืนมหาสมุทร ความเงียบทำให้ได้ยินเสียงตัวเองชัด เสียงของอุดมคติ เสียงของความฝัน …และเสียงของหัวใจ
มันทำให้ผมนึกสงสัยว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
เสียงเจ้าตัวน้อยวิ่งมาสะกิดขาชวนให้ดูอะไรบางอย่างในมือ คือจังแบมือน้อยๆ …ปูเสฉวนสีม่วงแดงตัวใหญ่ขดอยู่ในเปลือกหอยพอดีตัว
เด็กน้อยยิ้ม หยิบปูตัวน้อยวางลงบนมือผม…
มองคือจังแล้วคิดถึงคนคนหนึ่งที่เมืองไทยจับหัวใจ วินาทีนั้นผมรู้ว่าทำไมจึงอยากกลับไปใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริงที่ไม่ได้เป็นคนเลือก
บางทีอุดมคติในโลกความฝันของผมคนเดียวก็ไม่มีความหมายอะไร หากไม่มีโอกาสได้ ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ และ ‘เคลื่อนไหว’ ไปพร้อมๆ กับเธอ
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ดูจิตจิต นิตยสาร WAY #87 กรกฎาคม 2558 |