ภาพประกอบ: Shhhh
ตัวเลขจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) บอกว่า 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์อาหารที่เราๆ ท่านๆ เห็นจบลงที่การเป็นของเสียในกองขยะ ส่วนใหญ่คือผักผลไม้ที่เน้นหน้าตาตอนอยู่บนแผง พอโรยรา เหี่ยวย่น ขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่ทำราคาก็ถูกกวาดทิ้งอย่างไม่ไยดี ซึ่งมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตั้งแต่การไล่กำจัดจนถึงปล่อยก๊าซมีเทน
เพื่อให้ขยะอาหารหมดไป และนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด คนบางกลุ่มจึงเกิดไอเดียปล่อยผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ‘เบียร์’ ออกมา
เบียร์จากเศษขนมปัง
ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในอังกฤษ ทริสแทรม สจวร์ต (Tristram Stuart) เลี้ยงหมูเป็นงานอดิเรก วันดีคืนดี ขณะนั่งดูหมูกินอาหาร ความสงสัยบังเกิดในหัวว่า อาหารที่โยนๆ ลงไปในเล้าหมูมีปริมาณพอๆ สำหรับให้คนกินได้เลยนี่นา
คิดดังนั้น เขาค่อยๆ ทรุดตัวลงข้างๆ หมู หยิบขนมปังมะเขือเทศตากแห้งจากกองอาหารเหลือทิ้งขึ้นมาใส่ปาก นั่งกินเป็นอาหารกลางวันอยู่ตรงนั้น
ความคิดของสจวร์ตส่งเสียงดังในหัว เขาต้องทำอะไรสักอย่าง “หมูทำให้ผมเห็นว่าอาหารเหลือทิ้งกับสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมมีความเกี่ยวข้องกันจริงๆ”
ผลิตภัณฑ์ขนมปังในอังกฤษ 44 เปอร์เซ็นต์ถูกทิ้งเป็นขยะ คิดเป็นรายปีคือ 900,000 ตัน หรือ 24 ล้านแผ่นต่อวัน กว่าครึ่งคือขนมปังที่ขายไม่ออก ร้านแซนด์วิชหนึ่งร้านต้องทิ้งเศษขนมปังและขอบที่ถูกตัดออกมาวันละ 13,000 แผ่น รวมถึงเบเกอรีที่การันตีสินค้าของตัวเองว่า ‘สดใหม่’ ขยะรายวันจึงถูกโยนออกจากร้าน
ปัจจุบัน ‘อะไรสักอย่าง’ ที่สจวร์ตตั้งใจไว้ถูกปั้นเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2016 คือ Toast Ale – brewed with bread คราฟต์เบียร์ที่ผลิตจากขนมปังเหลือทิ้ง หรือ bread beer ในเว็บไซต์มีการคำนวณคร่าวๆ ว่า ขยะขนมปัง 6,000 กิโลกรัม สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเบียร์ได้ 56,000 ลิตร
คราฟต์เบียร์ที่ Toast Ale มีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทั้งต้มเองและร่วมมือกับสำนักคราฟต์เบียร์รายอื่น เช่น Much Kneaded Craft Lager, Bloomin’ Lovely Session IPA, Purebread Pale Ale, Flour Station Pale, White Toast Weissbier, Brown Toast Porter แม้แต่เบียร์กระป๋อง American Pale Ale ก็ยังมี
Toast Ale เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่พยายามทวนกระแสน้ำ ส่วนกระบวนการนำของทิ้งๆ มากิน ดื่ม และเป็นพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าว่าจะผลิตอาหารให้ได้มากที่สุดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
และความสุขที่คุณดื่มได้นี้ไม่ใช่เบียร์กากๆ ที่มีรสเหมือนของเหลือทิ้ง เพราะ Toast Ale มีรางวัลยอดเบียร์การันตีไม่น้อย เช่น Best Innovative Concept และเรียญทอง Design and Package จาก International Beer Challenge รางวัล Taste Winner จาก The Food Talk Award และ Best New Beverage Concept จากเวที World Food Innovation Awards และ ปีนี้ Toast Ale จะขยายกิจการไปในสหรัฐ แผนต่อไปคือแอฟริกาใต้ และไอซ์แลนด์
“ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดจากมือมนุษย์ที่กระทำต่อสิ่งแวดล้อมคือผลิตภัณฑ์อาหาร”
เบียร์เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ผลกำไรทั้งหมดของ Toast Ale ยังกลับเข้าสู่ Feedback องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่สจวร์ตตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์ด้านขยะอาหารและการหมุนเวียนของเสียให้กินได้ เพื่อทำให้อาหารเหลือทิ้งหมดไป
จาก ‘บาร์เบียร์’ สู่ ‘เบียร์บาร์’
คำโฆษณา ‘EAT BEER’ บนซอง Regrained ผลิตภัณฑ์ nutrition bar เกิดจากอดีตเพื่อนซี้สายโฮมบริวสมัยเรียนสองคน แดน เคิร์ซร็อค (Dan Kurzrock) และ จอร์แดน ชวาร์ตซ์ (Jordan Schwartz) เพื่อกำจัดของเสียจากเบียร์ด้วยการทำ ‘เบียร์แท่ง’ ที่หน้าตาเหมือนข้าวโอ๊ตแท่ง แต่กลิ่นและรสชาติคือ ‘เบียร์’
เดิมทีทั้งสองคนพยายามจะเอาธัญพืชที่เหลือทิ้งจากการต้มเบียร์ เช่น เศษมอลต์ เศษข้าว มาทำขนมปัง แล้วเอาไปขายเพื่อหาเงินมาทำเบียร์…ล็อตใหม่…ล็อตใหม่ และล็อตใหม่
กระทั่งจบมหาวิทยาลัย พวกเขาก็ยูเรก้า – ขุมทองที่กองอยู่ก้นหม้อต้มและถังหมักสามารถช้อนขึ้นมาปั้นเป็นธุรกิจได้
เคิร์ซร็อคบอกว่า “เพราะขนมปังวางอยู่บนชั้นได้ไม่นาน เราเลยตัดสินใจสร้างบางอย่างที่เราชอบกินแล้วก็สามารถเก็บไว้ได้นาน กราโนลาบาร์” การทำเบียร์บาร์จึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยการนำธัญพืชเหลือทิ้งและวัตถุดิบอื่นๆ มามิกซ์ให้เข้ากัน อบ และบรรจุแพ็คเกจดูมีคุณค่าและน่ากิน
บาร์ธัญพืช Regrained อุดมไปสารอาหารมากมาย “ระหว่างต้มเบียร์ น้ำตาลจะออกมาจากข้าว แต่ทิ้งสารอาหารดีๆ ไว้มาก เช่น โปรตีน เส้นใย และสารอาหารอื่นๆ” เขาว่า “ซึ่งเมื่อเอามาผสมกับวัตถุดิบหาง่ายที่มีประโยชน์ จะทำให้ได้บาร์แคลอรีต่ำ น้ำตาลน้อย มีเสียงตอบรับที่ดีจากบรรดาผู้รักการออกกำลังกาย รวมถึงคนที่ชอบสแน็ค”
บาร์ของ Regrained มีรสและกลิ่นแบบคราฟต์เบียร์ คือ Honey Cinnamon และเบียร์ดำ Chocolate Coffee Stout โดย Honey Cinnamon หนึ่งแท่ง 33 กรัม ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี ไขมัน 6 กรัม ไฟเบอร์ 3 กรัม และไขมันทรานส์เป็นศูนย์
อ้างอิงข้อมูลจาก: popsci.com
nexusmedianews.com
regrained.com
toastale.com