นิเวศวิทยา ชีวภูมิศาสตร์ และการรุกรานของปลาหมอคางดำ

ข่าวดังเกี่ยวกับสัตว์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น ‘ปลาหมอคางดำ’ สัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าหลุดลอดออกมาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงของบริษัทนายทุนด้านอาหารและการเกษตรรายใหญ่แห่งหนึ่ง แล้วสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำและการทำประมงเป็นวงกว้าง

เมื่อพิจารณาให้ดี เราจะพบว่า ‘การปล่อยสัตว์’ เป็นกิจกรรมที่แนบชิดกับความเชื่อทางศาสนาพุทธในสังคมไทยมาเนิ่นนาน แต่การกระทำดังกล่าวกลับถูกตั้งคำถามน้อยมากว่าถูกต้องหรือเหมาะสมเพียงใด บทความนี้ผมจึงอยากชวนผู้อ่านไปรู้จักกับวิทยาศาสตร์ของการปล่อยสัตว์ออกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เพื่อหาคำตอบว่าเหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร

นิเวศวิทยา 101

โลกใบนี้เป็น ‘บ้าน’ ของสิ่งมีชีวิตมากมาย บางชนิดมีขนาดเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางชนิดมีขนาดใหญ่จนน่าตื่นตะลึง บางชนิดหน้าตาคล้ายกับอีกชนิดราวฝาแฝด แต่อีกหลายชนิดก็หน้าตาไม่เหมือนกันเลย สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ทุกชีวิตจะสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ณ ช่วงเวลานั้น ผลลัพธ์จากการที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตสายใยแห่งธรรมชาติเป็นเวลาเนิ่นนานจึงก่อร่างสร้างตัวเป็นรากฐานของวิชานิเวศวิทยา (ecology)

นักวิทยาศาสตร์พิจารณากรอบการศึกษาทางนิเวศวิทยาจากระดับเล็กที่สุด (สิ่งมีชีวิตเพียงตัวเดียว) ไปหาระดับใหญ่ที่สุด (สิ่งมีชีวิตทุกชนิด) โดยเริ่มจากตัวสิ่งมีชีวิต (individual) ประชากรสิ่งมีชีวิต (population) กลุ่มสิ่งมีชีวิต (community) ระบบนิเวศ (ecosystem) ชีวนิเวศ (biome) และชีวมณฑล (biosphere)

ขอบเขตการศึกษาทางนิเวศวิทยา | photo: http://eschooltoday.com 

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตตามหลักอนุกรมวิธาน (taxonomy) จากกลุ่มใหญ่ลงไปสู่สิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียว โดยการเรียงลำดับจากโดเมน (domain) คิงดอม (kingdom) ไฟลัม (phylum) คลาส (class) ออร์เดอร์ (order) แฟมิลี (family) จีนัส (genus) และสปีชีส์ (species)

การจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตตามหลักอนุกรมวิธาน | photo: https://faunafacts.com/ 

สาเหตุที่โลกของเราเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากหน้าหลายตาเป็นเพราะวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกทางธรรมชาติ (evolution by natural selection) ซึ่งเป็นกระบวนการอันไร้เจตจำนงที่คอยเลือกสรรลักษณะของสิ่งมีชีวิตให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมของสถานที่และช่วงเวลาที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ แล้วก่อเกิดเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ระดับพันธุกรรม สปีชีส์ ไปจนถึงระบบนิเวศ

ปกติแล้วพื้นที่แต่ละแห่งจะมีทรัพยากรธรรมชาติเพียงพอต่อความต้องการของสิ่งมีชีวิตจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อใดก็ตามที่สิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้นเพิ่มจำนวนขึ้นจนล้นเกินความจุรองรับ (carrying capacity) ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเกิดภาวะประชากรล้นเกิน (overpopulation) ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น สิ่งมีชีวิตต่างๆ จึงกระโจนเข้าสู่สภาวะแข่งขัน (competition state) เพื่อแก่งแย่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดอ่อนแอลง มีจำนวนน้อยลง ถูกขับไล่ออกไป หรือสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้น

กำเนิดชีวภูมิศาสตร์

เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการสำรวจสิ่งมีชีวิตและถิ่นอาศัยเกิดขึ้นในปี 1854 เมื่ออัลเฟรด วอลเลซ (Alfred Wallace) นักธรรมชาติวิทยาผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกทางธรรมชาติแบบเป็นเอกเทศจากชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ได้ออกเดินทางไปยังหมู่เกาะอินโด-มาเลย์ เพื่อศึกษาการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตบริเวณนั้น แนวแบ่งเขตการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามลักษณะทางภูมิศาสตร์บริเวณเกาะบอร์เนียวและเกาะซูลาเวซีจึงถูกเรียกว่า ‘เส้นวอลเลซ’ (Wallace’s line)

อัลเฟรด วอลเลซ (Alfred Wallace)

ผลการสำรวจของวอลเลซทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งวิชาชีวภูมิศาสตร์ (biogeography) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สาขาหลัก คือ สัตวภูมิศาสตร์ (zoogeography) และพฤกษภูมิศาสตร์ (phytogeography) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของสัตว์และพืช ตามลำดับ

นักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ ณ พื้นที่แห่งหนึ่งในช่วงเวลาปัจจุบันว่า ‘สปีชีส์ท้องถิ่น’ (native species) และเรียกสิ่งมีชีวิตจากพื้นที่อื่นซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ ณ พื้นที่นั้นในช่วงเวลาปัจจุบันว่า ‘สปีชีส์ต่างถิ่น’ (alien species) ซึ่งหากสิ่งมีชีวิตดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างกะทันหันจะเรียกว่า ‘สปีชีส์ต่างถิ่นรุกราน’ (invasive alien species)

หลายคนอาจคิดว่าสปีชีส์ต่างถิ่นหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มาจาก ‘ต่างประเทศ’ แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะสปีชีส์ต่างถิ่นอาจมาจากต่างประเทศหรือประเทศเดียวกันก็ได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณยืนอยู่ริมแม่น้ำโขงฝั่งประเทศไทย แล้วคุณข้ามสะพานไปฝั่งประเทศลาว ไทยกับลาวเป็นคนละประเทศกัน แต่สิ่งมีชีวิตของทั้งสองฝั่งโขงอาจเป็นสปีชีส์เดียวกันก็ได้ (เช่น ปลาบึก) ในทางตรงกันข้าม บางครั้งสปีชีส์ต่างถิ่นก็มาจากประเทศเดียวกัน เพราะถ้าคุณนำสิ่งมีชีวิตที่มีเฉพาะทางภาคเหนือ (เช่น ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์) ไปปล่อยที่ภาคใต้ สิ่งมีชีวิตจากภาคเหนือก็จะกลายเป็นสปีชีส์ต่างถิ่นสำหรับภาคใต้

ด้วยเหตุนี้ เขตแดนของตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ จึงเป็นเพียง ‘เส้นแบ่งสมมติ’ ที่มนุษย์ขีดเขียนลงบนแผนที่เพื่อแบ่งเขตการปกครอง แต่ปราการทางภูมิศาสตร์อย่างภูมิอากาศ เทือกเขา ทะเลทราย แม่น้ำ และมหาสมุทร ต่างหากที่เป็น ‘เส้นแบ่งแท้จริง’ ของธรรมชาติ ซึ่งผลักดันให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และยังมีเส้นแบ่งทางชีวภูมิศาสตร์อื่นๆ นอกจากเส้นวอลเลซ เช่น เส้นเวเบอร์ (Weber’s line) เส้นไลเดกเกอร์ (Lydekker’s line) เส้นโซลลิงเกอร์ (Zollinger’s line) เส้นเมอร์ริล-ดิกเกอร์สัน/ฮักซ์ลีย์ (Merrill-Dickerson/Huxley line)

เส้นแบ่งทางชีวภูมิศาสตร์ | photo: Peter C. van Welzen and Niels Raes

ปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตไม่ได้มีเพียงการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีการกระจายพันธุ์โดยมนุษย์ ซึ่งอาจเกิดจากการติดมากับยานพาหนะ การเพาะเลี้ยง การใช้แรงงาน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร หรือเหตุผลอื่นๆ แต่ใช่ว่าสปีชีส์ต่างถิ่นจะมีแต่โทษเสมอไป เพราะสปีชีส์ต่างถิ่นบางชนิดก็อยู่คู่กับปากท้องของคนไทยมาอย่างยาวนาน เห็นได้ชัดจาก ‘ส้มตำ’ ที่เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายคนก็มีพืชต่างถิ่นอย่าง ‘มะละกอ’ เป็นส่วนประกอบหลักเช่นกัน

ตัวอย่างการปล่อยสัตว์ที่น่าสนใจ

หลังจากเรียนรู้พื้นฐานของวิชานิเวศวิทยาและชีวภูมิศาสตร์เรียบร้อยแล้ว ต่อไปผมจะเล่าตัวอย่างเหตุการณ์เกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ที่น่าสนใจ ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจของมนุษย์ให้ผู้อ่านฟัง

เหตุการณ์ที่ 1 เกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) รัฐไวโอมิง ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอดีตเคยอุดมไปด้วยสัตว์นานาชนิดไม่ว่าจะเป็นหมี ควาย กวาง นก หมาป่า รวมถึงพืชพรรณมากมาย จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 มนุษย์ได้เข้ามาตั้งรกรากและไล่ล่าหมาป่าจนหมดไป ไม่กี่ปีให้หลัง ความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าก็ลดลงและแม่น้ำก็เริ่มไหลคดเคี้ยว สาเหตุเพราะหมาป่าที่หายไปทำให้กวางเพิ่มจำนวนขึ้นและแทะเล็มพืชพรรณริมแม่น้ำ ดินริมตลิ่งจึงถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนเว้าแหว่งและแกว่งไปมาอย่างรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์แก้ปัญหานั้นโดยการนำหมาป่าจำนวน 31 ตัว จากประเทศแคนาดามาปล่อยที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน เมื่อหมาป่าเพิ่มขึ้น จำนวนกวางก็ลดลง พืชพรรณริมแม่น้ำจึงถูกกัดกินน้อยลง แล้วรูปร่างของแม่น้ำก็กลับมาเสถียรอีกครั้ง

แม้หมาป่าฝูงใหม่จะชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปทางกายภาพได้ แต่พวกมันอาจไม่สามารถทดแทนพันธุกรรมของหมาป่าฝูงเดิมที่หายไปได้ เพราะแม้จะเป็นหมาป่าชนิดเดียวกัน แต่หมาป่ากลุ่มใหม่จะมีรายละเอียดทางพันธุกรรมแตกต่างจากหมาป่ากลุ่มเดิม เช่นเดียวกับผมและผู้อ่านที่เป็นโฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) เหมือนกัน แต่ผมกับคุณอาจไม่ใช่ญาติสนิทกัน การปล่อยสปีชีส์กลับคืนสู่ธรรมชาติ (species reintroduction) จึงควรเลือกทำเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตหายากหรือสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เท่านั้น

ทิวทัศน์ของอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน | photo: https://www.globalnationalparks.com/ 

เหตุการณ์ที่ 2 เกิดขึ้นที่เกาะอีสเตอร์ (Easter island) ซึ่งมีรูปสลักหินโมอาย (Moai) จากฝีมือของชาวโพลีนีเชียน (Polynesian) ตั้งตระหง่านเรียงรายอยู่ เมื่อหลายร้อยปีก่อน เกาะแห่งนี้เคยมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งชาวโพลีนีเชียนเดินทางมาถึง ภายในไม่กี่ช่วงอายุคน พวกเขาได้ถางป่าจนราบเรียบเพื่อทำเกษตรกรรม ซ้ำร้ายพวกเขายังพา ‘หนู’ ติดมากับเรือโดยบังเอิญด้วย

เมื่อฝูงหนูลงหลักปักฐานบนเกาะ พวกมันก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วแล้วทำลายไข่ของนก รวมถึงเมล็ดและต้นอ่อนของพืชพรรณต่างๆ ไปจนเกือบหมด ทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะจึงร่อยหรอลงเรื่อยๆ และเกือบทำให้อารยธรรมของชาวโพลีนีเชียนล่มสลาย เพราะไม่อาจต่อกรกับอาวุธสงคราม ระบบแรงงานทาส และโรคติดเชื้อ ที่มาพร้อมกับการพิชิตของกองทัพกะลาสีเรือชาวยุโรปได้

ทิวทัศน์บนเกาะอีสเตอร์ | photo: Rivi

อันตรายจากการปล่อยสัตว์ท้องถิ่นในประเทศไทย

เราทราบแล้วว่า ‘สัตว์ต่างถิ่น’ บางชนิดสามารถทำลายล้างระบบนิเวศจนย่อยยับได้ภายในเวลาอันสั้น แต่อีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องกลับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็คือการปล่อย ‘สัตว์ท้องถิ่น’ ที่หลายคนเชื่อว่าสามารถทำได้โดยปราศจากพิษภัย แต่ความจริงแล้วเป็นความคิดที่ผิดถนัดเลยครับ!

ตัวอย่างที่ 1 ของการปล่อยสัตว์ท้องถิ่นที่พบเห็นได้ทั่วไปก็คือ ธุรกิจการปล่อยสัตว์แลกบุญตามท่าน้ำวัด ซึ่งผู้ขายจะจับสัตว์ท้องถิ่น เช่น นก หอย ปลา เต่า จากแหล่งอาศัยตามธรรมชาติมากักขังไว้ในกรง แล้วปล่อยพวกมันกลับบ้านโดยแลกกับเงินของผู้ซื้อ แต่ความจริงแล้วการกระทำดังกล่าวเป็นการพรากเสรีภาพมาจากสัตว์ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้สัตว์ตาย สัมผัสโรคติดเชื้อ และรบกวนพฤติกรรมทางธรรมชาติของพวกมัน ธุรกิจเหล่านี้จึงเป็นการหากินกับความเชื่อทางศาสนาพุทธแบบไทยๆ เพื่อตอบสนองความกระหายบุญ แต่กลับละเลยคุณค่าชีวิตของสัตว์ร่วมโลก

ตัวอย่างที่ 2 ของการปล่อยสัตว์ท้องถิ่นคือ การที่หน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนร่วมกันจัด ‘กิจกรรมตอบแทนสังคม’ โดยมักจะเป็นการนำสัตว์จากฟาร์มเพาะเลี้ยงมาปล่อยออกสู่ธรรมชาติคราวละมากๆ แต่การกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาการเสียสมดุลของความจุรองรับและจำนวนประชากรสัตว์ในระบบนิเวศ รวมถึงทำให้เกิดปัญหาทางพันธุกรรม ได้แก่ ภาวะเลือดชิด (inbreeding) และการปนเปื้อนทางพันธุกรรม (genetic contamination) สัตว์รุ่นลูกหลานจึงมีปัญหาทางสุขภาพและทำให้พันธุกรรมดั้งเดิมสูญหายไป

กรณีสุดท้ายที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากที่สุดคือ การที่หลายคนปล่อยให้สุนัขและแมวเที่ยวเตร่อย่างไร้การควบคุม เพราะการที่เจ้าของปล่อยปละละเลยอาจทำให้ ‘สัตว์เลี้ยงที่น่ารัก’ เปลี่ยนสถานะเป็น ‘สัตว์จรจัดนักล่า’ ที่มีศักยภาพในการทำลายสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นจำพวกนก แมลง และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กสูงมาก

แนวทางการรับมือปลาหมอคางดำ

สำหรับประเด็นร้อนอย่าง ‘ปลาหมอคางดำ’ ที่หลายฝ่ายกำลังถกเถียงและช่วยกันหาทางออกอยู่ในขณะนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะทางชีววิทยาจะพบว่าพวกมันเป็นสัตว์ที่กินเก่ง แพร่พันธุ์เร็ว และทนทานต่อทุกสภาพน้ำ ซึ่งการ ‘เกิดง่าย ตายยาก’ ของพวกมันทำให้หลายฝ่ายเสนอแนะวิธีจัดการ ดังนี้

1. การจับกิน

การจับกินเป็นวิธีการที่ง่าย แต่อาจไม่เหมาะที่จะนำมากำจัดปลาหมอคางดำ เพราะพวกมันมีเนื้อน้อย ก้างเยอะ และรสชาติค่อนข้างจืด ที่สำคัญคือการรอให้ปลาหมอคางดำโตเต็มวัยก่อนแล้วค่อยจับมากินอาจไม่สามารถลดจำนวนพวกมันในธรรมชาติได้ เนื่องจากอัตราการถูกจับกินต่ำกว่าอัตราการเพิ่มจำนวนเป็นอย่างมาก อีกทั้งการจับแต่ปลาตัวใหญ่ แล้วปล่อยปลาตัวเล็กให้หนีรอดไปจะเป็นการเปิดโอกาสให้ปลาเหล่านั้นแพร่พันธุ์ต่อและยืดระยะเวลาในการทำลายระบบนิเวศออกไปอีก ดังนั้นหากพบปลาหมอคางดำจึงควรรีบกำจัดหรือจับไปแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นปลาตัวใหญ่ ปลาตัวเล็ก หรือไข่ที่พวกมันอมไว้ในปาก

ปลาหมอคางดำ | photo: ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 2 (สมุทรสาคร)

2. การช็อตด้วยกระแสไฟฟ้า

การช็อตปลาหมอคางดำด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพกว่าการใช้แหหรืออวน เพราะพวกมันมักจะเกาะกลุ่มรวมกันอยู่ใกล้ผิวน้ำ หากเราออกแบบอุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าที่มีการปรับแต่งรัศมีการแผ่กระจายของกระแสไฟฟ้าในแหล่งน้ำได้อย่างเหมาะสม ปลาหมอคางดำที่ถูกช็อตจะหมดสติหรือตายพร้อมกันในคราวเดียว แต่มีข้อควรระวังคือกระแสไฟฟ้าอาจทำอันตรายต่อสัตว์ชนิดอื่นและผู้ใช้งานได้

3. การกำจัดด้วยสารพิษ

การกำจัดปลาหมอคางดำด้วยสารพิษไซยาไนด์เป็นวิธีการที่มีความรุนแรงสูง เนื่องจากสามารถใช้ได้ทั้งในแหล่งน้ำไหลและแหล่งน้ำนิ่ง โดยสารพิษไซยาไนด์จะเข้าไปขัดขวางการแพร่ของออกซิเจนในระดับเซลล์จนสัตว์ตาย แต่วิธีการนี้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะถ้าคำนวณปริมาณ ความเข้มข้น และอัตราการแพร่กระจายของสารพิษผิดพลาด สารพิษจะตกค้างในสิ่งแวดล้อมจนอาจก่ออันตรายในภายหลังได้

4. การปล่อยสัตว์นักล่า

การปล่อยสัตว์นักล่าอย่าง ‘ปลากะพงขาว’ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ แต่ผมตั้งสมมติฐานว่าวิธีการนี้อาจไม่มีประสิทธิภาพและสร้างผลเสียต่อระบบนิเวศโดยรวม เนื่องจากเป็นการเพิ่ม ‘ผู้ล่า’ ลงในระบบนิเวศเดิม โดยไม่มีอะไรรับประกันว่าปลากะพงขาวจะไล่กินเฉพาะลูกปลาหมอคางดำ แต่ละเว้นสัตว์ชนิดอื่น อีกทั้งปลากะพงขาวยังมีพฤติกรรมและความทนทานแตกต่างจากปลาหมอคางดำอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่หลงเหลืออยู่หลังการสู้รบระหว่างปลาหมอคางดำกับปลากะพงขาวอาจเป็นซากปรักหักพังของระบบนิเวศ

5. การปล่อยปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน

การปล่อยปลาหมอคางดำที่มีพันธุกรรมแบบพิเศษ (เป็นหมัน) เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ถูกนำเสนอ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าปลาหมอคางดำที่เป็นหมันและถูกปล่อยออกสู่ระบบนิเวศต้องมีจำนวนมากพอ สามารถผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติได้อย่างทั่วถึง และมีอายุขัยยาวนานเพียงพอ แต่วิธีการนี้ยังเป็นเพียงทฤษฎีที่ไม่มีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์มารองรับ อีกทั้งปลาหมอคางดำที่เป็นหมันยังคงเป็นนักล่าตัวฉกาจที่อาจทำลายล้างระบบนิเวศให้พังพินาศไม่ต่างจากปลาหมอคางดำปกติ

6. การตั้งค่าหัว

การตั้งรางวัลนำจับหรือการปรับราคารับซื้อปลาหมอคางดำให้สูงเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการจับปลาหมอคางดำในระยะสั้น โดยจะต้องกำหนดราคาและช่วงเวลาในการรับซื้อให้เหมาะสม แต่วิธีการดังกล่าวอาจซ้ำรอย ‘ปรากฏการณ์งูเห่า’ (cobra effect) ที่เคยเกิดขึ้นในยุคที่ประเทศอินเดียเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ซึ่งในสมัยนั้นมีการแพร่ระบาดของงูเห่าเป็นวงกว้าง รัฐบาลอังกฤษจึงมีการตั้งรางวัลนำจับเพื่อลดจำนวนประชากรงูเห่า ซึ่งในระยะแรกก็ได้ผลดี แต่กลับมีคนจำนวนหนึ่งแอบเพาะเลี้ยงงูเห่าเพื่อนำไปขายให้รัฐบาล เมื่อถูกจับได้พวกเขาก็ปล่อยงูเห่าออกมา ประชากรงูเห่าจึงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง!

7. การฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ

ทุกคนคงทราบดีว่าประเทศไทยในอดีตเคยมีระบบนิเวศแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบนิเวศแหล่งน้ำเหล่านั้นได้ถูกทำลายลงเนื่องจากโครงการทางวิศวกรรมที่ล้าหลัง เช่น การขุดลอกพืชพรรณริมน้ำ การสร้างฝาย การผันน้ำข้ามลุ่ม ซึ่งล้วนทำให้ความหลากหลายของสัตว์นักล่าเจ้าถิ่น เช่น นกกินปลา นาก ตะกวด ลดน้อยลง สัตว์ต่างถิ่นจึงบุกรุกเข้ามาได้ง่าย เพราะความต้านทานเชิงนิเวศ (ecological resistance) ต่ำลง โดยระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจะมีเสถียรภาพ (stability) ค่อนข้างมาก แต่จะมีความไว (sensitivity) ต่อการถูกรบกวน (disturbance) ค่อนข้างน้อย

ปัญหาใหญ่คือจวบจนบัดนี้เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาโดยใคร เพาะเลี้ยงที่ไหน หลุดรอดออกไปอย่างไร และแพร่กระจายถึงไหนแล้ว พวกมันจึงกลายเป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่น่ากลัวยิ่งกว่า ‘ตั๊กแตนปาทังก้า’ และ ‘หอยเชอรี่’ ที่เคยระบาดในประเทศไทยเสียอีก

จากเหตุผลข้างต้น ภาครัฐจึงต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารและระบุตำแหน่งของปลาหมอคางดำ เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ ประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สะดวกต่อการไล่ล่าพวกมันก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ เหนือสิ่งอื่นใดคือประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายที่เข้มแข็งและเที่ยงตรง เพื่อเอาผิดอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่ทำให้สปีชีส์ต่างถิ่นรุกรานแพร่ระบาดในประเทศของเรา (และอาจรวมถึงประเทศข้างเคียง) ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีอำนาจล้นฟ้าเพียงใดก็ตาม

อ้างอิง
  • Lisa Urry and et al. 2020. Campbell Biology (12th Edition).
  • Alfred Russel Wallace. 1869. The Malay Archipelago: the land of the Orang-Utan, and the bird of paradise: a narrative of travel, with studies of man and nature.
  • Jared Diamond. 2005. Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed.
  • สมาธิ ธรรมศร เพชร มโนปวิตร นณณ์ ผาณิตวงศ์ และคณะวิจัย บริษัท ป่าสาละ จำกัด. 2566. Anti-Greenwash CSR: คู่มือซีเอสอาร์ด้านสิ่งแวดล้อม ฉบับนักนิเวศ.
  • จิรากรณ์ คชเสนี. 2553. นิเวศวิทยาพื้นฐาน.
  • ชัชพล เกียรติขจรธาดา. 2563. เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย.

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า