Drinking Art: เครื่องดื่มในศิลปะบอกอะไรเราบ้าง?

เพื่อนคนหนึ่งเคยกล่าวว่า “ศิลปินน่ะนะ ถ้าไม่เป็นซึมเศร้า ติดเหล้า ก็ติดเอดส์”

ทำไมเราถึงติดภาพศิลปินเป็นพวกขี้เมา? หรือเครื่องดื่มก็คือส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา วัฒนธรรมการดื่มกินสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาตั้งเนิ่นนานแล้ว แล้วเครื่องดื่มเหล่านี้มันมีผลกระทบอะไรกับศิลปะบ้าง?

ถ้าลองเข้าพิพิธภัณฑ์ หลับตาสุ่มหยิบรูปสีน้ำมันมาสัก 10 รูป ยังไง้ยังไงก็จะต้องมีเครื่องดื่มนี้ ‘ไวน์แดง’

โลหิตพระเยซูและผู้ปลดปล่อยชาวโลกจากสติ

ไวน์แดงเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในโลกศิลปะ ด้วยทั้งสัญญะและประวัติศาสตร์ของมัน เรามักจะคุ้นชินกับภาพไวน์แดงเปรียบดั่งโลหิตพระเยซู ตั้งแต่รูปยอดฮิต The Last Supper ไม่ว่าจะเป็นใครวาด ก็จะต้องเป็นไวน์แดง แต่ประวัติศาสตร์ของไวน์แดงย้อนไปไกลกว่านั้น เพราะหากดูจากวัตถุโบราณแล้ว เรามักจะเจอไหที่คาดเดาเอาไว้ว่าใส่เหล้าองุ่นเอาไว้ เช่นในรูปด้านล่าง

กรีกและโรมันถึงกับบูชาเทพแห่งเหล้าองุ่น ‘ไดโอนีซุส’ (Dionysus) หรือ แบคคัส (Bacchus) ที่เป็นทั้งเทพแห่งไวน์และความมึนเมา แต่ถึงแม้จะถูกเรียกว่าเป็น ‘เทพปกรณัม’ ในตำนานกรีกโรมัน ความจริงต้นกำเนิดของไดโอนีซุสนั้นมีมาก่อนกรีกอีก มิหนำซ้ำ ชาวกรีกโรมันเองก็เพียงแค่รับความเชื่อของเทพไดโอนีซุสเข้ามาในปกรณัมของตัวเอง เพราะความจริงลัทธิบูชาเทพไดโอนีซุสมีมาแต่อียิปต์โบราณแล้ว

สันนิษฐานกันว่า ลัทธิไดโอนีซุสได้รับการเผยแพร่เข้ามาสู่กรีกจากทางเอเชียน้อย (Asia Minor) เลยไปจนถึงอินเดีย ดังนั้นถึงจะมีเทพไดโอนีซุสอยู่ในปกรณัมกรีกโรมัน แต่ชาวลัทธิไดโอนีซุสมีพิธีกรรมที่ค่อนไปทางเอเชียมากกว่ากรีก

แล้วมันอยู่ตรงไหนในศิลปะ?

เกี่ยวโดยตรงเลยล่ะค่ะ เพราะวัฒนธรรมการร้องรำทำเพลง รวมไปถึงการละครนั้นมีต้นกำเนิดมาจากลัทธิไดโอนีซุส เพราะตามที่กล่าวว่าลัทธิไดโอนีซุสมีความเป็นเอเชียกว่ากรีกนั้น อยู่ตรงรูปแบบของพิธีกรรม ที่เชื่อว่าผู้คนในลัทธินี้จะดื่มกินอย่างมึนเมา พร้อมเต้นรำโดยเชื่อว่าการเต้นนั้น เป็นการ ‘ทรง’ เทพไดโอนีซุส

ต่อมาการละครจึงถือกำเนิดมาจากลัทธินี้ เพราะในการเล่นละคร เราต้องแสดงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรา ราวกับว่าให้ตัวละครนั้นมาเข้าสิงเราเองไงล่ะคะ

เศษผ้าจากยุคอียิปต์ที่แสดงพิธีกรรมในลัทธิไดโอนีซุส

ยาวไปจนถึงรูปเขียนสีน้ำมันตั้งแต่ยุคเรอเนสซองส์เป็นต้นไป จึงมักจะใช้ไดโอนีซุส หรือแบคคัสในการกล่าวถึงความเมามาย ขาดสติ อันเกี่ยวข้องกับไวน์ แต่ไดโอนีซุสเองก็ไม่ได้ถูกใช้ในเชิงลบอย่างเดียว เช่นรูป Triumph of Bacchus โดย ดิเอโก เวลาซเกซ (Diego Velazquez) ที่วาดให้ไดโอนีซุสถูกยกย่องโดยเหล่าคนเมาหรือคนงานที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน

ดังนั้น ไดโอนีซุสจึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง คือผู้ปลดปล่อย หรือจะเรียกให้ถูกคือผู้ปลดปล่อยสติสัมปชัญญะของคน ละทิ้งเหตุผลให้เข้าถึงโลกธรรมชาติมากขึ้น

Triumph of Bacchus โดย ดิเอโก เวลาซเกซ (Diego Velazquez)

มีทฤษฎีหนึ่งของ นิทเช่ (Nietzshe ตานักจิตวิทยาคนนั้นล่ะค่ะ) ที่อธิบายไว้ว่า ในสังคมนั้นมีสองด้าน คือในด้านหนึ่งจะมีเทพอพอลโล (Apollo) เทพแห่งพระอาทิตย์อันเจิดจ้า เต็มเปี่ยมไปด้วยเหตุผล ตรรกะ ความพอดี ความบาลานซ์ ผู้เปรียบได้กับความอุดมคติ อีกฝั่งหนึ่งก็คือเทพไดโอนีซุส ที่นำด้วยสัญชาตญาณ ความเมามาย และความลุ่มหลงขาดสติ เนื่องจากโลกตั้งอยู่ด้วยทั้งความมีเหตุผล และความไร้เหตุผล เมื่อมีความบาลานซ์ ก็จะมีความไม่บาลานซ์

ความน่าสนใจต่อไปคือ ผู้เข้าลัทธิไดโอนีซุสส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง นิทเช่ให้เหตุผลว่า เพราะผู้หญิงอ่อนไหวต่ออารมณ์ง่ายกว่า และมักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ความเป็นหญิงในผลงานศิลปะคลาสสิกจึงมักจะถูกสื่อออกมาด้วยรูปร่างยวบยาบ อ่อนช้อย

อัปแซงต์ เครื่องดื่มยออดฮิตในหมู่ศิลปินอับทุกข์

เครื่องดื่มอีกชนิดที่มีบทบาทในยุคหนึ่งของศิลปะก็คืออับแซงต์ (Absinthe) ถ้าใครไปร้านค็อกเทลบ่อยๆ จะสังเกตว่าอัปแซงต์เป็นส่วนผสมของค็อกเทลบางชนิด รู้จักกันในอีกชื่อว่า La Fée Verte หรือเจ้าภูตเขียว จากสีอมเขียวอ่อนๆ ของอับแซงต์ หรือเวลาเมาอัปแซงต์จะเห็นโลกเป็นหลากสีเหมือนมีภูตสีเขียวบินอยู่รอบตัว

นอกจากนี้ อับแซงต์กลั่นจากสมุนไพรหลายชนิด และนับว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูงมาก ระดับร้อยละ 45-75 เลยมักจะชงดื่มกับน้ำเปล่าและน้ำตาลเพื่อให้ดื่มง่ายขึ้น แต่ดื่มง่ายเกินไปก็มีสิทธิน็อคได้เลย และด้วยความดื่มง่ายนี้เอง ทำให้เหล้าอับแซงต์เป็นเหล้าที่ฮอตฮิตมากในช่วง Fin de Siecle หรือช่วงปลายศตวรรษที่ 19

เช่นเดียวกับไวน์ ถ้าลองหยิบรูปของศิลปินยุคนี้ที่วาดในบาร์หรือคาเฟ่มาสักคน จะต้องติดแก้วอับแซงต์เป็นอันดับต้นๆ วินเซนต์ แวนโกะห์ (Vincent van Gogh), ปอล โกแกง (Paul Gauguin) และ อังรี เดอ ตูลูส-โลเทร็ค (Henri de Toulouse-Lautrec) ล้วนติดอับแซงต์กันทั้งนั้น

แก๊งศิลปินขี้เมานี้มีเรื่องเม้ามอยเกี่ยวกับเหล้าบ่อยมาก โกแกงเคยกล่าวว่า “อับแซงต์เท่านั้นที่เป็นเครื่องดื่มที่ดีพอสำหรับศิลปิน” ส่วน ตูลูส-โลเทร็ค ก็ไม่แพ้กัน เพราะพี่เล่นคว้านไม้เท้าตัวเองให้มีช่องว่างตรงกลางเพื่อเติมเหล้าอับแซงต์ลงไปในนั้น เอาไว้ดื่มเวลาไปไหนมาไหน (จะว่าขี้เมาก็ได้ แต่นี่มันอัจฉริยะชัดๆ!)

แถมด้วยความเป็นเพื่อก๊วนเดียวกัน อังรียังเคยวาดภาพของแวนโกะห์ในช่วง ‘ชั่วโมงสีเขียว’ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการดื่มอับแซงต์ ที่จะทำให้คนที่เมามายเห็นภาพหลอน เช่นเดียวกับภาพของแวนโกะห์ผู้เมามายอยู่กับเจ้าภูตเขียวนี้

และการติดอับแซงต์ไม่ใช่ผลดีเลยแม้แต่นิดเดียว ดูจากศิลปินสามคนที่ยกตัวอย่างมา ก็ไม่มีใครอยู่จนแก่สักคน ตายเร็วกันทั้งนั้น

หลังจากยุครุ่งเรืองของอัปแซงต์ ก็เริ่มมีความเชื่อว่าสารธูโจน (Thujone) ในเหล้าอับแซงต์มีฤทธิ์ต่อประสาท ที่ทำให้เกิดประสาทหลอน และเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้า ในปี 1915 เป็นต้นมา หลายประเทศจึงแบนเหล้าอับแซงต์ แต่ผ่านมาหลายปีก็ไม่มีอะไรที่พิสูจน์ได้ว่าสารธูโจนหรือเหล้าอับแซงต์เป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้าจริง กฎหมายเหล่านี้จึงหายไปในช่วงปี 1990

ถึงจะไม่มีงานวิจัยมารองรับ แต่เหล้าอัปแซงต์ก็ยังวนเวียนๆ อยู่ในหมู่ศิลปินและนักเขียนในยุคนั้น ถึงขนาดมีภาพวาดเกี่ยวกับอัปแซงต์มาหลายภาพ เช่น L’Absinthe โดย เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) หญิงสาวหน้ามุ่ยเหม่อลอย มองแก้วของเธอด้วยสายตาอันหมดอาลัยตายอยาก นั่งอยู่ข้างชายเมามายที่ดูไม่มีเป้าหมายในชีวิตพอๆ กับเธอ เป็นข้อสงสัยว่าความหม่นหมองนั้นมาจากสภาพสังคมหรือมาจากเหล้ากันแน่

หรือภาพอับแซงต์ของแวนโกะห์เองก็เล่าอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับจิตใจของคนในยุคนั้นที่ต้องเดินเข้าบาร์ หรือกระทั่งเดินเข้าคาเฟ่เพื่อสั่งอับแซงต์มาดื่มตั้งแต่หัววัน

ดื่มด่ำให้กับทุนนิยม

หมุนเวลามายุค 60’s โลกศิลปะกำลังเห่อ Abstract Expressionism อันสวนทางกับโลกทั้งโลกที่กำลังเริ่มมีวัฒนธรรมป๊อป แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ในฐานะศิลปิน เลยสวนทางโลกศิลปะอีกที โดยการหยิบองค์ประกอบที่มีความป๊อป หรือสามารถเห็นได้ทั่วไปมาทำงานศิลปะ

นอกจากภาพดาราดังอย่าง มาริลิน มอนโร หรืออาหารยอดฮิตที่เทียบได้กับมาม่าบ้านเราอย่างซุปแคมป์เบลแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือโคคาโคล่า หรือโค้ก สำหรับวอร์ฮอลแล้ว แค่เปิดทีวีมาเราก็เห็นโค้ก เรารู้ว่าประธานาธิบดีดื่มมันอยู่ ดาราก็ดื่มมัน โค้กที่ผู้นำกับโค้กที่ขอทานดื่ม เป็นโค้กแบบเดียวกัน ใครๆ ก็ดื่มโค้กได้หมด โค้กแทบจะตะโกนคำว่า “อเมริกา!” ได้ดังพอๆ กับภาพเบอร์เกอร์และภาพลุงแซม

Close Cover Before Striking (Coca-Cola) โดย แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol)

ตัดภาพกลับมายุคปัจจุบัน โค้กกลายเป็นตราสินค้าที่ออกไปไกลยิ่งกว่าอเมริกา ไม่ว่าเราจะอยู่ในร้านอาหารสุดฮิปในกรุงเทพฯ หรือจะออกต่างจังหวัดไกลแค่ไหน ถ้าหันไปเห็นขวดน้ำดำๆ มีตราสีแดงๆ เราก็พอนึกออกเลยว่า “นั่นขวดโค้ก” กลายเป็นว่าโค้กเป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของอเมริกา แต่มันคือสัญลักษณ์ของโลกาภิวัตน์และทุนนิยม ตราสินค้าของโค้กสามารถพบเห็นได้แทบทุกที่ในโลก แม้แต่คนที่ออกมาแบนสินค้าอเมริกาผ่านเฟซบุ๊คยังหนีไม่พ้นต้องดื่มโค้กเลยนะคะ (ป้องปาก)

ใช่ค่ะ แม้แต่จีนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอเมริกามาหลายสมัย ก็ยังยอมให้กับทุนนิยมที่คืบคลานแผ่ขยายไปทั่วโลก จนตอนนี้ก็แทบจะเป็นรัฐนายทุนไปในตัวแล้ว

มีศิลปินมองเห็นอำนาจเงียบนี้ตั้งแต่ยุค 90’s แล้วล่ะค่ะ คนนั้นก็คือ อ้าย เหว่ย เหว่ย (Ai Weiwei) ตาอ้ายมีซีรีส์ผลงานชุดหนึ่งที่แกมักจะเอาไหโบราณก่อนประวัติศาสตร์มาเปลี่ยนแปลงมัน ตั้งแต่ชุบสีทาบ้าน ปล่อยให้ตกแตก ไปจนถึงเอามันมาเพนท์ลายเป็นโลโก้โคคาโคล่าลงไป เหมือนเป็นการบอกว่า ไม่ว่าวัฒนธรรมนั้นจะยาวนาน ยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ต้องสยบยอมให้กับอำนาจโลกาภิวัตน์และทุนนิยม

Han Jar Overpainted with Coca-Cola Logo โดย อ้าย เหว่ย เหว่ย

และแน่นอน ไหโบราณนั้น ตาอ้ายเองก็จ่ายมันมาด้วยเงินเช่นกัน ตาอ้ายกล่าวว่า “ใช่ ไหนี้เปลี่ยนไป ในทุนนิยมมีทั้งดีและร้าย มันกลายเป็นสิ่งใหม่ ข้างนอกมันเปลี่ยนไปแล้ว แม้ว่าภายในมันจะยังเป็นสิ่งเดิมอยู่”

หลังจากที่ตาอ้ายพิสูจน์แล้วว่าเงินซื้อได้แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ แล้วเงินซื้ออะไรได้อีก?

ไลฟ์สไตล์ในโลกมืดมน

วันนี้ ถ้าเราเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต มุ่งไปโซนเครื่องดื่ม เราจะเห็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหลายชนิดมาก ส่วนหนึ่งในนั้นมีจุดขายคือความเฮลตี้ ออร์แกนิค ความฮิปที่ไม่ใส่สารปรุงแต่ง เจือสี เจือกลิ่นอะไรก็ว่ากันไป ในยุคที่เต็มไปด้วยเครื่องดื่มเหล่านี้ เราโหยหาสุขภาพที่ดีด้วยผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ปราศจากสารพิษจนกลายเป็นไลฟ์สไตล์ แต่ในขณะเดียวกันก็ตลกร้ายตรงที่เรากลับสูดควันพิษและฝุ่นเข้าไปทุกวันๆ จอช ไคลน์ (Josh Kline) เลยทำผลงานศิลปะเป็นเครื่องดื่มที่เล่นกับความย้อนแย้งตรงนี้ขึ้นมา

Skittles เป็นซีรีส์เครื่องดื่มบรรจุในแพ็คเกจจิ้งสุดมินิมอล เรียงรายในตู้เย็นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ รอให้คนมาซื้อ เช่นเดียวกับเครื่องดื่มออร์แกนิคที่เห็นในซูเปอร์มาร์เก็ต ตาจอชเองก็โชว์ส่วนผสมกำกับไว้บนฉลากเช่นกัน ส่วนประกอบนั้นมีอะไรบ้างนะ? ไหนลองหยิบมาสักสามเมนูซิ

เมนูแรกฟังดูกรีนมากเลย ตั้งแต่ผักโขมอ่อน คะน้าอ่อน หญ้าวีท สาหร่ายสไปรูลีน่า เอ๊ะ แล้วลูกเทนนิสไปทำอะไรในนั้น ไหนจะยาแก้ไอ กับแบงก์ดอลลาร์อีกล่ะ ไหนลองเมนูสองสิ ขวดน้ำ ถุงช็อปปิ้ง เคสไอโฟน น้ำมันหล่อลื่นเค-วาย น้ำดื่ม Poland Spring และต้นไม้ปลอม ฟังดูไม่เฮลตี้แล้วล่ะ แล้วเมนูสามล่ะ? แว่นตากูเกิล (ที่เคยเลื่องลืออยู่สักพักแล้วก็หายไปเพราะดูจะไม่เวิร์ค) ใบเสร็จค่าโทรศัพท์ของ Verizon แบคทีเรีย น้ำมันตับปลา สบู่ล้างมือ และหนังโป๊

แน่นอนว่าเครื่องดื่มทั้งหมดนี่ดื่มไม่ได้ (หรือถ้าใครอยากลองดื่มก็คงไม่มีใครห้าม) ส่วนผสมทั้งหมดเหล่านี้เราสามารถหาได้จากชีวิตประจำวัน แต่จอชตั้งคำถามกับเราว่า ที่เราคิดว่าเราใช้ชีวิตแสนออร์แกนิคและเฮลตี้อยู่นี่ มันจริงหรือเปล่า?

เช่นเดียวกับเครื่องดื่มที่บอกไลฟ์สไตล์ ในชีวิตประจำวันมีสารเคมีอะไรบ้างที่เราบริโภคเข้าไป มีอะไรบ้างที่เราใช้เพื่อปรุงแต่งร่างกายและชีวิตของเรา ไลฟ์สไตล์ที่เราคิดว่ามันดีนั้น มีภาระ มีสารพิษ มีอำนาจอะไรที่ควบคุมเราอยู่ จากชื่อของเครื่องดื่มเหล่านั้น และสุดท้ายแล้ว ไลฟ์สไตล์ที่เราคิดว่าเลือกได้นั้น ความเป็นจริงแล้ว เราเองก็จ่ายเงินเพื่อให้ได้มันมาเหมือนกันหรือเปล่า?

ดูงานศิลปะของจอชแล้ว น่ากลับมามองชีวิตจริงของเรา เครื่องดื่มที่เราดื่มอยู่ทุกวัน กาแฟ เหล้า น้ำเปล่า น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำเหล่านี้กำลังบอกอะไรเกี่ยวกับชีวิตเราอยู่บ้างนะ

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า